วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2558

4 จำเลยให้การปฏิเสธข้อหา คดีแอบอ้างพระเทพฯ ผิด ม.112


ศาลยังยกคำร้องจำเลยชี้ชั้นนี้ยังไม่มีเหตุสมควรวินิจฉัย หลังยื่นขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นว่าสถานะของสมเด็จพระเทพฯ เข้า ม.112 หรือไม่ 
23 ธ.ค.2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดกำแพงเพชรนัดสอบคำให้การในคดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร กับนางอัษฎาภรณ์ และพวก รวม 4 คน ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ความผิดในการร่วมกันปลอมเอกสารราชการ และความผิดในการสวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงานโดยไม่มีสิทธิ
ในคดีนี้ ทางฝ่ายโจทก์ระบุว่าระหว่างวันที่ 8 ส.ค.56 ถึงเดือนมี.ค.58 วันใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสี่ ได้แก่ นางอัษฎากรณ์, นายกิตติภพ, นายวิเศษ และนายนพฤทธิ์ (สงวนนามสกุล) ได้ร่วมกันปลอมเอกสารราชการทั้งฉบับ โดยปลอมเอกสารหนังสือราชการของสำนักราชเลขานุการ กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้นำไปอ้างแสดงต่อเจ้าอาวาสวัดไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร พร้อมกับผู้เสียหายอีกหลายคน และยังมีการกล่าวอ้างว่าสามารถที่จะทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มาร่วมในพิธีของวัดได้ โดยมีการกล่าวอ้างแสดงตนว่าเป็นหม่อมหลวง พร้อมเรียกเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ จากผู้เสียหาย
ต่อมา ทางเจ้าอาวาสวัดไทรงามได้ให้ตัวแทนเข้าแจ้งความดำเนินคดี จำเลยทั้งสี่ได้ทยอยถูกควบคุมตัวในช่วงเดือน ส.ค.58 และถูกคุมขังในเรือนจำมานับแต่นั้น โดยในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสี่ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนที่อัยการจะมีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 5 พ.ย.58 (ดูรายงานข่าวก่อนหน้านี้จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)
ในคดีนี้ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เข้าให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับจำเลยที่ 4 ส่วนจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างทนายความส่วนตัว ขณะที่จำเลยที่ 2 และ 3 ได้ให้ทนายความขอแรงจากศาลช่วยเหลือทางกฎหมาย
จำเลยทั้งสี่ได้ยื่นคำให้การต่อศาล ปฏิเสธข้อกล่าวหาตามฟ้องของโจทก์ และคู่ความได้ขอตรวจพยานหลักฐานในนัดต่อไป ศาลจึงได้นัดหมายวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 9.00 น.
นอกจากนั้นในส่วนของจำเลยที่ 4 ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น ในประเด็นสถานะของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีว่าเป็นบุคคลตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ อย่างไร และการกระทำตามฟ้องของโจทก์เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ โดยระบุถึงหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความโดยเคร่งครัด และหลัก “ไม่มีความผิด และไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย” คำร้องได้ขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์ในความผิดนี้ และให้จำเลยที่ 4 พ้นข้อหาไป
ในคำร้องยังได้แนบเอกสารกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ รวมทั้งพระบรมราชโองการประกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารด้วย
แต่ศาลได้ให้ยกคำร้องฉบับนี้ โดยระบุสั้นๆ ว่า “ชั้นนี้ยังไม่มีเหตุสมควรวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมาย ตามคำร้องของจำเลยที่ 4”
ภายหลังการพิจารณาของศาล ญาติของจำเลยที่ 4 ได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง ใช้หลักประกันเป็นที่ดินราคาประเมินจำนวน 1.4 ล้านบาท แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุว่า “ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” ครั้งนี้ถือเป็นการยื่นขอปล่อยตัวชั้วคราวเป็นครั้งที่ 3 ของจำเลยที่ 4
สำหรับจำเลยที่ 4 คือนายนพฤทธิ์ อายุ 28 ปี พื้นเพเป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี นายนพฤทธิ์ระบุว่าตนทำงานเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และได้รู้จักกับนายวิเศษ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ ในฐานะรุ่นพี่รุ่นน้องที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน และนายวิเศษได้มาชวนไปร่วมทำบุญ โดยอ้างว่าให้เป็นเจ้าภาพร่วมกัน ที่วัดไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร ในช่วงเดือนเม.ย.58
จำเลยที่ 4 ยืนยันว่าไม่เคยรู้จักกับนางอัษฎาภรณ์ จำเลยที่ 1 และนายกิตติภพ จำเลยที่ 2 มาก่อน ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแอบอ้างในครั้งนี้หรือก่อนหน้านั้น ไม่ทราบเรื่องการไปกล่าวอ้างกับทางวัด ไม่ทราบเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร และไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ ตามที่มีการฟ้องคดี โดยเมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไปจับกุมที่บริษัทในวันที่ 21 ส.ค. ก็ไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน และไม่ได้หลบหนีแต่อย่างใด
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ระบุว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี"

ตัวเลขยังไม่นิ่ง 'วีรชน' เผยปชช. 98.6% พึงพอใจผลงานของรัฐบาล


24 ธ.ค.2558 จากรกณีเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ที่ผ่านมา พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าในที่ประชุม ครม. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติได้รายงานต่อที่ประชุมถึงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล ระหว่างวันที่ 27 พ.ย. - 4 ธ.ค. โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 2,700 คนทั่วประเทศ พบว่าประชาชนร้อยละ 88.2 ติดตามข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล โดยผ่านช่องทางรายการคืนความสุขมากที่สุด ร้อยละ 85.2 และประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ทราบถึงการดำเนินการในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล
โดยมีรายงานด้วยว่าผลสำรวจดังกล่าว ประชาชนสูงถึงร้อยละ 99.5  ระบุว่ามีความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของรัฐบาล (ซึ่งในจำนวนนี้มีความพึงพอใจมาก – มากที่สุดร้อยละ 53.2  ปานกลางร้อยละ 36.7   น้อยร้อยละ 8.7   และน้อยที่สุดร้อยละ 0.9)  มีเพียงเล็กน้อยที่ไม่พึงพอใจเลย ร้อยละ 0.5   ในภาพรวมประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจฯ อยู่ที่ 7.5213 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน (อ่านรายละเอียด)
อย่างไรก็ตามผลสำรวจและจำนวนประชากรที่ถูกสำรวจยังไม่ชัดเจน โดยล่าสุด 23 ธ.ค.58 MGR Online รายงานโดยอ้างจากสำนักข่าวเอพีว่า พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกว่า 7,000 คนในช่วงต้นเดือนธันวาคม ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าได้สอบถามความคิดเห็นของประชาชน 3,900 คนตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย. ถึง 10 พ.ย. ผลปรากฏว่ามีถึงร้อยละ 98.6 ที่พึงพอใจผลงานของรัฐบาล

โฆษกรัฐบาลพาตรวจคลังเก็บข้าวเสื่อม-เผยระบายข้าวแล้ว 5 ล้านตัน จากโกดัง 18 ล้านตัน


องค์การคลังสินค้า-กรมการค้าต่างประเทศ-โฆษกรัฐบาล ฯลฯ พาสื่อตรวจคลังข้าวที่นครชัยศรี เผยเป็นข้าวเสื่อมคุณภาพจากช่วงจำนำข้าวปี 55/56 โดยจะระบายข้าวสู่อุตสาหกรรมเพราะนำไปใช้บริโภคไม่ได้ ส่วนการระบายข้าวที่ผ่านมาระบายไปแล้ว 5 ล้านตัน จากในโกดังทั่วประเทศ 18 ล้านตัน
24 ธ.ค. 2558 วันนี้ เวลา 10.30 น. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ พล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรวง ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) นายสกล หาญสุทธิวารินทร์ เลขานุการคณะกรรมการตรวจข้าว สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องข้าว นำคณะสื่อมวลชนสำรวจคลังข้าว ณ คลังบ่อตะกั่ว หลัง 1 ต.พะเนียด อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ซึ่งเป็น 1 ใน 10 คลังสินค้ากลางข้าวที่ได้เปิดประมูลเข้าสู่อุตสาหกรรม ครั้งที่ 1/2558 เพื่อเป็นการชี้แจงและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณชนเกี่ยวกับคุณภาพข้าวที่ถูกนำมาระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมว่าไม่สามารถนำมาปรับปรุง และไม่เหมาะสมสำหรับนำมาใช้เพื่อการบริโภคของคนหรือสัตว์ เพื่อลดอุปสรรคในการบริหารจัดการข้าวในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมต่อไป
ภายหลังการนำคณะสื่อมวลชนเข้าสำรวจคลังข้าว อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ข้าวในคลังสินค้าบ่อตะกั่ว เป็นข้าวในโครงการรับจำนำข้าว ปีการผลิต 2555/2556 ซึ่งมีการตรวจสอบแล้ว พบว่ามีข้าวดีผ่านคุณภาพเพียง 1 กอง จึงได้ขนย้ายออกไปขายได้ราคาปกติ ส่วนที่เหลือเป็นข้าวเสื่อมคุณภาพ ต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่เหมาะแก่การบริโภค ซึ่งจากการสุ่มตรวจ พบข้าวแตกยุ่ยเป็นก้อน มีมอดจำนวนมาก ไม่สามารถบริโภคได้ ทั้งนี้ ในการระบายข้าวของรัฐจะต้องดูไม่ให้กับกระทบกับการระบายตลาดสินค้าเกษตรอื่นๆ
ซึ่งผลการระบายข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมาสามารถระบายไปได้แล้วกว่า 5 ล้านตัน จากสต็อกทั้งหมด 18 ล้านตัน และเป็นการประมูลข้าวเสื่อมล็อตแรก 37,000 ตัน โดยกรมการค้าต่างประเทศยืนยันจะสามารถระบายข้าวได้ตามแผนภายใน 3 ปี ซึ่งการประมูลข้าวแต่ละครั้งจะดูช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบกับราคาข้าวในประเทศอย่างแน่นอน
ด้าน พล.ต.ต.ไกรบุญ ประธานกรรมการ อคส. ระบุถึงการป้องกันไม่ให้ข้าวที่ถูกประมูลออกสู่อุตสาหกรรมกลับมาปนกับข้าวในตลาดว่า ได้มีการวางระบบตรวจสอบไว้อย่างรอบคอบและรัดกุม ตั้งแต่กระบวนการขนย้ายข้าวสารออกจากคลังข้าวจนถึงโรงงาน กระบวนการแปรรูปจากคลังเก็บไปสู่วิธีการแปรรูปจนออกมาเป็นผลผลิต โดยได้เชิญ บริษัท สินชัยศรี จำกัด และบริษัท ว.ธนทรัพย์ จำกัด ที่ชนะการประมูลมารับฟังเงื่อนไข ก่อนลงนามทำสัญญาในวันที่ 25 ธ.ค. นี้ โดยจะชี้แจงสิ่งที่ต้องทำและขอความร่วมมือให้ติดกล้องวงจรปิดในโรงงานแปรรูป รวมถึงตรวจสอบการขนย้าย การคลุมผ้าใบ ซึ่ง อคส. ได้ขอความร่วมมือกับหน่วยบริการทางหลวงเพื่อส่งภาพการขนย้ายทางไลน์ทุก ๆ 50 กิโลเมตร ตรวจสอบเส้นทางการขนย้ายและเวลา นอกจากนี้ บริษัทผู้ชนะการประมูลจะต้องรายงานปริมาณการแปรรูปทุกวันอย่างละเอียด เพื่อป้องกันการนำข้าวไปจำหน่ายผิดวัตถุประสงค์ ไม่ให้ข้าวที่ระบายสู่ภาคอุตสาหกรรมกลับเข้ามาปะปนกับการบริโภค
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวย้ำว่า รัฐบาลมีความจริงใจในเรื่องการระบายข้าว สิ่งที่เป็นนโยบายของรัฐบาล เราพยายามทำในทิศทางที่ดีที่สุด ท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายว่าจะไม่ทำให้ของเสียไปกระทบต่อของดีที่มีอยู่ ทั้งนี้ ในการเก็บรักษาข้าวในสต็อกของรัฐบาลขณะนี้มีค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาต่อวันเป็นเงินถึง 33 ล้านบาท หากเก็บไว้ต่อไปข้าวในคลังก็จะเสียหาย ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือระบายตามสภาพที่ตรวจ เพื่อให้ได้เงินกลับมาบ้าง ให้เป็นการขาดทุนน้อยที่สุด
สำหรับการระบายข้าวในสต็อกของรัฐเป็นไปตามวิธีการและแนวทางที่ นบข. กำหนดไว้ ซึ่งไม่ได้คำนึงเพียงมูลค่าข้าวที่จะได้รับแต่เพียงด้านเดียว แต่ยังคำนึงถึงความเสียหายของภาครัฐ ผลกระทบต่อผู้บริโภคด้านสุขอนามัย ผลกระทบต่อราคาและชื่อเสียงเกียรติคุณของข้าวไทยที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ประกอบด้วย โดยมีแผนการจัดลำดับการระบายข้าวระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสินค้าเกษตรอื่น ๆ และข้าวในสต็อกของรัฐที่ถูกนำออกมาระบาย โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ใช้ผลการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวของคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวในสต็อกของรัฐของคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว ได้ปฏิบัติภายใต้หลักเกณฑ์และแนวทาง การตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วไป โดยมีผู้แทนเจ้าของคลังและเซอร์เวย์เยอร์หรือผู้แทนร่วมรับทราบและลงนามรับรองในเอกสารกำกับตัวอย่างข้าวทุกครั้ง อีกทั้งการควบคุมการรับ-ส่งมอบข้าวและการขนย้ายข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ อคส. ค่อนข้างรัดกุมและเข้มงวด พร้อมทั้งมีบทลงโทษทางกฎหมายที่รุนแรง เพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้าวดังกล่าวเข้าสู่ระบบการค้าปกติ ในกรณีที่ผู้ซื้อนำข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมไม่ตรงตามที่แจ้งไว้

'อรรถจักร์-สมชาย' ยื่นคำให้การตร. แถลง 5 ประเด็นต่อสู้คดี 'มหาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร'


24 ธ.ค.2558 จากกรณีที่ “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย” ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา เรื่อง มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ยืนยันในเสรีภาพที่จะแสวงหาความรู้ในการเรียนการสอน แต่คณาจารย์ที่ร่วมกันแถลงกลับถูกออกหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหา “ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  (รายละเอียดเพิ่มเติม)
 

ล่าวสุดวันนี้ (24 ธ.ค.58) Prachatham สำนักข่าวประชาธรรม รายงานว่า เวลา 14:00 น. ที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และ รศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล ผู้ต้องหาคดีดังกล่าวได้ยื่นคำให้การและแถลงต่อสู้คดี โดยมีสื่อมวลชนติดตามรายงานข่าว และการให้กำลังอย่างคับคั่งจากนักวิชาการ นักกิจกรรม และประชาชนทั่วไป
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานถึงคำให้การของทั้ง 2 ว่า ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยระบุชี้แจงเหตุผลทั้งในทางหลักการและข้อกฎหมาย 5 ประการหลัก พร้อมยืนยันว่าการแถลงข่าวดังกล่าวเป็นการแสดงออกทางของเสรีภาพทางวิชาการอย่างสร้างสรรค์ เป็นการกระทำที่เป็นไปตามความมุ่งหมายของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตอันเป็นการส่งเสริมประบอบประชาธิปไตย จึงขอให้พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ต่อไป (ดูสรุปคำให้การโดยละเอียดด้านล่าง)
ขณะเดียวกัน นักวิชาการทั้งสองคนยังขอให้พนักงานสอบสวนได้สอบพยานบุคคลเพิ่มเติมอีก 4 คน เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้คดี ได้แก่ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร, ศ.สุริชัย หวันแก้ว, ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา และไทเรล ฮาเบอร์คอร์น โดยจะมีการประสานงานพยานเข้ามาให้ปากคำต่อไป
อรรถจักร์ ระบุด้วยว่าในคดีนี้จะเหลือผู้ต้องหาสองคน เพราะก่อนหน้านี้ นักวิชาการอีก 6 ท่านที่ถูกทหารแจ้งความร้องทุกข์ด้วยนั้น ได้เดินทางเข้าพูดคุยกับผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 ภายในค่ายกาวิละ และมีการเซ็นข้อตกลงไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองกับเจ้าหน้าที่ โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าการเข้าพูดคุยนี้เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ในวรรคที่ 2
อรรถจักร์ กล่าวว่าเนื่องจากคณาจารย์ที่ถูกแจ้งข้อหาร่วมกันนั้นอยู่ในพื้นที่ภาคอื่นๆ ทั้งทางภาคใต้ อีสาน และตะวันออก ทำให้มีความลำบากในเงื่อนไขและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพื่อมาต่อสู้คดี ทั้งตนและอาจารย์สมชายจึงเข้าใจในประเด็นดังกล่าวดี
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุด้วยว่า กรณีนี้ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการประกาศใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ที่มีการดำเนินการให้บุคคลที่ถูกกล่าวหา “เข้ารับการอบรม” จากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ทำให้คดีเลิกกันตามข้อความในข้อ 12 วรรคที่ 2 นี้ โดย ในคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ในวรรคที่ 2 ระบุว่าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งที่สมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นระยะเวลาไม่เกินเจ็ดวันและเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไข หรือไม่มีเงื่อนไข ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามมาตรา 37 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
นอกจากนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังได้เผยแพร่ สรุปคำให้การยื่นต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรช้างเผือก ไว้ดังนี้
สรุปคำให้การยื่นต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรช้าง
ข้าพเจ้า ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ผู้ต้องหาที่ 1 และ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ต้องหาที่ 2  ขอยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดฐานขัดคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ดังนี้
ข้อ 1.  การออกแถลงการณ์เรื่อง “เสรีภาพทางปัญญาของระบบการศึกษา” ไม่ใช่ความตั้งใจที่จะมารวมและร่วมกันออกแถลงการณ์เป็นการเฉพาะเจาะจงต่อรัฐบาลแต่อย่างใด หากแต่เป็นผลมาจากการพบปะเพื่อประชุมวิชาการในโครงการวิจัยเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลงในชนบท: ประชาธิปไตยบนความเคลื่อนไหว” โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กระบวนการทำงานวิจัยจัดให้มีการประชุมเป็นระยะตลอดมา
ข้าพเจ้าทั้งสองในฐานะนักวิจัย ไม่ได้มีเจตนาที่จะมารวมกันเพื่อออกแถลงการณ์ดังกล่าว หากแต่เป็นการเตรียมการที่ดำเนินมาตามขั้นตอนของกระบวนการวิจัย แต่ประเด็นของการออกแถลงการณ์นั้นเป็นผลโดยตรง มาจากการกล่าวของนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 ตุลาคม 2558 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากการนัดหมายประชุมทางวิชาการ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวต่อสื่อและเป็นข่าวซึ่งรับรู้กันทั่วไป ว่าได้สั่งให้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการไปทบทวนการเรียนการสอน เมื่อนักวิจัยทุกทีมได้พบปะกันในคืนวันที่ 30 ตุลาคม 2558 จึงได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และทั้งหมดมีความเห็นพ้องต้องกันเกรงกันว่าการพูด/ คำพูดของนายกรัฐมนตรีเช่นนี้จะทำให้สาธารณะ/สังคมเกิดความเข้าใจผิดในการจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย จึงได้ตกลงใจที่จะออกแถลงการณ์ในวันรุ่งขึ้น
ในประเด็นสำคัญก็คือ โครงการวิจัย “ความเปลี่ยนแปลงในชนบท: ประชาธิปไตยบนความเคลื่อนไหว” เป็นการวิจัยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชนบท ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของกระบวนการ “ประชาธิปไตย” ซึ่งได้แสดงออกในระดับพื้นที่ว่าการยอมรับความแตกต่างของความคิดเห็นได้ชักนำให้ชุนชนในพื้นที่ต่างๆ มีโอกาสในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยขึ้นมา การเรียนรู้จากการทำงานวิจัยในพื้นที่แต่ละแห่ง ล้วนแล้วแต่มีความหมายให้ทุกคนตระหนักถึงการยอมรับฟังเสียงอื่นที่แตกต่าง
หากพิจารณาแถลงการณ์อย่างละเอียดก็จะพบว่าไม่ได้มีถ้อยคำหรือความ ณ จุดใดเลยที่จะมองได้ว่าเป็นการ “ปลุกปั่น”, “ยุยง” หรือกล่าวว่าร้าย ความทั้งหมดมีเจตนาอย่างชัดเจนว่ามุ่งอธิบายให้แก่สังคมว่าการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร เพื่อที่จะทำให้สังคมไทยก้าวหน้าไปได้ นักวิจัยทุกท่านในฐานะนักวิชาการที่ผูกพันตนอยู่กับสังคมจึงปรารถนาที่จะให้สังคมทั้งหมดเข้าใจ มองเห็นบทบาทและความหมายของวิชาการต่อสังคม และได้พร้อมใจกันร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านแถลงการณ์ดังกล่าว
ข้อ 2. ความสำคัญของเสรีภาพทางวิชาการและความเชื่อมโยงกับงานวิจัย
ในฐานะของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีหน้าที่สร้างการเรียนรู้ รวมถึงการแสวงหาความงอกงามทางปัญญาให้กับสังคม เห็นว่าความสำคัญของเสรีภาพเป็นหัวใจสำคัญอันเนื่องมาจากความรู้เป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่งและสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไม่สิ้นสุดอันนำมาซึ่งความรู้ใหม่ๆ ที่เท่าทันกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างไปจากเดิม และเห็นว่าหลักการพื้นฐานของเสรีภาพมีความสำคัญต่อการสร้างความก้าวหน้าของสังคม ดังต่อไปนี้
ประการแรก “เสรีภาพ” เป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความงอกงามในทางความรู้ การแสดงความเห็นจากมุมมองหรือวิธีคิดที่แตกต่างบนพื้นฐานของการใช้เหตุผลและข้อเท็จจริง จะนำไปสู่ความเข้าใจใหม่ในเรื่องต่างๆ ซึ่งทำให้มนุษย์และสังคมมีความรู้และสติปัญญามากขึ้น สามารถจัดการปัญหาและเผชิญหน้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การจัดการเรียนการสอนของคณาจารย์จำนวนมากในมหาวิทยาลัย จึงไม่ได้เป็นการสอนให้ท่องจำและยึดมั่นในวิธีคิดและอุดมการณ์แบบใดแบบหนึ่งโดยปราศจากการโต้แย้ง เพราะบทเรียนจากประวัติศาสตร์ทั้งในสังคมไทยและสังคมอื่นๆ ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าการปลูกฝังอุดมการณ์หรือ “ความเชื่อ” หนึ่งๆ เพื่อครอบงำสังคมหมายถึงการทำให้คนในสังคมยอมรับโครงสร้างอำนาจแบบใดแบบหนึ่งที่คนบางกลุ่มได้ประโยชน์ และอาจส่งผลให้มีการใช้ความรุนแรง หรือแม้กระทั่งการเข่นฆ่าผู้คนร่วมสังคมที่ปฏิเสธโครงสร้างอำนาจดังกล่าว ดังนั้น คณาจารย์จำนวนมากจึงเห็นว่าการทำให้เกิดทัศนะวิพากษ์หรือมุมมองที่แตกต่างเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในสังคม เพื่อให้ผู้คนในสังคมสามารถคิดได้เอง และมีความเคารพตลอดจนความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจในผู้คนที่มีมุมมองแตกต่างจากตนเองอย่างแท้จริง
ประการที่สอง ในสังคมไทยยุคโลกาภิวัตน์ที่ชีวิตและความคิดของผู้คนมีความแตกต่างหลากหลาย การใช้อำนาจบังคับให้บุคคลต้องปฏิบัติไปในรูปแบบเดียวกัน อาจจะทำให้เกิดความสงบได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ไม่สามารถนำพาสังคมไทยไปสู่ภาวะแห่งสันติสุขได้อย่างแท้จริง การสร้างความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องต่างๆ รวมทั้งความชอบธรรมในการใช้อำนาจ จำเป็นต้องมีรากฐานอยู่บนการถกเถียงกันด้วยความรู้ เหตุผล และข้อเท็จจริง ในบรรยากาศของความเสมอภาคและเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย
ดังนั้น หากพิจารณาจากเนื้อหาทั้งหมดจากแถลงการณ์เรื่อง “เสรีภาพทางปัญญาของระบบการศึกษา” จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นในทางวิชาการ เสรีภาพในกระบวนการจัดการเรียนการสอน เสรีภาพในการถกเถียงและแลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุผลระหว่างฝ่ายๆ ที่มีความเห็นแตกต่างกัน อันนับเป็นหลักการพื้นฐาน ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในโลกปัจจุบันและในมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อความงอกงามทางปัญญา การยืนยันถึงเสรีภาพของเหล่าคณาจารย์จึงเป็นการยืนยันถึงความชอบธรรมพื้นฐานที่ดำรงอยู่โดยทั่วไป ซึ่งได้รับการเคารพและยอมรับให้เป็นสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนทุกกลุ่ม  
ข้อ 3. ข้าพเจ้าทั้งสอง ขอให้การว่า แถลงการณ์ของข้าฯและเครือข่ายอาจารย์มหาวิทยาลัย เรื่อง “เสรีภาพทางปัญญาของระบบการศึกษา” เป็นการใช้เสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ และไม่เป็นความผิดตามที่ถูกกล่าวหา
3.1  ข้าพเจ้าทั้งสอง  เห็นว่าการยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยและชี้แจงต่อสังคมถึงหลักการดังกล่าวข้างต้น  อันเป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการตามปกติ  ซึ่งหากได้อ่านแถลงการณ์นี้อย่างไม่มีอคติย่อมสามารถเข้าใจเจตนาของข้าพเจ้าทั้งสองได้  เพราะได้เขียนชี้แจงถึงเหตุในการออกแถลงการณ์ไว้อย่างชัดเจน  และเนื้อหาในแถลงการณ์ก็เป็นความเห็นทางวิชาการเท่านั้น  ไม่มีเนื้อหาที่เป็นการยุยงปลุกปั่นให้บุคคลออกมาชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองอย่างชัดแจ้ง  เช่น ไม่มีเนื้อหาที่เรียกร้องให้ประชาชนออกมาชุมนุมทางการเมือง  ไม่มีเนื้อหาในเชิงการนัดหมายที่จะจัดการชุมนุมทางการเมืองเมื่อไหร่ อย่างไร  เป็นต้น
อีกทั้ง เนื้อหาตามแถลงการณ์ก็เป็นเพียงความเห็นทางวิชาการ  ที่คนทั่วไปในสังคมจะเชื่อหรือไม่ก็แล้วแต่วิจารณญาณและความคิดความเชื่อของแต่ละบุคคล  ซึ่งข้าพเจ้าทั้งสอง  หาได้เชิญชวนให้บุคคลต้องมาเชื่อตามแถลงการณ์เท่านั้นดังกล่าวไม่  และภายหลังการจัดแถลงการณ์ของข้าพเจ้าทั้งสอง  ก็ไม่มีการชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองของกลุ่มบุคคลใดที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากแถลงการณ์โดยตรงแต่อย่างใด
3.2   ข้าพเจ้าทั้งสอง เห็นว่าการแถลงการณ์ “เสรีภาพทางปัญญาของระบบการศึกษา” ไม่มีข้อเท็จจริงอันเป็นความผิดตามประกาศหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558   แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 5/2558  ข้อ 12 ประกอบข้อ 3 (4)
เนื่องจาก การแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะที่ข้าพเจ้าทั้งสอง  และเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยจัดขึ้น ไม่ใช่การมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง  แต่เป็นกิจกรรมทางวิชาการทั่ว ๆ ไป  ที่ถือเป็นธรรมเนียมและเป็นภารกิจที่สำคัญของนักวิชาการในสังคมไทยที่ต้องการสื่อสารต่อสังคม  ข้าพเจ้าทั้งสอง  ไม่ได้จัดให้มีการชุมนุมหรือเปิดให้บุคคลอื่นเข้าร่วมกิจกรรมแต่อย่างใด  อีกทั้งสถานที่จัดแถลงการณ์ก็เป็นสถานที่ปิดไม่ได้กระทำในที่สาธารณะ  การให้สื่อมวลชนรายงานข่าวก็เพื่อให้สังคมได้ทราบข้อเท็จจริงและความเห็นของข้าพเจ้าทั้งสอง  ในฐานะความเห็นทางวิชาการเท่านั้น  และภายหลังงานแถลงการณ์เสร็จสิ้นแล้วก็มิได้มีการดำเนินการอื่นใดที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย  และไม่มีการชุมนุมมั่วสุมใดๆ อันจะทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมืองเกิดขึ้น  การกระทำของข้าพเจ้าทั้งสอง  จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามที่ถูกกล่าวหา
หากกิจกรรมเช่นนี้ถูกตีความเป็นการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองที่ผิดกฎหมาย  ก็ย่อมส่งผลให้กิจกรรมทางวิชาการจำนวนมากที่มีขึ้นเพื่อความงอกงามทางปัญญาและเพื่อแก้ไขปัญหาของสังคม เช่น การเสวนาวิชาการ  การประชุมวิชาการ การปาฐกถาทางวิชาการ การนำเสนองานวิจัย  การอบรมให้ความรู้ต่อชุมชนในเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย  เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและไม่อาจดำเนินการได้ด้วยเช่นกัน  หากเป็นเช่นนั้นย่อมสร้างความเสียหายต่อสังคมไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างไม่อาจประเมินค่าได้
3.3 ในขณะเกิดเหตุคดีนี้  ความผิดเรื่องการชุมนุมมั่วสุมทางการเมือง  ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558  ข้อ 12  ไม่มีผลใช้บังคับแล้ว  เนื่องจากมีการออกพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558  มาบังคับใช้ภายหลัง  อันเป็นผลให้มีการยกเลิกกฎหมายเก่า  ดังนั้น  ขณะเกิดเหตุคดีนี้จึงอยู่ภายใต้การบังคับของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และการกระทำของข้าพเจ้าทั้งสองก็ไม่ใช่ความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558  ข้อ 12  เรื่องการชุมนุมและพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558  มีเนื้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมเหมือนกัน  เนื่องจากเป็นการออกกฎหมายโดยรัฐเพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมเหมือนกัน  จึงเป็นกรณีที่มีการออกกฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า
การจัดแถลงการณ์จัดขึ้นในโรงแรม IBIS  ซึ่งเป็นทรัพย์สินของเอกชน  และไม่ใช่ที่สาธารณะตามคำนิยามในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ  พ.ศ. 2558  ดังนั้น  การกระทำของข้าพเจ้าทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.  2558
ข้อ 4. การกระทำของข้าพเจ้าทั้งสอง  เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง  แห่งสหประชาชาติ  ที่ประเทศได้ลงนามเป็นภาคีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม 
เสรีภาพในการแสดงออก  และการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ  ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492  เรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557  มาตรา  4  ที่ว่า สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว โดยประเทศไทยเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง  แห่งองค์การสหประชาชาติ  นับแต่ปี พ.ศ. 2539 ทำให้ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศดังกล่าว
ข้อ 5.  หากพิจารณาเปรียบเทียบกับความหมายของการชุมนุมสาธารณะที่ปรากฏขึ้นในต่างประเทศก็จะพบว่าความหมายของการชุมนุมสาธารณะนั้นมีสาระสำคัญ คือ ต้องเป็นการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะและเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถเข้าร่วมได้อย่างกว้างขวาง อันมีความมีแตกต่างอย่างสำคัญกับการแถลงการณ์ของเครือข่ายคณาจารย์
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นข้าพเจ้าทั้งสอง ขอยืนว่าการกระทำของข้าพเจ้าทั้งสอง เป็นการแสดงออกทางของเสรีภาพทางวิชาการอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดสันติและความสงบสุขในสังคม เป็นการกระทำที่เป็นไปตามความมุ่งหมายของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตอันเป็นการส่งเสริมประบอบประชาธิปไตย เป็นส่วนหนึ่งของการลดสภาวะความตึงเครียดในสังคม ส่งเสริมบรรยากาศแห่งการปรองดอง จึงขอให้พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีข้าพเจ้าทั้งสองอันสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ กฎหมาย  และพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี