วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ลิขิต ธีรเวคิน ผู้เขียนตำราคลาสสิก "พัฒนาการการเมืองไทย" เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 75 ปี

ลิขิต ธีรเวคิน ในเวทีเสวนาวิชาการ วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 กับทิศทางการปฏิรูปการเมืองไทย: ทางออกหรือทางตัน เมื่อ 3 กันยายน 2558 (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาไท)

ลิขิต ธีรเวคิน อดีต รมช.มหาดไทยสมัยรัฐบาลบิ๊กจิ๋ว อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคความหวังใหม่ และไทยรักไทย นักวิชาการรัฐศาสตร์ ราชบัณฑิต และผู้เขียน "พัฒนาการการเมืองไทย" ซึ่งพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2519 และยังใช้อ้างอิงได้ถึงปัจจุบัน เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 75 ปี บำเพ็ญกุศลที่วัดธาตุทอง
21 พ.ย. 2559 เมื่อเวลา 23.30 น. คืนวันที่ 20 พ.ย. ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต และนักวิชาการชื่อดังด้านรัฐศาสตร์ เสียชีวิตอย่างสงบที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ด้วยโรคมะเร็ง โดยเข้าพักรักษาตัวที่ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ตามรายงานของมติชนออนไลน์ โดยพิธีรดน้ำศพ จะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 21 พ.ย.เวลา 17.00 น. ที่วัดธาตุทอง กรุงเทพฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ลิขิต ธีรเวคิน เกิดเมื่อ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 เคยรับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยได้รับแต่งตั้งเป็นคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2526 และเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ ในปี พ.ศ. 2531
นอกจากนั้น ยังเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง อาทิ เป็นผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอก วิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก เป็นต้น โดยลิขิต ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ในปี พ.ศ. 2547
ในด้านการเมือง ลิขิต ธีรเวคิน เข้าสู่งานการเมืองโดยลาออกจากราชการในเดือนตุลาคมปี 2540 เพื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่มีการปรับ ครม.ครั้งใหญ่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ จากนั้นได้มาเข้าร่วมพรรคความหวังใหม่
โดยในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2544 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 10 ของพรรคความหวังใหม่ และได้รับเลือกตั้งเลื่อนขึ้นแทนบุคคลที่ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 เมื่อพรรคความหวังใหม่ยุบรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทย ศ.ดร.ลิขิต จึงได้ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย และได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารพรรค นอกจากนี้ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2548 ยังได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคไทยรักไทยอีกด้วย
ต่อมาในช่วงวิกฤตการเมือง พ.ศ. 2556 ถึง 2557 ลิขิต มีบทบาทวิจารณ์ทางการเมืองเป็นระยะ นอกจากนี้ในการให้สัมภาษณ์รายการคมชัดลึกเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2557 แสดงความไม่เห็นด้วยกับการตั้งตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของสุเทพ เทือกสุบรรณ และการพูดถึงเรื่องรัฏฐาธิปัตย์โดยเข้ารกเข้าพง จะทำให้เขวไปทั้งประเทศ
นอกจากนี้ยังเคยวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อปี พ.ศ. 2558 โดย ลิขิตระบุว่า ตามหลักการประชาธิปไตย อำนาจต้องเป็นของปวงชน ถือเป็นหลักศักดิ์สิทธิละเมิดไม่ได้ หากมีสิ่งใดที่ขัดกับหลักการนี้ไม่ถือว่าเป็นประชาธิปไตย ฉะนั้นในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจึงไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างไร
“ผมเสียดายมาก ร่างออกมาดีประชาชนได้ประโยชน์ได้เยอะ แต่ในเมื่อสิ่งสูงสุด คือหลักการอันศักดิ์สิทธิมันถูกละเมิดไปแล้ว มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย”
ลิขิตวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์้ด้วยว่า "ไม่ว่าใครก็ตามไม่สามารถที่จะต่อสู้กับเวลาได้ และยิ่งไปกว่านั้น ไม่มีใครที่จะสามารถสู้กับการเปลี่ยนเปลี่ยนของยุคสมัยได้เช่นกัน แต่สิ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำลังทำอยู่คือกำลังต่อสู้กับทั้งสองสิ่ง"

ผลงานทางวิชาการที่น่าสนใจของลิขิต ธีรเวคิน

ผลงานของลิขิต ธีรเวคิน "Siam and Colonialism (1855-1909) : An Analysis of Diplomatic Relation." พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2518
ลิขิต ธีรเวคิน. พัฒนาการการเมืองไทย. (บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 2519.
ลิขิต ธีรเวคิน. ชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย. (บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 2521.
ลิขิต ธีรเวคิน. ขอบข่ายและวิธีการศึกษารัฐศาสตร์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สามศาสตร์, 2529.
ลิขิต ธีรเวคิน. การพัฒนาระบบประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2534.
ลิขิต ธีรเวคิน. สังคมการเมืองไทย. กรุงเทพฯ : คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒน-บริหารศาสตร์, 2535.
ลิขิต ธีรเวคิน. จตุลักษณ์สังคมและการเมืองไทย. โครงการเอกสารวิชาการ สมาคมนักวิจัยมหาวิทยาลัยไทย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2537.
ลิขิต ธีรเวคิน. ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย : วิสัยทัศน์ในสองทศวรรษหน้า. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จักรกฤษณ์การพิมพ์, 2540.
ลิขิต ธีรเวคิน. ปฏิญญาสิทธิเสรีภาพของประชาชาติไทย. กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์แม็ค จำกัด, 2550.
ลิขิต ธีรเวคิน. วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 10) แก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550
Likhit Dhiravegin. Siam and Colonialism (1855-1909) : An Analysis of Diplomatic Relation. Bangkok : Thai Wattana Panich, Co., Ltd., 1975.
Likhit Dhiravegin. The Thai Bureaucratic Elite : A Study of Their Sociological Attributes, Educational Backgrounds and Career Advancement Pattern. Bangkok : Thai Khadi Research Institute of Thammasat University, 1978.
Likhit Dhiravegin. The Meiji Restoration (1868-1912) and the Chakkri Reformation (1868-1910) : A Comparative Perspective Vol. 1 (The Research Center, Faculty of Political Science, Thammasat University, Bangkok, 1984).
Likhit Dhiravegin. Thai Politics : Selected Aspects of Development and Change. Bangkok : Tri-Sciences Publishing House, 1985.
Likhit Dhiravegin. Demi-Democracy : The Evolution of the Thai Political System. Singapore : Time Academic Press, 1992.
Likhit Dhiravegin. Democracy in Thailand. Bangkok : Printing House of Thammasat University, 1994.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น