วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2559

รายงานเสวนา 'เราควรตีความเสียง No vote อย่างไร' ขอฝ่ายประชาธิปไตยเห็นหัวคนโนโหวต

'โชติศักดิ์' ขอฝ่ายประชาธิปไตยเห็นหัวคนโนโหวต ไม่เล่นเกมตีความเสียงโหวต 'จิตรา' ถอนวาทกรรมนอนหลับทับสิทธิ์ ชี้วาทกรรมเสียงแตก เพราะมีคนคิดว่าเป็นเจ้าของเสียงคนอื่น 'พัชณีย์' ระบุการเมืองที่ถูกบีบหรือเทเหลือแค่ 2 ทางเลือก ชี้โนโหวตมีหลากหลายเฉด 
 

เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา เวลา 13.30 น.ที่ ห้อง 702 ชั้น 7 อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่ม No vote ต่อต้านเผด็จการ จัดเสวนาหัวข้อ "เราควรตีความเสียง No vote อย่างไร?" โดยมี จิตรา คชเดช สมาชิกพรรคพลังประชาธิปไตย พัชณีย์ คำหนัก นักกิจกรรมแรงงาน และ โชติศักดิ์ อ่อนสูง สมาชิกกลุ่มประกายไฟ  ร่วมการเสวนา
 
 
 
ที่มาภาพ เฟซบุ๊กเพจ Banrasdr Photo
 
โชติศักดิ์ อ่อนสูง สมาชิกกลุ่มประกายไฟ กล่าวถึงที่มาของการจัดเสวนาในครั้งนี้ว่า เนื่องจากมีข้อถกเถียงกันอยู่ของฝ่ายที่มองว่าประชามติครั้งนี้ไม่เป็นธรรมและไม่ให้เสรีภาพ(ไม่แฟร์และไม่ฟรี) และมองร่างรัฐธรรมนูญ(รธน.)ที่กำลังจะลงประชามตินั้นมีปัญหา ก็มีข้อถกเถียงว่าจะไปทางไหนมันควรจะโนโหวต(ไม่ไปลงประชามติ)หรือโหวตโน(ลงประชามติไม่รับ) จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ประเด็นหลักๆ ก็เป็นตามหัวข้อคือเราจะตีความเสียงโนโหวตอย่างไร
จิตรา คชเดช พรรคพลังประชาธิปไตย กล่าวว่า กระแสโนโหวตนั้นมีการตีความที่หลากหลายมาก แต่การตีความนั้นกลายเป็นการตีความที่ไม่ได้ถูกนับว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือมีพลังไปสู่การเปลี่ยนแปลงจากการลงประชามติครั้งนี้

ทำไมพรรคพลังประชาธิปไตยจึงบอยคอต

จิตรา คชเดช พรรคพลังประชาธิปไตย เล่าถึงที่มาของแนวคิดโนโหวตว่า ในพรรคพลังประชาธิปไตยนั้นเรามีการพูดคุยกันมาโดยตลอดว่าท่ามกลางกระแสที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่เป็นผลมาจากการรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ และมีการร่างรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองต่างๆ ไม่ได้ถูกเชิญเข้าไปมีส่วนร่วม แถมแช่เข็งพรรคการเมืองห้ามทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามก็มีการพูดคุยกันในพรรคว่าจะทำอย่างไรกันดี ซึ่งเราได้มีการติดตามการร่างรัฐธรรมนูญมาโดยตลอดว่าในส่วนไหนบ้างที่เป็นประโยชน์หรือเป็นปัญหากับประชาชน ซึ่งหลังจากติดตามแล้ว เรายังไม่เห็นว่าประชาชนจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีการนัดพรรคการเมืองให้เข้าไปพูดคุยกันครั้งแรกเกี่ยวกับการลงประชารมติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา พรรคฯ ก็ได้ไปถามกับ กกต. ว่าในบัตรลงประชามตินั้นมีอะไรบ้าง กกต.ก็ชี้แจงว่ารับกับไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง พรรคฯ จึงได้ตั้งคำถามว่าแล้วไม่มีช่องที่จะไม่เห็นด้วยกับกระบวนการทั้งหมดนั้นมีหรือไม่ ทางกกต.ก็แจ้งว่าไม่มี

ประชามติไม่กำหนดเกณฑ์ครบองค์ประชุม

จิตรา กล่าวต่อว่า ประกอบกับการลงประชามติครั้งนี้ไม่การพูดถึงเกณฑ์ของคนจำนวนที่ถือว่าครบองค์ประชุม เนื่องจากตนโตมาจากการทำงานสหภาพแรงงาน ซึ่งจะมีระเบียบข้อบังคับว่าการที่จะลงมติใดๆ จะต้องมีสมาชิกที่ไปเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรืออย่างน้อยหนึ่งในห้า ฯลฯ ตามระเบียบที่เขากำหนดให้มา แต่การลงประชามติครั้งนี้ไม่มีเกณฑ์แบบนั้นเลย ทำให้มองว่ามีคนไปลงประชามติ 10 คน แล้วมีคนรับร่าง รธน. 7 คน ไม่รับ 3 คน ก็สามารถทำให้ร่างรธน. นี้ผ่านได้เลย นั่นแสดงแสดงว่ามันไม่เข้ากระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย ทั้งที่มาและกระบวนการลงประชามติ เราจึงคิดว่าถ้าเช่นนั้นพรรคฯ คงจะเลือกวิธีการโนโหวต ไม่เข้าร่วม ไม่รับ ไม่สังฆกรรมกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะมีที่มาไม่ถูกต้อง ประชาชนไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่แรก เนื้อหาก็ไม่สามารถเป็นที่ยอมรับได้ จึงบอยคอต

วาทกรรมนอนหลับทับสิทธิ์

จิตรา กล่าวว่า หลังจากที่พวกตนเสนอแนวคิดสู่สังคม โดยการทำเสื้อ หรือการนำเสนอผ่านเฟซบุ๊ก ว่าเราบอยคอตประชามติครั้งนี้ แต่ก็มีกระแสวิจารณ์ว่าพวกโนโหวตเป็นพวกนอนหลับทับสิทธิ์ใช่ไหม เป็นพวกทำให้เสียงแตกใช่ไหม เป็นพวกขี้เกียจใช่ไหม เป็นพวกไม่เข้าใจเรื่องการเมือง เป็นต้น นิยามเหล่านนี้ไม่ได้มาจากนิยามของคนที่จะต้องการบอยคอตจริงๆ มันถูกสร้างโดยคนอื่นๆ แล้วคนอื่นๆ ก็หยิบสร้างนิยามไปเรื่อยๆ
จิตรา กล่าวถึงวาทกรรมนอนหลับทับสิทธิ์ ว่าเป็นวาทกรรมที่แรงมาก เมื่อเราเสนอความคิดว่าจะโนโหวตจะต้องมีคนมาบอกว่านอนหลับทับสิทธิ์เห็นพวกไม่สนใจการเมือง พวกคุณจะไม่ถูกนับเสียงบ้าง ทั้งที่เรากำลังจะบอกว่าการบอยคอตหรือโนโหวตนั้นเป็นพื้นที่หนึ่งที่เราจะบอกว่ามันมีคนสนใจการเมือง แต่เรากำลังจะบอกว่าเราไม่เอา โดยผ่านการบอยคอต เพราะเราเห็นแล้วถ้าโหวตเยสผ่านเราได้ รธน.ฉบับนี้มาใช้แน่นอน ถ้าโหวตโนชนะเราได้อะไร คสช. ก็ยังบอกว่าอยู่ต่อเพราะจะต้องมาร่างรธน.ฉบับใหม่เพื่อให้เราไปโหวตกันอีก มันจะวนซ้ำไปซ้ำมาอยู่แบบนี้
สำหรับวาทกรรมนอนหลับทำสิทธิ์นั้น จิตรา ชี้ว่า เป็นวาทกรรมที่รัฐพูดมาโดยตลอด ว่าใครไม่ไปออกเสียงเป็นพวกนอนหลับทับสิทธิ์ แต่ที่ผ่านมามันไม่มีใครไปสู้กับวาทกรรมนี้ เราไม่เคยไปค้นว่าพวกที่ไม่ไปออกเสียงเขามีปัญหาอะไร เขาไม่สามารถไปโหวตเพราะอะไร เขาต้องการประท้วงหรือแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่งหรือเปล่าต่อการลงประชามติหรือการเลือกตั้งครั้งนั้น หรือเขาไม่สามารถไปได้ด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ เช่น การเป็นแรงงานอพยพ เป็นต้น และที่ผ่านมาทั้งรัฐเองหรือฝ่ายใดก็ไม่อยากไปค้นว่าคนเหล่านั้นมีปัญหาหรือต้องการอะไร เราจึงไปติดกับดักเรื่องการนอนหลับทับสิทธิ์และติดกับดักว่าคนที่ศิวิไลซ์แล้วต้องไปใช้สิทธิ์ การไม่ไปก็ถูกหาว่าไม่ยอมรับสิทธิ์นั้น แต่การไปใช้สิทธิ์นั้น ก็ต้องดูด้วยว่าเสียงของคุณจะถูกนับหรือเปล่า หรือว่าจะมีสิทธิมีเสียงอย่างแท้จริงหรือไม่

วาทกรรมเสียงแตก เพราะมีคนคิดว่าเป็นเจ้าของเสียงคนอื่น

“เมื่อไหร่ที่มีคนพูดว่าทำให้เสียงแตก เพราะคนที่พูดเชื่อว่าเราเป็นของคนนั้น อย่างเช่นทำให้เสียงแต่จากกลุ่มประชาธิปไตย แสดงว่ากลุ่มประชาธิปไตยที่เรียกตนเองว่ากลุ่มประชาธิปไตยก็ยังไม่เข้าใจเรื่องประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยนี่มันเรียกว่า 1 คน 1 สิทธิ 1 เสียง เมื่อเราจะไปโนโหวต โหวตเยส โหวตโน มันก็เป้นสิทธิของเรา ถ้ากลุ่มโนโหวตบอกว่าพวกไปโหวตเยสโหวตโนทำให้เสียงแตกจากโนโหวตล่ะ คุณทำให้เสียงแตกจากบอยคอตใช่ไหม ถ้าตีความแบบนี้บ้างก็ถกเถียงกันไม่จบ” จิตรา กล่าวถึง วาทกรรมเรื่องทำเสียงแตก ซึ่งฝ่ายบอยคอตหรือโนโหวตมักถูกกล่าวหาว่าทำให้เสียงของฝ่ายที่คัดค้านรธน. ไม่เป็นเอกภาพ
จิตรา กล่าว ต่อว่า ทำไมต้องมาตีความว่าโนโหวตหรือบอยคอต หมายถึงอะไร สำหรับตนตีความว่า กลุ่มบอยคอตคือกลุ่มที่พยายามสร้างพื้นที่ให้คนได้เห็นว่ามันมีกลุ่มคนที่ไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ และไม่เอาแม้กระทั่งกระบวนการลงประชามติ ไม่เอา พ.ร.บ.ประชามติ รวมทั้งไม่ร่วมสังฆกรรมกับการกระทำของตั้งแต่ คสช.ที่ฉีกรธน. เท่ากับเราปฏิเสธ รธน.ฉบับนี้ รวมทั้งปฏิเสธการยึดอำนาจด้วยว่าเราไม่ยอมรับ มีกรณีวิจารณ์ว่าหากปฏิเสธการยึดอำนาจแต่ทำไมถึงยอมไปขึ้นศาลทหาร ซึ่งตอนที่ขึ้นศาลทหารนั้นตนถูกจับไปขึ้น หากปฏิเสธได้ก็คงไม่ไป แต่การลงประชามติครั้งนี้อย่างน้อยก็ให้สิทธิว่าสามารถไปหรือไม่ไปไม่มีโทษ
ต่อกรณีวิจารณ์ว่าการโนโหวตทำให้คะแนนสูญเปล่า และอาจกลายเป็นเข้าข้าง คสช. ไปโดยไม่รู้ตัว หรือไม่ถูกนับในกการลงประชามติครั้งนี้ และไม่มีประโยชน์นั้น จิตรา กล่าวว่า การสร้างพื้นบอยคอตไม่ได้สุญเปล่า เพราะวันนี้ทุกคนรู้จักแล้วว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่บอยคอตไม่เอาร่างรธน. อีกทั้งขณะนี้ความหมายของโหวตเยสหรือโนก็มีการตีความไปได้หลายอย่างเช่นกัน เพราะมีโหวตโนแบบคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง โหวตโนแบบกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการตีความของ กกต. ก็พูดเพียง 2 อย่างเยสคือเอารธน. ขณะที่ โนคือไม่เอา รธน.  แต่ไม่มีการบอกว่าการไปลงโหวตโนไม่เอา รธน. บวกบวกบวกความหมายอื่นๆ ด้วย

ไม่ถูกนับในกติกาที่ไม่แฟร์ไม่ฟรีก็ไม่ต้องนับ

เมื่อเสียงไม่ถูกนับ สำหรับจิตราคิดว่าไม่ต้องนับ เพราะรัฐไม่อยากนับเสียงแบบนี้อยู่แล้ว ถ้าประชามติที่แฟร์และฟรีจริงๆ มันต้องถูกนับ แต่เมื่อประชามติที่ไม่แฟร์และฟรีเขาไม่นับเราจะไปบอกให้เขานับได้อย่างไร ในภาวะแบบนี้ แม้กระทั่งโหวตเยสหรือโหวตโนคุณจะให้เขาไปบวกว่าถ้าโหวตโนออกมาหมายถึงคสช.ออกไป มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะว่าของ กกต. เขามีเงื่อนไขอยู่แค่นั้นเอง” จิตรา กล่าว
หากคนส่วนใหญ่ของสังคมบอยคอตก็คิดว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้อย่างหนึ่งว่าการร่าง รธน. ฉบับนี้ มันไม่สามารถที่จะส่งผลอะไรได้เลย ไม่สามารถนับอะไรได้เลย ถ้าไม่มีคนไปลงหรือไปลงในจำนวนที่น้อย หากมีคนไปลงประชามติเพียง 10 ล้านคน จากผู้มีสิทธิ 50 ล้านคน อันนี้จะทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วคนไม่ได้สนใจการลงประชามติที่ไม่แฟร์ไม่ฟรี และหากมีจำนวนที่มากกว่าครั้งที่แล้วก็แสดงให้เห็นได้เช่นกัน
ที่มาภาพ เฟซบุ๊กเพจ Banrasdr Photo

ชี้ปัญหาจาก รธน.40 ที่กำหนดให้โหวตเป็นหน้าที่

พัชณีย์ คำหนัก นักกิจกรรมแรงงาน กล่าวว่า หากจำรัฐธรรมนูญ 40 ได้ ซึ่งระบุว่าให้เรามีหน้าที่ที่จะไปเลือกตั้ง ตอนนั้นคิดว่ามันไม่ใช่ มันควรจะเป็นสิทธิมากกว่า หลังจากนั้นเมื่อมันถูกทำให้เป็นหน้าที่เราแล้วเราก็ถูกบีบให้เลือกพรรคการเมืองกระแสหลัก เมื่อมาเคลื่อนไหวกับขบวนการแรงงานก็พบว่าการออกเสียงที่ถูกทำให้เป็นหน้าที่และบีบให้เราเลือกเฉพาะแค่พรรคการเมืองกระแสหลัก ซึ่งสมัยนั้นก็จะมีพรรคไทยรักไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคที่ส่วนใหญ่ก็เป็นพรรคนายทุนและมีผลประโยชน์รวมทั้งนโยบายที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของแรงงาน หลังจากนั้นก็มีการใช้วาทกรรมนอนหลับทับสิทธิ์ ตนก็สู้ว่าวาทกรรมนี้เป็นการปรามาสคนมากจนเกินไป ทั้งที่ควรเป็นสิทธิมากกว่า จนทำให้เวลาที่ไม่ออกไปใช้สิทธิจะทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นที่ขี้เกียจหรือเอาแต่ทำมาหากิน ซึ่งความเป็นจริงแล้วมันมีเหตุผลหลายอย่างที่คนไม่ไปลงคะแนน เช่น ประชามติครั้งนี้บรรยากาศของการลงประชามติอาจจะแตกต่างจากการไปเลือกตั้งเพราะว่าหากไปเลือกตั้งนั้นพรรคการเมืองก็อาจจะสนับสนุนหัวคะแนนต่างๆ หรือผู้สนับสนุนพรรคการเมืองก็สนับสนุนให้มีการไปลงคะแนนได้ แต่ประชามติกลับมีกฎหมายห้ามมีการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เป็นการชักชวนให้ไปลงคะแนน จึงทำให้เสียงที่จะไปลงหายไปหลายคน
ยิ่งในบรรยากาศแบบนี้ กฎหมายที่ออกมาก็กลายเป็นเรื่องตลกร้ายไปแล้วในสังคมไทย ที่มีกฎหมายห้ามโน้นนี่อยู่ตลอด รวมทั้งก่อนหน้านี้ก็มีการยื่นให้กับศาลรธน.ตีความว่าขัดกับ รธน. ไหม แต่ศาล รธน. ก็ตีความว่าไม่ผิด ตนก็เป็นโจทก์คนหนึ่งที่ยื่นฟ้องศาลปกครองว่าหลักเกณฑ์การทำประชามติของ กกต. นั้น เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ เนื่องจากเราไม่สามารถรณรงค์ได้โหวตหรือไม่โหวตไปทางใดทางหนึ่งได้เลย ทำให้รู้สึกว่าในบรรยากาศที่เราอยู่ในเกมส์สกปรกหรือการทำให้เป็นเรื่องตลกร้าย ซึ่งเป็นเกมส์ของผู้มีอำนาจรัฐที่พยายามจะบอกว่าพวกรณรงค์เป็นพวกก่อความวุ่นวายเพื่อเปลี่ยนผ่าน แต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลต่อไป เป็นการเปลี่ยนผ่านที่สร้างความขัดแย้ง สร้างเหยื่อของกฎหมายนั้นๆ ขึ้นมาด้วย

การเมืองที่ถูกบีบหรือเทเหลือแค่ 2 ทางเลือก

พัชณีย์ กล่าวว่า การบอยคอตหรือโนโหวตที่เราสร้างเป็นทางเลือกมีชุดความคิดของเราขึ้นมาเพื่อเป็นการสร้างพื้นที่ของการแสดงออกด้วยเช่นกัน เพื่อให้เห็นความสำคัญของการวิเคราะห์หรือพยายามที่จะบอกว่าที่มาของอำนาจรัฐของคสช.นั้นไม่เป็นธรรมก็ทำให้ให้หดหายไป ซึ่งทางตนให้ความสำคัญกับการต่อต้านที่มาของการทำรัฐประหารนั่นเอง ซึ่งเขาไม่ควรที่จะมีสิทธิมาออกกฎหมายหรือร่าง รธน. ให้เรามาลงคะแนนเลือกด้วยซ้ำไป แต่ปัญหาของเราคือว่าในเมื่อเขาไม่มีสิทธิแล้ว แต่เราก็ไม่สามารถชุมนุมทางการเมืองได้ เนื่องจากมีคำสั่ง คสช. และ ม.44 ปกครองอยู่ รวมทั้งขบวนการภาคประชาชนก็ไม่ได้เข้มแข็ง ทำให้การเมืองของเราตอนนี้ถูกบีบอยู่แค่ 2 ทางเลือกเท่านั้นเอง ก็คือโหวตเยสกับโหวตโน มันก็มีคนที่จะบอกว่าเราควรที่จะเกาะกระแสเพราะว่าการเมืองของการต่อสู้มวลชนต่างๆ จำเป็นจะต้องไปเป็นขบวนจำเป็นจะต้องเกาะกระแส ซึ่งตนก็เข้าใจอยู่ เพราะทางโหวตโนก็เชื่อว่าฝ่ายตนจะชนะเนื่องจากอาศัยฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยด้วย มี นปช. เสื้อแดง และแถมตอนนี้ทางหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็ประกาศจะโหวตโน
จึงเป็นประเด็นถกเถียงว่าเมื่อการเมืองถูกบีบให้เหลือ 2 ทางเลือกเหมือนครั้งที่ผ่านมาที่ถูกบีบเหลือการเลือกตั้งพรรคเพียงไม่กี่พรรคในขณะที่เราพยายามเสมอว่าทำไมเราไม่สร้างพรรคการเมืองของภาคประชาชนขึ้นมาเพื่อเป้นตัวเลือกหรือเปลี่ยนโฉมหน้าทางการเมืองเสียหน่อย เพราะการเมืองบ้านเราปัจจุบันเน้นการเลือกตังในรัฐสภาแล้วประชาธิปไตยก็ถูกตีความหมายมุ่งเป้าไปที่การเลือกตั้งเท่านั้น เพราะฉะนั้นการโนโหวตก็พยายามสร้างพื้นที่ว่าทำไมเราถูกบีบเหลือแค่ 2 ทางเลือก แล้วทำไมเราไม่สร้างของเราขึ้นมาบ้าง เหมือนกับว่าเราเทหรือโหนกระแสไปอีกฝั่งหนึ่ง ในช่วงที่ตนทำการเคลื่อนไหวกับกลุ่มเสื้อแดงก็ไม่ได้โหนจนขนาดว่าจะไปเอากันหมดทุกอย่าง แต่ว่าเราก็ต้องมีทางเลือกของเราว่าเราจะเสนออะไรบ้างที่จะเป็นการเมืองที่ก้าวหน้าหรือยกระดับ เช่น เราบอกว่าเราไม่สร้างพรรคการเมืองของภาคประชาชนจริงๆ ขึ้นมา ของคนชั้นล่าง ทำไม่เราต้องพึ่งพาการเมืองของพรรคเพื่อไทยเพียงอย่างเดียว ทำไมช่วงที่มีการขึ้นมาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทำไมไม่มีการปล่อยนักโทษการเมือง รวมทั้งพยายามที่จะเสนอที่จะรับผิดชอบต่อประชาชน อย่างเช่นการยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชนุภาพ การปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน แต่กลับไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย แม้แต่การแก้ไข ม.112 ก็ทำไม่ได้ ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่การถูกบีบเท่านี้ทำให้เราต้องพึ่งพาการเมืองของพรรคเพื่อไทยมากจนเกินไป และเราไม่สร้างทางเลือกจนกลายเป็นปัญหาสั่งสม
พัชณีย์ กล่าวว่า การแสดงความเห็นที่แตกต่าง เพื่อที่จะสร้างทางเลือกบนข้อจำกัดการเมืองกระแสหลักที่มีอยู่ และการเสนอทางเลือกนั้นเราก็เสนอมาโดยตลอด ไม่ใช่เพียงในช่วงนี้ แต่เราเคยพูดมาตั้งนานว่าเราต้องมีพรรค เราจะต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง นปช. ก็ไม่ควรที่จะไปเกาะขากับพรรคเพื่อไทย ไม่สามารถที่จะเป็นตัวของตัวเองได้และไม่สามารถเรียกร้องทางการเมืองอะไรได้ เช่น การเรียกร้องให้เอานักโทษการเมืองออกมาให้ได้ทั้งที่เป็นข้อเรียกร้องเฉพาะหน้าก็ไม่สมารถทำได้ จึงเป็นโจทย์ที่ตนคับข้องใจ และบางครั้งก็รู้สึกหดหู่

โนโหวตมันก็มีหลากหลายเฉด

“โนโหวตมันก็มีหลากหลายเฉด หลากหลายรูปแบบเหตูผล แต่ถ้าไม่มีเหตุผลของคนที่บอยคอตเลยนี่ โนโหวตดิฉันคาดว่าจะมีประมาณ 40% หรือ 50% ด้วยซ้ำ ของคนที่มีสิทธิไปลงคะแนน เนื่องจากเรามีประสบการณ์เมื่อปี 50 ดิฉันก็ไปลงคะแนนเสียงเหมือนกันคือไปโหวตโน แต่ว่าในที่สุดแล้วเราก็แพ้ กันเฉียดฉิวมาก และในบรรยากาศช่วงนั้นก็มีเสรีภาพมากกว่าตอนนี้ แต่ในที่สุดก็แพ้จนได้” พัชณีย์ กล่าว
วัฒนธรรมการเมืองบ้านเรามันยังไปไม่ถึงจุดที่จะฉีกหาทางเลือกให้กับตัวเองได้จริง เพราะในต่างประเทศก็มีพรรคแรงงาน ที่ไม่ใช่ระบบ 2 พรรคอย่างอเมริกา แต่อาจจะมีพรรคแรงงานที่เป็นทางเลือกที่ 3  หรือพรรคอะไรก็แล้วแต่ ทำไมเราไม่สร้างโฉมหน้าการต่อสู้ที่ประชาชนเป็นหลัก แม้แต่ขบวนการแรงงานไทยก็มีการพูดถึงการสร้างพรรคแรงงานอยู่เหมือนกัน แต่ปัญหาของขบวนการแรงงานไทยส่วนใหญ่คือการไปอิงกับพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อการเมืองมันถูกบีบเหลือแค่ 2 พรรคใหญ่ แม้แต่ขบวนการแรงงานเองก็ไม่สามารถปักหลักของตัวเองได้ ก็ยังไปอิงกับกระแสของประชาธิปัตย์
พัชณีย์ กล่าวด้วยว่า ทั้งโหวตโนและโนโหวตมีทิศทางเดียวกันก็คือไม่เอา คสช. และก็ไม่เอารัฐประหาร และพวกเขาเห็นว่าเผด็จการไม่มีความชอบธรรมที่จะมาปกครองเรา เพราะฉะนั้นเมื่อชัยชนะเกิดขึ้นกับฝ่ายโหวตโนเมื่อไหร่ ตนคิดว่าเราไม่ควรให้สิทธิที่เขาจะมาร่างรธน. ซ้ำอีก เขาอาจไปเอา รธน.อื่นมาใช้แต่เขาไม่มีสิทธิที่จะมาร่างกฎหมายให้เรามาลงคะแนนหรืออย่างที่อภิสิทธิ์ เสนอว่าให้สิทธิ พล.อ.ประยุทธ์ ร่าง รธน. ใหม่ จริงๆ เขาไม่ควรมาร่างตั้งแต่ตอนนี้ด้วยซ้ำ
ที่มาภาพ เฟซบุ๊กเพจ Banrasdr Photo

ขอฝ่ายประชาธิปไตยเห็นหัวคนโนโหวต

โชติศักดิ์ กล่าวว่า ตนพูด 2 เรื่อง เรื่องแรก พูดถึงเหตุผลว่าทำไมตนถึงบอยคอต อีกเรื่องหนึ่งสิ่งที่ตนเรียกร้องต่อสังคมและกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ได้เรียกร้องให้เปลี่ยนการโหวต คือจะไปโหวตโนก็ได้ แต่ตนเรียกร้องว่า “เห็นหัวคนโนโหวต” แค่นั้นเอง ระหว่างบอยคอตกับโนโหวตต่างกันอย่างไร ตนใช้บอยคอตเป็นสับเซตของโนโหวต โนโหวตคือคนที่ไม่ได้ไปโหวตไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ คนบอยคอตก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะฉะนั้นเวลาที่ตนใช้ 2 คำนี้ก็จะคนละความหมายกัน นั่นแปลงว่าด้านหนึ่งตนก็ไม่ได้เคลมว่าทุกคนที่โนโหวตหรือไม่ไปลงคะแนนประชามติ ไม่ได้แปลว่าเขาบอยคอตทั้งหมด
“เวลาที่ผมเรียกร้องให้เห็นหัวคนโนโหวตมีอยู่ 2 ด้าน คือด้านหนึ่งคือด้านหลักการ อีกด้านคือในแง่ยุทธวิธี ซึ่งผมรู้สึกว่าไม่ว่าคุณจะมองด้านไหนคุณก็ควรจะต้องเห็นหัวคนโนโหวตโดยเฉพาะถ้าคุณเคลมว่าคุณเป็นฝ่ายประชาธิปไตย” โชติศักดิ์ กล่าว

คนขี้เกียจที่เป็นพลเมืองแล้วไม่ควรถูกเห็นหัวหรือ?

โชติศักดิ์ กล่าวว่า ในเชิงหลักการคนโนโหวตก็เป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่งมีสิทธิมีเสียงคนหนึ่ง คำถามก็คือว่าเขาแสดงออกทางการเมืองอย่างหนึ่งหรือต่อให้คุณมองว่าคนกลุ่มนี้ขี้เกียจ ซึ่งตนก็ไม่เห็นด้วยกับการมองแบบนี้ แต่คำถามก็คือว่าแล้วคนที่ขี้เกียจเหล่านี้เป็นพลเมืองแล้วไม่ควรถูกเห็นหัว ควรถูกมองเป็นอากาศธาตุอย่างนั้นหรือ อันนี้ในเชิงหลักการโดยเฉพาะหากเคลมว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย

พอไม่นับโนโหวตจำนวนคนเห็นด้วยกับ รธน.จะเพิ่มขึ้น

โชติศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่ในด้านยุทธวิธี ยกตัวอย่างประชามติปี 50 มีคนไปใช้สิทธิประมาณ 25 ล้านคน มีคนรับ 14 ล้านคน ไม่รับ 10 ล้านคน เฉพาะตัวเลขที่รับ คิดเป็น 32% กว่าๆ ของผู้มีสิทธิออกเสียง แสดงว่ามีคนที่เอากับร่างรธน.นี้จริงๆ แค่ 32% แต่เมื่อคุณตัดคนสุดท้ายออกไปคือเสียงโนโหวต เหลือแค่รับกับไม่รับ เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ฝ่ายรับจะพลิกกลับไปเป็น 57% ขณะที่ไม่รับเป็น 42% หมายความว่าแค่คุณนับเสียงโนโหวตหรือไม่นับนี่ความชอบธรรมมันพลิกทันทีจากที่มีคนเห็นด้วยแค่ไม่ถึง 1 ใน 3 กลายเป็นมีคนเห็นด้วยเกินครึ่ง
ที่ผ่านมามีการดิสเครดิตกันเองอยู่แล้วว่าจะไม่นับเสียงคนโนโหวต ตนเรียกร้องต่ำๆ คือว่า คุณไม่ต้องประกาศ คืออยากแรกคือช่วยนับอยู่ในใจก็ได้ แปลว่าคุณก็ไม่ต้องไปประกาศว่าฉันจะไม่นับ ไม่ได้เรียกร้องให้คุณไปแอคชั่นอะไรเลย ไม่ได้ทำให้คุณเสียเวลาเพิ่มหรือทำอะไรเพิ่มมากขึ้น แค่หยุดคิดว่ากูไม่นับเสียงพวกนี้เท่านั้นเองเป็นข้อเรียกร้องที่ต่ำที่สุด หรืออาจจะทำมากกว่านั้น เช่น ช่วยบอกคนข้างๆ ว่าช่วยเห็นหัวคนโนโหวตเท่านั้นเองไม่ว่าจะโหวตอะไร เพราะถึงที่สุดก็จะมีคนโนโหวตอยู่ดี ไม่ว่าจะด่าโนโหวตอย่างไร และคนกลุ่มนี้รอบที่แล้วคือ 43% เป็นคนกลุ่มใหญ่ หรือประมาณ 20 กว่าล้านคน หากเรายืนยันว่าเราจะไม่เห็นหัวคนโนโหวต ก็เท่ากับว่าเราจะไม่เห็นหัวพลเมืองไทยอีก 20 กว่าล้านคน
“เวลาผมเรียกร้องให้คนเห็นหัวนี่ผมไม่ได้เรียกร้องให้คุณต้องมาเคารพต้องหยุดวิพากษ์วิจารณ์หรือต้องมาเชียร์ แต่อย่างแรกเลยคือไม่ต้องไปดิสเครดิต ไม่ต้องไปบอกว่ากูจะไม่นับๆ เพราะว่า คสช.ไม่นับ แค่นี้เอง ให้เห็นแค่ว่าคนกลุ่มนี้มีตัวตนและบันทึกมันไว้ในคะแนน” โชติศักดิ์ กล่าว

ไม่ชวนให้เล่นเกมส์ตีความเสียง

การตีความโนโหวตนั้น โชติศักดิ์ กล่าวว่ามันมีการพูดเสมือนว่าเราไม่รู้จะตีความเสียงโนโหวตอย่างไร แต่คำถามก็คือว่าถึงที่สุด ถ้าเราจะมาดูเสียงทุกแบบจริงๆ แม้แต่เสียงโหวตโนโหวตเยสมันก็ต้องถูกตีความเหมือนกัน ที่ผ่านมาพูดเสมือนว่า เสียงโหวตโนมันชัดเจนใสแจ๋วเลยว่าโหวตโนเท่ากับไม่เอารัฐประหาร ซึ่งจริงๆ แล้ว มันก็ไม่ใช่ คือถ้าจะตีความก็ตีความกันได้แล้วก็ถึงที่สุดถ้าเสียงโหวตโนชนะ อีกฝั่งเขาก็จะเล่นเกมส์ตีความกับคุณอยู่ดี เพราะฉะนั้นอย่างไรก็แล้วแต่ไม่ว่าคุณจะโหวตอะไร มันก็อาจต้องเล่นเกมส์เสียงตีความอยู่ดี แต่ว่าสิ่งที่ตนอยากจะชวนเล่น ตนไม่ชวนให้เล่นเกมส์นี้ แต่เล่นข้อเท็จจริงไปเลย คือไม่ต้องไปตีความว่าเสียงเหล่านี้คืออะไร ดูตัวเลขจริงว่าเท่าไหร่ๆ แล้วไม่ต้องไปตัดอันไหนออกแค่นั้นเอง เพราะตีความมันต้องตีความกันไม่จบไม่สิ้น และถ้าจะเล่นตีความมันก็เล่นตีความให้ทุกๆ แบบ ข้อเสนอตนคือไม่ต้องไปเล่นเกมส์นี้

โนโหวตเพราะไปทำเรื่องงี่เง่า ยิ่งเท่ากับรธน.มันงี่เง่ายิ่งกว่า

โชติศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ทำไมเราไม่ควรไปเล่นเกมส์ตีความ เพราะว่าถึงที่สุด เพราะข้อเท็จจริงก็มีที่ว่าคนไม่ออกไปโหวตเพราะอยากนอนอยู่บ้านเฉยๆ คำถามก็คือว่าก็แล้วยังไง? เพราะถึงที่สุดแล้วคนก็ตัดสินใจ ดังนั้นการที่คนตัดสินใจนอนอยู่บ้านก็เท่ากับเขาประเมินแล้วว่าการดูทีวีนั้นมีคุณค่ามากกว่าการออกไปประชามติ ไม่เช่นนั้นแล้วเขาจะเลือกทำอย่างนั้นทำไม
“คำถามก็คือว่าถ้ามีคนเห็นว่าอะไรก็แล้วแต่ที่เล็กๆ มีค่ามากกว่าประชามติ มีคน 50% หรือมีคน 25 ล้านคนเห็นว่าการกระทำแบบนี้นอนดูทีวีอยู่บ้านหรือว่าอะไรก็แล้วแต่ ต่อให้คุณยกตัวอย่างรูปธรรมการกระทำที่มันงี่เง่าอะไรก็แล้วแต่มามากแค่ไหนยิ่งยกตัวอย่างได้งี่เง่ามากที่สุดนี่แปลว่ารัฐธรรมนูญคุณยิ่งงี่เง่ายิ่งกว่าสิ่งนั้น เขาเลือกทำสิ่งงี่เง่าโดยไม่เลือก” โชติศักดิ์ กล่าว

ทำไมไม่แทงกั๊ก แล้วถ้าโหวตเยสชนะจะทำอย่างไร

โชติศักดิ์ กล่าวตั้งคำถามว่า ตัวเลขเหล่านี้มีพลังหรือไม่ พร้อมตอบว่า ตนคิดว่าตัวเลขทุกอย่างต่อให้โหวตโนชนะ จริงๆ ที่ผ่านมารู้สึกว่าหลายคนพูดเสมือนว่าโหวตโนมันชนะไปแล้ว แต่จริงๆ มันยังไม่ชนะ แต่ไม่ว่าผลออกมาอย่างไรถึงที่สุดตัวเลขนั้นก็ต้องเอาไปทำอะไรสักอย่าง ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ เมื่อชนะแล้ว ประยุทธ์ จะลาออก ตนไม่เชื่อว่าประยุทธ์จะลาออก ทันที่ที่ผลประชามติออกมาไม่ผ่าน เวลาเราประเมินเรื่องโหวตโนหรือโนโหวตนั้นมีความลักลั่นอยู่ 2 อย่างก็คือว่า ฝ่ายเชียโหวตโนเวลาประเมินก็จะประเมินบนวิธีคิดแบบด้านการเมืองก็จะบอกว่าถ้าเสียงโหวตโนชนะมันจะเป็นจุดเริ่มต้นของ 1 2 3 4 5 คำถามก็คือว่าจุดเริ่มต้นนั้นมันต้องมีการเคลื่อนไหวอะไรจากใครบางคนนำมาซึ่งจุดเริ่มต้นนั้นใช่ไหม โนโหวตก็เหมือนกัน ถ้าโนโหวตเกินครึ่งหรือมากว่าครั้งที่แล้ว ในทางการเมืองมันก็สามารถนำไปสู่อะไรบางอย่างได้เหมือนกัน ถ้าเราจะหยิบใช้มัน ปัญหาตอนนี้ก็คือว่าเราตัดชอยส์โนโหวตทิ้งไปแล้วไง คือเรามุ่งไปเสมือนว่าเรามั่นใจแล้วว่าโหวตโนจะชนะแน่นอน เพราะฉะนั้นจะไม่นับแล้วโนโหวต ซึ่งตนรู้สึกว่าด้านหนึ่งมันไม่ฉลาด
ถึงที่สุดเราไม่รู้ว่าโหวตโนหรือโหวตเยสชนะ แต่ถ้าเราแทงกั๊กไว้ทั้ง 2 อย่าง คุณนับโนโหวตไปด้วย ต่อให้โหวตเยสชนะ แต่ว่ามีคนโนโหวตเกิน 50% คุณก็หยิบเงือนไข 50% นั้น มาเล่นได้ แต่ถ้าคุณตัดทิ้งดิสเครดิตเสียงโนโหวตตั้งแต่ยังไม่เริ่มอะไรเลย ตนถามง่ายๆ ถ้าโหวตเยสชนะแล้วคุณจะทำอย่างไร ตัวเลขคุณจะมีแค่ 2 ตัวเลขเท่านั้น คือโหวตเยสชนะคุณ แล้วคุณจะเคลื่อนไหวอย่างไร

เสริมประเด็นประชามติไม่มีองค์ประชุม

โชติศักดิ์ กล่าวเสริมประเด็นเรื่ององค์ประชุมของจิตราว่า เป็นเรื่องสำคัญ ยกตัวอย่างกรณีการประชุมสภาก็จะมีการตั้งองค์ประชุม องค์กรทั่วๆ ไปก็มีการตั้งองค์ประชุม คือมันต้องมีคนมาจำนวนหนึ่งถึงจะครบ ไม่ใช่นับเท่าคนที่มา มาคนเดียวหรือ 2 คน ก็ตั้งเป็นมติกัน อันนี้ก็เป็นหลักการทั่วๆ ไป ที่ทุกคนก็ยอมรับ รัฐสภาประชุมผ่านกฎหมายมาฉบับหนึ่ง บางทีเป็นกฎหมายงี่เง่าด้วยซ้ำไป แต่ก็ต้องมีองค์ประชุม แต่ขณะเดียวกันที่เรื่องตลกก็คือว่ารธน. ที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศกลับไม่มีการตั้งองค์ประชุม กลายเป็นว่ามีคนมาเท่าไหร่ก็เปอร์เซ็นต์ก็แล้วแต่ มาแค่ล้านเดียวหรือ 2% ก็ผ่านได้ โดยที่คนที่เหลือไม่ต้องมีส่วนร่วมต่อรธน.นี้ก็ได้ อันนี้ก็เป็นปัญหาความชอบธรรมของกระบวนการรธน.นี้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว กรณี ส.ส. ถ้าเขตหนึ่งมีปัญหาก็มีปัญหาแค่เขตนั้น แต่นี่ รธน. มันเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ จริงๆ ส.ส.ก็มีการลงพรรคเดียวก็ต้องให้เสียงเกิน 20% ขนาด ส.ส.ที่เป็นเรื่องเล็กกว่ามากก็ยังมีร่องรอยของการตั้งองค์ประชุม แต่ประชามติที่ใหญ่กว่ามากๆ และถ้าผ่านก็แก้ยากกลายเป็นว่าไม่มีองค์ประชุมที่ไม่กำหนดว่าผู้มีสิทธิจะมาออกเท่าไหร่ก็ได้ อันนี้ก็เป็นปัญหาหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น