วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2559

ประยุทธ์ให้ถ้อยแถลง UN ย้ำทุกคนต้องเคารพ-ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการเปิดอภิปรายทั่วไป ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ในหัวข้อ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: แรงผลักดันสากลเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกของเรา” (The Sustainable Development Goals: a universal push to transform our world) 
โดย พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ไว้ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเมื่อปีที่แล้วประชาคมโลกได้รับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030  ร่วมกันเพื่อผลักดันให้การพัฒนาของโลกดำเนินไปอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับ “คน” ทุกกลุ่ม เพิ่มการเข้าถึงโอกาสและความเจริญอย่างเท่าเทียม โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง อันเป็นการปรับกระบวนทัศน์ด้านการพัฒนาครั้งสำคัญของสหประชาชาติให้ครอบคลุมและสามารถรับมือกับปัญหาและความท้าทายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
สำหรับปีนี้เป็นปีที่ไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติครบ 70 ปี และเป็นปีแรกที่เริ่มต้นนำวาระสำคัญของโลกสู่การปฏิบัติ กรอบเซนไดเรื่องการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ความตกลงปารีสเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  แผนปฏิบัติการระดมทุนเพื่อการพัฒนา และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน  รัฐบาลไทยเชื่อว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากสันติภาพและความมั่นคง หรือหากสิทธิของประชาชนถูกละเมิดและไม่ได้รับการยอมรับ ทางกลับกันสันติภาพและความมั่นคงก็จะไม่ยั่งยืนหากขาดการพัฒนาที่เหมาะสม หรือสิทธิของประชาชนถูกลิดรอน ทั้ง 3 เสาหลักของสหประชาชาติดังกล่าวมีความเชื่อมโยง และเกื้อกูลกันอย่างแยกออกจากกันมิได้  กรณีผู้โยกย้ายถิ่นฐานและผู้พลัดถิ่นในช่วงที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างความเชื่อมโยงดังกล่าวที่แสดงให้เห็นด้วยว่า ไม่มีประเทศใดหลุดพ้นจากผลกระทบของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอีกมุมหนึ่งของโลกได้ และเราต้องร่วมกันรับผิดชอบหาทางแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ต้นเหตุอย่างยั่งยืน

ย้ำทุกคนต้องเคารพ-ปฏิบัติตามพันธกรณีของกฏหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวด้วยว่า ยุคปัจจุบันที่เราต้องเผชิญกับความท้าทายในหลากมิติที่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน ความหลากหลายของประชากรกว่า 7,000 ล้านคน ในเกือบ 200  ประเทศ เพิ่มความท้าทายในการรับมือกับปัญหา และการแสวงหาทางออกที่เป็นสากล เนื่องจากแต่ละประเทศมีแนวคิด ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ดังนั้น ประชาคมระหว่างประเทศต้องหาแนวทางและวิธีการที่จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ มีความเข้าใจ รับผิดชอบ และเคารพซึ่งกันและกัน ตลอดจนสามารถเข้าถึงโอกาส และสิทธิพื้นฐานต่าง ๆ อย่างทัดเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ โดยทุกคนต้องเคารพและปฏิบัติตามพันธกรณีของกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในประเด็นที่ส่งผลกระทบด้านมนุษยธรรมอย่างรุนแรง เช่น พันธกรณีเรื่องการลดอาวุธนิวเคลียร์
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการแบ่งปันความรับผิดชอบ พร้อมกำหนดกรอบและทิศทางการพัฒนาร่วมกันของประเทศสมาชิก ตลอดจน บทบาทของกลุ่มภูมิภาค กลุ่มการเมือง กลุ่มเศรษฐกิจ และกลไกความร่วมมือต่าง ๆ ว่า  เป็นหัวใจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะประเทศหนึ่งประเทศใดย่อมไม่สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลกได้โดยลำพัง การบรรลุเป้าหมายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเหนือ-ใต้  ใต้-ใต้ และไตรภาคี เพื่อสร้างแรงผลักดันสากลเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกของเรา

บทบาทไทยในฐานะประธานกลุ่ม 77 

พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ไทยได้รับเกียรติและโอกาสให้ทำหน้าที่ประธานกลุ่ม 77 ในปีนี้ และได้วางเป้าหมายที่จะนำวิสัยทัศน์ระดับโลกข้างต้นมาปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ โดยมีบทบาทประสาน ผลักดัน เชื่อมโยงผลประโยชน์ของกลุ่มฯ ในเวทีต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การได้รับเกียรติในฐานะประธานกลุ่ม  77  ให้เข้าร่วมการประชุมของกลุ่ม 20  เป็นครั้งแรก ที่นครหางโจว โดยไทยร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการผลักดันและขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะความสำคัญของการร่วมมือระหว่างกลุ่ม 20 ในฐานะกลุ่มประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจการเงินกับกลุ่ม 77  ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยลดความหวาดระแวง สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและผลประโยชน์ร่วมกัน
ทั้งนี้ ไทย ได้นำเสนอตัวอย่างประสบการณ์และบทเรียนของไทยในการก้าวผ่านอุปสรรคด้านการพัฒนาโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เน้นการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมบนแนวคิดความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน พร้อมกับปลูกฝังคุณธรรม และพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อให้สังคมพัฒนาได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน  โดยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การนำหลัก SEP ไปประยุกต์ใช้ในประเทศกำลังพัฒนาในบริบทต่าง ๆ กันแล้วกว่า 20  ประเทศ
ตั้งแต่รับตำแหน่งประธานกลุ่ม 77 เมื่อต้นปี ไทยได้ดำเนินโครงการ SEP for SDGs Partnership การแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการลงทุนและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนา ตลอดจนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกันเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเหมาะกับบริบทของแต่ละประเทศผ่านความร่วมมือทวิภาคี และไตรภาคีในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ กับประเทศที่เป็นหุ้นส่วนการพัฒนา และไทยยังพร้อมเชื่อมโยงความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม BRICS อาเซียน ฯลฯ ที่หันมาให้ความสำคัญกับวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมกลไกความร่วมมือระดับภูมิภาคต่าง ๆ ที่มีอยู่ เพื่อสร้างแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโลกของเราให้ดีขึ้น โดยในเดือนตุลาคมนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด Asia Cooperation Dialogue (ACD) ครั้งที่อ2 ซึ่งสามารถหารือเพื่อส่งเสริมประเด็น SDGs ในระดับภูมิภาคต่อไปด้วย
การประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อต้นเดือนนี้ที่เวียงจันทน์ เลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวถึงความสำคัญของกลไกระดับภูมิภาคที่จะช่วยส่งเสริมและผลักดันให้เกิดสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งผู้นำอาเซียนและไทยเชื่อว่า การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกของเราไปในทางที่ดีขึ้น
การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปีนี้ นอกจากเรื่องเศรษฐกิจ และความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมที่ทำให้ประชาชนอาเซียนใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นแล้ว การพัฒนาความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันยังนำไปสู่การลดความขัดแย้งและสร้างสันติภาพในภูมิภาคด้วย

ย้ำไทยได้ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ในระดับชาติ ไทยได้ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยได้จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ตั้งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่  12 และยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20  ปี พร้อมนำเป้าหมายเพื่อการพัฒนาดังกล่าวแปลงไปสู่การกำหนดนโยบายและมาตรการระดับชาติ ได้แก่ การยกระดับการบริการดูแลด้านสุขภาพ และส่งเสริมการศึกษาของประชาชนทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่องและเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนไทย ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน หรือแรงงานต่างชาติในประเทศ โดยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การรณรงค์ด้านสาธารณสุข เช่น การดื้อยาต้านจุลชีพ และส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จะช่วยพัฒนาโอกาสให้กับเด็กและเยาวชนทุกคนในประเทศ
รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน เสรีภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเข้าถึงบริการพื้นฐานแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง โดยได้วางโครงสร้างและปรับปรุงกฎหมายภายในเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน ออกกฎหมายเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ส่งเสริมสิทธิสตรี และให้ความคุ้มครองกับกลุ่มเปราะบางและกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ  ตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ ดูแลสวัสดิการเด็กแรกเกิด คนพิการและผู้สูงอายุ จัดที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย จัดสรรที่ดินทำกินแก่ผู้ยากไร้ เนื่องจากรัฐบาลตระหนักว่า กลุ่มคนเหล่านี้สามารถมีส่วนร่วมที่สำคัญในการผลักดัน เปลี่ยนแปลงสังคม และโลกของเราอย่างยั่งยืนได้
การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยได้ให้สัตยาบันข้อตกลงปารีสแล้ว และขอเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ เร่งให้สัตยาบันความตกลงฯ โดยเร็ว เพื่อแสดงออกซึ่งความมุ่งมั่น ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และความรับผิดชอบร่วมกันต่อปัญหาโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กระทบกับมวลมนุษยชาติ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก

โชว์แนวคิด “ประเทศไทย 4.0” 

ด้านเศรษฐกิจ ไทยได้ดำเนินการภายใต้แนวคิด “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีทิศทางและยั่งยืน ทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนเน้นส่งเสริมการศึกษา การวิจัยและพัฒนา ปรับปรุงกฎระเบียบให้เป็นสากล พร้อมขจัดปัญหาคอรัปชั่น เพื่อให้เอื้อต่อการทำธุรกิจและสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชน เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตประเทศ
ประเด็นสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ไทยได้สนับสนุนภารกิจรักษาและสร้างสันติภาพของสหประชาชาติมาอย่างต่อเนื่อง โดยเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของไทยได้เข้าร่วมภารกิจต่าง ๆ ราว  20 ภารกิจ ซึ่งได้ใช้โอกาสดังกล่าวพัฒนาคนไปพร้อมกันด้วย โดยส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุข สร้างสังคมที่เข้มแข็ง และพัฒนาประเทศต่อไปได้ในระยะยาว  ซึ่งสอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 16 เรื่องสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ในการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติทั้ง 17  ข้อมาปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ไทยเห็นว่า ไม่มีสูตรตายตัวในการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่เป็นไปตามศักยภาพและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ซึ่งความร่วมมือระหว่างประเทศและความเป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนาเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างเอกภาพบนความแตกต่าง ด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน

ลั่น 7 ส.ค. ปชช.ไทยลงประชามติรับรองร่าง รธน.ตามวิถีทางประชาธิปไตยแล้ว

โอกาสนี้  นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงสถานการณ์ภายในประเทศว่า รัฐบาลได้วางรากฐานเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา ประชาชนได้ใช้สิทธิลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญตามวิถีทางประชาธิปไตยแล้ว และกำลังพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จ นำไปสู่ การเลือกตั้งทั่วไปตาม Roadmap ได้ในปลายปี  2560
การออกเสียงลงประชามตินี้สะท้อนถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่จะส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตย โดยตระหนักถึงเสียงสะท้อนจากประชาคมระหว่างประเทศ รัฐบาลเข้ามาเพื่อดูแลสถานการณ์ ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและความมั่นคง และเมื่อสถานการณ์บ้านเมืองดำเนินไปสู่สภาวะปกติสุขแล้ว รัฐบาลก็ผ่อนคลายมาตรการชั่วคราวที่ไม่จำเป็น เช่น การประกาศยกเลิกการนำพลเรือนขึ้น ศาลทหารเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลได้เน้นการแก้ไขปัญหาความมั่นคง การทุจริต การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังและรอการแก้ไข เป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอซึ่งเป็นการวางรากฐานเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยที่ยั่งยืนและส่งเสริมธรรมาภิบาล โดยหวังให้ประเทศไทยและประชาชนไทยเป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคมโลกอย่างยั่งยืนต่อไป
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมการปฏิบัติหน้าที่ของเลขาธิการสหประชาชาติตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ที่ได้ริเริ่มและผลักดันประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นข้อริเริ่มการบูรณาการเรื่อง สิทธิมนุษยชนในงานของสหประชาชาติ หรือวาระเพื่อมนุษยธรรม และขออวยพรให้เลขาธิการสหประชาชาติประสบความสำเร็จในภารกิจสำคัญอื่น ๆ ที่ต้องรับผิดชอบในอนาคต

ถ้อยแถลงประชุมระดับสูงเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ

นอกจากนี้ ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ  พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ร่วมพิธีเปิดการประชุมและกล่าวถ้อยแถลง ในฐานะกลุ่ม 77 และจีน ในการประชุมระดับสูงเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ (High-Level Meeting on Anti-Microbial Resistance (AMR)  นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยมีประธานสมัชชาสหประชาชาติเลขาธิการสหประชาชาติ  และผู้บริหารระดับสูงขององค์การสหประชาชาติเข้าร่วมด้วย อาทิ  ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก  ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ เป็นต้น 
โดย พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวรู้สึกเป็นเกียรติเป็นตัวแทนกล่าวถ้อยแถลงในนามกลุ่ม 77 และจีน สำหรับการประชุมระดับสูงเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพในครั้งนี้ เป็นโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการดื้อยาต้านจุลชีพทั่วโลก และยังเป็นโอกาสกระตุ้นเจตจำนงทางการเมืองในระดับสูงเพื่อสนับสนุนความพยายามเร่งด่วนต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการระดับโลกในเรื่องนี้ และเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 5 ประการที่สนับสนุนการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคการสาธารณสุข และภาคสังคม เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพบนพื้นฐานของแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว
ทั้งนี้ การดื้อยาต้านจุลชีพเป็นความท้าทายของมวลมนุษยชาติ และส่งผลกระทบต่อผู้คนโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ในขณะที่ขีดความสามารถของประเทศต่างๆ ในการจัดการกับปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแตกต่างกันอย่างมาก ตามระดับการพัฒนาประเทศและศักยภาพของระบบสุขภาพ ดังนั้น ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบอย่างมากหากไม่แก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างมีประสิทธิภาพ  กลุ่ม 77 และจีน เน้นประเด็นทั้งหมดนี้ โดยการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพต้องไม่กระทบการซื้อและเข้าถึงยาต้านจุลชีพทั้งชนิดเดิมและที่ค้นพบใหม่ รวมทั้งวัคซีน และเครื่องมือตรวจวินิจฉัยการแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพต้องสนับสนุนเป้าหมายต่างๆ ที่ครอบคลุม ดังนี้ 1. ส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้กรณีการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ คน และการเกษตรอย่างเหมาะสม 2. เสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกันการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการสร้างหลักประกันการเข้าถึงน้ำสะอาด สุขลักษณะและสุขอนามัย การสร้างภูมิคุ้มกัน และการควบคุมการติดเชื้อทั้งในและนอกสถานพยาบาล 3. สร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพและส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
4. สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนายาต้านจุลชีพ โดยเฉพาะ ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ วัคซีน เครื่องมือตรวจวินิจฉัย และนวัตกรรม ซึ่งรวมถึง ยาแผนดั้งเดิมและยาสมุนไพร อย่างเร่งด่วน โดยมีหลักประกันว่าต้องเป็นไปตามความจำเป็น มีหลักฐานเชิงประจักษ์ และรับผิดชอบร่วมกัน โดยยึดหลักราคาสมเหตุสมผล มีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และความเท่าเทียม โดยตัดความเชื่อมโยงระหว่างต้นทุนการวิจัยและพัฒนาจากราคาและปริมาณในการขาย กลุ่ม 77 และจีน ยินดีที่หลักการการตัดความเชื่อมโยงนี้ได้รับการเน้นความสำคัญในปฏิญญาทางการเมือง  5. สร้างหลักประกันให้ราคายาไม่สูงเกินไปและสามารถเข้าถึงยาปฏิชีวนะ วัคซีน เครื่องมือตรวจวินิจฉัย และเครื่องมือทางการแพทย์อื่นๆ ทั้งที่มีอยู่และแบบใหม่ ซึ่งยินดีต่อผลลัพธ์ของการอภิปรายระดับสูงเรื่องการเข้าถึงยา ซึ่งจัดโดยเลขาธิการสหประชาชาติ 6. เสริมสร้างศักยภาพ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค ความร่วมมือระหว่างประเทศ และการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับชาติ  ซึ่งรวมถึงการพัฒนาและการเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพ และการติดตามดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพ เราต้องสนับสนุนการวิจัยระบบสาธารณสุข และการวิจัยและพัฒนา ทั้งประเด็นการใช้ยาปฏิชีวะอย่างสมเหตุสมผล ตลอดจนการคุ้มครองและสร้างหลักประกันในการเข้าถึงยา ทั้งหมดนี้ จะต้องทำโดยคำนึงถึงการมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม โดยไม่เป็นภัยต่อสุขภาพ หรือก่อให้เกิดอุปสรรคในการเข้าถึงการดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง 
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังยืนยันการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับโลกอีกครั้งผ่านปฏิญญาทางการเมือง โดยให้คำมั่นที่จะลงมือปฏิบัติในเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ การระดมกำลังคนและแหล่งเงินทุน การสนับสนุนด้านเทคนิคและด้านอื่นๆ เพื่อพัฒนาและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับชาติ  โดยเฉพาะให้ความสำคัญในมิติด้านสาธารณสุขในความพยายามประสานงาน และ ความร่วมมือของเราจะต้องก่อให้เกิดผลลัพธ์ด้านสาธารณสุขที่สำคัญสำหรับคนรุ่นเราและคนรุ่นลูก ทั้งนี้ กลุ่ม 77 และจีน จะรอคอยรายงานที่อ้างถึงในปฏิญญาทางการเมืองเพื่อสานต่อการพิจารณาและการดำเนินงานที่สำคัญในเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ

ในส่วนของประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีของไทยได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพฉบับแรกของประเทศ ทั้งนี้ ไทยเน้นการส่งเสริมการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุสมผล การเข้าถึงยาต้านจุลชีพที่จำเป็นในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่ปี 2545 เป็นหลัก เพื่อให้บรรลุปณิธานทั้งสอง เราได้ริเริ่มสิ่งจูงใจเพื่อให้เกิดหนทางในการลดการใช้ยาต้านจุลชีพในการรักษาบาดแผลถลอก การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน และอาการท้องร่วง อนึ่ง การบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืน ข้อ 3.8 และความพยายามในการแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ เป็นการรวมสรรพกำลังในบริบทของประเทศไทย และอาจเป็นโอกาสเพิ่มเติมให้สามารถเชื่อมโยงระหว่างความพยายามด้านการพัฒนาสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจเพื่อต่อสู้กับการดื้อยาต้านจุลชีพ เรายินดีที่จะสานต่อความร่วมมือกับทุกภาคส่วนและมีส่วนร่วมในความพยายามระดับโลกอย่างสร้างสรรค์ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น