วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2559

ส่องร่างรัฐธรรมนูญ: ล็อคคอรัฐบาลรักษาวินัยการเงินการคลัง ห้ามประชานิยม


โฆษก กรธ. เผยผลการประชุม ชี้กำหนดให้รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ด้านหมวดสิทธิเสรีภาพฯ ระบุให้มีการเปิดเผยข้อมูลของรัฐบางประการ ยกเว้นเรื่องความมั่นคง การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ ไม่ไปมีโทษเหมือนเดิม
12 ม.ค. 2559 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า อุดม รัฐอมฤต โฆษกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ  กล่าวว่าถึงผลการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ประชุมได้พิจารณาตั้งแต่มาตรา 48/1 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย อาทิ การรับราชการทหาร การปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การเสียภาษีอากร หรือการต่อต้านการทุจริต หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ โดยได้เพิ่มในส่วนให้มีการเปิดเผยข้อมูลของรัฐบางประการที่ไม่ใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ และจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว
รวมถึงกำหนดให้รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลัง เพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืนตามกฎหมาย ว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด ซึ่ง กรธ. มองว่า การทำงบประมาณทุกอย่างจะต้องมีการแถลงต่อสาธารณะทุกครั้ง และจะไม่ยอมให้รัฐใช้จ่ายเงินนอกระบบงบประมาณ รัฐบาลต้องทำแหล่งที่มาของรายได้ และรายจ่ายให้ชัดเจน พร้อมยอมรับว่าเพื่อเป็นมาตรการป้องกันรัฐบาลเลือกตั้งไม่ให้ใช้นโยบายประชา นิยมจนเกิดผลสูญเสียต่อประเทศชาติ โดยเฉพาะงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ที่รัฐบาลจัดงบกลางไม่ชัดเจนและไม่มีรายละเอียด และรัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก้ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาค รัฐและเอกชน และจัดให้มีการมาตรการและกลไกทั้งปวงเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและ ประพฤติมิชอบ
ในส่วนของการไปใช้สิทธิเลือกตั้งนั้นเมื่อถูกกำหนดเป็นหน้าที่ของประชาชนชาวไทย หากไม่ไปใช้สิทธิก็จะมีบทลงโทษ แต่จะนำไปบัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตามขณะนี้ที่ประชุมอยู่ระหว่างการพิจารณาในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งชาติ มาตรา 69/1 อาทิ ให้รัฐดำเนินการตรากฎหมาย และกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน และไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการฟ้องร้องรัฐ รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายและกรอบในการบริหารประเทศ กำหนดให้รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ซึ่ง กรธ.ได้นำข้อคิดเห็นที่ได้จากการรวบรวมจากฝ่ายต่างๆ และที่กรรมการมีตั้งข้อสังเกตเองมาพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งในการพิจารณามาตรานี้ กรธ.ได้ศึกษารัฐธรรมนูญของทุกประเทศที่มีการบัญญัติเกี่ยวกับศาสนา พบว่าไม่มีประเทศใดกำหนดศาสนาประจำชาติ พร้อมย้ำว่าการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนาเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ควรให้ความสำคัญกับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ซึ่งเมื่อวานนี้ทาง กรธ.เองก็ยังได้มีการพูดคุยในเรื่องพระพุทธศาสนาที่มีผู้เสนอมาขอให้บัญญัติ เป็นศาสนาประจำชาติแล้วและได้นำมาบัญญัติในมาตรา 65 ในหมวดดังกล่าวเพื่อคุ้มครองทุกศาสนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น