วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2559

กรธ. เผยที่มา ส.ว.ช่วงเปลี่ยนผ่าน กระบวนการสุดท้ายให้ คสช. เลือก

ภาพจากเว็บข่าวรัฐสภา

โฆษก กรธ. เผย ที่มา ส.ว.ช่วงเปลี่ยนผ่าน 250 คน 200 คนแรก คณะกรรมการสรรหาเลือก 400 คน ก่อนส่งให้ คสช.คัดเหลือ 194 คน รวมกับอีก 6 คน จาก ผบ.เหล่าทัพ ขณะ อีก 50 คน กกต.คัดจากผู้สมัครทั่วประเทศได้ 200 คน ก่อนส่งต่อ คสช.เลือก พร้อมให้อำนาจตามงานปฏิรูปจากรัฐบาล และยับยั้งกฎหมายนิรโทษกรรมได้
24 ม..ค. 2559 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการประชุมนอกสถานที่ เพื่อพิจารณาทบทวนร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นรอบสุดท้ายว่า กรธ.ได้พิจารณารายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับบทเฉพาะกาล และพิจารณาตั้งแต่หมวด 1 บททั่วไป คาดว่าในวันนี้จะพิจารณาได้ถึงหมวดที่ 16 เพื่อเหลือเวลาสำหรับพิจารณาทบทวนบทเฉพาะกาลอีกครั้ง  สำหรับข้อเสนอของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) โดยเฉพาะที่มา สว. ยืนยันให้คณะกรรมการสรรหา ทำการสรรหาบุคคลที่เหมาะสม จำนวน 400 คน เพื่อให้ คสช.คัดเลือกเหลือ 194 คน ส่วนอีก 6 คน กำหนดแต่งตั้งโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งการกำหนดคุณสมบัติจะใช้คุณสมบัติเดียวกับ ส.ว. แต่ยกเว้นสำหรับ 194 คน อาจยอมรับให้เป็น หรือเคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อนได้ ขณะเดียวกัน ส.ว.อีก 50 คน  กรธ. ได้กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เลือกขั้นต้นจากผู้สมัครในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ให้ได้จำนวน 200 คน แล้วเสนอให้ คสช.เป็นผู้คัดเลือกเหลือ 50 คน และสำรองอีก 50 คน 
อุดม กล่าวต่อไปว่า กรธ. กำหนดให้ ส.ว. มีหน้าที่ เร่งรัด ติดตาม การทำงานของรัฐบาล ในการปฏิรูปประเทศ โดยให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รายงานเรื่องการปฏิรูปประเทศทุก 3 เดือนให้กับวุฒิสภาได้ทราบ รวมถึงร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ  โดยให้มีการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปหากมีปัญหาให้ทั้ง 2 สภาทำงานร่วมกัน ตลอดจนดูแลเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน หากสภามีปัญหาเกี่ยวกับกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรม หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือ การตรวจเงินแผ่นดิน หรือ การแก้ไขเพื่อไม่ให้การกระทำบางอย่างไม่ต้องรับผิดทางเพ่งหรือทางอาญา ยับยั้งให้กฎหมายเหล่านี้ต้องเข้าสู่การพิจารณาร่วมกันของทั้ง 2 สภา ซึ่งนับเป็นบทบาทหน้าที่ของวุฒิสภา 5 ปี ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล
สำหรับประเด็นข้อเสนอของ คสช.ให้ยกเลิกการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี 3 รายชื่อ จากพรรคการเมือง ซึ่งมีการอ้างเงื่อนไขหากสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถมีมติเลือกนายกรัฐมนตรีตาม ที่มีการเสนอชื่อในบัญชีได้ ที่ประชุมกรธ. เห็นว่าในช่วง 5 ปีแรก ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน หากไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีในบัญชีได้ สามารถเปิดทางให้ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ ยื่นญัตติต่อประธานรัฐสภา ขอให้เปิดประชุมรัฐสภา เพื่อหาทางออก โดยรัฐสภาจะต้องมีมติไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 เพื่อยกเลิกเงื่อนไขเลือกนายกรัฐมนตรีในบัญชี ซึ่งเมื่อรัฐสภามีมติแล้ว จึงให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น