วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ทหารเชิญ อดีตส.ส.เพื่อไทย อุบลฯ ปรับทัศนคติ เหตุโพสต์ราคาข้าวเปลือกตกต่ำ


 
14 ธ.ค.2558 เมื่อเวลา 11.00 น. มติชนออนไลน์รายงานว่า ที่มณฑลทหารบกที่ 22 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์วารินชำราบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี พล.ต.อชิร์ฉัตร โรจนะภิรมย์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 และ ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดอุบลราชธานี สั่งการให้ร.ท.ธีระศักดิ์ สืบพงษ์ หัวหน้าชุดประสานงานประจำพื้นที่ กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 6  จ.อุบลราชธานี  เชิญตัว นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี เขต 10 พรรคเพื่อไทย มาปรับทัศนคติ กรณี นายสมคิด ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ราคาข้าวเปลือกตกต่ำ อยากได้จำนำข้าวเหมือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์   
 
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า นายสมคิด ยินยอมที่จะลบข้อความดังกล่าวในเฟซบุ๊กออก และได้ทำหนังสือสัญญาจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง หากมีการกระทำอีก ให้ดำเนินการตามกฎหมาย

'ประยุทธ์' ขอ ‘ปวีณ' กลับไทยแจ้งตามขั้นตอน รับจัดการเรื่องข่มขู่ให้ไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหน


'ประยุทธ์' ขอ ‘ปวีณ' ผู้นำสืบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาที่ขอลี้ภัยหลังเกรงจะถูกหมายเอาชีวิต กลับไทยมาแจ้งความตามขั้นตอน รับประกันจะจัดการให้ในเรื่องของการข่มขู่  ไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหนก็ตาม
14 ธ.ค.2558 จากกรณีที่ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ผู้นำการสืบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ยื่นขอลี้ภัยในออสเตรเลีย โดยกล่าวว่าเพราะคดีของเขาสืบสาวไปถึงผู้มีอิทธิพลรวมถึงนักการเมืองและคนในเครื่องแบบ ทำให้เขาต้องการลี้ภัยเพราะเกรงจะถูกหมายเอาชีวิต (อ่านรายละเอียด) นั้น
ล่าสุดวันนี้(14 ธ.ค.58) สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า ขอให้ พล.ต.ต.ปวีณกลับมาประเทศไทย และดำเนินการแจ้งความตามขั้นตอน
“ผมจะสั่งการให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ เพราะจะผิดจะถูกอย่างไร ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ตำรวจก็มีการตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดอยู่ ผมยืนยันว่า หากกลับมาและแจ้งข้อมูลทั้งหมด จะจัดการให้ในเรื่องของการข่มขู่  ไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหนก็ตาม เพราะผมเป็นคนสั่งการให้ดำเนินการในเรื่องของการค้ามนุษย์ แต่ไม่ได้หมายความว่า หากสั่งการให้ใครทำงาน แล้วจะมีความเติบโตในหน้าที่ทันที” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีตั้งคำถามว่า การกระทำของ พล.ต.ต.ปวีณ ยังมีความรักชาติเหลืออยู่หรือไม่ หรือทำตัวเหมือนคนบางประเภท พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้เป็นศัตรูกับ พล.ต.ต.ปวีณ
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีของ พล.ต.ต.ปวีณ จะมีผลต่อการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ของไทย ที่ขณะนี้ถูกจัดอันดับอยู่ใน เทียร์ 3 หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรณีนี้เป็นเรื่องของคนเพียงคนเดียว  ทุกคนจะต้องช่วยกันชี้แจง และว่า ตนพูดเพื่อคนทั้งประเทศ ในขณะที่บางคนพูดเพื่อตัวเอง
ต่อกรณีที่สำนักข่าวต่างประเทศมีรายงานการใช้แรงงานทาสในโรงงานแปรรูปกุ้งที่ จ.สมุทรสาคร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้สั่งการให้มีการจับกุมผู้กระทำผิดแล้ว โดยจะดำเนินการตามกฎหมายกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง
“หากผู้ที่มีหน้าที่ไม่ดำเนินการ  ผมก็จะจัดการ  ถือเป็นการทำหน้าที่ตามปกติอยู่แล้ว ไม่ใช่การทำเพื่อหวังเรื่องของตำแหน่งหน้าที่ การพิจารณาตำแหน่งหน้าที่เป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว พร้อมย้ำว่า แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และไม่มีการปกปิดข้อมูล
เกรงเป็นเหมือน พล.ต.อ.สมเพียร
ทั้งนี้ พล.ต.ต.ปวีณ ได้ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่า “เราคิดว่ามันวาระแห่งชาติ เป็นเรื่องของการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ประชาคมโลกต้องการให้ดำเนินการ และเชื่อมั่นว่ารัฐนี่จะคุ้มครองผู้ทำหน้าที่ แต่ปรากฏว่าเมื่อดำเนินการส่งสำนวนการสอบสวนไปแล้วนั้น ผมนี่ถูกย้ายไปอยู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าหากเป็นภาวะการณ์ปกติที่ผมไม่เคยไปจับกุมผู้ต้องหาจำนวนมากขนาดนี้ทำให้ผมมีศตรูจำนวนมาก และใน3 จังหวัดเป็นพื้นที่สำคัญ ที่ขบวนการค้ามนุษย์อยู่ตรงนั้น รวมทั้งกลุ่มของทหารที่กระทำผิดก็อยู่ในนั้นด้วย จึงเป็นอันตราย ผมได้ร้องขอผู้บังคับบัญชาทบทวนทุกระดับไม่มีใครให้ความเห็นใจ ไม่มีการปกป้อคุ้มครอง ผมเห็นว่าถ้าไปที่นั่นมันอันตรายแน่นอน และมีกรณีตัวอย่างของ พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา" พร้อมระบุด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ทราบเรื่องดี แต่ไม่มีการทบทวนคำสั่ง

'ปชต.ใหม่' เรียกร้อง หยุดอ้างความมั่นคง-สถาบัน สกัดสอบคอร์รัปชัน 'ราชภักดิ์'


ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เรียกร้อง คสช. เลิกใช้ความมั่นคงชาติ-สถาบันฯ เป็นเกราะกันการตรวจสอบ เลิกไล่ล่า-จับกุมผู้วิจารณ์คอร์รัปชัน พร้อมเปิดเผยข้อเท็จจริงอุทยานราชภักดิ์ รวมถึงให้สื่อมวลชน-ภาคประชาชนตรวจสอบ
14 ธ.ค. 2558 กรณีมีการจับกุมตัวประชาชนผู้แสดงความคิดเห็นต่อการทุจริตคอร์รัปชันของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และบรรดาทหารที่เกี่ยวข้อง โดยมีประชาชนอย่างน้อย 2 คนถูกจับกุมและตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ อ่านแถลงการณ์หน้าศาลทหาร เรียกร้องให้ คสช. และทหารเลิกนำความมั่นคงของชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะกำบังให้ตนเองรอดพ้นจากการตรวจสอบ เลิกไล่ล่าและจับกุมผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่อการทุจริตคอร์รัปชัน และยอมเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ รวมถึงเปิดให้สื่อมวลชนและภาคประชาชนได้เข้าไปตรวจสอบแต่โดยดี พร้อมระบุด้วยว่า หากยังคงเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องนี้ ก็จะขอตราหน้า คสช. และบรรดาทหารที่เกี่ยวข้องไว้ ณ ที่นี้ว่าเป็นผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชัน โกงชาติและประชาชน

รังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มขบวนการประชาธิไตยใหม่ (NDM) ให้สัมภาษณ์สื่อระหว่างจัดกิจกรรมคุกจำลองและอ่านแถลงการณ์หน้าศาลทหารว่า ผังดังกล่าวปรากฏครั้งแรกในเพจ NDM โดยข้อมูลส่วนใหญ่รวบรวมมาจากที่สื่อนำเสนอ อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้ประสานงานหลักของ NDM ยังไม่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่เพื่อพูดคุยเรื่องดังกล่าวเลย ยืนยันว่ายินดีที่จะชี้แจงและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ขณะเดียวกันเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงด้วยว่า สิ่งที่นำเสนอนั้นผิดอย่างไร พร้อมย้ำว่า ไม่อยากให้ประเทศไทยถึงขนาดเอามาตรา 112 มาเล่นงานประชาชนที่วิจารณ์รัฐบาลอย่างสุจริตเท่านั้น
"การนำมาตรา 112 มาใช้กับประชาชน มันไม่เกิดประโยชน์อะไร ผมคิดว่ามันมีแต่เสียทุกๆ ฝ่าย ตอนนี้เรามากันไกลเกินไปแล้ว ผมคิดว่าเราควรจะกลับสู่ประเด็น ประเด็นของเรื่องตอนนี้ไม่เกี่ยวกับว่ามีคนหมิ่นหรือเปล่า เราควรจะกลับสู่ประเด็นที่ว่า มีการทุจริตคอร์รัปชัน แล้วเราจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร" รังสิมันต์ กล่าว

รายละเอียดแถลงการณ์ มีดังนี้

แถลงการณ์ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement - NDM)
เรื่อง การจับกุมตัวประชาชนผู้แสดงความคิดเห็นต่อการทุจริตคอร์รัปชันของคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ (คสช.) และบรรดาทหารที่เกี่ยวข้อง
จากการที่เจ้าหน้าที่ทหารภายใต้ระบอบเผด็จการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ตามไล่ล่าจับกุมตัวประชาชนที่ส่งต่อการเผยแพร่แผนผังการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ โดยมีบุคคลผู้ถูติดตามไล่ล่ากว่า 120 ราย และมีบุคคลถูกจับกุมแล้วอย่างน้อยสองราย รายหนึ่งถูกนำตัวไปไว้ในสถานที่ที่ไม่มีการเปิดเผย อีกรายหนึ่งถูกนำตัวไปไว้ในค่ายทหาร โดยไม่มีใครทราบว่าได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่อย่างไร อีกทั้งยังถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกสูงสุดถึง 7 ปี และต้องรับการพิจารณาคดีโดยศาลทหาร
และที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้น ทหารได้เพิ่มข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งมีระวางโทษสูงสุดถึงสิบห้าปี แก่ผู้ที่ถูกจับกุมอีกข้อหาหนึ่งด้วย
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่มีความเห็นว่าการตั้งคำถาม เรียกร้องการตรวจสอบ หรือแสดงการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันภายในภาครัฐนั้นย่อมเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพราะเงินที่รัฐได้ใช้จ่ายไปแต่ละบาทแต่ละสตางค์นั้นล้วนมาจากหยาดเหงื่อแรงกายของประชาชน ประชาชนจึงมีฐานะอันชอบธรรมที่จะแสดงความคิดเห็นต่อการใช้จ่ายเงินที่พวกเขาอุทิศให้แก่รัฐได้
ยิ่งไปกว่านั้น การแสดงความคิดเห็นต่อการทุจริตคอร์รัปชันยังมีส่วนช่วยให้เกิดการตรวจสอบการใช้จ่ายของรัฐว่าได้ให้ผลประโยชน์แก่ประชาชนอย่างครบถ้วน และป้องปรามไม่ให้เกิดการทุจริตขึ้นอีกในอนาคต การกระทำดังกล่าวจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนโดยส่วนรวม มิได้เป็นเพียงเพื่อประโยชน์เฉพาะตัวบุคคลผู้แสดงความคิดเห็นเท่านั้น
ประชาชนจึงมีสิทธิแสดงความคิดเห็นต่อการทุจริตคอร์รัปชันได้เสมอ
สิ่งที่ คสช. และทหารจะต้องกระทำ คือการเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ รวมถึงเปิดให้สื่อมวลชนและภาคประชาชนได้เข้าไปตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงได้ทุกประการ
แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่ คสช. และทหารกระทำกลับเป็นการนำผลประโยชน์ส่วนตนไปผูกกับความมั่นคงของชาติ แล้วใช้เป็นข้ออ้างในการเข้ามาข่มขู่คุกคามประชาชนผู้แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ใช้กฎหมายร้ายแรงและกระบวนการยุติธรรมที่ไม่อาจเชื่อถือได้เอาผิดกับบรรดาคนเล็กคนน้อยให้เกิดความหวาดกลัว
และในการนี้เอง คสช. และทหารก็ได้นำเอามาตรา 112 มาช่วยกำราบประชาชนผู้ที่ตั้งคำถามต่อการคอร์รัปชันของตนเอง โดยมุ่งหวังให้สังคมมองบุคคลเหล่านี้ว่าเป็นพวกล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ จนเกิดความเกลียดชังต่อบุคคลเหล่านี้ และละเลยต่อความมุ่งหมายอันสุจริตของพวกเขาที่ต้องการให้เกิดตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันของ คสช. และทหารไปในที่สุด
สิ่งที่ คสช. และทหารทำจึงเป็นการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือในการช่วยปกป้องผลประโยชน์และปกปิดความผิดของตนเอง เบี่ยงเบนประเด็นจากเรื่องการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันไปเป็นเรื่องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ และพยายามทำให้ผู้คนหลงลืมวีรกรรมโกงกินที่ตนได้กระทำไว้
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ขอเรียกร้องให้ คสช. และทหารเลิกนำความมั่นคงของชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะกำบังให้ตนเองรอดพ้นจากการตรวจสอบ เลิกไล่ล่าและจับกุมผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่อการทุจริตคอร์รัปชัน และยอมเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ รวมถึงเปิดให้สื่อมวลชนและภาคประชาชนได้เข้าไปตรวจสอบแต่โดยดี และหากยังคงเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องนี้ เราก็จะขอตราหน้า คสช. และบรรดาทหารที่เกี่ยวข้องไว้ ณ ที่นี้ว่าเป็นผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชัน โกงชาติและประชาชน
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement - NDM)
14 ธันวาคม 2558

ศาลทหารไม่ให้ประกันหนุ่มไลค์ภาพหมิ่น-แชร์ภาพเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง-ผังราชภักดิ์


14 ธ.ค. 2558 กรณีศาลทหารอนุญาตฝากขังฐนกร ศิริไพบูลย์ ผู้ต้องหาตามความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และต่อมา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทำเรื่องประกันตัวในวงเงิน 300,000 บาท ซึ่งเป็นเงินจากกองทุนประกันตัวพลเมืองโต้กลับ ล่าสุด ศาลทหารไม่ให้ประกันตัวฐนกร เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง พนักงานสอบสวนค้านประกัน ปล่อยไปเกรงจะหลบหนีหรือไปก่อเหตุอันตรายอื่นฯ
คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า จากบันทึกการจับกุม ฐนกรถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในฐานความผิดตามมาตรา 112 มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญาและมาตรา 14 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากการกระทำ 3 เหตุการณ์ ได้แก่ 1. กดไลค์รูปภาพในเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาเป็นการดูหมิ่นสถาบันฯ 2. คัดลอกและแชร์รูปภาพประชดเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยงในเฟซบุ๊ก และ 3. คัดลอกและแชร์รูปภาพแผงผังเปิดโปงทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งเป็นการต่อต้านการทำงานของรัฐและปลุกปั่นยุยงให้เกิดความไม่สงบ 
ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ทหารพระธรรมนูญ และพนักงานสอบสวนกองปราบ คุมตัว นายฐนกร อายุ 27 ปี ชาวจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 และความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ มาขออำนาจศาลทหารฝากขังครั้งแรก เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่ 14-25 ธันวาคม นี้ เนื่องจากการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ
โดยนายฐนกร ถูกทหารคุมตัวเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา และควบคุมตัวเป็นเวลา 7 วัน ตามมาตรา 44 ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ก่อนคุมตัวส่งให้กองปราบปราม เพื่อนำตัวมาฝากขังที่ศาลทหาร ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตรย์ ที่มีอัตราโทษสูง หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอาจจะหลบหนีได้ โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้คุมตัวนายฐนกร ไปควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ สื่อหลายแห่ง (12) รายงานตรงกันว่า ระหว่างการนำตัวมาฝากขัง มีการเปิดคลิปเสียงของนายฐนกร โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า นายฐนกรได้ขอใช้โทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่ก่อนจะถูกนำตัวมาฝากขัง โดยอัดคลิปเสียงมีเนื้อหาความยาว 6.30 นาที รับสารภาพทุกข้อกล่าวหา โดยมีเนื้อหายอมรับว่าตัวเองเป็นผู้บันทึกภาพอุทยานราชภักดิ์ และเผยแพร่ข้อมูลเพื่อโจมตีรัฐบาล โดยก่อนหน้าได้เดินทางไปร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มมวลชนจากสถาบันหนึ่ง จนถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัว ยืนยันว่าระหว่างถูกควบคุมทหารดูแลตนเป็นอย่างดี และได้สำนึกผิดในสิ่งที่ได้กระทำลงไป พร้อมขอวิงวอนไปยังกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ อย่าใช้ตนไปแสวงหาผลประโยชน์ เช่น การจัดกิจกรรมจุดเทียน และขอเตือนประชาชนว่าให้มีสติในการใช้โซเชียลมีเดียในทางที่ดี อย่าโพสต์ในสิ่งใด คิดให้รอบคอบอย่าให้ใครมาชักจูง เพราะอาจจะมีคนหยิบไปใช้ประโยชน์โดยไม่รู้ตัว เพราะขณะนี้รัฐบาลมีกฎหมายเรื่อง พรบ.คอมฯสามารถเอาผิดได้ และในช่วงสุดท้าย นายฐนกร ได้ยืนยันว่า การบันทึกคลิปดังกล่าวเป็นไปด้วยความสมัครใจ ไม่ได้ถูกบังคับ และยินดีให้มอบคลิปดังกล่าวไปเผยแพร่ พร้อมระบุอีกว่า หากพ้นโทษไปแล้วตนจะกลับไปบวชเพื่อตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ในระหว่างการนำคลิปของ นายฐนกร ไปขออนุญาตผู้บังคับบัญชา เพื่อเผยแพร่ให้สื่อมวลชนในเวลาต่อไป

คุยกับสาวตรี สุขศรี : กดไลค์ ไม่ผิด กม.ไม่เข้าข่ายผู้สนับสนุน



จากกรณีเจ้าหน้าที่ทหารเตือนประชาชนถึงการแชร์ หรือกดไลค์ ภาพหรือข้อความอันเกี่ยวเนื่องกับ “แผนผังการทุจริตโครงการราชภักดิ์” รวมถึงข้อความที่เข้าข่ายผิดกฎหมายในเฟซบุ๊ก ว่าจะมีความผิดทางกฎหมาย ทำให้เกิดคำถามและข้อถกเถียงต่อกรณีของการ “กดไลค์” ว่าถือเป็นความผิดตามที่เจ้าหน้าที่แจ้งเตือนหรือไม่
ประชาไทได้พูดคุยกับ สาวตรี สุขศรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงข้อถกเถียงดังกล่าวว่า ในทางหลักกฎหมายอาญา การกดไลค์ข้อความที่เข้าข่ายผิดกฎหมายถือเป็นความผิดทางอาญาด้วยหรือไม่
สาวตรีอธิบายว่า ความผิดตามหลักกฎหมายอาญา ต้องมีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ องค์ประกอบภายนอกที่มีการกระทำครบองค์ประกอบของฐานความผิด และองค์ประกอบภายใน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งกว่า คือ จะต้องมีเจตนาในการกระทำความผิด
ในการส่งหรือเผยแพร่ข้อความไปในสื่อ สาวตรีอธิบายว่า หากบุคคลนั้นมีเจตนาที่จะทำให้ถ้อยคำเหล่านั้นถูกเผยแพร่ออกไป จึงจะถือว่ามีเจตนาที่จะกระทำความผิด และถือว่ามีความผิด แต่การกดไลค์ในเฟซบุ๊ก ส่วนใหญ่ผู้ที่กดไลค์ไม่มีเจตนาที่จะเผยแพร่ข้อความ แต่เป็นกดไลค์เพื่อแสดงความชื่นชมหรือเห็นด้วย และบางครั้งเป็นการกดไลค์ในลักษณะต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา ซึ่งต่างจากการแชร์ ที่มีเจตนาที่จะเผยแพร่ข้อความออกไป
“เจตนา มี 2 ส่วน คือ รู้ว่าข้อความนั้น อาจจะเป็นความผิด อันที่สองคือ ประสงค์อยากจะเผยแพร่ออกไป ถ้าเป็นการกดแชร์ แน่นอนว่าเป็นการเผยแพร่ออกไป ซึ่งอาจจะเป็นความผิดได้ในการเผยแพร่ต่อ แต่ถ้าในลักษณะของการกดไลค์ กฎหมายอาญาคงไปไม่ถึงเพราะไม่มีเจตนาจะเผยแพร่ต่อ
“การกดไลค์ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น หลายๆ กรณีบุคคลผู้นั้นไม่ได้มีเจตนาในการที่จะเผยแพร่ หรือทำให้ข้อความที่อาจจะเข้าข่ายความผิดกฎหมายกระจายไปสู่คนอื่น ดังนั้น การจะบอกว่ากดไลค์เป็นความผิด คงจะไม่ได้ในทางหลักกฎหมายอาญา” สาวตรีกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีข้อถกเถียงอีกว่า ผู้ที่กดไลค์จะถือเป็นการสนับสนุนการกระทำผิดด้วยหรือไม่ สาวตรีอธิบายว่า ในทางกฎหมายอาญา การจะเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้องประกอบไปด้วยเงื่อนไขสองประการ คือ 1) การสนับสนุนต้องเกิดขึ้นก่อน หรือเกิดขึ้นขณะที่กระทำความผิด และ 2) ผู้สนับสนุนต้องมีการกระทำบางอย่างในการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิด
สำหรับการกดไลค์ข้อความที่มีการเผยแพร่ไปแล้ว สาวตรีอธิบายว่า ในทางกฎหมายอาญาไม่ถือว่าเป็นผู้สนับสนุน เนื่องจากการกดไลค์ไม่ได้มีการกระทำในลักษณะที่เป็นการให้ความช่วยเหลือแต่ประการใด
“มีตัวอย่างหนึ่งที่พอจะเทียบเคียงกันได้ ในกรณีหมิ่นประมาทผู้อื่น สมมติถ้าบอกว่าคนที่ไปกดไลค์ต้องรับผิดด้วยเพราะสนับสนุน ลองคิดอย่างนี้ว่า ถ้านาย ก ต้องการที่จะหมิ่นประมาทนายเอ นาย ก เลยพูดด่านายเอให้เราฟัง เราเป็นบุคคลที่สามซึ่งเราเห็นด้วย แต่ไม่ได้นำไปเผยแพร่ต่อ ถามว่าในฐานะที่เป็นคนฟังและพยักหน้าเห็นด้วย จะต้องรับผิดฐานหมิ่นประมาทนายเอด้วยหรือเปล่า คำตอบคือไม่ใช่ ไม่อย่างนั้นทุกคนที่ไปฟังเรื่องที่ใครด่าใครแล้วเห็นด้วย ก็ต้องรับผิดกันหมด เพราะฉะนั้นการกดไลค์ ในทางกฎหมายอาญาไม่เป็นความผิด”
สาวตรีอธิบายเพิ่มเติมตอนท้ายว่า ฟังก์ชั่นการแชร์ ไลค์ และคอมเมนต์ในเฟซบุ๊ก เป็นสิ่งที่เฟซบุ๊กทั่วโลกใช้เหมือนๆ กัน และหากตีความโดยที่ไม่มีอคติก็จะเห็นว่า ฟังก์ชั่นทั้งสามมีหน้าที่ของมัน
“ถ้าเราตีความโดยไม่มีอคติ ก็ค่อนข้างชัดว่า ถ้ากดคอมเมนต์ ก็คือต้องการแสดงความคิดเห็นต่อข้อความนั้น กดแชร์ ก็คือต้องการเผยแพร่ต่อ แต่ถ้ากดไลค์ ก็แค่ต้องการแสดงความชื่นชม ดังนั้น พิสูจน์เจตนาจากตรงนี้ก็ได้ เพราะเป็นฟังก์ชั่นปรกติที่ทั่วโลกใช้กัน เป็น traditional ที่เขาใช้กัน เป็นจารีตปรกติ
“ถ้าคุณบอกว่า จะใช้กระบวนการยุติธรรมอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการบิดพลิ้วกฎหมาย ไม่มีการบิดพลิ้วการตีความ ก็ต้องดูจารีตที่เขาใช้กันด้วยว่า เขามีความมุ่งหมายอะไรในสิ่งนั้น” สาวตรีกล่าว

“การตรวจสอบทุจริตไม่ใช่อาชญากรรม” นักวิชาการเรียกร้องปล่อยตัว 2 ผู้ต้องขัง


14 ธ.ค.2558 เวลา 16.30 น. คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองได้จัดแถลงข่าว เรียกร้องต่อ คสช. ให้ยุติการจับกุมคุมขังหรือตั้งข้อกล่าวหาประชาชน รวมถึงการเคลื่อนไหวการตรวจสอบทุจริตบนโลกออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลทำการจับกุมแม้แต่คนคลิ๊กไลค์ นอกจากนี้เครือข่ายฯ ยังเรียกร้องให้ให้มีการยกเลิกเรือนจำชั่วคราว มทบ.11 เนื่องจากมีการเสียชีวิตของผู้ต้องขังอย่างผิดวิสัย
อนุสรณ์ อุณโณ ผู้ประสานงานเครือข่ายและผู้อ่านแถลงการณ์ยังได้ประกาศว่า สำหรับการเคลื่อนไหวในขั้นต่อไป ทางเครือข่ายฯ เตรียมจัดเวทีเปิดพื้นที่ทางวิชาการ โดยจะเชิญนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน ผู้เกี่ยวข้องรวมถึงทางโฆษกรัฐบาล มาอธิบายให้เหตุผลต่อกรณีการจับกุมดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวตั้งคำถามว่าควรจะมีการตรวจสอบกรณีการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ในประเด็นไหน อนุสรณ์กล่าวว่า คนในรัฐบาลก็ยอมรับว่ามีการหักหัวคิวหรือทุจริตดังเช่นตามที่ รมว. ยุติธรรม. ระบุ จึงอยากให้หยิบประเด็นเหล่านี้มาชี้แจงทำให้กระจ่าง แต่การตรวจสอบการทุจริตควรจะมาจากกลุ่มที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน การเดินทางของนักกิจกรรมในการไปตรวจสอบถือเป็นครรลองที่ คสช. ควรสนับสนุนมากกว่าขัดขวาง เพราะการพยายามปิดกั้นไม่อยากให้มาขุดคุ้ยอาจทำให้เห็นว่ามีการทุจริตจริตจริง
ต่อกรณีที่เจ้าหน้าที่เลือกจับกุมคนที่เปราะบาง มีฐานะยากไร้ ไม่มีสถานะทางสังคมนั้น อนุสรณ์เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เพราะในขณะที่ตัวกลุ่มองค์กรที่เผยแพร่ประกาศรับผิดชอบต่อผังราชภักดิ์ แต่กลับยังไม่มีการติดต่อหรือมีความพยายามในการพูดคุยจากทางฝ่าย คสช.
ต่อกรณีมีข้อสังเกตว่ามีการใช้สถานศึกษาหรือสถานที่สำคัญทางศาสนาเป็นหน่วยงานทางทหาร หรือสถานที่ปรับทัศนคติ อนุสรณ์กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการใช้ประโยชน์จากสถานที่เหล่านี้มาโดยตลอด ไม่ใช่กรณีใหม่แต่อย่างใด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นได้สร้างปัญหาตามมา คือมันจะเป็นการดึงเอาพลเรือนผู้บริสุทธิ์ อาทิ เด็ก นักศึกษา พระ เข้ามาข้องเกี่ยวอยู่ในพื้นที่ความรุนแรง
แถลงการณ์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ฉบับที่ 2
“เรียกร้องให้ยุติการจับกุมคุมขังประชาชนที่ตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์”
ในช่วงเดือนเศษที่ผ่านมาได้ปรากฏข้อมูลทางสื่อมวลชนถึงความไม่โปร่งใสในโครงการอุทยานราชภักดิ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แม้ทางกองทัพบกจะได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้วมีผลสรุปว่าไม่มีการทุจริตใดๆ แต่ก็ไม่อาจลดทอนความเคลือบแคลงในหมู่ประชาชนได้ เนื่องจากเป็นการตรวจสอบกันเองภายในหน่วยงานเดียวกัน ทำให้นักศึกษาและประชาชนกลุ่มต่างๆ รณรงค์ให้รัฐบาลและกองทัพบกตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใส แต่ความพยายามดังกล่าวกลับถูกขัดขวางข่มขู่โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ปัจจุบันการข่มขู่คุกคามได้เพิ่มระดับความรุนแรงถึงขั้นเพียงการส่งข้อมูลข่าวสารการตรวจสอบทุจริตหรือเพียงการกดปุ่ม “ไลค์” บนหน้าสื่อออนไลน์ กลับถูกจับกุมคุมขัง ตั้งข้อหาร้ายแรงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร มีประชาชนสองคน คือ นายฐนกร ศิริไพบูลย์ และนายธเนตร อนันตวงษ์ ได้ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจับกุมและนำตัวไปกักขังในสถานที่ไม่เปิดเผยรวมทั้งไม่อนุญาตให้ญาติและทนายความเข้าพบด้วยความผิดในข้อหาดังกล่าว
ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองจึงเรียกร้องไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ดังนี้
หนึ่ง ยุติการขัดขวาง ข่มขู่ คุกคาม หน่วงเหนี่ยวนักศึกษาและประชาชนที่ตั้งข้อสงสัยและต้องการให้มีการตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ เพราะการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชนเป็นไปตามสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐาน อีกทั้งรัฐบาลเป็นหน่วยงานสาธารณะที่ประชาชนย่อมวิพากษ์วิจารณ์ติชมได้ หากการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นใด ไม่อยู่บนฐานของข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง รัฐบาลมีหน้าที่ต้องชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเพื่อหักล้างข้อสังสัย มิใช่การปิดกั้นคุกคามการตั้งคำถามและข้อสังสัยของประชาชน ด้วยการจับกุมดำเนินคดีด้วยข้อหาที่รุนแรง
สอง ยุติการดำเนินคดี “ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง” ต่อการแบ่งปันข้อมูลการทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์และการกดปุ่ม “ไลค์” บนหน้าสื่อออนไลน์ และยุติการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 ในศาลทหารเป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีบุคคลที่เรียกร้องให้มีการตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์
สาม ยุติการจับกุมโดยพลการและการควบคุมตัวที่ตัดขาดจากโลกภายนอก รวมทั้งยกเลิก “เรือนจำชั่วคราว” ในกองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้ต้องคดีที่ถูกคุมขัง ณ ที่แห่งนี้ได้เสียชีวิตโดยไม่มีทราบสาเหตุแจ้งชัด ทั้งนี้ ให้นำวิธีปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้ อนุญาตให้ผู้ต้องหาเข้าถึงทนายและญาติตลอดจนการรักษาพยาบาลที่จำเป็น รวมทั้งเปิดให้ศาลพลเรือนตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัว
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองยืนยันว่า “การตรวจสอบทุจริตไม่ใช่อาชญากรรม” และ “ประชาชนที่กระตือรือร้นในการตรวจสอบทุจริตไม่ใช่อาชญากร” ประชาชนไทยมีสิทธิสงสัยและเรียกร้องให้ตรวจสอบโครงการของรัฐ มีสิทธิตั้งคำถามและแบ่งปันข้อมูลความไม่โปร่งใสในโครงการนั้นๆ การข่มขู่คุกคามดำเนินคดีร้ายแรงจะยิ่งก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในโครงการดังกล่าวมากขึ้นไปอีก อีกทั้งมีแต่จะนำมาซึ่งความขัดแย้งในสังคมมากยิ่งขึ้น ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และเสมอภาค
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง
14 ธันวาคม 2558

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ให้ผู้พิพากษาถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่


ที่มาของภาพ: สำนักพระราชวัง
14 ธ.ค. 2558 เมื่อวันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม 2558 เวลา 17.05 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จออก ณ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาประจำศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลทหาร และอัยการจังหวัดผู้ช่วย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่
โอกาสนี้ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เจ้ากรมพระธรรมนูญ อัยการสูงสุด และคณะ ร่วมเข้าเฝ้าฯ ด้วย