วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2558

โดนอีกคดี ผู้ต้องหาคดีชายชุดดำ ‘กิตติศักดิ์ สุ่มศรี’ เจ้าตัวปฏิเสธทุกข้อหา


กิตติศักดิ์ สุ่มศรี ผู้ต้องหาชายชุดดำ 10 เมษาโดนอีกคดี มีส่วนประกอบระเบิดแสวงเครื่องในครอบครอง คดีปี 53 ก่อนหน้านี้ศาลยกฟ้อง 'เสกสรร' จำเลยอีกคนหนึ่งไปแล้วในคดีนี้ ทนายระบุ ตำรวจเอามาฟ้องใหม่ เหตุกิตติศักดิ์รู้จักกับเสกสรร

24 ส.ค.2558 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ นายกิตติศักดิ์ สุ่มศรี อายุ 46 ปี ผู้ต้องหาคดี ‘ชายชุดดำ’ ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำถูกนำตัวมาขึ้นศาลหลังถูกฟ้องในคดีลักษณะเดียวกันเพิ่มอีกในคดีหมายเลขดำที่ อ.1940/2558 ข้อหาครอบครองและพกพาวัตถุระเบิด เครื่องกระสุนปืนไปในที่สาธารณะ โดยอัยการฟ้องว่า ในช่วงต้นเดือนเมษายนถึงวันที่ 14 พ.ค.2553 จำเลยและเพื่อนอีก 2 คนได้มีวัตถุระเบิดลักษณะเป็นขวด M150 กระทิงแดงบรรจุน้ำมันเบนซินและบรรจุดินดำหรือดินเทา เป็นลักษณะระเบิดแสวงเครื่องที่ทำขึ้นเอง เรียกว่า ระเบิดขวด จำนวน 51 ขวด ถังดับเพลิงบรรจุปุ๋ยยูเรีย ถังแก๊ซ เครื่องจุดชนวนระเบิด เครื่องกระสุนปืนอาก้า โดยได้พกพาไว้ในรถเก๋งวิ่งไปมาในถนนย่านท่าแร้ง บางเขน
ศาลสอบถามจำเลยว่าได้ทราบข้อหาแล้วหรือไม่ จำเลยแจ้งว่าเพิ่งทราบข้อกล่าวหาในวันนี้และขอปฏิเสธทุกข้อหา
ด้านวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของจำเลยแจ้งต่อศาลว่าเพิ่งได้รับการแต่งเข้ามาใหม่ในคดีนี้ จึงขอความเมตตาศาลเลื่อนนัดพร้อม ศาลมีคำสั่งให้เลื่อนนัดพร้อมไปวันที่ 14 ก.ย.2558 เวลา 9.00 น.
วิญญัติกล่าวด้วยว่า กิตติศักดิ์ถูกฟ้องในคดีที่สองเพิ่มเติมอีกเพียงคนเดียว โดยคดีดังกล่าวเคยมีจำเลยที่ถูกฟ้องมาก่อนแล้วเมื่อปี 2553 คือ นายเสกสรร วรปีติเจริญกุล ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของรถที่มีส่วนประกอบของระเบิดแสวงเครื่องและเครื่องกระสุน แต่ท้ายที่สุดศาลยกฟ้อง จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ฟ้องร้องกิตติศักดิ์ โดยเชื่อมโยงว่าเสกสรรและกิตติศักดิ์ เป็นเพื่อนขับรถตู้โดยสารในวินเดียวกัน และเคยไปชุมนุมด้วยกัน
ทั้งนี้ ในคดีแรก คดีหมายเลขดำที่ อ.4022/2557 กิตติศักดิ์ สุ่มศรี และพวกอีก 4 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นหญิง 1 คน ถูกฟ้องว่ามีอาวุธปืนสงครามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและนำพาไปในที่สาธารณะ โดยมีพฤติการณ์สวมชุดดำเข้าไปในที่ชุมนุมกลุ่ม นปช.เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 ทั้งห้าคนถูกจับกุมในวันที่ 10-11 ก.ย.2557 ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวหลายครั้งแต่ศาลไม่อนุญาต จนศาลนัดพร้อมในคดีนี้เมื่อ 6 ก.ค.2558 และนัดพร้อมใหม่อีกครั้งในวันที่ 12 ต.ค.2558
ก่อนหน้านี้ทนายความได้เคยร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดด้วยเนื่องจากพบว่าลูกความถูกซ้อมทรมานระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ 

สื่อเทศวิเคราะห์ 'ละครการทูต-การทหาร' เหตุโจมตีข้ามแดน โสมขาว-โสมแดง


ในขณะที่กำลังมีการหารือโดยตัวแทนจากระดับสูงของทั้งสองฝ่าย ผู้เชี่ยวชาญเกาหลีเหนือมองว่าเป็น 'ละครน้ำเน่า' ที่ทั้งสองฝ่ายเล่นกันมานาน ขณะที่สื่อบางแห่งชวนตั้งคำถามว่าเหตุใดผู้นำเกาหลีเหนือถึงไม่พอใจอย่างมากกรณีการใช้เครื่องขยายเสียง "โฆษณาชวนเชื่อ" จากเกาหลีใต้ และยื่นคำขาดให้ปิดเครื่องขยายเสียง
24 ส.ค. 2558 สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่าทางการเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้มีการเจรจาหารือในระดับสูงเป็นรอบที่สอง หลังจากที่มีเหตุการณ์โจมตีใส่กันข้ามพรมแดนในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยตัวแทนจากทั้ง 2 ประเทศเข้าร่วมหารือกันที่หมู่บ้านปันมุนจอมแถบชายแดนระหว่างประเทศ
ในการหารือฝ่ายเกาหลีเหนือเรียกร้องแบบยื่นคำขาดให้เกาหลีใต้เลิกเปิดลำโพงเผยแพร่ "โฆษณาชวนเชื่อ" ต่อต้านคอมมิวนิสต์และขู่ว่าจะมีการเปิดฉากโจมตีอีกถ้าหากทางการเกาหลีใต้ไม่ปฏิบัติตาม
การเปิดฉากยิงโต้ตอบกันระหว่าง 2 ประเทศเกิดขึ้นหลังจากที่มีทหารของเกาหลีใต้ 2 นาย ได้รับบาดเจ็บจากการเหยียบกับระเบิดใน 'เขตปลอดทหาร' (DMZ) ซึ่งเป็นพื้นที่แบ่งเขตแดนระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้โดยที่ฝ่ายเกาหลีใต้อ้างว่ากับระเบิดดังกล่าวเป็นของเกาหลีเหนือ พวกเขาจึงตอบโต้ด้วยการเปิดลำโพงเผยแพร่ "โฆษณาชวนเชื่อ" ไปทางฝั่งเกาหลีเหนือเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา จนกระทั่งในวันที่ 20 ส.ค. เกาหลีเหนือก็ยิงโจมตีเข้ามาในเขตปลอดทหารโดยมีเป้าหมายโจมตีลำโพงออกอากาศของเกาหลีใต้ ทำให้ฝ่ายเกาหลีใต้โจมตีกลับไป
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าจากท่าทีของทั้ง 2 ประเทศ ความขัดแย้งรอบล่าสุดนี้จะไม่มีการยกระดับไปสู่ภาวะสงครามขนาดใหญ่ โดยสตีฟ อีวานส์ นักข่าวบีบีซีรายงานจากกรุงโซลว่าการหารือระหว่างทั้งสองประเทศมีการพูดคุยกันเป็นเวลายาวนานทำให้น่าจะเป็นการพยายามแก้ไขสถานการณ์ไม่ให้มีการปะทะกันด้วยอาวุธในระดับรุนแรง
ทางด้านอังเคร ลันคอฟ ศาตราจารย์ด้านเกาหลีศึกษาจากมหาวิทยาลัยกุกมินในกรุงโซลเขียนบทความถึงเรื่องนี้ว่า ถึงแม้เหตุการณ์จะดูอันตรายสำหรับชาวต่างชาติ แต่สำหรับชาวเกาหลีเองรวมถึงผู้ศึกษาหรือสังเกตการณ์เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จะพบว่าในช่วงที่ผ่านมาทั้ง 2 ประเทศ มีการโจมตีด้วยอาวุธในระยะสั้นๆ สลับกับการกดดันหรือตอบโต้ทางการทูต เช่นในกรณีเกาหลีเหนือยิงตอร์ปิโดใส่เรือรบเกาหลีใต้ในปี 2553 ทำให้เกาหลีใต้ตอบโต้ด้วยการสั่งแบนการค้าและการให้ความช่วยเหลือไทยทั้งหมด มีการโต้ตอบกันด้วยความไม่พอใจจากทั้งสองฝ่ายจนกระทั่งเกาหลีเหนือยิงปืนใหญ่ใส่เกาะของเกาหลีใต้จนมีประชาชนเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ลันคอฟมองว่าเรื่องนี้เป็นแค่อีกบทหนึ่งของ "ละครน้ำเน่า" ทางการทหารและ/หรือทางการทูตที่ไม่จบไม่สิ้นของทั้ง 2 ประเทศ แต่ก็ไม่มีประเทศใดต้องการสงครามในระดับใหญ่ เพราะฝ่ายเกาหลีเหนือมีโอกาสในการชนะสงครามน้อยมาก เนื่องจากแม้ว่าอาวุธจะดีแต่การฝึกฝนและศักยภาพของกองทัพต่ำ ทางด้านเกาหลีใต้ถึงแม้จะมีโอกาสชนะสูงกรณีเกิดสงครามขนาดใหญ่แต่ก็ต้องเสี่ยงต่อการสูญเสียอย่างมากทั้งในแง่ชีวิตของพลเรือนและในแง่เศรษฐกิจ อีกทั้งการพัฒนาประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชียอย่างเกาหลีเหนือหลังการยึดครองก็ดูจะเป็นภาระมากเกินไปสำหรับพวกเขา
ลันคอฟผู้เคยเขียนหนังสือวิเคราะห์เกาหลีเหนือระบุในบทความอีกว่าท่าทีทางการทหารของทั้ง 2 ประเทศ ในตอนนี้เป็นการพยายามแสดงท่าทีแข็งแกร่งกดข่มกัน ส่วนในทางการทูตจะยังคงมีการกล่าวหากันทั้งสองฝ่ายและการข่มขู่กันเพื่อไม่ให้เสียหน้า
ทางด้านสำนักข่าวฮัฟฟิงตันโพสต์วิเคราะห์ว่าเหตุใดเกาหลีเหนือถึงรู้สึกว่าการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อจากเกาหลีใต้ในครั้งนี้เป็นเรื่องอ่อนไหว พวกเขาอ้างสื่อโชซุนอิลโบของเกาหลีใต้ที่ระบุว่าลำโพงจากฝั่งเกาหลีใต้ทำการเผยแพร่ข้อมูลที่ชาวเกาหลีเหนือไม่เคยรู้มาก่อนรวมถึงข้อมูลเรื่องการประหารชีวิตคนในกองทัพบางส่วน นอกจากนี้ยังมีข้อความเกี่ยวกับความดีเลิศของเสรีประชาธิปไตย รายงานข่าวต่างประเทศ รายงานข่าวสภาพอากาศ รายการเพลง ซึ่งถือเป็นการทำลายการพยายามรักษาสภาพดั้งเดิม (status quo) ในแบบของเกาหลีเหนือไว้ ซึ่งถือเป็นสงครามจิตวิทยาที่ทำให้ผู้นำเกาหลีเหนือรู้สึกว่าเป็นภัยและเป็นการหยามหน้ารัฐบาลเกาหลีเหนือ
ฮัฟฟิงตันโพสต์วิเคราะห์อีกว่าสาเหตุที่เกาหลีใต้มีปฏิบัติการต่อเกาหลีเหนือในครั้งนี้อาจจะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือของกองทัพหลังจากในปีที่แล้วกองทัพเกาหลีใต้ถูกวิจารณ์จากสื่อว่าตอบโต้การยั่วยุจากเกาหลีเหนือได้ไม่หนักพอ อีกทั้งเหตุการณ์กับระเบิดที่เป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ทั้งหมดก็ดูน่าสงสัย จากที่ฝ่ายเกาหลีใต้ดูจริงจังมากในเรื่องการเอาผิดกรณีกับระเบิดและหนังสือพิมพ์ฮันกุกอิลโบของเกาหลีใต้ก็ตั้งข้อสังเกตว่านี่เป็นกับระเบิดชิ้นแรกในเขตปลอดทหารที่ปรากฏขึ้นในช่วงตลอด 48 ปีที่ผ่านมา

เรียบเรียงจาก
North and South Korea start second day of talks, BBC, 23-08-2015
http://www.bbc.com/news/world-asia-34032212
Another Korean war is not in the cards, Andrei Lankov, Aljazeera, 23-08-2015
http://www.aljazeera.com/indepth/opinion/2015/08/korean-war-cards-150823053936952.html
4 Things You Need To Know About The Current Conflict Between North And South Korea, Huffington Post, 21-08-2014
http://www.huffingtonpost.com/2015/08/21/battle-north-south-korea_n_8021200.html

นักข่าวเทศงงไทย นักข่าวฮ่องกงโดนจับ ถือเสื้อเกราะขึ้นเครื่อง ยันไม่ใช่อาวุธ


24 ส.ค.2558  สมาคมผู้สื่อข่าวยต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เผยแพร่แถลงการณ์กรณีนักข่าวฮ่องกงถูกกักตัวและแจ้งข้อกล่าวหาครอบครองอาวุธ ตามพ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 กรณีมีเสื้อเกราะซึ่งนับเป็นยุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครอง ขณะเตรียมขึ้นเครื่องบินกลับฮ่องกงที่สนามบินสุวรรณภูมิ หลังเสร็จสิ้นการรายงานข่าวระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณ
แถลงการณ์ของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศฯ ระบุว่า  คดีดังกล่าวจะถูกพิจารณาในศาลทหาร ทางสมาคมฯ เห็นว่าเสื้อเกราะและหมวกนิรภัยไม่ใช่อาวุธและผู้สื่อข่าวไม่สมควรได้รับการปฏิบัติเช่นนั้น ที่ผ่านมาสำนักข่าวต่างประเทศต่างมีนโยบายให้ผู้สื่อข่าวใส่เสื้อเกราะโดยเปิดเผยในเวลาลงทำงานภาคสนามที่มีอันตราย โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ปี 2553 ที่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเสียชีวิตถึง 2 รายยิ่งทำให้เห็นว่าสิ่งป้องกันเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็น
“ที่ผ่านมา สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ได้เรียกร้องให้ทางการไทยตรวจสอบประเด็นนี้ เพื่อให้ผู้สื่อข่าวสามารถหาซื้อ นำเข้า และใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเช่นนี้ กรณีของแอนโทนี่ กวาน เป็นโอกาสเหมาะที่จำเป็นจะต้องหาทางออก เราเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกการตั้งข้อหาทางอาญาต่อแอนโทนี่ กวาน และทำงานร่วมกับสมาคมสื่อในประเทศไทยเพื่อยกเลิกการตั้งความผิดทางอาญาต่อการมีเสื้อเกราะ หมวกนิรภัย และอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ ในครอบครอง” แถลงการณ์ระบุ
โจนาธาน เฮด ประธาน FCCT กล่าวว่า ยังไม่ยืนยันว่าคดีของนักข่าวรายนี้จะไปศาลใด แต่นับแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมา ข้อหาเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธมักไปที่ศาลทหาร ตอนนี้ต้องรอว่าตำรวจว่าจะดำเนินคดีหรือไม่  หากถูกดำเนินคดีจะถูกข้อหาครอบครองอาวุธผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อคืนที่ผ่านมาสำนักข่าวที่ฮ่องกงได้บินมาเพื่อช่วยคดีทำให้นักข่าวคนดังกล่าวได้รับการประกันตัวเมื่อเช้านี้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดพาสปอร์ตไว้ 12 วัน
"สิ่งที่น่าสนใจคือนี่เป็นครั้งแรกที่จะดำเนินคดีกับนักข่าวที่มีเสื้อเกราะในครอบครองในสถานการณ์ใหม่นี้ และอย่างที่รู้ปัญหาตอนนี้ ตามข่าวเหตุระเบิดที่มีคนฮ่องกงตาย หลายปีมานี้ นักข่าวต่างประเทศที่มาไทยก็ใช้เสื้อเกราะ และไม่มีใครว่าอะไร" เฮดกล่าว
ฉ่ามยี่หลัน ประธานสมาคมสื่อฮ่องกง ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ว่า โดยตั้งคำถามว่า ทำไมนักข่าวจึงถูกคุมตัวจากการถืออุปกรณ์ป้องกันตัว โดยเธอบอกว่า มันเป็นเรื่องปกติมากๆ สำหรับนักข่าวสงครามที่จะมีอุปกรณ์แบบนี้และชี้ว่า มันไม่ใช่อาวุธแน่ๆ และไม่มีเหตุผลที่ดีพอที่จะคุมตัวเขา

ค้นพบหลุมศพ-โครงกระดูกเหยื่อค้ามนุษย์ที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย


ตำรวจรัฐปะลิส ของมาเลเซีย ค้นพบหลุมศพและโครงกระดูกมนุษย์ 24 ร่าง โดยเชื่อว่าเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ โดยจุดที่ค้นพบดังกล่าวอยู่ใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ติดกับชายแดนไทยด้าน จ.สตูล โดย จนท.เชื่อว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ขณะที่ก่อนหน้านี้มีการค้นพบหลุมศพและโครงกระดูกกว่า 106 ร่าง
แผนที่แสดงที่ตั้งหมู่บ้านวัง เกอเลียน รัฐปะลิส ชายแดนไทย-มาเลเซีย จุดที่ค้นพบโครงกระดูกมนุษย์และหลุมศพเหยื่อการค้ามนุษย์ล่าสุด
24 ส.ค. 2558 - ตำรวจรัฐปะลิส ของมาเลเซีย ยืนยันข่าวการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ 24 ร่าง ในหลุมศพ 18 หลุม โดยเชื่อว่าเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ โดยค้นพบที่ภูเขา บูกิต วัง เบอร์ม่า ที่หมู่บ้านวัง เกอเลียน ทางตอนเหนือของรัฐปะลิส ติดกับชายแดนไทย-มาเลเซีย
ทั้งนี้ ผู้บัญชาการตำรวจรัฐปะลิส ชะฟี อิสมาอิล กล่าวว่า โครงกระดูกทั้งหมดถูกส่งไปตรวจพยาธิวิทยาที่โรงพยาบาลบาฮิยะ ที่เมืองอะลอสตาร์ รัฐเคดาห์ ตั้งแต่เวลา 17.30 น. ของวันเสาร์ที่ 22 ส.ค. โดยผู้บัญชาการตำรวจรัฐปะลิส ซึ่งให้สัมภาษณ์สื่อของมาเลเซีย AstroAwani เมื่อวานนี้ (23 ส.ค.) ระบุว่าเจ้าหน้าที่ค้นพบหลุมศพถึง 20 หลุม แต่มีโครงกระดูกมนุษย์ใน 18 หลุม
"น่าเชื่อว่าเป็นเพราะฝนที่ตกหนัก ได้ชะล้างหลุมศพ จึงทำให้เกิดการค้นพบหลุมศพเมื่อเย็นวานนี้" ชะฟีกล่าวกับผู้สื่อข่าว ทั้งนี้มีการใช้เจ้าหน้าที่ 15 ราย พนักงาน 108 ราย จากหน่วยปฏิบัติการของตำรวจมาเลเซียประกอบด้วย หน่วยปฏิบัติการกลาง สำนักสืบสวนอาชญากรรม, หน่วยต่อต้านการค้ามนุษย์, ตำรวจสันติบาล และเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน
สารวัตรสืบสวน คาลิด อาบู บากา ยืนยันกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า มีการค้นพบหลุมศพอีกหลายแห่งบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย ด้านรัฐปะลิส เขากล่าวว่า หลุมศพที่พบเป็นเพียงส่วนหนึ่ง
ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม ที่ภูเขาบูกิต วังเบอร์ม่า เช่นเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของมาเลเซียได้ค้นพบหลุมกว่า 139 หลุม มีโครงกระดูกกว่า 106 ร่างซึ่งเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ด้านการศาสนาที่รัฐเคดาห์ พร้อมความช่วยเหลือของสภาความมั่นคงแห่งชาติมาเลเซียได้ ทำพิธีฝังโครงกระดูกที่พบ ที่สุสานของหมู่บ้านตุอาลัง ที่ตำบลโปปกเสนา รัฐเคดาห์ เมื่อเร็วๆ นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ช่องทางบกที่เป็นป่าเขาติดต่อกันระหว่างชายแดนไทย ด้าน จ.สตูล และ จ.สงขลา และชายแดนมาเลเซียด้านรัฐปะลิส และรัฐเคดาห์ เป็นช่องทางลักลอบส่งแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งผู้อพยพชาวโรฮิงญาข้ามแดนเข้าไปในมาเลเซีย
โดยก่อนหน้าการค้นพบหลุมศพในฝั่งมาเลเซียดังกล่าว ในฝั่งไทยเอง ก็มีการค้นพบแคมป์กักกันคนงาน และสุสานฝังศพชาวโรฮิงญาบน ยอดเขาแก้ว บ้านตะโล๊ะ หมู่ 8 ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา เช่นกัน และต่อมาในวันที่ 31 พ.ค.  ศาลจังหวัดนาทวี ซึ่งอยู่ใน จ.สงขลา ได้ออกหมายจับที่ 258/2558 ออกหมายจับ พล.ต.มนัส คงแป้น ผู้ทรงคุณวุฒิ ทบ. โดยกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานสมคบและร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป กระทำการอันเป็นการค้ามนุษย์ โดยกระทำต่อบุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปีร่วมกันช่วยเหลือด้วยประการใดๆ แก่บุคคลต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฏหมายร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขัง ผู้อื่นโดยทำให้ปราศจาเสรีภาพในร่างกายและร่วมกันเรียกค่าไถ่ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
โดยต่อมา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ รายงานว่า อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ฟ้อง พล.ท.มนัส รวมทั้งผู้ต้องหาคนอื่นๆ รวม 72 รายด้วย โดยถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6, 7, 9, 10 , 11, 52 และ 53/1 ข้อหาร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 3, 5, 6, 10 และ 25 ข้อหาร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร หรือช่วยเหลือบุคคลต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 63, 64 และข้อหาเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เฉพาะผู้ต้องหาที่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ขณะเดียวกันจะมีการติดตามผู้ที่หลบหนีอีก 47 รายมาดำเนินคดี (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

‘บวร’ โอดปกป้อง ม.112-ความมั่นคงชาติ แต่กลับถูกสนช. ปัดตกเก้าอี้ กสม.


24 ส.ค.2558 หลังจากเมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำรงตำแหน่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) โดย บวร ยสินทร ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบัน มีคะแนนไม่เห็นชอบ 118 ต่อ 37 งดออกเสียง ส่งผลให้ไม่ได้รับความเห็นชอบจาก สนช. เช่นเดียวกับ นพ.ศุภชัย ถนอมทรัพย์ อาจารย์พิเศษคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มีคะแนนไม่เห็นชอบ 107 ต่อ 45 งดออกเสียง 24 เนื่องจากนายบวรถูกร้องเรียนเรื่องมีคดีความทางการเงินหลายครั้ง ขณะที่ศุภชัยมีปัญหาเรื่องถูกร้องเรียนทางจริยธรรม อาจไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ในกสม. (อ่านรายละเอียด)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา บวร ได้โพสต์แสดงความเห็นต่อกรณีนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Boworn Yasintorn’ ในลักษณะสาธารณะ โดยระบุว่า เรื่องคดีความจากการทำธุรกิจเมื่อ 20 ปีที่นั้น เรื่องเดิมทีจบไปตั้งนานแล้ว และเคลียร์ตัวเองทุกอย่าง ไม่มีคดีคั่งค้าง ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทุกศาล
พร้อมระบุด้วยว่า การประชุม สนช. เป็นการประชุมลับและลงคะแนนลับ ซึ่งผลก็ปรากฏออกมาอย่างที่เห็น ซึ่งตนแทบไม่เชื่อเลยว่า คนที่ต่อสู้เพื่อความมั่นคงของชาติและสถาบันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานและชัดเจน จะไม่ได้รับการรับรองจาก สนช. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหาร คนที่ปกป้องความศักดิ์สิทธิ์ของ กฎหมายอาญามาตรา 112 กลับไม่ได้รับความเชื่อถือเท่ากับพวกต่อต้านการใช้มาตรา 112 โดยเขาเห็นว่า มาตรา 112 เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในขณะที่ตนเห็นว่า เป็นการจำกัดสิทธิบางอย่างของบุคคลเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงของราชอาณาจักร
นอกจากนี้ บวร ยังกล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มต่างๆ ระหว่างที่ถูกเสนอชื่อเป็น กสม. ด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้