วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เผยทหารขอบันทึกประชุมองค์กรสังเกตการณ์ประชามติชายแดนใต้


ประธานองค์กรฯ เผยมีทหารขอเทปบันทึกการประชุมสมาชิกองค์กรสังเกตการณ์ประชามติชายแดนใต้ เหตุสนใจการบรรยายของนิติภูมิ นวรัตน์ไปสอนทหาร ยืนยันทำกิจกรรมภายใต้ พ.ร.บ.ประชามติ
6 มิ.ย. 2559 มังโสด มะเต๊ะ ประธานองค์กรสังเกตการณ์ประชามติชายแดนใต้  ให้สัมภาษณ์ว่า เจ้าหน้าที่โรงแรมไดอิชิ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แจ้งว่า มีทหารไม่แจ้งสังกัดเข้าไปขอเทปบันทึกภาพการประชุมขององค์กรฯ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2559 โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการจัดประชุมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องรัฐธรรมนูญและการลงประชามติแก่เครือข่ายขององค์กรฯ ในจังหวัดสงขลา ผู้ร่วมประชุมประกอบด้วยตัวแทนจากระดับอำเภอและตำบล จำนวนกว่า 70 คน อย่างไรก็ตาม ทหารไม่ได้แจ้งจุดประสงค์ในการขอเทปบันทึกภาพ และโรงแรมไม่ได้ให้ข้อมูลไปเนื่องจากไม่ได้มีการบันทึกไว้
มังโสด กล่าวต่อว่า จากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารได้ติดต่อมาหาตนเองโดยตรงโดยแจ้งว่า ต้องการเทปการประชุมดังกล่าวเนื่องจากสนใจข้อมูลในการบรรยายจากนิติภูมิ นวรัตน์ วิทยากร โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าต้องการข้อมูลดังกล่าวไปสอนทหาร ทั้งนี้ ตนเองได้รับปากจะติดต่อกับวิทยากรให้ 
มังโสด กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางองค์กรเองก็เคยมีการจัดประชุมลักษณะในคล้ายกันรวมถึงการประชุมระดับอำเภอในจังหวัดอื่นๆ ก็ไม่มีทหารมาคอยสังเกตการณ์แต่อย่างใด  พร้อมยืนยันว่าการทำงานขององค์กรเป็นไปอย่างถูกกฎหมาย ภายใต้ พ.ร.บ.ประชามติ และมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ให้มีความเข้าใจในการลงประชามติและรัฐธรรมนูญฉบับนี้
สำหรับการประชุมขององค์กรนั้นลอกเลียนมาจากรูปแบบการจัดตั้ง ครู ก. ครู ข. ของรัฐ คือมีการประชุมของคณะกรรมการในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 15 คน หลังจากนั้นก็แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยในระดับอำเภอ อำเภอละ 20 คน โดยประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน เช่น  กลุ่มผู้นำศาสนา หรือกลุ่มครูในโรงเรียนเครือข่าย โดยการประชุมจะเป็นการเปรียบเทียบเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ปี 2550 และฉบับปัจจุบัน เพื่ออธิบายว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร อีกทั้งข้อความที่ต่างกันในแต่ละฉบับจะส่งผลอย่างไร โดยเฉพาะมาตรา 67 ซึ่งเป็นเรื่องของศาสนา และมาตรา 54 เรื่องการศึกษา โดยองค์กรมีจุดมุ่งหมายว่า หลังจากการประชุมทางกลุ่มผู้นำศาสนาและครู จะสามารถนำความเข้าใจไปเผยแพร่ให้กับประชาชนต่อไป
ทั้งนี้ทางประธานองค์กรฯ ยืนยันว่าการประชุมที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการสร้างความเข้าใจกับรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่การตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับนั้นยังเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะตัดสินใจเอาเอง การประชุมที่เกิดขึ้นนั้นมีจุดมุ่งหมายเพียงที่ว่า ผลของการลงประชามติในครั้งนี้จะเป็นคะแนนที่บริสุทธิ์ยุติธรรม และมาจากความเข้าใจในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญจากประชาชน
มังโสดได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางองค์กรฯ จะยังมีการทำกิจกรรมต่อไป และวางแผนว่าในอนาคตจะไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อขอให้เครือข่ายองค์กรได้เข้าไปเป็นผู้สังเกตการณ์ในหน่วยประชามติอีกด้วย
สำหรับองค์กรสังเกตการณ์ประชามติชายแดนใต้ เปิดตัวเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2559 ที่โรงแรมไดอิชิ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
  • 1. เพื่อให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ
  • 2. เพื่อเชิญชวนประชาชนออกไปใช้สิทธิ์ลงประชามติ
  • 3. เพื่อให้การลงประชามติเป็นไปตามกฏหมาย และเกิดความยุติธรรม
  • 4. เพื่อป้องกันและดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนไม่ให้กระทำผิดกฏหมายประชามติ
  • 5. เพื่อสังเกตการณ์และเฝ้าระวังไม่ให้มีการทุจริตในการนับคะแนนลงประชามติ
  • 6. เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นไปตามกฏหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการเผยแพร่ฯ อาทิ ก่อนเผยแพร่ต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลวิจัย รวมถึงที่มาก่อนนำมาประกอบความเห็นหรืออ้างอิงงานวิจัยตามหลักวิชาการ เป็นต้น

ทั้งนี้ องค์กรสังเกตการณ์ประชามติชายแดนใต้ มีเครือข่ายครอบคลุม 8 จังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา สตูล พัทลุง นครศรีธรรมราช และกระบี่ โดยประกอบไปด้วยองค์กรภาคีร่วม 34 องค์กร ตัวอย่างเช่น กลุ่มสตรีมุสลิม จังหวัดสงขลา สมาคมมุสลิมะฮ์อาสาพัฒนา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น