วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ฟัง สปท.แจงเรื่องขอความร่วมมือไลน์ แง้มใช้มาตรการภาษีกดดัน


พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ให้สัมภาษณ์รายการ "เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand" ตอบคำถามกรณีรัฐบาลจะขอความร่วมมือไลน์เซ็นเซอร์เนื้อหา ระบุกลุ่มสองคนขึ้นไปนับเป็นสาธารณะ แง้มใช้มาตรการทางภาษีต่อรอง

รายการ เจาะลึกทั่วไทย 1/2/59 : แฉรัฐบาลล็อบบี้ "เฟซบุ๊ค-ไลน์" เซ็นเซอร์โซเชียล
1 ก.พ. 2559 พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อสารมวลชน และประธานอนุกรรมการฯ ปฏิรูปสื่อออนไลน์ ให้สัมภาษณ์ ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ และ อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ผู้ดำเนินรายการ "เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand" ออกอากาศเมื่อวันที่ 1 ก.พ. เวลา 07.30 น. ทางช่องสปริงนิวส์ฯ กรณีมีข่าวว่า รัฐบาลจะขอความร่วมมือไลน์และเฟซบุ๊กให้เซ็นเซอร์เนื้อหาที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย 
พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องที่มีการใช้สื่อออนไลน์กระทบความเสียหายต่อประเทศชาติ เศรษฐกิจ สังคม และสถาบันหลัก หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และ สตช. แต่ สปท.โดย กมธ. ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ลงไปเชื่อม กระชับให้เร็วขึ้น เอาหน่วยงานรัฐและหน่วยงานในต่างประเทศ มาคุยกันว่า จะกระชับความร่วมมืออย่างไร ที่ผ่านมาคุยกับกูเกิลแล้ว และได้รับการตอบสนองในทิศทางที่ดีขึ้น โดยสื่อสังคมออนไลน์ต่อมาที่ประชาชนคนไทยใช้มากอันดับต่อๆ มา คือ เฟซบุ๊ก กับไลน์ ก็คงต้องเชิญมาคุยและขอความร่วมมือในลักษณะเดียวกัน 
เขากล่าวว่า กรณีมีข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมาย กระทบบุคคลอื่น กระทบประเทศชาติ เราอยู่บนพื้นฐานของสากล รัฐบาลโดยกระทรวงไอซีทีหรือตำรวจ ต้องร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งปิดกั้น จากนั้นจะส่งไปยังผู้ให้บริการ เพื่อดำเนินการปิดกั้นหรือถอดออก ก่อนหน้านี้ กูเกิลมีการตอบสนองไม่ถึง 10% หลังจากพูดคุยในเดือนที่ผ่านๆ มา พบว่า ความร่วมมือในการปิดกั้นหรือถอดมากขึ้นเป็น 30%
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า เรื่องแบบไหนที่กูเกิลตอบสนองหรือไม่ตอบสนอง เขาตอบว่า กรณีเป็นความผิดรัฐเดียว ถ้าเรื่องไหนกระทบความมั่นคง กระทบสถาบันหลัก จะต้องร้องขอเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งมองว่าจากเดิมที่ตอบสนองบ้าง หลังพูดคุยกูเกิลเข้าใจแล้วว่าสังคมไทยค่อนข้างจะซีเรียสกับเรื่องแบบนี้ ก็ตอบสนองดีขึ้น จากเดิมมี 100 คลิป ถอดไม่ถึง 10 คลิป ตอนนี้เริ่มเป็น 30 คลิปแล้ว และยังเร็วขึ้นอีก
เมื่อถามว่า การจะตอบสนองหรือไม่จะดูจากอะไร เขาตอบว่า ดูที่คำสั่งศาลและการร้องขอของฝ่ายไทยเป็นหลัก
กรณีที่จะพูดคุยกับผู้บริหารไลน์และเฟซบุ๊ก ผู้ดำเนินรายการถามว่า ไลน์เป็นกรุ๊ปปิดกึ่งส่วนตัว การขอความร่วมมือจะต่างกับเฟซบุ๊กที่เป็นกลุ่มเปิดหรือไม่ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ตอบว่า ใช้หลักการเดียวกัน เพียงแต่รายละเอียดอาจจะแล้วแต่ผู้ให้บริการแต่ละรายอย่างเช่น ไลน์ เป็นกลุ่มปิด แต่กลุ่มปิดที่มีคน 100 คน ก็ถือว่าเป็นสาธารณะ
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า กลุ่มขนาดไหนจึงนับเป็นสาธารณะ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ตอบว่า เริ่มจาก 2 คนขึ้นไป  โดยอธิบายว่า เมื่อมี 2 คนขึ้นไป แต่ละคนอาจจะมีกลุ่มของเขาอีก ไปต่อคนอื่นๆ ได้อีกเรื่อยๆ
"เมื่อไหร่ถ้าเป็นเรื่องของคนระหว่างคนสองคนก็อาจจะเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล แต่เมื่อไหร่ ในกลุ่มคุณมี 2 มี 3 มันไปต่อได้แน่นอน" พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าว
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า คิดว่าไลน์จะยอมหรือไม่ เพราะจุดขาย-จุดแข็งคือเรื่องความเป็นพื้นที่ส่วนตัว พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวว่า เขาจะยอมหรือไม่อยู่ที่ดุลพินิจของเขา แต่เราก็จะมีอำนาจการต่อรองที่จะไปคุยกับเขา
"แย้มนิดๆ แล้วกัน คือคุณจะเห็นนะฮะ ในไลน์ ในเฟซบุ๊ก มันมีการโฆษณา การโฆษณาเขาสามารถโฟกัสได้ว่าอันนี้คลิปนี้จะโฆษณาในประเทศไทย และสามารถระบุกลุ่มอาชีพ กลุ่มอายุได้ อันนี้เราจะใช้มาตรการทางภาษีคุยกับเขา"
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า เป็นการไปเก็บภาษีจากโฆษณาในไลน์ใช่หรือไม่ เขาตอบว่า ถูกต้อง
"นี่เป็นแนวคิดนะครับ การโฆษณาในไลน์ กูเกิล หรือเฟซบุ๊ก ผู้จ้างโฆษณาที่อยู่ในประเทศไทย จ้างตรงไปที่บริษัทแม่ที่อยู่ในต่างประเทศ ชำระเงินตรง รัฐไทยขาดภาษีตรงนี้ปีหนึ่งหลายพันล้านนะครับ เรากำลังพิจารณาว่าทำอย่างไรตรงนี้ที่สูญหายไปจะกลับเข้ามาในระบบภาษีของไทย เพื่อเอาเงินมาพัฒนาประเทศ" พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าว
เมื่อถามว่า สมมติว่าถ้าเขาให้ความร่วมมือเราจะไม่เก็บภาษีหรือ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ตอบว่า เก็บ แต่จัดให้เป็นระบบขึ้น
เขากล่าวต่อว่า เชื่อว่าการคุยกันไม่ว่าเรื่องรัฐบาลต่อรัฐบาล อยู่ที่ผลประโยชน์ของชาติแต่ละชาติ เพราะฉะนั้นในการไปคุยไปขอร้อง ก็ต้องมีมาตรการที่จะไปคุย ต้องมีอำนาจต่อรอง ซึ่งกำลังคิดหลายๆ รูปแบบว่าทำอย่างไรให้การพูดคุยมีประสิทธิภาพ
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า จะเสนอรัฐบาลรื้อฟื้นติดตั้งระบบซิงเกิลเกตเวย์หรือไม่ เขาตอบว่า ไม่ถึงขนาดนั้น หลักการของ สปท.การกำกับดูแลการใช้สื่อออนไลน์ ต้องคู่ขนานไปกับสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ถ้าจะมุ่งเน้นเรื่องการกำกับโดยไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ ก็ทำไม่ได้ เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญ คงต้องใช้วิธีผลักดันเรื่องความร่วมมือ ใช้เครื่องมือต่างๆ ของรัฐที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า สปท.จะเซ็นเซอร์ข้อความตามคำสั่งศาลเท่านั้น เขาตอบว่า ถูกต้อง
ผู้ดำเนินรายการถามว่า จะไม่ขอสิทธิพิเศษจากไลน์และเฟซบุ๊ก ในการเข้าไปเซ็นเซอร์ เข้าไปตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางใช่หรือไม่ เขาตอบว่า " สิทธิในการทำแบบนั้น ผมเชื่อว่าเขาก็ไม่ยอมเหมือนกัน"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น