วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เรียก 2 อดีตส.ส.เพื่อไทย อุบลฯ เข้าค่ายคุย เหตุเข้าข่ายผู้มีอิทธิพล ก่อนกลับฝากชวนคนไปประชามติ


30 พ.ค. 2559 เมื่อเวลา 09.00 น. ที่กองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เกรียง กัลป์ตินันท์ อดีต ส.ส.อุบลราชธานี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ วรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ อดีต ส.ส.อุบลราชธานี เขต 1 พรรคเพื่อไทย พร้อม พิศทยา ไชยสงคราม ภรรยา เข้ารายงานตัวตามคำสั่งเรียกของมณฑลทหารบกที่ 22 โดยมีอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วย สมคิด เชื้อคง สมบัติ รัตโน ปัญญา จินตะเวช ณรงค์ศักดิ์ โกศัลวัฒน์ เอกชัย ทรงอำนาจเจริญ และสมาชิกสภาเทศบาลนครอุบลราชธานี เดินทางมาให้กำลังใจ
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทหารได้เชิญ เกรียง และวรสิทธิ์ พร้อมนางสาวพิศทยา เข้าพบ พล.ต.อชิร์ฉัตร โรจนะภิรมย์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 (ผบ.มทบ.22 ) ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบจังหวัดอุบลราชธานี ที่ห้องประชุมชั้น 2 โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปภายในห้องประชุมดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 30 นาที
ภายหลังการพูดคุย เกรียง เปิดเผยว่า การเข้าพบ ผบ.มทบ.22 ในครั้งนี้ เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ทหารติดต่อนัดหมายมาตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค. 59 จึงได้เดินทางมาตามนัด ซึ่งจากการพบปะกันแล้ว เบื้องต้นทางทหารแจ้งว่าเข้าข่ายผู้มีรายชื่อกลุ่มผู้มีอิทธิพล 16 ด้าน ที่กระทรวงมหาดไทย ประกาศรายชื่อมาจากส่วนกลาง จึงปฏิเสธไปว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเป็นเพียงอดีต ส.ส. และระยะหลังก็ไม่ได้ทำอะไร อยู่แต่บ้าน
 
เกรียง เผยต่อว่า ผบ.มทบ.22 กล่าวว่าผู้กว้างขวางรู้จักคนมากกับผู้มีอิทธพลใกล้เคียงกันมาก และไม่รู้ว่าตนเองไปเข้าข่ายผู้มีอิทธพลด้านใด ก่อนที่ทาง ผบ.มทบ.22 จะพูดถึงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ในฐานะที่รู้จักชาวบ้านเยอะอยากให้ช่วย ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนออกมาลงประชามติ ซึ่งไม่กล้าพูดอะไรกับประชาชนมากเพราะเกรงจะเป็นการชี้นำ โดยหลังพูดคุยมีการลงชื่อในเอกสารว่าได้เข้ามาพบตามนัดหมายแล้วจึงเดินทางกลับ

วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

'หมอเหรียญทอง' ยัน รพ.มงกุฎวัฒนะ ปลอดคนคิดเลวร้าย เผยไล่ออกตั้งแต่ 53


ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะและปธ.องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน ระบุที่รพ.แม้มีคนต้านคสช.อยู่ แต่ก็เป็นส่วนน้อยและให้ความร่วมมือล่าแม่มดพวกหมิ่นฯเป็นอย่างดี แนะองค์กรอื่นเปิดเผยบอุดมการณ์ทางการเมืองบุคลากรเพื่อให้ผู้บริโภคสบายใจ

30 พ.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 10.38 น. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'เหรียญทอง แน่นหนา' ของ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ และประธานองค์กรเก็บขณะแผ่นดิน ได้โพสต์ (ซึ่งเฟซบุ๊กเพจ 'องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน' ได้แชร์ต่ออีกที) ว่า ขออนุญาตประชาสัมพันธ์การเปิดเผยข้อมูลเพื่อการตัดสินใจของผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการ รพ.มงกุฎวัฒนะ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ทางการเมืองของแพทย์และบุคลากรส่วนน้อยบางคนตามโพสต์นี้
"ผมเป็นคนชัดเจนจึงขอเปิดเผยว่า รพ.มงกุฎวัฒนะ ก็เป็นองค์กรหนึ่งที่มีแพทย์และบุคลากรที่ต่อต้าน คสช. แต่ก็มีเพียงส่วนน้อยและไม่ถึงกับเลวร้าย (พวกที่เลวร้ายไล่ออกไปตั้งแต่ปี 53 แล้ว) แต่ที่ทำให้ผมยอมรับได้ก็เพราะแพทย์และบุคลากรส่วนน้อยเหล่านี้ให้ความร่วมมือสืบค้นและส่งรายชื่อพวกหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นจำนวนมากให้แก่ผมเป็นอย่างดี ดังนั้นท่านผู้ใช้บริการ รพ.มงกุฏวัฒนะได้โปรดอย่ารังเกียจพวกเขา อย่างไรก็ตามหากท่านต้องการเลือกตรวจรักษากับแพทย์จำนวนมากที่สนับสนุน คสช. ท่านสามารถสอบถามข้อมูลโดยตรงได้ที่ผม" พล.ต.นพ.เหรียญทอง
 
ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ ระบุด้วยว่า ตนมีนโยบายเปิดเผยข้อมูล ทั้งนี้ก็เพราะทุกองค์กรมีคนประเภทนี้ปะปนอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ผู้บริหารองค์กรจะต้องเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจรับการตรวจอย่างสบายใจ

ศาลพิพากษา 2 จำเลยคดี 112 แอบอ้าง 'พระเทพ' สารภาพลดโทษเหลือคุก 3 ปี 8 เดือน


30 พ.ค. 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ศาลจังหวัดกำแพงเพชรนัดฟังคำพิพากษาในคดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร กับ กิตติภพ และ วิเศษ (สงวนนามสกุล) ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ความผิดในการร่วมกันปลอมเอกสารราชการ และความผิดในการสวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงานโดยไม่มีสิทธิ
 
โดยพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 4 ปี ความผิดข้อหาสวมเครื่องแบบของเจ้าพนักงานโดยไม่มีสิทธิ ให้ลงโทษจำคุก 4 เดือน และความผิดข้อหาร่วมกันปลอมเอกสารราชการ ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี รวมโทษจำคุก 7 ปี 4 เดือน แต่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุกคนละ 3 ปี 8 เดือน
 
ทั้งนี้ในการอ่านคำพิพากษา ศาลได้อ่านเฉพาะเรื่องการกำหนดโทษของจำเลยทั้งสอง แต่ไม่ได้อ่านในส่วนรายละเอียดคดีและข้อวินิจฉัยทางกฎหมายต่างๆ แต่อย่างใด ในเบื้องต้น จึงยังไม่ทราบรายละเอียดเนื้อหาในส่วนดังกล่าว
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ รายงานด้วยว่า เหตุในกรณีนี้ กลุ่มจำเลยสี่คนถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกันปลอมเอกสารหนังสือราชการของสำนักราชเลขานุการ กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้นำไปอ้างแสดงต่อเจ้าอาวาสวัดไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร พร้อมกับผู้เสียหายอีกหลายคน และยังมีการกล่าวอ้างว่าสามารถที่จะทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มาร่วมในพิธีของวัดได้ โดยมีการกล่าวอ้างแสดงตนว่าเป็นหม่อมหลวง พร้อมเรียกเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ จากผู้เสียหาย ต่อมา ทางเจ้าอาวาสวัดไทรงามได้ให้ตัวแทนเข้าแจ้งความดำเนินคดี จำเลยทั้งสี่ได้ทยอยถูกควบคุมตัวในช่วงเดือนส.ค.58
 
ต่อมา เมื่อวันที่ 22 เม.ย.59 กิตติภพ จำเลยที่ 2 และ วิเศษ จำเลยที่ 3 ซึ่งเคยให้การปฏิเสธข้อหา ได้ยื่นขอกลับคำให้การต่อศาล เป็นรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกข้อหา ศาลจึงได้นัดฟังคำพิพากษาในวันนี้ ขณะที่ อัษฎาภรณ์ จำเลยที่ 1 และ นพฤทธิ์ จำเลยที่ 4 ยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ศาลจึงให้อัยการโจทก์แยกฟ้องคดีของจำเลยที่ 1 และที่ 4 เข้ามาใหม่
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ในส่วนคดีของ อัษฎาภรณ์และ นพฤทธิ์ ที่ยังต่อสู้คดี พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ต่อศาลจังหวัดกำแพงเพชรมาเมื่อวันที่ 27 เม.ย.59 โดยคำฟ้องในคดีใหม่นี้เขียนในลักษณะเดียวกันกับคำฟ้องในคดีเดิม แต่ไม่ได้มีการฟ้องในข้อหาสวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงานโดยไม่มีสิทธิ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 146 เหมือนในคดีแรก โดยศาลได้นัดพร้อมและสอบคำให้การในคดีใหม่นี้ในวันที่ 6 มิ.ย.59
 
กรณีนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ได้เข้าให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับ นพฤทธิ์ อายุ 28 ปี ซึ่งทำงานเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ นพฤทธิ์ ระบุว่าเขารู้จักกับ วิเศษ จำเลยอีกคนในคดีนี้ในฐานะรุ่นพี่รุ่นน้องที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน และไม่เคยรู้จักจำเลยอีกสองคนมาก่อน แต่วิเศษได้มาชวนไปร่วมทำบุญ โดยอ้างว่าให้เป็นเจ้าภาพร่วมกัน ที่วัดไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร ในช่วงเดือนเม.ย.58 แต่เขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแอบอ้างตามข้อกล่าวหา ไม่ทราบเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร และไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ โดยญาติของนพฤทธิ์เคยยื่นขอประกันตัวต่อศาลแล้ว 3 ครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต
 
ก่อนหน้านี้ ในนัดสอบคำให้การครั้งแรก นพฤทธิ์และทนายความได้เคยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น ในประเด็นสถานะของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีว่าเป็นบุคคลตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ แต่ศาลได้ให้ยกคำร้องฉบับนี้ โดยระบุว่าชั้นนี้ยังไม่มีเหตุสมควรวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมาย
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ระบุว่า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองประกอบด้วยพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ทอม ดันดี กลับคำให้การรับสารภาพ คดี112 คดีแรก เหลืออีกคดีที่ศาลทหาร


30 พ.ค.2559 ที่ห้องพิจารณาคดี 912 ศาลอาญารัชดา นายธานัท ธนวัชรนนท์ หรือ ทอม ดันดี นักร้องดังวัย 58 ปีมาศาลในนัดตรวจความพร้อมของคู่ความ ในคดีหมายเลข อ.3575/2558 ก่อนจะถึงนัดสืบพยานในวันที่ 26-29 ก.ค.ที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ตาม ในนัดนี้ทอม ดันดี ได้กลับคำให้การจากที่ปฏิเสธข้อกล่าวหาขอต่อสู้คดี เป็น รับสารภาพทุกข้อกล่าวหาและขอให้ศาลลงโทษสถานเบาและตัดสินคดีโดยเร็วเพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสรับประโยชน์จากการพระราชทานอภัยโทษ ศาลได้ยกเลิกกำหนดสืบพยานเดิมและนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 1 มิ.ย.นี้เวลา 10.00 น.
ทอม ดันดี กล่าวว่า เหตุที่ให้การรับสารภาพเนื่องจากติดคุกมาเกือบ 2 ปีแล้วถูกฟ้องคดี 112 ทั้งที่ศาลอาญาและศาลทหารโดยมองไม่เห็นทางว่าการต่อสู้คดีนั้นจะจบลงที่ใดจึงขอกลับคำให้การเพื่อให้คดีสิ้นสุดและเพื่อดำเนินการขออภัยพระราชทานอภัยโทษโดยเร็ว
ทั้งนี้ ทนายจำเลยระบุว่าคาดว่าในศาลทหารที่มีกำหนดสืบพยานในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ ทอม ดันดีก็จะกลับคำให้การเป็นรับสารภาพด้วยเช่นเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทอม ดันดี ถูกจับกุมตัวโดยเจ้าหน้ามที่ทหารเมื่อวันที่ 9 ก.ค.2557 เขาถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช.ไม่มารายงานตัว ศาลลงโทษจำคุก 6 เดือนแต่ให้รอลงอาญา 2 ปี จากนั้นเขาถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติมอีก 2 คดี คือ ความผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) (3) และ (5)
คดี 112 คดีแรก พิจารณาคดีในศาลทหาร โดยอัยการทหารยื่นฟ้องเขาจากกรณีการปราศรัยเมื่อวันที่ 6 พ.ย.2556 ปรากฏเป็นคลิปในอินเทอร์เน็ตระหว่าง 6 พ.ย.2556-27 มิ.ย.2557 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังรัฐประหาร และคสช.ประกาศให้คดี 112 ขึ้นศาลทหาร 
คดี 112 คดีที่สอง อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 ยื่นฟ้องเขาต่อศาลอาญา รัชดา ในวันที่ 19 ต.ค.2558 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากเขาถูกคุมขังมา 1 ปี 3 เดือน เหตุจากกรณีมีคลิปปราศรัยของเขาปรากฏในอินเทอร์เน็ตระหว่างวันที่ 13 พ.ย.2556- 26 เม.ย.2557 ซึ่งเป็นเวลาก่อนการรัฐประหาร

วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

3 องค์กรสิทธิยื่น สนช. ห่วงแก้พ.ร.บ.คอมฯ ปิดกั้นสิทธิการแสดงออก-ความเป็นส่วนตัว


แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, เครือข่ายพลเมืองเน็ต และไพรเวซีอินเตอร์เนชั่นแนล ยื่นหนังสือ สนช. ชี้บางมาตราในร่างแก้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อาจปิดกั้นสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและสิทธิในความเป็นส่วนตัว  
26 พ.ค. 2559 ตัวแทนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เครือข่ายพลเมืองเน็ต และไพรเวซี อินเตอร์เนชั่นแนล (Privacy International) ส่งจดหมายถึง สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และพล.ต.อ. ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์  สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. .... ให้มีการแก้ไขเนื้อหาในบางมาตราของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวที่อาจกระทบต่อสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและสิทธิในความเป็นส่วนตัว
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ รองประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่าร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. .... หรือ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งเป็นหนึ่งใน "ชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล" ของรัฐบาล และกำลังทยอยเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ว่า ทั้งสามองค์กรมีความกังวลอย่างยิ่งต่อเนื้อหาในบางมาตรา ที่อาจปิดกั้นสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกทางอิเล็กทรอนิกส์และสิทธิในความเป็นส่วนตัวของประชาชน ซึ่งควรได้รับการส่งเสริมและการคุ้มครองตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี
“เรามีความกังวลอย่างยิ่งในมาตรา 14 ที่อาจถูกตีความเพื่อใช้ลงโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาทและดำเนินคดีอาญากับผู้โพสต์ข้อมูลทางออนไลน์ที่ “ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายกว้างและคลุมเครือ ดังนั้น การแสดงความเห็นที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความปลอดภัยสาธารณะหรือความมั่นคงของประเทศก็อาจมีความผิดอาญาได้” พรเพ็ญ กล่าว

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวเสริมว่า นอกจากนั้นในส่วนของมาตรา 15 ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการ (Internet Service Providers) ต้องรับโทษเท่ากับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14 หากผู้ให้บริการไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ตนไม่ได้ให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิดนั้น เป็นการผลักภาระในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์แก่ผู้ให้บริการ และอาจทำให้ผู้ให้บริการเซ็นเซอร์ตนเอง (self-censor) เพื่อหลีกเลี่ยงการรับโทษปรับ ถูกสั่งระงับ หรือยุติการดำเนินกิจการ อันจะเป็นการไม่เคารพสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของผู้อื่น

ส่วนมาตรา 20 เปิดช่องให้ผู้มีอำนาจสั่งระงับการเผยแพร่หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้ว่าไม่ได้ขัดต่อกฎหมายใดก็ตาม

“นอกจากนี้เราขอเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ยุติการเอาผิดกับประชาชนและหน่วยงานที่รับโทษ ต้องคำพิพากษาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จากการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในความเป็นส่วนตัวอย่างสงบ เพราะถือเป็นการละเมิดพันธกรณีตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยให้สัตยาบันไว้” อาทิตย์กล่าว
 
ข้อมูลพื้นฐาน
มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน
(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)
มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14
            ให้รัฐมนตรีออกประกาศกำหนดขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์
            ถ้าผู้ให้บริการพิสูจน์ว่าตนได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามวรรคสอง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
มาตรา 20 ในกรณีที่มีการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ดังต่อไปนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์    (1) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
            (2) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาคสองลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
            (3) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดอาญาต่อกฎหมายอื่นซึ่งเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้นได้ร้องขอ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
            (4) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายอื่นแต่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวตามที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีมติเป็นเอกฉันท์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้
            คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่รัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรหนึ่ง (4) ให้มีจำนวนห้าคนซึ่งสองในห้าคนต้องมาจากผู้แทนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
            การยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ การไต่สวนคำร้อง และการทำคำสั่งของศาลตามวรรคหนึ่ง อาจกระทำได้ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของประธานศาลฎีกา
            ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเอง หรือสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นก็ได้
            รัฐมนตรีอาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ ระยะเวลาและแนวทางการปฏิบัติสำหรับการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันภายใต้พัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

Begin Again 'ซิงเกิลเกตเวย์' แฝงในร่างใหม่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์


ปัจจุบัน เว็บไซต์ใหญ่ๆ เช่น กูเกิล เฟซบุ๊ก ใช้การเข้ารหัสข้อมูลโดยใบรับรองความปลอดภัย
สังเกตได้จากยูอาร์แอลที่ขึ้นต้นด้วย https และมีสัญลักษณ์รูปแม่กุญแจสีเขียวหน้ายูอาร์แอล 


"ซิงเกิลเกตเวย์ที่พูดกัน ก็ตัวนี้นี่แหละ" อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ตสรุป
ถ้ายังจำกันได้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีการพูดถึง "ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี" ให้กระทรวงไอซีทีทำ "ซิงเกิลเกตเวย์" เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งก่อให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในไทยเกิดความกังวลว่าการสื่อสารในช่องทางนี้จะไม่ปลอดภัยอีกต่อไปจนเกิดการล่ารายชื่อคัดค้านผ่าน change.org และปรากฏการณ์ F5 ก่อนที่เรื่องนี้จะค่อยๆ เงียบไปและเราก็ไม่ได้ยินคำๆ นี้อีก
แต่หลังเครือข่ายพลเมืองเน็ตพบเอกสารแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งกำลังมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาในเวลา 60 วัน หลัง สนช.รับหลักการไปเมื่อ 28 เม.ย. คำๆ นี้ก็กลับมา
โดยในร่างแก้ไข มาตรา 20 ซึ่งให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ขออำนาจศาลสั่งบล็อคเว็บได้ ระบุว่า "รัฐมนตรีอาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ ระยะเวลา และแนวทางการปฏิบัติสำหรับการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันภายใต้พัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป" (ดูเอกสารด้านล่าง)
ในคำอธิบายถึงเหตุผลของการแก้ไขระบุว่า แม้ว่าศาลจะสั่งให้บล็อคเว็บได้ แต่ในทางปฏิบัติ จะต้องมีเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ ตลอดจนขั้นตอนและแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อให้คำสั่งศาลสัมฤทธิ์ผล โดยมีการยกตัวอย่าง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เข้ารหัสด้วยเทคโนโลยี SSL (Secure Sockets Layer) ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการสื่อสารหรือส่งข้อมูลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่มีการเข้ารหัสแบบ Public-key encryption ว่าจำต้องมีวิธีการและเครื่องมือพิเศษในการดำเนินการจึงจะกระทำได้สำเร็จ
เวลาพูดถึง SSL คือการที่คนรับและส่งข้อมูลสองฝ่ายต่างเชื่อใจกันและกันว่า ต่างฝ่ายต่างเป็นคนนั้นๆ จริง โดยมีการแลกเปลี่ยนกุญแจเข้ารหัส ซึ่งกุญแจจะถูกใช้เข้ารหัสข้อมูลที่ส่งถึงกัน แต่การจะยืนยันต้องใช้ใบรับรองที่ต้องเรียกขอจากแต่ละฝ่ายก่อน เพื่อยืนยันตัวตน ใบรับรองนี้ออกโดยบุคคลที่สามที่น่าเชื่อถือ ใบรับรองนี้ทำปลอมได้ยาก เพราะต้องให้บุคคลที่สามออกใบรับรองปลอมให้ ซึ่งไม่มีใครทำให้ เพราะส่วนมากบุคคลที่สามนี้เป็นเอกชน หากมีการออกให้แม้เพียงกรณีเดียวบริษัทนั้นๆ จะหมดความน่าเชื่อและเจ๊งทันที ดังนั้น การขอให้บุคคลที่สามที่น่าเชื่อถือออกใบรับรองปลอมให้จึงเป็นไปได้ยาก (ที่มา)
ประกอบกับมาตรา 15 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งเดิมกำหนดโทษสำหรับผู้ให้บริการที่จงใจ สนับสนุน หรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 มีโทษเท่ากับผู้ที่กระทำผิดนั้น ในร่าง พ.ร.บ.ใหม่ มีการแก้ไขเพิ่มเติม ให้รัฐมนตรีออกประกาศกำหนดขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ หากผู้ให้บริการได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีแล้ว จะไม่ต้องรับโทษ
อาทิตย์ชี้ว่า เอกสารนั้นเขียนเพิ่มเติมว่า ตอนนี้มีเว็บจำนวนมากที่ปิดไม่ได้ เพราะเข้ารหัส จะหาวิธีพิเศษที่จะช่วยให้ปิดกั้นได้ เท่าที่เข้าใจการใช้สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องให้ไอเอสพีให้ความร่วมมือบางอย่างเพื่อใช้อุปกรณ์ได้
"ตีความว่าถ้ารัฐขอความร่วมมือปิดกั้น ก็เท่ากับต้องถอดรหัส ถ้าไอเอสพีไม่ให้ความร่วมมือก็จะมีความผิด เท่ากับไอเอสพีต้องช่วยถอดรหัส" อาทิตย์บอก
การถอดรหัสนั้น ทำได้เช่น ในระดับผู้ให้บริการอย่างเว็บขายของที่เข้ารหัสอยู่ เนื่องจากเป็นเว็บของตัวเอง เข้าเอง ก็ถอดรหัสเองได้ ในระดับเอไอเอส หรือทรู ยังไม่แน่ใจว่าเขาจะจัดการอย่างไร อาจใช้วิธี Man-in-the-middle attack ให้ไอเอสพีออกใบรับรองปลอม เช่น มีเซิร์ฟเวอร์เฟซบุ๊กปลอม ใครก็ตามจะเข้าเฟซบุ๊ก เมื่อเรียกข้อมูลไปที่เฟซบุ๊ก ก็จะถูกเปลี่ยนทางไปที่เซิร์ฟเวอร์เฟซบุ๊กปลอม เพื่อความเนียนก็จะต้องสร้างใบรับรองปลอมขึ้นมาด้วย ซึ่งต้องทำที่ระดับเกตเวย์จึงจะทำได้
นั่นคือข้อมูลของผู้ใช้ทั่วไปจะถูกดูได้หมด
สอดคล้องกับคำสั่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ 163/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานทดสอบระบบเฝ้าติดตามสื่อออนไลน์ ที่ระบุว่า มีอุปสรรคในการตรวจสอบและปิดกั้นเว็บไซต์ที่มีการเข้ารหัสป้องกันข้อมูล (SSL: Secure Socket Layer) จึงเห็นควรให้มีการจัดหาและทดสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์ระบบเฝ้าติดตามสื่อออนไลน์เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะทำงานด้านสื่อออนไลน์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ
"ก่อนหน้านี้เป็นการตั้งคณะกรรมการเพื่อทดสอบ" อาทิตย์บอกและว่า คราวนี้เป็นการให้อำนาจตามกฎหมายที่จะใช้จริง





เด็กอนุบาลคอสเพลย์ชุดทหาร หวังปลูกฝังระเบียบวินัย


27 พ.ค.2559 WorkpointNews และ Bright News รายงานตรงกันว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่โรงเรียนชุมชนดูนสาด ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เด็กนักเรียนอนุบาลแต่งชุดทหารมาเรียนโดย อรุณ โพธิ์ศรี หัวหน้าสายอนุบาล เปิดเผยว่า สาเหตุที่ให้เด็กนักเรียนแต่งชุดทหารมาโรงเรียนคือ ทางโรงเรียนได้จัดทำโครงการ "ทหารน้อยลูกแม่ฟ้าหลวง" เพื่อเป็นการสำนึกในแม่ฟ้าหลวงของปวงชนชาวไทย โดยการปลูกฝังให้เด็กมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีระเบียบวินัย สร้างจิตสำนึกของเด็ก เน้นความเป็นอัตลักษณ์ของโรงเรียน คือ ยิ้ม ไหว้ ทักทาย จิตอาสา โดยให้เด็กแต่งชุดทหารมาทุกวันพฤหัสบดี โดยช่วงเช้าจะทำการรวมเด็กเกี่ยวกับการมีระเบียบวินัย ออกทำการเก็บขยะบริเวณโรงเรียน โดยเป็นการปลูกฝังนิสัยให้เด็ก ๆ ด้วย
สำหรับโครงการดังกล่าวโครงการนี้มีเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 1-3 ชายหญิง 3 ห้องเรียน จำนวน 134 คน ได้รับการตอบรับจากเด็กและผู้ปกครองเป็นอย่างดียิ่ง ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ให้เด็ก ๆ สวมเครื่องแบบทหาร มาโรงเรียนสร้างความสดชื่นให้กับตัวเด็ก ๆ แต่ละคนก็จะอวดชุดซึ่งกันและกัน ก่อนที่จะเข้าห้องเรียนได้จัดกิจกรรมร่วมกันอีกด้วย ซึ่งขณะเดียวกันก็ได้ให้เด็กฝึกการออมเงินคนละห้าบาทด้วย สำหรับโรงเรียนชุมชนดูนสาด เปิดสอนระดับอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนชั้น ป.1 ถึง ม.6 ก็จะแต่งชุดลูกเสือเนตรนารีมาโรงเรียนกันเป็นประจำทุกวันพฤหัสบดี
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม ว่า กรณีการแต่งชุดทหารของนักเรียนอนุบาล เคปรากฏเป็นข่าวแล้วเมื่อ ธ.ค.2556 โดย สปริงนิวส์ รายงานว่า โรงเรียนอนุบาลกองทัพบกอุปถัมภ์บริบูรณ์ธนวัฒน์ ตั้งอยู่ในค่ายเม็งรายมหาราช จ.เชียงราย ได้จัดชุดเครื่องแต่งกายให้เด็กนักเรียนทั้งหญิงและชายแต่งกายในชุดทหารเพื่อไปโรงเรียนทุกวันจันทร์ โรงเรียนดังกล่าว ในปัจจุบันเปิดสอนเด็กนักเรียนตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาล จนถึงอนุบาล 3 มีนักเรียนทั้งหมดกว่า 700 คน ซึ่งมีทั้งบุตรหลานของกำลังพล และบุคคลทั่วไป โดยมี มิ่งขวัญ กระแซง เป็นครูใหญ่ การเรียนการสอนเน้นไปที่การปลูกฝังระเบียบวินัยแบบทหารให้กับเด็ก และการเรียนรู้จากสถานการณ์จริงให้เด็กสามารถตัดสินใจการปฏิบัติตัวในสภาพสังคมปัจจุบัน

"เป็นคนไม่ได้มีบารมี" ประวิตรปัดข่าวจับมือเจ้าของเลสเตอร์ตั้งพรรค คสช.


พล.อ.ประวิตร ยันไม่เป็นความจริง กรณีกระแสข่าวจับมือคิงเพาเวอร์ ตั้งพรรค คสช. ยันไม่ได้หนุนพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้ง ย้ำไม่อยากเล่นการเมือง บอก "ผมก็เป็นคนไม่ได้มีบารมี อย่างที่พวกคุณมาถามกัน”
27 พ.ค.2559 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกระแสข่าวตั้งพรรคการเมืองร่วมกับ วิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์และเจ้าของทีมเลสเตอร์ซิตี้ ว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง
ต่อกรณีคำถามว่ามีสายสัมพันธ์และมีแนวคิดที่จะทำพรรคการเมืองหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มีและไม่เคยคิด ตนบอกหลายครั้งแล้วว่าไม่อยากเล่นการเมือง ซึ่งที่ผ่านมาตนทำงานให้ประชาชนมาหลายปี ยังมาด่าใส่อีก ส่วนที่มีข่าวว่า จะหนุนพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งนั้น ตนขอยืนยันว่าไม่มีและไม่เคย ทั้งนี้ยังได้หยอกสื่อมวลชนว่าหากถามเรื่องนี้อีกจะชก
“ต่อไปอย่าถามอีกนะ ห้ามถามเรื่องนี้อีก ถ้าถามชกเลยนะ เบื่อ เบื่อ เบื่อ เรื่องนี้ไม่ให้ถามแล้ว และทีหลังก็จะไม่ตอบอีก ผมไม่เล่นการเมือง เอาชื่อผมไปโยงคงสนุกมั้ง และผมก็เป็นคนไม่ได้มีบารมี อย่างที่พวกคุณมาถามกัน” พล.อ.ประวิตร กล่าว

ศาลยกฟ้องกลุ่มทหารเมืองกาญจน์ คดีซุ่มยิง 'ขวัญชัย ไพรพนา' ชี้หลักฐานไม่มีน้ำหนักพอ


26 พ.ค. 2559 ที่ศาลจังหวัดอุดรธานี ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษา คดีคนร้ายใช้อาวุธปืนอาก้ายิง ขวัญชัย สาราคำ หรือ ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร/ประธานชมรมคนรักภาคอิสาน ได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2557 ที่บริเวณบ้านพัก อ.เมือง จ.อุดรธานี หลังเกิดเหตุตำรวจชุดสืบสวนภาค 4 และชุดสืบสวน ภ.จว.อุดรธานี สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 6 คน ประกอบด้วย 1.ร.ต.ปรัชญา จันทร์รอดภัย สังกัด ม.พัน.19 ค่ายสุรสีห์ พล.ร.9 จ.กาญจนบุรี 2.จ.ส.อ.มาวิน ยางบัว สังกัด ม.พัน.19 ค่ายสุรสีห์ พล.ร.9 จ.กาญจนบุรี 3.จ.ส.ท.วิโรจน์ พิมพ์สิงห์ สังกัด ม.พัน.19 พล.ร.9 4.ส.อ.ชานนท์ ทับทิมทอง สังกัดกองร้อยลาดตระเวนระยะไกลที่ 9 พล.ร.9 5.จ.ส.อ.จุฑาทร เนียมทอง สังกัด พล.ร.9 และ 6. มะดือนัง มะแซ หรือ มะ อายุ 39 ปี อาสารักษาดินแดน (อส.) จ.นราธิวาส
 
เดลินิวส์และ MGR Online รายงาน โดยช่วงเช้าวันนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ได้เดินทางมาพร้อมทนายความ และนายทหารรัฐธรรมนูญ และมีตัวแทนของสมาชิกชมรมคนรักอุดร เดินทางมาพร้อมทนายความของชมรมคนรักอุดร เพื่อฟังคำพิพากษาแทนขวัญชัย ต่อมาศาลได้พิพากษายกฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 6 คน เนื่องจากหลักฐานรถยนต์ของกลางไม่สามารถยืนยันได้ ว่าเป็นรถคันเดียวกับคันที่ใช้ก่อเหตุ ทำให้ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ
 

ศาลฎีกาสั่งออกหมายจับ 'ขวัญชัย' เบี้ยวฟังคำพิพากษารื้อเวที พธม.อุดรฯ

ขณะที่วานนี้ (25 พ.ค.59) MGR Online และมติชนอนไลน์ รายงานด้วยว่า เมื่อเวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดอุดรธานีได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดี เจริญ หมู่ขจรพันธุ์ ฟ้องขวัญชัย กับพวกคดีรื้อเวทีและทำร้ายร่างกายผู้ร่วมชุมนุมเวทีที่หนองประจักษ์ จ.อุดรธานี อย่างไรก็ตาม ไม่พบว่าขวัญชัยเดินทางมาศาล มีเพียงภรรยาและบุตรชายเดินทางมาพร้อมกับทนาย
 
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานด้วยว่า เวลา 11.00 น. ได้มีคำสั่งศาล ให้ออกหมายจับขวัญชัย เนื่องจากผิดนัดโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง หรือขอเลื่อนคดี พฤติกรรมมีเหตุน่าจะหลบหนี จึงให้ออกหมายจับนายขวัญชัย ให้นำตัวมาฟังคำพิพากษาในเวลา 09.00 น. วันที่ 28 มิ.ย. 2559 และให้ปรับนายประกันเต็มอัตรา ศาลจะนัดหมายแจ้งให้มาเสียค่าปรับภายใน 15 วัน
       
โดยอาภรณ์ สาระคำ ภรรยาขวัญชัยเปิดเผยว่า ติดต่อกับขวัญชัยไม่ได้ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยขวัญชัยบอกแต่เพียงว่าจะขอไปปฏิบัติธรรมเพื่อทำใจก่อนไปฟังคำพิพากษา แต่ไม่ได้ระบุว่าไปปฏิบัติธรรมที่ไหน และไม่ได้นำโทรศัพท์มือถือติดตัวไปด้วย
 
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้จำคุกขวัญชัยเป็นเวลา 4 ปี ไม่รอลงอาญา ขณะที่จำเลยให้การรับสารภาพศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือ 2 ปี 8 เดือน ปรับ 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ตั้งแต่วันเกิดเหตุ ซึ่งภายหลังอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จขวัญชัยได้ใช้หลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินราคาประเมิน 300,000 บาทประกันตัว และต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
       
คดีดังกล่าวเป็นคดีที่อัยการและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้อง ขวัญชัย กับพวก ในข้อหาร่วมกันทำร้ายผู้อื่น กรณีที่ขวัญชัยได้นำมวลชนไปรื้อเวทีและทำร้ายกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เปิดปราศรัยที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์ จ.อุดรธานี เมื่อปี 2551
 

วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

“เรียกรายงานตัวอีกครั้งก็ยังจะอารยะขัดขืน” คำเบิกความ 'รุ่งศิลา' กวีหลังกรงขัง


ที่มาคดีของกวีต้านรัฐประหารผู้เชี่ยวชาญการทหาร

สิรภพ หรือนามปากกา ‘รุ่งศิลา’ เป็นนักเขียน กวี หนุ่มใหญ่วัย 53 ปี ไว้ผมยาว รูปร่างสูงใหญ่ ดวงตาแข็งกร้าวแต่พูดจาสุภาพ มีเหตุมีผล
รุ่งศิลาเป็นเจ้าของบล็อก  Rungsira ลักษณะเด่นของบล็อกเขาคือ บทวิเคราะห์การเมืองปัจจุบัน โยงไปถึงประวัติศาสตร์การเมือง ที่โดดเด่นอีกอย่างคือบทวิเคราะห์ด้านการทหาร กองกำลังต่างๆ อาวุธยุทโธปกรณ์นานา การอ้างอิงบางส่วนมาจากวิกิพีเดีย ขณะที่อีกหลายส่วนก็ต้องอาศัยวิจารณญาณผู้อ่าน และแน่นอนบทความจำนวนมากนั้นมุ่งเน้นการต่อต้านการรัฐประหาร
หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 รายชื่อของเขาปรากฏออกทีวีในประกาศเรียกรายงานตัวกับคสช. ในวันที่ 1 มิ.ย. และสั่งให้รายงานตัววันที่ 3 มิ.ย. แต่เขาไม่ไปรายงานตัว
ในคืนวันที่ 25 มิถุนายน 2557 เวลา 22.30 น. เขาถูกจู่โจมควบคุมตัวโดยทหารหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ชุดเคลื่อนที่เร็ว ใส่เครื่องแบบครึ่งท่อน ในมือถืออาวุธสงคราม ขับรถปาดหน้ารถยนต์ปิกอัพที่เขาใช้เดินทางในคืนวันฝนตก เขาว่า “ราวกับฉากในหนัง” เหตุเกิดก่อนถึงแยกเข้าตัวเมืองกาฬสินธุ์ผ่านทางมุ่งหน้าไปยังจังหวัดอุบลราชธานี เขาบอกว่าเขาไปที่นั่นเพื่อรอเวลาติดต่อขอสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองจาก UNHCR องค์กรข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ
คำถามสำคัญของเขา คือ คสช.ทำไมจึงมีชื่อนามสกุลจริงของเขา เพราะโดยปกติเขาใช้นามปากกาในการเขียนงานลงบล็อก ไม่เคยร่วมชุมนุมหรือสมาคมกับใคร และมีเพื่อนสนิทเพียง 2 คนเท่านั้นที่ทราบว่านามแฝง “รุ่งศิลา” ตัวจริงคือใคร
หลังการควบคุมตัวในค่ายทหาร 7 วันเขาถูกส่งตัวต่อให้ตำรวจกองปราบและแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ไม่มารายงานตัวและต่อมามีข้อหาตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วยอีกคดีจากผลงาน 3 ชิ้นในบล็อกของเขา เขาถูกคุมขังในเรือนจำจนปัจจุบันเกือบ 2 ปีเต็ม ขาดอีก 1 เดือน
ผลงาน 3 ชิ้นที่ถูกฟ้อง คือ
1.บทกลอนเสียดสีการเมือง โพสต์ในเว็บบอร์ดประชาไท เมื่อ 4 พ.ย.2552
2.ภาพการ์ตูนแนวเสียดสี พร้อมข้อความประกอบเป็นเนื้อเพลง “เป็นเทวดาแล้วใยต้องมาเดินดิน.....” โพสต์ในเฟซบุ๊กชื่อ Rungsira เมื่อ 15 ธ.ค.2556
3.ข้อความและภาพการ์ตูนล้อเลียนในบล็อกรุ่งศิลา หัวข้อ “เชื้อไขรากเหง้า ‘กบฏบวรเดช’ ที่ยังไม่ตายของเหล่าทาสที่ปล่อยไม่ไป’ เมื่อ 22 ม.ค.2557
บ่ายแก่วันก่อนเขาถูกจับกุม 1 วัน ทหารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบราว 30 นายบุกค้นสำนักงานรับเหมาก่อสร้างของเขาที่จังหวัดสงขลา นำโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ของทั้งบ้านไปพร้อมทั้งนำตัวลูกสาว 2 คน ลูกชาย 1 คน และหลานอายุ 10 เดือนไปทำการสอบสวนในค่ายทหารในเมืองสงขลา จนกระทั่งเที่ยงคืนกว่าทั้งหมดจึงได้รับการปล่อยตัว
“ตอนนั้นตกใจมากเหมือนกันแต่ทำไรไม่ได้ ก็เลยพยายามควบคุมสติไว้ ในใจก็คิดว่าเรื่องมันร้ายแรงขนาดนั้นเลยหรอ เหมือนกับเราไปฆ่าคนตาย เหมือนคดีร้ายแรงมากแบบยาเสพติดหรืออาชญากรรม มันเรื่องใหญ่จริงๆ” พลอยลูกสาวคนกลางกล่าว
“ตอนช่วงแรกก็ทำใจลำบากเหมือนกันเพราะครอบครัวเราไม่เคยเจอเรื่องอะไรร้ายแรงขนาดนี้ ถึงพ่อกับลูกจะนานๆ ทีเจอกัน แต่ว่าเราก็ผูกพันกันมากอยู่แล้ว เจอเรื่องอะไรแบบนี้ก็ยากจะรับได้ แล้วยิ่งรู้ว่าพ่อเราไม่ได้เป็นคนไม่ดีถึงขนาดที่ต้องถูกคุมขังในคุก ยิ่งแย่มากค่ะ แต่พอเริ่มผ่านมานานที่พ่ออยู่ในนั้น เราก็ไม่ได้ถึงกับปลง แต่เราก็ต้องทำใจไว้แล้วประมาณนึง ไม่ว่ายังไงก็จะไม่ทิ้งเค้าแน่นอนไม่ว่าเค้าต้องอยู่ในนั้นนานแค่ไหน พลอยจะคอยดูแลพ่อไปจนกว่าเค้าจะได้ออกมามีอิสระอีกครั้งนึง” พลอยกล่าว
ปัจจุบันเขามีเพียงลูกสาวที่ผลัดกันไปเยี่ยมที่เรือนจำราวเดือนละ 1 ครั้ง

เส้นทางยาวนานของการต่อสู้คดี และ ห้องที่ปิดลับ

เรื่องราวของเขาซ่อนตัวอยู่เงียบๆ หลังลูกกรงเรือนจำมา 2 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้เราเคยมีโอกาสพูดคุยกับเขาระหว่างถูกควบคุมตัวถึงเหตุผลที่ไม่ยอมรายงานตัว เขาบอกว่า
“มันรู้สึกยอมรับไม่ได้กับการออกมายึดอำนาจทำรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549 รับไม่ได้จริงๆ กับความอยุติธรรมที่คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งกระทำต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ รวมถึงการเข่นฆ่าประชาชนมือเปล่าคนชาติเดียวกันตายนับร้อยศพ บาดเจ็บเป็นพันคน กลางเมืองหลวงของประเทศ โดยกองทหารเดิมๆ อย่างซ้ำซากมากกว่าครึ่งศตวรรษ”
“เป็นความซ้ำซาก ย้อนแย้งและล้าหลัง ผมคิดว่าประเทศนี้มีอาการเจ็บป่วยอย่างหนักหนาเหลือเกิน”
เขาปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดและยืนยันจะต่อสู้คดี ครอบครัวของเขายื่นประกันอย่างน้อย 3 ครั้งและศาลไม่อนุญาตทุกครั้ง
ยิ่งไปกว่านั้นเขายังเป็นผู้ต้องขังหนึ่งเดียวที่ร่วมเป็นโจทก์ร่วมกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวกในความผิดม. 113 เป็นกบฏล้มล้างการปกครองด้วย คดีนี้ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ต่างก็มีคำสั่ง "ไม่รับฟ้อง" 
คดี 112 นั้นเริ่มสืบพยานปากแรกไปเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2559 ที่ผ่านมานี้เอง โดยศาลทหารสั่งพิจารณาคดีลับทำให้ไม่มีใครสามารถเข้ารับฟังและสังเกตการณ์คดีนี้ได้
คดีฝ่าฝืนคำสั่งคสช. เริ่มการสืบพยานครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 22 ม.ค.2558 อานนท์ ทนายจำเลยระบุว่า พยานโจทก์มี 4-5 ปากโดยส่วนใหญ่เพื่อมายืนยันว่าสิรภพไม่ได้มารายงานตัวจริง ขณะที่ประเด็นคำถามที่จำเลยสงสัย ไม่ว่า คสช.ทราบชื่อนามสกุลจริงเขาได้อย่างไร ชุดปฏิบัติการที่บุกจับกุมเขาบนถนนขณะกำลังเดินทางได้อย่างไร ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะมีการสืบข้อเท็จจริงกันในคดี 112 ซึ่งพิจารณาคดีแบบปิดลับ

“เรียกรายงานตัวอีกครั้งก็จะอารยะขัดขืน”

23 พ.ค.2559 ถึงคราวที่จำเลยในคดีนี้จะขึ้นให้การในคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. หลังถูกขังในเรือนจำเป็นเวลา 1 ปี 11 เดือน สิรภพหรือรุ่งศิลา ถูกเบิกตัวมาจาก แดน 6 เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มายังศาลทหาร เขาถูกใส่ตรวน (กุญแจมือ) ที่ข้อเท้า ขึ้นให้การในชุดนักโทษ เสียงดังฟังชัด ตลอด 2 ชั่วโมง โดยผู้พิพากษาไม่อนุญาตให้ใครจดบันทึก
เขาให้การว่ามีภูมิลำเนาอยู่นนทบุรี จบเอกวารสารศาสตร์ แต่ทำอาชีพออกแบบสถาปัตย์และรับเหมาก่อสร้าง ขณะถูกจับกุมมีโปรเจ็คท์ใหญ่อยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีลูกน้องราว 50 ชีวิต ทหารตำรวจบุกค้นบ้านและคุมตัวลูกๆ ไปสอบในค่ายทหารก่อนปล่อย เขาเองถูกควบคุมตัวที่เขตจังหวัดกาฬสินธ์ ขณะนั่งแท็กซี่จะเดินทางไปยังจังหวัดอุบลราชธานี เขาถูกทหารคุมตัวรวม 7 วัน พร้อมคนขับรถและคนนำทางอีก 1 คน ซึ่งเขาไม่รู้จักมาก่อน ถูกนำตัวไปไว้ที่ค่ายทหารในขอนแก่น มีการสอบสวนเบื้องต้น จากนั้นมีหน่วยการข่าวของส่วนกลางบินไปสอบสวนเขาด้วยตัวเอง ก่อนนำตัวขึ้นรถตู้มาส่งตัวให้กับทหารที่สโมสรกองทัพบกในกรุงเทพฯ  การสอบสวนในกรุงเทพฯ รอบแรก มีประธานเป็นตำรวจยศ พล.ต.ต. ในปอท. นอกจากนั้นมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ไม่ว่า ดีเอสไอ อัยการสูงสุด เจ้าหน้าที่การข่าวกองทัพภาคที่1 ฝ่ายกฎหมายของ คสช. ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ฝ่ายข่าวของกอ.รมน. รวมแล้วประมาณ 30 คน ทำการสอบสวน 3 ชั่วโมงกว่า
สิรภพให้การกับพวกเขาว่า เป็นนักเขียน เขียนบทกวีการเมือง บทวิเคราะห์การเมืองและการทหารมาตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา เผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต คำถามของผู้สอบเน้นข้อข้องใจในบทความเกี่ยวกับการต่อต้านการัฐประหาร กลยุทธ์ทางทหาร และแนวคิดทางการเมือง
“จากการพูดคุยแลกเปลี่ยน มีเจ้าหน้าที่บางหน่วยแจ้งว่าได้ติดตามบทความข้าพเจ้ามาตั้งแต่ 2552” สิรภพเบิกความต่อศาล
เขาบอกว่าหลังจากนั้นยังมีดีเอสไอ มาทำการสอบสวนเพิ่มเติม จากนั้นก็มีฝ่ายข่าวของกองทัพและคสช.มาพูดคุย ก่อนที่คืนสุดท้ายจะเป็นการสอบสวนใหญ่ ราว 50 คน โดยประธานเป็น พล.อ.คนหนึ่งที่อยู่ในคสช.ที่มาสอบด้วยตัวเอง ประธานได้กล่าวกับเขาว่า ติดตามบทความของเขามาตลอดและมีหลายชิ้นที่ได้นำเข้าไปหารือในวอลล์รูมกองทัพเวลาเกิดเหตุการณ์ไม่สงบหลายครั้งไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใดสีใด
จากนั้นเขาก็ถูกส่งตัวให้ตำรวจกองบังคับการปราบปราม
นอกจากนั้นในการให้การต่อศาลนี้เขายังมีโอกาสได้อธิบายถึงเหตุผลที่เขาไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารว่า เขาต่อต้านการรัฐประหารมานานแล้ว เป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี 2549 ผ่านการเขียนบล็อก เพราะเห็นว่าข้ออ้างต่างๆ เรื่องคอร์รัปชันหรือการหมิ่นเบื้องสูง ล้วนเป็นข้ออ้างยอดฮิตทุกครั้งในการรัฐประหารเพื่อทำลายการปกครองของรัฐบาลที่มาจากประชาชน เขาเห็นว่า หากมีปัญหาไม่ว่าปัญหาใดๆ ก็ควรแก้ไขปัญหาภายใต้กติกาประชาธิปไตย และให้ประชาชนเป็นคนตัดสินผ่านการเลือกตั้ง
และดังนั้น เมื่อเขาแสดงจุดยืนมาเนิ่นนาน เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้งเขาจึงไม่ให้ความร่วมมือใดๆ กับคณะรัฐประหาร เขากล่าวเบิกความด้วยเสียงดังฟังชัด ศาลนัดสืบพยานนัดต่อไปในวันที่ 7 ก.ค.2559
“ข้าพเจ้าต่อต้านการรัฐประหารในทางความคิดด้วยความสันติมาตลอด ในเมื่อเกิดการรัฐประหาร ณ เวลานั้น ข้าพเจ้าจึงแสดงกระทำอารยะขัดขืน ไม่ยอมรับอำนาจของกลุ่มบุคคลที่ใช้กำลังอาวุธเข้ามายึดล้มล้างการปกครองของรัฐบาลที่มาจากประชาชน เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”
“ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่า คณะรัฐประหาร หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า คณะกบฏ จะรักษาอำนาจอยู่ได้นาน จึงเลือกที่จะปกป้องสิทธิและเสรีภาพ และรัฐธรรมนูญ โดยสันติอหิงสา โดยไม่ใช้ความรุนแรงด้วยการไม่ให้ความร่วมมือใดๆ กับคณะกบฏดังกล่าว”
เขายังตอบทนายถามด้วยว่าหากมีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกและมีคำสั่งเรียกเขาไปรายงานตัวอีก เขาจะไปหรือไม่
“หากมีรัฐประหารอีกและมีคำสั่งเรียกรายงานตัวอีกครั้ง ข้าพเจ้าก็ยังยืนยันว่าจะไม่ไป”
ที่น่าสนใจคือ วันเดียวกันกับที่เขาขึ้นเบิกความในคดีฝ่าฝืนคำสั่งคสช.ฯ ศาลฏีกาก็มีคำสั่งรับคดีที่เขาและคนอื่นๆ ในกลุ่มพลเมืองโต้กลับฟ้องคสช.ในมาตรา 113 ไว้พิจารณา พอดิบพอดี