วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

วิษณุแจงออกคำสั่งปค.ปมจำนำข้าวไม่ใช่นวัตกรรม ยิ่งลักษณ์ชี้รบ.ใช้อำนาจตุลาการแทนศาล


16 พ.ย. 2558 สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐนตรี และพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าว ชี้แจงถึงการดำเนินการของรัฐบาลต่อกรณีโครงการรับจำนำข้าว โดยเฉพาะการดำเนินการทางปกครอง เพื่อเรียกเก็บค่าเสียหายในโครงการดังกล่าวจากผู้ถูกกล่าวหา ว่า ที่ผ่านมา เมื่อถูกสอบถาม ก็ได้ชี้แจงผ่านสื่อมวลชนมาต่อเนื่อง แต่ในช่วงหลังพยายามที่จะลดการแสดงความคิดเห็น เนื่องจากเห็นว่าสังคมมีความเข้าใจในระดับหนึ่งแล้ว และเกรงว่าอาจจะไม่เป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา
“แต่เมื่อยังมีความไม่เข้าใจอยู่ จึงจำเป็นต้องสร้างความรับรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน ถึงวิธีการทำงานของรัฐบาล ว่าเป็นขั้นตอนปกติ  หากไม่ไม่ดำเนินการ รัฐบาลจะเป็นผู้ถูกดำเนินการเอาผิด ทั้งทางอาญา และถูกร้องให้รับผิดชอบทางแพ่งแทน ดังนั้น การทำงานของรัฐบาล จึงไม่ใช่การทำงานที่มีอคติ” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า สาเหตุที่เลือกใช้วิธีตาม พ.ร.บ.ความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 แทนการฟ้องเอาผิดทาง พ.ร.บ.ความรับผิดทางแพ่ง นั้น  รัฐบาลได้ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว และมีช่องทางที่จะให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา ทั้งการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ และคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ทั้งยังสามารถต่อสู้ในชั้นของศาลปกครองได้อีก
“ขณะเดียวกัน ยืนยันว่าการใช้วิธีนี้เอาผิด ครอบคลุมกับผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 กลุ่ม ตามหนังสือที่ ป.ป.ช.ส่งเรื่องมายังกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง อยู่ในข่ายของการใช้กฎหมาย” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ ย้ำว่า การใช้วิธีคำสั่งทางปกครอง ไม่ได้มีเจตนาไปปรักปรำ ซ้ำเติมผู้ที่ถูกกล่าวหา หรือใช้วิธีการพิเศษ หรือใช้นวัตกรรมใหม่ เพื่อเอาผิด กลั่นแกล้งผู้ถูกกล่าวหว่า  เนื่องจากวิธีออกคำสั่งปกครองใช้มาแล้ว 20 ปี กว่า 5,000 คดี และมีทั้งรัฐเป็นผู้แพ้และชนะ  หรือศาลอาจจะลดจำนวนของค่าเสียหายที่ต้องชดใช้
นายวิษณุ เชื่อว่า คำสั่งปกครอง ทั้งของกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ จะสามารถออกได้พร้อมกัน แม้ว่าขณะนี้การดำเนินการของกระทรวงพาณิชย์จะเข้าสู่กระบวนการที่ 2 คือ ส่งให้คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ส่วนกระทรวงการคลังยังอยู่ในขั้นตอนแรกของการตรวจสอบ ที่ต้องขยายเวลาออกไปอีก 3 วัน เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาขอให้สอบพยานเพิ่มเติม และระยะเวลาในการพิจารณา น่าจะใช้เวลานานกว่าการฟ้องศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำเนินตำแหน่งการเมือง
นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้จำกัดเฉพาะคดีโครงการรับจำข้าวเปลือก ก่อน 22 พ.ค.57 ซึ่งเป็นคดีที่ ป.ป.ช.ส่งเรื่องมาในเดือนกุมภาพันธ์  ปี 2558 และจะครบกำหนด 2 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2560  คดีจำนำข้าว คดีนี้แบ่งผู้ถูกกล่าวหาเป็น 4 กลุ่ม  กลุ่ม 1 ย. ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ ถูกสภาถอดถอน ถูกฟ้องคดีอาญา ตามมาตรา 157 ต่อศาลฎีกา และ ป.ป.ช.มีจดหมาย 2 ฉบับ วันที่ 18 ก.พ. 58 ถึงปลัดกระทรวงคลัง ว่า คดี ย. ป.ป.ช.ดำเนินการตามกระแสความ 1 และ 2 เสร็จแล้ว จากนี้รัฐบาลต้องดำเนินการเรียกค่าเสียหายต่อตาม พ.น.บ.ป.ป.ช. มาตรา 73/1 รัฐบาลต้องเรียกค่าเสียหาย
นายวิษณุ กล่าวว่า กลุ่มที่ 2 บ. กับพวก ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทุจริตการขายข้าว อ้างว่าเป็นแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่ง ป.ป.ช.พบว่า มีการแอบอ้าง ถูกสภาถอดถอด ถูกฟ้องอาญาต่อศาลฎีกา ป.ป.ช.มีจดหมาย 2 ฉบับ วันที่ 17 ก.พ. 58 ถึงปลัดกระทรวงพาณิชย์ว่า คดี บ.นั้น ป.ป.ช.ดำเนินการตามกระแส 1 และ 2 เสร็จแล้ว รัฐบาลต้องเรียกค่าเสียหายต่อมาตรา 73/1 พ.ร.บ.ป.ป.ช.เช่นกัน
นายวิษณุ กล่าวว่า กลุ่ม 3 ภ. กับพวก แม้การกระทำคล้ายกับกลุ่มที่ 2 แต่ ป.ป.ช.แยกมา  ก็ต้องถูกดำเนินการ และกลุ่มที่ 4 เป็นเอกชน ไม่ใช้เจ้าหน้าที่รัฐ เบื้องต้นพบ 15 ราย โดยสนับสนุนเอื้อเฟื้อให้ทุจริตจำหน่ายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ โดย 15 รายนี้มีการยื่นฟ้องไปยังศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ซึ่งตามกฎหมายให้ฟ้องพ่วงไปได้ แต่ในการเรียกค่าเสียหายจะต้องใช้ทางแพ่ง
“ส่วนปัญหาที่มีการถกเถียงถึงวิธีปฎิบัติ ม.4  วิธีปฎิบัติราชการทางปกครองของเจ้าหน้าที่ ที่ระบุว่า พ.ร.บ.นี้ไม่ใช้กับการพิจารณาของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ในงานทางนโยบายโดยตรง  นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล ย.บ.ภ. จึงไม่ต้องรับตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้  นั้น   เมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูลว่า มีการทุจริต และกระทำผิดภายใต้นโยบายรับจำนำข้าว การดำเนินการคดีทางแพ่งและอาญา จึงไม่ใช่การกล่าวหาตัวนโยบาย แต่เป็นการกล่าวหาการปฎิบัติตามนโยบาย  ที่มีการกล่างอ้างว่าการทุจริต ผิดขึ้นตอน ไม่มีธรรมาธิบาล ซึ่งเข้าข่ายการใช้กฎหมายฉบับนี้” นายวิษณุ กล่าว
ยิ่งลักษณ์สวนรัฐบาลใช้อำนาจตุลาการแทนศาล พร้อม ม.44 คุ้มครอง
จากนั้นวันเดียวกัน(16 พ.ย.58)เมื่อเวลา 15.23 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Yingluck Shinawatra’ ถึงการแถลงของนายวิษณุ ว่า ใช้เวลานานร่วมชั่วโมงที่จะสร้างความชอบธรรมในการที่รัฐบาลนี้จะใช้วิธีให้กระทรวงการคลังออกคำสั่งให้ตนชำระค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวแทนวิธีการที่กระทรวงการคลังจะฟ้องคดีแพ่งต่อศาล
“ดิฉันคงไม่อยู่ในฐานะจะเรียกร้องอะไรหลังจากนี้แม้แต่คำว่า “ความเป็นธรรม” เพราะทุกอย่างคงจะดำเนินการไปตามที่รัฐบาลนี้ต้องการ” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ระบุว่า ตนอยากจะขอฝากข้อคิดให้กับพี่น้องประชาชนได้พิจารณาว่า การกระทำแบบนี้หรือที่ คสช. อ้างว่ายึดอำนาจแล้วจะสร้างความปรองดอง ความเป็นธรรม และ หลักนิติธรรมในประเทศนี้ได้ ดังนี้
1. รัฐบาลเลือกใช้วิธีให้กระทรวงการคลังออกคำสั่งให้ตนชำระค่าเสียหายทั้งที่คดีอาญายังไม่เสร็จสิ้น เท่ากับว่ารัฐบาลใช้อำนาจตุลาการแทนศาล และยังเลือกใช้มาตรา 44 คุ้มครองรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่สอบสวนข้อเท็จจริงให้พ้นจากการถูกฟ้องร้องใดๆ จากตนใช่หรือไม่
2. ที่อ้างว่า พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 นั้นใช้มานานกว่า 19 ปี และกว่า 5,000 คดี ตนเห็นว่าเวลาและจำนวนคดีไม่ใช่สาระสำคัญที่จะใช้เป็นข้ออ้าง เพราะเชื่อว่ายังไม่มีคดีไหนเหมือนตนซึ่งเป็นคดีแรกที่นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งของประชาชนถูกยึดอำนาจ ถูกดำเนินคดี จากนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาเพื่อช่วยเหลือประชาชน จะเป็นเรื่องของการที่ทำให้รัฐต้องเสียหาย และต้องรับผิดชอบทั้งที่คดีอาญายังไม่เสร็จสิ้น
3. รัฐบาลต้องตอบกับพี่น้องประชาชนด้วยว่า การที่เลือกใช้วิธีให้กระทรวงการคลังออกคำสั่งให้ตนชำระค่าเสียหายนั้น ประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร และจะรับประกันได้หรือไม่ว่า คณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่อยู่ภายใต้การชี้นำ แต่สามารถใช้ดุลพินิจได้อย่างถูกต้องและเที่ยงธรรมเช่นศาล แม้รัฐบาลพยายามที่จะพูดว่าขั้นตอนยังไม่เป็นที่สิ้นสุดและสามารถใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ แต่กลับไม่มีคำตอบว่าเพราะเหตุใดจึงไม่ให้กระบวนการเรียกร้องค่าเสียหายเป็นไปตามขั้นตอนของศาลยุติธรรมเพื่อเป็นหลักประกันแห่งการอำนวยความยุติธรรมแทนการใช้วิธีให้กระทรวงการคลังออกคำสั่งให้ตนชำระค่าเสียหาย
4. อะไรที่เรียกว่าสร้างความเสียหายต่อรัฐอย่างร้ายแรง ทั้งๆ ที่โครงการรับจำนำข้าวได้จ่ายเงินตรงถึงมือชาวนาผ่าน ธกส. ทุกบาททุกสตางค์
5. การเพิ่มประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเป็น “พยานล่วงหน้า” ในคดีอาญา ถือเป็นข้อสังเกตที่เป็นนัยยะสำคัญว่าอาจนำผลการสอบสวนข้อเท็จจริงในคดีแพ่ง ทั้งที่ยังไม่มีข้อยุติมาทำให้เป็นผลร้ายกับตนในคดีอาญาหรือไม่
“สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นข้อสังเกตที่ดิฉันขอฝากไว้กับพี่น้องประชาชนเพื่อพิจารณา คงไม่คาดหวังความเป็นธรรมจากรัฐบาลนี้อีกแล้ว ดังนั้นหากรัฐบาลตัดสินใจอย่างไร กรณีนี้ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่คงต้องจารึกในหัวใจของดิฉันและประชาชน และจะเป็นบรรทัดฐานที่นำไปใช้กับนายกรัฐมนตรีที่ดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือประชาชนหลังจากนี้ต่อไป” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย