วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559

‘ไผ่’ นศ.ขอนแก่นไม่ประกันตัวพร้อมอดอาหาร หลังศาลอนุมัติฝากขังกรณีแจกเอกสารค้าน รธน.


ภาพจากเฟซบุ๊กอานนท์ นำภา ที่สภ.ภูเขียว วันที่ 6 ส.ค.2559

ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ผู้ถูกจับกุมตาม พ.ร.บ.ประชามติ จากการแจกเอกสารค้านร่างรธน.ตัดสินใจไม่ประกันตัว ยืนยันสิ่งที่ทำถูกต้อง ต้องการพิสูจน์ความล้มเหลวของกระบวนการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ส่วนเพื่อนที่ถูกจับด้วยกันยื่นประกันเพราะติดภาระทางการศึกษา หลักทรัยพ์ 1.5 แสน


ภายหลังศาลอนุมัติฝากขัง และไผ่ จตุภัทร์ ไม่ประกันตัว นักศึกษา 5 คนจากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่อีสาน
อ่านแถลงการณ์ขอโทษต่อคนรุ่นหลัง ซึ่งจตุภัทร์และวศิณ ผู้ต้องหาจาก พ.ร.บ.ประชามติ
เขียนขึ้นระหว่างถูกขังที่คุกสภ.ภูเขียว
ยืนยันเคารพเสียงของประชาชนแต่ไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการ 
8 ส.ค.2559 เมื่อเวลา 12.35 น.ห้องเวรชี้ ศาลจังหวัดภูเขียว อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ศาลได้อ่านคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น วัย 25 ปี และนายวศิน พรหมมณี นักศึกษามหาวิทยาลัยสุรนารี วัย 20 ปี ผู้ถูกจับกุมด้วยข้อหา "ร่วมกันก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออีเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่น ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว ปลุกระดม หยาบคาย หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียง ไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียงและความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม ไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน ตาม พ.ร.บ.ประชามติ ม.61 (1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และความผิดตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ที่ 25/2549 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน1,000 บาท
ในห้องพิจารณาคดีได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วนโดยมีแผ่นอะครีลิกหนากั้นกลางระหว่างผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี  ผู้ต้องหา  ผู้พิพากษา,พยาน,ทนาย และในระหว่างการไต่สวนผู้เข้าร่วมรับฟังสามารถได้ยินแต่เสียงของผู้พิพากษาที่พูดผ่านไมโครโฟนเท่านั้นโดยที่ไม่สามารถได้ยินเสียงของโจทก์ ผู้ต้องหาหรือทนายความได้เลย
หลังการพิจารณาคดี วิบูลย์ บุญภัทรรักษา พ่อของจตุภัทร์และทนายความ ได้เล่าถึงกระบวนการในการพิจารณาคดีว่า ร.ต.อ.รังสรรค์ เอี่ยมไธสง พนักงานสอบสวนได้ร้องต่อศาลขอฝากขังผู้ต้องขังทั้งสองโดยให้เหตุผลว่ายังต้องมีการสอบพยานอีก 4 ปาก คดีมีอัตราโทษสูงเกรงว่าผู้ต้องขังจะหลบหนีและไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุร้ายประการอื่น นายจตุภัทร์และนายวศินได้แย้งเหตุผลของพนักงานสอบสวนว่า ผู้ต้องหาทั้งสองอยู่ในระหว่างการศึกษา มีครอบครัวและที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ไม่มีเหตุที่จะหลบหนีคดีทางการเมืองในลักษณะนี้ ศาลฟังคำร้องของพนักงานสอบสวนและคำคัดค้านฝากขังของผู้ต้องหาทั้งสองพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ต้องหามีโทษทางอาญาอัตราโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนีจึงอนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องของเจ้าพนักงานสอบสวนตั้งแต่วันที่ 12-19 ส.ค.2559 หลังจากศาลถามต่อว่าผู้ต้องหามีข้อข้องใจตรงไหนหรือไม่ นายวศินยืนขึ้นกล่าวว่าตนประสงค์ขอประกันตัว จากนั้นนายจตุภัทร์แสดงความประสงค์ไม่ขอประกัน ศาลกล่าวว่า ก็แล้วแต่ แล้วลุกออกจากบัลลังก์
วิบูลย์ กล่าวว่า เดิมผู้ต้องขังทั้งสองคนยืนยันที่จะไม่ประกันตัวและจะอดอาหาร แต่นายจตุภัทร์ได้ขอให้นายวศินประกันตัวเพื่อที่จะได้ออกไปศึกษาต่อ โดยญาติของวศิณได้ยื่นหลักทรัพย์ 150,000 บาทและศาลอนุญาตให้ประกันตัว  ส่วนเหตุผลที่นายจตุภัทร์ยืนยันไม่ขอประกันเนื่องจากต้องการยืนยันว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งถูกต้อง และต้องการพิสูจน์ความล้มเหลวของกระบวนการทางกฎหมายและและกระบวนการยุติธรรม โดยนอกจากการไม่ประกันตัวแล้ว นายจตุภัทร์จะทำการอดอาหารประท้วงจากการจับกุมและกระบวนการดำเนินคดีด้วย
ทั้งนี้ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เริ่มอดอาหารมาแล้วตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. เวลา 10.00 น.
วศิน พรหมณี หรือ ปาล์ม เล่าเหตุการณ์ในการไปเดินแจกเอกสารของ NDM ในตลาดสดเทศบาลชุมแพจนเป็นเหตุให้ถูกจับกุมว่า ตนเองกลับมาภูเขียวเพื่อลงประชามติ ก่อนหน้านี้ ไปไหนมาไหนก็มีคนถามบ่อยๆ ว่า รัฐธรรมนูญนี้มีอะไรบ้าง เมื่อไผ่มาชวนจึงอยากทำกิจกรรมให้ข้อมูลประชาชนได้รู้ข้อมูลเรื่องรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวก็เห็นว่าข้อมูลที่จะไปแจกจ่ายเป็นความจริง ตอนเราไปแจกก็ไม่ได้ชี้นำ แจกแล้วก็บอกให้คนรับพิจารณาเอาเอง ตอนนั้นคิดว่าแจกเสร็จแล้วจะแยกย้ายกันกลับ แต่เดินแจกได้ไม่ถึง 300 เมตรก็โดนจับเสียก่อน เขาคิดว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ได้ผิดอะไร ตอนตำรวจให้พิมพ์ลายนิ้วมือจึงไม่พิมพ์ นอกจากนี้ก็ยอมรับผลโหวตตามที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศออกเสียงมา แต่ยังยืนยันว่าจะสู้กับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อไป
แถลงการณ์ สองเสียงที่หายไป

เราโตพอที่จะยอมรับการตัดสินใจของประชาชน ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ เราโตพอที่จะไม่ใช้วิธีการอย่างที่ คสช. ทำกับรัฐธรรมนูญปี 50 บรรยากาศในการลงประชามติครั้งนี้ คสช.ไม่ได้เปิดโอกาสให้เราได้รณรงค์อย่างเต็มที่ตามที่ทุกท่านเห็น เรายอมรับอำนาจการตัดสินใจของประชาชน ไม่ได้แปลว่า เรายอมรับอำนาจเผด็จการ การมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ใช่เพียงแค่การออกเสียงประชามติเท่านั้น แต่หมายถึง ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเราเชื่อว่า รัฐธรรมนูญที่ดีต้องมา “จากประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” เท่านั้น ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาของสังคมไทยได้อย่างแท้จริง เราขอโทษคนรุ่นหลังที่ตอนนี้อำนาจเผด็จการได้บัญญัติเป็นรัฐธรรมนูญ เรียบร้อยแล้ว เราทำเต็มกำลังที่เรามี เราทำได้แค่นี้จริงๆ
ขอโทษครับ
R.I.P.ประเทศไทย
7 สิงหาคม 2559 23.58 น.
ณ ห้องขัง สภ.ภูเขียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น