วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559

นักวิชาการ-นักสิทธิแถลงย้ำ เสรีภาพในการแสดงออกสำคัญต่อประชามติร่าง รธน.


ชี้ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 7 ส.ค.นี้ จะไม่สามารถดำเนินไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หากมาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประชามติ และประกาศ กกต. ซึ่งขยายความสาระของมาตราดังกล่าวยังคงอยู่ เหตุมีข้อห้ามกำกวมจำนวนมาก ยันคนโหวตเยส-โหวตโนต้องได้โอกาสแสดงความคิดเห็นเท่าเทียมกัน
21 มิ.ย. 2559 เวลาประมาณ 12.15 น.  โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), สมาคมเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิชาการและนักกิจกรรม  ร่วมอ่านแถลงการณ์เรื่อง "ประชามติกับการใช้สิทธิเสรีภาพ" ที่ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยชี้ว่า ประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค. จะไม่สามารถดำเนินไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หากมาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 และประกาศ กกต. เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2559 ซึ่งขยายความสาระของมาตราดังกล่าวยังคงอยู่ต่อไป เนื่องจากมีข้อห้ามจำนวนมากที่ใช้ภาษากำกวมไม่ชัดเจน ซึ่งจะส่งผลต่อการเสนอข้อมูลและความคิดเห็นในทางสาธารณะของประชาชนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ
"การออกเสียงประชามติย่อมตั้งบนฐานคิดว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย  ผู้จัดการลงประชามติต้อง “มอบอำนาจตัดสินใจสุดท้ายไว้ที่ประชาชน” ดังนั้น ผู้เห็นชอบและไม่เห็นชอบในประเด็นที่จะจัดทำประชามติจะต้องได้รับโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน ตามหลักสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับ รวมทั้งได้รับรองไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี" แถลงการณ์ระบุ
นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การอ่านแถลงการณ์ครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากที่ได้ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินฟ้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 61 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา
จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการ iLaw กล่าวว่า หน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คือต้องพยายามทำให้การออกเสียงประชามติสุจริตและเป็นธรรม อีกทั้งประชาชนควรจะได้รับข้อมูลครบทุกด้านเพื่อประกอบการตัดสินใจ
ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องร่วมอ่านแถลงการณ์ครั้งนี้ว่า เพื่อพยายามให้มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และไม่ปิดกั้นการมีส่วนร่วม รวมถึงการรณรงค์ของประชาชนเกี่ยวกับการลงประชามติเพราะจะไม่นำไปสู่ประชาธิปไตย

ชนกนันท์ รวมทรัพย์ สมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM)กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญมีความสำคัญเพราะเป็นตัวกำหนดว่าประเทศจะดำเนินต่อไปอย่างไร ซึ่งควรเปิดให้มีการถกเถียงระหว่างข้อดีกับข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

แถลงการณ์เรื่อง “ประชามติกับการใช้สิทธิเสรีภาพ”
21 มิถุนายน 2559

การดำเนินการออกเสียงประชามติเพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจร่วมกันว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หากจะดำเนินไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม ประชาชนทุกส่วนจะต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตนและในการเข้าถึงข้อมูลและความคิดเห็นของผู้อื่น ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ลงคะแนนประชามติมีโอกาสศึกษาข้อมูลทุกด้านและสามารถชั่งใจได้ก่อนการตัดสินใจว่าจะลงคะแนนประชามติในทางใด นอกจากนั้นแล้ว ประชาชนควรจะต้องทราบอย่างชัดเจนว่า ถ้าตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง ผลของการตัดสินใจจะเป็นอย่างไร นี่คือหลักการของประชามติที่ยึดปฏิบัติกันทั่วโลก
แต่ในปัจจุบันปรากฏว่ารัฐบาลได้ทุ่มเงินภาษีของประชาชนเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในระดับชุมชนและระดับครัวเรือน โดยเป็นการเสนอข้อมูลที่อธิบายข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญเพียงด้านเดียว ซึ่งเท่ากับรัฐบาลกำลังใช้เงินภาษีของประชาชน (ซึ่งย่อมรวมถึงเงินภาษีของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ) เพื่อไปรณรงค์ให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ
ในขณะเดียวกันคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการลงประชามติมติให้เป็นไปตามหลักเสรีภาพและความเป็นธรรม ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2559 ซึ่งขยายความสาระของมาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ทั้งนี้โดยมีผลเท่ากับจำกัดโอกาสของประชาชนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่จะเสนอข้อมูลและความคิดเห็นในทางสาธารณะในลักษณะที่เป็นการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เช่นมีการห้ามประชาชนจัดการประชุมสัมมนาเพื่อวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญเว้นแต่มีหน่วยงานราชการหรือสถาบันการศึกษาหรือสถาบันสื่อร่วมจัด มีการห้ามประชาชนให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อหรือแจกจ่ายแผ่นพับหรือใบปลิวโดยการใช้ข้อความที่ “เป็นเท็จ” “รุนแรง” “หยาบคาย” หรือ “ปลุกระดม” รวมทั้งการห้ามจำหน่ายแจกจ่ายป้ายหรือเครื่องหมายสัญลักษณ์ที่มีลักษณะเป็นการรณรงค์เพื่อนำไปสู่การ “ปลุกระดม สร้างความวุ่นวาย”
ในทางปฏิบัติทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและกรรมการ กกต.ได้แสดงความพร้อมที่จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้แจกใบปลิวหรือผู้จำหน่ายแจกจ่ายเสื้อยืดที่มีเนื้อหารณรงค์ไม่รับต่อร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการขู่ที่จะดำเนินการกับศิลปินที่แสดงเพลงเสียดสีร่างรัฐธรรมนูญ
ด้วยข้อห้ามมากมายที่ใช้ภาษากำกวมไม่ชัดเจน และคำขู่ของกรรมการ กกต.บางท่านที่ออกทางสื่อมวลชนเป็นประจำ ประกอบกับโทษตามกฎหมายที่สูงถึงขั้นจำคุกนานสิบปี ปรับถึงหนึ่งแสนบาท ย่อมมีผลทำให้ประชาชนส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่มีความประสงค์ที่จะจัดกิจกรรมสาธารณะเพื่อเผยแพร่ข้อมูลและเหตุผลของตน หรือประสงค์ที่จะใช้ป้ายหรือเครื่องหมายสัญลักษณ์เพื่อชักชวนประชาชนไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ ถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ดังนั้นการเผยแพร่ข้อมูลและความคิดเห็นในส่วนที่สนับสนุนให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญย่อมมีข้อจำกัดอย่างมาก ทำให้แนวโน้มการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนนั้นเป็นการรับข้อมูลเพียงด้านเดียว

การออกเสียงประชามติย่อมตั้งบนฐานคิดว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย  ผู้จัดการลงประชามติต้อง “มอบอำนาจตัดสินใจสุดท้ายไว้ที่ประชาชน” ดังนั้น ผู้เห็นชอบและไม่เห็นชอบในประเด็นที่จะจัดทำประชามติจะต้องได้รับโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน ตามหลักสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับ รวมทั้งได้รับรองไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี
พวกเราที่ร่วมแถลงในวันนี้ เชื่อว่าประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค. จะไม่สามารถดำเนินไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หากมาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 และประกาศ กกต. เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2559 ยังคงอยู่ต่อไป

ลงชื่อ
นายจอน อึ๊งภากรณ์             ในนามของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
ดร.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร     ในนามของสมาคมเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช         ในนามของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
ดร. นฤมล ทับจุมพล         
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี
ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง
นาย เอกชัย ไชยนุวัติ
นางสาว ชนกนันท์ รวมทรัพย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น