วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมทำจดหมายขอพบ-เยี่ยมผู้ต้องหาในเรือนจำพิเศษ มทบ.11


17 พ.ย. 2558 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมว่า นายสุรพงษ์ กองจันทึก รักษาการ ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ส่งจดหมายถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อขอเข้าพบและเยี่ยมเยือนผู้ต้องหาเรือนจำพิเศษ มณฑลทหารบกที่ 11 ทั้งสามเพื่อได้ทราบถึงสภาพความเป็นอยู่ และการได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ในฐานะผู้ต้องหาและผู้ต้องขังของบุคคลทั้ง 3 ราย
สำหรับเหตุผลของการทำจดหมายขอเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาในเรือนจำพิเศษฯ นั้น สืบเนื่องมาจากการที่เจ้าหน้าที่ได้จับกุมนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือหมอหยองกับพวก และนำตัวไปควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำชั่วคราว แขวงถนนนครไชยศรี ภายในมณฑลทหารบกที่ 11 ( มทบ.11 ) ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ได้แถลงต่อสาธารณะว่ามีผู้ต้องหาสองคนได้เสียชีวิตลงในเรือนจำดังกล่าวคือ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา เสียชีวิตวันที่ 23 ต.ค. ทีผ่านมา โดยตามแถลงการณ์กรมราชทัณฑ์ระบุเหตุจากการผูกคอตนเอง และต่อมาวันที่  9 พ.ย. 58 กรมราชทัณฑ์ได้แจ้งข่าวว่านายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ ก็ได้เสียชีวิตลงอีกคนหนึ่งเนื่องจากระบบหายใจไหลเวียนโลหิตล้มเหลว จากการติดเชื้อในกระแสโลหิต เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่าการเสียชีวิตของผู้ต้องหาดังกล่าวทั้ง 2 ราย ซึ่งเป็นคดีสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานที่ควบคุมตัวพิเศษ ยากที่ญาติพี่น้องหรือทนายความของผู้ต้องขังจะเยี่ยมหรือติดต่อได้ ทำให้เกิดข้อสงสัยในหมู่ประชาชนถึงความถูกต้อง โปร่งใสในการปฏิบัติต่อผู้ต้องหา และความปลอดภัยของผู้ต้องขังที่เหลืออยู่ในเรือนจำดังกล่าว โดยในปัจจุบันยังมีผู้ต้องหาอยู่ในการควบคุมตัวตามข่าวปรากฎว่ามีอีกสามรายได้แก่ นายจิราวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ หรือ อาท ชัตเตอร์เทพ ผู้ต้องหาคดีความผิดตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งอยู่ในชุดเดียวกับผู้เสียชีวิตทั้งสองรายข้างต้น  และผู้ต้องหาคดีระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์อีก 2 คน คือนายอาเดม คาราดักและนายไมไรลี ยุซูฟุ
สำหรับมูลนิธิผสานวัฒนธรรมนั้นเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งไม่แสวงผลกำไร จดทะเบียนเลขที่ ต.9/2545 มีวัตถุประสงค์และกิจกรรมในการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สร้างความเข้มแข็งให้แก่นิติรัฐ ส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรม การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเสริมความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างชนกลุ่มต่างๆเพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างกัน ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนแก่ประชน ตรวจสอบและทำรายงานกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนออกรายงาน สื่อไทยหลังรัฐประหาร-สัมภาษณ์ผู้ลี้ภัย 112


16 พ.ย. 2558 องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนออกรายงานสถานการณ์สื่อไทยหลังรัฐประหาร 2557 ในชื่อ "สื่อที่ถูกไล่ล่าโดยเผด็จการทหาร ตั้งแต่รัฐประหาร 2557" (Media hounded by junta since 2014 coup) เขียนโดย เบนจามิน อิสเมล หัวหน้าแผนกภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน รายงานความยาว 44 หน้าดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ภาวะที่อยู่ใต้การนำ "ความสงบเรียบร้อย" กลับมา ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมานั้นได้ปิดกั้นเสรีภาพในข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพสื่อไทย ซึ่งเคยเป็น "ต้นแบบของภูมิภาค" เมื่อสิบปีที่ผ่านมาอย่างไร
รายงานดังกล่าวเผยแพร่บทสัมภาษณ์ของบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งใช้ชื่อว่า "Anton" ซึ่งต้องหนีออกจากประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว รายงานระบุว่า Anton เป็นนักวิจัยและผู้ช่วยนักข่าว (fixer) ให้กับสื่อต่างประเทศซึ่งทำงานในไทย เขาทำงานวิจัยในประเด็นอ่อนไหว เช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ให้กับองค์กรสื่อต่างประเทศชั้นนำ เช่น นิวยอร์กไทมส์ แต่สาเหตุที่เขาต้องหนีเกิดจากการโพสต์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ กองทัพ และผลกระทบต่อสังคมไทยและประณามการกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างและนักกิจกรรมกลุ่มกษัตริย์นิยมสุดโต่ง (ultra-royalist) โดยใช้นามแฝงในโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก ไลน์และทวิตเตอร์
รายงานระบุว่า เจ้าหน้าที่ดีเอสไอไปพบพ่อแม่ของเขาและบังคับให้ครอบครัวติดต่อให้เขามาพบตำรวจ เขาตั้งข้อสังเกตว่าตำรวจระบุตัวเขาจากกิจกรรมออนไลน์ทั้งที่เขาใช้นามแฝง
หลังการพูดคุยกับผู้สื่อข่าวคนอื่นๆ ที่เพิ่งโต้เถียงกับทหารและปรึกษาทนายสิทธิมนุษยชน เขาตัดสินใจออกจากประเทศไทยอย่างรวดเร็ว แต่ทางการยังจับตาดูเขา โดยบอกกับครอบครัวและเพื่อนของเขาว่าเขาเป็นอาชญากร โชว์ว่าเขาโพสต์อะไรบ้าง และถามครอบครัวของเขาด้วยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของเขาด้วยหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงต้องตัดการสื่อสารกับครอบครัวและเพื่อนเพื่อไม่ทำให้พวกเขาตกอยู่ในอันตราย  
นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวระบุถึงยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลทหารใช้กับสื่อ 4 ประการ ประกอบด้วย 1. ยุทธศาสตร์เซ็นเซอร์อย่างกว้างขวาง มีการออกคำสั่งและประกาศกว่าสิบฉบับ ห้ามสื่อและสื่อออนไลน์เสนอข่าวที่อาจเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติและหมิ่นประมาทบุคคล หรือวิจารณ์การทำงานของ คสช. เจ้าหน้าที่ทหารบุกไปที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในค่ำวันที่ 22 พ.ค. 2557 หลังไทยพีบีเอสไม่ทำตามคำสั่งให้ระงับการออกอากาศ
2. ยุทธศาสตร์สร้างความกลัว มีการเรียกบรรณาธิการข่าวของสื่อ 18 แห่งทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษเข้า "พูดคุย" เพื่อห้ามเสนอข่าววิจารณ์ คสช. นอกจากนี้ยังมีการเรียกสื่อที่แสดงความเห็นทางออนไลน์วิจารณ์ คสช.อย่าง ธนาพล อิ๋วสกุล บ.ก.ฟ้าเดียวกัน และ ประวิตร โรจนพฤกษ์ อดีตผู้สื่อข่าวเดอะเนชั่น เข้ารายงานตัวและคุมตัวไว้ในค่าย
3. ยุทธศาสตร์จอดำ ก่อนการรัฐประหาร มีการบุกไปยังสถานีโทรทัศน์อย่างน้อยสิบช่องเพื่อหยุดการออกอากาศ มีเจ้าหน้าที่ทหารเฝ้าหน้าสถานีข่าวบางแห่ง กรณีไทยพีบีเอส ไม่หยุดออกอากาศ โดยเผยแพร่รายการผ่านยูทูบ เจ้าหน้าที่ทหารได้บุกไปที่สถานีและคุมตัว วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการข่าวไป นอกจากนี้ มีข้อมูลจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ระบุว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้ไปที่สำนักพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวันแห่งหนึ่งเพื่อสั่งห้ามตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับการก่อตั้งองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิไตย ซึ่งเป็นกลุ่มต้านรัฐประหาร รวมถึงมีการสั่งปิดวิทยุชุมชนหลายพันแห่ง
4.ยุทธศาสตร์โฆษณาชวนเชื่อ หลังระงับการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ทุกช่องและส่งเจ้าหน้าที่ทหารไปคุมสถานีแล้ว คสช.ได้สั่งให้ทีวีทุกช่องเผยแพร่ประกาศ คสช. มีการออกอากาศรายการคืนความสุขให้คนในชาติ รายสัปดาห์ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังระบุถึงสถานการณ์การเซ็นเซอร์และการสอดแนมในโลกออนไลน์ด้วย โดยมีเว็บหลายแห่งถูกบล็อคและมีการสอดแนมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต รวมถึงโครงการ "ซิงเกิลเกตเวย์" ซึ่งจะเพิ่มอำนาจการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลทหาร

ขณะที่สื่อต่างประเทศก็ถูกวิจารณ์จาก พล.อ.ประยุทธ์ ว่าเป็นภัยคุกคามต่อภาพลักษณ์ของไทยในสายตาต่างชาติ
นอกจากนี้ สื่อยังถูกทำให้ขยับไม่ได้ด้วยการพิพากษาคดีมาตรา 112 อย่างต่อเนื่อง ข้อหาดังกล่าวถูกใช้เพื่อคุมขังนักวิชาการ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน บล็อกเกอร์และนักข่าว
ในรายงานดังกล่าวระบุถึงกรณีที่เว็บไซต์ข่าวภูเก็ตหวานถูกกองทัพเรือฟ้องคดีอาญา หลังการรายงานเรื่องผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา และมีการสู้คดีนานสองปีจนชนะคดีในที่สุด
ตอนสุดท้ายของรายงานยังตั้งคำถามต่อบทบาทของสื่อไทย ในภาวะที่การแบ่งขั้วของผู้สนับสนุนเสื้อแดงและเสื้อเหลือง ทำให้สื่อทำหน้าที่ฐานันดรที่สี่ ในการต้านรัฐประหารได้ยากขึ้น และยังป้องกันไม่ให้มีการรวมตัวในการต่อต้านการเซ็นเซอร์และแรงกดดันจากกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองและธุรกิจ
ทั้งนี้ องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนจัดอันดับเสรีภาพสื่อ ไทยอยู่ที่ 134 จาก 180 ประเทศทั่วโลก

ปมอุทยานราชภักดิ์ ป.ป.ช. เผยยังไม่มีส่วนเอี่ยวสอบ ตร.ระบุยังไม่มีผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์


18 พ.ย. 2558 กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.วีรัณ ฉันทศาสตร์โกศล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ได้เรียกประชุมคณะทำงาน โดยมี พล.ท.สรรชัย อจลานนท์ เจ้ากรมกำลังพลกองทัพบก ทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการ พร้อมด้วย เจ้ากรมฝ่ายเสนาธิการกองทัพบก ผู้อำนวยการกองพระธรรมนูญทหารบก เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง เพื่อสรุปผลการสอบสวนส่งให้ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก ก่อนส่งผลสอบให้ รมว.กลาโหม และ นายกรัฐมนตรีตามลำดับ และเมื่อได้ผลสรุปแล้วคณะกรรมการจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการด้วย
ป.ป.ช. เผยยังไม่มีส่วนเอี่ยวสอบ
ขณะที่ มติชนออนไลน์ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการป.ป.ช. กล่าวถึงข้อร้องเรียนเหตุการณ์การทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยระบุว่าขณะนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ยังไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสอบสวนเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ตามหลักการตรวจสอบของ ป.ป.ช.คือจะต้องเป็นการกระทำผิดต่อราชการ หรือเป็นข้าราชการที่กระทำผิดจากตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งต้องดูว่าเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังกล่าว และใช้อำนาจโดยมิชอบในการแสวงหาผลประโยชน์หรือไม่ โดยขณะนี้ยังไม่สามารถระบุความชัดเจนดังกล่าวได้เพราะอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบของกองทัพบก
ทั้งนี้ ป.ป.ช. ยังไม่ได้ทำหนังสือไปยังกองทัพบก เพราะหากจะทำก็จะต้องเป็นเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.รับเรื่องร้องเรียนไว้ แต่ ขณะนี้มีการตรวจสอบในรูปแบบไม่เป็นทางการคือทำได้เพียงติดตามเรื่องข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏเท่านั้น ยืนยันว่าจะมีการจับตาเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้หากผลการสอบสวนปรากฏว่าเกี่ยวข้องกับทางราชการ กองทัพบกจะส่งมาให้ ป.ป.ช. แต่หากไม่เกี่ยวข้องกับราชการก็อาจจะส่งให้กับพนักงานสอบสวนก็เป็นได้ ทั้งนี้หากมีผู้มาร้องเรียนก็จะดูว่าอยู่ในกรอบอำนาจของ ป.ป.ช.หรือไม่
ผบ.ตร.เผย ยังไม่มีผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์
และเมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา Spring News รายงาน ถึงกระแสข่าวการลาออกจากราชการของ นายตำรวจสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จำนวน 4 นายนั้น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ยังไม่ได้รับรายงานจากผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางแต่อย่างใด รวมถึงตำรวจทั้ง 4 นาย ว่า จะเกี่ยวข้องกับขบวนการแอบอ้างสถาบันหรือไม่ ยังอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน แต่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบขีรีขันต์ หรือไม่นั้น ล่าสุด ยังไม่มีผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด จึงยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ในขณะนี้
โดยทีมข่าวอาชญากรรม ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเพิ่มเติมว่า พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก. ได้ลงนามในคำสั่ง บช.ก.ที่ 268/2558 พิจารณาอนุมัติให้ พ.ต.อ.ศิวพงษ์ พัฒน์พงศ์พานิช รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.ไพโรจน์ โรจนขจร ผกก.2 บก.ป. พ.ต.ท.ธรรมวัฒน์ หิรัณยเลขา รอง ผกก.2 บก.ป. และ พ.ต.ท.จีรวัฏฐ์ บุญวัฒนาภรณ์ สว.ส.ทล.2 กก.1 บก.ทล. ลาออกจากราชการตามที่ร้องขอ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ นายตำรวจทั้งสี่นายเป็นนายตำรวจที่ พล.ต.ท.ฐิติราช มีคำสั่งเรียกมาช่วยราชการที่ ศปก.บช.ก.ตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค.
สำหรับกรณีที่ชุดสืบสวนพบข้อมูลหลักฐานว่ามีนายตำรวจบางคนในกลุ่มได้ร่วมกระทำความผิดร่วมกับสารวัตรเอี๊ยดหลายคดี ไม่ว่าจะเป็นการนำรถที่ตรวจยึดเป็นของกลางนำมาใช้ ทั้งยังเบิกทรัพย์สินของทางราชการ เช่น อาวุธปืน วิทยุสื่อสาร และรถยนต์นำมาให้สารวัตรเอี๊ยด และยังร่วมเรียกรับผลประโยชน์สถานบันเทิงอีก โดยมี 2 ใน 4 นายพบหลักฐานชัดเจนว่ามีการร่วมกันทำลายหลักฐานในคดีตามคำสั่งสารวัตรเอี๊ยด

‘รักษาการรองโฆษกเพื่อไทย’ ถูกคสช.เรียกคุย หลังจี้ปมอุทยานราชภักดิ์


18 พ.ย. 2558 มติชนออนไลน์ เดลินิวส์และประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ที่ผ่านมา นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) ถูกเชิญตัวปรับทัศนคติ ที่กองทัพภาคที่ 1
ต่อมาเวลา 14.40 น. นายอนุสรณ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังคสช. เรียกไปพูดคุยที่กองทัพภาคที่ 1 เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาว่า ที่มีข่าวว่าถูกเรียกปรับทัศนคติคงไม่ถึงขั้นนั้น เรียกว่าเป็นการไปพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันมากกว่า เพราะที่ผ่านมาตนกับทหารที่ดูแลจะพูดคุยแลกเปลี่ยนข่าวสาร รวมถึงการขอเดินทางไปต่างประเทศกันเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ตอนนี้กำลังเดินทางกลับบ้าน
จี้ปมอุทยานราชภักดิ์ โยงรัฐบาลปฎิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
โดยก่อนหน้านี้ นายอนุสรณ์ ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กรณีอุทยานราชภักดิ์ โดยวานนี้ (17 พ.ย.58) มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายอนุสรณ์ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีพรรคพท.เรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงปัญหาการสร้างอุทยานราชภักดิ์ โดยระบุ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลแต่เป็นเรื่องของกองทัพบก รัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง การจัดสร้างดังกล่าวไม่ได้ใช้เงินงบประมาณของรัฐบาลแต่ใช้เงินบริจาคของประชาชน ว่า
พรรคพท.ขอเรียนชี้แจงว่าโครงการอุทยานราชภักดิ์แม้จะอ้างว่าดำเนินการในนามกองทัพบกด้วยเงินบริจาคก็ตามแต่เป็นโครงการที่อนุมัติโดยคณะรัฐมนตรี รัฐบาลจะอ้างว่ามิใช่เรื่องของรัฐบาลมิได้ ด้วยเหตุผล ดังนี้ 1.คณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายให้กองทัพบกเป็นเจ้าของโครงการ กองทัพบกเป็นหน่วยงานของรัฐ และดำเนินก่อสร้างบนที่ดินของกองทัพบกอันเป็นที่ดินของทางราชการ การรับบริจาคดำเนินการในนามของกองทัพบกโดยกองกิจการพลเรือนทหารบกใช้ชื่อบัญชีที่รับบริจาคว่า "กองทุนสวัสดิการกองทัพบก" ผู้บริจาคส่วนหนึ่งเป็นส่วนราชการและยังสามารถนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีได้ เงินภาษีที่ถูกหักลดหย่อนคือเงินได้ของแผ่นดิน เมื่อมีการทุจริตเกิดขึ้นในโครงการดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับรัฐบาล จะปฎิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า 2.ผู้ที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตเป็นบุคคลในกองทัพคือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กินเงินเดือนจากภาษีอากรของประชาชนการที่พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีตผบ.ทบ. ได้ออกมายอมรับว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์กันจริง แต่มีการนำเงินไปบริจาคแล้ว แสดงว่ามีการกระทำผิดทางอาญาเกิดขึ้นแล้วในขณะมีการกระทำผิด ผู้รับผิดชอบโครงการดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เลขาธิการ คสช. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและเป็นกรรมการในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนอกจากนี้กองทัพบกอันเป็นสถานที่ราชการยังถูกใช้เป็นสถานที่ดำเนินโครงการติดต่อเจรจา จึงเป็นราชการของกองทัพซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาล ยิ่งเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
อนึ่ง "มูลนิธิราชภักดิ์" นั้น นายทะเบียนเพิ่งรับจดทะเบียนเป็นมูลนิธิเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2558 เลขทะเบียนลำดับที่ กท 2585 (ราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 132 ตอนที่ 121ง ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558) ความพยายามที่จะอ้างว่าเป็นเรื่องของมูลนิธิ จึงอาจเป็นเรื่องที่เห็นได้ว่าเป็นการหลบเลี่ยงความรับผิดชอบและกฎระเบียบของทางราชการทั้งๆที่ผู้รับผิดชอบมูลนิธิก็คือข้าราชการในกองทัพนั่นเอง
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า 3.พรรคเพื่อพท.ขอเรียนว่าไม่ได้ฉกฉวยเรื่องนี้เป็นผลประโยชน์ทางการเมือง แต่ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่เป็นประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ได้เข้ามารับผิดชอบ เพราะนอกจากจะเป็นโครงการที่สำคัญ กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนคนไทยที่จงรักภักดี เนื่องจากเป็นโครงการเพื่อเทิดทูนและประกาศเกียรติคุณสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งสยามอันเป็นที่เคารพยิ่งของปวงชนชาวไทยแล้วผู้เกี่ยวข้องกับโครงการยังเป็นบุคคลสำคัญในรัฐบาลซึ่งจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในนโยบายการปราบปรามการทุจริตที่รัฐบาลประกาศเป็นนโยบายสำคัญอีกด้วยพรรคพท.จึงเรียกร้องให้รัฐบาลได้เข้ามารับผิดชอบดำเนินการเรื่องนี้อย่างเปิดเผย จริงจัง รวมทั้งการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ขอให้เปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งหมดตามแถลงการณ์พรรคพท. เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นไปตามนโยบายการปราบปรามการทุจริตของรัฐบาลต่อไป