วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เปิดสูตร-เปลือยร่าง 'รัฐธรรมนูญฉบับมีชัย'


เผยสูตรไม่ลับในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย นายกคนนอก-เพิ่มอำนาจองค์กรอิสระ-ส.ว.ไม่เลือกตั้ง-ปิดทางแก้ไข รธน.-ต่ออายุ สปท.-เลื่อยเก้าอี้นายกฯ+ล้ม ครม. ทั้งคณะได้-นิรโทษกรรมเหนือกาลเวลา-ซุกมาตรา 44 ในบทเฉพาะกาล
ไม่แน่ใจนักว่าคนส่วนใหญ่เคยเล่นเกมส์กันมาบ้างหรือไม่ หากเคยมีประสบการณ์ร่วมกันก็คงเข้าใจดี เกมส์จำนวนมากถูกสร้างมาให้มีเทคนิคบางอย่างที่ทำให้ผู้เล่นเล่นเกมส์ที่ว่า นั่นได้สนุกขึ้นกว่าเดิม และเล่นได้นานขึ้นกว่าเดิม อาจเป็นเพราะทุกครั้งที่ ใช้สูตรโกง มันทำให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ควบคุม ไม่ได้เป็นผู้เล่นที่ถูกเกมส์ควบคุม ไม่ว่าจะเป็นเกมส์แนวผจญภัย แนวต่อสู้ หรือแนววางแผนการรบ โปรแกรมเมอร์มักจะแอบซ่อนเทคนิคกลโกงกลต่างๆ เอาไว้เสมอ
คนเล่นเกมส์มักจะมีคำที่ใช้เรียกแทนตัวเองว่า “เกมส์เมอร์” คนประเภทนี้จัดได้ว่ามีความมุมานะในระดับสูงเพื่อที่จะทำความเข้าใจเกมส์สัก เกมส์ พยายามควบคุม และเล่นกับมันให้สนุก เพื่อลิ้มรสชาติของผู้ชนะ
ลองคิดดูเล่นๆ หากการทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญ มีสถานะไม่ต่างกันจากการทำความเข้าใจเกมส์ สิ่งที่เราพบในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย คือสูตรเกมส์มากมายหลากหลายกระบวนท่า แต่เห็นจะมีเพียงสิ่งเดียวที่ต่างกันออกไปคือ ยิ่งพยายามทำความเข้าใจมากขึ้นเท่าไหร่ เรายิ่งเห็นการควบคุมที่รัดแน่น เราเห็นหลากสิ่งหลายอย่างที่จัดวางเอาไว้เพื่อลดทอนอำนาจของผู้เล่น และอีกสิ่งที่เรามองเห็นคือ เราไม่ใช่เจ้าของเกมส์
1.คาถาอันเชิญเทพจุติ
กระบวนท่าแรกในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประเด็นที่คนกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งคือการเปิดที่ทางให้กับนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนนอก แม้ในร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ได้เขียนเอาไว้โต้งๆ ว่า นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากผู้ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) แต่ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจตรงกัน
รัฐธรรมนูญระบุเอาไว้เพียงแค่ ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อผู้ที่จะส่งให้สภาผู้แทนฯ ให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคละไม่เกิน 3 รายชื่อ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดรับสมัครเลือกตั้ง หรือพรรคใดจะไม่เสนอเลยก็ได้ แต่จะหมดสิทธิในการมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมืองของตน
ทั้งนี้ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะเป็นไปตามการพิจารณาให้ความเห็นชอบของสภาผู้แทนฯ โดยผู้ที่ถูกเสนอรายชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ และจะต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่
หากดูจากระบบการเลือกตั้งที่ออกแบบมาใหม่นั้น มองในแง่ร้ายที่สุด มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวเกิดขึ้นได้ยาก หรือในสถานการณ์การทางเมืองที่ยังมองไม่เห็น อาจเกิดการตีความว่าเป็นสถานการณ์เป็น วิกฤติความชอบธรรม ดังที่ กปปส. เคยอ้างเพื่อล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์หลังจากมีการผลักดัน พ.ร.บ นิรโทษกรรม และเรียกร้องให้มีการตั้งนายกคนกลางโดยอ้างมาตรา 7
ฉะนั้นด้วยระบบเลือกตั้งที่พยายามไกล่ให้เกิดรัฐบาลผสม และการเปิดที่ทางให้กับนายกคนนอก ในสถานการรณ์จริงหากต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลผสม ไม่ว่าจะด้วยวิกฤติความชอบธรรม หรือด้วยเหตุใดก็ตาม อาจทำให้มีการจัดวางตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ลงตัว ถึงที่สุดช่องว่างระหว่างนั้นจะทำให้มีการเสนอชื่อนายกคนนอก หรือที่เรียกในภาพลักษณ์ที่ถูกทำให้ดีว่า นายกคนกลาง เข้ามาแทนที่ได้
2.จุดพุลรวมพล
แน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่หายไปในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยคือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฎิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) แม้ตัวองค์กรจะหายไป แต่อำนาจพิเศษที่ใช้คุมรัฐบาลไม่ได้สลายหายไปด้วย ทว่ากลับกระจายอำนาจต่างไปสู่องค์กรอิสระ อย่างเช่น
ศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีอำนาจเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 โดยมีอำนาจพิเศษในการดูแลการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (จะกล่าวแยกต่อไป) และมีอำนาจในการตีความมาตรา 7 ในรัฐธรรมฉบับเดิม โดยในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ย้ายจากมาตรา 7 มาอยู่ที่มาตรา 207 โดยระบุว่า
"การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่จะยกมาปรับแห่กรณีใดได้ ให้วินิจฉัยกรณีนั้นตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จากเดิมที่วาระเพียง 5 ปี ถูกเพิ่มมีวาระ 7 ปี และมีอำนาจมีเพิ่มเติมมาคือการ กำหนดวันเรื่องตั้ง และประกาศเลื่อนวันเลือกตั้งได้ ซึ่งระบุไว้ มาตรา 99 โดยระบุว่า
“ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งตามวันที่คณะกรรมการเลือกตั้งประกาศกำหนดตามมาตรา 97 หรือมาตรา 98 คณะกรรมการการเลือกตั้งจะกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ แต่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เหตุดังกล่าวสิ้นสุด”
ทั้งนี้ในร่างรัฐธรรมนูญ ยังได้กำหนดกลไกใหม่ หากพบว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายหรือโครงการอะไรที่ทำ หรือจะทำแล้ว ส่อว่าจะทำให้เกิดความเสียหายกับประเทศชาติ โดยให้อำนาจ 3 องค์กรคือ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และ กกต. สามารถหารือร่วมกัน และหากเห็นว่าการกระทำดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายนั้น ให้มีมติร่วมกันและเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี และรัฐสภา เพื่อช่วยระงับยับยั้ง หรือช่วยเตือนให้ระงับยับยั้งก่อนที่จะเกิดความเสียหาย แต่หากรัฐบาลยังเดินหน้าต่อไปแล้วเกิดความเสียหาย รัฐบาลต้องรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย
ประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นจากการร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้คือ ความพยายามในการควบคุมอำนาจในการบริหารของรัฐบาล และอำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภา โดยศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ
3.สร้างค่ายกล 200 อรหันต์
สำหรับเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภานั้นในร่างรัฐธรรมนูญระบุไว้ในมาตรา 102 ว่า มีที่มาจากการเลือกกันเองของบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะประโยชน์ร่วมกัน หรือเคยทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยการเลือกกันเองจาก 20 กลุ่มอาชีพ ทั้งนี้ยังไม่การเขียนที่ชัดเจนในร่างรัฐธรรมนูญ แต่จะไปปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ
โดยที่อำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ยังคงเดิมคือ สามารถพิจารณาและยับยั้งกฎหมายได้ แต่งตั้งคณะกรรมการดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมถึงการเปิดอภิปรายรัฐบาลโดยไม่มีการลงมติ แต่ไม่ให้อำนาจถอดถอนกับ ส.ว. เหมือนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์
มากไปกว่านั้น ในมาตรา 75 ระว่า ให้ประธานสภาผู้แทนฯ เป็นประธานรัฐสภา แต่ถ้าในกรณีที่ประธานรัฐสภาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานวุฒิสภาทำหน้าที่แทน และโดยปกติหากประธานวุฒิสภาไม่สามารถทำหน้าที่ประธานรัฐสภาได้ ต้องให้รองประธานสภาผู้แทนฯ ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา แต่ในมาตรา 75 ระบุให้ รองประธานวุฒิสภาทำหน้าที่แทน และหาก รองประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ดังกล่าวไม่ได้ ให้วุฒิสภาที่มีอายุมากที่สุดในขณะนั้นทำหน้าที่ประธานรัฐสภา
4.ล็อคคอ ปิดตาย ห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ดูเหมือนว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะพยายามแก้ไขปัญหาข้อถกเถียงที่มีอยู่ก่อนหน้าการรัฐประหาร อย่างเช่นในข้อถกเถียงที่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการควบคุมดูแลการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และทำได้มากน้อยเพียงใด พูดให้ถึงที่สุดคือมีอำนาจที่จะตัดสินว่าอะไรแก้ได้หรือแก้ไม่ได้
ประเด็นสำคัญในหมวดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ สาระสำคัญไม่ใช่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทว่าเป็นการห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ในรัฐธรรมนูญระบุว่า ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติ่มรัฐธรรมนูญต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภา และให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ โดยในวาระแรกเป็นการออกเสียงลงคะแนนวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ กำหนดให้ใช้วิธีเรียกชื่อลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ทั้งหมดของสองสภา โดยในจำนวนนี้จะต้องมี ส.ว. เห็นด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่
ฉะนั้น ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจึงเป็นด่านแรกที่ต้องฝ่าไปให้ได้ นี่คงไม่ต้องพูดถึงการแก้ไขที่มา และอำนาจของ ส.ว.
ต่อมาในวาระที่ 2 เป็นขั้นพิจารณารายมาตรา โดยการออกเสียงในชั้นนี้ให้ถือเสียงข้างมากเป็นสำคัญ
ถัดมาในวาระที่ 3 ขั้นสุดท้าย ใช้วิธีการเรียกชื่อลงคะแนนโดยเปิดเผย โดยใช้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ทั้งหมดของสองสภา แต่ในจำนวนนี้จะต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากทุกพรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่าสิบคน เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนของแต่ละพรรคการเมือง
และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองทุกพรรคการเมืองที่มีสมาชิกน้อยกว่าพรรคละสิบคน ถ้ารวมกันได้ตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ต้องมีความเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของทถกพรรคการเมือง
นั่นหมายความว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญถูกล้มได้ง่าย โดย ส.ส. เพียงไม่กี่คน เช่นพรรค XXXX มี ส.ส. ทั้งหมด 10 คน  หากไม่มีใครเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเลยก็สามารถที่จะล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
มากไปกว่านั้นในวาระสามนี้ ยังต้องการคะแนนเสียงเห็นชอบของสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งทั้งเท่าที่มีอยู่
ทั้งนี้ประเด็นหลักที่ต้องไม่ลืมคือ รัฐธรรมนูญออกแบบมาให้รัฐสภาประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร 500 คน และวุฒิสภา 200 คน(ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) ในการผ่านแต่ละวาระต้องใช้คะแนนเสียง เกินกว่า 350 เสียง (ในกรณีที่มีสมาชิกทั้งสองสภารวม 700 คน)
ในขั้นต่อมาหากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 ได้แล้ว ให้รอไว้ 15 วัน ก่อนนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นทูลกล่าวทูลกระหม่อมถวาย ทั้งนี้ก่อนที่นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ส.ส. หรือ ส.ว. หรือทั้งสองรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ทั้งหมดของแต่ละสภา สามารถเสนอเรื่องให้ประธานแห่งสภา แล้วแต่กรณี หากเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขัดต่อ มาตรา 252 คือต้องไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ โดยในประธานแห่งสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
หรือหากเห็นว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในหมวด 1(บททั่วไป) หมวด 2(พระมหากษัตริย์) หรือหมวด 15 (การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ) หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ ให้มีการลงประชามติก่อน
ดังนั้นเห็นว่าขั้นตอนในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญถูกล็อคหลายชั้นมาก และถือที่สุดศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการวินิจฉัย ตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
5.คาถาต่อชะตาสภาขับเคลื่อนฯ
หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากเสียงประมติ หลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญยังคงมีหลายสิ่งที่เป็นมรดกตกทอดจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 หนึ่งในนั้นคือการ ต่ออายุให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้ยังทำหน้าที่ดำเนินการจัดทำข้อเสนอแนะ หรือร่างกฎหมายเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไปได้อีก 1 ปี หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
หากลองประมวลจากภาพรวมของรัฐธรรมนูญทั้งหมด มีหลายส่วนที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล เห็นได้จากการให้อำนาจ 3 องค์กรอิสระ สตง. ป.ป.ช. และ กกต. สามารถหารือร่วมกัน และหากเห็นว่าการดำเนินนโยบายของรัฐบาล จะก่อให้เกิดความเสียหาย ให้มีมติร่วมกันและเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี และรัฐสภา เพื่อช่วยระงับยับยั้ง หรือช่วยเตือนให้ระงับยับยั้งก่อนที่จะเกิดความเสียหาย แต่หากรัฐบาลยังเดินหน้าต่อไปแล้วเกิดความเสียหาย รัฐบาลต้องรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย
มองในแง่ร้ายที่สุด รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกจับตาในทุกการดำเนินนโยบาย แต่สิ่งที่สามารถทำได้โดยสะดวกคือการ เดินตามแนวทางการปฏิรูปที่ได้วางเอาไว้โดย สปช. และสานต่อโดย สปท.
ทั้งนี้ในระยะเวลาหนึ่งปีที่ สปท. ยังคงทำหน้าที่อยู่นั้น หากมีการดำเนินการออกกฎหมายต่างๆ เพื่อการปฎิรูป ผู้ที่จะพิจารณาเห็นชอบกฎหมายในช่วงเวลานั้น คือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
อย่างไรก็ตามในรัฐธรรมนูญไม่มีมาตราใดที่ระบุถึงความรับผิดชอบของ ผู้วางรากฐานแนวทางการปฏิรูป หากในอนาคตเกิดการดำเนินการตามแนวทางการปฏิรูปแล้วส่งผลให้เกิดความเสียหาย
6.คาถาล้มนายกฯ
การล้มนายกรัฐมนตรี และ ครม. ทั้งคณะ ยังเป็นหมัดเด็ดของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้  ในมาตรา 162 ได้ระบุถึงเหตุที่ทำให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง โดยใน (4) ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตามมาตรา 139
เมื่อย้อนกลับไปดูที่มาตรา 139 โดยหลักการระบุถึง การพิจาราณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่าง พ.ร.บ. โอนงบประมาณรายจ่าย โดยกำหนดให้สภาผู้แทนไม่สามารถแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรายการ หรือจำนวนรายการได้
ทั้งนี้ในวรรคสองระบุว่า ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือของคณะกรรมการธิการการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำประการใดๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือคณะกรรมมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณร่ายจ่ายจะกระทำไม่ได้
โดยหาก ส.ส. และ ส.ว. พบเห็นการกระทำที่ฝ่าฝืนตามบทบัญญัติดังกล่าว ให้รวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ในสองสภา เช่น ส.ส. และ ส.ว. รวมกันจะมีทั้งหมด 700 คน ต้องการคนเพียง 70 คน ในการเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญที่มีจำนวนทั้งหมด 9 คน เพื่อพิจารณาวินิฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน หลังจากวันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว
หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีความผิด ให้การเสนอ การแปรญัตติดังกล่าว เป็นอันสิ้นสุด และให้ผู้กระทำการดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง  พร้อมเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น แต่ในกรณีที่ ครม. เป็นผู้กระทำการ หรืออนุมัติให้กระทำการ หรือรู้ว่ามีการกระทำการดังกล่าวแล้วแต่ไม่ได้สั่งยับยั้ง ให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตั้งแหน่งทั้งคณะ และให้เพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งของรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง
สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ การมีส่วนทางตรง และทางอ้อมในการใช้งบประมาณคืออะไร สมมติว่าเข้าสู่สถานการณ์จำลอง หากมีการเสนองบประจำรายจ่ายประจำ แล้วมีการผันงบประมาณลงไปสู่จังหวัด จังหวัดหนึ่ง เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน  ส.ส. เขตในพื้นที่ ซึ่งเป็นในหนึ่งในผู้แปรญัตติ  ถือว่ามีส่วนหรือไม่ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ทางอ้อม หากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานลงไปสู่จังหวัดใดๆ แล้วทำให้เกิดความนิยมในตัว ส.ส. เขต ในพื้นที่ดังกล่าวนั้นมากขึ้น ถือว่าเป็นการมีส่วนในการใช้งบประมาณหรือไม่ ทั้งหมดนี้อยู่ที่การวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญ
ประเด็นต่อมาคือ ในแง่หลักการแล้ว ครม. เป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับ ต่อรัฐสภาเพื่อแปรญัตติ หลังจากเสนอแล้วถือว่าเป็นอำนาจหน้าที่ที่เกินไปกว่าการควบคุมสั่งการใดๆ ได้ ห่วงใยความผูกพันจึงยากที่ประติดประต่อกัน เนื่องจากเป็นอำนาจคนละส่วน
อีกหนึ่งหมัดน็อคเอาท์คือ การกำหนดมาตราฐานทางจริยธรรม โดยในมาตรา 215 ระบุว่า ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกําหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่ผู้ดํารงตําแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ ทั้งนี้ มาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวต้องครอบคลุมถึงการรักษาเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ และต้องระบุให้ชัดแจ้งด้วยว่าการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมใดมีลักษณะร้ายแรง
ทั้งนี้ในการัดทำมาตราฐานทางจริยธรรม ให้มีการรับฟังความเห็นจากสภาผู้แทนฯ วุฒิสภา และ ครม. ประกอบด้วย และเมื่อประกาศใช้ให้บังคับใช้กับสมาชิกสภาผู้แทนฯ สมาชิกวุฒิสภา และ ครม. ด้วย
และเมื่อเปิดดูต่อไปในมาตรา 230 ในส่วนที่ว่าด้วย อำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในวงเล็บ 1 หลักการสำคัญคือ การให้ ป.ป.ช. อำนาจไต่สวนและมีความเห็น ในกรณีที่มีการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ทั้งนี้โดยไม่ต้องมีผู้ยื่นคำร้อง
ต่อมาในมาตรา 231 มีสาระสำคัญว่า หาก ป.ป.ช มีความเห็นเกินกึ่งหนึ่งว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตราฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
เมื่อเปิดเข้าไปดูที่ มาตรา 265 ในบทเฉพาะกาล ระบุว่า ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระดําเนินการให้มีมาตรฐานทางจริยธรรมตามมาตรา 215 ภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หากดําเนินการไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ พ้นจากตําแหน่ง
ซึ่งนั่นหมายความว่า มาตรฐานทางจริยธรรมจะต้องเสร็จสิ้นก่อนที่จะมี สภาผู้แทนฯ และ ครม. ของรัฐบาลพลเรือน พูดให้ง่ายที่สุด นี่เป็นการออกกฎเกณฑ์สำคัญอย่างหนึ่งในรัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถใช้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ โดยไม่มีความผูกโยงใดๆ กับตัวแทนของประชาชนเลย
7.นิรโทษกรรมไม่จำกัดกาล
งวดนี้หมัดสุดท้ายมาจบที่มาตรา 270 แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนไว้สวยงาม จะคุ้มครองเรื่องสิทธิ เสรีภาพไว้มากน้อยขนาดไหน แต่เมื่อเจอมาตรานี้ไปก็จบ เพราะทุกการกระทำทุกอย่าง ทุกคำสั่งของ คสช. ที่เคยบังคับใช้ในวันก่อนประกาศรัฐธรรมนูญ หรือคำสั่งที่จะออกบังคับใช้ต่อไปตามมาตรา 257 (จะกล่าวถึงต่อไป) ให้มีผลบังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป
8.คาถาพรางตัว
ในมาตรา 257 พูดอย่างชัดเจนที่สุดคือการ ฝังมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 ลงไปในร่างรัฐธรรมนูญอีกทีหนึ่ง โดย คสช. จะมีอายุต่อไปหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (หากผ่านการทำประชามติ) และจะสิ้นอายุจนกว่าจะมีการตั้ง ครม. ชุดใหม่ขึ้นมา โดยในระหว่างนั้นอาจเทียบระยะเวลาได้ไม่ต่ำกว่า 15 เดือน และในระยะเวลา 15 เดือน ระหว่างมีจัดทำกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ระหว่างมีการหาเสียงเลือกตั้ง และระหว่างการพยายามจัดตั้งรัฐบาล คสช.ยังมี มาตรา 44 อยู่ในมือ
คสช. ยังคงมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่จะสามารถออกคำสั่งใดๆ ก็ได้ โดยที่คำสั่ง หรือประกาศนั้นจะถูกรับรองโดยตัวรัฐธรรมนูญเอง ตามมาตรา 270 และซ้ำหนักไปกว่านั้นมันจะถูกรับรองด้วยความเห็นชอบจากการประชามติ
เป็นไปได้ว่า อาจจะมีการใช้มาตรา 44 ออกคสั่งหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมเนื้อหาสาระในรัฐธรรมนูญ เช่น เพิ่ม คปป. เข้าไปในรัฐธรรมนูญ หรือยึดอายุการจัดทำ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือประกาศยึดอำนาจอีกครั้ง
ดูจะมองโลกในร้ายเกินไป แต่ก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็คงไม่มีใครคิดว่าจะเกิดรัฐประหารขึ้นอีก และก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ก็เคยพูดว่าจะไม่ทำรัฐประหาร
เชื่อเถอะว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น