วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

สภากลาโหมไฟเขียวแนวปฏิรูป ลดจำนวน 'นายพล' ตั้งเป้าจาก 768 เหลือ 384 ในปี71


เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหมว่า ที่ประชุมเห็นชอบการปฏิรูปกระทรวงกลาโหม เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยการปรับระบบงานด้านกําลังพล ซึ่งปัจจุบันกระทรวงกลาโหมประสบปัญหาความคับคั่งของกําลังพลในชั้นยศสูง จึงต้องปรับลดให้มีขนาดที่เหมาะสม โดยส่วนแรกได้ปรับลดกําลังพลในตําแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ นายทหารปฏิบัติการลงร้อยละ 2.5 ต่อปี โดยเริ่มดําเนินการตั้งแต่ปี 2551 และสิ้นสุดในปี 2571 ซึ่งจะสามารถลดจํานวนกําลังพลดังกล่าวได้ถึงร้อยละ 50 โดยปี 2551 มีนายทหารระดับ พลตรี พลโท พลเอก ในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษทั้งหมด 768 นาย และจะลดลงในปี 2571 เหลือ 384 นาย เช่นเดียวกับนายทหารชั้นยศพันเอกพิเศษในตำแหน่งนายทหารปฏิบัติการ (นปก.) ที่มีอยู่ตั้งแต่ปี 2551 จำนวน 2,698 นายจะต้องลดลงในปี 2571 เหลือ 1,349 นาย
      
โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวว่า การลดจำนวนนายพลโดยลดอัตราผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ จะเริ่มค่อยๆ ดำเนินการต่อไปเพราะที่ผ่านมาก็เริ่มทำมาแล้วตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งจะสอดคล้องกับการผลิตนักเรียนจากโรงเรียนเตรียมทหารและนายร้อยฯ ทุกเหล่าทัพที่จะลดไปตามลำดับด้วย สำหรับการตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงหลังมีตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษในโผทหารจำนวนมากนั้นก็เป็นปัญหาความคับคั่งในระดับรองลงไป ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมได้จัดทําโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกําหนดจํานวน 3 โครงการ เพื่อเป็นกลไกรองรับต่อภารกิจดังกล่าว ทั้งระดับชั้นยศนายพล และทุกชั้นยศ มีกําลังพลเข้าร่วมโครงการใน 3 ปีที่ผ่านมากว่า 15,000 นาย
      
พล.ต.คงชีพกล่าวอีกว่า ยังมีการจัดทําระบบข้าราชการพลเรือนกลาโหมซึ่งเป็นระบบงานกําลังพลที่สามารถจําแนกกําลังพลตามลักษณะงานได้อย่างเหมาะสม กล่าวคือ งานใดที่เป็นภารกิจทางทหาร ทหารเป็นผู้ปฏิบัติ งานใดที่เป็นงานสนับสนุนภารกิจทางทหารก็มอบให้ข้าราชการพลเรือนกลาโหมเป็นผู้ปฏิบัติซึ่งจะส่งผลให้กําลังพลในสังกัดกระทรวงกลาโหมมีความเป็นมืออาชีพ และจะประหยัดงบประมาณในด้านกําลังพลในอนาคตได้ การดําเนินการในปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทํากฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนกลาโหม และคาดว่าจะเสนอต่อสภากลาโหมเพื่อพิจารณาภายในปีงบประมาณนี้ (ก.ย. 2559)
      
นอกจากนี้ยังมีการบรรจุกําลังพลสํารองที่ผ่านการฝึกมาบรรจุทดแทนในอัตราทหารเป็นการชั่วคราวตามระยะเวลาของสัญญาที่กําหนด เพื่อให้หน่วยทหารมีอัตรากําลังพลเพียงพอในการปฏิบัติภารกิจ และมีการหมุนเวียนกําลังพลอย่างต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลให้กองทัพประหยัดงบประมาณด้านกําลังพล แต่ยังคงขีดความสามารถไว้เช่นเดิม อีกทั้งสามารถช่วยแก้ปัญหาความคับคั่งของกำลังพลในระยะยาวได้ ปัจจุบันกระทรวงกลาโหมได้วางหลักเกณฑ์ คือ พ.ร.บ.กําลังพลสํารอง พ.ศ. 2558 มาตรา 30 กระทรวงกลาโหมอาจ รับสมัครกําลังพลสํารองเพื่อทําหน้าที่ทหารเป็นการชั่วคราวได้ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการทหาร และกฎกระทรวง กําหนด ระยะเวลาการทําหน้าที่ เงินเดือน และค่าตอบแทนอย่างอื่น สิทธิประโยชน์ ระเบียบและวินัยของบุคคลเข้าทําหน้าที่ทหารเป็นการ ชั่วคราว พ.ศ. 2553 ไว้เรียบร้อยแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น