วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

สมาคมนักข่าวฯ สวนประยุทธ์ ชี้ความเชื่อมั่นไทยอยู่ที่ผลงานรัฐบาล-ผู้นำเอง ไม่ใช่การเขียนข่าว

16 ก.ย. 2558 จากที่วานนี้(15 ก.ย.58) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. กล่าวถึงการการทำงานของสื่อมวลชน ตอนหนึ่งในระหว่างแถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า สื่อสามารถช่วยตนได้ เพราะตนพูดเองการรับรู้ก็ไม่เหมือนกับสื่อเขียน สื่อไม่เคยเขียนผิดอย่างที่ตนพูด แต่กลับเขียนให้อีกฝ่ายหนึ่งดูรุนแรงขึ้น ต่างประเทศก็จะมองว่าประเทศไทยยังไม่สงบ สถานการณ์ทางการเมืองไม่มีเสถียรภาพ การค้าการลงทุนก็เสียหาย คนมาเที่ยวก็ลดลง ดังนั้นสื่อควรมองในมิติเหล่านี้ด้วยเวลาเขียน ดังนั้นสมาคมสื่อตั้งมาก็ไม่มีประโยชน์เนื่องจากไม่สามารถคุมสื่อให้มีจรรยาบรรณได้ (อ่านรายละเอียด)
วันนี้ (16 ก.ย.58) จักร์กฤษ เพิ่มพูล กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แสดงความขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ให้ความสำคัญในบทบาทของสมาคมสื่อ โดยเฉพาะบทบาทในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย แต่การกล่าวโทษว่า สื่อไม่มีจรรยาบรรณ อีกทั้งสมาคมสื่อก็ไม่มีความสามารถที่จะควบคุมดูแลกันได้นั้น เป็นคนละเรื่อง คนละประเด็นกัน เพราะข้อกล่าวหาว่าสื่อเขียนข่าวให้ดูรุนแรงขึ้น หรือคำชื่นชมสื่อที่เขียนข่าวดีแล้วในความเห็นของนายกรัฐมนตรีไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นประเทศไทย มากกว่าข้อเท็จจริงในผลงานของรัฐบาล หรือประสิทธิภาพในการบริหารประเทศของผู้นำเอง
“ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ บิดเบือนไม่ได้ พูดให้คนเชื่อไม่ได้ เขียนให้คนเชื่อไม่ได้ ถ้าไม่ได้มาจากความเป็นจริง หลักจริยธรรมเราชัดเจนว่า การเขียนข่าวต้องยึดถือข้อเท็จจริง ถูกต้องแม่นยำ และครบถ้วน ประการสำคัญต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย สมาคมสื่อไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปในการทำงานของสื่อใดๆ หากพวกเขาละเมิดหลักการนี้ ก็เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคข่าวสาร สังคมทั่วไปจะตรวจสอบเอง ซึ่งผมเชื่อว่าในยุคสมัยที่มีสื่อหลากหลายเช่นนี้ คงไม่มีสื่อใดจะบิดเบือนข้อมูล ข่าวสารได้”
จักร์กฤษ กล่าวว่า หลักการทำงานของสื่อมวลชนทั่วไป ย่อมต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญอยู่แล้ว คงไม่มีสื่อใดที่มีเจตนามุ่งร้ายให้ประเทศชาติเสียหาย เพราะสื่อมวลชนก็มีฐานะเป็นสมาชิกหน่วยหนึ่งของสังคมไทยที่ต้องมีความรับผิดชอบร่วมกับคนอื่นๆในสังคมด้วย สมาคมสื่อที่ก่อตั้งและมีอายุยืนนานมาหลายสิบปี ก็ย้ำเตือนถึงการทำงานของสื่อที่ต้องใช้เสรีภาพบนความรับผิดชอบมาตลอดเวลา และยังคงยืนยันว่าหากมีสื่อที่ไม่มีความรับผิดชอบ หรือกระทำผิดจริยธรรม สมาคมสื่อก็จะไม่ปกป้อง และจะมีการตรวจสอบกันเองอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา
กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวฯ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ให้ความเคารพในบทบาทและหน้าที่ซึ่งกันและกัน เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีหน้าที่ต่อประเทศชาติเช่นเดียวกัน หากแต่ต่างบทบาทกัน ความคิดในเรื่องอาวุโส เด็กหรือผู้ใหญ่นั้น ไม่น่าจะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่โดยวิชาชีพของสื่อมวลชน หรือการทำหน้าที่ในฐานะผู้นำประเทศ ซึ่งถือว่าเป็น “บุคคลสาธารณะ” สื่อมวลชนมีหน้าที่ตั้งคำถาม นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ตอบ หากคำถามไม่เป็นที่พึงพอใจ นายกรัฐมนตรีก็อาจละเว้นไม่ตอบได้ ขณะเดียวกันสื่อมวลชนก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเอง อย่างสุจริต ตรงไปตรงมา และให้เกียรติแหล่งข่าวด้วยเช่นกัน
“บรรยากาศ ความไม่เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่ายเช่นนี้ มีมาอย่างต่อเนื่อง จนดูเหมือนมีความขัดแย้งระหว่างท่านนายกรัฐมนตรีและสื่อตลอดเวลา ภาพเหล่านี้ปรากฏต่อสาธารณะมานานนับปี ผมคิดว่าประเด็นคงอยู่ที่ความไม่เข้าใจในวิชาชีพสื่อมวลชน ที่อาจมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากอาชีพอื่นๆ ในเวลาเดียวกันท่านนายกรัฐมนตรีก็อาจมีความคาดหวังว่า สื่อจะมีบทบาทสำคัญเกื้อหนุนให้ท่านได้ทำงานสำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งสื่อไม่ได้มีหน้าที่เช่นนั้น เช่นเดียวกับกลุ่มอื่นๆที่แวดล้อมท่านอยู่ ทางเดียวที่อาจทำให้ปัญหานี้คลี่คลายได้ คือหันหน้ามาพูดคุยกัน ปรับทัศนคติกันอย่างเป็นเรื่อง เป็นราวสักครั้ง” จักร์กฤษ กล่าว

เฟซบุ๊กเปิดสนง.ในไทย เผยจะพยายามคุมแชร์ตามหลักสากล-ไม่ขัดกม.แต่ละประเทศ


17 ก.ย. 2558 เฟซบุ๊ก (Facebook) ได้จัดงานเปิดตัวสำนักงานเฟซบุ๊ก ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการที่ร้านอาหาร The Never Ending Summer เดอะแจม แฟคทอรี กรุงเทพฯ โดย เดลินิวส์ รายงานว่า แดน เนียรี่ รองประธานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เฟซบุ๊ก กล่าวว่า เฟซบุ๊กต้องการให้คนมีพลังเชื่อมโยงและติดต่อกัน ผ่านการสื่อสารหลากหลายรูปแบบ ได้แชร์สิ่งต่างๆ กับเพื่อนและครอบครัว บางคนชอบการติดต่อสื่อสารผ่านวอชแอพ ภาพ และตัวหนังสือข้อความสั้นๆ โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กทั่วโลก ล่าสุดมีจำนวน 1,490 ล้านคน แต่เฉพาะในประเทศไทย มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเป็นประจำมากถึง 34 ล้านคนต่อเดือน เพิ่มจากปีที่แล้ว 26% และเป็นการใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือถึง 94%
แดน กล่าวว่า การโฆษณาผ่านแอพของเฟซบุ๊กเป็นเรื่องท้าทาย เพราะธุรกิจทั้งขนาดเล็กและใหญ่เลือกใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือสื่อสารกับลูกค้า ซึ่งจากข้อมูลยังพบว่า คนไทยใช้เฟซบุ๊ก 2.5 ชม. ต่อวันแม้ขณะดูทีวีก็ยังใช้เฟซบุ๊ก และ 70% ของผู้ใช้งานชาวไทย เชื่อมต่อกับแฟนเพจซื้อขายบนเฟซบุ๊ก
แดน กล่าวถึงถึงสถิติผู้ใช้เฟซบุ๊กในประเทศไทย รวมถึงสาเหตุที่มาเปิดสำนักงานในประเทศไทย Blognone สรุปความไว้ดังต่อไปนี้
·         ภารกิจของ Facebook คือร้อยเรียงผู้คนผ่านโลกอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้สามารถเลือกที่จะสื่อสารระหว่างกันผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ของ Facebook อันได้แก่ Facebook, Whatsapp, Groups, Messages และ Instagram
·         ในส่วนของประเทศไทย สถิติที่น่าสนใจคือ มีผู้ใช้งานแบบแอกทีฟ มากกว่า 34 ล้านคนต่อเดือน และมากกว่า 24 ล้านคนต่อวัน และ 32 ล้านคน (คิดเป็น 94%) ของผู้ใช้งาน Facebook ในไทยนั้น ใช้งานผ่านมือถือ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก เพราะสถิติของโลกนั้นผู้ใช้งาน Facebook ผ่านมือถือมีราวๆ 87%
·         ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เล่น Facebook เยอะมาก สถิติชี้ว่าคนไทยใช้งาน Facebook โดยเฉลี่ยวันละ 2.5 ชั่วโมง
·         Facebook เองเป็นแบรนด์ที่ทรงอิทธิพลอันดับหนึ่งในประเทศไทย
·         Instagram เป็นอีกหนึ่งช่องทางของ Facebook ที่น่าสนใจในไทย (ปัจจุบันมีผู้ใช้แบบแอกทีฟมากกว่า 7.1 ล้านคนต่อวัน)
·         เนื่องจาก Facebook เล็งเห็นว่าประเทศไทยนั้นมีสถิติ emarketing ที่น่าสนใจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Facebook จึงมาเปิดสำนักงานที่ไทย โดยมีพันธกิจหลักๆ คือ เชื่อมโยงคนไทยเข้าหากัน และดูแลธุรกิจโฆษณาทั้งของแบรนด์และ SME ทั้งใน Instagram และ Facebook รวมถึงมีการทำเนื้อหาหน้าช่วยเหลือ, การสร้างโฆษณา ให้เป็นภาษาไทย เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น
·         ในงานไม่มีการเปิดตัวว่าใครเป็น Head of Thailand และไม่มีการเปิดเผยว่าสำนักงานตั้งอยู่ที่ไหน
โดย Blognone รายงานด้วยว่ามีคำถามหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการมีสำนักงานเฟซบุ๊กในไทย จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยหรือเปล่า เฟซบุ๊กก็ได้กล่าวว่า จะพยายามควบคุมสิ่งที่ทุกคนแบ่งปันในโลกเฟซบุ๊กให้เป็นไปตามหลักสากลและไม่ขัดกับกฎหมายของประเทศ
โพสต์ทูเดย์ รายงานด้วยว่า แม้จะมีการจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวสำนักงานเฟซบุ๊กในประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก แต่ก็ยังไม่มีการเฉลยสถานที่ตั้งของสำนักงานและผู้ที่จะมานั่งเก้าอี้ผู้บริหารในไทยอย่างเป็นทางการ
นอกจากนี้เดลินิวส์ ยังรายงานบรรยากาศในการแถลงด้วยว่า เฟซบุ๊กได้เข้มงวดเรื่องความปลอดภัยโดยให้เข้าเฉพาะนักข่าวที่ได้รับเชิญจำนวนจำกัด รวมถึงตรวจบัตรประชาชนให้ตรงกับชื่อที่แจ้งไว้

1 ธ.ค.นัดพิพากษาคดี 112 ‘ชาญวิทย์’ มือแจกใบปลิว


อดีตซ้ายเก่าสูงวัย ถูกคุมขังจากคดีปาระเบิดลานจอดรถศาลอาญา ทำให้คดี 112 เก่าถูกรื้อฟื้นอีกครั้งหลังหลบหนีหลายปี เหตุไปแจกใบปลิวเข้าข่ายหมิ่นเมื่อปี 2550 เจ้าตัวรับคิดเอง ทำเอง แจกเอง ยันทำหน้าที่พลเมืองที่ต้องวิเคราะห์สังคมช่วงเปลี่ยนผ่าน
เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2558  ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี มีการสืบพยาน คดีที่พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรีเป็นโจทก์ฟ้อง นายชาญวิทย์ (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมวัย 60 ปีเป็นจำเลยในคดีความผิดตามมาตรา 112 จากกรณีแจกใบปลิวจำนวน 5 หน้าในที่ชุมนุม เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2550 การสืบพยานเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 ก.ย. โดยวันที่ 15 ก.ย.เป็นการสืบพยานโจทก์ ส่วน 16 ก.ย.เป็นการสืบพยานจำเลย ซึ่งได้แก่ตัวจำเลยเอง และสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ  อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 1 ธ.ค.2558 เวลา 9.00 น.
ชาญวิทย์ เบิกความว่าในอดีตเขาเรียนคณะเทคนิคการแพทย์ ม.เชียงใหม่ แต่ไม่จบการศึกษา เนื่อกจากเป็นโรคเครียด จึงออกจากการศึกษาแล้วพบแพทย์รักษาตัวขณะอยู่ปี 3 ในพ.ศ.2518 เขาสนใจการเมืองมาโดยตลอด และเคยทำงานเป็นที่ปรึกษาพรรคการเมืองหนึ่งอยู่ในคณะทำงานแก้ปัญหาภาคใต้เมื่อหลายปีก่อน อย่างไรก็ตาม หลังรัฐประหาร 2549 เขาได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน และทำเอกสารใบปลิวดังกล่าวแจกจ่ายจริง เนื่องจากต้องการให้เจตนารมณ์ของคณะราษฎรเกิดขึ้นจริง นั่นคือ ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
เขายังเบิกความในกรณีที่อัยการฟ้องว่าใบปลิวดังกล่าวกระทำการหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช และสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา โดยเขาระบุว่า เขากระทำการประเมินและวิจารณ์ตามหลักวิทยาศาสตร์สังคมและโหราศาสตร์ที่ศึกษามา และไม่เห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาท แต่เป็นการทำให้สถาบันมั่นคงขึ้นดังเช่นโมเดลของประเทศญี่ปุ่น โดยข้อมูลบางส่วนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการหมิ่นประมาทนั้นนำมาจากเอกสารที่ได้จากงานศพ พ.ท.ณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช และการรวบรวมจากที่อื่นๆ
“ผมอ่านทุกอย่าง กฎหมายทุกฉบับที่ผ่านสภา ผมมีในห้องของผมทั้งหมด” เขากล่าวในตอนหนึ่ง
ชาญวิทย์ยังต่อสู้ในประเด็นองค์รัชทายาทนั้นครอบคลุมถึงพระองค์ใดบ้างด้วย โดยเขาระบุว่า ตามกฎหมายมาตรา 112 คุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท ซึ่งตามมณเฑียรบาลนั้นกำหนดให้องค์รัชทายาทเป็นชายเท่านั้น จึงไม่ครอบคลุมถึงสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา
ส่วนกรณีที่เขาได้รับการประกันตัวแล้วไม่มารายงานตัวตามนัดหมายของศาลในปี 2551 นั้น เขาระบุเหตุผลว่าเป็นเพราะหลังจากประกันตัวเขาได้ไปแสดงความเห็นในงานเสวนาแล้วถูกนายชวน หลีกภัย ซึ่งมอบหมายให้นายเทพไท เสนพงศ์ ไปแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 112 กับเขาและตำรวจได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการประกันตัวเขา ทำให้เขาใช้สำนึกแห่งความเป็นธรรมส่วนตัวตัดสินใจไม่ไปฟังคำสั่งศาลว่าจะถอนประกันหรือไม่ โดยคิดว่าคดีนี้เป็นคดีทางความคิดและต้องการให้เวลาเป็นตัวพิสูจน์ว่าสถานการณ์ต่างๆ ที่เขาทำการประเมินนั้นเป็นจริงหรือไม่
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เบิกความในฐานะพยานจำเลยถึงประเด็นองค์รัชทายาทว่า ตามกฎมณเฑียลบาลและการประกาศในพระราชกิจนุเบกษาเมื่อปี 2515 นั้นพระบาทสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเป็นองค์รัชทายาทเพียงพระองค์เดียว และตามพระราชประเพณียังไม่มีปรากฏขัตติยนารีเป็นองค์รัชทายาท
นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงประวัติศาสตร์กฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า เริ่มมีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่โทษไม่หนักเท่าปัจจุบันและโดยมากไม่ถูกหยิบมาใช้ลงโทษประชาชน มีแต่เพียงโทษเล็กน้อยให้หลาบจำ แต่น่าแปลกที่มีการปรับโทษให้หนักขึ้นในปี 2520 ในสมัยรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งเป็นรัฐบาลเผด็จการและอยู่ในบริบทหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์ จึงคิดใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตาม มาตรานี้เป็นการคุ้มครองสถานะ ตำแหน่งประมุขของรัฐ มิได้คุ้มครองในลักษณะบุคคล 
ภายหลังเสร็จสิ้นการสืบพยาน เพื่อนของชาญวิทย์ซึ่งมาร่วมฟังการพิจารณาคดีด้วยกล่าวว่า เป็นเพื่อนกับชาญวิทย์ตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา ชาญวิทย์สนใจศึกษาทั้งการเมือง สังคม ศาสนา ปรัชญา วิทยาศาสตร์ ชาญวิทย์เรียนไม่จบและเข้าร่วมกับขบวนนักศึกษา โดยเข้าป่าบริเวณจังหวัด แพร่-น่าน ร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในช่วงปี 2520-2524 ก่อนหน้าเข้าป่าในปี 2520 ชาญวิทย์ถูกจับและคุมขังในเรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ด้วยคดีมีอาวุธปืนสั้นไว้ในครอบครอง จำคุกอยู่ 7 เดือน เหตุที่ชาญวิทย์มีปืนสั้นเนื่องจากเขาทำงานกับบรรดาแกนนำชาวนา ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีการสังหารแกนนำชาวนา ชาวไร่และนักเคลื่อนไหวจำนวนมาก จึงต้องมีไว้ป้องกันตัว จากนั้นมาชาญวิทย์ก็ร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนสหภาพแรงงาน และมักแจกใบปลิวเพื่อเผยแพร่แนวคิดต่างๆ ในประเด็นต่างๆ เป็นประจำ
“การแจกใบปลิวเป็นปฏิบัติการทางการเมืองอย่างหนึ่ง” จำเลยกล่าว
“จุดประสงค์ของผมก็คือ ประเมินสถานการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่านเท่านั้น”  จำเลยกล่าว
“ผมเป็นพลเมืองผมจึงต้องนำเสนอแนวคิดต่อสังคม ไม่อาจนั่งเฉยๆ” จำเลยกล่าว
“ไม่เป็นไร ข้างนอกกับข้างในก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ ต่างแค่ขนาดของกรง” จำเลยกล่าวกับผู้ใกล้ชิดเมื่อถามถึงสภาพการคุมขัง
ทั้งนี้ คดี 112 ดังกล่าวเป็นคดีตั้งแต่ปี 2550 และเขาเพิ่งถูกนำตัวมาขึ้นศาลอีกครั้งในปี 2558 หลังจากไม่ยอมมาตามนัดหมายของศาล เหตุที่ถูกนำตัวมาดำเนินคดีต่อในปีนี้เนื่องจากเขาถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 9 มี.ค.2558 จากอีกคดีหนึ่ง นั่นคือ ร่วมวางแผนปาระเบิดลานจอดรถศาลอาญา เหตุเกิดเมื่อ 7 มี.ค.2558 ตำรวจจับกุมเขาและกล่าวหาว่าเขามีส่วนร่วมด้วยเนื่องจากเขาไปเป็นวิทยากรให้กับกลุ่มประชาชนในจังหวัดขอนแก่นก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่กล่าวหาการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมวางแผนเตรียมการ ขณะที่เขายืนยันว่าเป็นเพียงกลุ่มศึกษาการเมืองซึ่งเขาได้ชวนสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน นักกิจกรรมสูงวัยที่มีอาชีพขับแท็กซี่ไปเป็นวิทยกรด้วย และภายหลังเกิดเหตุ ตัวเขา สรรเสริญ และผู้ประสานงาน รวมถึงวิทยากรอื่นๆ ในงานเสวนาดังกล่าวก็ถูกจับกุมและคุมขังไปด้วยจนถึงปัจจุบัน รวมเวลาราว 6 เดือน บางส่วนมีรายงานการถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายขณะสอบสวนด้วย หลายคนยื่นประกันตัวแต่ไม่สามารถประกันตัวได้ ขณะนี้กำลังพิจารณาคดีอยู่ในศาลทหาร แม้จำเลยทั้งหมดจะถูกคุมขังมาแล้ว 6 เดือนแต่ศาลทหารยังไม่มีการนัดหมายสืบพยานแต่อย่างใด

คดี 'ณัฐ' ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ไม่รายงานตัว ศาลอุทธรณ์สั่งปรับเท่านั้น


คดี ณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ์ ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ไม่รายงานตัว ศาลอุทธรณ์สั่งปรับเท่านั้น

กางเกงขาสั้น รองเท้าแตะ แปรงสีฟันที่ณัฐใส่ถุงเตรียมมาศาลด้วย
เพราะคาดว่าจะต้องเข้าเรือนจำอีกครั้ง
17 ก.ย. 2558 ที่ศาลแขวงดุสิต ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดี ณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ์ ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ไม่รายงานตัว โดยสั่งปรับ 4,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ ลดโทษเหลือกึ่งหนึ่งเป็นปรับ 2,000 บาท ส่วนโทษจำคุก 2 เดือน 20 วัน จำเลยรับสารภาพ ลดโทษเหลือกึ่งหนึ่ง 1 เดือน 10 วันนั้น ศาลสั่งยกตามมาตรา 55 ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 55 ถ้าโทษจำคุกที่ผู้กระทำความผิดจะต้องรับมีกำหนด เวลาเพียงสามเดือนหรือน้อยกว่า ศาลจะกำหนดโทษจำคุกให้น้อยลงอีกก็ได้ หรือถ้าโทษจำคุกที่ผู้กระทำความผิดจะต้องรับมีกำหนดเวลาเพียงสามเดือน หรือน้อยกว่าและมีโทษปรับด้วย ศาลจะกำหนดโทษจำคุกให้น้อยลง หรือจะ ยกโทษจำคุกเสีย คงให้ปรับแต่อย่างเดียวก็ได้
ทั้งนี้ ในศาลชั้นต้นศาลลงโทษจำคุก 1 เดือน 10 วันเท่านั้นไม่มีโทษปรับ จำเลยอยู่เรือนจำ 5 วันก่อนได้ประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์ 40,000 บาท จากนั้นอัยการอุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษปรับด้วย
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ระบุว่า คดีการเมือง คดีเสรีภาพลักษณะนี้ถือว่าคดีนี้เป็นคดีแรกที่ศาลใช้มาตรา 55 มาตรานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อยกเว้นโทษในคดีความผิดเล็กน้อย เช่น คดีจราจร ส่วนเหตุที่ศาลใช้มาตรานี้เพราะณัฐเคยถูกจำคุกมาก่อนในคดี 112 ตามกฎหมายอาญาซึ่งศาลไม่สามารถรอลงการลงโทษได้เหมือนคดีอื่นๆ
"นี่เป็นสัญญาณที่ดีที่ศาลพยายามหาช่องทางเพื่อไม่สั่งจำคุกจำเลยคดีนี้" ยิ่งชีพกล่าว
ด้านณัฐให้สัมภาษณ์ว่า "ตอนแรกทำใจ เตรียมใจแล้ว เตรียมกางเกงขาสั้น รองเท้าแตะมาด้วย แต่กลับเป็นว่าศาลเห็นใจ ผมก็ประหลาดใจอยู่"
เมื่อถามว่าจะทำอะไรต่อ "คงต้องโทรบอกทหารว่าไม่ติดคุก ตอนแรกไปบอกเขาว่าติดคุก ช่วงหลังมานี่เขาติดต่อเรื่อยๆ ตั้งแต่กรกฎาคม สิงหา บอกว่าถ้าจะออกนอกประเทศแจ้งเขาด้วย ก่อนหน้านี้นึกว่าไม่มีอะไรแล้ว ไม่ต้องติดต่อกันแล้วกับทหาร"
ทั้งนี้ คดีของณัฐพิจารณาที่ศาลพลเรือน เนื่องจากความผิดของณัฐนับว่าเกิดขึ้นก่อนวันที่ 25 พ.ค. ที่ คสช.จะประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีของพลเรือน คดีของณัฐจึงเป็นคดีไม่มารายงานตัวคดีแรกที่พิจารณาที่ศาลพลเรือน
ชื่อของเขาอยู่ในคำสั่งเรียกรายงานตัวของคสช. ฉบับที่ 5/2557 วันที่ 24 พ.ค.2557 ต่อมาเขาถูกจับกุมที่บ้านพักในเวลาราว 1.00 น.ของวันที่ 7 มิ.ย.57 จากนั้นถูกคุมตัวอยู่ในค่ายทหาร 7 วันก่อนจะปล่อยตัวและแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว
ณัฐเป็นอดีตผู้ต้องโทษในคดี 112 ในปี 2552 เขาถูกตัดสินจำคุก 9 ปีจากกรณีส่งอีเมลเข้าข่ายหมิ่นให้นายอีมิลิโอ เอสเทแบน (Emilio Esteban) ชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ที่สเปน แต่เนื่องจากรับสารภาพ โทษจำคุกจึงเหลือ 3 ปี 18 เดือน จากนั้นระหว่างถูกคุมขังเขาได้รับการลดโทษจากการพระราชทานอภัยโทษทั่วไปในวาระพิเศษต่างๆ รวมถึงเป็นนักโทษชั้นดีที่ได้รับลดวันต้องโทษ ทำให้เขาได้รับการปล่อยตัวเร็วกว่ากำหนด วันที่ 19 เม.ย.2555 รวมระยะถูกคุมขัง 2 ปี 4 เดือน จากนั้นก็ออกมารับจ้างเป็นล่าม และทำธุรกิจทางอินเทอร์เน็ต รวมทั้งเป็นลูกจ้างตามร้านขายของ
ณัฐเคยให้ข้อมูลกับหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนว่า ในระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวนั้น เขาถูกใช้ผ้าปิดตาและควบคุมตัวในบ้านหลังหนึ่งคาดว่าในค่ายทหาร มีการสอบสวนหลายครั้งนอกรอบ แต่ในการสอบสวนอย่างเป็นทางการซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน คำถามหลักที่เจ้าหน้าที่ต้องการทราบคือเรื่องการสนับสนุนเงินแก่นักโทษการเมือง และการรวมตัวกันของอดีตผู้ต้องขังคดี 112 ที่มักไปพบปะกันตามงานต่างๆ แล้วถ่ายรูปร่วมกันสร้างความไม่พอใจกับหน่วยงานความมั่นคง แต่เขาระบุว่าเป็นความสัมพันธ์ส่วนตัวหลังจากรู้จักกันในเรือนจำและไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองแต่อย่างใด