วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2559

ประวิตรสั่งฝ่ายกฎหมายเช็ค 'นปช.-สุเทพ' ผิดหรือไม่ หลังแสดงท่าทีต่อร่าง รธน.

นปช. ขอประชาชนร่วมจับผิดโกงประชามติ (อ่านรายละเอียด)

หลัง 'นปช.-สุเทพ' ออกมาแสดงท่าทีต่อร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประวิตร อ้าง พ.ร.บ.ประชามติ ระบุไม่สามารถทำได้ สั่งฝ่ายกฎหมายพิจารณาว่าทำผิดกฎหมายหรือไม่ ระบุไม่จำเป็นให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตุการณ์ ขณะที่ กรธ.บอกซาบซึ้ง หลัง สุเทพประกาศรับร่าง รธน.
'สุเทพ' แถลงรับ รธน. ชี้เป็นทางออกประเทศ (อ่ายรายละเอียด)
25 เม.ย. 2559 จากกรณีที่วานนี้ (24 เม.ย.59) แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่แถลงแสดงท่าทีไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงให้ชัดเจนถึงข้อห้ามเกี่ยวกับการทำประชามติว่าสิ่งไหนทำได้-ไม่ได้ รวมทั้งเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจควรเปิดกว้างให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) สหภาพยุโรป (อียู) หรือองค์กรใดๆ ก็ตามในระดับนานาชาติมาสังเกตการณ์ในการลงประชามติอย่างเปิดเผย'ยูเอ็น-อียู' เข้าร่วมสังเกตการณ์ และเรียกร้องให้ประชาชนร่วมจับผิดโกงประชามติด้วย ด้านสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่ให้สัมภาษณ์รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น
ล่าสุดวันนี้ (25 เม.ย.59) สำนักข่าวไทย  รายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของ นปช.และสุเทพว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะขณะนี้มีพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ แล้ว และมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการห้ามรณรงค์โฆษณาชัดเจน ดังนั้น ไม่ควรออกมาเคลื่อนไหว เพราะจะทำให้เรื่องไม่จบ ขณะนี้กำลังให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาว่าทำผิดกฎหมายหรือไม่ และขอให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเอง
ส่วนกรณีมาตรา 61 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่มีความเข้มงวด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้ง และตัวกฎหมายเองไม่ได้นำไปสู่ความขัดแย้ง เพราะมีข้อห้ามกับทุกฝ่าย สื่อมวลชนไม่ควรถามขยายประเด็น
เมื่อถามย้ำว่าการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) จะเป็นการชี้นำหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ใม่ใช่การชี้นำ เพราะเป็นหน่วยงานราชการที่ไม่ได้เป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กรธ.ไม่ได้ทำเพื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพราะร่างฯฉบับนี้กรธ.เป็นผู้ร่างและไม่ได้รับข้อเสนอทั้งหมดของคสช.
“ไม่ได้ห้ามการพูดหรือแสดงความคิดเห็น แต่ต้องไม่ออกสู่สาธารณะ ส่วนการที่นปช.จะเสนอให้ต่างชาติมาสังเกตการณ์ลงประชามติเป็นเรื่องที่กกต.จะพิจารณา แต่เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะให้ต่างชาติเข้ามา รอให้มีการเลือกตั้งส.ส. ค่อยว่ากันอีกที และการที่พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองที่ออกมาคลื่อนไหวให้รับหรือไม่รับร่างฯ ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะคุมเสียงของพรรคตัวเองได้หรือไม่” พล.อ.ประวิตร กล่าว

กรธ.บอกซาบซึ้ง หลัง สุเทพประกาศรับร่าง รธน.

ขณะที่วานนี้ (24 เม.ย.59) มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. กล่าวถึงท่าทีสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญของ สุเทพ ว่า เราซาบซึ้งในความเมตตาเเรงหนุนของทุกฝ่าย กรธ.ยืนยันว่าลงมือร่างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มกำลัง เชื่อว่าถ้าประชาชนออกมาใช้สิทธิลงเสียงประชามติถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แนวโน้มการทำประชามติจะออกมาดี แต่การเเสดงความเห็นสนับสนุนของนายสุเทพจะมีส่วนช่วยให้ผ่านประชามติง่ายขึ้นหรือไม่ ตนไม่ขอวิจารณ์ แต่มีผลในเเง่ให้กำลังใจ กรธ. ประชามติจะผ่านหรือไม่อยู่ที่ประชาชน ส่วนที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาท้าให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องทำประชามตินั้น ส่วนตัวไม่ขอตอบโต้ จะวิจารณ์อย่างไรรับได้ ไม่มีปัญหา น้อมรับคำวิจารณ์ ไม่ขอเเสดงความเห็นที่ทุกฝ่ายติติง เราไม่ว่ากัน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติให้วิจารณ์ได้ แต่ห้ามรณรงค์ชี้นำไปในทางรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น