วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2559

รายงาน: อีเมล์-พ่อ-และปิยะ คำตัดสินจำคุก 8 ปีคดี 112 มาตรฐานใหม่ศาลอาญา


เรื่องราวอันเงียบเชียบของปิยะ อดีตโบรกเกอร์ผู้ถูกจับปลายปี 57 หลังรัฐประหารและติดคุกยาวนับแต่นั้น คดีเขาขึ้นศาลอาญาเพราะเหตุเกิดปี53 คดีแรกเป็นการโพสต์เฟซบุ๊ก มีเครือข่ายประชาชนร่วมจับตา-แจ้งความ คดีที่สองเป็นการส่งอีเมล์ไปธนาคารกรุงเทพ ศาลอาญาพิจารณาคดีลับ ห้ามคัดถ่ายคำพิพากษา ลงโทษกรรมละ 8 ปี  ไม่ใช่ 5 ปีเหมือนคดีเก่าๆ
10 ตุลาคม 2559 ห้องพิจารณาคดี 905 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก
มีการอ่านคำพิพากษาคดี 112 คดีที่สองที่นาย ปิยะ (สงวนนามสกุล) ตกเป็นจำเลย
ในการฟังคำพิพากษาในวันนี้ ครอบครัวของปิยะ มีเพียงพ่อวัย 72 ปีที่เดินทางมาศาล แต่เขาไม่ยอมขึ้นมาฟังคำพิพากษา หากแต่ไปนั่งรอหน้ากรงขังผู้ต้องหาในชั้นล่างสุดของศาลอาญา เนื่องจากไม่อาจทำใจรับฟังโทษทัณฑ์ครั้งที่สองได้
ในห้องพิจาณาคดีมีผู้สังเกตการณ์คดีของปิยะอยู่จำนวนหนึ่ง นอกนั้นเป็นญาติ ทนายของจำเลยในคดีอื่นๆ ผู้พิพากษาสั่งให้ทั้งหมดออกจากห้อง ยกเว้นจำเลยและทนายความในคดีนี้เท่านั้น เนื่องจากต้องอ่านคำพิพากษาแบบปิดลับ เนื่องจากเกรงว่าข้อความอันไม่สมควรจะแพร่กระจายออกไป จากนั้นเจ้าหน้าที่ล็อคประตูห้องพิจารณาคดีทันที
“คดีนี้ศาลสั่งพิจารณาลับโดยอัยการไม่ได้ร้องขอ แตกต่างจากคดีอื่นที่พิจารณาลับก่อนหน้านี้ และไม่มีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร ที่ให้เจ้าหน้าที่ล็อกห้องเพราะศาลเกรงว่าคนข้างนอกที่ไม่รู้กำลังพิจารณาคดีอะไรอยู่จะเปิดเข้ามาโดยบังเอิญ ส่วนที่ไม่ให้คัดถ่ายคำพิพากษาเนื่องจากข้อความตามฟ้องมีถ้อยคำหยาบคายรุนแรงมาก เกรงว่าข้อความจะหลุดออกไปสู่โลกภายนอก แต่อนุญาตให้ทนายจำเลยจดด้วยลายมือได้” ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ทนายความจำเลย จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าว
ศาลอ่านคำพิพากษาราว 10 นาที ทนายความออกมาแจ้งว่า ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกปิยะ 8 ปี เมื่อนับรวมโทษจำคุกกับคดีเก่าที่เพิ่งตัดสินไปเมื่อต้นปีอีก 6 ปี เขาจึงเป็นจำเลยคดี 112 ที่ต้องโทษจำคุก 14 ปีจากการถูกฟ้องสองครั้ง ครั้งหนึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับการโพสต์เฟซบุ๊กในปี 2556 ซึ่งถูกติดตามตรวจสอบและแจ้งความโดยประชาชนในกลุ่ม ‘ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม’ อีกครั้งหนึ่งเป็นการส่งอีเมล์ถึงธนาคารกรุงเทพฯ ในปี 2551 และ 2553 ซึ่งตำรวจเป็นผู้ดำเนินการกล่าวโทษเอง โดยเรื่องนี้เป็นประเด็นขึ้นมาเมื่อธนาคารกรุงเทพได้แจ้งความดำเนินคดีปิยะฐานหมิ่นประมาทนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ (มหาชน) ในภายหลังธนาคารได้ถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาทไป และตำรวจได้ดำเนินการในคดีนี้แทน
ปิยะ เป็นชายวัย 46 ปี เคยทำงานธนาคารและเป็นอดีตโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้น หน้าตาคมเข้ม มีรูปร่างสูงใหญ่ เขามาฟังคำพิพากษาในชุดนักโทษ ด้านหลังเสื้อเขียนเลข 8 อันเป็นตัวเลขระบุแดนที่เขาอยู่ เขาถูกใส่ ‘กุญแจเท้า’ แต่แปลกว่านักโทษคนอื่นตรงที่เขาไม่มีเชือกป่านเล็กๆ ที่ผูกอยู่กลางโซ่ระหว่างข้อเท้าแล้วนำขึ้นมาถือไว้ เพื่อจะยกโซ่ขึ้นเวลาเดินทำให้เดินได้สะดวกขึ้น เขาจึงเดินค่อนข้างลำบาก ด้านหลังข้อเท้ามีพาสเตอร์แปะไว้ คาดว่าเป็นผลมาจากการเสียดสีของเหล็กกับเนื้อ เขาถูกจำคุกมาตั้งแต่เมื่อโดนจับกุมในเดือนธันวาคม 2557 เป็นต้นมาจนปัจจุบัน ครอบครัวของเขาไม่เคยยื่นประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีเนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอ
- - - - - - - -

ทนายความแจ้งผลคำพิพากษาแก่พ่อของปิยะ
คดีที่สองที่พิพากษาในวันนี้ เขาถูกฟ้อง 4 กรรม จากการส่งข้อความ 2 ข้อความ โดยผู้ส่งชื่อ Vincent Wang และลงท้ายข้อความว่า “จุ๊บ”
1. ส่งอีเมล์ไปยังธนาคารกรุงเทพและหน่วยงานอื่นรวม 4 แห่ง ในเดือนพฤษภาคม ปี 2551
(จากข้อมูลชื่ออีเมล์ตามคำฟ้องที่ปรากฏในเว็บโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) เมื่อสืบค้น พบว่า เป็นอีเมล์ของธนาคารกรุงเทพฯ, สำนักราชเลขาธิการ, เครือข่ายกาญจนาภิเษก ส่วนอีกแห่งหนึ่งไม่สามารถสืบค้นได้)
2. ฟอเวิร์ดเมล์ดังกล่าวไปยัง Vincent Wang อีกครั้ง (ผู้รับและผู้ส่งชื่อเดียวกัน)
(หลักฐานนี้ธนาคารกรุงเทพปริ๊นท์นำส่งตำรวจ)
3. ส่งข้อความไปยังช่องติดต่อสอบถามของธนาคารกรุงเทพฯ ในเดือนมิถุนายน ปี 2553
(ที่น่าสนใจคือ หากดูจากบางส่วนของคำฟ้องที่ไอลว์สรุปไว้จะพบว่ามีเรื่องภรรยาป่วยปรากฏในส่วนนี้ “ปิยะถูกกล่าวหาว่าส่งอีเมล์โดยใช้ชื่อว่า จุ๊บ (Vincent Wang) มีเนื้อหาทำนองตัดพ้อว่า ถูกคนกลุ่มหนึ่งบังคับให้เขียนอีเมล์หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เพื่อแลกกับชีวิตภรรยา จึงต้องพยายามเมาเหล้าก่อนเขียน และรู้สึกเสียใจมาก โดยได้ยกข้อความส่วนหนึ่งของอีเมล์ที่ถูกบังคับให้เขียนมาเล่าไว้ด้วย ข้อความดังกล่าวมีเนื้อหาลักษณะหมิ่นประมาทสมเด็จพระพี่นาง และสมเด็จย่า และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว....” )
4. ในวันเวลาเดียวกับข้อ 3. มีการส่งต่อข้อมูลที่นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในข้อ 3. นับเป็น ‘การเผยแพร่’
(ข้อสังเกตคือนับเป็นคดีแรกๆ ที่แยกส่วนการพิมพ์ข้อความกับการส่งข้อความเข้าระบบเป็นคนละกรรม)
สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือการสืบพยานในคดีนี้ ซึ่งไอลอว์ได้เขียนสรุปไว้อย่างละเอียดใน บันทึกนอกสำนวน เมื่อศาลปิดประตูล็อกห้องสืบพยานคดี 112 ของปิยะ ระบุว่า ตำรวจไม่มีการแจ้งข้อหาและสอบสวนในสองกรรมแรก คือ ข้อ 1. และ ข้อ 2. ซึ่งผิดหลักป.วิอาญา นอกจากนี้ในด้านหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งจะเป็นหลักฐานสำคัญที่เชื่อมโยง Vincent Wang ผู้ส่งเมล์ กับ ปิยะ ผู้ใช้ชื่อ Vicent Wang ในธุรกรรมกับต่างประเทศเข้าด้วยกันนั้น ปรากฎว่า ไม่สามารถสืบทราบได้ว่าไอพีดังกล่าวเป็นใคร
(เมื่อธนาคารกรุงเทพได้รับเมล์ข้อความหมิ่นก็ได้นำ Mail Header ไปตรวจสอบพบหมายเลขไอพีแอดเดรสแล้วส่งให้ตำรวจ ตำรวจส่งตรวจสอบกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) แต่ทางผู้ให้บริการตรวจสอบไม่ได้เนื่องจากข้อมูลจราจรดังกล่าวเกินกำหนด 90 วันตามที่กฎหมายกำหนดให้จัดเก็บไว้ ตำรวจนำอีเมล์ Vincent ไปสอบถามผู้ให้บริการอีเมล์ พบว่าผู้เปิดใช้อีเมล์คือ สิทธิศักดิ์ ซึ่งเป็นหลานของปิยะ อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนเบิกความว่าได้มีการสอบปากคำสิทธิศักดิ์แล้วยืนยันว่าจำเลยชื่อ จุ๊บ และมีอีกชื่อคือ Vincent Wang พร้อมยืนยันด้วยว่จำเลยเคยพูดจาบจ้างสถาบันและอดีตภรรยาของจำเลยติดเชื้อ HIV ขณะที่จำเลยเบิกความว่าทั้งสิทธิศักดิ์และอดีตภรรยานั้นล้วนเคยมีเรื่องบาดหมางและทะเลาะกันอย่างรุนแรงกับเขา นอกจากนี้ธนาคารกรุงเทพตรวจสอบหมายเลขไอพีแอดเดรสจากอีเมล์ที่ส่งหาในวันอื่น แต่ไม่ตรวจหาไอพีแอดเดรสของผู้ส่งข้อความตามวันเวลาที่ถูกฟ้องทั้งสองข้อความ ทั้งที่เป็นข้อมูลที่ธนาคารกรุงเทพในฐานะผู้ให้บริการสามารถตรวจสอบได้ไม่ยาก)
หากไล่ดูคำพิพากษาซึ่งปรากฏในเพจไอลว์ จะพบว่า ศาลยกฟ้อง 3 กรรมและลงโทษ 1 กรรม
ยกฟ้องในข้อ 1. และข้อ 2. โดยระบุว่าตำรวจไม่ได้แจ้งข้อหาจำเลยในชั้นสอบสวน สอดคล้องกับที่จำเลยเบิกความว่า ทราบข้อกล่าวหานี้ครั้งแรกเมื่อถูกฟ้องที่ศาลนี้ เท่ากับมิได้ปฏิบัติตามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นฟ้องตาม มาตรา 120 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหานี้
ข้อ 4. นั้นศาลก็ยกฟ้องเช่นกัน โดยระบุว่าโจทก์ไม่นำสืบให้ปรากฏว่า ข้อความตามคำฟ้องข้อ 3. ที่จำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้น จำเลยได้เผยแพร่หรือสืบต่อไปให้บุคคลอื่น วันเวลาใด และใช้วิธีการอย่างไร จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานเผยแพร่หรือส่งต่อตามคำฟ้องข้อ 4 ได้
ขณะที่พฤติการณ์ตามข้อ 3. คือประเด็นที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 8 ปี อันนับเป็นโทษจำคุกต่อ 1 กรรมที่ทำสถิติสูงมากของศาลอาญ เนื่องจากคดีมาตรา 112 ก่อนหน้านี้หลายต่อหลายปี แทบทั้งหมดศาลลงโทษจำคุก 5 ปีต่อ 1 กรรม นอกจากนี้ในคดีก่อนหน้านี้ที่ต่อสู้คดีนั้น ผลมักออกมาเป็นการลดโทษให้จำเลย 1 ใน 3 เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ไม่ว่าคดี เอกชัย ธเนศ ฐิตินันท์ ฯลฯ แม้แต่คดีแรงของปิยะเอง เขาก็ได้รับการลดโทษลง 1 ใน 3 จากโทษจำคุก 9 ปี เหลือ 6 ปี แต่ในคดีนี้เขารับว่า เขาใช้ชื่อ Vincent Wong ในการติดต่อทำธุรกรรมต่างประเทศจริงแต่ไม่ใช่ผู้ส่งอีเมล์ แต่ก็ไม่ได้รับการลดหย่อนโทษ
ไอลอว์สรุปคำพิพากษาในกรรมหนึ่งที่ศาลพิพากษาลงโทษว่า
เนื้อหาที่เขียนในข้อความตามคำฟ้องมีลักษณะโจมตีมุ่งร้าย ทำให้เสียต่อพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 ในเนื้อหามีข้อความว่า ภริยาป่วยเพราะติดเชื้อ HIA และ “เพราะผมพยายามเมาเหล้าก่อนที่จะทำตามที่พวกมันบังคับเพื่อแลกกับชีวิตภรรยาผม" ลงชื่อ จุ๊บ (Vincent Wang) ซึ่งจำเลยก็รับว่าชื่อ วินเซนต์ หวัง นั้นจำเลยใช้ในวงการธุรกิจระหว่างประเทศ แสดงให้เห็นได้ชัดว่าผู้เขียนข้อความทั้งหมดนี้ตกอยู่ในห้วงอารมณ์จิตที่มีโมหะ ซึ่งผู้เขียนก็ชื่อวินเซนต์ หวัง เหมือนกัน จึงเชื่อได้ว่าเป็นการกระทำของบุคคลเดียวกัน ปกติคนที่ลุ่มหลงสุรายาเสพติดจนมีอาการมึนเมา มักกระทำการใดๆ ที่ขาดสติยั้งคิด ไม่คิดหน้าคิดหลังถึงผลดีผลร้ายที่จะตามมาภายหน้า เชื่อว่าผู้เขียนข้อความดังกล่าวมีความกล้าพอที่จะใช้นามแฝงของตนจริงๆ ซึ่ง พ.ต.ท.อุดมวิทย์ สอบถามอดีตภรรยาของจำเลยทราบว่าป่วยเป็นโรคเอดส์ ตรงกับที่เขียนลงในข้อความนั้น
สิทธิศักดิ์ หลานของจำเลยให้ปากคำกับตำรวจว่า จำเลยเป็นคนมีนิสัยชอบพูดคนเดียว อารมณ์หงุดหงิด ด่าบ่นไปเรื่อย สอดคล้องกับที่อดีตภรรยาให้การไว้ว่า ช่วงหลัง จำเลยไม่ได้ทำงาน เริ่มเสพยาเสพติด ดื่มสุรา มีอารมณ์แปรปรวน โกรธง่าย ทั้งเคยทะเลาะทำร้ายตบตีภรรยาถึงขั้นหมดสติไป เนื้อหาพยานหลักฐานโจทก์สอดรับกันดีมีน้ำหนักมาก เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวพันถึงเรื่องราวส่วนตัวของจำเลย ยากที่บุคคลอื่นจะล่วงรู้ได้ ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดมุ่งใส่ความให้ร้ายจำเลย จึงเชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเขียนข้อความดังกล่าวและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จตามคำฟ้องจริง
พิพากษาว่า จำเลยมีความๆผิดตามประมวลกฎหายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักสุด ให้จำคุกจำเลย 8 ปี
- - - - - - - -
ยิ่งชีพ  ทนายความจำเลยให้สัมภาษณ์ว่าจำเลยประสงค์จะอุทธรณ์ในคดีนี้ หลังจากที่คดีที่แล้วได้อุทธรณ์ไปแล้ว
หลังจากทนายความแจ้งผลพ่อของปิยะ เขานิ่งเงียบไปพักใหญ่ ก่อนจะแสดงความผิดหวังในผลการพิจารณาคดี เขากล่าวว่าเขาไม่แน่ใจว่า วันที่ปิยะออกมาจะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
“ทั้งเจ็บทั้งอาย เจ็บปวดมาก เจ็บปวดมากๆ”
“ทำกันเหมือนไม่ใช่คน เหมือนเป็นสัตว์ กับข้อความไม่กี่ประโยค”
“เสียดายชีวิต เสียดายชีวิตของเขาเหลือเกิน”
ชายชรากล่าว
อาสาสมัครที่คอยรับฟังเรื่องราวในครอบครัวของนักโทษการเมืองเล่าให้ฟังว่า เขาเป็นห่วงพ่อของปิยะเสียยิ่งกว่าตัวปิยะเอง เนื่องจากพ่อของปิยะอายุมาก ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง และอาศัยอยู่เพียงลำพัง มีความเป็นอยู่อย่างประหยัดอย่างยิ่ง หลังจากมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับครอบครัวของลูกชายอีกคนหนึ่งที่เคยอาศัยอยู่ร่วมบ้านกันและได้ย้ายออกไปแล้ว ลูกชายคนดังกล่าวไม่ต้องการให้พ่อไปยุ่งเกี่ยวหรือดูแลปิยะอีกเพราะความกลัวและกังวลว่าจะมีผลกระทบกับคนอื่นๆ ในครอบครัว พ่อพยายามเจียดเงินส่งให้ปิยะได้ใช้จ่ายในเรือนจำ และพยายามเดินทางไปเยี่ยมราวเดือนละ 1 ครั้ง
“บางทีพ่อก็ฆ่าเวลาด้วยการนั่งรถเมล์ไปทั่วกรุงเทพฯ” อาสาสมัครกล่าว
“ผมนอนไม่หลับมาหลายเดือน ต้องกินยานอนหลับทุกวัน” พ่อของปิยะกล่าวและว่าความคาดหวังเดียวในชีวิตตอนนี้คือ ลูกชายจะได้ออกจากคุกในเร็ววัน และเขาจะยังมีชีวิตอยู่ในวันนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น