วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

2 องค์กรสิทธิออกรายงาน ชี้ร่าง รธน.ก่อปัญหามากกว่าทางออก


แฟ้มภาพ: ประชาไท

สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ออกรายงาน "อุปสรรคขวางทางประชาธิปไตย – การกดขี่ในระบอบทหารและร่างรัฐธรรมนูญของไทย" ชี้ร่างรัฐธรรมนูญและการประชามติ เป็นผลมาจากกระบวนการที่กดขี่และอาจยิ่งทำให้เกิดปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเมืองมากขึ้น

3 ส.ค. 2559 สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติของไทยที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 7 ส.ค.นี้ เป็นผลมาจากกระบวนการที่กดขี่และอาจยิ่งทำให้เกิดปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเมืองมากขึ้น
รายงานของทั้งสององค์กร เรื่อง "อุปสรรคขวางทางประชาธิปไตย – การกดขี่ในระบอบทหารและร่างรัฐธรรมนูญของไทย (Roadblock to democracy - Military repression and Thailand’s draft constitution)" พูดถึงข้อมูลเกี่ยวกับบรรยากาศของการกดขี่ที่ คสช.สร้างขึ้น ในระหว่างกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และวิเคราะห์ถึงมาตราที่เป็นปัญหามากที่สุดและมีลักษณะถอยหลังในร่างฉบับนี้
จากบทวิเคราะห์ รายงานให้ข้อสรุปว่า กรณีที่มีการให้ความเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญในการออกเสียงประชามติ รัฐธรรมนูญนี้จะยิ่งทำให้เกิดปัญหากับเสถียรภาพทางการเมืองมากขึ้น เนื่องจากเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับหน่วยงานทางการเมืองที่จัดตั้งขึ้น และในขณะเดียวกันได้ลดบทบาทของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตให้น้อยลง
“กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญภายใต้การจัดการของ คสช. ได้สะท้อนเป็นเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่ให้ความชอบธรรมต่ออิทธิพลของทหารและชนชั้นนำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในระบบการเมืองของไทย การปราบปรามอย่างรุนแรงของ คสช.เพื่อป้องกันเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อร่างรัฐธรรมนูญ จะส่งผลให้ผลการลงคะแนนเสียงไม่ได้รับความเชื่อถือแม้จะมีการเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนี้” คาริม ลาฮิดจี (Karim Lahidji), ประธานของ FIDH กล่าว
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า ในช่วงไม่กี่เดือนก่อนจะถึงการออกเสียงประชามติ ทางการได้ใช้อำนาจตามประกาศคำสั่งของ คสช.และกฎหมายที่กดขี่เพื่อคุกคาม ควบคุมตัว และดำเนินคดีต่อผู้วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ระหว่างวันที่ 27 เมษายน ถึง 24 กรกฎาคม 2559 ทางการได้ควบคุมตัวโดยพลการต่อบุคคลอย่างน้อย 41 คนซึ่งวิพากษ์วิจารณ์หรือรณรงค์ต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ ทางการยังควบคุมตัวแกนนำอย่างน้อย 38 คนของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาล โดยตั้งข้อหาต่อความพยายามของกลุ่มที่จะจัดตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ
รายงานระบุด้วยว่า นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารยังเข้าร่วมและสอดส่องในการอภิปรายสาธารณะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างสม่ำเสมอ ในหลายกรณี ทางการสั่งให้ยกเลิกการจัดสัมมนาและอภิปรายเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และบางครั้งทางการยังได้แสดงท่าทีข่มขู่ผู้เข้าร่วมประชุม
รายงานระบุว่า ในขณะที่ทางการระงับการอภิปรายเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญต่อสาธารณะ แต่ คสช.กลับใช้ทรัพยากรมากมายเพื่อรณรงค์สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ แม้มีข้อกำหนดให้หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการจัดเตรียมการออกเสียงประชามติต้องดำเนินการอย่างเป็นธรรม แต่การรณรงค์ของพวกเขาเพื่อเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ ได้ขาดความสมดุลทางการเมือง และปฏิบัติงานโดยใช้สองมาตรฐานรวมถึงความลำเอียง ท้ายสุดนี้ การที่ คสช.ห้ามไม่ให้ผู้สังเกตการณ์อิสระเข้าร่วมสังเกตการณ์การออกเสียงประชามติ ยิ่งทำให้เกิดข้อกังขามากขึ้นต่อความเป็นธรรมของกระบวนการนี้
"ไม่ว่าผลการออกเสียงประชามติจะออกมาเป็นอย่างไร คสช.ก็จะยังสามารถสืบทอดอำนาจต่อไปได้" รายงานระบุ
“การออกเสียงประชามติได้ให้ผลประโยชน์ต่อรัฐบาลทหารฝ่ายเดียว ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นที่ยอมรับ คสช.ก็จะใช้ผลการออกเสียงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับอิทธิพลของตนต่อการเมืองไทย กรณีที่ร่างไม่ผ่าน รัฐบาลทหารก็สามารถใช้เป็นข้ออ้างเพื่อใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จปกครองสังคมไทยต่อไป และทำให้เกิดความล่าช้ามากขึ้นต่อการคืนอำนาจให้กับรัฐบาลของพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย” จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธาน สสส. กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น