วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

วิษณุชี้ใช้ม.44 ออกกติกาคุม ‘ประชามติ’ ได้ กรธ.มั่นใจหากปชช.ออกมา80% ร่างรธน.ผ่าน


'มีชัย' ระบุกำลังเอาหูแนบดินฟังข้อเสนอแก้ร่างรธน.อยู่ เผยแม้ยังไม่พิจารณาลดกรอบเวลาทำกม.ประกอบรธน. แต่ก็ต้องสอดคล้องกับโรดแมป โฆษก.มั่นใจ หากปชช.ออกมาประชามติ 80% รธน.ผ่าน พลังเงียบบริสุทธิ์ศึกษาร่างอย่างแท้จริง วิษณุ ชี้ใช้ม.44 ออกกติกาคุม ‘ประชามติ’ ได้
5 ก.พ. 2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายมีชัย ฤชุพันธ์ุ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวภายหลังการเป็นประธานสัมมนาสร้างความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญและการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญก่อนการลงประชามติให้แก่สภาองค์กรชุมชนว่า ขณะนี้มีองค์กรต่าง ๆ  เข้ามาเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าจำเป็นจะต้องเพิ่มมาตราก็เพิ่มได้ เพราะยังมีเวลาถึงวันที่  15 ก.พ.นี้
“ถ้าคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขาดตกบกพร่องก็บอกมา เราพร้อมรับฟัง ตอนนี้กำลังเอาหูแนบดินอยู่ ใครมีอะไรก็ส่งมาได้ ถ้าเรื่องไหนที่เข้าใจผิดเราจะได้ชี้แจง แต่เรื่องไหนเห็นควรแก้ไข หรือเพิ่มมาตรา ถ้าเราทำได้ก็จะทำ” นายมีชัย กล่าว และว่า การลดกรอบเวลาการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้พิจารณา เพราะต้องรอให้ผ่านการทำประชามติก่อน แต่จะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับโรดแมปด้วย
วิษณุ ชี้ใช้ม.44 ออกกติกาคุม ‘ประชามติ’ ได้
เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  กล่าวถึงการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมในการทำประชามติในสัปดาห์หน้าว่า กกต.มีหน้าที่ออกกฏระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ แต่ไม่มีอำนาจในการกำหนดโทษ เพราะเรื่องดังกล่าวต้องออกเป็นกฏหมายโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อกำหนดโทษ เช่น การฉีกบัตร ขัดขวางการออกเสียงประชามติซึ่งต่างจากการเลือกตั้งส.ส. ที่มีพ.ร.บ.การเลือกตั้งรองรับ ซึ่งการกำหนดโทษนั้น หากจะใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว ก็สามารถใช้ได้ แต่ไม่ใช่การใช้เพื่อไปหักล้างรัฐธรรมนูญมาตราใดมาตราหนึ่งแต่ใช้แทนสิ่งที่จะออกแทนพ.ร.บ. เหมือนที่คสช. เคยทำมาแล้ว
 
นายวิษณุ กล่าวว่า หากจะกำหนดกติกาเกี่ยวกับการทำประชามติก็สามารถใช้มาตรา 44 นี้ได้ แต่หากว่าไม่สมควรก็สามารถออกพ.ร.ก.หรือพ.ร.บ.ได้เช่นกันทั้งสามส่วนมีศักดิ์ศรีและสถานะเท่ากัน  ส่วนพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 นั้น ไม่ได้รองรับการทำประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ แต่เกี่ยวข้องเช่น ถามความเห็นประชาชน เกี่ยวกับการสร้างเขื่อน เป็นต้น ซึ่งไม่ได้เตรียมการสำหรับกรณีการขัดขวางการทำประชามติ  จึงไม่สามารถใช้แทนกันได้ เนื่องจากยังไม่มีความสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามหัวข้อต่างๆ เกี่ยวกับการประชามติ จะมีการหารือในรายละเอียดในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะมีการพูดคุยกันอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นวันออกเสียงประชามติ
 
โฆษก กรธ.มั่นใจ หากปชช.ออกมาประชามติ 80% รธน.ผ่าน พลังเงียบบริสุทธิ์ศึกษาร่างอย่างแท้จริง
 
โพสต์ทูเดย์ รายงานด้วยว่า นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. แถลงว่า เรื่องใหญ่ของกรธ. ขณะนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับความยุ่งยาก ซับซ้อนของการชี้แจง แต่มีผู้ที่ไม่มีความเข้าใจหรือเข้าใจแต่จงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงของร่างรัฐธรรมนูญ เป็นที่มาของการผลิตรายการแกะกล่องรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ออกอากาศเป็นประจำทุกวัน
 
"ส่วนกรณีที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่า ไม่ต้องทำประชามติเพราะเปลืองงบประมาณ เปลืองเวลา นั้น ผมกลับมั่นใจว่าหากผู้ออกมาใช้สิทธิถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติได้ เพราะมั่นใจในพลังเงียบและพลังบริสุทธิ์ที่ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง โดยไม่ฟังเสียงวิจารณ์ที่บิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ" นายอมรกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น