วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

'วัฒนา' เตือน 'วิษณุ' คดีจำนำข้าว ไม่เข้าองค์ประกอบใช้คำสั่งทางปกครอง


เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา วัฒนา เมืองสุข อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เขียนจดหมายเปิดผนึก ถึง วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผล 6 ข้อ ที่ไม่ควรใช้คำสั่งทางปกครองเรียกให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย คดีโครงการรับจำนำข้าว
โดย วัฒนา ระบุว่า พ.ร.บ.ความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539  ต้องประกอบด้วยคู่กรณีสามฝ่ายคือ  (1) เจ้าหน้าที่รัฐทำความเสียหายให้บุคคลภายนอก (2) หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (3) รัฐใช้คำสั่งทางปกครองให้เจ้าหน้าที่รัฐชดใช้เงินคืน แต่กรณียิ่งลักษณ์ไม่มีบุคคลภายนอก เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องรัฐบาลประยุทธ์ยึดอำนาจมาเป็นคู่กรณี ที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองและมีส่วนได้เสียตามกฎหมาย
“กระบวนการในเรื่องนี้มีความผิดปกติและไม่ชอบธรรมจึงต้องออกคำสั่งมาคุ้มครองเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ทางแก้ในเรื่องนี้มีอยู่แล้วคือการให้เจ้าหน้าที่รวบรวมหลักฐานส่งอัยการสูงสุดให้ฟ้องเป็นคดีแพ่ง” วัฒนา ระบุ
จดหมายเปิดผนึกถึงอาจารย์วิษณุ
ผมนั่งฟังอาจารย์แถลงถึงเหตุผลในการที่รัฐบาลจะใช้วิธีออกคำสั่งทางปกครองเรียกให้นายกยิ่งลักษณ์รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามพระราชบัญญัติความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 โดยอาจารย์ให้เหตุผลว่าเป็นขั้นตอนปกติตามกฎหมายที่บังคับใช้มาแล้วกว่า 19 ปี ดำเนินการมากว่า 5,000 คดี ที่สำคัญคือรัฐไม่ใช่คู่กรณี หรือมีอคติ หรือมีส่วนได้เสีย เงินค่าสินไหมคดีนี้ไม่ได้เข้ากระเป๋าอาจารย์หรือพลเอกประยุทธ์ หากใช้วิธีฟ้องคดีแพ่งธรรมดารัฐบาลจะเสียเปรียบรูปคดี นั้น ผมขอใช้ความรู้ที่อาจารย์ได้อบรมสั่งสอนผมมาตั้งแต่เป็นนิสิตจนแม้ทุกวันนี้เมื่อติดขัดปัญหาข้อกฎหมายใดๆ ก็ยังได้รับความเมตตาจากอาจารย์ให้ความรู้มาตลอด จึงขอเห็นแย้งด้วยความเคารพ ดังนี้
1. เจตนารมณ์หรือเหตุผลในการออกพระราชบัญญัติความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ปรากฏในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติคือต้องการคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลภายนอกในมูลละเมิด ดังปรากฏความตอนหนึ่งในหมายเหตุว่า "เมื่อการที่ทำไปทำให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเพียงใดก็จะมีการฟ้องไล่เบี้ยเอาจากเจ้าหน้าที่เต็มจำนวนนั้น"
2. จากเหตุผลดังกล่าวจึงต้องประกอบด้วยคู่กรณีสามฝ่ายคือ (1) เจ้าหน้าที่ของรัฐไปทำความเสียหายให้กับบุคคลภายนอก (2) หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอก และ (3) รัฐใช้คำสั่งทางปกครองเรียกให้เจ้าหน้าที่ของรัฐชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนหากปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้กระทำไปโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง (ตามมาตรา 8) แต่กรณีของนายกยิ่งลักษณ์ไม่มีบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ที่ยึดอำนาจมาจากรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์โดยมีข้อกล่าวหาว่าโครงการรับจำนำข้าวทำให้ประเทศชาติเสียหาย แบบนี้อาจารย์ยังบอกว่าไม่ใช่คู่กรณี ไม่มีอคติ หรือไม่มีส่วนได้เสียอีกหรือครับ การมีส่วนได้เสียไม่ได้หมายความว่าเงินค่าสินไหมทดแทนต้องเข้ากระเป๋าใคร แค่การที่พลเอกประยุทธ์ยึดอำนาจจากรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ก็ถือเป็นคู่กรณีที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองและมีส่วนได้เสียแล้วตามกฎหมาย
3. ส่วนที่อาจารย์บอกว่ากฎหมายฉบับนี้ใช้มากว่า 19 ปี ดำเนินการมากว่า 5,000 คดี พร้อมกับยกตัวอย่างคดีสำคัญเช่น คดีรถและเรือดับเพลิง คดีจัดหาเรือขุดเอลลิคอท คดีคลองด่าน หรือคดีที่ดินสถานีขนส่งหมอชิต นั้น จำนวน 5,000 กว่าคดีรวมถึงคดีที่ยกตัวอย่างมาล้วนเข้าหลักเกณฑ์ตามที่กล่าวในข้อ 2. ทั้งสิ้นคือมีคู่กรณี 3 ฝ่าย ดังเช่น กรณีรถและเรือดับเพลิง เป็นกรณีที่รัฐได้จ่ายเงินค่าสินค้าให้กับบุคคลภายนอกแล้วจึงเอาจำนวนที่รัฐต้องจ่ายไปนั้นมาเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องรับผิดชดใช้คืน ส่วนกรณีของนายกยิ่งลักษณ์ไม่มีบุคคลภายนอก แต่ถูกดำเนินคดีจากการกำกับนโยบายในโครงการช่วยเหลือชาวนาที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและแถลงนโยบายดังกล่าวต่อรัฐสภาแล้ว
4. หลักการสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของ "หลักนิติธรรม" คือ ความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย (fairness in the application of the law) จากผู้ที่ไม่มีส่วนได้เสียอันเป็นหลักการสำคัญที่กฎหมายไทยให้การยอมรับมาช้านาน แม้ในการพิจารณาคดีผู้พิพากษาอาจถูกคัดค้านจากคู่ความหรือมีสิทธิขอถอนตัวจากการพิจารณาคดีได้หากมีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องอยู่ในคดีนั้น ตามมาตรา 11 (1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ซึ่งเป็นปฏิปักษ์และเป็นคู่กรณีที่มีส่วนได้เสียทางการเมืองจะมาใช้คำสั่งทางปกครองจึงไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม
5. อาจารย์ก็บอกเองว่าเรื่องนี้รัฐมีทางดำเนินการได้สองทาง คือการฟ้องคดีแพ่งต่อศาลยุติธรรมซึ่งกระทำได้และเคยทำมาแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2345/2548 ซึ่งผมเห็นว่าหากรัฐเลือกดำเนินการในทางนี้จะไม่ขัดกับหลักการที่เคยทำมา เพราะการใช้คำสั่งทางปกครองที่ผ่านมามีบุคคลภายนอกมาเกี่ยวข้องทั้งสิ้นตามที่กล่าวข้างต้น ส่วนกรณีนายกยิ่งลักษณ์มีความแตกต่างกับคดีที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง การให้ศาลยุติธรรมที่เป็นคนกลางไม่มีส่วนได้เสียเป็นผู้พิจารณาความเสียหายจะมีความชอบธรรมกว่าการใช้บุคคลในรัฐบาลที่ไปยึดอำนาจจากรัฐบาลก่อนมาเป็นผู้กำหนดความเสียหายและออกคำสั่งทางปกครองเสียเอง การฟ้องคดีแพ่งไม่ทำให้ส่วนรวมเสียประโยชน์ รัฐไม่ต้องตกเป็นจำเลยและไม่ทำให้ถูกถอดถอนรวมทั้งไม่อาจถูกผู้ที่เคยถูกดำเนินคดีด้วยคำสั่งทางปกครอง 5,000 คดี มาร้องขอความเป็นธรรมให้ไปฟ้องเป็นคดีแพ่งธรรมดาได้เนื่องจากคดีเหล่านั้นดำเนินการไปแล้วหรือสิ้นสุดไปแล้ว อีกทั้งเป็นดุลพินิจของรัฐที่จะเลือกดำเนินการทางใดทางหนึ่งได้ดังที่เคยปฏิบัติมาแล้วตามคำพิพากษาฎีกาข้างต้น ยกเว้นจะเป็นไปตามที่อาจารย์บอกคือรัฐบาลกลัวเสียเปรียบรูปคดีเลยเลือกวิธีเอาเปรียบนายกยิ่งลักษณ์แทน
6. เหตุผลที่นายกยิ่งลักษณ์และพวกผมต่อสู้ในเรื่องนี้เพื่อต้องการผดุงหลักนิติธรรมที่เป็นหลักการสำคัญในการปกครองประเทศ การที่พลเอกประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกคำสั่งที่ 39/2558 เพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่กระทำตามคำสั่งในโครงการรับจำนำข้าว ยังไม่ทำให้อาจารย์เห็นหรือครับว่ากระบวนการในเรื่องนี้มีความผิดปกติและไม่ชอบธรรมจึงต้องออกคำสั่งมาคุ้มครองเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ทางแก้ในเรื่องนี้มีอยู่แล้วคือการให้เจ้าหน้าที่รวบรวมหลักฐานส่งอัยการสูงสุดให้ฟ้องเป็นคดีแพ่งในมูลละเมิด นอกจากจะลดข้อครหาในทุกเรื่องแล้วความจำเป็นที่ต้องพึ่งคำสั่งที่ 39/2558 ก็ไม่มีอีกต่อไป
ผมดีใจที่ได้ยินอาจารย์กล่าวว่าในชั้นนี้รัฐบาลจะเลือกการออกคำสั่งทางปกครองเว้นแต่จะมีเหตุผลที่ดีกว่า ผมจึงกราบเรียนเหตุผลข้างต้นมาประกอบกับหลักการที่เคยถูกสอนมาว่า "ในสังคมที่ปกครองด้วยกฎหมายเราเรียกสังคมนั้นว่านิติรัฐหรือ legal state แต่กฎหมายจะต้องอยู่บนหลักนิติธรรม (rule of law) จึงจะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายรวมถึงฝ่ายที่ถูกบังคับตามกฎหมายนั้นด้วย หาไม่แล้วการบังคับตามกฎหมายดังกล่าวจะไม่สร้างการยอมรับในกระบวนยุติธรรม เพราะแม้จะเป็นไปตามกฎหมาย (legality) แต่ยังขาดหัวใจสำคัญคือ "ความชอบธรรม" (legitimacy) อันจะกลายเป็นสังคมที่บังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย (rule by law) แต่ปราศจากหลักนิติธรรม (rule of law)" ขอให้อาจารย์พิจารณาด้วยความรอบคอบอีกครั้งครับ
วัฒนา เมืองสุข

'ยูเนสโก' ยก 'ป๋วย อึ๊งภากรณ์' บุคคลสำคัญโลก


วานนี้ (18 พ.ย.58) เมื่อเวลา 23.23 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘สู่ 100 ปีชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ โพสต์ภาพเอกสารพร้อมข้อความบรรยายว่า “UNESCO เห็นชอบอย่างเป็นทางการให้ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นบุคคลสำคัญของโลกในวาระ 100 ปี ชาตกาล ครับ”
นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า มูลนิธิป๋วย อึ๊งภากรณ์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เสนอเรื่องไปยังรัฐบาลไทยตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อให้เสนอชื่ออาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์เป็นบุคคลสำคัญของโลก บัดนี้ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)เรียบร้อยแล้ว
"ในช่วงเวลา 16.00 น. ของเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2558 ที่ผ่านมา ที่กรุงปารีส ที่ประชุมใหญ่ยูเนสโกได้ให้ความเห็นชอบตามที่อนุกรรมการเสนอให้ยกย่องอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก ตามกติกานั้นเมื่อมีมติแล้วรัฐบาลเจ้าภาพจะต้องจัดงานเฉลิมฉลอง ซึ่ง มธ. ได้เตรียมการไว้แล้ว" นายสมคิด ระบุ
สำนักข่าวอิศรา รายงานด้วย ว่า การเสนอชื่อ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์เป็นบุคคลสำคัญของโลกดังกล่าว ระบุว่าอยู่ในช่วงครบรอบ 100 ปี โดยได้รับการสนับสนุนจาก ฟิลิปปินส์ และ เวียดนาม
สำหรับ ป๋วย เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย เคยเป็นผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย สมาชิกขบวนการเสรีไทย และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับ รางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ในปี พ.ศ. 2508 และเป็นเจ้าของข้อเขียน "คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" ที่พูดถึงรัฐสวัสดิการในไทย (อ่านประวัติป๋วย เพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ puey.in.th )

คสช.ส่ง 10 ข้อเสนอร่างรธน.ถึงมีชัย ระบุใช้กำลังทหารโดยสุจริตเพื่อความมั่นคงไม่ต้องรับโทษ


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ คสช./491 ลงวันที่ 11 พ.ย. เรื่อง ขอความร่วมมือแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ถึง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีเนื้อหาดังนี้
            1. ตามที่คณะกรธ.ได้มีหนังสือถึงหัวหน้าคสช. เพื่อขอรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหลักการที่สมควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อที่คณะกรธ. จะได้นำไปประกอบการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป
            2. คสช.พิจารณาแล้วเห็นดังนี้
            2.1 ต้องมีบทบัญญัติที่สำคัญอย่างครบถ้วน มีข้อความชัดเจนแน่นอน เพื่อจะให้เกิดความเข้าใจในทุกเนื้อหาสาระได้ง่าย ไม่ใช้ถ้อยคำที่กำกวม ซึ่งล่อแหลมต่อการตีความผิดๆ จะต้องใช้ถ้อยคำที่เลือกสรรมาแล้วว่ามีความหมายที่แน่นอนและชัดเจนที่สุด คำหรือข้อความที่มีความหมายหลากหลายแง่มุม หรือกำกวม ซึ่งอาจทำให้เข้าใจไปได้หลายกรณีไม่ควรนำมาใช้
            2.2 รัฐธรรมนูญไม่ควรยาวเกินไป ควรบัญญัติเฉพาะหลักการจัดรูปแบบการปกครองของรัฐที่สำคัญ และจำเป็นเท่านั้น หากยาวมีรายละเอียดมาก จะทำให้การตีความยุ่งยากมากขึ้น และจะไม่ได้รับความเคารพเท่าที่ควร สำหรับรายละเอียดปลีกย่อยของการปกครองประเทศ หรือกฎหมายย่อยในส่วนอื่นๆ นั้น ควรเป็นหน้าที่ขององค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ จะออกกฎหมายที่มิใช่เรื่องที่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ จะต้องไม่สั้นเกินไปจนขาดสาระสำคัญ
            2.3 ควรมีกำหนดวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมายขึ้นไว้ เพราะรัฐธรรมนูญที่ดีต้องมีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับกาลสมัย ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป การที่มีวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมายนั้น เพื่อป้องกันการล้มล้าง หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้กำลัง โดยเฉพาะการปฏิวัติ และรัฐประหาร
            2.4 บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ควรจะต้องครอบคลุมในหลักการที่สำคัญของกระบวนการการเมือง การปกครอง เช่น บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามหลักนิติรัฐ บัญญัติถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่เหมาะสม สอดคล้องกับหลักการปกครองของระบอบประชาธิปไตย และวัฒนธรรม ประเพณี ความรู้ ความสามารถ ทางการเมืองของประชาชนเป็นสำคัญ บัญญัติถึงสถาบันทางการเมือง ที่มาของสถาบันเหล่านั้น อำนาจหน้าที่ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมือง กระบวนการสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของสถาบันการเมือง รวมถึงกระบวนการใช้อำนาจตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการเมืองของสถาบันต่างๆ อย่างรัดกุม ป้องกันมิให้มีการบิดเบือนหลักการและกฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้เกิดวิกฤตทางการเมือง และอาจเป็นหนทางนำไปสู่การแก้วิกฤตการเมืองด้วยวิธีการนอกระบบ
            2.5 การมีส่วนร่วมในทางการเมืองของประชาชน จะต้องสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ในประเทศอย่างแท้จริง ในฐานะผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครองในการที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ใช้อำนาจปกครองโดยไม่ถูกต้องชอบธรรมหรือรัฐบาลที่ปฏิเสธหรือ เป็นปฏิปักษ์ต่อมวลมหาประชาชน โดยไม่ทำให้ประชาชนมีความสำคัญแต่เฉพาะก่อน หรือขณะเลือกตั้งเท่านั้น ภายหลังการเลือกตั้งไปแล้วประชาชนยังคงต้องมีบทบาทที่สำคัญกว่านักการเมืองผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา โดยรัฐมีหน้าที่สนับสนุนในการสร้างและพัฒนาพลเมืองให้มีความรู้ และความรับผิดชอบทางการเมือง
            2.6 เนื่องจากปัญหาวิกฤต หรือข้อขัดแย้งทางการเมืองย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ และรัฐธรรมนูญอาจเกิดภาวะทางตัน ดังนั้น ควรบัญญัติช่องทางเผื่อกาลในอนาคตในการผ่าทางตัน เพื่อรองรับสถานการณ์ไว้ด้วย โดยเฉพาะการเกิดปัญหาสุญญากาศทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง
            2.7 แนวนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐยังคงต้องบัญญัติให้รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณภพแห่งเขตอำนาจรัฐ และต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จำเป็น และเพียงพอ เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อการพัฒนาประเทศ การใช้กำลังทหารโดยสุจริตเพื่อความมั่นคงของรัฐจากภัยที่มีมาจากภายในและนอกราชอาณาจักร ไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง
            2.8 ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะทหาร จะต้องมีสิทธิเสรีภาพในทุกๆ ด้าน เช่นเดียวกับประชาชนโดยทั่วไปไม่ควรถูกจำกัด หรือริดรอนสิทธิเสรีภาพแม้กระทั่งสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ด้วยเหตุแห่งอาชีพในการเป็นข้าราชการทหาร
            2.9 ควรกำหนดให้การดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีมีวาระ 4 ปี และจะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ เพื่อป้องกันการผูกขาดหรือ เผด็จการทางการเมือง
            2.10 ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น จะต้องได้รับการต่อต้านและขจัดไปจากชาติ โดยผู้กระทำความผิดจะต้องถูกลงโทษอย่างหนักเฉียบขาดและรุนแรง เป็นค่านิยมที่จะต้องถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนและข้าราชการเกิดความสำนึกที่ดีต่อประเทศชาติ

‘อรรถจักร์’ เผยยังไม่ได้รับหมายเรียก ‘ขัดคำสั่ง คสช.’ ยันมหาวิทยาลัยต้องมีเสรีภาพ


19 พ.ย.2558 สืบเนื่องจากกรณีเพจมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ลงหมายเรียกผู้ต้องหา ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ กับพวก ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ลงวันที่ 11 พ.ย.2558 โดยนัดหมายให้เข้ารายงานตัวที่ สภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 24 พ.ย.นี้ เวลา 9.00 น.
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่าหมายดังกล่าวถูกส่งไปยังนายคงกฤช ไตรยวงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ตนเองยังไม่ได้รับหมายเรียกแต่อย่างใด  
อรรถจักร์ กล่าวด้วยว่า หมายดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการจัดแถลงข่าวเรื่องมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร  (อ่านแถลงกาณ์ด้านล่าง) ร่วมกันจัดโดยคณาจารย์จากสถาบันต่างๆ หลังจากนั้นนายทหารพระธรรมนูญได้เข้าแจ้งความต่อผู้ร่วมกิจกรรม อย่างไรก็ตาม คงกฤช อาจารย์ผู้ได้รับหมายเรียกฉบับนี้ไม่ได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมนี้แต่อย่างใด ตนเองจึงได้โทรไปแจ้งตำรวจเจ้าของเรื่องแล้วเพื่อให้ถอนชื่อของคงกฤชออก และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังมีการระบุด้วยว่า หมายเรียกผู้ต้องหาครั้งนี้จะส่งถึงอาจารย์ทั้งหมด 8 ราย เบื้องต้นทราบเพียงว่ามีตนเอง และสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มช. อีกคนหนึ่ง ส่วนที่เหลือยังไม่ทราบว่ามีใครบ้าง
“คงจะรออีกสักพัก หากได้หมายเรียกก็คงไปตามหมายเรียก และอาจมีการแถลงข่าวหน้าสถานีตำรวจอีกครั้งหนึ่ง” อรรถจักร์กล่าว
ด้านคงกฤช อาจารย์จากศิลปากร ได้โพสต์ชี้แจงในเฟซบุ๊กเรื่องที่เขาได้รับหมายเรียกว่า “อาจารย์อรรถจักร์โทรมาแจ้งว่าผมไม่ต้องไปให้ปากคำที่เชียงใหม่แล้ว อาจารย์ได้ไปเคลียร์ให้แล้วว่าผมไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมวันที่ 31 ต.ค. อาจารย์ยังขอโทษที่ทำให้ผมเดือดร้อน ผมตอบว่าอาจารย์ไม่ได้ทำผิด ที่ผิดคือทหารและตำรวจที่ทำแย่และยังชุ่ยอีกด้วย ผมขอบคุณอาจารย์และให้กำลังใจให้อาจารย์ อาจารย์อรรถจักร์มีความกล้าหาญทางจริยธรรมมากๆ ผมนับถือสปิริต อ.จริงๆ
คิดว่าถ้ามีโอกาสจะไปร่วมประชุมเรื่องชุมชนที่จะจัดสุดสัปดาห์นี้ที่ กทม. ตามที่อาจารย์ชวน”
เมื่อถามอรรถจักร์ว่ามีความกังวลใจหรือหนักใจต่อเรื่องที่เกิดขึ้นหรือไม่ เขาตอบว่า “ไม่หนักใจอะไร เรามีหน้าที่ที่จะต้องพูด ต้องแสดงความคิดเห็นต่อสังคมก็ต้องทำกันต่อไป จริงๆ ก็เคลียร์บทบาทนี้กับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของเชียงใหม่แล้วว่าจะไม่ให้ทำอะไรเลยเป็นไปไม่ได้ เราเป็นนักวิชาการก็มีหน้าที่ที่จะต้องพูดสิ่งที่เราคิดว่าควรต้องพูด”
“จริงๆ ผมก็ดีเฟนด์แทนมหาวิทยาลัยทั้งหมดทุกแห่งว่าไม่ใช่ค่ายทหาร ไม่ใช่ว่าจะสั่งซ้ายหันขวาหันได้ ไม่เช่นนั้นก็อาจต้องเปลี่ยนชื่อเป็น ค่ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” อรรถจักร์กล่าว
เมื่อถามว่าคาดว่าคดีนี้มีแนวโน้มอย่างไร ต้องเตรียมการประกันตัวหรือไม่ เขาตอบว่า “ไม่รู้ ถ้าจะจับเราข้อหานี้ จะต้องประกันตัวก็ประกัน จะจับติดคุกก็ติดคุก เพราะไม่รู้จะทำยังไง ถ้าจะเอาเรื่องกับเรื่องนี้ก็คงต้องสู้กันไป ศาลทหารก็ศาลทหาร”
เมื่อถามถึงการติดตามและพูดคุยของทหารในช่วงที่ผ่านมา อรรถจักร์กล่าวว่า ในช่วงหลังรัฐประหารและหลังการเขียนจดหมายถึงคณะรัฐประหารแล้ว มีตำรวจทหารมาที่บ้าน แต่เผอิญเขาได้รับทุนไปญี่ปุ่นก่อนแล้ว หลังกลับมาทหารชั้นผู้ใหญ่จากมณฑลทหารบกที่ 33 ก็นัดคุยที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ 2-3 ครั้ง โดยอรรจักรยืนยันว่าหากทหารต้องการพูดคุยก็ต้องมาที่มหาวิทยาลัยและเขาจะไม่ไปที่ค่ายทหาร
“คุยกันดี เขาขอให้เราไม่เคลื่อนไหว เราบอกไม่ได้ เราในฐานะนักวิชาการมีอะไรก็ต้องแสดงความคิดเห็น นายทหารชั้นผู้ใหญ่ก็ดูเข้าใจดี ทั้งคนเก่าคนใหม่ นายทหารฝ่ายข่าวกรองก็เข้าใจดีว่าต่างคนต่างทำหน้าที่ กรณีนี้ผมจึงงงว่าทำไมถึงเกิด จริงๆ ข่าวก็ไม่ดัง แต่ถ้าคุณออกหมายเรียกแบบนี้มันจะทำให้เรื่องนี้ยิ่งกลายเป็นประเด็น” อรรจักรกล่าว
ก่อนหน้าที่จะมีการแถลงข่าวของคณาจารย์กลุ่มนี้ ในวันที่ 27 ต.ค. พล.อ.ประยุทธร์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้กล่าวว่าจะสั่งการให้กระทรวงศึกษาไปทบทวนการเรียนการสอนในสถานศึกษาไม่ให้สอนให้คนขัดแย้ง และต่อต้านคสช. จากนั้นในวันที่ 31 ต.ค. คณาจารย์หลายสถาบันนำโดยอรรถจักร์ได้จัดแถลงข่าวที่เชียงใหม่ ระบุว่า หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการต่อต้านรัฐบาล ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวมนั้น ขอบอกว่า "เสรีภาพ" เป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความงอกงามในทางความรู้ การแสดงความเห็นจากมุมมองหรือวิธีคิดที่แตกต่างบนพื้นฐานของการใช้เหตุผลและข้อเท็จจริงจะนำไปสู่ความเข้าใจใหม่ในเรื่องต่างๆ ซึ่งทำให้มนุษย์และสังคมมีความรู้และสติปัญญามากขึ้น
 

แถลงการณ์เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย


เรื่อง เสรีภาพทางปัญญาของระบบการศึกษา
จากการที่ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวมนั้น ในฐานะคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย ขอแสดงปฏิกิริยาต่อคำวิจารณ์ดังกล่าว ดังต่อไปนี้
ประการแรก “เสรีภาพ” เป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความงอกงามในทางความรู้ การแสดงความเห็นจากมุมมองหรือวิธีคิดที่แตกต่างบนพื้นฐานของการใช้เหตุผลและข้อเท็จจริง จะนำไปสู่ความเข้าใจใหม่ในเรื่องต่างๆ ซึ่งทำให้มนุษย์และสังคมมีความรู้และสติปัญญามากขึ้น สามารถจัดการปัญหาและเผชิญหน้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การจัดการเรียนการสอนของคณาจารย์จำนวนมากในมหาวิทยาลัยจึงไม่ได้เป็นการสอนให้ท่องจำและยึดมั่นในวิธีคิดและอุดมการณ์แบบใดแบบหนึ่งโดยปราศจากการโต้แย้ง เพราะบทเรียนจากประวัติศาสตร์ทั้งในสังคมไทยและสังคมอื่นๆ ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าการปลูกฝังอุดมการณ์หรือ “ความเชื่อ” หนึ่งๆ เพื่อครอบงำสังคมหมายถึงการทำให้คนในสังคมยอมรับโครงสร้างอำนาจแบบใดแบบหนึ่งที่คนบางกลุ่มได้ประโยชน์ และอาจส่งผลให้มีการใช้ความรุนแรงหรือแม้กระทั่งการเข่นฆ่าผู้คนร่วมสังคมที่ปฏิเสธโครงสร้างอำนาจดังกล่าว ดังนั้น คณาจารย์จำนวนมากจึงเห็นว่าการทำให้เกิดทัศนะวิพากษ์หรือมุมมองที่แตกต่างเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในสังคม เพื่อให้ผู้คนในสังคมสามารถคิดได้เอง และมีความเคารพตลอดจนความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจในผู้คนที่มีมุมมองแตกต่างจากตนเองอย่างแท้จริง 
ประการที่สอง ในสังคมไทยยุคโลกาภิวัตน์ที่ชีวิตและความคิดของผู้คนมีความแตกต่างหลากหลาย การใช้อำนาจบังคับให้บุคคลต้องปฏิบัติไปในรูปแบบเดียวกันไม่ว่าจะโดยอำนาจจากปากกระบอกปืนหรืออำนาจกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม อาจจะทำให้เกิดความสงบราบคาบขึ้นได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ไม่สามารถนำพาสังคมไทยไปสู่ภาวะแห่งสันติสุขได้อย่างแท้จริง การสร้างความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องต่างๆ รวมทั้งความชอบธรรมในการใช้อำนาจจำเป็นต้องมีรากฐานอยู่บนการถกเถียงกันด้วยความรู้ เหตุผล และข้อเท็จจริง ในบรรยากาศของความเสมอภาคและเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย 
พวกเราในฐานะคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาหลายสถาบัน มีความเห็นร่วมกันว่าการที่จะนำพาสังคมไทยให้พ้นจากความขัดแย้งเพื่อไปสู่สังคมที่มีสันติภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรมในระยะยาวได้นั้น หลักการพื้นฐานคือต้องสร้างสังคมที่สามารถยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง มีกระบวนการในการจัดการกับปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ ที่เป็นธรรมและโปร่งใส มีระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เป็นกลางและตรวจสอบได้ ซึ่งสังคมในลักษณะดังกล่าวก็คือสังคมที่ปกครองในรูปแบบเสรีประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการสร้างความเป็นธรรมและค้ำประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาทุกระดับย่อมมีหน้าที่โดยตรงในการสร้างสังคมแบบประชาธิปไตยดังกล่าวนี้ มิใช่ทำให้ยอมรับการข่มขู่ด้วยอำนาจซึ่งมีแต่จะนำพาสังคมไทยให้จมดิ่งลงไปสู่ความมืดมนทางปัญญาและไม่อาจปรับตัวได้ในโลกปัจจุบันและอนาคต

ด้วยความรักและปรารถนาดีต่อสังคมไทย
เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย

ผู้ตรวจการแผ่นดินระบุปมอุทยานราชภักดิ์ หากไม่มีผู้ร้องก็ไม่สามารถดำเนินการได้


18 พ.ย. 2558 นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงการตรวจสอบทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ว่า หากมีการยื่นเรื่องมายังผู้ตรวจการแผ่นดินก็สามารถเข้าไปตรวจสอบเกี่ยวกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐและจริยธรรมในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการดังกล่าวว่าประพฤติมิชอบหรือไม่ แต่หากไม่มีผู้ร้อง ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ หรือหากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาแล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินจะไม่เข้าไปตรวจสอบซ้ำ เพราะถือเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของ ป.ป.ช. และเป็นการทำงานซ้ำซ้อน แต่เบื้องต้นเรื่องดังกล่าวถือว่าอยู่ในขอบเขตและอำนาจที่ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถจะพิจารณาได้ อย่างไรก็ตาม หากตรวจสอบพบว่ามีปัญหา จะทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชาให้รับทราบพิจารณาความผิด
เชื่อ กก.ตรวจสอบฯ ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. หากพบ จนท.รัฐเกี่ยวข้องทุจริต
วันเดียวกัน นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการตรวจสอบโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ว่า ขณะนี้ต้องรอผลการตรวจสอบจากคณะกรรมการตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ของกองทัพบกก่อน ขณะที่ ป.ป.ช.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ร่วมแสวงหาข้อมูลควบคู่ เพื่อประกอบการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ซึ่ง ป.ป.ช.อาจพบข้อมูลที่น่าสงสัยเอง หรือจากรายงานของกองทัพก็ได้ แต่ยังไม่ใช่การตั้งข้อร้องเรียน
นายสรรเสริญ กล่าวอีกว่า ในส่วนของเงินที่ใช้ในการก่อสร้าง ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเงินบริจาคหรือเงินงบประมาณจากรัฐบาล ซึ่งแม้จะเป็นเงินบริจาคของมูลนิธิอุทยานราชภักดิ์ ก็จะต้องพิจารณาว่ามูลนิธิฯ ใช้เงินเพื่อวัตถุประสงค์อะไร โดยหากให้เพื่อประโยชน์ของรัฐก็ต้องนำเงินเข้าตามระบบราชการ
“หากมีข้าราชการของกระทรวงกลาโหมเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ป.ป.ช.จะต้องดูว่าบุคคลดังกล่าวมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการอย่างไร และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ โดยยืนยันว่า ป.ป.ช.จะติดตามการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ  รวมถึงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง กองทัพจะต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.มาดำเนินการตามขั้นตอนอยู่แล้ว หากเป็นความผิดทางอาญาจะต้องส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” นายสรรเสริญ กล่าว
นายสรรเสริญ กล่าวอีกว่า หากมีผู้ร้องเรียนกับ ป.ป.ช.ในเรื่องดังกล่าว จะต้องตรวจสอบว่าพยานหลักฐานเพียงพอหรือไม่ และผู้ถูกร้องเรียนเป็นใคร หากพบว่าการร้องเรียนนั้นมีมูล ป.ป.ช.มีสิทธิ์รับเรื่องมาพิจารณาได้ทันที