วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เพจ Facebook Security โพสต์แจงใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยสูงสุด หลังกระแสไม่ไว้ใจ-ย้ายไป minds


เพจ Facebook Security โพสต์เป็นภาษาไทย "เรานำมาตรการรักษาความปลอดภัยในระดับสูงสุดมาใช้" หลังกระแสไม่ไว้ใจเฟซบุ๊ก-ย้ายไป minds

10 พ.ค. 2559 วานนี้ เพจ Facebook Security โพสต์เป็นภาษาไทย ระบุว่า "เรานำมาตรการรักษาความปลอดภัยในระดับสูงสุดมาใช้เพื่อช่วยปกป้องคุณและข้อมูลของคุณเมื่อคุณใช้ Facebook"
พร้อมข้อความว่า "การเชื่อมต่อและแบ่งปันเรื่องราวบน Facebook ช่วยให้คุณสามารถใกล้ชิดกับครอบครัว เพื่อนๆ และติดตามข่าวสารข้อมูลทั้งจากในสังคม หรือธุรกิจที่คุณสนใจได้เป็นอย่างดี
"ทั้งนี้เพื่อให้คุณสามารถใช้งาน Facebook ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การรักษาความปลอดภัยบัญชีผู้ใช้ของคุณจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เรามีฟีเจอร์รักษาความปลอดภัยขั้นสูงที่ช่วยปกป้องคุณ และข้อมูลของคุณในเวลาที่คุณใช้ Facebook เราขอแนะนำให้คุณใช้ฟีเจอร์ "การอนุมัติการเข้าสู่ระบบ" ซึ่งจะทำให้การพยายามเข้าสู้ระบบจากผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของบัญชีมีความยากยิ่งขึ้นไปอีก

"เรียนรู้การใช้งานฟีเจอร์นี้ได้ที่
https://www.facebook.com/about/basics/how-to-keep-your-account-secure/login-approvals?locale=th_TH"

อนึ่ง เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดกระแสความไม่ไว้ใจในเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานเฟซบุ๊ก ทำให้ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง หันไปใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก minds โดยกระแสดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผู้ดูแลหน้าเฟซบุ๊กและนักกิจกรรมทางการเมืองจำนวน 8 คนถูกเจ้าหน้าที่ทหารบุกจับกุม หนึ่งในนั้นให้สัมภาษณ์สื่อว่า เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อความในกล่องข้อความส่วนตัว (inbox) ของเขาได้โดยไม่จำเป็นต้องถามรหัสผ่านจากเขา ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจออกมายืนยันว่า ตำรวจเข้าถึงข้อมูลได้จริง และเป็นการได้ข้อมูลมาโดยชอบด้วยกฎหมาย
ต่อมา 6 พ.ค. 2559 เจ้าหน้าที่ซึ่งดูแลงานด้านประชาสัมพันธ์ของเฟซบุ๊กประจำสำนักงานในกรุงลอนดอนเปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า เฟซบุ๊กมีแนวปฏิบัติทางกฎหมายที่กำหนดกระบวนการอันเข้มงวดของเฟซบุ๊กในการดำเนินการกับคำขอของรัฐบาลในกรณีที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊ก และในรายงานล่าสุดเกี่ยวกับคำขอของรัฐบาลก็บ่งชี้ชัดว่าเฟซบุ๊กไม่ได้ให้ข้อมูลใดๆ กับทางการไทย
ขณะที่เครือข่ายพลเมืองเน็ต ล่าชื่อผ่าน Change.org เพื่อตั้งคำถามไปยังเฟซบุ๊กว่า ได้ให้ข้อมูลหรือร่วมมือกับรัฐบาลไทยหรือไม่ สืบเนื่องจากกรณีแอดมินเพจล้อการเมืองระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าถึงกล่องแชท, กรณีเพจเฟซบุ๊กหนึ่งซึ่งไม่สามารถเข้าถึงได้จากเมืองไทย โดยระบบแจ้งว่าเนื่องจากข้อจำกัดของกฎหมายท้องถิ่น และกรณีคณะกรรมการปฏิรูปสื่อของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศอ้างว่าเตรียมเข้าพบกับผู้บริหารของเฟซบุ๊ก เพื่อขอความร่วมมือกับเฟซบุ๊กในการลบเนื้อหาโดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล
นอกจากนี้ เครือข่ายพลเมืองเน็ต ยังได้มีคำแนะนำไปยังเฟซบุ๊กว่า ต้องระวังมากขึ้นในการพิจารณาคำขอ "ตามกฎหมาย" ของรัฐบาล หลังรัฐบาลไทยมีท่าทีปราบผู้รณรงค์ 'ไม่รับ' ร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านการบังคับใช้กฎหมายหลายฉบับ และร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ใหม่ เปิดให้ขอคำสั่งศาลเซ็นเซอร์เนื้อหาได้ แม้ไม่ผิดกฎหมาย
ล่าสุด มีผู้ร่วมลงชื่อ 2,487 ราย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น