วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เผย ‘ผบ.พล.ร.9’ เข้าห้ามกลุ่มปิดล้อม 'คณะส่องโกงราชภักดิ์' หลังโซเชียลสงสัยไปทำไม


จากที่มีการเปรียบเทียบภาพชายเสื้อสีชมพูที่ปะปนกับผู้ชุมนุมต้านพร้อมล้อมกลุ่มเดินทางไปส่องโกงอุทยานราชภักดิ์ กับ พล.ต.ธรรมนูญ วิถี ผบ.กองพลทหารราบที่ 9 นั้น
เพจ พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen แชร์ตั้งข้อสงสัย
ล่าสุด มติชนออนไลน์ รายงานว่า จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่เข้าควบคุมสถานการณ์การเคลื่อนไหวของนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ที่สถานีรถไฟบ้านโป่ง จ.ราชบุรี  เปิดเผยตรงกันว่า ขณะนั้นเป็นจังหวะที่ประชาชนในพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วยเข้ามาล้อมขบวนรถไฟดังกล่าว ซึ่ง พล.ต.ธรรมนูญ ได้เข้ามาควบคุมสถานการณ์ด้วยตนเอง เนื่องจากสถานการณ์สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดเหตุความวุ่นวาย พร้อมสั่งการให้มีการดูแลนักศึกษา แต่เมื่อพบว่าเจ้าหน้าที่ยังทำหน้าที่ได้ไม่ทันต่อเหตุการณ์ จึงเข้ามาระงับการบุกเข้าปิดล้อมของประชาชนฝ่ายต้านด้วยตนเอง พร้อมสั่งการให้มีการกันประชาชนออกจากรอบรถไฟระยะ 5 เมตร จากนั้นจึงให้เจ้าหน้านำนักศึกษาและประชาชนในโบกี้รถไฟ ตั้งแถวนำนักศึกษาและประชาชนเพื่อพาไปไว้ในที่ปลอดภัย ก่อนจะมีการเข้าพูดคุย ทำความเข้าใจและปล่อยตัวในช่วงค่ำวันเดียวกัน  

แอมเนสตี้ฯ เรียกร้องกองทัพเลิกใช้อำนาจคุมตัวโดยพลการ


แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จี้ยกเลิกการใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลโดยพลการของกองทัพ หลังมีการจับกุมกลุ่มนักกิจกรรม 37 คนระหว่างการเดินทางไปประท้วงต่อต้านการทุจริต ที่อุทยานราชภักดิ์
8 ธ.ค. 2558 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า การจับกุมกลุ่มนักกิจกรรม 37 คนในประเทศไทยระหว่างการเดินทางไปประท้วงต่อต้านการทุจริต วานนี้ (7 ธันวาคม) นับเป็นเหตุการณ์ล่าสุดที่รัฐบาลทหารไทยใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ เพื่อปราบปรามการทำกิจกรรมอย่างสงบ
กลุ่มนักศึกษา 36 คนและทนายความอีกหนึ่งคนถูกควบคุมตัวเมื่อเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา ระหว่างเดินทางด้วยรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อประท้วงการทุจริตของกองทัพตามที่มีการกล่าวหากัน
ทางการได้ตัดตู้รถไฟระหว่างทางและบังคับให้นักกิจกรรมลงจากรถก่อนจะทำการควบคุมตัว และมีการปล่อยตัวนักกิจกรรมเหล่านี้ในเวลาต่อมา
แชมพา พาเทล (Champa Patel) ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า การจับกุมซึ่งเป็นมาตรการรุนแรงและขาดหลักการโดยสิ้นเชิงนั้น แสดงให้เห็นว่ามีความจำเป็นต้องยกเลิกการใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลโดยพลการของกองทัพ ซึ่งในปัจจุบันได้นำมาใช้เพื่อคุกคามและเอาผิดทางอาญากับผู้แสดงความเห็นต่างอย่างสงบ
“เจ้าหน้าที่ยังปฏิเสธไม่ให้บุคคลกลุ่มนี้บางส่วนติดต่อกับทนายความ พวกเขาถูกควบคุมตัวเพียงเพราะใช้สิทธิในการแสดงความเห็นอย่างสงบในการต่อต้านการทุจริตที่มีการกล่าวหาเท่านั้น”
ผู้ถูกควบคุมตัวประกอบด้วยนักศึกษาและผู้รณรงค์เพื่อประชาธิปไตยจากกลุ่มประชาธิปไตยศึกษาและกลุ่มพลเมืองโต้กลับ รวมทั้งนายอานนท์ นำภา ทนายความ
ที่ผ่านมากองทัพปฏิเสธว่า ไม่มีความผิดปรกติทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอุทยานแห่งนี้ ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในระหว่างการสอบสวนตามข้อกล่าวหาว่ามีการใช้จ่ายเงินอย่างไม่เหมาะสม
อุทยานแห่งนี้เป็นโครงการที่สร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติในหลวง เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558 และคาดว่ามีการใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า 1,000 ล้านบาท (หรือ 28 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยในวันที่ 7 ธันวาคมได้มีการปิดอุทยาน 'เพื่อซ่อมแซม' ภายหลังการควบคุมตัวนักกิจกรรม
การจับกุมครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ทางการได้ควบคุมตัวอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านสองคนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา  (30 พ.ย.) ระหว่างที่พวกเขาพยายามเดินทางไปยังอุทยานราชภักดิ์ โดยทั้งสองคนได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกัน
"การที่ทางการใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ  ถือว่าเป็นการปิดกั้นสิทธิของผู้แสดงความเห็นต่างอย่างสงบซึ่งเกิดขึ้นสองครั้งในรอบสัปดาห์ " แชมพา พาเทลกล่าว
“ทางการไทยยังละเมิดหลักปฏิบัติเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวมากขึ้น ส่งผลให้พวกเขาเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการถูกทรมานและปฏิบัติที่โหดร้าย
“ทางการไทยต้องยกเลิกข้อกล่าวหาเกี่ยวกับชุมนุมทางการเมืองอย่างผิดกฎหมายและการยุยงปลุกปั่น ซึ่งเป็นข้อหาที่นำมาใช้กับนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวอย่างสงบนับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา” แชมพา พาเทลทิ้งท้าย
ทั้งนี้ จากกรณีดังกล่าว โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า นักกิจกรรมเหล่านี้ละเมิดกฎหมายซึ่งห้ามการชุมนุมสาธารณะของบุคคลห้าคนหรือมากกว่าขึ้นไปด้วยจุดประสงค์ทางการเมือง

รมว.การต่างประเทศเล็งพิจารณาเชิญ ‘ทูตอังกฤษ’ คุย หลังทวิตเหตุจับนศ.ไปราชภักดิ์


จากกรณีที่ มาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยได้รีทวีตข้อความของ นิรมล โฆษ ผู้สื่อข่าวสเตรทไทม์ที่ระบุว่ารัฐบาลทหารได้กันไม่ให้นักกิจกรรมนักศึกษาเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ พร้อมแสดงความเห็นว่า "เข้าใจว่าการที่คน 200 คนสามารถประท้วงหน้าสถานทูตสหรัฐฯ ได้จะหมายถึงการเริ่มมีเสรีภาพในการชุมนุมเสียอีก" (อ่านรายละเอียด)
‘ประวิตร’ ยันไม่ 2 มาตรฐาน ชี้คิดกันไปเอง
วันนี้ (8 ธ.ค.58) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลใช้เจ้าหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยกับทุกฝ่ายเท่าเทียมกัน การดำเนินการเพื่อป้องกันผิดตรงไหน ไม่ใช่ตนจะปล่อยไปเฉยๆ และยืนยันว่าไม่ได้สองมาตรฐานในการใช้มาตรการกับผู้ชุมนุม เป็นการคิดกันไปเอง รัฐบาลทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดความสงบ ไม่ขัดแย้ง และไม่เสียเลือดเนื้อ อย่างไรก็ตามคงต้องให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ชี้แจง
รมว.การต่างประเทศ เล็งพิจารณาเชิญคุย
วันเดียวกัน นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) กรณีที่นิตยสารไทม์ส วิพากษ์วิจารณ์ว่าไทยมีมาตรการ 2 มาตรฐานต่อเรื่องสิทธิเสรีภาพ ว่า ที่ประชุมครม.ไม่ได้มีการพูดกันเรื่องนี้โดยตรง แต่พอเห็นว่าต่างประเทศกำลังโยงบางเรื่อง เช่น มีการโยงเรื่องที่นักศึกษาเดินทางด้วยรถไฟยังไปอุทยานราชภักดิ์เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา และเรื่องการประท้วงหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน โดยเรื่องที่นักศึกษาเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์นั้น มีผลสะท้อนต่อการเมืองภายในอย่างชัดเจน ไม่ใช่เรื่องการแสดงความรักของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จึงไม่อยากจะพูดว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือไม่ เพราะเป็นคนละเรื่อง จึงไม่สามารถนำมาโยงกันได้ ขออย่าไปโยงว่าฝ่ายนักศึกษาไม่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เพราะมีนัยยะในการสร้างปัญหาทางการเมือง
นายดอน ยังกล่าวถึงการที่นายมาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ที่เขียนข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัว โดยนำกรณีที่ทหารจับกุมนักศึกษาที่กำลังเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ ไปเปรียบเทียบกับการชุมนุมหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ถึง 200 คน ว่า ต้องขอดูรายละเอียดและพิจารณาก่อนว่าจะมีการเชิญมาพูดคุยกันหรือไม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวมีความเห็นหลายทาง อย่างไรก็ตาม ปัญหาของบ้านเมืองขณะนี้ต้องทำให้เกิดความสงบ ซึ่งรัฐบาลพยายามทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีและมีความสุข  เมื่อถามว่านายกฯได้ฝากเรื่องการแสดงความคิดเห็นของทูตประเทศต่างๆ หรือไม่  รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สอบถาม ซึ่งตนอธิบายไป ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา ตนได้หารือกับคณะเอกอัครราชทูตจากสหภาพยุโรปแล้ว โดยตนได้อธิบายในประเด็นเหล่านี้ซึ่งเขามีความพอใจ

ประยุทธ์แจงห้าม ‘คณะส่องโกงราชภักดิ์’ เพราะกลัวปะทะ เตือนห้ามแล้วไม่เชื่อก็ดูแลตัวเอง


‘ประวิตร’ จ่อดำเนินคดีหมิ่นฯ-พ.ร.บ.คอมฯ ‘ผังราชภักดิ์’ ยันไม่ 2 มาตรฐานกรณีพุทธอิสระชุมนุมหน้าสถานทูตสหรัฐ ‘อนุพงษ์’ เผยไม่ยุ่งสอบอุทยานราชภักดิ์ ตร. เล็งใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาดูแลความสงบ ตร. เล็งใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาดูแลความสงบ
8 ธ.ค.2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยศึกษา ขบวนการประชาธิปไตยใหม่และประชาชนเดินทางไปตรวจสอบความโปร่งใสอุทยานราชภักดิ์ โดย พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงเหตุที่ห้ามเพราะไม่ต้องการให้เกิดการปะทะกันกับคนที่เห็นต่าง และป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งหากห้ามปรามแล้วยังไม่เชื่อฟัง จากนี้ไปหากจะเดินทางไปขอให้ดูแลตัวเอง
"ในเมื่อมันจะไปสู่การขัดแย้ง ไปสู่ความไม่สงบ อยากไม่สงบกันอีกหรือเปล่า ก็ขยายเข้าไป ถ้างั้นทุกวัน เดี๋ยวไปสิไป กลุ่มไหนอยากจะไปไปเลย แล้วมันตีกันอีกที แล้วท่านห้ามก็แล้วกัน นะ ผมไม่รับผิดชอบอะ แล้วก็กลับมาอีก พูดอย่างงี้ไมรับผิดชอบต้องดูแลประชาชน มันจะเอาอะไรกับผมมากกว่านี้วะ หะ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ขณะที่ข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีว่าจะให้ พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เข้ามาเป็นรัฐมนตรีแทน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร นั้น นายกฯ ย้ำว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่นายกรัฐมนตรีคนเดียว และขอให้สื่อเสนอข้อมูลที่เป็นจริง อย่าสร้างความสับสนจนนำไปสู่ความขัดแย้ง
ประวิตรจ่อดำเนินคดีหมิ่นฯ-พ.ร.บ.คอมฯ ‘ผังราชภักดิ์’ ยันไม่ 2 มาตรฐานกรณีพุทธอิสระชุมนุมหน้าสถานทูตสหรัฐ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีนี้ด้วยว่า จะทำให้ตนทำอย่างไรและยังมีความไม่เข้าใจอยู่ ซึ่งตนปล่อยให้คนทั้งสองกลุ่มมาตีกันไม่ได้ ใครจะรับผิดชอบ อีกทั้งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มนักศึกษา มีการรวมตัวแล้ว ดังนั้นขอให้อยู่เฉยๆและรอการชี้แจงก่อน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงกลาโหม หากมีความชัดเจนจะมีการออกแถลงข่าวให้รับทราบ ขอให้เวลาเจ้าหน้าที่ดำเนินการ หากจะมีการต่อสู้ทางความคิดหรือในเฟซบุ๊ก ขออย่ามาเผชิญหน้าซึ่งกันและกัน ซึ่งการกระทำของกลุ่มดังกล่าวเป็นเชิงสัญลักษณ์ และกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยเป็นผู้บริจาคเงินที่รู้สึกหวงแหนสถานที่ ถ้ายังมีความขัดแย้งจะอดเลือกตั้ง
ส่วนกรณีเอกอัครทูตอังกฤษโพสต์ทวิตเตอร์ถึงกรณีการชุมนุมหน้าสถานเอกอัครทูตสหรัฐอเมริกาของอีกฝ่ายที่สามารถทำได้ พล.อ.ประวิตร กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลใช้เจ้าหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยกับทุกฝ่ายเท่าเทียมกัน การดำเนินการเพื่อป้องกันผิดตรงไหน ไม่ใช่ตนจะปล่อยไปเฉยๆ และยืนยันว่าไม่ได้สองมาตรฐานในการใช้มาตรการกับผู้ชุมนุม เป็นการคิดกันไปเอง รัฐบาลทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดความสงบ ไม่ขัดแย้ง และไม่เสียเลือดเนื้อ อย่างไรก็ตามคงต้องให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ชี้แจง
ส่วนมาตรการในการรับมือหากมีกลุ่มออกมาเคลื่อนไหว ยืนยันว่าก็จะเช่นเดียวกับกรณีที่ผ่านมา ตนขออย่าออกมาแสดงทางสัญลักษณ์เพราะอาจมีการพ.ร.บ.ชุมนุมออกมาบังคับใช้ และตนมองว่าไม่ทีความอึมครึมของบรรยากาศในการตรวจสอบเช่นเดียวกับที่มีการมองจากสังคม
พร้อมกันนี้กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่แผนผังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตการสร้างอุทยานราชภักดิ์ว่า ขณะนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบว่าเป็นใคร เพราะทำผิดในฐานหมิ่นประมาท และผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พร้อมระบุว่าให้ผู้กระทำดังกล่าวเตรียมตัวรับผิดและถูกดำเนินการตามกฎหมาย
‘อนุพงษ์’ เผยไม่ยุ่งสอบอุทยานราชภักดิ์
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการตรวจสอบโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ว่า แม้จะจดทะเบียนเป็นมูลนิธิอุทยานราชภักดิ์ และกระทรวงมหาดไทยเป็นคณะกรรมการร่วมรับผิดชอบดูแลมูลนิธิฯ แต่จะไม่ขอเข้าไปตรวจสอบเรื่องต่าง ๆ
“เพราะเรื่องข้อสงสัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นก่อนที่จะจดทะเบียน หน่วยงานใดสงสัยก็มีหน้าที่ตรวจสอบเอง กระทรวงมหาดไทยจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่สงสัยได้ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว
ตร. เล็งใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาดูแลความสงบ
ขณะที่ พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่มีหลายกลุ่มเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวเพื่อไปตรวจสอบการทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ว่า ตำรวจเตรียมใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมในที่สาธารณะ มาดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย โดยหากพบว่า การกระทำของกลุ่มใดก็ตาม เข้าข่ายการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด แต่จากการตรวจสอบด้านการข่าว ขณะนี้ ไม่พบความเคลื่อนไหวกลุ่มที่เห็นต่างกับรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จึงอยากฝากให้ผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมือง หรือ กลุ่มใดก็ตาม ศึกษารายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้ เพราะหากฝ่าฝืนและถูกจับ จะไม่สามารถอ้างได้ว่าไม่รู้กฎหมาย
เผยคดีเครือข่ายหมอหยองแอบอ้างสถาบันส่งอัยการแล้ว
รองโฆษก สตช.กล่าวอีกว่า ความคืบหน้าการดำเนินคดีแอบอ้างสถาบันเบื้องสูงเรียกรับผลประโยชน์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ หมอหยอง และพวก ตกเป็นผู้ต้องหา ขณะนี้ตำรวจ ส่งสำนวนให้อัยการสั่งฟ้องคดี ไปแล้ว จำนวน 6 สำนวน ส่วนสำนวนคดีที่เหลือ พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการเร่งสรุปสำนวนคดี เพื่อส่งให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเห็นพิจารณาสั่งคดีตามขั้นตอน ขณะที่ การติดตามตัวพลตรีสุชาติ พรหมใหม่ และนายคชาชาต บุญดี รวมทั้ง อดีตตำรวจสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่ถูกออกหมายจับเพิ่มเติมในคดีนี้ ยืนยันว่า บางส่วนหลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว ซึ่งตำรวจยังอยู่ระหว่างการสืบสวนหาเบาะแส เพื่อนำตัวมาดำเนินคดี

กลุ่มส่องโกงราชภักดิ์แจง ทำหน้าที่แทนกลุ่มต้านคอร์รัปชันที่หายไป


ยันเคลื่อนไหวสันติ ไม่มีกลุ่มการเมืองหนุนหลัง ชี้จนท.สกัดไม่ให้ไปอุทยาน ขณะปล่อยมวลชนกลุ่มต้านขว้างปาของใส่ขบวนรถ ตั้งคำถามทำไมเจ้าของสถานที่ยอมให้ใช้ศาสนสถานคุมตัวประชาชน แจงตรวจสอบทุจริตอุทยานเพราะกลุ่มที่เคยต้านคอร์รัปชันกลับเงียบไม่ออกมาตรวจสอบ
8 ธ.ค. 2558 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ กลุ่มประชาธิปไตยศึกษา จัดงานแถลงข่าวกรณีที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ขณะทำกิจกรรม ‘นั่งรถไฟ ไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง’ วานนี้
สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ สมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา หนึ่งในผู้ที่ถูกควบคุมตัววานนี้ แถลงข่าวว่า การเคลื่อนไหวเมื่อวานที่ผ่านมาเป็นการเคลื่อนไหวอย่างสันติ ไม่มีกลุ่มการเมืองใดๆ หนุนหลังอย่างที่ถูกโจมตี
เขากล่าวต่อไปว่า ไม่คิดว่าการเดินทางครั้งนั้นจะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นเพียงการจัดทัศนาจร เพื่อชี้ให้สังคมได้รับรู้ว่าเกิดการคอร์รัปชันที่อุทยานราชภักดิ์
ต่อเรื่องการคุกคาม เขากล่าวว่า มีการพยายามสกัดกั้นไม่ให้เขาไปถึงยังสถานีธนบุรีตั้งแต่ช่วงเช้า จนกระทั่งมาถึงสถานีบ้านโป่ง ได้มีการควบคุมตัวเพื่อนๆ ที่ร่วมเดินทางจำนวนหนึ่ง และเจ้าหน้าที่การรถไฟได้ตัดตู้โบกี้ของกลุ่มออก เพื่อไม่ให้เดินทางต่อ ขณะเดียวกันได้มีมวลชนของอีกฝ่ายเข้ามาด่าทอ และขว้างปาสิ่งของใส่ขบวนรถ โดยที่ไม่มีการห้ามปรามใดๆ จากเจ้าหน้าที่
เขายืนยันว่า ยอมรับในความคิดที่แตกต่าง แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีการแสดงออกของมวลชนที่มีท่าทีรุนแรง
ส่วนการถูกควบคุมตัวอยู่ที่ พุทธมณฑล เขาเห็นว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น เหตุใดเจ้าของสถานที่จึงยินยอมให้ใช้ศาสนสถานเป็นสถานที่กักตัวประชาชน พร้อมเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าว
ต่อคำถามว่า เหตุใดจึงไม่ไปตรวจสอบการทุจริตกรณีจำนำข้าว เขาระบุว่า การตรวจในกรณีดังกล่าวมีคนทำและรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่กับกรณีของอุทยานราชภักดิ์ ทุกหน่วยงาน ทุกกลุ่มที่เคยออกมาต่อต้านการคอร์รัปชัน กลับเงียบ ไม่ออกมาตรวจสอบดังเช่นที่เคยทำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลาประมาณ 14.15 น. สิรวิชญ์ และเพื่อนๆ กลุ่มประชาธิปไตยศึกษาเดินทางมาถึง มธ. โดยเมื่อมาถึงบริเวณที่นัดหมายแถลงข่าว เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสกัดกั้นไม่ให้เดินไปยังที่แถลงข่าว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า วันนี้ทางตำรวจ และเจ้าของสถานที่ ไม่อนุญาตให้มีการแถลงข่าว อย่างไรก็ตามได้มีต่อรองกันจนสามารถแถลงข่าวได้
นอกจากนี้ ก่อนหน้านั้น ลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิกกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ขอแยกตัวไปพูดคุยแล้วรอบหนึ่งเช่นกัน โดยมีการกันสื่อมวลชนไม่ให้เดินเข้าไปเก็บภาพ
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ยังคงมีท่าทีที่สุภาพ
 

ทีม คสช.แจ้งความเอาผิด ‘ทนายของธนกฤต’ ฐานหมิ่นประมาท-‘ฉัตรชนก’ ทหารปล่อยแล้ว


พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ทีมกฎหมาย คสช.แจ้งเอาผิด ‘เบญจรัตน์’ ทนายของธนกฤต หลังไปแจ้งความทหาร-ตำรวจที่ออกหมายจับธนกฤตเตรียมป่วนกรุงทั้งที่อยู่ในคุก ทนายแจงทำตามหน้าที่ พร้อมเผยลูกความถูกกดดันให้ถอนทนายแล้ว ที่แจ้งความไว้เป็นโมฆะ ด้านฉัตรชนก ผู้ต้องหาเตรียป่วนกรุงถูกอุ้มเงียบหลายวันถูกปล่อยตัวแล้ว
8 ธั.ค.2558 เวลา 11.00 น. พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ได้เข้าแจ้งความต่อ พ.ต.ท.อธิลักษณ์ หวังสิริวรกุล พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ กก.1 บก.ป. กล่าวหา น.ส.เบญจรัตน์ มีเทียน ทนายความของนายธนกฤต ทองเงินเพิ่ม หนึ่งในจำเลยคดีขอนแก่นโมเดล และผู้ต้องหาตามหมายจับข้อหาร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาต่อพนักงานสอบสวน โดยรู้ว่ามิได้มีการกระทำผิดเกิดขึ้น และเป็นการแกล้งให้บุคคลใดได้รับโทษ และข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 , 173 , 174 , 181 และ 328 โดยนำหนังสือพิมพ์ที่มีการตีพิมพ์ข่าวกรณีนายธนกฤต ทองเงินเพิ่ม มอบให้พนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐาน
พ.ต.ท.อธิลักษณ์ หวังสิริวรกุล พนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งความกล่าวว่า พล.ต.วิจารณ์ ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อเบญจรัตน์ ในฐานะส่วนตัว
กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นสืบเนื่องจาก ในวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา น.ส.เบญจรัตน์ ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป.โดยได้แจ้งความดำเนินคดี พล.ต.วิจารณ์ และ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ , หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และแจ้งความเท็จต่อนายธนกฤต ผู้ต้องหาตามหมายจับ ซึ่งในความเป็นจริงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ จ.ขอนแก่นในขณะนี้ในคดีปลอมแปลงเอกสาร โดยให้เหตุผลว่านายธนกฤตถูกจำคุกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 และเหลือเวลารับโทษตามคำพิพากษาอีก 6 เดือน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะกระทำผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง และกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ร่วมกับผู้ต้องหาอีก 8 คน ตามที่ถูกกล่าวหาว่าเตรียมป่วนกิจกรรม Bike for Dad  (อ่านที่นี่)
เบญจรัตน์ ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า สิ่งที่ดำเนินการไปทั้งหมดเป็นการดำเนินการตามหลักวิชาชีพ ได้มีหนังสือแต่งตั้งทนายและรับมอบอำนาจจากลูกความเป็นที่เรียบร้อย โดยประเพณีปฏิบัติ ผู้แจ้งความดำเนินคดีจะไม่เอาผิดต่อผู้รับมอบอำนาจหรือทนายความ แต่จะเอาผิดต่อตัวความ นอกจากนี้ยังเตรียมการดำเนินคดีต่อ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง เช่นกันเนื่องจากการแจ้งความเอาผิดต่อทนายซึ่งเป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจทางกฎหมายเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง
เบญจรัตน์กล่าวต่อว่า จากการที่ทนายความถูกคุกคามและถูกแจ้งความดำเนินคดีแสดงให้เห็นว่า คสช.ต้องการที่จะตอบโต้หรือต้องการให้ทนายหยุดดำเนินการเนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการสร้างความเสียหายให้กับ คสช.
ส่วนกรณีที่มติชนและกรุงเทพธุรกิจรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. เบญจรัตน์ได้ถอนแจ้งความทหารตำรวจไปแล้วนั้น เบญจรัตน์กล่าวว่า คาดว่าเรื่องนี้ตำรวจเป็นคนให้ข่าว ข้อเท็จจริงคือการเดินทางไปกองปราบฯ ในวันดังกล่าวไม่ได้ถอนแจ้งความแต่อย่างใด แต่นำ น.ส.นลิณี ตั้งวงศ์ ผู้ช่วยทนายความที่ได้เข้าพบและได้รับมอบอำนาจจากนายธนกฤต เข้าให้การเพิ่มเติมกับพนักงานสอบสวน เนื่องจากทางตำรวจเจ้าของคดีแจ้งว่าเอกสารยังไม่เรียบร้อย
ทนายความของธนกฤตให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำขอนแก่นได้แจ้งกับทนายด้วยว่า หลังจากการที่ธนกฤตได้เซ็นหนังสือแต่งตั้งเบญจรัตน์เป็นทนายความในรอบที่สอง เจ้าหน้าที่ได้เข้าพบเขาอีกครั้ง และปัจจุบันธนกฤตได้ทำหนังสือถอนการแต่งตั้งทนายอีกฉบับซึ่งมีผลให้การดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีเอาผิดต่อผู้ที่กล่าวให้ร้ายธนกฤตทั้งหมดเป็นโมฆะ ทำให้ทนายไม่สามารถที่จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อธนกฤตในกรณีนี้ได้อีกแล้ว เนื่องจากมีข้อจำกัดที่ธนกฤตซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐถูกขังอยู่ในเรือนจำ ต่อให้ผู้เสียหายมอบอำนาจให้ทนายไม่ว่ากี่ครั้งก็ตาม ผู้เสียหายก็จะถูกบีบให้ถอนการมอบอำนาจต่อไปเรื่อยๆ
ต่อกรณีการที่มีเจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวนาย ฉัตรชนก ศรีวงษา คู่แฝดของ นายฉัตรชัย ศรีวงษา ผู้ต้องหา 1 ใน 9 คนที่ถูกออกหมายจับคดีเตรียมป่วนงาน Bike for Dad ลอบสังหารบุคคลสำคัญ นั้น เบญจรัตน์กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากครอบครัวของฉัตรชนกว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้นำนายฉัตรชนกมาปล่อยตัวที่บ้านแล้ว สำหรับรายละเอียดสาเหตุการจับกุมตัวและเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างการควบคุมตัว นายฉัตรชนกขออนญาตที่จะไม่เปิดเผย แต่โดยเบื้องต้นทางครอบครัวของคู่แฝดแจ้งว่าแม้ว่าทั้งฉัตรชัยและฉัตรชนกได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่ก็ยังถูกเจ้าหน้าที่ทหารติดตามตัวอยู่ตลอดเวลา ทั้งสองคนคนรวมถึงคนในครอบครัวอยู่ในภาวะความหวาดกลัวและกดดัน
ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์สอบถามไปยังครอบครัวของฉัตรชนกแต่ไม่มีผู้รับสาย เมื่อสอบถามผ่านทาง SMS ว่าฉัตรชนกได้รับการปล่อยตัวแล้วหรือไม่ จึงได้มีข้อความยืนยันจากเบอร์โทรศัพท์ของครอบครัวว่า ฉัตรชนกได้กลับมาถึงบ้านแล้ว

รายงาน: ชีวิตนักดนตรีหนุ่มชาวอุบล ก่อน-หลังจองจำ 30 ปีคดี 112


<--break- />
‘โอ๋’ เป็นชายหนุ่มวัยสามสิบเศษ เขาอยู่ในเรือนจำจังหวัดอุบลราชธานีตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว หลังรัฐประหารไม่นาน รวมเวลาถึงตอนนี้ก็ราว 1 ปีครึ่ง คดีของเขาเกิดขึ้นเงียบๆ จบลงเงียบๆ และชีวิตในเรือนจำของเขาก็ดำเนินไปอย่างเงียบเชียบ
โทษของเขา คือ จำคุก 30 ปี แต่ได้รับการลดโทษลงครึ่งหนึ่งเหลือ 15 ปีเพราะรับสารภาพ
ข้อกล่าวหาคือ การโพสต์เฟซบุ๊ก 9 ข้อความหรือ 9 กรรมที่เข้าข่ายดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายสถาบันกษัตริย์
ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า คดีนี้ถูกฟ้องทั้งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112   และตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ศาลลงโทษจำเลยทั้งสองส่วน จากที่โดยปกติคดีลักษณะเดียวกัน ศาลจะลงโทษเฉพาะมาตรา 112 ซึ่งเป็นโทษที่หนักกว่า โดยเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90

โอ๋ ชายหนุ่มผู้รักเพื่อน รักดนตรี

โอ๋ เป็นชายหนุ่มรูปร่างสันทัด ผิวเข้ม ดวงตาเป็นประกาย และบุคลิกสุภาพเรียบร้อย แม่ของเขาบอกว่าอันที่จริงแล้วเขาผิวค่อนข้างขาว แต่การอยู่ในเรือนจำทำให้เขาดูทรุดโทรมและคล้ำไปมาก แม้คดีของเขาจะเกิดขึ้นอย่างเงียบเชียบ เผชิญชะตากรรมเพียงลำพัง แต่เขาก็โชคดีที่ทั้งพ่อและแม่คอยเยี่ยมไม่ขาด แม่ของโอ๋จะเดินทางมาเยี่ยมเป็นประจำแทบทุกวัน จนแทบไม่ได้ทำงาน เธอรับภาระหนักในการเลี้ยงดูหลานเล็กๆ อีกหนึ่งคน ขณะที่พ่อของโอ๋เป็นครูสอนศิลปะในโรงเรียนมัธยมศึกษา และพยายามหาเวลากลางวันที่ไม่มีคาบสอนแวะมาเยี่ยมโอ๋เสมอ
ประวัติของโอ๋นั้นน่าสนใจ ดูเหมือนเขาเป็นเด็กหนุ่มธรรมดา รักเพื่อน รักดนตรี และเริ่มสนใจการเมืองไม่กี่ปีมานี้เอง
ธนสิน พ่อของโอ๋เล่าว่าโอ๋เรียนด้านคอมพิวเตอร์จนเกือบจบปริญญาตรี แต่วิชาสุดท้ายเขาไม่ได้ส่งงาน จากนั้นเขาผันตัวเองมาเรียนจนจบ ปวส.แทน
“เขาเพื่อนเยอะ เรียนเอกคอม ปีสุดท้าย เพื่อนมาทำงานชิ้นจบที่บ้าน โอ๋เก่งคอมก็ช่วยเพื่อนหมด แล้วทั้งห้องก็เรียนจบ ยกเว้นเขา เพราะเขาไม่ได้ทำของตัวเอง ทำไม่ทัน ติดอยู่วิชาเดียว” พ่อเล่า
“แม่เคยถามว่าทำไมก่อนจะทำให้เพื่อนทำไมไม่ทำของตัวเองให้เสร็จก่อน เขารักเพื่อนมาก ส่วนหนึ่งที่โอ๋ติดตรงนี้เพราะเพื่อนด้วย เขารับหมด คอมที่บ้านเป็นแบบฟรีสไตล์เลย ใครจะมาใช้ มาทำงานทำได้หมด” ชวันภัสร์ แม่กล่าว
สิ่งที่โดดเด่นสำหรับเขาอีกประการคือ การเล่นกีตาร์ซึ่งเขาฝึกฝนเองมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น อาจเพราะได้แรงบันดาลใจจากพ่อซึ่งเป็นนักดนตรี เล่นดนตรีได้หลายชนิด เขาเริ่มต้นทำงานหาเงินจากการเล่นดนตรีกลางคืนได้ไม่นานก็เกิดเรื่อง

จุดหักเห สู่ความสนใจทางการเมือง

เมื่อถามย้อนกลับไป ไม่มีใครในบ้านสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความคิดทางการเมืองของเขาแม้แต่น้อย พ่อยืนยันว่าโอ๋คุยกับพ่อแต่เรื่องดนตรี และไม่เคยพูดเรื่องการเมืองเลย จนบางครั้งก็ต้องอาศัยแซวลูกเพราะอยากรู้ความคิดเขา
“ก่อนนั้นมีคลับคล้ายคลับคลาบ้างว่าเขาสนใจการเมือง ได้ข่าวว่ามีการไฮปาร์กชุมนุมเสื้อเหลืองบ้าง เสื้อแดงบ้าง เขาไปนั่งฟัง พ่อเคยถามแซวเล่นๆ เหมือนกันว่าตกลงโอ๋แดงหรือเหลือง เห็นไปนั่งฟังหมด เขาบอกว่าเขาไปเรียนรู้เฉยๆ  เขาอยากฟัง ไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายไหน” พ่อกล่าว
ขณะที่โอ๋เล่าผ่านจดหมายว่าเขาไม่ได้สนใจการเมืองมาก่อน แต่เป็นเพราะสาวคนหนึ่งที่โอ๋ให้ความสนใจชวนโอ๋ไปดูคอนเสิร์ต วงดนตรีร็อครุ่นใหญ่ที่จัดในงานชุมนุมของคนเสื้อแดง นั่นเป็นครั้งแรกที่เขาได้สัมผัสกับ “โลกการเมือง”
“ผมตอบตกลงไปเพราะถึงเราจะไม่ใช่คนเสื้อแดงแต่เรามีเสื้อแดงใส่ ก็คงไม่มีใครมาทำอะไรเรา นั่นทำให้ผมได้ไปเวทีเสื้อแดงครั้งแรกแบบกล้าๆ กลัวๆ” โอ๋เขียนเล่า
“ก่อนคอนเสิร์ตจะเริ่มมีการปราศรัยของแกนนำ หนึ่งในนั้นคือ อ.สุรชัย แกพูดด้วยสำเนียงใต้ๆ ของแก ผมก็นั่งฟังไปเรื่อยๆ เนื้อหาที่พูดก็ไม่ได้ยั่วยุให้ก่อความรุนแรงอะไร” โอ๋เล่าพร้อมกล่าวว่าวันนั้นเขาได้ดูคอนเสิร์ตแล้วก็แยกย้ายกลับบ้าน
จากนั้นเขาเริ่มสนใจการเมืองและหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต รวมทั้งเริ่มสนทนากับคนที่เป็นคอการเมือง โดยเริ่มแรกคือการคุยกับคนที่เล่นเกมส์ออนไลน์ด้วยกันแล้วขึ้นข้อความว่า “เบื่อมาร์คว่ะ” หลังจากได้คุยกับเพื่อนคนนั้นเพื่อนก็นำพาเขาไปเจอข้อมูลใต้ดินที่ทำให้เขาตกใจ พร้อมๆ กันนั้นเขาก็เจอสาวที่เขาชอบจริงจังด้วย แต่ไม่นานนักเขาก็อกหักอย่างแรงและทำให้เขาเริ่มเยียวยาบาดแผลด้วยการทำสร้างตัวตนแบบผิดทาง
“เมื่อก่อนผมไม่ใช่คนใจกล้าบ้าบิ่นอะไร แต่เนื่องจากผิดหวังจากความรัก เลยทำอะไรไม่ยั้งคิดขึ้น ผมเพิ่งรู้ในครั้งนี้เองว่าการสูญเสียคนที่รักมันรู้สึกเป็นเช่นไร รู้สึกเหมือนตัวเองไม่มีคุณค่าใดๆ ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว เคยเห็นแต่คนอื่นทำอะไรบ้าๆ เวลาอกหัก ไม่นึกว่าจะมาเป็นเอง ผมกล้าทำสิ่งผิดกฎหมายเข้าให้แล้ว แม้จะโดนสาปแช่งจากชาวเน็ตแต่ผมกลับรู้สึกว่าการโดนรุมด่า มันทำให้ลืมเรื่องอกหักได้” โอ๋บรรยาย

สายสืบแฝงตัว คุยนานหลายเดือน

หลังจากเขาสู่เส้นทางสายมืดดำนี้ เขาได้รู้จักคนในอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นมาก รวมถึง “แตงโม” ซึ่งเป็นบุคคลที่นำพาความเปลี่ยนแปลงอย่างถึงที่สุดมาสู่ตัวเขา
“ตอนนั้นผมใช้เฟซบุ๊กปลอม ในข้อมูลจังหวัดผมก็ใส่จังหวัดจริงๆ เพราะคิดว่าแค่รู้จังหวัดจะจับได้ยังไง มีหลายคนแอดเพื่อนมา ใครขอเป็นเพื่อนผมก็รับหมด ไม่ว่าจะมาเพื่อชมหรือด่าก็ตาม หนึ่งในนั้นมี แตงโม ด้วย เราทักทายแบบทั่วไป ไม่มีอะไรผิดสังเกต เธอบอกว่าเป็นคนอุบลเหมือนกันและบ้านอยู่ซอยมอเตอร์ไบค์ ซึ่งต้องเป็นคนท้องถิ่นเท่านั้นถึงจะรู้จักซอยนี้ ผมก็เลยเชื่อว่าเธอเป็นคนอุบลจริงๆ หลังจากคุยกันระยะหนึ่งผมก็ขอเบอร์เธอ เป็นการกระทำที่โง่ที่สุดในชีวิตผมเลยก็ว่าได้ ผมเอาเบอร์ตู้โทรศัพท์โทรไปหาเพื่อฟังว่าเป็นผู้หญิงจริงมั้ย แตงโมพูดลาวได้ด้วยผมยิ่งเชื่อสนิทใจว่าเป็นคนอุบลจริงๆ ต่อมาผมเลยเอาเฟซจริง เบอร์จริง ติดต่อแตงโม” โอ๋ระบุ
เขาบอกว่าที่กล้าไว้ใจแตงโมเพราะเธอเอาคลิปผิดกฎหมายที่เขาลงในเฟซบุ๊กไปแชร์ แม่โอ๋เล่าเพิ่มเติมว่า อันที่จริงโอ๋อาจไม่ได้มาไกลขนาดนี้ หากไม่ได้แรงกระตุ้นจาก “สายลับ” ที่เข้ามาพูดคุยและส่งเสริมให้กระทำผิด
ต่อมาแตงโมนัดเขากินข้าวที่บิ๊กซีมีการโทรศัพท์นัดหมายโดยซักถามให้แน่ใจว่าเขาอยู่บ้านหรือไม่ อยู่กับใคร หลังจากวางสายก็มีบุรุษไปรษณีย์มาถามหาพ่อเขา เมื่อเขาตอบว่าไม่อยู่และกำลังเข้าบ้านก็ถูกเจ้าหน้าที่เข้าชาร์จ
“ตอนนั้นผมยังเป็นห่วงแตงโมอีกแหนะ จนถึงโรงพักถึงได้อ่านเอกสารเห็นข้อความนึงที่จำไม่ลืมว่า “สายลับที่ใช้ชื่อว่า Momay Tangmo” ผมถึงได้รู้ความจริง” โอ๋ระบุ

แม่ของโอ๋ขณะกรอกแบบฟอร์มขอเยี่ยมลูกที่เรือนจำ

เมื่อฝากความหวังที่ คสช.

คดีของโอ๋เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2555 ตำรวจหลายสิบนายบุกไปจับกุมตัวเขาที่บ้านขณะเขาอยู่บ้านเพียงลำพัง เขารับสารภาพและถูกแจ้งข้อกล่าวหา โชคดีที่ในชั้นสอบสวนเขาได้รับการประกันตัว
“คนที่พยายามจับคนในข้อหานี้เขาก็แค่เพียงเพื่อเอาผลงาน แม้แต่คนที่มาจับลูกชายผม เขาพูดกับผมว่า คุณพ่อผมพูดตรงๆ นะ ผมทำเพื่อผลงาน เขากล้าพูดถึงขนาดว่า รับๆ ไปก่อนเดี๋ยวค่อยไปสู้คดีในชั้นศาล ถ้าเราย้อนเวลาไปพูดได้เราจะบอกว่าถ้าเป็นลูกมึงจะยอมไหมให้รับๆ ไปก่อน รู้ทั้งรู้ว่าคดีนี้รับแล้วไม่มีทางรอด” พ่อของโอ๋กล่าว
ระหว่างประกันตัวโอ๋หยุดทุกอย่างในโลกโซเชียล และมีชีวิตอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ จนแม่นิยามว่านั่นคือปฐมบทการ “ติดคุก” ของโอ๋และสร้างความทรมานใจให้ทุกคนในบ้าน เขามีภาวะเครียดอย่างหนัก จนกระทั่งตัดสินใจไปบวชที่วัดป่าแห่งหนึ่งและพบว่าชีวิตบรรพชิตเป็นสิ่งที่เขาปรารถนา
“มันเหมือนติดคุกอยู่นอกคุกอยู่แล้วตั้งแต่เกิดคดีมา ต้องเก็บตัว ความที่ไม่เคยแบบนี้ก็กลัวกันหมด เหมือนติดคุกล่วงหน้าแล้ว จะทำอะไรก็กลัว จะเดินทางก็กลัว แล้วความลำบากก็คือเงินทอง ลูกทำอะไรไม่ได้เลย ทำงานอย่างเดิมก็ไม่ได้ จริงๆ อาจทำได้ แต่มันเป็นความรู้สึกว่าทำไม่ได้แล้ว กลายเป็นต้องซับพอร์ตลูกคนหนึ่งเอาไว้ จนสุดท้ายเขาไปบวชเป็นพระ และเป็นพระด้วยหัวใจ ไม่ใช่แค่ห่มผ้าเหลืองไป” แม่เล่า
คดีของเขาไม่มีความเคลื่อนไหว อัยการยังไม่สั่งฟ้อง จนกระทั่งหลังการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 โดย คสช. ชื่อของโอ๋ปรากฏในประกาศเรียกรายงานตัว พ่อและแม่ของโอ๋เห็นควรว่า พระโอ๋ควรแสดงความบริสุทธิ์ใจ โดยเฉพาะแม่ที่เห็นว่าทหารจะช่วยจัดการเรื่องราวความผิดพลาดของเด็กหนุ่มที่คึกคะนองได้ และหวังว่าการไม่ต่อสู้อะไรทั้งสิ้นจะนำมาซึ่งโอกาสในการกลับตัว
“ตอนที่ลูกเข้ารายงานตัว ลูกเป็นพระอยู่ แล้วมีคนบอกว่าเห็นชื่อเรียกรายงานตัว ก็ตัดสินใจไปหาลูก ตอนนั้นลูกยอม ไม่มีปฏิกริยาเหมือนตอนแรกที่กลัวแล้วหลบ เขาถามว่าโยมแม่โยมพ่อคิดดีแล้วใช่ไหม แล้วก็พูดตอนขึ้นรถว่า “มานี่มาติดคุกนะ” แต่ความหวังเรามีตลอดว่าทหารเขาจะช่วยเราได้ เขามาแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น เขาจะเห็นเจตนาว่าเราออกมารายงานตัว” แม่เล่า
“ทหารเขาก็พูดกับเราดีมากตอนรายงานตัว ตอนนั้นเราก็เข้าข้างเขา เขาบอกว่าลูกมีคดีเก่าแต่เขาจะปล่อย เขาพูดถูกทุกอย่างเขาปล่อย แต่เขาไม่ได้ช่วยเราเลย พอถึงศาลก็ไปตามกระบวนการ แม่อาจจะมองด้วยความโง่เขลาแต่แม่มองตรงจุดนั้นจริงๆ”
“เราหวังพึ่งคสช.จะมาช่วยตรงนี้ เพราะลูกทำไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และช่วงนั้นที่ลูกทำมันเป็นกระแสการเมืองด้วย การเมืองตอนนั้นมันร้อนแรงมาก เราคิดว่าเขาคงปรับทัศนคติกับเรา และมองย้อนหลังได้เลยว่าไม่มีอะไรที่เขาไปทำที่เกี่ยวกับตรงนี้เลยนอกจากคดีที่มีมาเท่านั้น แต่พอเอาเข้าจริงมันไม่ใช่”
“ลูกถูกดำเนินคดี และทางเราเองก็ไม่แก้ตัวอะไรเลย ให้ทุกอย่างไปตามกระบวนการ ให้เขาเห็นว่าจะไม่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับใคร หวังที่สุดคือให้คดีจบแบบรอลงอาญา หรือไม่ก็คุมความประพฤติให้ไปรายงานตัวเป็นระยะ ปล่อยคนคนหนึ่งให้กลับสู่ความปกติ ได้เรียนต่อ ได้ทำงาน ดีกว่าเอาเขาไปติดคุก”
“ในวันพิพากษา ผู้พิพากษาคนที่หนึ่งไม่เท่าไร คนที่สองเขาเป็นผู้หญิง เขามีความรู้สึกเหมือนเป็นแม่ ดูเขาสงสารโอ๋ที่สุดเลย เขาไม่ได้พูดอะไรเยอะ เขามีแววตาสะท้อนความเป็นแม่ แต่เขาช่วยอะไรไม่ได้ ได้แต่สงสาร” แม่เล่าพร้อมน้ำตาคลอ
ความหวังของแม่ดูเหมือนจะผิดคาดไปเสียทุกอย่าง และโทษจำคุก 30 ปี ทำให้คนทั้งครอบครัวช็อค
“สิ่งที่ทำใจยากที่สุดก็คือ จริงอยู่ที่คนเป็นพ่อเป็นแม่จะลำเอียงว่าลูกตัวเองไม่ผิด พ่อมองว่าไม่ว่าใคร แม้แต่ลูกเราถ้าทำผิดหรือเป็นคนเลวควรได้รับโทษ แต่บังเอิญว่าโอ๋เป็นคนดีมาตลอด ดีมากๆ เขาเป็นเด็กที่มีความประพฤติดี การเรียนก็ดี ถ้าเป็นเหมือนลูกเพื่อนหลายๆ คนที่ถูกจับด้วยคดียาบ้าง หรือมีเรื่องทะเลาะวิวาท หรือฆ่าคนตาย อันนั้นเราทำใจได้ เพราะลูกผิดจริงๆ แต่บังเอิญลูกเรามันไม่ใช่ แล้วถูกตัดสิน 30 ปี มันรับไม่ได้ เขาเลวขนาดนั้นทำไมไม่ฆ่า เอาไปประหารชีวิตเลย ถ้าคนเรามันเลวขนาดต้องติดคุกถึง 30 ปี รับไม่ได้กับการตัดสินที่รุนแรงขนาดนี้” พ่อกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ

พ่อของโอ๋โพสต์เล่าเรื่องลูกชาย
ในด้านของอดีตพระใหม่หมาด เขาเองก็ถูกกดดันตั้งแต่ยังไม่ได้ฟังคำพิพากษาด้วยซ้ำ ระหว่างที่พ้นจากค่ายทหารและตำรวจรับตัวต่อไปฝากขังในคดี 112 ที่ศาลอุบลราชธานี เขาก็ได้ลิ้มรสความกดดันตั้งแต่ก้าวแรก
“เมื่อผมไปถึงศาลรอฟังคำส่งประกันตัว เจ้าหน้าที่ของศาลคนหนึ่งได้เรียกผมไปหาและพูดว่า “นี่น้องพี่มีอะไรจะแนะนำนะ” “อะไรครับพี่” “ถ้าน้องไม่รัก...ง่ายๆ เลยน้องก็ไปอยู่เขมรโน่น ไม่ต้องอยู่ในประเทศไทยหรอก” นี่เป็นคำแนะนำแรกที่ผมได้จากเจ้าหน้าที่ จากนั้นเขาก็พูดต่อว่า “น้องคิดว่าน้องจะได้ประกันตัวเหรอ พี่ว่าไม่หรอก รู้มั้ยคนในเรือนจำเค้ารักกันทั้งนั้น ถ้าเค้ารู้ว่าน้องมาคดีนี้น้องจะต้องโดนรุมตีแน่ๆ” พอเขาพูดเสร็จผมก็กลับไปนั่งรอฟังคำสั่งด้วยความกลัว ....เมื่อผู้พิพากษามาก็ดูเข้มเครียดแล้วพูดว่า “คดีของคุณเป็นคดีหมิ่นประมาท แต่คุณหมิ่นสิ่งที่ไม่ควรจะหมิ่น” แล้วศาลก็ไม่อนุญาตให้ผมประกันตัวจริงๆ อย่างที่เจ้าหน้าที่คนนั้นว่า” โอ๋ระบุ
“หลังจากที่ตัดสินคดีแล้ว จากนั้นสองสัปดาห์ผมถูกย้ายไปแดน 3 แดนนี้เป็นแดนที่คนอยู่เยอะมาก นอนหงายไม่ได้ ต้องนอนตะแคง เหยียดขาก็ไม่ได้ แถมยังมีมดแดงไฟอยู่ในห้องอีกต่างหาก ผมโดนกัดทุกคืนเลย อากาศก็ร้อนอบอ้าว ต้องนอนด้วยความทรมาน” โอ๋เล่า

จิตเภท ทางออกที่ไม่สวยงาม

ยิ่งไปกว่านั้น เขาถูกส่งตัวไปรักษาอาการจิตเภทเพราะอาการเครียดที่มีตั้งแต่ตอนโดนขังระหว่างพิจารณาคดี ช่วงนั้นตำรวจส่งเขาไปตรวจที่โรงพยาบาลศรีมหาโพธิ์ จิตแพทย์เริ่มต้นถามเขาว่า “รู้ตัวไหมที่ทำมันผิดกฎหมาย”
“ตอนนั้นผมกลัว และตอบคำถามมั่วไปหมด แพทย์ถามผมว่าโดนจับยังไง ผมตอบแพทย์ไปตามเอกสารตำรวจที่ผมเห็นว่า “เขาใช้สายลับมาจับผม” แพทย์หัวเราะ แล้วถามผมว่า “สายลับ CIA ใช่มั้ย”” โอ๋เล่าและว่าวันนั้นเขาได้ยามาชุดใหญ่แต่ก็ไม่เคยกินเลยสักเม็ด จนกระทั่งติดคุกจริงๆ เขาถูกส่งตัวไปรักษาอีก
“แพทย์ถามว่า สายลับ CIA ยังตามผมอีกมั้ย, หูแว่ว ภาพหลอนมั้ย, ท้อแท้ใจ อยากฆ่าตัวตายมั้ย ทุกคำถามผมตอบครับๆ อย่างเดียวเลยเผื่อว่ามีอาการทางจิตจะได้รอดจากคดี มันทำให้ที่เรือนจำผมทั้งกินและฉีดยา ตอนแรกก็ไม่ได้ผิดปกติอะไร แต่พอเริ่มกินยาและฉีดยา ผมเริ่มเดินตัวแข็งจนคนอื่นเรียกว่าโรโบคอป เวลานั่งอยู่เฉยๆ ก็อยากส่ายหัว ผมก็นั่งส่ายหัวไปเรื่อยๆ ตอนนอนก็เขย่าแขนตลอดเวลา ผมทำทุกอย่างช้าไปหมดโดยไม่รู้ตัวแต่ที่รู้เพราะคนอื่นบอก ผมกินยาและฉีดยาอยู่เกือบปี ตอนที่อยู่แดนสามมีคนมาสอบถามว่าตอนอยู่ข้างนอกเป็นไหม ผมบอกว่าเป็นหลังจากกินและฉีดยา เขาจึงแนะนำให้ลองเลิกกินยาดู ผมตัดสินใจเลิกกินยาแต่ก็ยังได้ฉีดยาเดือนละเข็มอีกประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้นอาการผิดปกติต่างๆ ของผมก็ค่อยๆ หายไปทีละอย่าง ทุกวันนี้ผมอยู่โดยไม่เครียด ไม่วิตกกังวลอะไร ผมได้แต่คิดว่าไม่น่าใช้วิถีทางนี้เลย เข็ดแล้ว” โอ๋ระบุ

ชีวิตในกรงของโอ๋ ชีวิตนอกกรงของครอบครัว

แม่ของโอ๋เล่าว่าในช่วงแรกๆ ที่โอ๋ถูกจำคุกและมีอาการไม่ค่อยดี ครอบครัวก็เรียกได้ว่า “พังทลาย” จนเวลาผ่านมาปีกว่าจึงสามารถตั้งหลักได้และสามารถเล่าเรื่องราวได้
“ถ้าใครสักคนมาอยู่ในจุดตรงนี้แล้วจะรู้เลยว่า ทุกอย่าง ค่าใช้จ่าย เวลา ความรู้สึก จนกระทั่งชีวิตกว่าจะรอดมาได้จนมานั่งพูดให้ฟังอยู่นี้เพราะมันผ่านมาแล้ว แต่ตอนนั้นมันแทบจะตายกันทั้งบ้าน วินาทีเดียวที่มันไม่เหลืออะไรแล้ว แม้แต่ทุกวันนี้ ถามว่าน้ำตามันมีไหม มันก็ยังมี แต่ก็กลืนเข้าไป” แม่กล่าว
แม่และโดยเฉพาะพ่อเริ่มติดตามการเมืองจากที่เห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว เริ่มเล่นเฟซบุ๊กเพื่อศึกษาว่าโลกในนั้นเป็นอย่างไร ทำไมจึงนำพาลูกไปสู่โทษทัณฑ์ขนาดนั้นได้ จนกระทั่งพวกเขาเริ่มเข้าใจและมั่นใจจึงกล้าที่จะเปิดเผยตัวเอง กล้าเผชิญสิ่งที่เกิดขึ้น กล้าบอกเพื่อนที่ทำงานว่าลูกชายโดนคดีอะไร กล้าสื่อสารกับโลกภายนอก
ความหวังของแม่ยังคงอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายคือการขอพระราชทานอภัยโทษ
“แม่ไม่เคยคิดว่าเขาจะติดถึงสิบปีเลย เข้าสู่กระบวนการแล้วเราคงจะสามารถเขียนขอความเมตตาได้ และแม่หวังพลังบุญให้กับลูก” เธอกล่าวทั้งน้ำตา
“แม่หวังพลังบุญ แต่พ่อหวังความถูกต้องของกฎหมาย หวังว่าเราจะมีประชาธิปไตยเต็มรูป ซึ่งอานิสสงส์ก็คือแม้แต่มาตรา 112 ก็ควรได้รับการแก้ไขด้วยจากการปฏิรูป จากการเมืองที่มันเป็นประชาธิปไตย” พ่อกล่าว
“แต่ก่อนพ่อไม่สนใจการเมืองเลย แต่พอลูกถูกจับ มีเพื่อนคนหนึ่งให้กำลังใจว่า โชคร้ายที่ลูกถูกจับคดีการเมือง แต่ในวิกฤตนั้นทำให้พ่อตาสว่างเกี่ยวกับเรื่องการเมืองและคดีนี้ด้วย ทุกวันนี้พ่อยังยืนหยัดว่ามาตรา 112 ควรได้รับการแก้ไขบทลงโทษ การละเมิดสิทธินั้นมันมีจริง การคุ้มครองผู้นำหรือประมุขของประเทศที่ไหนก็มี แต่บทลงโทษมันรุนแรงเกินไป คิดดูตัดสิน 30 ปีฆ่าคนตายยังไม่หนักขนาดนี้ จะกี่กรรมก็แล้วแต่ก็ควรรวมเป็นกรรมเดียว ไม่ได้เข้าข้างว่าลูกตัวเองถูก ลูกก็ทำไม่ถูกที่ไปทำแบบนั้นแต่บทลงโทษในคดีนี้ก็ต้องได้รับการแก้ไขเหมือนกัน ก็หวังแค่นั้น ควรได้รับโทษที่เบากว่านี้ อย่างน้อยที่สุดก็ควรเป็นสากล” พ่อกล่าว
สำหรับโอ๋ เขาได้ย้ายไปช่วยดูแลคนแก่อยู่แดนคนชรา ไปช่วยงานที่เรือนพยาบาล เขาพยายามใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นด้วยการปล่อยวาง พ่อของเขาบอกว่าโอ๋รักกีตาร์มากๆ และไม่เคยห่างจากมันเลย
“ผมคงไม่ได้เล่นกีตาร์อีกนาน ตอนนี้นิ้วก็แข็งไปหมดแล้ว......แต่ไม่เป็นไร เจ้าหน้าที่บอกจะให้ผมไปช่วยงานคอมพิวเตอร์ กรอกข้อมูลนั่นนี่ แค่นี้ผมก็มีความสุขแล้ว” โอ๋กล่าว

แถลงการณ์กรรมการสิทธิฯ ชุดใหม่ กรณี 'ราชภักดิ์' ถึงรัฐบาล-ผู้ชุมนุม


8 ธ.ค. 2558 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์กรณีมีการควบคุมตัวกลุ่มทำกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ วานนี้ โดยเรียกร้องให้ 1.รัฐบาลควรกำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสถานการณ์ โดยยึดหลักรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ตลอดจนกติการะหว่างประเทศ และหลักขันติธรรม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย บนพื้นฐานการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน และ 2.การใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่มบุคคลสมควรแสดงออกด้วยความรอบคอบและสุจริตใจ โดยต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ
นอกจากนี้  กสม. ระบุด้วยว่า จะเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง อีกทั้งขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายได้ใช้สติ ความอดทนอดกลั้น ไม่ขยายผลไปสู่ความรุนแรง และการสร้างความเกลียดชัง ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อนำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ นำความสงบและสันติสุขคืนสู่ประเทศไทยโดยเร็ว

สำหรับคณะกรรมการสิทธิฯ ชุดใหม่ประกอบด้วย วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง, ชาติชาย สุทธิกลม, เตือนใจ ดีเทศน์, ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์, สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย, และ อังคณา นีละไพจิตร
00000
แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
เรื่อง กรณีอุทยานราชภักดิ์

สืบเนื่องมาจากกรณีที่มีการจัดกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง เพื่อเดินทางไปตรวจสอบการทุจริตในการสร้างอุทยานราชภักดิ์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558 จากนั้นถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐควบคุมตัวไป เพื่อทำความเข้าใจ โดยทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกันดังปรากฏเป็นข่าวแล้ว นั้น
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดด้วยความห่วงใย โดยยึดหลักความเป็นกลาง อิสระ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของทุกฝ่าย โดยไม่เลือกปฏิบัติ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดแนวทางสันติวิธีในการแก้ปัญหา เคารพสิทธิซึ่งกันและกันมาโดยตลอด จึงขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนคำนึงถึงและปฏิบัติต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้
1. รัฐบาลควรกำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสถานการณ์ โดยยึดหลักรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ตลอดจนกติการะหว่างประเทศ และหลักขันติธรรม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย บนพื้นฐานการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน
2. การใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่มบุคคลสมควรแสดงออกด้วยความรอบคอบและสุจริตใจ โดยต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ กสม. จะเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง อีกทั้งขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายได้ใช้สติ ความอดทนอดกลั้น ไม่ขยายผลไปสู่ความรุนแรง และการสร้างความเกลียดชัง ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อนำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ นำความสงบและสันติสุขคืนสู่ประเทศไทยโดยเร็ว

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
8 ธันวาคม 2558