วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2558

ลดต่อเนื่องเดือนที่ 8 แล้ว ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม


21 ก.ย.2558 สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมไทยเดือนสิงหาคม 2558 ว่า อยู่ที่ระดับ 82.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 83.0 ในเดือนกรกฎาคม 2558 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 จากความกังวลภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา การหดตัวของการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ประสบปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ จึงระมัดระวังการใช้จ่าย ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ที่จะเร่งใช้จ่ายภาครัฐ การช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี และภาคเกษตรกร ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภค และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
สำหรับข้อเสนอต่อภาครัฐ คือ เร่งออกมาตรการลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร วัสดุและปัจจัยการผลิต เพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน พร้อมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และให้ความรู้ผู้ประกอบการในการเข้าถึงช่องทางการตลาดในต่างประเทศ เป็นต้น
ด้าน สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. เปิดเผยยอดผลิตรถยนต์เดือนสิงหาคม ว่า มีทั้งสิ้น 159,470 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 13.26 ส่วนยอดผลิตรถยนต์ในช่วง 8 เดือนแรกปี 2558 รวม 1,260,584 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วคิดเป็นร้อยละ 1.31 ในจำนวนนี้เป็นยอดส่งออกรวม 780,414 คัน คาดว่า ตลอดปีนี้จะมียอดส่งออกรวม 1.2 ล้านคันตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
สุรพงษ์ กล่าวว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศยังคงต่ำ โดยเดือนสิงหาคมมียอดรวม 61,988 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 9.9 แต่ปรับตัวดีขึ้นโดยยอดขายเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2558 คิดเป็นร้อยละ 1.85 ยอดจำหน่ายในประเทศรวม 8 เดือนแรกปี 2558 (ม.ค.-ส.ค.) มียอดจำหน่ายในประเทศรวม 491,960 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปี 2557 คิดเป็นร้อยละ 15.07 ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศยังมีแนวโน้มทรงตัว
ก.เกษตรฯ เผยมาตรการเร่งด่วนช่วยเกษตรกรจากภัยแล้ง
วันเดียวกัน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรที่ไม่สามารถทำนาปรังและเพาะปลูกพืชใด ๆ ได้เลย เนื่องจากภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาและแม่กลองนั้น ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอโครงการช่วยเหลือมาแล้ว 12 โครงการเช่น การเปลี่ยนมาเลี้ยงปศุสัตว์ การจ้างแรงงาน ซึ่งจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาวันพรุ่งนี้
ทั้งนี้ กรมชลประทานจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมการใช้น้ำอย่างเคร่งครัด เนื่องจากน้ำในเขื่อนหลักเหลือน้อยมากและจะต้องมีน้ำสำรองไว้ใช้อุปโภคบริโภคถึงต้นเดือนพฤษภาคมปีหน้า ซึ่งฤดูฝนใหม่จะมาถึง

สุดารัตน์เสนอทุกพรรคปฏิรูปตัวเอง-สุรินทร์ยังเชื่อระบอบรัฐสภาเหมาะสมสุด

จากซ้ายไปขวา สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน - สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย - สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. - กล้านรงค์ จันทิก ประธาน กมธ.การเมือง สนช. (ที่มาของภาพ: วิกิพีเดีย/แฟ้มภาพ)

สัมมนาเรื่องพัฒนาการเมือง รองประธาน สนช. หวังเห็นพรรคการเมืองอาสาเพื่อส่วนรวม ไม่เน้นรวบอำนาจรัฐ - กล้านรงค์ ห่วงการเมืองไทยยังขาดกลไกรับประกันคนดี - สุดารัตน์ ระบุรัฐประหาร 19 ครั้งฉุดประเทศลงหลุมดำ รธน.ใหม่ไม่ควรตั้งโจทย์กำจัดนักการเมือง เสนอทุกพรรคใช้ช่วงเว้นวรรคหันมาปฏิรูปตัวเอง
22 ก.ย. 58 - เว็บไซต์วิทยุรัฐสภา รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดสัมมนา “การพัฒนาการเมือง เพื่อความยั่งยืนของระบอบประชาธิปไตย” เพื่อรับฟังข้อมูล ความรู้ แนวคิด และข้อเสนอแนะจากบุคคลที่มีบทบาทและประสบการณ์โดยตรงซึ่งคณะกรรมาธิการฯจะรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปใช้พิจารณาจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองต่อไปโดยมีอดีตนักการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ อาทิ คุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธุ์ นายสุรินทร์  พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน เป็นต้น
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย บอกต้องพัฒนาให้พรรคการเมืองอาสาเพื่อส่วนรวม ไมใช่รวบอำนาจรัฐ
โดยสุรชัย  เลี้ยงบุญเลิศชัย  รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง เป็นประธานเปิดการสัมมนา โดยกล่าวว่า ระบบการเมืองและระบบพรรคการเมืองมีความสอดคล้องกันไม่สามารถแยกออกจากกันได้ จึงต้องมีการพัฒนาและปฏิรูปพรรคการเมืองให้มีอุดมการณ์ทำงานอาสาเพื่อส่วนรวมและเป็นที่ยอมรับของประชาชน ไม่ใช้แค่การรวบรวมผู้คนเพื่อครอบครองอำนาจรัฐ  ดังนั้นถ้าระบบพรรคการเมืองดีก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานการเมืองที่ดีมีคุณภาพและได้คนดีมาปกครองประเทศต่อไป
กล้านรงค์ จันทิก ห่วงคนไทยซื้อสิทธิขายเสียง เสียงข้างมากยังขาดกลไกรับประกันคนดี
ขณะที่กล้านรงค์ จันทิก ประธานคณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่าปัญหาทางการเมืองมีความสำคัญ เพราะพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยคือระบบพรรคการเมือง ซึ่งขณะนี้ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องเดินหน้าไปสู่ปฏิรูป เปลี่ยนแปลง และพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน พร้อมยอมรับว่าประเทศไทยมีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนไม่เข้าใจระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ส่วนอุปสรรคของการพัฒนาพรรคการเมืองคือการยึดระบบอุปถัมภ์มากกว่าคุณธรรมทำให้ไม่มีคนดีเข้าสู่ระบบการเมือง รวมถึงมีจุดอ่อนของระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมาก คือไม่มีกลไกใดที่จะรับประกันคนที่ได้รับการเลือกตั้งว่าเป็นคนดี  ขณะที่เมื่อพรรคการเมืองได้เสียงข้างมากแล้ว ก็มักจะไม่รับฟังเสียงข้างน้อย พร้อมย้ำว่าการปฏิรูปไม่ได้อยู่ที่รัฐบาล แต่หัวใจอยู่ที่ประชาชน ซึ่งรัฐบาลไม่ได้มีหน้าที่บริหารประเทศเป็นเพียงกลไกหนึ่งเท่านั้น
สุรินทร์ พิศสุวรรณ เห็นว่าไทยกำลังหาจุดสมดุลใหม่ เชื่อมั่นระบอบรัฐสภาเหมาะสุด
ด้านธรรมศาสตราภิชาน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังหาจุดสมดุลใหม่ทางการเมือง เพราะที่ผ่านมาระบบการเมืองไม่มีประสิทธิภาพ แต่มองว่าระบอบรัฐสภายังเป็นระบอบที่เหมาะสมที่สุด พร้อมกันนี้ย้ำว่าพรรคการเมืองต้องไม่ใช่พรรคข้ามคืน ไม่ใช้พรรคที่ไม่มีมาตรการในการวิเคราะห์และแก้ปัญหา รวมถึงหาทางออกทางการเมืองตามวิถีในระบอบประชาธิปไตยให้กับประชาชนและประเทศชาติ  ตลอดจนจะต้องไม่ใช่พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการลงทุน  และดำรงอยู่มีอุดมการณ์อย่างชัดเจน ซึ่งจะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน และจะทำให้หลังเลือกตั้งไม่มีการควบรวม หรือ ยุบพรรคการเมือง ขณะที่การปฏิรูปจะต้องอยู่ที่จิตสำนึกและความตระหนักรู้ของประชาชน
สุดารัตน์ชี้รัฐประหาร 19 ครั้งยิ่งพาไทยตกหลุมดำ-เสนอพรรคการเมืองต้องหันมาปฏิรูปตัวเอง
ในรายงานเพิ่มเติมของ สำนักข่าวไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมามีข้อกล่าวหาของพรรคการเมืองและนักการเมืองในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นและใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้สังคมมองว่า ไม่ควรใช้ระบบตัวแทนโดยนักการเมือง ไม่ยอมรับเสียงข้างมาก มีปัญหาเลือกตั้งแล้วประท้วง จนทำให้เกิดการกำจัดนักการเมืองเพื่อหวังให้มีคนใหม่เข้ามา 83 ปี ของระบอบประชาธิปไตยนั้น ประเทศไทยใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยการปฏิวัติ 19 ครั้ง เพื่อตัดวงจรตามข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่ก็พบว่าการใช้อำนาจพิเศษนี้ ไม่ใช่ทางออกของประเทศอย่างแท้จริง กลับยิ่งทำให้เกิดกับดักหรือหลุมดำมากขึ้น
คุณหญิงสุดารัตน์ ยังกล่าวถึงรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่าได้กำหนดให้มีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ต้องการให้การเมืองมีความเข้มแข็งต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากปี 2540 การเมืองมีความเข้มแข็งขึ้น รัฐบาลดำรงอยู่ได้ครบวาระ 4 ปี มีการใช้นโยบายมาแข่งขันกัน แต่ก็มีการกล่าวหากันในเรื่องเสียงข้างมากใช้อำนาจโดยมิชอบ จึงมีโจทย์ใหม่ของการปฏิวัติปี 2549 ว่า การเมืองต้องไม่เข้มแข็ง ไม่ผูกขาด เป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ไม่ได้ แต่ท้ายที่สุด วิธีนี้ก็แก้ปัญหาไม่ได้ จนต้องเดินเข้าสู่เกมการเมืองมากขึ้น
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ปัญหาทั้งหมด ไม่ได้ถูกแก้ไขที่ตัวรากฐานของปัญหา ดังนั้น พรรคการเมืองและนักการเมืองต้องร่วมรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทุกคนต้องหันมาปฏิรูปตัวเอง ในโอกาสที่ คสช. ให้เว้นวรรคทางการเมือง สำหรับพรรคการเมือง ต้องให้สมาชิกทุกคนร่วมเป็นเจ้าของพรรค เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องการคัดเลือกสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งตนเชื่อว่า ประชาชนเป็นหัวใจของพรรคการเมืองและนักการเมือง เพราะเป็นผู้ที่จะตัดสินว่านักการเมืองสอบได้หรือสอบตก รวมทั้งตัดสินว่า พรรคการเมืองดังกล่าวจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน
“ยอมรับว่าพรรคการเมืองและนักการเมืองในปัจจุบัน ยังมีปัญหาการทุจริต ใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ แต่วิธีที่จะแก้ไขให้ยั่งยืน คือ การจัดระเบียบสังคมที่ให้ทุกคนได้ประโยชน์ดีที่สุด ไม่มีใครได้รับประโยชน์ไปมากกว่านี้ตามระบอบประชาธิปไตย ขณะที่พรรคการเมืองควรพัฒนาไปเป็นสถาบันการเมืองที่ประชาชนให้ความเชื่อถือ ปัญหาเรื่องการผูกขาดจะลดลง”คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว
ส่วนนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเรียก ประชารัฐ หรือประชานิยม แต่ปัญหาคือ เป็นนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน ต่อเนื่องและตอบโจทย์จริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ควรตั้งโจทย์ว่า การเมืองไม่ดี ต้องกำจัดนักการเมืองไม่ดี 83 ปีมานี้ ปัญหาวนอยู่อย่างเดิม แต่ควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันที่เข้มแข็ง สามารถยอมรับผลในสิ่งที่เคยดำเนินการได้ แต่ต้องร่างเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเดินเข้าสู่จุดสมดุลได้ ให้พรรคการเมืองเป็นประโยชน์กับประชาชน ทำให้การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ใช่แค่นำความคิดของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน แต่ต้องเปลี่ยนจากการกำจัด เป็นพัฒนาตนเองและพรรคการเมือง ตลอดจนฟังเสียงจากประชาชนด้วย

เลือก ‘เตือนใจ-ชาติชาย’ เป็นกสม. รอประธานสนช. ให้ความยินยอม


22 ก.ย. 2558 จากที่คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกสม. เพิ่มอีก จำนวน 2 คน ตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค. ถึงวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา นั้น โดยมีผู้ยื่นใบสมัคร จำนวน 63 คน (อ่านรายละเอียด)
ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก กสม. ว่า ในการประชุมครั้งที่ 4/2558 ของ กสม. เมื่อวันที่ 22 ก.ย.58 ได้เลือกบุคคลผู้สมควรเป็น กสม. โดยพิจารณาจากผลงานหรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ กรอบแนวคิดในการดำเนินงานของผู้สมัครหากได้รับเลือกเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ตามมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยคำนึงถึงสัดส่วนชายหญิง ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และการเป็นบุคคลจากภาคส่วนต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่งมีผู้ได้รับการคัดเลือก จำนวน 2 คน ได้แก่
                       1. นางเตือนใจ ดีเทศน์
                       2. นายชาติชาย สุทธิกลม
ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะได้เสนอรายชื่อผู้ได้รับเลือกพร้อมความยินยอมของผู้นั้นต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา เพื่อดำเนินการตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 48/2557 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 เรื่อง การสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่าง ประกอบมาตรา 256 และมาตรา 206 (2) ของรัฐธรรมนูญ 2550 ต่อไป
โดยเมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการสรรหา กสม. ได้คัดเลือก 7 กสม. แล้วประกอบด้วย นางฉัตรสุดา  จันทร์ดียิ่ง นายบวร ยสินทร นางประกายรัตน์  ต้นธีรวงศ์ นายวัส  ติงสมิตร รองศาสตราจารย์ ศุภชัย  ถนอมทรัพย์ นายสุรเชษฐ์  สถิตนิรามัย และ นางอังคณา นีละไพจิตร แต่จากนั้นเมื่อวันที่ 22 ส.ค. สนช.มีมติไม่รับรองนายบวร และนายศุภชัย ส่งผลให้ต้องประกาศรับสมัครและสรรหาเพิ่มอีก 2 คนดังกล่าว
สำหรับนางเตือนใจ ดีเทศน์ นั้นเป็นนักพัฒนาซึ่งทำงานด้านชาติพันธุ์ และร่วมต่อสู้ในกระบวนการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ตลอดเวลากว่า 30 ปี อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จ.เชียงราย ส่วนนายชาติชาย สุทธิกลม นั้นเป็นเลขาธิการ กสม. ตั้งแต่ปร 2556 และเป็นอดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรมและอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กรมราชทัณฑ์

สนพ.ไทยไม่พิมพ์นสพ.นิวยอร์กไทมส์ฉบับวันนี้ เหตุเนื้อหา 'อ่อนไหว'

22 ก.ย. 2558 หนังสือพิมพ์รายวัน อินเตอร์เนชั่นแนล นิวยอร์กไทมส์ ส่งอีเมลถึงสมาชิกที่อยู่ในประเทศไทยว่า สำนักพิมพ์คู่สัญญาของนิวยอร์กไทมส์ตัดสินใจไม่ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ฉบับวันอังคารนี้ เนื่องจากมองว่ามีเนื้อหาอ่อนไหวเกินไปที่จะตีพิมพ์ ทั้งนี้ ระบุด้วยว่า การตัดสินใจดังกล่าวเป็นของสำนักพิมพ์คู่สัญญาแต่เพียงผู้เดียว ไม่ใช่การตัดสินใจของอินเตอร์เนชั่นแนล นิวยอร์กไทมส์
นอกจากนี้ อีเมลดังกล่าวระบุด้วยว่า ผู้อ่านสามารถอ่านเนื้อหาฉบับดังกล่าวได้ทางเว็บไซต์นิวยอร์กไทมส์ รวมถึงแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต
สำหรับบทความหน้าหนึ่งใน นสพ.นิวยอร์กไทมส์ เวอร์ชั่นเอเชีย ฉบับวันนี้ มีบทความเกี่ยวกับประเทศไทย เขียนโดยโทมัส ฟุลเลอร์ เป็นบทความเกี่ยวกับพระพลานามัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การสืบราชสันตติวงศ์ และอนาคตของสถาบันกษัตริย์ไทย

ภาคประชาชนส่งรายงานสถานการณ์สิทธิฯ ให้ UN แล้ว เผยมีปมสิทธิชุมนุม-ศาลทหารด้วย


22 ก.ย. 2558 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation) ว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศจัดส่งรายงานสถานการณ์สิทธิฯ ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council) ขององค์การสหประชาชาติ ผ่านทางเว็บไซต์ของยูเอ็นที่https://uprdoc.ohchr.org  ทั้งนี้เวทีทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในกระบวนการ Universal Periodical Review หรือ UPR
โดยกระบวนการ Universal Periodical Review ( UPR หรือยูพีอาร์) นั้น เป็นการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human rights Council) ที่ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยประเทศสมาชิกของสภาสิทธิมนุษยชน (HRC) รวมทั้งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาติ (OHCHR) จะร่วมกันจัดเวทีทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของทุกประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ โดยจุดประสงค์ของกระบวนการ UPR คือต้องการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศสมาชิก รวมทั้งพยายามประสานความร่วมมือของหน่วยงานทั้งหมดด้านสิทธิมนุษยชนเข้าด้วยกัน  โดยจะมีการจัดทำรายงาน มีรายงานรัฐ 20 หน้า รายงานของหน่วยงานในองค์การสหประชาชาติ 10 หน้า และรายงานที่รวบรวมจากองค์กรต่างๆ เอกชน แล้วทาง OHCHR จะรวบรวมทั้งหมดเป็น 10 หน้ากระดาษ หลักเกณฑ์ในการพิจารณาทาง HRC สำนักเลขาของ UPR ใช้หลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศทั้งหมดทุกฉบับทั้งที่ประเทศนั้นมีข้อผูกพันทางกฎหมายและในส่วนที่ไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย
สำหรับประเทศไทยได้เข้าสู่การทบทวนรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนมาแล้วหนึ่งครั้งในปีพ.ศ. 2553 (2011) และมีประเทศต่างๆ ทั่วโลก 193 ประเทศก็เข้าสู่กระบวนการ UPR แล้ว ทาง HRC จะจัดประชุม 3 ครั้งต่อปี ดังนั้นประเทศต่าง ๆ จะต้องเข้าสู่กระบวนการ UPR โดยเฉลี่ยทุก 4 ปี  ในครั้งหน้าประเทศไทยจะเข้าสู่กระบวนการ UPR อีกครั้งในการประชุมครั้งที่ 25 เดือนเมษายน- พฤษภาคม 2559 (2016) ณ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์  (โดยสามารถดูรายละเอียดได้ที่http://www.ohchr.org/EN/HRBodies/UPR/Pages/UPRMain.aspx )
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุด้วยว่า รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนต่างๆ ของภาคประชาสังคมได้จัดส่งไปนั้น เน้นประเด็นเรื่อง นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน สิทธิในที่ดินและป่าไม้ สิทธิเด็ก การเข้าถึงความยุติธรรม สิทธิในการชุมนุมและการแสดงออกทางความคิดเห็น  การบังคับให้บุคคลสูญหาย  การป้องกันการทรมานและการสืบสวนสอบสวนรวมทั้งการเยียวยาผู้เสียหาย เหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมในศาลทหาร เป็นต้น (รายงานคู่ขนานของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ฉบับภาษาอังกฤษ สามารถ Download ได้ที่https://voicefromthais.files.wordpress.com/2015/09/upr-torture_and-land-_-crcf-and-partners_21sep-2015.pdf)