วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559

ประยุทธ์ย้ำนโยบายรัฐบาล 'ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์'ถือว่าสำคัญที่สุด


ประยุทธ์ เปิดงาน “พม. ตลาดน้ำใจ วิถีไทยผดุง โอกาส เกียรติ กำลังใจ คนไทยรักและเกื้อกูลกัน” ชี้แต่ละคนต้องปฏิรูปตนเองร่วมกัน เผยทำคนเดียวไม่ได้ ออกคำสั่งม.44 กี่ร้อยมาตราก็ทำไม่ได้ หากทุกคนไม่มีส่วนร่วม
ที่มาภาพ ศูนย์สื่อทำเนียบฯ
6 ม.ค. 2559 เมื่อเวลา 17.00 น. ณ ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “พม. ตลาดน้ำใจ วิถีไทยผดุง โอกาส เกียรติ กำลังใจ คนไทยรักและเกื้อกูลกัน” โดยได้กล่าวเปิดงานดังกล่าว สรุปความว่า ปี 2559 นี้ ถือเป็นปีแห่งการเริ่มต้นที่ดีอีกปีหนึ่งของคนไทยทุกคน และเป็นปีที่ประเทศไทยเริ่มต้นการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งเป็นอีกปีที่รัฐบาลยังคงดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกระดับของประเทศ ให้มีการหมุนเวียนและมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความกินดีอยู่ดี และคุณภาพชีวิตที่ดีแก่คนไทยทุกคน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่ารัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีความมั่นคงและเข้มแข็ง รวมทั้งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพในชีวิตที่ดีขึ้น โดยได้ตระหนักถึงการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อสร้างสังคมให้ประชาชนได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และการสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของภาครัฐ การมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงแก่ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เยาวชน สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้เป็นหนึ่งพลังทางสังคมที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้า
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายดูแลประชาชนทุกคนอยู่แล้ว ขอบคุณที่เข้าใจ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถือว่าสำคัญที่สุด รัฐบาลพยายามเต็มที่ในการให้โอกาส ให้กำลังใจทุกคน ทำให้ทุกคนมีศักดิ์ศรี โดยขอให้ประชาชนร่วมมือและดูแลคนพิการบ้าง เพราะแม้เขาเป็นผู้พิการ แต่ก็ทำคุณประโยชน์มากมายได้ โดยไม่ทำร้ายประเทศในวันนี้ ขอให้ดูคนเหล่านี้เป็นตัวอย่าง สำหรับปีนี้เป็นปีเริ่มต้นเดินหน้าประเทศอีกครั้ง เป็นปีที่ 2 จึงต้องขออวยพรประชาชน มีความสุขยิ่งขึ้น ตลอดไป อย่างยั่งยืน ช่วยทำงานปีนี้ดีที่สุด และปีนี้จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ต้องมองภาพรวมว่ารัฐบาลทำโครงสร้างอะไรไว้แล้วบ้าง จึงขอให้เตรียมตัวเองทั้งความรู้สามารถ ภาษา งานฝีมือ รัฐบาลไม่สามารถทำให้มีเงินได้ โดยไม่ทำอะไรหรือไม่มีเหตุผล แต่ทุกอย่างจะค่อยๆ ดีขึ้น คืนความสุขให้ประชนชน โดยตนทำได้เท่าเวลาที่มีอยู่ ทั้งนี้การทำดีต้องเริ่มจากตัวเอง และปีนี้ตนถือว่าเป็นปีแห่งความก้าวหน้า ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแต่ละคน ซึ่งต้องปฏิรูปตนเอง ร่วมกับตนจึงจะทำได้แน่นอน แต่ให้ตนทำคนเดียวไม่ได้ แม้จะออกคำสั่งมาตรา 44 หรือกี่ร้อยมาตราก็ทำไม่ได้ ทุกคนต้องมีส่วนร่วม 
“ขณะที่รัฐบาล ในปีนี้กำลังเดินหน้าเข้าสู่การปฏิรูปประเทศ ซึ่งส่วนตัวมองว่าขณะนี้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าขึ้นมาก แต่การที่จะก้าวเข้าสู่อาเซียน ทุกคนก็จะต้องมองหาโอกาสและพัฒนาตนเอง ทั้งเรื่องภาษาและความรู้ เป็นต้น ซึ่งการจะใช้การออกคำสั่ง มาตรา 44 มากำกับทุกเรื่อง คงเป็นไปไม่ได้ แต่หากทุกคนหันมาร่วมมือกับรัฐบาล เชื่อว่าไทยจะเจริญเติบโตขึ้นได้ โดยเฉพาะการเจริญเติบโตจากภายในและเน้นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงรับสั่งไว้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้ำอีกว่า โครงการ “ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม” ซึ่งรัฐบาลตั้งใจจัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ยังมีเจตนารมณ์ในการสร้างโอกาสให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยได้มีแหล่งจำหน่ายสินค้าด้วยการนำผลิตภัณฑ์สินค้าต่างๆ จากชุมชน ท้องถิ่น มาจำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง เพื่อสร้างรายได้และการต่อยอดธุรกิจผ่านระบบตลาดในราคาย่อมเยา และเป็นการลดภาระค่าครองชีพ ซึ่งโครงการ “ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม” จะดำเนินการจัดอย่างต่อเนื่องไปจนถึงกลางปีนี้

บันทึกประวัติศาสตร์จากญาติคนตายปี 53 ถึง ป.ป.ช. “ทำไมจึงควรเรียกว่ามติอำมหิตอัปยศ”


6 ม.ค.2559 เพจพลเมืองโต้กลับ เผยแพร่การประมวลข้อเท็จจริงคัดค้านคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. กรณียกคำร้องขอให้ถอดถอนนายอภิสิทธิ์และพวก โดยกลุ่มญาติผู้เสียหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 
รายละเอียดมีดังนี้
 
กรณี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติต่อคำร้องขอให้ถอดถอนและคำกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากว่ารับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม กับพวก ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาเล็งเห็นผล และมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไปนั้น
กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ ขอแสดงความไม่เห็นด้วยต่อมติของ ป.ป.ช. ดังกล่าว ดังต่อไปนี้
1. กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ ไม่เห็นด้วยต่อกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง
เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อ้างคำพูดของนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ระบุข้อความขึ้นต้นว่า
"โดยเรื่องนี้จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า..."
และลงท้ายเนื้อความว่า "…ดังนั้น ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวน ยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม กับพวก..."
 
กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ ขอตั้งข้อสังเกตที่ ป.ป.ช. ต้องตอบต่อสาธารณชน คือ
1.1 กระบวนการไต่สวนคืออะไร มีกระบวนการอย่างไร
1.2 การได้มาซึ่งข้อเท็จจริงมีกระบวนการแบบไหน และได้มีการเรียกพยานหลักฐานไปให้ข้อเท็จจริงอย่างไร
1.3 มีการเรียกพยานบุคคลจากฝ่ายต่างๆอย่างรอบด้านหรือไม่ และมีการเรียกพยานจากทางผู้เสียหายหรือไม่ ฯลฯ
กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ จึงไม่เห็นด้วยกับกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช.
2. กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ เห็นว่าการบาดเจ็บล้มตายของประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากมาจากนโยบายรัฐบาลโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาเล็งเห็นผลไม่ใช่ “ความรับผิดเฉพาะตัว”
เนื่องจาก
รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ (ขณะนั้น) ได้มีมาตรการเชิงนโยบายออกมาเป็นลำดับต่อการจัดการการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จนนำไปสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในหลายท้องที่ และมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 1/2553 ลงวันที่ 7 เมษายน 2553 จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. และยังมีคำสั่งอีกหลายฉบับทั้งจากนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี(ขณะนั้น)ในฐานะ ผู้อำนวยการ ศอฉ. นำไปสู่การใช้คำสั่งให้กองทหารติดอาวุธเข้าสลายการชุมนุม และมีการสังหารหมู่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง จากวันที่ 10 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 รวม 40 วัน จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
โดยได้มีคำสั่งและกลายเป็นแนวปฏิบัติ ในช่วงวันที่ 10 เมษายน ดังต่อไปนี้
2.1 การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง นำไปสู่การใช้กองกำลังติดอาวุธเพื่อสลายการชุมนุม
2.2 การใช้กระสุนจริงในการสลายการชุมนุม
2.3 การเข้าสลายการชุมนุมในยามวิกาล
และ
ก่อนหน้าที่จะมีมาตรการกระชับวงล้อมในวันที่ 13-19 พฤษภาคม นั้น ศอฉ.ได้ปฏิบัติงานด้านจิตวิทยาและการข่าวเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเข้ากวาดล้างประชาชนที่เห็นต่าง สร้างความชอบธรรมและกระตุ้นให้กองกำลังทหารติดอาวุธตัดสินใจใช้กระสุนจริงได้ง่ายขึ้นโดยไม่รู้สึกผิดต่อมโนธรรมสำนึก ตามกระบวนการดังต่อไปนี้
2.4 การป้ายสีผู้ชุมนุมว่าเป็นพวกล้มเจ้าและสมควรตาย ส่งผลให้ทหารในสังกัดและประชาชนที่สนับสนุนเห็นชอบต่อการสลายการชุมนุมด้วยกำลังอาวุธ ด้วยการแสดงผังล้มเจ้าและนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งภายหลัง พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ได้ยอมรับในเวลาต่อมาว่าเป็นความเท็จ
2.5 การให้ข้อมูลเท็จว่ากลุ่มผู้ชุมนุม มีกองกำลังติดอาวุธในนามชายชุดดำ และทหารที่เสียชีวิตในวันที่ 10 เมษายน เกิดจากน้ำมือของชายชุดดำ
ขณะที่ข้อเท็จจริงคือมีชายชุดดำติดอาวุธ จำนวน 6 คน ปรากฏตัวขึ้นในพื้นที่สี่แยกคอกวัว (มีคลิปจำนวนมากปรากฏโดยทั่วไป) มีภาพการใช้อาวุธยิงผู้ชุมนุม หลังจากที่มีการประทะระหว่างทหารและผู้ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่เวลาประมาณ 18.00 น. ทำให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตจำนวน 10 ราย
แต่ด้านถนนดินสอบริเวณด้านข้างโรงเรียนสตรีวิทยา ซึ่งห่างไปประมาณ 400 เมตร มีผู้เสียชีวิตจำนวน 13 ราย ในจำนวนนี้เป็นช่างภาพชาวญี่ปุ่น 1 ราย ทหาร 5 ราย แต่ไม่ปรากฏภาพถ่าย หรือภาพเคลื่อนไหวว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณนั้นแต่อย่างใด
ดังนั้น การกล่าวอ้างว่ากลุ่มชายชุดดำทำให้ทหารเสียชีวิตจึงไม่เป็นความจริง เพราะชายชุดดำปรากฏตัวขึ้นคนละพื้นที่ คนละช่วงเวลากับการสูญเสียทางทหาร อย่างไรก็ตาม การสืบค้นหาหลักฐานและจับกุมตัวชายชุดดำมาลงโทษเป็นหน้าที่ของรัฐ และไม่ใช่ข้ออ้างที่จะใช้กำลังอาวุธมาปราบปรามประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งไม่เคยปรากฏหลักฐานใดๆเลยว่าในหมู่ผู้ชุมนุมมีอาวุธ หรือมีการใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่
2.6 การจัดวางพลซุ่มยิงตามพื้นที่ด่านเข้มแข็ง โดยมีข้อมูลเบื้องต้นต่อระดับปฏิบัติการว่ามีกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ชุมนุม และสามารถใช้กระสุนจริงได้ ทำให้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตจำนวนมาก กระจายกันในหลายพื้นที่ (หากเป็นพื้นที่เดียว สามารถตั้งสมมติฐานได้ว่าผู้บังคับบัญชาในพื้นที่อาจสั่งให้ใช้กระสุนจริงโดยพลการ) ต่อเนื่องระหว่างวันที่ 13 – 19 พฤษภาคม และผู้เสียชีวิตล้วนแต่ถูกยิงที่จุดสำคัญ บางรายถูกยิงเสียชีวิตในห้องพักของตัวเองบนอาคารชุดชั้นที่ 27 เพียงแค่ออกมาสูบบุหรี่ที่ระเบียงห้อง
ดังกรณีตัวอย่าง ที่มีคำสั่งการไต่สวนการตายของศาลอาญาที่เสร็จสิ้นแล้วจำนวน 13 ราย ที่มีคำสั่งศาลอาญาระบุว่าสาเหตุการตายเกิดจากกระสุนทางฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 12 ราย ขณะที่มีเพียงรายเดียวคือนายบุญมี เริ่มสุขที่ไม่ทราบว่ากระสุนมาจากฝั่งไหน
 
หมายเหตุ
ผู้เสียชีวิต 17 ราย ที่ศาลอาญามีคำสั่งว่าเกิดจากกระสุนที่มาจากฝั่งเจ้าหน้ารัฐนั้น ได้แก่
(เรียงลำดับตามคำสั่งศาล)
1. นายพัน คำกอง 2. นายชาญณรงค์ พลศรีลา 3. นายชาติชาย ชาเหลา
4. ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ 5. พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ 6. นายมงคล เข็มทอง
7. นายสุวัน ศรีรักษา 8. น.ส.กมนเกด อัดฮาด 9. นายอัครเดช ขันแก้ว
10. นายอัฐชัย ชุมจันทร์ 11. นายรพ สุขสถิตย์ 12. นายถวิล คำมูล
13. นายจรูญ ฉายแม้น 14. นายสยาม วัฒนนุกูล 15. นายถวิล คำมูล
16. นายนรินทร์ ศรีชมภู 17. นายเกรียงไกร คำน้อย
(ลำดับที่ 6-11 ทราบกันโดยทั่วไปในนาม 6 ศพวัดปทุมฯ)
และยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ จำนวน 13 ราย ได้แก่
1. นายบุญมี เริ่มสุข 2. นายมานะ อาจราญ 3. จ่าอากาศเอก พงศ์ชลิต พิทยานนทกาญจน์
4. ฟาบิโอ โปเลนกี 5. นายปิยะพงษ์ กิติวงศ์ 6. นายประจวบ ศิลาพันธ์
7. นายสมศักดิ์ ศิลารัตน์ 8. นายสมชาย พระสุพรรณ 9. นายมานะ แสนประเสริฐศรี
10. นายพรสวรรค์ นาคะไชย 11. ชายไม่ทราบชื่อ ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณแยกสารสิน ถนนราชดำริ
12. นายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล และ 13. นายประจวบ ประจวบสุข
ส่วนกรณีอื่น 1 ราย คือ
นายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง ถูกทหารยิงบาดเจ็บสาหัสนานหลายเดือนและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
แต่ศาลวินิจฉัยว่าตายเพราะกรณีอื่น
2.7 การปฏิเสธที่จะเจรจา/ต่อรองโดยสิ้นเชิง
รัฐบาลนายอภิสิทธิ์(ขณะนั้น) ได้เสนอแผนโรดแมปเพื่อความปรองดอง และพร้อมจะให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2553 แต่ยืนยันอย่างแข็งกร้าวว่าการประกาศแผนปรองดองนั้นไม่มีการเจรจาต่อรองใดๆ “หากไม่ยุติการชุมนุมถือว่าไม่ตอบรับ” และประกาศยุทธการกระชับวงล้อม ทำให้ 2-3 วันแรกของยุทธการดังกล่าว มีพลเรือนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตเป็นจำนวนมากแต่นายอภิสิทธิ์กลับประกาศให้ ศอฉ. เดินหน้าต่อไป โดยกล่าวว่า
“สิ่งที่ตนอยากยืนยันกับพี่น้องประชาชนคือรัฐบาลจำเป็นต้องใช้อาวุธ เพราะรัฐจะไม่ปล่อยให้บ้านเมืองอยู่ในสภาพที่คนไม่อยู่ในกฎหมาย มาจับกรุงเทพฯเป็นตัวประกัน ไม่ปล่อยให้มีกองกำลังที่ไม่พอใจรัฐบาลจัดตั้งกำลังขึ้นมาทำร้ายเจ้าหน้าที่ ประชาชน และองค์กรต่างๆ เราจึงจำเป็นต้องเดินหน้าและไม่อาจถอยได้ เพื่อทำให้บ้านเมืองมีความเป็นนิติรัฐ ดังนั้น เมื่อมีการสูญเสียจึงต้องยอมรับ ซึ่งแนวทางนี้เป็นแนวทางเดียวที่จะนำไปสู่ความถูกต้อง”นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ, 15 พฤษภาคม 2553 เวลา 20.15 น.
ทำให้มีผู้เสียชีวิตเฉพาะ 1 สัปดาห์ของยุทธการ “กระชับวงล้อม” จำนวน 60 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 9 ราย บาดเจ็บอีกไม่น้อยกว่า 500 ราย แบ่งเป็นพลเรือนผู้บริสุทธิ์จำนวน 51 ราย (ร้อยละ 85), พยาบาลอาสาสมัคร หรืออาสากู้ชีพ 6 ราย (ร้อยละ 10) เจ้าหน้าที่รัฐ 2 ราย (ร้อยละ 2) และสื่อมวลชนต่างประเทศ 1 ราย (ร้อยละ 2)
ทั้งนี้ ปฏิบัติการทางทหารเพื่อสลายการชุมนุม มีการเบิกใช้กระสุนปืนตั้งแต่ 11 มีนาคม – 19 พฤษภาคม 2553 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 597,500 นัด และนำกลับคืน 479,577 นัด เท่ากับว่ามีการใช้กระสุนไปถึง 117,923 นัด ในจำนวนนี้เป็นกระสุนจริง 111,303 นัด และเป็นกระสุนซุ่มยิงถึง 2,120 นัด
กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ จึงเห็นว่าการใช้กองกำลังทหารติดอาวุธในการสลายการชุมนุมมาจากมาตรการเชิงนโยบาย โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาเล็งเห็นผล อันนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายของประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก กระจายกันในหลายพื้นที่ อย่างต่อเนื่อง 40 วัน หาใช่ “ความรับผิดเฉพาะตัว” ตามคำวินิจฉัยอันผิดพลาดของ ป.ป.ช.ไม่
3. กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ เห็นว่าการที่ ป.ป.ช.อ้างอยู่หลายครั้งว่าการสลายการชุมนุมเป็นไปตามหลักสากลนั้นเป็นข้อวินิจฉัยที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง
เนื่องจาก
รัฐบาลนายอภิสิทธ์และ ศอฉ. ได้อ้างตลอดเวลาว่าขั้นตอนการสลายการชุมนุมเป็นไปโดยชอบธรรมตามกฎการใช้กำลังของกองทัพและกฎหมายสิทธิมนุษยชน (หรือเรียกรวมกันโดยทั่วไปว่าหลักสากล) แต่ปฏิบัติการดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักสากลที่กล่าวอ้าง เป็นการใช้อำนาจและกำลังเกินกว่าเหตุ ขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่รัฐไทยเป็นภาคี
ดังมีข้อเท็จจริงของการสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้น ต่อไปนี้
3.1 ไม่มีการแจ้งให้ผู้ชุมนุมและผู้ที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับการสลายการชุมนุม
3.2 มีการใช้กระบอง แก๊สน้ำตา และกระสุนยางอย่างไม่ได้สัดส่วน และไม่แยกแยะ
3.3 มีการสลายการชุมนุมยามวิกาล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
3.4 มีการอนุญาตให้ใช้กระสุนจริงและอาวุธสงครามในการสลายการชุมนุมทั้งสองครั้ง (10 เมษายน และ 19 พฤษภาคม)
3.5 มีการวางพลซุ่มยิง (Sniper) บนพื้นที่สูง โดยมีเป้าหมายที่พลเรือนผู้บริสุทธิ์ และเป็นการเล็งไปยังจุดสำคัญของร่างกาย เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตด้วยการซุ่มยิงจำนวนมาก
3.6 มีการประกาศ “เขตการใช้กระสุนจริง” ในหลายพื้นที่ เสมือนเป็นใบอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้กระสุนจริงโดยขาดวิจารญาณ ต่อเมื่อถูกองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศโจมตีอย่างหนัก จึงมีการปลดป้ายออกจากพื้นที่
3.7 มีการขัดขวางการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ ประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องเสียชีวิตเพราะหน่วยแพทย์อาสาไม่สามารถเข้าทำการช่วยเหลือได้ทันท่วงที เพราะทหารไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่ รวมทั้งการยิงสกัด อีกทั้งหน่วยแพทย์อาสาหน่วยต่างๆเองก็ถูกข่มขู่คุกคาม ทำร้ายจนเสียชีวิตจำนวน 6 ราย แม้จะมีการแต่งกายและใส่เครื่องหมายที่ชัดเจนก็ตาม
กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ จึงเห็นว่าคำกล่าวอ้างของ ป.ป.ช.ที่ว่า การสลายการชุมนุมของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์(ขณะนั้น) เป็นการสลายการชุมนุมตามหลักสากล เป็นคำวินจฉัยที่ผืดพลาดร้ายแรง
4. กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ ไม่เห็นด้วยกับข้อกล่าวอ้างของ ป.ป.ช. ว่าการที่ ศอฉ.ปรับเปลี่ยนรูปแบบปฏิบัติการทำให้สามารถลดความสูญเสียได้เป็นจำนวนมาก
เพราะข้อเท็จจริงคือ
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2553 ศอฉ.ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการด้วยการมีคำสั่งจัดตั้งด่านแข็งแรงรอบพื้นที่การชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ จำนวน 6 จุด คือ แยกพงษ์พิราม, แยกพญาไท, แยกอโศกมนตรี, แยกศาลาแดง, แยกอังรีดูนังต์ และแยกนราธิวาส-สีลม ต่อมาวันที่ 13 พฤษภาคม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้ออกประกาศ ศอฉ. เรื่องห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ เข้าหรือออกเส้นทางที่กำหนดเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
มาตรการดังกล่าว นำไปสู่
4.1 มีการวางพลซุ่มยิง (Sniper) บนพื้นที่สูง
4.2 มีการประกาศ “เขตการใช้กระสุนจริง” ในหลายพื้นที่ โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันแนวร่วมเข้าไปในพื้นที่การชุมนุม
4.3 มีการขัดขวางการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์
4.4 มีการสลายการชุมนุมยามวิกาล ด้วยอาวุธสงครามและกระสุนจริง
ทั้งหมดนี้
ทำให้มีผู้เสียชีวิตช่วงระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม รวม 58 ราย
แบ่งเป็น สวนลุมพินี– สีลม – สารสิน 12 ราย, บ่อนไก่ – พระรามสี่ 16 ราย, ดินแดง – รางน้ำ 22 ราย, พหลโยธิน 1 ราย และวัดปทุมวนาราม 6 ราย
ขณะที่ผู้เสียชีวิตในการสลายการชุมนุมในวันที่ 10 เมษายน มี 27 ราย (1 ราย ที่สวนสัตว์ดุสิต)
และระหว่างวันที่ 22 เมษายน – 8 พฤษภาคม จำนวน 4 ราย
ผู้เสียชีวิตในต่างจังหวัด 4 ราย รวมทั้งหมด 94 ราย
กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ จึงเห็นว่าคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ที่อ้างว่าการปรับเปลี่ยนคำสั่งนโยบายและปฏิบัติการ ทำให้สามารถลดความสูญเสียของประชาชนได้เป็นจำนวนมากเป็นความเท็จและเข้าข่ายการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
6. กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ เห็นว่าข้อวินิจฉัยของ ป.ป.ช. นอกจากจะเป็นความผิดพลาดร้ายแรงแล้ว ยังปราศจากบรรทัดฐานของความยุติธรรม หากเปรียบเทียบกับข้อวินิจเดิมที่เคยมีมาก่อน
หากเปรียบเทียบกับคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. เองต่อกรณีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 51 ในข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ด้วยเช่นกัน โดยมีมติชี้ว่าสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมไปถึง พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลขณะนั้นด้วย ว่ามีความผิด
โดยระบุว่า
"...นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะเป็นหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งมีอำนาจยับยั้งการปฏิบัติราชการใด ๆ ของข้าราชการได้ เมื่อปรากฏว่า มีผู้บาดเจ็บสาหัสในการเข้าดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเปิดทางเข้ารัฐสภาในวันที่ 7 ต.ค.2551 จนกระทั่ง พล.อ.ชวลิต ประกาศลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี แทนที่จะมีคำสั่งห้าม หรือหยุดยั้งการสลายการชุมนุม แต่นายสมชายไม่ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยุติการกระทำ กลับปล่อยให้มีการกระทำที่รุนแรงขึ้นตามลำดับตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต"
และมีคำวินิจฉัยว่า
“นายสมชายฯ พล.อ.ชวลิตฯพล.ต.อ.พัชรวาทฯและพล.ต.ท. สุชาติ มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157”
แต่ในกรณีการสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากนั้น
ป.ป.ช. มีความเห็นว่า
“..กรณีละเว้นไม่สั่งระงับยับยั้ง ทบทวนวิธีการ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้กำลังทหารนั้น จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์การขอคืนพื้นที่ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บแล้วศอฉ.ได้ทบทวนปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยไม่ใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าผลักดันผู้ชุมนุมอีกต่อไป แต่ใช้มาตรการตั้งด่านตรวจ หรือจุดสกัดปิดล้อมวงนอกไว้โดยรอบ เพื่อให้ ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมไปเอง โดยการปฏิบัติในวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 เป็นการตั้งด่านอยู่กับที่ทุกแห่ง แต่ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เจ้าหน้าที่ได้เคลื่อนกำลังเข้าไปควบคุมพื้นที่บริเวณสวนลุมพินี โดยไม่ได้มีการผลักดันต่อผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์โดยตรง แต่เป็นการกดดันต่อกองกำลังติดอาวุธที่ยึดสวนลุมพินีอยู่ ซึ่งการปฏิบัติในการกระชับพื้นที่สวนลุมพินี ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน โดยประกาศให้ผู้ชุมนุมออกไปจากพื้นที่ก่อน หลังจากประกาศแล้ว เจ้าหน้าที่จึงเข้าไป”
และมีคำวินิจฉัยว่า
"..สำหรับประเด็นการกล่าวหานายอภิสิทธิ์, นายสุเทพ และ พล.อ. อนุพงษ์ กับพวก กรณีละเว้นไม่สั่งระงับยับยั้ง ทบทวนวิธีการ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้กำลังทหารนั้น ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวน ยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม กับพวก ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการ ในเรื่องดังกล่าว โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาเล็งเห็นผลแต่อย่างใด คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไปเช่นกัน..."
จากการพิจารณาอย่างเปรียบเทียบทั้งสองกรณีดังกล่าว กลุ่มญาติผู้เสียหายฯจึงเห็นว่าข้อวินิจฉัยของ ป.ป.ช. นอกจากจะเป็นความผิดพลาดร้ายแรงแล้ว ยังปราศจากบรรทัดฐานของความยุติธรรม และเข้าข่ายการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตด้วยเช่นกัน.
บทสรุป
จากประมวลข้อเท็จจริง(บางส่วน) ที่กลุ่มญาติผู้เสียหายฯได้รวบรวมมา จะเห็นได้ว่าคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ให้คำร้องต่อการถอดถอนไม่ได้ยืนอยู่บนหลักฐานข้อเท็จจริงตามที่ ป.ป.ช.ได้แถลงไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. ซึ่งนอกจากจะไม่โปร่งใสและไม่สามารถตรวจสอบได้แล้ว ยังเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือให้อาชญากรในการสั่งการสังหารหมู่ประชาชนให้พ้นผิด บิดเบือนกระบวนการยุติธรรม เข้าข่ายการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตด้วยเช่นกัน
สิ่งที่น่าเสียใจคือ กรณีดังกล่าวเป็นทั้งความอัปยศขององค์กรอิสระที่มีรากมาจากรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และเป็นทั้งความอำมหิตของการใช้อำนาจรัฐในการช่วยเหลือเกื้อกูลให้พ้นผิด เห็นดีเห็นงามกับการสังหารประชาชนและทิ้งเรื่องราวและลืมความขัดแย้งไว้เบื้องหลัง โดยมิพักจะทำความเข้าใจและหาสาเหตุไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีกในอนาคต.

กลุ่มญาติผู้เสียหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553
วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2559

“พวกดิฉันจะไม่ยอมรับมติอัปยศของป.ป.ช.” ญาติผู้เสียชีวิต 2553 ประกาศลุกขึ้นสู้ครั้งใหม่

“พวกดิฉันจะไม่ยอมรับมติอัปยศของป.ป.ช. จะบอกไว้เลยว่าวันนี้จะเป็นวันเริ่มต้นการต่อสู้ของดิฉันใหม่อีกครั้งหนึ่ง หลังจากหยุดการต่อสู้มานาน คุณเป็นผู้ที่เริ่มให้ดิฉันลุกขึ้นมาต่อสู้กับคุณ และดิฉันจะทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อทำให้สังคมได้รับรู้สิ่งที่พวกคุณกระทำไว้กับคนตาย คนที่เจ็บ คุณใส่ร้ายป้ายสีพวกเรามาเยอะแล้ว มันถึงเวลาแล้ว ดิฉันยอมไม่ได้อีกต่อไป” พะเยาว์ อัคฮาด กล่าวที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ในเวลาประมาณ 19.00 น.วันที่ 6 ม.ค.2559
เธอกล่าวประโยคนี้หลังจากเธอ และลูกชายอีกคนณัทพัช อัคฮาด , พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และ วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ รวมแล้ว 4 คน นัดหมายทำกิจกรรม “บอกกล่าววิญญาณผู้เสียชีวิต” ที่วัดปทุมวนารามวรมหาวิหาร กิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจากกรณีที่ ป.ป.ช. เพิ่งมีมติไม่รับคำร้องให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการสั่งใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.เมื่อเม.ย.-พ.ค.2553 จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
ด้าน ผุสดี งามขำ หญิงเสื้อแดงที่ได้รับสมญาว่า "เสื้อแดงคนสุดท้าย" เนื่องจากมีภาพเธอปรากฏอยู่ท่ามกลางเวทีร้างหลังแกนนำ นปช.ประกาศยุติการชุมนุมหลังทหารโอบล้อมเพื่อสลายการชุมนุม วันที่ 19 พ.ค.2553 ก็ได้กล่าวความรู้สึกเคียงข้างพะเยาว์ว่า
"ถ้าดิฉันเป็นมนุษย์ เห็นเพื่อนมนุษย์ตายเหมือนหมูเหมือนหมาแล้วดิฉันไม่ทำอะไร ดิฉันก็ต่ำชั้นกว่าหมา เพราะฉะนั้นการต่อสู้ดิฉันก็จะสู้กับญาติเขา จบก็คือ ตาย หรือ ฆาตรกรต้องขึ้นศาลเพื่อแถลงความจริงทั้งหมดว่ามันทำอะไรกับคนไทยไว้”
การเดินเท้าของ 4 คนดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากพวกเขามาถึงที่นัดหมายคือวัดปทุมวนารามในเวลาประมาณ  15.33 น.ท่ามกลางนักข่าวที่รอทำข่าวอยู่หลายสิบคน ก่อนหน้านักข่าว มีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบหลายสิบนายรออยู่ก่อนแล้ว
ทั้ง 4 คนเดินทางมาถึงวัดปทุมวนาราม จุดธูปไหว้ดวงวิญญาณผู้เสียชีวิต
เดินทางออกจากวัดปทุมวนาราม มุ่งหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
ระหว่างการเดินเท้า มีสื่อมวลชน นักกิจกรรม ตลอดจนตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบติดตามการเดินดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลาประมาณ 16.00 น. เมื่อทั้ง 4 คนขึ้นสะพานลอยบริเวณหน้าหอศิลป์เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กันไม่ให้คนอื่นๆ ติดตามขึ้นไป และมีการเข้าเจรจากับพะเยาว์และพันธ์ศักดิ์เพื่อขอให้เปลี่ยนเส้นทางการเดินเนื่องจากมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากจึงกลายเป็นการเดินและการชุมนุมทางการเมือง แต่ทั้งสองยืนยันจะเดินต่อ พร้อมชี้แจงว่าการเดินครั้งนี้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ลูกและประชาชนที่เสียชีวิต เป็นการประท้วง ป.ป.ช.
ขณะเดียวกันเว็บไซต์มติชนได้รายงานคำให้สัมภาณ์ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงเรื่องการเดินเท้าเรียกร้องความเป็นธรรมของ 4 คนนี้ว่า หากเขามีความคิดเห็นเช่นนั้นจะให้ทำอย่างไร แต่เราต้องชี้แจง ส่วนตัวไม่อยากให้มีการเคลื่อนไหว ตอนนี้ไม่ต้องเคลื่อนไหว รอให้มีรัฐบาลที่ชัดเจน เพราะขณะนี้เราทำงานแก้ไขปัญหาต่างๆ อยู่ ซึ่งเป็นปัญหาจากอดีต เราทำทุกเรื่องให้เกิดความยั่งยืน เราแก้ปัญหาปัจจุบัน และเตรียมปฏิรูปในอนาคต 20 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะจะปล่อยให้ประเทศเดินไปเรื่อยๆ โดยไม่มีเป้าหมายคงไม่ใช่แล้ว
เวลาประมาณ 17.00 น. ผู้สื่อข่าวว่า ทั้ง 4 คนรวมถึงผู้ร่วมเดินในกิจกรรมนี้เดินทางมาถึงอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ท่ามกลางกองทัพสื่อที่ยังคงมาดักรอทำข่าว พะเยาว์และพันธ์ศักดิ์อ่านแถลงการณ์ (ดูล้อมกรอบด้านล่าง) และตอบคำถามผู้สื่อข่าว

ชายสูงวัยที่เข้าร่วมกิจกรรมหลั่งน้ำตาระหว่างจุดเทียนไว้อาลัยผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ปี 2553
ต่อกรณีการตัดสินของ ป.ป.ช. พะเยาว์กล่าวว่า ป.ป.ช. ชุดที่นำโดยนายวิชา มหาคุณ มองข้ามความเป็นจริงของกระบวนการ คล้ายกับเป็นการก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรม เพราะคดีของ 6 ศพวัดปทุมวนาราม นั้นศาลได้ชี้ในขั้นตอนไต่สวนการตายแล้วว่าเป็นการตายที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ เรื่องนี้ควรจะเป็นหน้าที่การตัดสินของศาลในกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น ป.ป.ช. ไม่ควรมีอำนาจในการเข้ามาชี้ขาดตั้งแต่ต้น
“ในกรณีของปี 2553 ป.ป.ช. ไม่ควรที่จะแตะต้องคดีนี้ อย่างของคดีเราที่ศาลโยนมาให้ ป.ป.ช. ดิฉันบอกเลยว่าเราไม่ได้ฟ้องผิดศาล และนี่ไม่ใช่หน้าที่ของ ป.ป.ช. หน้าที่ของคุณมีเพียงแค่ตรวจสอบนักการเมืองว่าใครทุจริต ไม่ใช่ชี้ว่าคนนี้รอด คนนี้ไม่รอด แต่ที่เราฟ้องคือ คดีฆ่า กระบวนการยุติธรรมเท่านั้นที่จะชี้เป็นชี้ตายได้ว่า นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และบิ๊กป๊อก จะมีความผิดหรือไม่ เรื่องนี้ต้องเป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่ ป.ป.ช” พะเยาว์กล่าว
ด้านพันธ์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า เป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่าคดีที่เป็นที่สนใของคนทั้งประเทศ เพราะมีประชาชนเสียชีวิตเกือบ 100 ราย และบาดเจ็บกว่า 1,400 กว่าราย ทำไมจึงมีเพียงแค่การออกเอกสารเพียงแค่ 2 ชิ้นเพื่อบอกว่า ทั้ง 3 คน บริสุทธิ์ เรื่องนี้ถือว่าผิดทำเนียมปฎิบัติ อย่างน้อยก็ต้องมีการจัดแถลงข่าวให้ผู้สื่อข่าวได้ซักถาม
พะเยาว์เสริมต่อว่า ก่อนหน้าที่ ป.ป.ช. จะตัดสิน ไม่ได้มีการเรียกผู้เสียหายเข้าไปให้ปากคำเลย แล้วเอาหลักฐานส่วนไหนมาลงมติว่าทั้ง 3 คนไม่ผิด ในด้านกลับกันกลับมีเพียงการเรียกนายสุเทพ นายอภิสิทธิ์ และอนุพงษ์ เข้าไปให้ปากคำ
ต่อกรณีที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณออกมาบอกว่าช่วงนี้ยังไม่อยากให้มีการเคลื่อนไหว หากจะเคลื่อนไหวให้รอให้มีการเลือกตั้งหรือมีรัฐบาลพลเรือนก่อน พะเยาว์ กล่าวว่า เรื่องที่ตนพบเจอเป็นเรื่องของการไม่ได้รับความยุติธรรมซึ่งเป็นเรื่องที่รอไม่ได้
“เหตุการณ์ที่ดิฉันโดนเกี่ยวข้องอะไรกับการปฏิรูป คุณจะปฏิรูปประเทศคุณก็ปฏิรูปไป คุณจะทำอะไรคุณก็ทำไป แต่ในกรณีนี้คือเรื่องของความยุติธรรม ฉันเป็นแม่แล้วมาโดนแบบนี้ ฉันถามว่าถ้าเป็นคุณบ้างล่ะ ถ้าลูกคณตายบ้างล่ะ คุณจะยอมไหม ฉะนั้นมันไม่เกี่ยวกัน คุณจะปฎิรูปก็เรื่องของคุณ แต่นี่เป็นคดีของฉัน ฉันจะทำให้ถึงที่สุดในฐานะที่ฉันเป็นแม่ ฉันจะไม่ยอมให้ลูกฉันตายฟรี ฉันจะไม่ยอมให้คนอื่นตายฟรี” พะเยาว์กล่าว
ด้านพันธ์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในความเป็นจริงแล้วทางกลุ่มญาติก็รอการตัดสินของศาลหรือการดำเนินการใดๆ ก็ตามในรัฐพลเรือนแต่ก็เกิดการรัฐประหารขึ้นเสียก่อน
“จริงๆ แล้วเราก็รอการตัดสินที่จะเกิดในรัฐบาลพลเรือน แต่พลเอกประวิตรกับพวกไม่ได้รอ กลับทำการรัฐประหารเสียก่อน ทำให้เราไม่มีรัฐบาลพลเรือน ฉะนั้นถ้าจะมาขอให้เรารอรัฐบาลพลเรือน เราก็ต้องถามพลเอกประวิตรว่าทำไมตอนนั้นคุณไม่รอบ้าง” พันธ์ศักดิ์กล่าว
จากนั้นมีการจุดเทียนรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค. 2553 ก่อนผู้ชุมนุมทั้งหมดจะแยกย้ายไปในเวลาประมาณ 18.30 น.

แถลงการณ์กลุ่มญาติผู้เสียหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553
ต่อกรณีมติอำมหิตอัปยศของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติต่อคำร้องขอให้ถอดถอนและคำกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากว่ารับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม กับพวก ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาเล็งเห็นผล และมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไปนั้น

กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ ขอแสดงความไม่เห็นด้วยต่อมติของ ป.ป.ช. ดังกล่าว เนื่องจาก

1. กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. ไม่ชัดเจน กระบวนการได้มาซึ่งข้อเท็จจริงไม่โปร่งใส ไม่มีการเรียกพยานหลักฐานไปให้ข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านหรือไม่ และไม่มีการเรียกพยานจากทางผู้เสียหายไปให้ปากคำ ฯลฯ

2. กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ เห็นว่าการบาดเจ็บล้มตายของประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากมาจากนโยบายรัฐบาลโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาเล็งเห็นผลไม่ใช่ “ความรับผิดเฉพาะตัว” โดยมีปัจจัยประกอบ ดังต่อไปนี้

2.1 การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง นำไปสู่การใช้กองกำลังติดอาวุธเพื่อสลายการชุมนุม

2.2 การใช้กระสุนจริงในการสลายการชุมนุม

2.3 การเข้าสลายการชุมนุมในยามวิกาล

2.4 กระบวนการการป้ายสีผู้ชุมนุมว่าเป็นพวกล้มเจ้าและสมควรตาย ส่งผลให้ทหารในสังกัดและประชาชนที่สนับสนุนเห็นชอบต่อการสลายการชุมนุมด้วยกำลังอาวุธ ด้วยการแสดงผังล้มเจ้าและนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งภายหลัง พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ได้ยอมรับในเวลาต่อมาว่าเป็นความเท็จ

2.5 การให้ข้อมูลเท็จว่ากลุ่มผู้ชุมนุม มีกองกำลังติดอาวุธในนามชายชุดดำ และทหารที่เสียชีวิตในวันที่ 10 เมษายน เกิดจากน้ำมือของชายชุดดำ

2.6 การจัดวางพลซุ่มยิงตามพื้นที่ด่านเข้มแข็ง ทำให้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตจำนวนมาก กระจายกันในหลายพื้นที่ และผู้เสียชีวิตล้วนแต่ถูกยิงที่จุดสำคัญ

2.7 การปฏิเสธที่จะเจรจา/ต่อรองโดยสิ้นเชิง

3. กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ เห็นว่าการที่ ป.ป.ช.อ้างอยู่หลายครั้งว่าการสลายการชุมนุมเป็นไปตามหลักสากลนั้นเป็นข้อวินิจฉัยที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง

เนื่องจากปฏิบัติการดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักสากลที่กล่าวอ้าง เป็นการใช้อำนาจและกำลังเกินกว่าเหตุ ขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่รัฐไทยเป็นภาคี

ดังมีข้อเท็จจริงของการสลายการชุมนุมที่ขัดกับหลักสากลเกิดขึ้น ต่อไปนี้

3.1 ไม่มีการแจ้งให้ผู้ชุมนุมและผู้ที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับการสลายการชุมนุม

3.2 การใช้กระบอง แก๊สน้ำตา และกระสุนยางอย่างไม่ได้สัดส่วน และไม่แยกแยะ

3.3 การสลายการชุมนุมยามวิกาล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

3.4 การอนุญาตให้ใช้กระสุนจริงในการสลายการชุมนุมทั้งสองครั้ง (10 เมษายน และ 19 พฤษภาคม)

3.5 การวางพลซุ่มยิง (Sniper) บนพื้นที่สูง โดยมีเป้าหมายที่พลเรือนผู้บริสุทธิ์ และเป็นการเล็งไปยังจุดสำคัญของร่างกาย เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตด้วยการซุ่มยิงจำนวนมาก

3.6 การประกาศ “เขตการใช้กระสุนจริง” ในหลายพื้นที่ เสมือนเป็นใบอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้กระสุนจริงโดยขาดวิจารญาณ ต่อเมื่อถูกองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศโจมตีอย่างหนัก จึงมีการปลดป้ายออกจากพื้นที่

3.7 การขัดขวางการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ ประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องเสียชีวิตเพราะหน่วยแพทย์อาสาไม่สามารถเข้าทำการช่วยเหลือได้ทันท่วงที เพราะทหารไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่ รวมทั้งการยิงสกัด อีกทั้งหน่วยแพทย์อาสาหน่วยต่างๆเองก็ถูกข่มขู่คุกคาม ทำร้ายจนเสียชีวิตจำนวน 6 ราย แม้จะมีการแต่งกายและใส่เครื่องหมายที่ชัดเจนก็ตาม

4. กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ เห็นว่าข้อกล่าวอ้างของ ป.ป.ช. ว่าการที่ ศอฉ.ปรับเปลี่ยนรูปแบบปฏิบัติการทำให้สามารถลดความสูญเสียได้เป็นจำนวนมากนั้นเป็นเท็จ เพราะเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2553 ศอฉ.ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการด้วยการมีคำสั่งจัดตั้งด่านแข็งแรงรอบพื้นที่การชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ จำนวน 6 จุด มาตรการดังกล่าว นำไปสู่

4.1 มีการวางพลซุ่มยิง (Sniper) บนพื้นที่สูง

4.2 มีการประกาศ “เขตการใช้กระสุนจริง” ในหลายพื้นที่ โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันแนวร่วมเข้าไปในพื้นที่การชุมนุม

4.3 มีการขัดขวางการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์

4.4 มีการสลายการชุมนุมยามวิกาล ด้วยอาวุธสงครามและกระสุนจริงทำให้มีผู้เสียชีวิตเฉพาะช่วงระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม รวม 58 ราย และบาดเจ็บจำนวนมาก

5. กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ เห็นว่าข้อวินิจฉัยของ ป.ป.ช. นอกจากจะเป็นความผิดพลาดร้ายแรงแล้ว ยังปราศจากบรรทัดฐานของความยุติธรรมหากเปรียบเทียบกับคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. เองต่อกรณีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 51 โดยมีมติชี้ว่าสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีกับพวกมีความผิด ทั้งที่กรณีการสลายการชุมนุม นปช. ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์กับพวก มีความรุนแรงหนักหน่วงอย่างต่อเนื่องต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

จากประมวลข้อเท็จจริง(บางส่วน) ที่กลุ่มญาติผู้เสียหายฯได้รวบรวมมา จะเห็นได้ว่าคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ให้คำร้องต่อการถอดถอนนายอภิสิทธิ์และพวกตกไปนั้นไม่ได้ยืนอยู่บนหลักฐานข้อเท็จจริงตามที่ ป.ป.ช.ได้แถลงไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. ซึ่งนอกจากจะไม่โปร่งใสและไม่สามารถตรวจสอบได้แล้ว ยังเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือให้อาชญากรในการสั่งการสังหารหมู่ประชาชนให้พ้นผิด บิดเบือนกระบวนการยุติธรรม เข้าข่ายการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตด้วยเช่นกัน

สิ่งที่น่าเสียใจคือ กรณีดังกล่าวเป็นทั้งความอัปยศขององค์กรอิสระที่มีรากมาจากรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และเป็นทั้งความอำมหิตของการใช้อำนาจรัฐในการช่วยเหลือเกื้อกูลให้พ้นผิด เห็นดีเห็นงามกับการสังหารประชาชนและทิ้งเรื่องราวและลืมความขัดแย้งไว้เบื้องหลัง โดยมิพักจะทำความเข้าใจและหาสาเหตุไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีกในอนาคต

อย่างไรก็ตาม กลุ่มญาติผู้เสียหายฯจะขอยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้ความจริงปรากฏ และนำอาชญากรที่มีส่วนร่วมในการสังหารหมู่ประชาชนในทุกระดับมาลงโทษ เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์เยี่ยงนี้ขึ้นอีกในอนาคต

กลุ่มญาติผู้เสียหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553
วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2559


ประยุทธ์แนะชาวสวนยางยึดหลักพอเพียงปลูก 'สตอเบอรี่-กล้วยหอม' เสริม ชุมนุมก็ไม่มีประโยชน์แถมโดนคดี


ประยุทธ์ ชี้ชาวสวนยางชุมนุมไปก็ไม่มีประโยชน์ แถมต้องถูกดำเนินคดีด้วย ระบุไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องได้ เหตุงบประมาณไม่เพียงพอ ต้องนำงบฯไปช่วยเหลือและแก้ปัญหา แนะยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกสตอเบอรี่-กล้วยหอมเสริม
จากกรณีที่มีกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราออกมาสงสัญญาณเตรียมเคลื่อนไหว หลังประสบปัญหาราคายางตกต่ำอย่างมาก รวมทั้ง นายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และแกนนำ กปปส. ออกมาสนับสนุนและประกาศเตรียมเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาด้วยนั้น (อ่านรายละเอียด)
ล่าสุดวันนี้(7 ม.ค.59) ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า ถ้าจะออกมาชุมนุมก็ออกมา หากออกมาก็มีคดี ตนก็ทำของตนไป แต่ปัญหาราคายางตกต่ำ ตนมีการช่วยเหลืออยู่แล้ว และกำลังทำอยู่ซึ่งการจะทำอะไรนั้นต้องใช้เงินหรือไม่ เดี๋ยวตนจะเสียอารมณ์อีก
ต่อกรณีคำถามที่ว่าเกษตรกรชาวสวนยางระบุว่าราคายางตกต่ำทุกวันนี้ทนไม่ไหวแล้ว นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ไหวแล้วทำอย่างไร ต้องปรับปรุง ปฏิรูปตัวเองด้วยหรือเปล่า ต้องปลูกพืชเสริม เพื่อช่วยเหลือตัวเองบ้างหรือเปล่า ที่เหลือรัฐบาลก็จะช่วย แต่ถ้าทั้งหมดยังแบกรับอยู่แบบนี้ ยางทั้งหมดที่ปลูก 5 ล้านไร่ ได้ผลผลิตกี่ล้านตัน เกินหรือไม่ มันก็เป็นแบบนี้ แล้วใครทำให้ปลูกเยอะ ถ้าปลูกอย่างพอประมาณ โดยวันนี้หลายแห่งช่วยตัวเองได้ ด้วยการปลูกสตอเบอรี่ในสวนยาง ปลูกกล้วยหอมทองแทรก จะปลูกอะไรก็ปลูกกันเพื่อให้เกิดรายได้ ให้อยู่กินทดแทนราคายางที่ตกไปก่อน
 
“รัฐบาลกำลังทำรับเบอร์ซิตี้ กำลังสร้างโรงงานผลิตใหม่ กำลังแก้ไขในเรื่องของการนำไปสู่การทำถนนหนทาง ยางปูพื้น ปูสระ แต่มันจะเกิดวันเดียวได้หรือไม่ บอกเขาสิที่ผ่านมาทำไมไม่คิดแบบนี้กัน เคยได้เงินชดเชยกันเท่าไหร่ เอาเงินจากไหน ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ก.ก.ละ 30 บาท เอาเงินจากไหนตอบมา และเงินที่ใช้แบบนี้กันอยู่ทุกวันเอามาจากไหน เป็นเงินภาษีประชาชน แล้วจะเอาภาษีนี้ไปให้คนกลุ่มใด กลุ่มเดียวหรือ เดี๋ยวอย่างอื่นอีก ฉะนั้นต้องทำโครงสร้างบรรเทาความเดือดร้อนไป 1,500 บาทต่อไร่ นั่นคือการให้ที่ถูกวิธี เคยแต่ให้ชดเชยไปเรื่อยเปื่อย ใช้เงินแบบทิ้งโครมๆ แล้ววันหลังจะใช้อะไรกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึง กรณีที่เด็กเขียน ส.ค.ส. ให้แก้ไขปัญหาราคายาง ว่า ได้อ่านแล้ว   รัฐบาลกำลังดำเนินการทำอยู่ แต่เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาสะสมมานาน มีการปลูกยางพาราเกินความต้องการของตลาด และการจ่ายเงินอุดหนุน ถือเป็นการนำเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศ มาให้ประชาชนเพียงบางกลุ่ม ซึ่งไม่ถูกต้อง หากจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จะต้องร่วมมือกับรัฐบาล ปลูกพืชเสริมร่วมกับยางพารา ให้อยู่ได้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
 
ส่วนที่ชาวสวนยางจะนัดชุมนุมในวันที่ 12 ม.ค. นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จะมีเจ้าหน้าที่ไปพูดคุยทำความเข้าใจ และถึงจะออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลชดเชยราคายางให้ก็ไม่มีประโยชน์ อีกทั้ง ยังต้องถูกดำเนินคดีด้วย  รัฐบาลไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องได้ เนื่องจากมีงบประมาณไม่เพียงพอ ต้องนำเงินงบประมาณไปช่วยเหลือและแก้ปัญหาของประเทศในด้านอื่น
 
“อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้นิ่งเฉย  และมีมาตรการช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่เกษตรกรก็ต้องให้ความร่วมมือ และต้องช่วยเหลือตัวเองด้วย โดยการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอย่างอื่นทดแทน เพื่อหารายได้เสริม ลดปัญหาความเดือดร้อน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เปิดสถิติปี 2557 คดี 112 ในศาลชั้นต้น อุทธรณ์ ฎีกา


เปิดรายงานสถิติคดีศาลยุติธรรมทั่วราชอาณาจักร ประจำปี 2557 ของสำนักงานศาลยุติธรรม มีเนื้อหาตอนหนึ่งรายงานเกี่ยวกับตัวเลข “ข้อหา” ในหมวดความผิดต่อพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 107- มาตรา 112) พบว่ายังคงมีตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ศาลฎีการาว 10  ศาลอุทธรณ์ 26 ศาลชั้นต้น 79 และกระจายในหลายจังหวัดโดยเฉพาะภาคอีสาน
อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 นี้ ช่วงกลางปี เกิดรัฐประหารและคณะรัฐประหารกำหนดให้คดี 112 ต้องขึ้นศาลทหารทั้งหมด ทำให้คดีที่เกิดขึ้นอีกจำนวนมากไปขึ้นศาลทหารและไม่ถูกนับรวมในสถิติของศาลยุติธรรม
รายละเอียดในรายงานสำนักงานศาลยุติธรรมมีดังนี้  

จำนวนข้อหาที่เข้าสู่ศาลฎีกา

ขึ้นสู่การพิจารณา 10         พิจารณาเสร็จไป      1

จำนวนข้อหาที่เข้าสู่ศาลอุทธรณ์ รวม 26

ศาลอุทธรณ์                           13
ศาลอุทธรร์ภาค1                   2
ศาลอุทธรณ์ภาค2                 2 
ศาลอุทธรณ์ภาค3                 -
ศาลอุทธรณ์ภาค4                 -
ศาลอุทธรณ์ภาค5                 8
ศาลอุทธรณ์ภาค6                 -
ศาลอุทธรณ์ภาค7                 -
ศาลอุทธรณ์ภาค8                 -
ศาลอุทธรณ์ภาค9                 1

จำนวนข้อหาที่เข้าสู่ศาลชั้นต้นทั่วราชอาณาจักร

ขึ้นสู่การพิจารณา 79                พิจารณาเสร็จไป                74

เมื่อแบ่งตามภาค ศาลอาญาภาค 1-9

               ข้อหาที่ขึ้นสู่การพิจารณา
ศาลภาค1               4
ศาลภาค2               4
ศาลภาค3               11
ศาลภาค4               23
ศาลภาค5               10
ศาลภาค6               2
ศาลภาค7               9
ศาลภาค8               4
ศาลภาค9               4
ข้อหาที่พิจารณาแล้วเสร็จ
ศาลภาค1               2
ศาลภาค2               7
ศาลภาค3               13
ศาลภาค4               22
ศาลภาค5               5
ศาลภาค6               3
ศาลภาค7               8
ศาลภาค8               4
ศาลภาค9               2
ตัวเลขดังกล่าวน่าจะเป็นตัวเลขของข้อหาตามมาตรา 112 (การดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย)ทั้งหมด เนื่องจากมาตราอื่นเป็นเรื่องลอบปลงพระชนม์และประทุษร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการฯ ซึ่งไม่เคยมีรายงานข่าวในเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นแต่อย่างใด (อ่านรายละเอียดแต่ละมาตราด้านล่าง)
อย่างไรก็ดี ตัวเลขของสำนักงานศาลยุติธรรมที่รวบรวมข้อหาที่ขึ้นสู่ศาลชั้นต้น อุทธรณ์ ฎีกา ในปี 2557 นี้ น่าจะเป็นเพียงส่วนของครึ่งปีแรก ก่อนการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 เพราะหลังจากนั้นคดีนี้ต้องขึ้นศาลทหาร ดังนั้น หากจะดูตัวเลขคดี 112 หลังการรัฐประหาร ก็ต้องดูจากองค์กรที่เก็บรวบรวมและสังเกตการณ์คดี 112 ใกล้ชิดอย่างศูนย์ข้อมูลคดีสิทธิเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชน (ไอลอว์)
ข้อมูลของไอลอว์ระบุว่า เท่าที่สามารถรวบรวมได้ หลังการรัฐประหารเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันก็มี “คน” ถูกฟ้องในคดีนี้จำนวน 61 คน เกือบทั้งหมดอยู่ในเรือนจำ ส่วนเฉพาะในปี 2558 ก็มีคนถูกดำเนินคดีในข้อหานี้ รวม 37 คน
ผู้ที่เคยรวบรวมสถิติคดีนี้ไว้อย่างเป็นระบบเห็นจะมีหนึ่งเดียวคือ เดวิด สเตร็คฟรัส อาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เจ้าของหนังสือ The Truth on Trial: Defamation, Treason, and Lèse-Majesté โดยรวบข้อมูลจากสำนักงานศาลยุติธรรม ตัวเลขดังกล่าวเคยถูกนำไปใช้ทำศิลปะกลางแจ้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยครั้งหนึ่งด้วย ในชื่อ “แท่งอัปลักษณ์” เมื่อปี 2554 จัดโดยกลุ่มนักกิจกรรมหลายกลุ่ม
นิทรรศการดังกล่าวเป็นการนำสถิติข้อหานี้ (รายกระทง) ตั้งแต่การเมืองไทยเริ่มแบ่งขั้วในปี 2548 จนกระทั่งความขัดแย้งขึ้นสูงสุดในปี 2553 ที่มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมทางการเมืองเกือบร้อยคน แต่หลังจากนั้นข้อมูลก็ขาดหายไปเนื่องจากไม่ใช่ข้อมูลทั่วไปที่ประชาชนจะสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย
ปี 2548 มี 33 กระทง
ปี 2549 มี 30 กระทง
ปี 2550 มี 126 กระทง
ปี 2551 มี 77 กระทง
ปี 2552 มี 164 กระทง
ปี 2553 มี 478 กระทง