วันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ศาลปกครองนัดพิจารณาครั้งแรกพรุ่งนี้ คดีสมศักดิ์ ฟ้องเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ


ศาลปกครอง นัดพิจารณาคดีครั้งแรก คดีสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มธ. ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ พรุ่งนี้ (1 ม.ค.59)
29 ก.พ. 2559 หลังจากที่สำนักงานศาลปกครองกลางมีหนังสือถึงทีมทนายความของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 58 แจ้งคำสั่งรับฟ้องคดีที่สมศักดิ์ฟ้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ
พรุ่งนี้ (1 ก.พ.59) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าจะเป็นวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกของคดีหมายเลขดำที่ บ. 408/2558 อันเป็นคดีที่นายสมศักดิ์ เป็นผู้ฟ้องคดี ดังกล่าว เพื่อขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ โดยกำหนดนัดพิจารณาดังกล่าวเริ่มเวลา 13.30 น.ของวันดังกล่าว ณ ศาลปกครองกลาง ชั้น 3 ห้องพิจารณาคดีที่ 8
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ได้สรุปความเป็นมาของคดีก่อนวันนัดนั่งพิจารณาครั้งแรกไว้ดังนี้
คดีนี้ ศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับฟ้องในวันที่ 24 กันยายน 2558 โดยรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุแห่งคดีและคำฟ้อง อ่านเพิ่มได้ที่นี่
ต่อมาในวันที่ 8 ธันวาคม 2558 ศาลปกครองกลางได้ส่งคำให้การของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และคำให้การคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) มาให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี โดยในคำให้การดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้โต้แย้งคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีมาในประเด็นต่างๆ ดังนี้
คำให้การผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1
ประเด็นที 1 แม้ว่าผู้ฟ้องคดีจะได้ยื่นคำร้องขอลาเพื่อเพิ่มพูนความรู้แล้วก็ตาม แต่เมื่อมหาวิทยาลัยยังไม่มีคำสั่งอนุญาตให้ลา ผู้ฟ้องจึงยังต้องปฏิบัติราชการและเมื่อผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้ผู้ฟ้องกลับมาปฏิบัติราชการแล้ว ผู้ฟ้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจึงต้องถือว่า จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่และจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา จึงต้องถูกลงโทษตามข้อ 55 (6) แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ พ.ศ. 2551
ประเด็นที่ 2 ในการมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีการตั้งคณะกรรมการสวนวินัยตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ มีความเห็นว่าผู้ฟ้องกระทำความผิดวินัยร้ายแรง โดยไม่มีเหตุอันควรลดโทษ และเมื่อผู้ถูกฟ้องที่ 1 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงและมีคำสั่งลงโทษตามข้อ 55  ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฏหมาย
คำให้การผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2
ประเด็นที่ 1 กระบวนการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ประเด็นที่ 2 ข้อกล่าวอ้างเรื่องการถูกขมขู่ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีต้องลี้ภัยและไม่อาจมาปฏิบัติราชการได้ เป็นข้ออ้างที่ผู้ถูกฟ้องคดีคาดการณืไปเองและไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน ดังนั้น การใช้ดุลพินิจในออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2
ต่อมาในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลปกครองกลางได้ส่งหมายแจ้งมายังผู้ฟ้องคดีว่าได้กำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงของคดีนี้เป็นวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งเมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับหมายแจ้งดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงได้จัดทำคำคัดค้านคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองและชี้แจ้งข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อศาลในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้
คำคัดค้านคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองและชี้แจ้งข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
ประเด็นที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีเหตุสภาพร้ายแรงอันทำให้การพิจารณาไม่เป็นกลาง
ประเด็นที่ 2 คำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ 356/2558 เรื่องลงโทษออกจากราชการ เป็นการใช้ดุลพินิจต่อหลักความพอสมควรแก่เหตุ
ประเด็นที่ 3 ข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อ้างมาเป็นเหตุในออกคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ 356/2558 เรื่องลงโทษออกจากราชการ มีความบกพร่อง
ประเด็นที่ 4 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ / ใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมายในพิจาณาอุทธรณ์คำสั่งที่ ศธ. 0592(3)1.9/6266
วันนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกและนัดฟังคำพิพากษา
วันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้แจ้งต่อผู้ฟ้องคดีว่าคดีนี้ ศาลได้กำหนดวัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ให้วันที่ 1 มี.ค. นี้ ซึ่งนอกจากการแจ้งกำหนดนัดดังกล่าวแล้ว ศาลยังได้สรุปข้อเท็จจริงในคดีของตุลาการเจ้าของสำนวนมาพร้อมหมายนี้ด้วย ซึ่งการสรุปข้อเท็จจริงดังกล่าวศาลอ้างว่าได้พิจารณา ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การแล้ว ศาลเห็นว่าเพียงพอที่จะพิจารณาพิพากษาคดีได้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามขั้นตอนในการแสวงหาข้อเท็จจริงตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ครบทุกขั้นตอน
ทางผู้ฟ้องคดีจึงเห็นว่า การสรุปข้อเท็จจริงในคดีของศาลดังกล่าว เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการสรุปข้อเท็จจริงโดยไม่ได้นำเอาข้อเท็จจริงจากคำคัดค้านคำให้การผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองของผู้ฟ้องคดีมารวมสรุปไว้ด้วย ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนการพิจารณาที่มิชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว เพื่อรักษาประโยชน์แห่งยุติธรรมของผู้ฟ้องคดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น