วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

พล.อ.ประวิตร ยันไม่มีหมายจับทหารเอี่ยวผิด ม.112 ผบ.ตร.เผย พล.ต.อ.ประวุฒิกลับแล้ว


2 พ.ย. 2558 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ กรณีที่มีกระแสข่าวว่า จะมีการออกหมายจับนายทหารยศพันเอก ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า ไม่มี เพราะหากมีจริงจะต้องได้รับการรายงานแล้ว เนื่องจากดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ผบ.ตร.เผย พล.ต.อ.ประวุฒิกลับไทยแล้ว
วันเดียวัน(2 พ.ย.58) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.ประวุฒิ ถาวรศิริ ที่ปรึกษา สบ10 ได้โทรศัพท์มาแจ้งว่าเดินทางกลับจากต่างประเทศแล้ว ซึ่งเป็นการกลับมาก่อนกำหนดที่แจ้งไว้ว่าเป็นวันที่ 1 พฤศจิกายน  เบื้องต้นยังไม่ได้มีการแจ้งเรื่องขอลาออกจากราชการแต่อย่างใด และยังคงมีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านจราจรและเทคโนโลยีตามปกติ แต่หากไม่มาปฏิบัติหน้าที่ติดต่อเกินกว่า15วันจะถือว่าขาดราชการ ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องออกจากราชการ
ส่วนที่ปรากฎภาพถ่ายในอดีตของพล.ต.อ.ประวุฒิ กับ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ผู้ต้องหาในคดีหมิ่นสถาบัน อยู่ด้วยกันบ่อยครั้งนั้น ไม่ทราบว่าทั้งสองคนมีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกันอย่างไร ทราบแต่ว่าเคยทำงานร่วมกันในกิจกรรมไบค์ฟอร์มัมปั่นเพื่อแม่ ส่วนจะมีการเรียกให้พลตำรวจเอกประวุฒิมาให้การด้วยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคณะพนักงานสอบสวน
ขณะที่ความคืบหน้าการสอบปากคำนายศุกร์โข เบื้องต้นทราบว่าให้การเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี แต่ยังไม่แจ้งข้อกล่าวหาหมิ่นเบื้องสูงเพิ่มเติม ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างนายศุกร์โขกับ พ.ต.ต.ปรากรมนั้นไม่ทราบว่ารู้จักกันเป็นเพื่อนหรือลึกซึ้งเพียงใด ซึ่งการที่ พ.ต.ต.ปรากรมเคยจะฝากให้นายศุกร์โขเป็นข้าราชการตำรวจผ่านนายตำรวจระดับสูงท่านหนึ่งนั้น  พล.ต.อ.จักรทิพย์ว่าการฝากคนเข้ารับราชการตำรวจเป็นเรื่องปกติไม่เคยปิดโอกาส แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาคือการรับเข้ามา ว่ามีคุณสมบัติความรู้ความสามารถตรงตามระเบียบหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้สามารถตรวจสอบไปยังกองทะเบียนพลได้
ส่วนกระแสข่าวมีทหารยศพันเอก เข้ามาเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาหมิ่นสถาบันนั้น เรื่องดังกล่าวอยู่ในสำนวนและอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน ถ้าได้ความชัดเจนจะรายงานให้ทราบอีกครั้งเพื่อไม่ให้เกิดข้อมูลคลาดเคลื่อน และทางกองทัพได้ให้ความร่วมมือในการประสานงานเป็นอย่างดี
ขณะที่การเรียกตำรวจ 8 นายในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มาช่วยราชการนานหลายสัปดาห์แล้ว เนื่องจากอยู่ระหว่างการสอบสวนในฐานะพยาน เพราะว่ามีข้อมูลที่ต้องตรวจสอบรายละเอียดหลายจุด แต่ถ้าพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป
ส่วนการตรวจสอบเส้นทางการเงินของนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ หมอหยอง  ที่ถ่ายโอนทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดไปให้เครือญาตินั้น ได้เรียกญาติที่ได้รับทรัพย์สินมาพูดคุยสอบถามแล้ว ส่วนจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่ต้องตรวจสอบว่ามีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องอย่างไรบ้างทางคดี ซึ่งจะต้องให้ความเป็นธรรมด้วย เช่นเดียวกับการที่หมอหยองไปหลอกลวงประชาชน รวมถึงข้าราชการะดับสูงว่าตนเองเป็นร่างทรงนั้น จะต้องตรวจสอบว่ามีผู้เสียหายมาร้องทุกข์กล่าวโทษหรือไม่ รวมไปถึงนายทหารระดับสูงที่ปรากฏภาพขณะหมอหยองทำพิธีเข้าทรง ยังไม่มีการแจ้งความมาแต่อย่างใด

พท.ขอทบทวน ม.44 ขัดหลักนิติธรรม ยิ่งซ้ำเติมปัญหาประเทศ


รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ขอรัฐบาลทบทวน ม.44 ในคดีจำนำข้าว ชี้ขัดหลักนิติธรรม ยิ่งซ้ำเติมปัญหาประเทศ  ขณะที่ ‘ยรรยง’ ขออย่ามัดมือชกชาวนา หวั่นกลไกตลาดข้าวล่มสลาย
2 พ.ย.2558 ชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่ารู้สึกสับสนกับการที่รัฐบาลมีคำสั่งใช้ ม.44 ในคดีจำนำข้าว เพราะเมื่อ 13 ต.ค.58 ที่ผ่านมา รัฐบาลว่าจะไม่ใช้ ม.44 ในคดีจำนำข้าว โดยให้เหตุผลว่าจะไม่ใช้กลไกพิเศษในการแก้ปัญหานี้ เพราะจะทำให้ปัญหาทับซ้อนไปเรื่อย ๆ จึงรู้สึกสับสนเพราะเวลาไม่ห่างกันเท่าไหร่กลับปรับเปลี่ยนในหลักการสำคัญซึ่งเป็นประเด็นปัญหาในเชิงหลักการของกฎหมายที่จะต้องได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ นั่นคือ หลักนิติธรรม ซึ่งสำคัญยิ่งในยุคโลกาภิวัฒน์
ดังนั้น เมื่อรัฐบาลตัดสินใจใช้ ม.44 เพื่อคุ้มครองบุคคล คณะบุคคล คณะทำงาน คณะกรรมการหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย ตนมองว่าสุ่มเสี่ยงต่อการขัดกับหลักนิติธรรมอย่างยิ่ง อันอาจส่งผลให้ได้รับการต่อต้านจากนานาชาติ จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาอื่นๆตามมาอีกมากมายหรือไม่
ชวลิต กล่าวว่า คดีโครงการรับจำนำข้าว ทั้งที่อยู่ในศาลแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และที่เกี่ยวเนื่องโดยเฉพาะการจะเรียกค่าเสียหายหรือไม่ ควรให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติ อันจะเป็นไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งจะได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ประการสำคัญที่สุดโครงการรับจำนำข้าวนั้นเหตุการณ์และห้วงเวลาไม่ได้เกิดในรัฐบาลนี้ ทั้งท่านก็กล่าวอยู่เนือง ๆ ว่า เข้ามาทำหน้าที่เป็นกรรมการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ก็ไม่น่าที่จะมากระทำการในสิ่งที่ท่านไม่ได้ก่อ โดยมาทำหน้าที่เป็นผู้เล่นเสียเอง แทนที่จะเป็นกรรมการที่เป็นกลางดังกล่าว ซึ่งถ้าหากเห็นว่าทำผิด หรือทุจริต ก็สามารถดำเนินการส่งเรื่องให้กระบวนการยุติธรรมได้ทำหน้าที่ก็ไม่สายเกินการณ์ ถือว่าท่านได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แล้ว จึงขอฝากข้อสังเกตนี้ไว้เพื่อทบทวนในสิ่งที่ท่านได้เคยสื่อสารยังสาธารณะอย่างต่อเนื่องดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ เพื่อให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้ด้วยหลักนิติธรรม
‘ยรรยง’ ขออย่ามัดมือชกชาวนา หวั่นกลไกตลาดข้าวล่มสลาย
วันเดียวกัน(2 พ.ย.58) ยรรยง พวงราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเป็นอดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมการค้าภายใน โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Yanyong Puangraj’ ว่า ตนเฝ้าเกาะติดการทำงานของรัฐบาลเรื่องข้าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพราะตนได้เกิดความรู้จากประสบการณ์จริงว่า จุดอ่อนหรือจุดตาย เรื่องข้าวมีอยู่ 2 จุด คือ 1.ชาวนา และ 2. กลไกตลาดข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ โรงสีและโกดังเก็บข้าว ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยจัดการแปรรูปและเก็บรักษา หากรัฐบาลไม่เร่งช่วยเหลือฟื้นฟูจุดอ่อนทั้งสองส่วนนี้โดยเร็วด้วยวิธีการที่ถูกต้องตรงจุดก็จะทำให้เกิดวิกฤติแก่ชาวนาและอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบอย่างแน่นอน
แต่ดูเหมือนรัฐบาลจะทำตรงกันข้าม คือห้ามหรือชะลอการทำนา ทำให้ชาวนามีผลผลิตลดลงมาก โรงสีและโกดังขาดวัตถุดิบต้องประกาศขายโรงสีหลายร้อยโรง แถมราคาข้าวยังตกตํ่าต่อเนื่อง ทำให้กลไกตลาดตัวจริงคือชาวนาแทบหมดลมหายใจ
“ผมเห็นว่ารัฐบาลกำลังจะนำประเทศเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอย่างรุนแรง คือ 1. การชะลอการขายข้าวคุณภาพดีแต่จะขายเฉพาะข้าวเสื่อมคุณภาพ และ 2. การออกคำสั่ง คสช. ที่ 39/2558 เพื่อนิรโทษกรรมล่วงหน้าสำหรับการบริหารจัดการข้าวรัฐบาลและการใช้อำนาจบริหารลงโทษโครงการรับจำนำข้าว” ยรรยง กล่าว
นอกจากนี้ ยรรยง ยังได้อธิบายสิ่งที่รัฐบาลนี้เองที่สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบและยังสร้างความเสียหายต่อรัฐเพราะการบริหารจัดการที่ผิดพลาด ดังนี้
1. ไม่เร่งรัดระบายข้าว โดยเฉพาะช่วงแรกตั้งแต่เดือนมิถุนายน -พฤศจิกายน 2557 แทบไม่ขายข้าวเลย ทั้งๆที่ชาวนาไม่มีข้าวขาย จึงไม่ต้องกลัวว่าจะกระทบราคาข้าวของชาวนา และจนถึงขณะนี้ก็มีการขายข้าวจริงทั้งแบบเปิดประมูลและแบบจีทูจีน้อยมากเดือนละไม่กี่แสนตัน แถมยังไม่ระบายโดยวิธีอื่นๆด้วยเช่น เปิดประมูลในตลาดชื้อขายสินค้ากษตรล่วงหน้า (AFET) เป็นต้น
ถ้ารัฐบาลวางแผนขายเดือนละ 8 แสนถึง 1 ล้านตัน ก็คงไม่มีข้าวเหลือเป็นภาระแต่อย่างใด ความเสียหายจากการไม่เร่งระบายข้าวสรุปได้ดังนี้
  • 1.1 ทำให้เสียค่าโกดัง ค่ารมยาและค่าประกันภัยเดือนละหลายพันล้านบาทโดยไม่จำเป็น
  • 1.2 ทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพตามระยะเวลา ยิ่งเก็บนานยิ่งเสื่อมมาก
  • 1.3 ทำให้ราคาข้าวในตลาดตกตํ่า เพราะถูกพ่อค้ากดราคาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ราคาข้าวเปลือกเจ้า5% เหลือตันละ 6,500-7,800 บาท (สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตันละ 9,000-11,000 บาท) ราคาขายส่งข้าวสารขาว5% เหลือตันละ 10,500-11,000 บาท (สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตันละ 14,000-15,000) และราคาส่งออก FOB ข้าวขาว5%เหลือเพียง ตันละ 340-370 เหรียญสหรัฐ (สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตันละ 450-500 เหรียญสหรัฐ)
  • นอกจากจะทำให้ชาวนาลดลงมากทั้งที่ผลผลิตลดลงแล้ว ยังทำให้ GDP ข้าวลดลง และเศรษฐกิจหมุนเวียนน้อยลงมาก

2. นอกจากนี้รัฐบาลยังเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบคุณภาพข้าวแบบซํ้าซ้อนและไม่มีประสิทธิภาพ (ทราบว่าจนถึงขณะนี้ยังตรวจอยู่) เพราะข้าว 18 ล้านตันคือ 180 ล้านกระสอบ ต้องเก็บเป็นกองๆกองละประมาณ 20,000 กระสอบวางเรียงกันสูงไม่กิน 30 กระสอบ ในทางปฏิบัติจึงทำได้เพียงสุ่มตรวจเท่านั้น ไม่สามารถรื้อตรวจสอบละเอียดได้เพราะต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูงมาก ที่สำคัญคือไม่มีความจำเป็นต้องตรวจสอบ เพราะมีเงื่อนไขในสัญญากำหนดตัวผู้รับผิดชอบไว้อย่างชัดเจนว่าเจ้าของโกดังหรือเซอร์เวเยอร์จะต้องรับผิดชอบถ้าปรากฎว่าข้าวไม่ได้มาตรฐานหรือมีการปลอมปน และในทางปฏิบัติพ่อค้าที่จะเข้าร่วมประมูลข้าวก็จะส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของตัวเองไปตรวจดูคุณภาพข้าวก่อนเสนอราคาอยู่แล้ว
กรณีที่มีข่าวล่าสุดว่ารัฐบาลจะระบายเฉพาะข้าวเสื่อมคุณภาพ ส่วนข้าวคุณภาพดีจะชะลอการประมูลจนถึงมีนาคม 2559 นั้น
ถ้าดูเผินๆเหมือนจะหวังดีและจะมีผลดีต่อชาวนาเพราะจะไม่ทำให้ข้าวราคาตกตํ่าในช่วงนี้ แต่ความเป็นจริงน่าจะเกิดผลเสียมากกว่า เพราะการเปิดประมูลข้าวเสื่อมโดยมุ่งจะให้ไปใช้ในอุตสาหกรรมพลังงานเท่านั้นแทนที่จะเปิดประมูลทั่วไปจะทำให้ได้ราคาตํ่ามากแค่ตันละ 3,000-5,000บาท จะมีผลทางจิตวิทยาเป็นการชี้นำตลาดให้ราคาข้าวส่วนรวมตกตํ่าลงไปอีก ส่วนการชะลอการขายข้าวคุณภาพดีออกไปหลังมีนาคม2559 นอกจากจะทำให้ข้าวดีเสื่อมสภาพไปอีกและเสียค่าเก็บรักษาจำนวนมากแล้วยังจะทำให้ราคาข้าวตกตํ่าต่อเนื่องไปอีก เพราะตลาดรู้ว่ารัฐบาลยังอุ้มสต็อคอยู่จึงควร จะทยอยระบายไปเรื่อยๆมากกว่า
ส่วนการที่ คสช.อาศัยอำนาจ ม.44 ออกคำสั่งที่ 39/2558 เพื่อนิรโทษกรรมล่วงหน้าการบริหารจัดการข้าวของรัฐบาลและการใช้อำนาจบริหารลงโทษโครงการรับจำนำข้าวนั้น ผมเห็นว่านอกจากจะเป็นคำสั่งที่ขัดต่อ ม.44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ เพราะไม่เข้าข่าย 3 กรณีที่ให้อำนาจ คสช.ออกคำสั่งได้แต่อย่างใด คือ 1. เพื่อปฏิรูปด้านต่างๆ 2. เพื่อส่งเสริมสามัคคีและสมานฉันท์ 3. เพื่อป้องกัน ระงับยับยั้ง ปราบปรามการบ่อนทำลายต่างๆ เพราะการบริหารจัดการข้าวเป็นการบริหารตามปรกติ ไม่มีเหตุผลและความชอบธรรมใดๆที่จะใช้อำนาจพิเศษเลย
นอกจากนี้ คำสั่งที่ 39/2558 นี้ ยังเป็นการซํ้าเติม "จุดอ่อน" หรือ "จุดตาย" เรื่องข้าวอย่างรุนแรง เพราะจะทำให้ขาดความเชื่อมั่นต่อกลไกการบริหารงานของรัฐบาล เพราะคำสั่งนี้นิรโทษกรรมไว้ล่วงหน้าแล้ว ไม่ว่าจะทำให้ใครได้รับความเสียหายรุนแรงแค่ไหน ถูกต้องตามหลักนิติธรรมหรือไม่ โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเพียงใด ก็จะอ้างว่าสุจริต และในที่สุดจะไม่ถูกตรวจสอบโดยกระบวนการยุติธรรมได้เลย
ที่สำคัญคือเป็นการซ้ำเติมและลิดรอนสิทธิชาวนา เจ้าของโรงสีและโกดัง รวมทั้งข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของคณะกรรมการที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้คำสั่งฉบับนี้ เช่น ถ้าประมูลข้าวเสื่อมให้พลังงานได้ราคาเพียงตันละ 3,000-5,000 บาท เจ้าของโกดังหรือเซอร์เวเยอร์จะถูกสั่งให้ชดใช้ส่วนต่างกับราคาตลาดคือตันละ 11,800-12,000 บาท ในขณะที่เจ้าของโกดังไม่ได้ร่วมตรวจสอบคุณภาพข้าวและไม่ยอมรับผลดังกล่าว ก็จะไม่มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาล ส่วนชาวนาที่ถูกสั่งห้ามหรือให้ชะลอการทำนา และถูกซํ้าเติมด้วยราคาข้าวตกตํ่าก็ไมมีสิทธิเรียกร้องใดๆ ทั้งสิ้น

มีผู้พบเห็นแสงอุกกาบาตพาดผ่านท้องฟ้าประเทศไทย - 2 พ.ย. 58


2 พ.ย. 2558 - เมื่อเวลา 20.38 น. คืนนี้ (2 พ.ย.) มีรายงานการพบเหตุอุกกาบาตขนาด "ลูกไฟ" โคจรผ่านท้องฟ้าประเทศไทย โดยในช่วงที่อุกกาบาตเปล่งแสง ปรากฏเป็นแสงสีเขียวสว่างไปทั่วท้องฟ้าเป็นระยะเวลาราว 1-2 วินาที
ภาพดาวตกที่มองเห็นจากกล้องบันทึกภาพของรถยนต์ เมื่อ 2 พ.ย. 2558 (ที่มา: Rama9 - 159/YouTube)

 

วิดีโอที่เผยแพร่ในเพจ YouLike โดยคุณ Moji Mayavi ขณะบันทึกเหตุการณ์ประเพณีรำพาข้าวสาร โดยในช่วงที่อุกกาบาตตกปรากฏเป็นแสงสว่างขึ้นมาในยามกลางคืน (ที่มา: YouLike)

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า อนึ่ง ในวิกิพีเดีย คำว่า อุกกาบาต (Meteor) หรือที่เรียกกันว่า "ดาวตก" (Shooting Star) หมายถึง การพุ่งเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกของ สะเก็ดดาว (Meteoroid) ละอองดาว (micrometeoroid) ดาวหาง (comet) หรือ ดาวเคราะห์น้อย (asteroid) โดยเกิดการเผาไหม้จากการเสียดสีกับอนุภาคของอากาศในชั้นบรรยากาศที่อยู่ระดับสูง และทำให้วัตถุที่เป็นองค์ประกอบของอุกกาบาตเกิดเปล่งแสง และเพียงพอที่จะทำให้เกิดแสงที่มองเห็นได้ โดยอุกกาบาตมักลุกไหม้ในชั้นบรรยากาศช่วงมีโซสเฟียร์ ตั้งแต่ความสูง 76 ถึง 100 กม.
โดยในแต่ละวันมีอุกกาบาตเป็นล้านชิ้นที่พุ่งเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลก แต่สะเก็ดดาวที่ทำให้เกิดอุกกาบาตมีขนาดประมาณเม็ดทรายเท่านั้น บางทีก็เกิดขึ้นในรูปแบบฝนดาวตก เมื่อโลกโคจรผ่านเศษละอองของดาวหาง
ทั้งนี้อุกกาบาตจะเริ่มมองเห็นได้ตั้งแต่ระยะ 75 ถึง 220 กม. จากพื้นผิวโลก และจะเริ่มแตกกระจายเมื่อตกลงมาถึงระยะ 50 ถึง 95 กม. โดยอุกกาบาตตกทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน แต่ที่มองเห็นในตอนกลางคืนมากกว่าเป็นเพราะช่วงกลางคืน ความมืดทำให้วัตถุที่มีแสงสว่างน้อยปรากฏเห็นชัด โดยที่แสงที่เกิดจากการลุกไหม้เสียดสีกับอากาศของอุกกาบาตเกิดขึ้นกินเวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์ "ลูกไฟ" (fireball) ซึ่งใช้เรียกอุกกาบาตที่มีความสว่างมากกว่าอุกกาบาตทั่วไป โดยสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) นิยามว่า "ลูกไฟ" หมายถึงอุกกาบาตที่มีแสงสว่างบนท้องฟ้ากว่าดาวเคราะห์
ขณะที่หากอุกกาบาตแบบลูกไฟ มีความสว่างระดับเดียวกับพระจันทร์เต็มดวง ก็จะเรียกว่า "โบไลด์" (bolide) อย่างเช่น เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2556 มีอุกกาบาตเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 เมตร มีมวลราว 12,000 เมตตริกตัน เคลื่อนผ่านท้องฟ้าเหนือเมืองเยกาเตรินเบิร์กและเทือกเขาอูราลในแคว้นเชลยาบินสก์ของรัสเซีย ก่อนเกิดการปะทุขึ้นและมีชิ้นส่วนตกลงในทะเลสาบเมืองเชบากูล สร้างเสียงดังและแรงสั่นสะเทือนทำให้กระจกอาคารแตก และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1,491 คน และมีอาคารได้รับความเสียหายราว 7,200 แห่ง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) (ข้อมูลในวิกิพีเดีย)
ทั้งนี้ในปี 2557 สมาคมอุกกาบาตอเมริกัน (American Meteor Society) บันทึกว่ามีผู้เห็นอุกกาบาตแบบ "ลูกไฟ" เกิดขึ้นกว่า 3,751 ครั้ง ขณะที่มีความเป็นไปได้ว่าปีหนึ่งๆ เกิดปรากฏการณ์ "ลูกไฟ" นับ 500,000 ครั้งในแต่ละปี แต่มักเกิดขึ้นโดยไม่มีการบันทึกเนื่องจากไปเกิดในบริเวณที่ไม่มีมนุษย์อาศัย รวมทั้งมหาสมุทร และอีกครึ่งหนึ่งก็ไปเกิดในช่วงกลางวัน

สืบพยานคดีระเบิดเวที กปปส.ตราด ชุดสุดท้าย นัดพิพากษา 26 ม.ค. 59

3 พ.ย. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 21-22 ต.ค.2558 ศาลจังหวัดตราด นัดสืบพยานจำเลยคดีระเบิดเวที กปปส.ตราด สามแยกบางกระดาน ตลาดยิ่งเจริญ จ.ตราด เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2557 คดีหมายเลขดำที่ 1213/2557 ซึ่งมีจำเลยในคดี 3 คน จำเลยที่ 1 วัชระ กระจ่างกลาง จำเลยที่ 2 สมศักดิ์ พูลสวัสดิ์ และจำเลยที่ 3 สมศักดิ์ สุนันท์ โดยการสืบพยานครั้งนี้เป็นสองวันสุดท้ายซึ่งเป็นกลุ่มพยานที่ยืนยันเรื่องสถานที่ของจำเลยทั้งสามคนในวันเกิดเหตุ หลังสืบพยานเสร็จสิ้นศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 ม.ค. 2559
บุตรชายจำเลยเบิกความยืนยันสถานที่ในวันเกิดเหตุ
บ่ายวันที่ 21 ต.ค. นายศิลา พูลสวัสดิ์ ลูกชายของสมศักดิ์ พูลสวัสดิ์ เบิกความว่า เขาอาศัยอยู่กับสมศักดิ์และแม่ใหม่มีธุรกิจร้านข้าวต้มที่แก่งหางแมว, บ้านที่ทำสวนกล้วยอยู่ห่างจากร้านไป 5 กม.และสวนผลไม้ที่ตำบลบ่อไร่ โดยครอบครัวจะอาศัยอยู่ที่ร้านอาหารที่แก่งหางแมว ส่วนตัวเขาเองอาศัยอยู่ที่ร้านอาหารและบ้านสวนกล้วยแต่ไม่ค่อยได้ไปสวนผลไม้ที่บ่อไร่
ศิลาเล่าถึงในช่วงเวลาที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 22 ก.พ.2557 ว่าช่วง 6 โมงเช้า สมศักดิ์ขับรถจากจังหวัดตราดเอาอุปกรณ์สำหรับทำอาหารที่ร้านข้าวต้มมาให้ จากนั้นไปที่บ้านสวนกล้วย จนกระทั้ง 10 โมงเช้าจึงกลับมากินข้าวและอาบน้ำที่ร้านอาหาร หลังจากนั้นสมศักดิ์ก็กลับไปที่บ้านสวนกล้วยอีก พอประมาณ 2 ทุ่มก็กลับมาอาบน้ำกินข้าวที่ร้านประมาณ 3 ทุ่ม สมศักดิ์ก็เดินทางไปจังหวัดตราด
เวลาประมาณหลังเที่ยงคืนถึงตี 1 ก็มีเหตุการณ์แขกที่มาร้านข้าวต้มทะเลาะกับพนักงานของร้าน เขาจึงแจ้งให้แม่ใหม่ติดต่อสมศักดิ์เพื่อให้ทราบถึงเหตุการณ์ดังกล่าวตอนประมาณตี 1 จึงทราบว่าพ่ออยู่ที่ตำบลบ่อไร่ เวลาที่ใช้เดินทางจากบ้านที่เป็นร้านอาหารถึงสถานที่เกิดเหตุประมาณชั่วโมงกว่าๆ ถึงสองชั่วโมง รถของสมศักดิ์เป็นรถแคป 4 ประตู
ศิลาไม่เคยรู้จักกับเศก จันทรสาร ไม่เคยเห็นสมศักดิ์พาคนแปลกหน้ามาที่ร้านข้าวต้ม
อาจารย์สักเบิกความจำเลยอยู่สำนักสักฯ 2 วัน พักที่บ้านศิลาทั้ง 2 คืน
ต่อมาวันที่ 22 ต.ค. นัดสืบนายจำรัส นาคษี เป็นช่างตัดผมและรับจ้างสักยันต์และครูบาอาจารย์ทางจิตวิญญาณของนายวัชระ กระจ่างกลาง เขารู้จักกับวัชระเพราะเป็นลูกชายของช่างที่ร้าน ซึ่งวัชระก็ให้เขาสักยันต์ให้และให้เคารพ
นายจำรัสเบิกความว่าสำนักสักยันต์ของเขาจัดพิธีไหว้ครูปีละหนึ่งครั้งช่วงปลายเดือนกุมพาพันธ์ เนื่องจากเป็นช่วงที่อาจารย์ของเขากำหนดไว้จะเป็นวันเสาร์-อาทิตย์เพราะคนสามารถมาร่วมได้ โดยในปี 2557 จัดในวันเสาร์และวันอาทิตย์ที่ 22-23 ก.พ.
โดยวันที่ 22 ในตอนเช้าจะถวายเพลและปลุกเสกของวัตถุมงคลในตอนเย็น พิธีของวันนี้เสร็จตอนเวลาประมาณ 2 ทุ่ม วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ตอนเช้าไหว้ศาลเมตตาและสักบรรจุให้กับคนที่มาร่วมงาน และจากนั้นก็ครอบเศียร โดยจบพิธีการตอน 4-5 โมงเย็น นี่คือกำหนดการของพิธีการ
ซึ่งวัชระก็ทราบถึงวันจัดงานและมาถึงงานในวันที่ 22 ก.พ. ตอนประมาณบ่าย 2 โมง แต่ไม่ได้บอกว่าเดินทางมาจากที่ใด โดยอยู่ที่สำนักสักยันต์เป็นเวลา 2 วันและนอนพักที่บ้านศิลาทั้ง 2 คืน วัชระออกไปในวันที่ 24 ทนายความได้เอาภาพถ่ายในงานให้เขาดูซึ่งมีแต่ภาพของวันที่ 23 ที่มีวัชระ เพราะวันที่ 22 วัชระมาไม่ทันช่วงถวายเพล
นายศิลาเบิกความต่อว่าเขาเคยถูกพนักงานสอบสวนสอบปากคำแล้วที่สภ.เขาสมิงและที่จังหวัดชลบุรี แต่จำไม่ได้ว่าเมื่อไหร่คาดว่าประมาณต้นปี 2558 เขาถูกควบคุมตัวก่อนการสอบสวนประมาณ 1 วัน โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบจำนวน 8 นาย ก็มาจับตัวที่ร้านตัดผมและนำไปที่ชลบุรี
ที่ชลบุรีเขาถูกสอบสวนเรื่องเหตุระเบิดที่จังหวัดตราดการสอบสวนเสร็จประมาณบ่าย 3 โมง จากนั้นก็ถูกส่งไปถึงที่เขาสมิง 4 ทุ่ม รายละเอียดปรากฎตามเอกสารคำให้การของพยานในชั้นสอบสวน แต่ในคำให้การที่ระบุว่าวันที่ 22 ก.พ.เขาไปรับลูกนั้น ตอนที่เขาถูกถามถึงวันที่ 22 พ.ค.ทำอะไร แต่ในบันทึกกลับปรากฎว่าเป็นวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ส่วนวันที่ 22 พฤษภาคมเขาพาลูกไปเข้าเรียนที่โรงเรียนดุริยางคศิลป์ ทหารเรือ จากนั้นทนายความนำส่งเอกสารการชำระเงินค่าเทอมและค่าธรรมเนียมให้แก่ศาล
นายศิลาเบิกความว่าระหว่างถูกสอบสวนเขารู้สึกกลัว และเขายืนยันว่าการเบิกความในศาลวันนี้เป็นความจริง
ช่วงอัยการถามค้านอัยการถามนายศิลาเรื่องสวนยางของเขา ศิลาตอบว่าเคยมีสวนยางอยู่ข้างหลังบ้านแต่โค่นไปแล้วเมื่อช่วงต้นปี 2558 เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเชิญตัวไปขณะกำลังตัดผมอยู่ที่ร้าน และเขาให้การกับตำรวจในฐานะพยานส่วนรูปถ่ายตอนไปพิธีไหว้ครูที่ตำรวจนำมาให้เขาดูรูปที่ถ่ายของเมื่อราว 3 ปีก่อน ซึ่งถ่ายที่สวนยางของเขาในจังหวัดจันทบุรี อัยการได้ถามศิลาในประเด็นบันทึกคำให้การเขาตอบว่าลายมือในบันทึกเป็นของเขาแต่เขาไม่ยืนยันข้อความในบันทึกนั้น
อัยการได้ถามจำรัสประเด็นที่เขาพาลูกไปสมัครเรียนโดยเขาตอบว่า ขณะลูกชายนี้เรียนอยู่ที่โรงเรียนดุริยางคศิลป์ ทหารเรือ โดยสอบเข้าเรียนตั้งแต่วันที่18 เม.ย.2557 และชำระค่าใช้จ่ายกับทางโรงเรียนเมื่อวันที่ 28 เม.ย. และพาลูกชายเข้าเรียนในวันที่ 22พ.ค. แต่มีเพียงแค่ใบเสร็จยืนยันเท่านั้น ซึ่งทนายได้ถามติงในประเด็นนี้โดยศิลาได้ตอบว่ายืนยัน มีการส่งมอบตัวจริง แต่ทางโรงเรียนไม่มีการทำหลักฐานยืนยันให้
ส่วนในประเด็นภาพถ่ายที่ศิลาให้การถึงในชั้นสอบสวน ภาพถ่ายที่ตำรวจให้เขาดูเป็นภาพที่ถ่ายตอนที่เขาไปไหว้ครูที่จันทบุรีและมีวัชระอยู่ในภาพด้วย และเขายืนยันว่าคำให้การในส่วนนี้ที่อยู่ในบันทึกคำให้การนั้นถูกต้องแล้ว
พยานปากต่อมาคือนายแพร พันธ์พรม เขาเล่าว่าเคยรู้จักกับวัชระตั้งแต่สมัยเด็กตอนเรียนชั้นประถมศึกษา เนื่องจากบ้านอยู่ใกล้กัน 1 กิโลเมตร และรู้จักกับพ่อแม่ของวัชระแต่รู้แค่ชื่อเล่นไม่รู้จักชื่อจริง แต่วัชระก็ไม่ได้อยู่บ้านหลังเก่านี้ตั้งแต่จบชั้นประถมและวัชระก็ได้ขายบ้านของพ่อแม่ไปแล้ว
ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 แพรได้รับโทรศัพท์จากนางบุญมีจ้างให้เขามาเก็บเงาะ พอมาถึงสวนเวลา 7 โมงเช้า เขาก็เข้าไปในสวนไม่ได้เพราะทหารกั้นไม่ให้เข้าสวน เขารออยู่จนประมาณ 8 โมงเช้าก็ยังไม่ได้เข้า และไม่ได้เจอนางบุญมีเลย เขาจึงกลับบ้าน แต่ในวันรุ่งขึ้นเขาก็กลับมาอีกครั้งแต่เขาก็ไม่รับอนุญาตจากทหารให้เข้าไปได้และทหารได้ยึดสวนเอาไว้ 60 วัน ระหว่างนี้นายก อบจ.ได้เข้ามาเก็บเงาะในสวน
นางบุญมีโทรศัพท์หาให้ไปช่วยดูแลสุนัขที่บ้าน แต่เขาไม่เคยเจอวัชระที่บ้านของนางบุญมี
นางสาวสนิสา กระจ่างกลาง เธอเป็นผู้ที่อาศัยอยู่กับวัชระที่จังหวัดระยองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เธอเล่าว่าเมื่อวันที่ 22ก.พ.2557 ประมาณช่วงเย็นไปแล้วขณะเธอเลี้ยงลูกสาวที่กำลังไม่สบายอยู่ที่บ้าน วัชระก็เข้ามาที่บ้านไม่ได้บอกว่ามาจากไหน วัชระแค่เข้ามาที่บ้านอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงถามหาชุดขาวเพราะจะเอาไปไหว้ครูเท่านั้น ที่จำได้ก็เพราะว่ารุ่งขึ้นเธอพาลูกสาวไปรักษาที่โรงพยาบาล แต่หลังจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ก็ไม่ได้เจอวัชระ
ภายหลังสืบพยานปากสุดท้ายเสร็จสิ้นศาลได้กระบวนพิจารณาว่าศาลอนุญาตให้ทนายความจำเลยทำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรส่งต่อศาลภายใน 20 วัน และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 มกราคม 2559 เวลา 9.00 น. โดยศาลให้เหตุผลที่ทำคำพิพากษาล่าช้าเพราะมีคดีที่ต้องพิพากษาติดพันหลายคดีและต้องส่งร่างคำพิพากษาไปให้สำนักงานศาลอุทธรณ์ ภาค 2 ตรวจ ตามระเบียบ ทางทนายจำเลยได้ขอคัดถ่ายคำเบิกความพยาน แต่ศาลอ้างว่าไม่สามารถให้ได้เนื่องจากศาลต้องใช้ในการทำคำพิพากษา

วิษณุปัดใช้ ม.44 แกล้งยิ่งลักษณ์ปมจำนำข้าว ชี้หากทำจริงก็ยึดได้ทันทีแล้ว


2 พ.ย. 2558 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  กล่าวถึงกรณีที่นายบุญทรง เตริยาภิรมณ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  ระบุคำสั่ง คสช ที่ 39/2558 ที่ให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินคดีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้อง ในคดีทุจริตจำนำข้าว แสดงให้เห็นว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ และโครงการรับจำนำข้าว เป็นเหยื่อทางการเมือง ว่า  คำสั่งดังกล่าวไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ใช้เล่นงาน น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาล อย่างที่นายบุญทรง กล่าวหา เพราะหากตั้งใจใช้ ม.44 จริง สามารถสั่งยึด อายัดทรัพย์ได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
“คำสั่งดังกล่าว ถือเป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่ทำงานด้วยความระวัดระวัง สุจริต หากมั่นใจว่าการทำหน้าที่ทุกอย่างถูกต้อง ก็ไม่ต้องกลัวจะถูกฟ้องร้องตามกฎหมาย และจะไม่ถูกเล่นงานเอาผิดทางวินัยย้อนหลัง คำสั่งนี้ใช้บังคับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับฝ่ายที่ถูกกล่าวหา โดยจะคุ้มครองคดีถึงที่สิ้นสุด ส่วนการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาล สามารถทำได้แต่ต้องดำเนินการด้วยความสุจริต ซึ่งหลังจากนี้จะกำหนดมาตรการมาควบคุมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่” นายวิษณูกล่าว
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงการขยายระยะเวลาคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวของกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ว่า ได้ขยายเวลาออกไปอีก 1เดือน ซึ่งหากการตรวจสอบยังไม่แล้วเสร็จก็ยังสามารถขยายเวลาออกไปได้อีก แต่ต้องดูความเหมาะสมและต้องไม่ให้คดีขาดอายุความที่กำหนดไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2560 เพราะเมื่อสรุปความเสียหายแล้ว ต้องส่งต่อให้คณะกรรมการพิจารณาความผิดทางแพ่งที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธานดำเนินการต่อ และขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นการตรวจสอบเบื้องต้นจึงไม่ควรใช้เวลามากนัก แต่เหตุที่มีการขอขยายเวลาเนื่องจากต้องรอพยานของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหามาเข้ามาให้ข้อมูล
พล.ต.สรรเสริญ แจงใช้ ม.44 เพื่อช่วยระบายข้าวให้เร็วขึ้น
ขณะที่ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจง กรณีคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 39/2558 เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐ และการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด ว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นเครื่องมือหนึ่งในการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล  ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับการดำเนินคดีของผู้กระทำผิด ที่ต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนปกติ  จึงไม่ต้องการให้สังคมเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
“เนื่องจากขณะนี้ยังมีข้าวตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลในอดีต คงเหลืออยู่ในการดูแลของรัฐทั่วประเทศเป็นปริมาณมหาศาล จึงจำเป็นต้องระบายออก เพื่อไม่ให้เป็นภาระ ทั้งค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาในโกดังต่าง ๆ และการถูกกดราคา หากเก็บไว้นานกว่านี้” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า  การดำเนินการระบายข้าว มีความยากลำบากในการปฏิบัติหลายด้าน เช่น บางคลังมีข้าวล้มกอง จำเป็นต้องจำหน่ายเหมาคลัง ซึ่งอาจมีข้าวใช้ได้ปะปนอยู่บ้าง แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถแยกแยะได้ นอกจากนี้ ยังมีคดีที่เกี่ยวข้องกับการระบายข้าวหลายคดี และสต็อกข้าวที่จะระบาย จะมีราคาที่แตกต่างจากราคารับจำนำค่อนข้างมาก เพราะเป็นข้าวเสื่อมสภาพ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่กล้าตัดสินใจในการดำเนินการ และหาผู้ปฏิบัติงานได้ยาก
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ดังนั้น คำสั่งดังกล่าวจะช่วยคุ้มครองผู้ปฏิบัติงาน ทั้งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และอีกหลายส่วน ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น และป้องกันการถูกกล่าวหาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน
“การใช้มาตรา 44 จะช่วยให้การระบายข้าวเร็วขึ้น ทั้งข้าวดีและข้าวเสื่อมสภาพ รวมทั้ง ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการข้าวในสต็อกของรัฐ และช่วยให้ตลาดข้าวกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วได้ รัฐบาลขอยืนยันว่า แม้จะมีคำสั่ง หน.คสช.ดังกล่าวออกมา แต่ทุกอย่างก็ต้องดำเนินการไปตามข้อกฎหมายและระเบียบขั้นตอนในการระบายข้าว ด้วยความโปร่งใส ไม่ใช่การใช้อำนาจตามอำเภอใจ” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
‘พาณิชย์’ เผย ม.44 คุ้มครองระบายข้าวทำให้ขรก.ทำงานคล่องตัวขึ้น
วานนี้ (1 พ.ย. 58) นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 39/2558 เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐ ว่า ถือเป็นการคุ้มครองผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการระบายข้าว เนื่องจากการระบายอาจมีความเสี่ยงหลายด้าน เนื่องจากข้าวในสต๊อกมีราคาแตกต่างจากราคารับจำนำค่อนข้างมากเพราะเป็นข้าวเสื่อมสภาพ โดยคุ้มครองตั้งแต่ คสช. เข้ามาบริหารจัดการข้าว ส่วนผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต จะไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีของผู้กระทำผิด  
ทั้งนี้ การใช้มาตรา 44 จะเป็นเครื่องมือให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งยอมรับที่ผ่านมา ข้าราชการที่ปฏิบัติงานมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะการถูกฟ้องร้อง เพราะข้าวในสต๊อกยังติดคดีรับจำนำที่ต้องอาศัยขั้นตอนทางกฎหมายหลายขั้นตอนและมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดี
"เราจะต้องระบายออกเพื่อไม่ให้เป็นภาระ ถ้าเก็บไว้นานก็จะกดราคาข้าว จึงมีความจำเป็นต้องเร่งระบายออก อย่างไรก็ตามในการทำงานแม้ว่าจะมีมาตรา 44 ออกมา แต่ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามระเบียบขั้นตอนในการระบายข้าวและเป็นไปตามกฎหมาย ไม่สามารถอ้างว่ามีมาตรา 44 มาคุ้มครองแล้วทำอะไรก็ได้" นางอภิรดี ระบุ
นางอภิรดี เปิดเผยอีกว่าการใช้มาตรา 44 ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล เพราะเป็นการดูแลในทางปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้มีความเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานมากขึ้น ซึ่งมีหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว คณะอนุกรรมการระบายข้าว เจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชน คณะทำงานระบายข้าว
กรมการค้าต่างประเทศ รับ ม.44 การระบายข้าวทำได้รวดเร็วมากขึ้น
ขณะที่นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ยอมรับว่ามาตรา 44 จะช่วยให้การระบายข้าวทำได้รวดเร็วมากขึ้น ทั้งข้าวดีและข้าวเสื่อมคุณภาพ โดยจะคำนึงถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม ขณะที่นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่าที่ผ่านมารัฐบาลช่วยปลดล็อคมาตรการต่างๆได้พอสมควร เช่น การรับมอบข้าวของรัฐที่สะดวกมากขึ้น ซึ่งการใช้มาตรา 44 จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการข้าวในสต็อกของรัฐ และช่วยให้ตลาดข้าวกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วได้

ส่อง 10 นิด้าโพลการเมืองในรอบปี หลังเสนอตัวรวมความเห็นร่างรธน.ให้กรธ.ฟรี

หลังจากเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวว่า การประชุมกรธ. ได้หารือถึงผลสำรวจความคิดเห็นหรือโพลของสำนักหนึ่งที่สอบถามประชาชนว่าการเลือกตั้งควรเป็นสิทธิ์หรือหน้าที่ โดยผลพบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นควรให้การเลือกตั้งเป็นสิทธิ์ จึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต้องนำมาพูดคุยกันอีกครั้ง เพราะยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
“ที่ประชุมคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) พร้อมสนับสนุนการจัดทำผลสำรวจโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อนำความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ มาประกอบการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญด้วย” โฆษก กรธ.

สำรวจ 10 นิด้าโพลต่อประเด็นการเมืองที่น่าสนใจในรอบปีที่ผ่านมา

  • 1.     นิด้าโพลระบุประชาชนแนะตัดสิทธิการเมืองคนไม่ไปเลือกตั้ง (โพสต์ทูเดย์, 1 พ.ย.58)
  • โดยโพลถามความคิดเห็นของประชาชน (เฉพาะผู้ที่ตอบว่าการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งควรเป็น “หน้าที่”) ต่อแนวทางที่ดีที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการลงโทษผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.19 ระบุว่า ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งควรเสียสิทธิทางการเมือง รองลงมา ร้อยละ 28.11 ระบุว่า ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งควรเสียสิทธิทางสวัสดิการสังคมร้อยละ 6.30 ระบุว่า ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งควรเสียค่าปรับในอัตราที่สูง
  • 2.     นิด้าโพลเผยประชาชนเชื่อมั่น กรธ. แต่เกือบครึ่งระบุ ไม่เคยรู้จักมาก่อน (มติชนออนไลน์, 11 ต.ค.58)
  • โพลถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันว่าจะสามารถร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนได้พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 15.51 ระบุว่า มีความเชื่อมั่นมาก ร้อยละ 33.89 ระบุว่า ค่อนข้างมีความเชื่อมั่น ร้อยละ 20.94 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความเชื่อมั่น ร้อยละ 11.19 ระบุว่า ไม่มีความเชื่อมั่นเลย และร้อยละ 18.47 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
  • เมื่อถามถึงการรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดปัจจุบันทั้ง 21 คน ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.04 ระบุว่า ไม่รู้จักและไม่เคยได้ยินชื่อใครเลย ซึ่งมีสัดส่วนเท่ากันกับผู้ที่ระบุว่า รู้จักหรือเคยได้ยินชื่อประมาณ 1 – 5 คน ร้อยละ 6.55 ระบุว่า รู้จักหรือเคยได้ยินชื่อประมาณ 6 – 10 คน ร้อยละ 2.16 ระบุว่า รู้จักหรือเคย ได้ยินชื่อประมาณ 11 – 15 คน ร้อยละ 1.04 ระบุว่า รู้จักหรือเคยได้ยินชื่อประมาณ 16 – 20 คน ร้อยละ 2.00 ระบุว่า รู้จักหรือเคยได้ยินชื่อ ทุกคน และร้อยละ 0.16 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
  • 3.     นิด้าโพลระบุประชาชนหนุนเขียนกติกาล้างไพ่พรรคการเมืองใหม่ (เดลินิวส์, 27 ก.ย.58)
  • โพลระบุว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.68 เห็นด้วยกับการกำหนดในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้พรรคการเมืองทุกพรรคต้องไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะจะได้เป็นการจัดระเบียบพรรคการเมืองใหม่ ให้มีระเบียบและข้อปฏิบัติร่วมกันที่ชัดเจนมากขึ้น เกิดความเท่าเทียมกันทุกพรรค ไม่ต้องยึดติดกับพรรคการเมืองมากเกินไป  ไม่ต้องการเห็นระบบเก่า ๆ ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงประเทศ ถือเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ขณะที่ร้อยละ 15.44 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะไม่มีความจำเป็น และไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด เป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อน เสียเวลาและสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ
  • 4.     นิด้าโพล ระบุ ปชช.มอง ประยุทธ์ ทำงานดี โปร่งใส-ตรวจสอบได้ หนุนประชามติอยู่ต่อ 2 ปี (มติชนออนไลน์, 24 ส.ค.58)
  • พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.50 ระบุพล.อ.ประยุทธ์ ทำงานในตำแหน่งนายกฯ ได้ค่อนข้างดี ขณะที่ร้อยละ 38.80 ระบุว่า ทำได้ดีมาก โดยให้เหตุผลว่า จาก 1 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์บ้านเมืองไม่มีความวุ่นวาย ความขัดแย้งทางการเมือง ทำงานดีกว่านายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง มีความเด็ดขาด พูดจริงทำจริง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของข้าราชการ และผู้มีอิทธิพล แต่ยังมีข้อบกพร่องในบางเรื่องอยู่บ้าง โดยเฉพาะการบริหารจัดการ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ มีเพียงร้อยละ 9.50 ระบุว่า ทำงานในตำแหน่งนายกฯ ได้ไม่ค่อยดี และร้อยละ 3.20 ระบุว่าทำได้ไม่ดีเลย
  • ขณะที่ด้านความโปร่งใส ตรวจสอบได้ในการทำงาน ร้อยละ 70.80 ระบุว่าการทำงานมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ร้อยละ 10.70 ระบุว่าไม่มีความโปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้
  • ส่วนเรื่องการตัดสินใจของประชาชน หากมีการทำประชามติว่าจะให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่ออีก 2 ปีหลังจากมีรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.30 ระบุว่าจะลงมติเห็นด้วยกับการให้รัฐบาลอยู่ต่ออีก 2 ปีเพื่อ ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ขณะที่ ร้อยละ 19.20 ระบุว่าจะลงมติไม่เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว
  • 5.     นิด้าโพลระบุประชาชนแนะทักษิณปิดปากหยุดวิจารณ์รัฐ (เดลินิวส์, 19 ส.ค.58)
  • นิด้าโพลสำรวจความเห็นกรณีที่มีคลิปวิดีโอของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ออกมาวิพากษ์ วิจารณ์ถึงสถานการณ์บ้านเมือง การทำงานของรัฐบาล และร่างรัฐธรรมนูณฉบับใหม่ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.76 ไม่เห็นด้วยกับคำพูดของ พ.ต.ท.ที่ระบุว่า “รัฐธรรมนูญฉบับที่จะออกมาถือว่าเลวร้ายที่สุดแล้ว  เป็นรัฐธรรมนูญที่คนไทยไม่ยอมรับ ไม่ทำให้ประเทศดีขึ้น”  รองลงมา ร้อยละ 20.40  ระบุว่า เป็นสิทธิส่วนบุคคลในการวิพากษ์วิจารณ์  และร้อยละ 17.04  ระบุว่า เป็นการสร้างกระแสความแตกแยกในสังคม  
  • ส่วนบทบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ควรทำในสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.44  ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ควรอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องพูดหรือเคลื่อนไหวใด ๆ รองลงมา ร้อยละ 26.32 ระบุว่า ควรกลับประเทศไทยมารับโทษตามคำตัดสินของศาล และร้อยละ 14.72
  • 6.     นิด้าโพล ชี้ ปชช.ส่วนใหญ่อยากให้ สปช.และประชามติ รับร่างรธน. (มติชนออนไลน์, 31 ส.ค.58)
  • โพลระบุพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.70 ระบุว่า ต้องการเห็น สปช. ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะ จะได้เป็นไปตามแผน Rode Map ตามที่ คสช. วางไว้ และเข้าสู่กระบวนการต่อไป เชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ จะเป็นการลดอำนาจของกลุ่มนักการเมืองที่เข้ามามุ่งหวังผลประโยชน์ โดยเฉพาะที่มาของนักการเมืองและการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งน่าจะดีกว่าฉบับเดิม รองลงมา ร้อยละ 22.82 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ระบุ/เป็นเรื่องของ สปช. ร้อยละ 20.11 ระบุว่า ต้องการเห็น สปช. ลงมติงดออกเสียง ร้อยละ 14.37 ระบุว่า ต้องการเห็น สปช. ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้มาจากประชาชน บางหมวดยังไม่มีความชัดเจน มีช่องว่างที่ยังต้องแก้ไขอยู่ และถึงแม้ว่าผ่านความเห็นชอบมาแล้ว สุดท้ายก็ยังมีการเสนอแก้ไขใหม่อยู่ดี
  • 7.     นิด้าโพลระบุประชาชนค้าน นศ.เคลื่อนไหว แนะให้โอกาสรัฐทำงาน (เดลินิวส์, 12 ก.ค.58)
  • โพลระบุ ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษา นักวิชาการ องค์กรทางสังคมและการเมือง และพรรคการเมือง ที่ควรจะเป็นในสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.34 ระบุว่า ควรอยู่เฉย ๆ เพราะควรให้โอกาสรัฐบาลได้ทำตามแผนที่วางไว้  ไม่ต้องการเห็นกลุ่มคนต่าง ๆออกมาแทรกแซง หรือเข้ามาวุ่นวาย สร้างความเดือดร้อนให้กับประเทศชาติ ซึ่งขัดกับหลักความปรองดองและการปฏิรูปประเทศ รวมถึงยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รองลงมา ร้อยละ 15.27 ระบุว่า ควรออกมาสนับสนุน เพราะเป็นการชี้แนะถึงแนวทางในการทำงานและการแก้ไขปัญหาของประเทศ ซึ่งจะสามารถช่วยให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปได้ และขณะนี้รัฐบาลก็ทำงานอย่างเต็มที่ในการปฏิรูปประเทศ และร้อยละ8.59 ระบุว่า ควรออกมาต่อต้าน เพราะต้องการเห็นความคิดเห็นที่หลากหลายจากหลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ
  • 8.     นิด้าโพลระบุประชาชนแนะปฏิรูปให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง (เดลินิวส์, 31 พ.ค.58)
  • โพลระบุประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 68.56 อยากให้มีการปฏิรูปให้เรียบร้อยก่อนการเลือกตั้ง เพราะระบบเก่าที่ผ่านมายังมีปัญหาต่าง ๆ ที่ควรได้รับกาแก้ไขใหม่ เพื่อเป็นการวางแผนไว้ล่วงหน้า ควรมีการเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปประเทศให้มั่นคงก่อนเพื่อปูทางให้รัฐบาลชุดต่อไปสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น และลดปัญหาความขัดแย้งที่จะตามมา การเลือกตั้งสามารถทำเมื่อไหร่ก็ได้ มีเพียงร้อยละ 24.00 ระบุว่าควรมีการเลือกตั้งโดยเร็วก่อนแล้วค่อยให้รัฐบาลใหม่เดินหน้ากระบวนการปฏิรูปประเทศ เพราะควรเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยให้เร็วที่สุด เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่น และภาพลักษณ์ที่ดีให้กับชาวต่างชาติ ควรมีรัฐบาลที่เป็นทางการก่อน แล้วให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาปฏิรูปประเทศ และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
  • 9.     นิด้าโพลระบุประชาชนมองผลลัพธ์รัฐประหาร คสช. ดีกว่า คมช.เมื่อปี 2549 เพราะกล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ บ้านเมืองสงบเรียบร้อย (เดลินิวส์, 31 พ.ค.58)
  • โพลระบุพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.28 ระบุผลลัพธ์ของการทำรัฐประหารโดย คสช. ดีกว่า คมช.เมื่อปี 2549 เพราะกล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ บ้านเมืองสงบเรียบร้อย มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน และจริงจัง จัดระเบียบสังคมได้ดี เป็นการทำงานเพื่อประเทศ มิได้เป็นการแสวงหาเพื่อประโยชน์ส่วนตน ลดการสูญเสียที่จะตามมาอันเนื่องมาจากการชุมนุม มีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม ดีกว่าตอนปี 2549 นอกจากนี้ยังเห็นว่า คสช. ทำรัฐประหารโดยไม่มีการสูญเสียหรือสูญเสียน้อยกว่า อีกทั้งยังมีบทเรียนจากปี 2549 ขณะที่ร้อยละ 18.08 ระบุมีผลลัพธ์เหมือนกัน เพราะการทำรัฐประหารและควบคุมอำนาจโดยทหาร ซึ่งต่างมีผลดี และผลเสียพอ ๆ กัน มีเพียงร้อยละ 7.20 ระบุว่าผลลัพธ์ของการทำรัฐประหารโดย คสช. แย่กว่า เพราะยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ คมช. ยึดอำนาจแค่ไม่กี่เดือนก็คืนอำนาจให้กับประชาชนแล้ว อีกทั้ง คมช. ยังให้สิทธิและเสรีภาพความเป็นอิสระในการแสดงความคิดเห็นมากกว่านี้
  • 10.  นิด้าโพลระบุปชช.ไม่หนุนยิ่งลักษณ์ไปนอก (ไอเอ็นเอ็น, 15 ก.พ.58)
  • โพลเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 12 - 13 กุมภาพันธ์ 2558 จากประชาชนทั่วประเทศทั่วทุกภูมิภาค จำนวน 1,252 คนโดยผลสำรวจนั้น พบว่า ร้อยละ 47.68 ระบุว่า ควรให้ศาลเป็นผู้พิจารณา รองลงมา ร้อยละ 25.33 ระบุว่า คสช.ไม่ควรอนุญาต เพราะอยู่ในช่วงระหว่างการดำเนินคดี ควรรอให้ศาลพิจารณาคดีให้เสร็จสิ้นก่อน และเกรงว่าจะเป็นการลี้ภัยทางการเมือง ไปแล้วไม่กลับมาเลย ร้อยละ 23.16 ระบุว่า คสช.ควรอนุญาต เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถจะกระทำได้ และไม่ได้กระทำความผิดอะไรร้ายแรง