วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

จำเลยคดี 112 ทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ขอกลับคำให้การ ศาลทหารนัดพิพากษา 6 ส.ค.


คดี 112 ชาวนาทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ จำเลยขอกลับคำให้การ รับสารภาพตามข้อกล่าวหา เหตุไม่สามารถทนรอสืบพยานขณะถูกคุมขังได้ ศาลทหารเชียงรายนัดพิพากษา 6 ส.ค.58
10 ก.ค. 2558 ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย นัดสืบพยานโจทก์คดีนายสมัคร (ขอสงวนนามสกุล) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดฐานพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะหรือหมู่บ้าน โดยไม่มีเหตุอันควร จากกรณีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ที่จัดสร้างไว้บริเวณปากทางเข้าหมู่บ้าน ที่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย
ในนัดนี้จำเลยได้แจ้งทนายความว่าจะตัดสินใจกลับคำให้การ โดยยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหา เหตุเพราะไม่สามารถทนรอสืบพยานอีกต่อไปได้ ต้องการให้คดีเสร็จสิ้นโดยเร็ว และเมื่อได้สอบถามทางอัยการทหาร ทราบว่ายังเหลือพยานโจทก์ที่จะนำมาเบิกความอีก 7 ปาก ทำให้คดีจะใช้ระยะเวลาอีกหลายเดือนกว่าจะเสร็จสิ้น ทางฝ่ายจำเลยจึงได้แถลงขอกลับคำให้การต่อศาล ศาลจึงให้งดการสืบพยานในนัดนี้ และนัดหมายฟังคำพิพากษาในวันที่ 6 สิงหาคม 58 เวลา 8.30 น.
สำหรับนายสมัคร อายุ 49 ปี ประกอบอาชีพทำนา ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 8 ก.ค.57 โดยตำรวจสายตรวจพร้อมผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านได้ร่วมกันเข้าจับกุม หลังได้รับแจ้งว่ามีเหตุคนทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ที่ได้จัดสร้างไว้บริเวณปากทางเข้าหมู่บ้าน โดยสมัครถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำมานับแต่นั้น เพราะไม่มีเงินในการยื่นขอประกันตัว
พนักงานอัยการได้ส่งฟ้องคดีต่อศาลทหารตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ก.ย.57 ก่อนจะมีการนัดสืบคำให้การเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.57 โดยจำเลยให้การยอมรับสารภาพ แต่ได้ยื่นคำร้องประกอบ พร้อมเอกสารความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ว่ากระทำผิดไปโดยเหตุที่อยู่ในภาวะเป็นจิตเภท ขอให้ศาลยกฟ้องหรือรอการลงโทษ
แต่อัยการทหารได้คัดค้านคำร้องดังกล่าว ด้วยเห็นว่าจำเลยไม่ได้รับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ทั้งหมด และแถลงจะขอนำพยานหลักฐานมาสืบ ศาลยังชี้แจงด้วยว่าในศาลทหารไม่ได้มีขั้นตอนการสืบเสาะคดีเหมือนกับศาลพลเรือน เพราะไม่มีหน่วยงานทำหน้าที่นี้ จึงต้องนำพยานมาเบิกความให้ศาลพิจารณา (ดูรายงานข่าวก่อนหน้านี้)
หลังจากนั้น ศาลทหารได้มีการนัดหมายสืบพยานทุกๆ เดือน รวมแล้ว 6 นัด แต่ได้มีการเลื่อนสืบพยานไปถึง 3 นัดติดต่อกันในช่วงระหว่างเดือนมี.ค.-พ.ค.58 เนื่องจากพยานโจทก์ไม่มาศาล ทั้งจากการติดธุระ และจากปัญหาการไม่ได้ส่งหมายเรียกของเจ้าหน้าที่ตำรวจทำให้พยานไม่ทราบหมาย กระบวนการพิจารณาคดีนี้จึงล่าช้าออกไป รวมแล้วมีการสืบพยานโจทก์ไปได้ทั้งหมด 4 ปาก ก่อนที่จำเลยจะขอกลับคำให้การในวันนี้
นายสมัครมีประวัติการรักษาพยาบาลอาการป่วยทางจิตมานานหลายปี และยังต้องกินยาควบคุมอาการมาจนถึงปัจจุบัน เอกสารประวัติผู้ป่วยของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ระบุข้อวินิจฉัยของแพทย์ว่านายสมัครมีอาการป่วยเป็นโรคจิตเภท มีลักษณะอาการหูแว่ว ประสาทหลอน และหวาดระแวง โดยขณะอยู่ในเรือนจำได้พักอยู่ในแดนพยาบาล

'อาจารย์-ศิษย์เก่า-นศ.' ม.มหาสารคาม ออกแถลงการณ์ระบุต้องเคารพความเห็นต่าง


10 ก.ค. 2558 กลุ่มคณาจารย์ ศิษย์เก่า และนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามและมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ออกแถลงการณ์กรณีอาจารย์ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามและมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม แถลงข่าวที่กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จังหวัดมหาสารคาม โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

แถลงการณ์กรณีอาจารย์ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามและมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
แถลงข่าวที่กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จังหวัดมหาสารคาม

ตามที่เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2558 เมื่อเวลา 11.30 น. ได้มีกลุ่มอาจารย์ นิสิตและนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยมหาสารคามและมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามกลุ่มหนึ่งนำโดย ผศ.ดร.วิรัติ ปานศิลา ประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ผศ.สมาน ศรีสะอาด รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ได้ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ณ กองบังคับการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จังหวัดมหาสารคาม และร่วมกันลงชื่อเรียกร้องให้กลุ่มบุคคลยุติความเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช. ตามที่เป็นข่าวทางสื่อมวลชน
พวกเรา กลุ่มคณาจารย์ ศิษย์เก่า และนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามและมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามที่มีรายชื่อข้างล่างนี้ ขอชี้แจงต่อสังคมดังต่อไปนี้
  • 1. เนื้อหาของการแถลงข่าวและมีการนำเสนอทางสื่อมวลชนระบุว่าเป็น“จุดยืนมหาวิทยาลัยมหาสารคามและมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามไม่เห็นด้วยต้าน คสช.ทุกกรณี” พวกเราเห็นว่าการแถลงดังกล่าวเป็นจุดยืนส่วนตัวของอาจารย์และนิสิตที่เข้าร่วมในการแถลงไม่ใช่จุดยืนของคณาจารย์และนิสิตทั้งหมดในมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่ง เนื่องจากไม่เคยมีกระบวนการใดๆ ที่เป็นการสอบถามคณาจารย์และนิสิตทั้ง 2 มหาวิทยาลัยแต่อย่างใดดังนั้นบุคคลดังกล่าวจึงไม่สามารถอ้างว่าเป็นจุดยืนของมหาวิทยาลัยในทางกลับกัน การแถลงดังกล่าวคือพฤติกรรมการแอบอ้างชื่อมหาวิทยาลัย พวกเราจึงขอให้อาจารย์กลุ่มดังกล่าวยุติพฤติกรรมนั้นเพื่อไม่ให้เป็นที่เสื่อมเสียต่อชื่อเสียงและกระทบต่อมหาวิทยาลัยมหาสารคามและมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
  • 2. ตามที่ รศ.ดร.สุทธิพงศ์ หกสุวรรณ อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ระบุในการแถลงข่าวตามที่ปรากฏในสื่อมวลชนว่า "การเคลื่อนไหวต่างๆ อาจถูกชักนำโดยครูอาจารย์ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ครูอาจารย์บางท่านมีเบื้องหลังผูกพันเกี่ยวกับนักการเมือง ผูกพันกับองค์การต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ไม่ว่ากลุ่มไหนมีความเกี่ยวข้องกันทั้งหมด" พวกเราขอปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวเพราะปราศจากข้อเท็จจริงอย่างสิ้นเชิง และขอประณามพฤติกรรมที่เป็นการกล่าวหาและใส่ร้ายป้ายสีดังกล่าว เพราะเป็นการละเมิดผู้อื่นที่เห็นต่างด้วยวิธีการที่ปัญญาชนโดยเฉพาะบุคคลที่เป็นอาจารย์ไม่ควรกระทำ
  • 3. ตามที่มีการเสนอตามสื่อมวลชนโดยอ้างการแถลงดังกล่าวระบุว่า “ซึ่งกลุ่มอาจารย์ หรือนิสิต นักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวก่อนหน้านั้น ทั้งทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือในนามกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดก็ตาม ถือเป็นการกระทำส่วนบุคคล ทางมหาวิทยาลัยจะไม่รับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น” รวมทั้งที่แถลงว่า “จากนี้ไป 2 มหาวิทยาลัยจะทำหน้าที่กำกับดูแลกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย ไม่นิ่งเฉยเพิกเฉย” พวกเราเห็นว่า นอกจากเป็นการแอบอ้างชื่อมหาวิทยาลัยแล้ว กลุ่มคนเหล่านี้ก็ไม่มีสิทธิกล่าวอ้างว่าทางมหาวิทยาลัยจะรับผิดชอบหรือไม่รับผิดชอบ รวมทั้งไม่มีอำนาจในการกำกับดูแลกิจกรรมต่างๆ เพราะคณาจารย์ที่แถลงเหล่านั้นไม่ใช่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชา และแม้ว่าเป็นผู้บังคับบัญชาก็ไม่สามารถกล่าวเช่นนั้นได้เพราะการแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติเป็นสิทธิที่ชอบธรรม นอกจากนั้น การแถลงดังกล่าวยังถือว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวมีท่าทีที่คุกคามคณาจารย์ที่เห็นต่าง
  • 4. พวกเราขอยืนยันหลักการที่ว่าประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เป้าหมายแต่เป็นกระบวนการด้วย ดังนั้น กระบวนการให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยจึงต้องเป็นประชาธิปไตยด้วยดังนั้น ทุกคนในสังคมจึงมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ และถึงแม้ว่าคนในสังคมจะมีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน แต่สิทธินั้นก็ต้องได้รับความเคารพ


ด้วยความสมานฉันท์
คณาจารย์ ศิษย์เก่า และนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามและมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
10 กรกฎาคม 2558

ผู้ชุมนุมชีอะห์ประท้วงหน้าสถานทูตอิสราเอลย่านอโศก เนื่องในวันอัลกุดส์


สมาพันธ์อัลกุดส์นานาชาติแห่งประเทศไทยรวมตัวเดินขบวนย่านสุขุมวิท-อโศก ไปยังสถานทูตอิสราเอลเนื่องในวันอัลกุดส์ เพื่อแสดงความสามัคคีกับชาวปาเลสไตน์ และร่วมกันต่อต้านรัฐอิสราเอล โดยวันรณรงค์ดังกล่าวถูกกำหนดโดย อายะตุลลอฮ์ โคไมนี ผู้นำอิหร่านเมื่อ 37 ปีที่แล้ว
10 ก.ค. 2558 - เมื่อเวลา 14.30 น. มุสลิมชีอะห์ในกรุงเทพมหานครในนามสมาพันธ์อัลกุดส์นานาชาติแห่งประเทศไทยกว่า 100 คน นำโดยนายเสถียรภาพ สุขสำราญ ได้เดินขบวนหน้าสถานทูตอิสราเอล อาคารโอเชียน ทาวเวอร์ ถ.อโศกมนตรี เนื่องในวันอัลกุดส์ ซึ่งเป็นการนัดหมายชุมนุมหน้าสถานทูตอิสราเอลทั่วโลก เพื่อเรียกร้องให้ปลดปล่อยปาเลสไตน์ และรำลึกการที่อิสราเอลโจมตีฉนวนกาซา
ทั้งนี้กิจกรรมชุมนุมดำเนินไปประมาณ 60 นาที โดยกิจกรรมหลังจากนี้จะมีการเสวนาโดย มูฮัมหมัด ญะวาต มัซลูมี ที่อาคารอเนกประสงค์ อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทยด้วยตั้งแต่เวลา 18.00 น.
สำหรับวันอัลกุสด์ ถูกกำหนดโดยอายะตุลลอฮ์ รูฮุลลอฮ์ โคไมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านเมื่อปี 2521 โดยกำหนดให้วันศุกร์สุดท้ายของเดือนรอมฎอน เรียกร้องให้มุสลิมทั่วโลกแสดงความสามัคคีกันต่อต้านอิสราเอล และสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ และเขาระบุให้การปลดปล่อยอิสราเอลเป็นหน้าที่ทางศาสนาของมุสลิมทั้งมวล

เสธ.ทบ.แจงไม่ได้กดดัน 'ยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ์' ร่วมรายการเดินหน้าปฏิรูป


เสนาธิการทหารบก ระบุ ไม่ได้กดดันยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ์ เข้าร่วมรายการเดินหน้าปฎิรูป แต่ตั้งใจเชิญอดีตรัฐมนตรีของ 2 รัฐบาลร่วมระดมความคิดสู่การปฎิรูปประเทศ ล่าสุดหัวหน้าปชป.ตอบรับแล้ว
 
10 ก.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่า พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) กล่าวถึงกระแสข่าวที่ระบุว่าศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฎิรูป (ศปป.) กดดันน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี มาร่วมรายการเดินหน้าปฎิรูป ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ว่า เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะศูนย์ปรองดองฯ มีความตั้งใจจะเชิญอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์และนายอภิสิทธิ์ มาร่วมแสดงความคิดเห็น ระดมความคิดเพื่อสร้างความปรองดองสู่ การปฎิรูปประเทศเท่านั้น ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี
 
“แต่เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ล่าสุดได้รับการตอบรับจากนายอภิสิทธ์แล้ว ซึ่งจะได้ร่วมสร้างความปรองดองต่อไป โดยนายอภิสิทธิ์จะมาร่วมออกรายการเพื่อหาทางทางแก้ไขปัญหาประเทศในสัปดาห์หน้า ซึ่งเมื่อวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้เชิญนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาลนส.ยิ่งลักษณ์มาร่วมแสดงความคิดเห็นแล้ว” เสนาธิการทหารบก กล่าว
 
พล.อ.ฉัตรเฉลิม กล่าวว่า ศูนย์ปรองดองฯไม่ได้กดดันน.ส.ยิ่งลักษณ์ว่าต้องมาร่วมรายการเดินหน้าปฎิรูป แต่หากน.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องการมาร่วมกันแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ศูนย์ปรองดองฯพร้อมต้อนรับ
 
“ทางเราไม่ได้ไปบีบให้คุณยิ่งลักษณ์ต้องมา มันไม่ใช่นะ เพราะเรามีความตั้งใจที่จะเชิญรัฐมนตรีใน 2 รัฐบาลทั้งคุณยิ่งลักษณ์และคุณอภิสิทธิ์ เพราะความรู้ความเข้าใจในเรื่องของงานที่ทำ แต่ถ้าเป็นนายกรัฐมนตรีในแต่รัฐบาลมาเองเลย ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี ซึ่งคุณอภิสิทธ์ ตอบรับมาแล้วว่าจะมาออกรายการให้ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ จึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะเดินหน้าปฎิรูปประเทศต่อไป” พล.อ.ฉัตรเฉลิม กล่าว

บายศรีสู่ขวัญ 14 นักศึกษานักกิจกรรม หลังออกจากเรือนจำ


10 ก.ค.2558  เวลาประมาณ 17.30  น. ใต้ตึกกิจกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) งานบายศรีสู่ขวัญ สมาชิกขบวนประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ทั้ง 14 คนที่ออกจากเรือนจำเริ่มคึกคัก มีนักศึกษา อาจารย์ ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกว่า 100 คน
อนุสรณ์ อุณโณ หนึ่งในอาจารย์ที่มาร่วมงานกล่าวว่า เรารวมตัวกันเพื่อจะทำอะไรให้นักศึกษาได้บ้าง งานบายศรีมักจัดขึ้นหลังวิกฤตชีวิตและเรื่องไม่เป็นมงคล 14 คนถูกคุมขัง 13 วัน จึงต้องการจัดงานนี้ขึ้นเพื่อต้อนรับพวกเขากลับมา
พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์อีกคนที่มาร่วมงาน กล่าวว่า ขอขอบคุณนักศึกษาที่เสียสละเสรีภาพในการต่อสู้ความไม่ชอบธรรม เรียกร้องสิ่งที่ไม่มีในสังคมให้กลับคืนมาด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ เป็นแรงบันดาลใจให้กับอาจารย์และประชาชนคนอื่นๆ ผมรู้สึกขอบคุณทั้ง 14 คน รวมถึงนัชชชา จึงจัดงานบายศรีขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเรายังยืนอยู่ข้างคุณ ใครก็ตามที่ยึดหลัก 5 ข้อของขบวนประชาธิปไตยใหม่ เราคือเพื่อนกัน และขอต้อนรับ 14 คนกลับมา
วิบูลย์ บุญภัทรรักษา พ่อของไผ่ ดาวดิน กล่าวว่า ใน ฐานะผู้ปกครองรู้สึกภูมิใจในสิ่งที่เด็กๆ ทำ
“ผมภาคภูมิใจในสิ่งที่เด็กๆ ทำ ภูทิใจที่เขามีวิธีคิดที่ปราศจากการควบคุม ได้คุยกับผู้ปกครองคนอื่นๆแล้ว ไม่คิดว่าสิ่งที่พวกเขาทำเป็นสิ่งเลวร้ายอย่างที่ใครกล่าวหา ขอขอบคุณประชาชนและอาจารย์ที่อยู่ข้างๆ ลูกทั้ง 14 ของผม” วิบูลย์
รังสิมันต์ โรม กล่าวว่า หลังจากนี้อาจจะมีการจับกุมอีกหลายครั้งและคงเกิดการคุกคามอีกหลายครั้ง ตอนอยู่ในเรือนจำเขาอาจจะคิดว่าหยุดพวกเราได้ แต่ว่าทุกวินาที ข้าวทุกจาน น้ำทุกหยด มันคือการต่อสู้ การต่อสู้ที่สั่นสะเทือนคือการที่ทั้งนอกและในคุกต่อสู้ร่วมกัน ตอนนี้เรายังไม่ชนะ คสช. ยังอยู่ คดียังอยู่ เรายังต้องสู้ต่อไป ขอขอบคุณทุกคนที่อยู่ข้างกันและไม่ทอดทิ้งกัน
จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ กล่าวว่า เมื่ออยู่ในคุกสิ่งที่เปลี่ยนไปคือเราบูมรวมพลังเสียงดังไม่ได้ ต้องกระซิบ "ประชาธิปไตย ประชาธิปไตย ประชาธิปไตย" แต่ข้างนอกเองก็ไม่มีเสรีภาพเหมือนๆ กัน คุกทำให้เราเรียนรู้ความยากลำบาก แต่มันได้ยืนยันความเชื่อของเรา ณ วันนี้เราไม่ใช่ 14 แล้ว เรามีทั้ง อาจารย์ และ ประชาชน
“เราต้องข้ามสีเสื้อ เรียนรู้ว่าอะไรอยุติธรรมจริงๆ และนี่จะเป็นการสร้างความสุขกลับมาในสังคมไทยที่แท้จริง คนที่สู้ เราไม่อยากให้ออกมาสู้เพราะว่าเราเป็นนักศึกษา เพราะว่าเราเป็น 14 คนนี้ แต่อยากให้สู้ในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีและเสรีภาพ ผมไม่บังคับให้คุณเชื่อหรือคิดตามผม แต่เราปล่อยรัฐประหารครั้งนี้ผ่านไปไม่ได้ เดี๋ยวก็มาอีก เราก็ต้องมานั่งบายศรีอีก เราต่างกลัวถูกขัง แต่เราไม่กลัวที่ต้องสู้เพื่อความถูกต้อง อยากให้ทุกคนมาอยู่ด้วยกัน” ไผ่กล่าว

ศาลทหารไม่ให้ประกันหญิงโพสต์หมิ่น 'ประยุทธ์' เจ้าตัวแจงนำมาจาก LINE


10 ก.ค.2558  เวลา 10.00 น.ที่ผ่าน มา พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. พร้อมคณะ ได้นำตัว รินดา ปฤชาบุตร อายุ 44 ปี ผู้ต้องหาคดีโพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาพล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยาโอนเงินไปสิงคโปร์หมื่นล้าน
ทั้งนี้ รินดาโดนเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบบุกจับกุมที่บ้านพักจังหวัดปทุมธานีเมื่อวันที่ 8 ก.ค.ไปควบคุมตัวที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ 1 คืนก่อนนำส่งกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ในวันต่อมา ตำรวจแจ้งข้อหาว่าว่ารินดากระทำความผิดโพสต์ข้อความดังกล่าวในเฟซบุ๊ก วันที่ 6 ก.ค.เวลา 06.41 น. มีความผิด 3 ข้อหา คือ  มาตรา 14(2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ,มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา กระทำให้ปรากฎแก่ประชาชน ด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่น อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบให้เกิดในราชอาณาจักร โทษจำคุกสูงสุด 7 ปี , มาตรา 384 ประมวลกฎหมายอาญา แกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือจนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจ
เพจศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ในการแถลงข่าวของตำรวจ พล.ต.ท.ศิริพงษ์ ติมุลา ผู้บังคับการ ปอท. กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้ทำการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ ปอท.จึงร่วมกับ ไอซีทีและหน่วยงานความมั่นคงสืบหาตัวผู้กระทำความผิดจนจับกุมได้ และพบว่ารินดามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มคนต่างๆ ที่เป็นที่จับตาของฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าที่่ทหารได้ใช้ อำนาจตาม มาตรา44 ในรัฐธรรมนูญ 2557(ชั่วคราว) เข้าควบคุมตัว
พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่ารินดาคือผู้โพสต์ข้อความตามที่เป็นข่าว แต่อาจจะทำไปเพราะไม่รู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดเพราะไปกระทบสิทธิของผู้อื่น ถ้าผิดกฎหมายเจ้าหน้าที่จะเข้าไปดำเนินการอย่างเด็ดขาด
รินดา ปฤชาบุตร ผู้ต้องหาที่ถูกนำตัวมาแถลงข่าว กล่าวว่าเธอไม่ได้เขียนข้อความดังกล่าวขึ้นมาเองแต่เป็นการคัดลอกมาจาก Line เช้าวันเกิดเหตุเธอคาดว่าข้อความดังกล่าวแสดงขึ้นมาท่ามกลางเพื่อนจำนวนมากในไลน์เพราะเธอทำธุรกิจ เมื่อเธอเห็นก็ไม่ได้อ่านให้ละเอียดแต่ได้ทำการคัดลอกข้อความมาโพสต์ต่อในเฟซบุ๊ก เธอยอมรับว่าทำไปโดยไม่ได้เจตนาและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นอกจากนี้ยังปฏิเสธว่าเธอไม่ได้มีความรู้จักกับมนูญ ชัยชนะ หรือ อเนก ซานฟราน ซึ่งถูกโยงเอาไว้ในผังเครือข่ายผู้โพสต์ข้อความซึ่งตำรวจนำมาใช้ประกอบการแถลงข่าว
รินดากล่าวว่า เธอไม่ได้มีเจตนาสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายแก่ชาติบ้านเมือง เพียงแต่เห็นว่าในฐานะเป็นประชาชนคนหนึ่งมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือผู้นำรัฐบาลได้ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่เพราะเป็นบุคคลสาธารณะ แต่ข้อความอาจจะมีข้อเท็จจริงที่ไม่เป็นจริงอยู่ จึงอยากเตือนให้ประชาชนระวังการแสดงออกที่หมิ่นเหม่ต่อการผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่เธอก็ยังเชื่อว่าประชาชนยังคงต้องมีสิทธิในการแสดงออกอยู่
รินดาได้ตอบคำถามของสื่อมวลชนว่า เธอไม่รู้จักกับอเนก ซานฟาน และในแผนผัง ก่อนหน้านี้เธอใช้เฟซบุ๊กของอดีตสามีที่เสียชีวิตไปแล้วในการแสดงความเห็นทางการเมืองเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้มีความชำนาญในการใช้ บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวมีการเข้าไปร่วมกลุ่มต่างๆ แต่เป็นข้อมูลเก่าตั้งแต่ 3 ปีที่แล้วในช่วงที่สามียังใช้งานอยู่ แต่เธอไม่ได้มีความชำนาญในการใช้จึงไม่สามารถออกจากกลุ่มเหล่านั้นเองได้ สังเกตได้ว่ากลุ่มต่างๆ ไม่ได้มีความเคลื่อนไหวเลยเพราะเธอไม่ได้เข้าไปใช้ แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการทำอาหารหรือความงามเธอเป็นผู้กดเข้าไปเอง
หลังการแถลงข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวรินดามาส่งที่ศาลทหารเพื่อทำการฝากขังครั้งที่ 1 โดยให้เหตุผลในการขอฝากขังว่าการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จเนื่องจากต้องสอบปากคำพยานอีก 5 ปาก รอผลการตรวจพิสูจน์อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของกลาง, ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์และผลตรวจสอบประวัติอาชญากรของผู้ต้องหา โดยพนักงานสอบสวนไม่ได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราว

"พฤติการณ์เมื่อวันที่ 6 ก.ค.เวลา 06.41 น. ผู้ต้องหาได้โพสต์ข้อความในลักษณะที่เป็นเท็จให้ร้าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โยกย้ายทรัพย์สินออกนอกประเทศเพื่อลี้ภัยไปประเทศสิงคโปร์ ซึ่งไม่เป็นความจริง ผ่านทางเฟซบุ๊ก ...ซึ่งมีข้อความที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศและกระทำความผิดเกี่ยกับกฎหมาย โดยเฟซบุ๊กดังกล่าวเปิดสาธารณะ บุคคลทั่วไปสามารถเห็นข้อความที่เจ้าของเฟซบุ๊กทำการโพสต์และสามารถแสดงความคิดเห็น ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกตกใจ และหากหลงเชื่ออาจทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบใประเทศ" ตอนหนึ่งในคำร้องขอฝากขัง
วิญญัติ ชาติมนตรี หนึ่งในทีมทนายความจำเลยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ญาติรินดาได้ยื่นประกันโดยใช้เงินสด 100,000 บาทเป็นหลักทรัพย์ เวลาประมาณ 15.00 น.ศาลทหารมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว โดยระบุว่าพฤติการณ์เป็นคดี
เมื่อเวลา 15.00 น. ศาลมีคำสั่งไม่อนุมัติให้ประกันตัวรินดาโดยให้เหตุผลว่า แม้พนักงานสอบสวน ผู้ร้องไม่คัดค้านการปล่อยชั่วคราว แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าผู้ต้องหาถูกจับกุมในคดีความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากปล่อยชั่วคราวอาจเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่การสอบสวน จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง
วิญญัติกล่าวว่า คดีนี้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาหนักเกินไป หากมีการเผยแพร่ข้อความเท็จที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ เสียหายก็เข้าข่ายหมิ่นประมาท ที่ผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14  (2) หรือกฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาทบุคคลก็ได้ แต่ไม่ใช่ มาตรา 116 ที่เป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ ทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบให้เกิดในราชอาณาจักร ให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
ด้านเพื่อนของรินดา ให้สัมภาษณ์ว่า  หลังทราบว่าศาลไม่ให้ประกันตัวทุกคนตกใจมาก เพราะไม่มีใครคิดว่าจะร้ายแรงถึงเพียงนั้น รินดาเองก็ได้รับแจ้งจากทั้งทหารและตำรวจว่าจะได้รับการประกันตัว เมื่อต้องถูกส่งไปคุมขังที่เรือนจำทำให้เธอกังวลเป็นห่วงลูกมาก ร้องไห้ตลอดเวลา เนื่องจากรินดาเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว อยู่กับบุตรสาวและบุตรชายอายุ 13 และ 7 ปีตามลำพัง คาดว่าคงต้องให้ญาติมาอยู่เป็นเพื่อนลูกๆ
“สภาพจิตใจเขาแย่มากถึงมากที่สุด เพราะหวังว่าจะประกันได้ ร้องไห้เหมือนคนเสียสติ คุมตัวเองไม่ได้แล้ว ตอนนี้กำลังจะส่งเรือนจำ แล้วเขาเป็นไมเกรน เป็นแล้วเป็นหนัก เพราะเป็นคนเครียดอยู่แล้วต้องรับผิดชอบครอบครัวคนเดียว” เพื่อนของรินดากล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กของผู้ต้องหาใช้บัญชีในอีกชื่อหนึ่ง ยังคงปรากฏข้อความที่ก็อปปี้มาโพสต์และเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดี โพสต์ดังกล่าวมีคนไลค์ 57 คนแชร์ 53 เนื้อหาโดยส่วนใหญ่ในบัญชีดังกล่าวเป็นรูปเซลฟี่ตัวผู้ต้องหาและครอบครัว การโพสต์กิจการขายของ การทำผม มีการแชร์ข่าวบ้างประปราย พร้อมวิจารณ์รัฐบาลทหาร
ขณะที่ในการแถลงข่าวของตำรวจมีการโยงผัง เชื่อมโยงผู้ต้องหาคดีนี้กับผู้ต้องหาในคดีโพสต์เผยแพร่ข่าวการปฏิวัติซ้อนที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้โดยโยงว่า เอนก ซานฟาน หรือมนูญ ชัยชนะ เป็นผู้จ้างวาน นอกจากนี้ยังมีการนำภาพในเฟซบุ๊กของรินดามาแสดงด้วย เป็นภาพที่รินดาเคยถ่ายคู่กับบุคคลต่างๆ ที่ทำกิจกรรมทางการเมือง และภาพการร่วมกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยนักศึกษานักกิจกรรม 14 คนจากขบวนประชาธิปไตยใหม่เมื่อครั้งยังถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ