วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ปล่อย 14 นักกิจกรรม-นักศึกษาแล้ว


ปล่อยตัว 14 นักศึกษานักกิจกรรมแล้ว หลังศาลทหารไม่อนุมัติคำร้องฝากของพนักงานสอบสวน ลุ้นต่ออัยการศาลทหารส่งฟ้องหรือไม่ แม่ชลธิชา น.ศ.หญิงคนเดียวในกลุ่มเผย จนท.พาลูกไปส่งที่บ้าน ไม่ปล่อยหน้าเรือนจำ



ภาพจากช่างภาพอาสา

8 ก.ค. 2558 เวลา 05.20 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของนักศึกษาและนักกิจกรรมทั้ง 14 คน มารอรับที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยระบุว่า ทั้ง 14 คนกำลังอยู่ระหว่างการทำเอกสารปล่อยตัว 
หน้าเรือนจำฯ มีครอบครัว เพื่อน และผู้สื่อข่าวมารอเป็นจำนวนมาก
เวลา 5.30 น. 13 นักศึกษา-นักกิจกรรมชายได้รับการปล่อยตัว ขณะที่ไม่พบ ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด นักศึกษาหญิงคนเดียวในกลุ่ม
ด้านรังสิมันต์ โรม นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มธ. แถลงว่า เรือนจำดูแลดี ไม่ถูกทำร้าย ยืนยันสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และการนำตัวพลเรือนขึ้นศาลทหารขาดความชอบธรรม พร้อมประกาศสู้ต่อ
ด้านรัฐพล ศุภโสภณ หรือบาส นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ให้สัมภาษณ์พร้อมกับโอบกอด เรวดี สิทธิสุราษฎร์ ผู้เป็นแม่ โดยเขาระบุว่า ยังยืนยันสู้ด้วยหลักการของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 5 ข้อ พร้อมยืนยันว่ากลุ่มยึดหลักสันติวิธีและต้องรับฟังความเห็นต่าง
ลมูล แจ้งเร็ว แม่ของ ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด นักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่ได้ปล่อยตัวที่เรือนจำตามที่ได้นัดหมาย แต่ได้แยกนำตัวลูกเกดไปส่งที่บ้าน ตั้งแต่เวลา 5.00น. ขณะที่ครอบครัวได้มารอรับตัวที่เรือนจำ ทำให้ไม่ได้พบกัน และเมื่อแม่และทนายความได้ติดต่อให้นำตัวเธอมาส่งให้ครอบครัวที่เรือนจำ ก็ได้รับการปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่เรือนจำ
พะเยาว์ อัคฮาด หรือแม่ของกมนเกด อาสาพยาบาลที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนารามฯ ระหว่างเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 กล่าวว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นสิ่งไม่สมควร สิ่งที่ถูกควรจะเป็นการนำนักศึกษามาปล่อยตัวให้สาธารณะได้รับรู้พร้อมๆ กัน
หนึ่งชั่วโมงถัดมา ญาติของลูกเกดได้พาลูกเกดเดินทางมาพบกับกลุ่มเพื่อนที่หน้าเรือนจำอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ 14 นักศึกษานักกิจกรรม กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ถูกควบคุมตัวตามหมายจับด้วยความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.และมาตรา 116 กฎหมายอาญา จากการทำกิจกรรมเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยถูกนำตัวไปที่ สน.พระราชวังในช่วงเย็นวันที่ 26 มิ.ย. จากนั้นถูกนำตัวส่งศาลทหารในเวลา 21.30 น. ก่อนจะเสร็จสิ้นกระบวนการในศาลทหาร เวลาประมาณ 00.30 น. (อ่านข่าวที่นี่)
ทั้งนี้ แม้จะไม่มีการฝากขังนักศึกษาและนักกิจกรรมทั้ง 14 คน แต่กระบวนการยุติธรรมยังคงดำเนินต่อไป เมื่อครบกำหนดหากอัยการทหารส่งฟ้องต่อศาลทหารก็ต้องมีการพิจารณาคดีตามที่ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง 3/2558 ที่ออกโดยมาตรา 44 และมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี
นอกจากนี้ ทั้ง 14 คนยังเป็นผู้ต้องหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. จากการทำกิจกรรมเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2558 แบ่งเป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมที่หน้าหอศิลป์ กรุงเทพฯ 7 คน (ไม่รวม นัชชชา กองอุดม และธัชพงศ์ แกดำ ถูกอัยการศาลทหารสั่งฟ้องไปก่อนหน้านี้) และกลุ่มดาวดินอีก 7 คนจากการชูป้ายผ้าที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น
ด้าน อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. และ ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยลูกศิษย์ที่ถูกคุมขัง แถลงเรียกร้อง คสช.ยุติการดำเนินคดีและคุกคามนักศึกษา ครอบครัว เพื่อน นักวิชาการและผู้เกี่ยวข้อง
เนื้อหามีดังนี้ 
0000
แถลงการณ์เครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง
ฉบับที่  5
ขอบคุณประชาชนทุกฝ่าย
เนื่องจากศาลทหารได้มีคำสั่งยกคำร้องของพนักงานสอบสวน ที่ให้ฝากขังนักศึกษาทั้ง 14 คนอีกหนึ่งผลัด เป็นผลให้นักศึกษาทั้ง 14 คนได้รับการปล่อยตัว คณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ขอแสดงความขอบคุณต่อนักศึกษา นักคิด นักเขียน กวี นักแปล ศิลปิน นักเคลื่อนไหวองค์กรพัฒนาเอกชนและประชาชนจำนวนมากมายที่ให้การสนับสนุนแก่นักศึกษาทั้ง 14 คนและได้ร่วมกันเรียกร้องให้ปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข ปราศจากการผลักดันของท่านเหล่านี้แล้ว นักศึกษาทั้ง 14 คนก็คงจะต้องถูกคุมขัง สูญเสียอิสรภาพต่อไปอีก
ยิ่งกว่านั้น ประสบการณ์รูปธรรมที่เราได้พบจากการร่วมกันช่วยเหลือนักศึกษาในครั้งนี้ทำให้เราเล็งเห็นความเป็นไปได้ที่ พลังสังคมฝ่ายต่าง ๆ ที่อาจมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันจะก้าวข้ามความแตกต่างนั้นมาร่วมมือร่วมใจกัน บนพื้นฐานหลักการอันถูกต้องดีงามและฉันทามติในการปกป้องผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน  ปรากฏการณ์ อันทรงคุณค่าที่ไม่ค่อยได้พบเห็นในท่ามกลางความแตกต่างขัดแย้งทางการเมืองในระยะที่ผ่านมานี้น่าจะเป็นพื้นฐาน ให้สร้างเสริมการสัมพันธ์แลกเปลี่ยนและร่วมมือร่วมใจกันผลักดันสิ่งที่ถูกต้องดีงามเพื่อส่วนรวมต่อไปในภายหน้า
อย่างไรตาม เนื่องจากพนักงานสอบสวนยังคงไว้ซึ่งข้อกล่าวหาต่าง ๆ ทั้งในคดีนี้และคดีอื่นก่อนหน้า จึงยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีการนำเอาคดีการเมืองเหล่านี้ขึ้นมาดำเนินการกับนักศึกษาทั้ง 14 คนอีกเมื่อใดก็ได้ อีกทั้งยังอาจมีการคุกคามสวัสดิภาพของนักศึกษาด้วยวิธีการอื่นๆ อีก คณาจารย์จะยังคงรวมตัวกันในเครือข่ายเพื่อเฝ้าติดตามสวัสดิภาพของนักศึกษาต่อไป
พวกเราขอเรียกร้องให้ยุติการคุกคามนักกิจกรรมและเครือข่ายโดยเฉพาะการออกหมายเรียกตัวนายบารมี ชัยรัตน์และผู้จัดการสวนเงินมีมาในข้อหากระทำการขัดต่อความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นการกล่าวหาเกินจริงและเป็นการคุกคามในลักษณะหนึ่ง
นอกจากนั้น จนถึงบัดนี้ยังมีการคุกคามคณาจารย์ในต่างจังหวัดในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการโทรศัพท์ เข้าพบสอบถาม หรือกระทั่งขอนัดประชุมกับคณาจารย์ที่ร่วมลงชื่อและรณรงค์กับพวกเรา เครือข่ายคณาจารย์จึงขอย้ำว่า ให้ฝ่ายทหารและเจ้าหน้าที่อื่นๆ ยุติการกระทำดังกล่าวโดยทันที
คณาจารย์ขอยืนยันว่า เราเป็นเพียงอาจารย์ที่รวมตัวกันด้วยความห่วงใยอย่างจริงใจในศิษย์ที่เคลื่อนไหวโดยเปิดเผย บริสุทธิ์ใจ และชอบธรรม ตามสิทธิเสรีภาพอันพึงมีและเรายินดีที่จะสื่อสารแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างกันในเงื่อนไขที่เปิดเผย รับฟัง จริงใจ
ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และเสมอภาค
เครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง
8 กรกฎาคม 2558

ผบ.ตร.กำชับตำรวจต้องแต่งเครื่องแบบขณะจับกุม-ตรวจค้น


เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ลงนามในหนังสือ ที่ 0011.13/ว52 เรื่อง กำชับการแต่งเครื่องแบบของข้าราชการตำรวจในกรณีการใช้กำลัง ถึงทุกหน่วยในสังกัด ระบุว่าด้วยปรากฏว่ามีข้าราชการตำรวจบางรายปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้นหรือจับกุมโดยไม่ได้แต่งเครื่องแบบ ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือพบเห็นอาจเกิดเข้าใจผิดหรือเกิดเหตุกระทบกระทั่งกับข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวและนำไปสู่ปัญหาร้องเรียนซึ่งในการนี้ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้สั่งการให้แต่งเครื่องแบบในการใช้กำลังทุกกรณี ดังนั้น ให้ถือปฏิบัติดังนี้
1.กำชับข้าราชการตำรวจในสังกัดกรณีการใช้กำลังปฏิบัติหน้าที่เพื่อทำการตรวจค้นหรือจับกุมทุกกรณี ต้องแต่งเครื่องแบบให้ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบว่าด้วยเครื่องแบบตำรวจ เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นหรือเร่งด่วนที่ต้องทำการตรวจค้นบุคคลหรือสถานที่หรือจับกุมบุคคลใด ซึ่งหากไม่ปฏิบัติทันที อาจจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ ถ้าเช่นนี้ไม่ต้องแต่งเครื่องแบบก็ได้ แต่ต้องแจ้งยศ ชื่อ ตำแหน่ง พร้อมทั้งแสดงบัตรประจำตัวให้เจ้าบ้านหรือผู้ครอบครองสถานที่หรือบุคคลที่ถูกตรวจค้นหรือถูกจับกุมนั้นทราบ     
2.หากมีข้าราชการตำรวจผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อ 1 ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาความบกพร่องตามควรแก่กรณีภายในอำนาจหน้าที่ และรายงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผ่าน ศปก.ตร.) ทราบต่อไป เพื่อทราบและถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด

‘ประยุทธ์’ ชี้ศาลให้ความเมตตาปล่อย 14 ประชาธิปไตยใหม่ กสม.เชิญผู้แทน คสช. สอบปมจับกุม


8 ก.ค. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ปฏิเสธให้ความเห็นกรณีศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งปล่อย 14นักศึกษานักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ว่า อยากให้ยุติเรื่องนี้  เนื่องจากศาลให้ความเมตตาปล่อยตัวแล้ว และเห็นด้วยกับการให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ระบุต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย
โดย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม  คสช. กล่าวถึงกรณีนี้ว่า หลังได้รับการได้รับการปล่อยตัว ขอให้ใช้แนวทางอื่น มีช่องทางเคลื่อนไหวอื่นที่รัฐบาลเปิดให้อยู่ แต่หากยังเคลื่อนไหวฝ่าฝืนแบบเดิม ก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย การที่ คสช. เข้ามา เพราะประเทศมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้รัฐบาลขณะนั้นบริหารประเทศไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องบังคับใช้ให้อยู่ในกรอบกฎหมาย
พล.อ. ไพบูลย์ กล่าวว่า รัฐบาลนี้ แม้ไม่ได้มาจากประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ใช่เผด็จการสุดโต่ง มีธรรมภิบาลมีจริยธรรม ในการบริหารประเทศ จึงขอร้องให้ได้ทำงาน ซึ่งประเทศกำลังไปได้ดีอยู่แล้ว และสิ่งที่กำลังทำ เป็นรากฐานของประเทศ ซึ่งรวมถึงนักศึกษารุ่นนี้ที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้บริหารบ้านเมืองในอนาคต ถ้ายังมีปัญหา ก็จะเป็น เหมือนก่อน 22 พ.ค.2557  ดังนั้นมีช่องทางเคลื่อนไหว รัฐบาลเปิดให้ เชื่อว่ายังอยู่ในวิสัยที่คุยกันได้ ก็ขอให้อย่าเกินเลย อย่าเดินแบบเดิม ส่วนกรณีที่มีข้อห่วงใยเรื่องความปลอดภัย ระหว่างที่นักศึกษาอยู่ในเรือนจำ ก็ดูแลอย่างดี วันนี้ปล่อยกลับไปอ้อมอกพ่อแม่ ถ้าอยากให้รัฐดูแลความปลอดภัยก็ร้องขอมาได้
กสม.เชิญผู้แทน คสช. สอบปมจับกุม
วันเดียวกัน การประชุมของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)  โดยมี อมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม. เป็นประธานการประชุม เพื่อตรวจสอบกรณีการจับกุมนักศึกษานักกิจกรรม 14 คน สมาชิกกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ หลังรวมตัวต่อต้านการรัฐประหาร โดยมี พ.อ.นุรัช กองแก้ว รอง ผอ.สำนักงานพระธรรมนูญ เป็นผู้แทนจาก คสช. สมพร มูสิก ผู้แทนจากสภาทนายความ ศูนย์ทนายความ และ กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมประชุม ขณะที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 มีหนังสือแจ้งมายังอนุกรรมการฯ ว่าติดภารกิจ จึงไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมตามคำเชิญแต่อย่างใด
บรรยากาศในการประชุม ได้มีการสอบถามผู้แทน คสช.ถึงการจับกุม 14 นักศึกษานักกิจกรรม โดยผู้แทน คสช.ยืนยันต่อคณะอนุกรรมการฯ และผู้ร่วมประชุมว่า เจ้าหน้าที่ทหารไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุมนักศึกษา เพราะเป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และยังไม่ทราบการปฏิบัติที่แน่ชัดว่าในเหตุการณ์การจับกุมนั้นมีเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ในพื้นที่หรือไม่
ด้านกิตติศักดิ์ ได้สอบถามผู้แทน คสช.ว่า การจับกุมนักศึกษานั้น ทหารเป็นผู้ชี้ตัวหรือไม่ ซึ่งผู้แทน คสช. ระบุว่า การชี้ตัวนักศึกษา ก็เป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมายที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการ ย้ำว่า คสช.ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย อีกทั้งยังยืนยันว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารไปสะกดรอยตามนักศึกษา และยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ในกรณีที่มีการอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทหารไปที่บ้านของนักศึกษาด้วย เมื่อผู้ร่วมประชุมสอบถามว่า ทำไมกรณีนักศึกษาต้องเข้าสู่การพิจารณาของศาลทหาร ผู้แทน คสช.ระบุว่า ไม่สามารถตอบได้ เพราะเป็นเรื่องทางนโยบาย
ด้าน วีระ สมความคิด อนุกรรมการฯ ได้สอบถามว่า มีกรณีที่ทหารลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้าน ไม่ให้ร่วมกิจกรรมของกลุ่มนักศึกษาหรือไม่ และทหารเหล่านั้นเป็นทหารจริงหรือทหารปลอม เนื่องจากนักศึกษายืนยันว่าจำหน้านายทหารได้  โดยผู้แทน คสช. กล่าวว่า หากมีการแต่งกายปลอมเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย 

15 ทริคคูลๆ ของ ‘นายกลุงตู่’ แนะให้ประชาชนดูแลตัวเอง ตั้งแต่เด็กแว๊นยันเรือดำน้ำ


หลังจากรัฐบาลเริ่มใช้กฎเหล็ก 15 ข้อ ตรวจจับเรือประมงผิดกฎหมาย เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาอาหารทะเลปรับราคาสูงขึ้น จากนั้นวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารัฐบาลทหารกล่าวถึงกรณีปัญหาอาหารทะเลราคาแพงขึ้น ผ่านรายการคืนความสุขฯ ว่า "เรื่องอาหารทะเล วันนี้บริโภคไม่ได้ เดี๋ยวหาอาหารอื่นแทนไปก่อน แพงก็อย่าไปทาน ให้คนรวยมีสตางค์เขาทานไป ไม่ใช่ว่าต้องเท่าเทียม ผมทำให้ไม่ได้"  จนก่อนให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก ในโอกาสนี้จึงได้รวบรวม 15 ข้อเสนอแนะของ พล.อ.ประยุทธ์ บางส่วนที่น่าสนใจ หลังจากยึดอำนาจการปกครอง ที่มีให้ประชาชนรับมือกับภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจและอื่นๆ ดังนี้
1.  เมื่ออาหารทะเลแพง ก็หาอาหารอื่นแทนไปก่อน แต่ถ้าอยากกินก็ต้องทำงานหนัก
“อาหารทะเล วันนี้บริโภคไม่ได้ เดี๋ยวหาอาหารอื่นแทนไปก่อน แพงก็อย่าไปทาน ให้คนรวยมีสตางค์เขาทานไป ไม่ใช่ว่าต้องเท่าเทียม ผมทำให้ไม่ได้ ถ้าอยากจะทานของแพงท่านก็ต้องทำงานหนัก หาเงินให้มาก รัฐบาลจะช่วยในส่วนที่ช่วยได้ มีตลาดสำหรับผู้มีรายได้น้อย ก็ทำให้ทั้งหมด ตอนนี้ก็ทำไปแล้ว จะดึงให้เท่ากันหมดไม่ได้ เพราะมีหลายระดับด้วยกัน”
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวผ่านรายการคืนความสุข เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ต่อกรณีภาวะอาหารทะเลราคาแพงเนื่องจากรัฐบาลใช้กฎเหล็กจัดการกับเรือประมงผิดกฎหมาย
(ที่มา : ทำเนียบรัฐบาล, 3 ก.ค. 2558)
2. เมื่อมะนาวแพง ขอให้ทุกบ้านไปปลูกมะนาวในกระถางเอาไว้กินเอง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงปัญหาราคามะนาวแพง เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า ปัญหาดังกล่าวยอมรับว่าแพงมาทั้งชาติ เพราะเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้ง แต่ตอนนี้ก็เริ่มมีการค้นคิดนำมะนาวมาปลูกลงในกระถางเพื่อเก็บไว้กินเอง ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องดี จากนี้ไปขอให้ทุกบ้านไปปลูกมะนาวในกระถางเอาไว้กินเอง จะได้ไม่ต้องมาบ่น ต้องหัดช่วยเหลือตัวเองกันบ้าง
(ที่มา : มติชนออนไลน์, 18 มี.ค.2558)
3. เมื่อภัยแล้ง ขอคนไทยช่วยกันขุดบ่อน้ำ
พล.อ.ประยุทธ์  แถลงภายหลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า ขอให้ประชาชนรับรู้ว่าฝนอาจจะตกน้อยลง อาจเกิดภัยแล้งซึ่งกระทบต่อการเกษตร รวมถึงน้ำอุปโภคบริโภค จึงอยากให้ประชาชนช่วยกันเตรียมขุดบ่อน้ำเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ และพิจารณาถึงผลที่ได้จากการเกษตรจากน้ำไม่เพียงพอด้วย ทั้งนี้รัฐบาลจะช่วยเหลือในการจัดหาแหล่งน้ำและฝนหลวงเหนือเขื่อน รวมถึงมติที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติการออก พ.ร.บ.ควบคุมการเช้าที่นา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการทำการเกษตร โดยจะต้องไม่มีการสวมสิทธิในการรับผลประโยชน์ และให้ความเป็นธรรมต่อผู้เช่าและให้เช่า
อย่างไรก็ตาม 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในรายการคืนความสุขฯ ด้วยว่า ได้วางแผนช่วยเหลือเร่งด่วนร่วมกัน ซึ่งในขั้นต้นนอกจากการจัดระเบียบการส่งน้ำแล้ว ภาครัฐและท้องถิ่น ก็จะเร่งดำเนินการในเรื่องของการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล และบ่อตอก โดยจะให้ความเร่งด่วนกับพื้นที่เสี่ยง หรือพื้นที่ดอน ก่อนนะครับ ซึ่งในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็มีอยู่ประมาณ 850,000 ไร่
(ที่มา : มติชนออนไลน์, 26 พ.ค.2558 และ ประชาไท, 26 มิ.ย.2558)
4. แก้ปัญหาภัยแล้ง ก็ช่วยกันปลูกป่าในพื้นที่ต้นน้ำ-อพยพออกมาจากพื้นที่ต้นน้ำ
เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาภัยแล้ง ในรายการคืนความสุขฯ ตอนหนึ่งว่า
"เราใช้เวลามามากมายแล้วในการทำลายป่านี่ เพราะฉะนั้นเราก็ไม่สามารถจะแก้ไขได้ในเวลาอันสั้น ต้องขอให้ทุกคนช่วยกันปลูกป่าในพื้นที่ต้นน้ำหรืออพยพออกมาจากพื้นที่ต้นน้ำซะ ก็จะดีขึ้นนะครับ ป่าอย่างไรก็ตามถ้าเราไม่ไปยุ่งกับเขามากๆ นี่เดี๋ยวเขาก็โตขึ้นมาเอง จากวันนี้ปัญหาคือน้ำไม่มีเข้าไปอีก มันก็โตเองไม่ได้เหมือนกัน ก็ต้องดูแลนะครับ"
(ที่มา : ไทยพีบีเอส, 19 มิ.ย.2558)
5. เมื่อน้ำน้อย แนะเลี้ยงจิ้งหรีด เลี้ยงไส้เดือนขายช่วยเพิ่มรายได้
นอกจากการเสนอแนะและส่งเสริมให้ขุดบ่อน้ำ เพื่อบรรเทาภาวะภัยแล้งแล้ว ยังมีมาตรการขอความร่วมร่วมมือชาวนาชะลอการทำนาปี งดการทำนาปรัง พล.อ.ประยุทธ์ ยังเสนอแนะเกษตรแบบผสมผสานที่ใช้น้ำน้อย ผ่านรายการคือนความสุขฯ วันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า เราทำทุกอย่างที่จะให้ความช่วยเหลือ สร้างความเข้าใจ และพยายามให้เกษตรกรได้พิจารณา ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่อยากบังคับให้ช่วยกันมาปลูกพืชได้ใช้น้ำน้อย ทำประมง ปศุสัตว์บ้างหรือปลูกพืชที่ทดแทนการปลูกข้าวได้บ้าง ปลูกยางได้บ้าง เหล่านี้ผมเห็นหลาย ๆ อย่างที่ในโทรทัศน์ในตอนเช้า ๆ มีการเลี้ยงกบ เลี้ยงไก่งวง ส่งขายต่างประเทศ เลี้ยงสัตว์ในสวนยาง หรือเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวเป็นพื้นที่ปลูกผัก อะไรเหล่านี้ต้องช่วยตัวเองบ้าง เราก็พยายามทำในภาพรวมให้ได้ แต่ปัจจัยสำคัญก็คือน้ำต้นทุนไม่มี เพราะว่าน้อยอยู่แล้ว เดิมแล้วฝนก็ไม่ตก ตกล่าไปจะทำอย่างไร ถ้าปลูกไปแล้ว และปัญหายังมีอยู่ คือจะขาดตอนตรงกลางก็ตายอยู่ดี เพราะฉะนั้นขอชะลอไปก่อนในกรอบที่หนึ่ง เดี๋ยวรัฐจะดูแล กำลังพิจารณาในสัปดาห์หน้า
เรื่องของการเลี้ยงเพาะอย่างอื่น เพาะจิ้งหรีด เพาะสัตว์ที่รับประทานได้ เป็นโปรตีนอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ รวมความไปถึงการเลี้ยงไส้เดือนขาย จะได้ช่วยในการเพิ่มรายได้ แล้วก็ใช้ในการปรับปรุงดินให้มากขึ้น ดินเราก็ค่อนข้างจะเสียไปมากพอสมควรเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเกษตรกรและชาวบ้านที่ต้องการหารายได้เสริม
(ที่มา : ประชาไท, 19 มิ.ย.2558)
6. เมื่อปลูกข้าวไม่ได้ ก็ปลูกพืชสมุนไพร เช่น หมามุ่ย แทน
วันที่ 8 ก.ค. 58 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งในการให้โอวาทกับคณะโครงการเยาวชนไทยในสหรัฐอเมริกา เยือนแผ่นดินแม่ ตอนหนึ่งว่า วันนี้รัฐบาล ได้สนับสนุนการปลูกพืชสมุนไพร ในเมื่อเราไม่สามารถปลูกข้าวได้ ก็จะให้กระทรวงสาธารณสุข เข้าไปดูแลว่าจะปลูกพืชสมุนไพรได้หรือไม่ โดยจะนำภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน
“ขณะเดียวกันวันนี้เราขายหมามุ่ยได้ก.ก.ละกว่า 800 บาท และเมื่อส่งไปประเทศอินเดียแล้วมีการแปรรูปกลับมาเป็นยา เป็นอะไรต่างๆราคาได้กลายเป็นก.ก.ละ 8 หมื่นบาท แล้วเหตุใดเรายังโง่ปลูกอย่างอื่นที่มีกำไรเพียงพันบาทหรือไม่กี่บาท แต่เราก็ต้องควบคุม อย่างไรก็ตามขณะนี้ข้าวของเรายังดีอยู่ ในส่วนที่เสียก็เป็นภาระของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาเป็นความคิดที่ไม่ถูกวิธีเพราะเราต้องทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง พระเจ้าอยู่หัวทรงสอนว่าถ้าจะทำให้คนเข้มแข็งต้องสอนวิธีการตกปลาให้เขา แต่ไม่ใช่ให้ปลาเขาไปกิน เรากำลังสอนให้เกษตรกรมีการเรียนรู้ เข้าถึงเครื่องจักรทางการเกษตร และที่ผ่านมารายได้มันต่ำจึงต้องกู้เงิน แล้วไร่นาก็ถูกยึด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว 
(ที่มา : มติชนออนไลน์, 8 ก.ค.2558)
7. เมื่ออยากยางราคาดี ก็คงต้องไปขายที่ดาวอังคาร
เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 57 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงปัญหาราคายางตกต่ำว่า วันนี้จะขอราคายาง 90 บาท 100 บาท ผมถามแล้วขายได้เท่าไหร่ ขายได้ 60 บาท 70 บาท ไม่เกินนั้น แล้วมันจะไปขายใครในโลกนี้ ไม่เข้าใจ
“บางคนคนก็บอกว่าง่ายๆ ทำไมไม่ทำโน้น ทำไมไม่ทำนี่ พอเข้ามาทำแล้วจะรู้ว่ามันไม่ง่ายอย่างที่พูดหรอก พูดมันง่ายทุกอย่างทำได้หมด  สิ่งวันนี้อยากให้ทำคือที่นอนยาง วันนี้ซื้อที่นอนยางเท่าไหร่สองสามหมื่น อันหนึ่ง ทำไมไม่เอามาทำ ยางพาราเรามีอยู่เยอะแยะในประเทศ แล้วก็ปลูกเข้าไปเถอะ เดี๋ยวสนับสนุนปลูกยางกันไปอีกสิ วันหน้าก็ไปขายโน้นมั้งดาวอังคารมั้ง ขายโลกไม่พอซื้อแล้ว วันนี้เราต้องพัฒนาใหม่โน้นไปดาวอังคาร” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
(ที่มา : matichon tv, 15 ก.ย.2557)
8. เมื่อยากแต่งบิกินีปลอดภัยในไทย ก็ต้องไม่สวย
พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวในที่ประชุมชี้แจงนโยบายรัฐบาลต่อผู้บริหารระดับสูง วันที่ 17 ก.ย.57 ตอนหนึ่งพูดถึงกรณีที่สองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษถูกฆาตกรรมเสียชีวิตที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ว่า
"ผมถามแต่งบิกินีประเทศไทยเนี่ยจะรอดไหม เว้นแต่ไม่สวยล่ะนะ"
อย่างไรก็ตามภายหลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์คำพูดดังกล่าวทั้งในประเทศและต่อประเทศ จนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกมากล่าวขอโทษ พร้อมระบุด้วยว่าไม่มีเจตนาที่จะดูถูกแต่เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติแต่ต้องยอมรับประเพณีไทยกับต่างชาติไม่เหมือนกัน ดังนั้นต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย
(ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์, 18 ก.ย.2557 และ ไทยรัฐออนไลน์, 18 ก.ย.2557)
9. เมื่ออยากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก็ให้ไปประเมินความสามารถกับกระทรวงแรงงาน
เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากมีกลุ่มแรงงานยื่นข้อเรียกร้องให้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาท เป็น 360 บาทต่อวัน ทั่วประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถขึ้นได้ แต่สื่อก็ไปเขียนให้เป็นประเด็น ตนเคยบอกแล้วว่าแรงงานต้องผ่านการคัดกรองที่กระทรวงแรงงาน ผ่านการประเมินความสามารถ ที่แรงงานไม่ได้ใช้แรงงานอย่างเดียว ซึ่งจะมีค่าแรงตามขั้นตอนให้อยู่แล้ว แต่ก็ไม่ทำกัน
"ผมถามหน่อยว่าแรงงานทั้งประเทศมีเท่าไหร่ ถ้าขึ้นค่าแรงจะต้องใช้อีกเท่าไหร่ ต้องช่วยผมบ้าง ช่วยกันทำความเข้าใจ ไม่ใช่เอาข้อเรียกร้องมากดดัน พอผมไม่ให้ก็ไปกดดันแรงงาน สุดท้ายก็ตีกันอยู่อย่างนี้ จะทำอย่างอื่นหรือไม่ ถ้าขึ้นค่าแรงแล้วอย่างอื่นก็เลิกไม่ต้องทำ เอาไหม แล้วก็มาบอกว่าไม่เห็นใจเขา ที่ทำทุกวันนี้เพราะเห็นใจ ทุกเรื่องจะต้องสร้างกรอบให้เข้มแข็งถึงจะขึ้นกรอบในได้ ไม่ใช่กรอบในทำไปส่งเดชใช้เงินเท่าไหร่ก็ช่างมัน แล้ววันหน้าจะทำอะไรได้หรือไม่ ถามว่าวันนี้ความเข้มแข็งเกิดหรือไม่ ลงทุนอะไรได้บ้าง ความเข้มแข็งของประเทศมีไหม แล้วมาโวยวายกันว่ารายได้ตกต่ำ การเกษตรขายไม่ออก ถามว่าเพราะอะไร เพราะเราไม่ได้ทำโครงการเหล่านี้มาก่อน ที่ผ่านมาแก้ปัญหาเฉพาะกาล เฉพาะฤดู เฉพาะเรื่อง ผมไม่ได้โทษใคร เดี๋ยวจะหาว่าไปว่าคนโน้นคนนี้อีกรำคาญ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
โดยก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ ได้เคยระบุด้วยว่าค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทำให้คนไม่มาลงทุน โดยกล่าวว่า
"คิดแบบที่ผมคิดบ้าง ถ้ารวยเท่าไหร่ผมก็ให้ได้ อย่าปลุกระดมออกมา มันจนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะแรงงาน จะเอาอะไรกันนักหนา ก็รู้อยู่ว่าเรากำลังสร้างความเข้มแข็ง กำลังให้คนเข้ามาลงทุน แค่ 300 บาทก็หนักหนาสาหัสพออยู่แล้ว ที่เขาจะไม่ลงทุน ซึ่งไม่ใช่ความผิดของผมหรือของใคร แต่ไปถามซิว่าใครทำมา มันควรมาทีละขั้นตอน จะก้าวกระโดดขึ้นไปอีกผมให้ไม่ได้ เพราะไม่มีเงิน"
(ที่มา : ครอบครัวข่าว, 26 มิ.ย.2558 และ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 25 มิ.ย.2558 และ เดลินิวส์, 8 มิ.ย.2558)
10. เมื่อเตรียมแข่งขันการผลิตข้าวที่มีคุณภาพระดับโลก ก็ขอช่วยบริโภคข้าวกล้อง พืชอินทรีย์
เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวผ่านรายการคืนความสุขฯ ถึงแนวทางการแข่งขันการผลิตข้าวที่มีคุณภาพระดับโลก ว่า ประชาชนต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนพื้นที่ ปรับเปลี่ยนการปลูกพืช ก็ขอให้รณรงค์กัน ช่วยกันบริโภคข้าวกล้องด้วย พืชอินทรีย์ ต่อไปในโลกก็ต้องแข่งขันการผลิตข้าวที่มีคุณภาพทุกประเทศในโลกปลูกข้าวได้หมดแล้วขึ้นอยู่กับว่าต่อไปราคาข้าวจะดีเฉพาะข้าวที่มีคุณภาพ ข้าวหอมมะลิเกรดสูง ข้าวพรีเมียม ข้าวราคาต่ำ ๆ ก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ มาแข่งกันกับตรงนั้น เพราะฉะนั้นพี่น้องเกษตรกรก็ไปดูด้วยแล้วกันว่า ควรจะเหมาะสมในการปลูกอย่างไร มีน้ำมากจะปลูกอย่างไร ดินดีจะปลูกอะไร ไม่ใช่ปลูกเอาแต่ปริมาณอย่างเดียวก็ไม่ได้อีก ต้องใช้พื้นที่ให้น้อยลง ใช้น้ำให้น้อยลงแล้วมีประโยชน์กลับมาให้มากที่สุด ชาวไร่ชาวนาอยู่อย่างมีความสุข ไปปรับกันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับไปแล้ว กระทรวงมหาดไทย หลายกระทรวงรับไปแล้ว
(ที่มา : สำนักข่าวไทย, 3 ก.ค.2558)
11. เมื่อแก้ปัญหาหวยแพง ก็บังคับขายหวย 80 บาท หากทำไม่ได้ก็ต้องเลิกขาย
เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา ว่า ได้พูดไปนานแล้วว่าในงวดวันที่ 16 มิ.ย.58 ราคาสลากฯต้องมีราคาแค่ 80 บาท และต้องทำให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ ก็ต้องเลิกขาย ซึ่งถ้ารั่วไหลต้องสอบสวนลงโทษ เอาโควต้าคืนก่อน ไม่อยากให้มีอะไรรุนแรงเกินไป เพราะคนเดือดร้อนมีมาก คนขายสลากเป็นล้านคน ถ้าเลิกขายแล้วคนพวกนี้จะโวยกันหรือไม่ และจะกินอะไรกัน อำนาจใช้ได้ แต่จะเกิดผลกระทบกับใครบ้าง ไม่สามารถทำให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเราไม่ได้ไปเดินขายกับเขา เพราะฉะนั้นต้องดูปลายทางด้วยว่าจะขายในรูปแบบใด รวมเล่มได้หรือไม่ แต่นี่ยังไม่ขยาย รวมถึงการค้าปลีก หรือหวยออนไลน์ เพราะเป็นทางเลือกเผื่อไว้ ถ้าหากแก้ไม่ได้ จะให้ออกเป็นสลากออนไลน์ จะได้ไม่กล้าขึ้นราคา
(ที่มา : เดลินิวส์, 12 พ.ค.2558)
12. แก้ปัญหาเด็กแว๊น ประชาชนดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงปัญหาเด็กแว๊น ว่า อย่าสอนให้คนไม่เคารพกฎหมาย สื่อก็ต้องช่วยนะ
“โดยพื้นฐานแล้วคนทุกคนไม่อยากทำความผิดหรอก แต่มันต้องมีอะไรสักอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาวะทางจิตใจเขานะ อาจจะขาดความอบอุ่น ไม่ได้ใช้วิธีการดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงอะนะ ความพอเพียงมันไม่เกิด" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
(ที่มา : ทำเนียบ รัฐบาล, 16 มิ.ย.2558)
13. เมื่ออยากให้เพื่อนบ้านเกรงใจ ก็ซื้อเรือดำน้ำ
พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่กระทรวงกลาโหมจะเสนอให้จัดซื้อเรือดำนำจำนวน 3 ลำ จากประเทศจีน งบประมาณทั้งสิ้น 3.6 หมื่นล้าน ว่า "เขาก็กำลังอยู่ในกระบวนการของเขา จะซื้อหรือไม่ซื้อ เขาก็พูดให้ฟัง มันเป็นเรื่องภายในเป็นแผนกองทัพ 10-20 ปี แผนปฏิรูปกองทัพก็มี แผนปฏิรูปตำรวจก็มี ปฏิรูปข้าราชการมีหมด แล้วถามว่าปฏิรูปการเมืองน่ะมีไหม ไม่เคยทำหรอก มีแต่อยากใช้อำนาจ แล้วก็ใช้อำนาจกันเหมือนที่ผ่านมา ต้องรอดู ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอน ถ้ามันซื้อได้ ต้องไปพิจารณาว่ามันจำเป็นที่ต้องซื้อไหม มีไว้เพื่ออะไร จะมีไว้เพื่อรบกับใครหรือไม่รบกับใคร จะเอาไว้ที่ไหน ทะเลอ่าวไทย ทะเลอันดามันต้องได้รับการพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลหรือไม่ ไม่ได้มีเพื่อไปรบไปยิงใคร"
"ไม่ได้เอาไว้จะไปรบกับใคร มีไว้ให้เกรงใจ จะรักษาการเดินเรืออย่างไร การประมงอย่างไร ทะเลอื่นเขาก็มีปัญหากันอยู่ วันหน้าเราจะไม่มีปัญหาหรือไง เป็นการแสดงศักยภาพแค่นั้นเอง ถ้ามีก็ใช่ว่าจะใช้วันนี้ ผ่อนกันไม่รู้อีกกี่ปี กว่าจะผ่อนเสร็จ เรือผุไปหมดแล้ว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
(ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 7 ก.ค.2558)
14. เมื่อมีคนบอกว่าเศรษฐกิจตกต่ำ ก็อย่าไปเชื่อ
เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในรายการคืนความสุขฯ ตอนหนึ่งถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเศรษฐกิจตกต่ำว่า เรื่องเศรษฐกิจ วันนี้มีการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจน มีจำนวนมากได้รับการรายงานอย่างไม่เป็นทางการว่า จำนวนนักท่องเที่ยวในเดือน พ.ค.58 ที่ผ่านนั้น ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อตัวเลขออกมาอย่างนี้ ก็อย่าไปเชื่อที่พูดว่า เศรษฐกิจตกต่ำ
(ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์, 5 มิ.ย.2558)
15. แนะหน้าที่สื่อต้องสร้างการรับรู้ สร้างจิตสำนึก ไม่ใช่ข้อเท็จจริงอย่างเดียว
เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ที่กระทรวงการคลัง ตอนหนึ่งถึงการทำงานของสื่อมวลชน โดยยกตัวอย่างกรณีสื่อมวลชนวิจารณ์การแก้ปัญหาของรัฐบาลเรื่องการจัดระเบียบสังคม ว่า
“ท่านทำไมไม่มาบอกผมสื่อชอบพูดว่า แล้วเดี๋ยวก็เกิดขึ้นอีก ทำไมท่านไม่ไปเตือนคนโน้นว่าอย่างให้ทำอีก ท่านมาไล่เจ้าหน้าที่อย่างนี้ไม่ได้ ท่านต้องช่วยผมแบบนี้ สร้างการรับรู้ สร้างจิตสำนึก นี่คือหน้าที่ของสื่อ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงอย่างเดียว หรือติชมอย่างเดียว ไม่ใช่”
“ต้องเข้าใจผมสิ อะไรที่ผมเจตนาดี แต่มันจบไปแล้ว ท่านก็บอกว่าอย่าทำอีกนะ อย่ามาขายของแบบนี้ เขาทำไปแล้ว ขอความร่วมมือเถอะเจ้าหน้าที่เขาเหนื่อย พูดอย่างนี้เป็นไหม เป็นไหม ไม่เป็น เพราะเขาสอนไว้แล้วว่าสื่อต้องพูดข้อเท็จจริง ตำหนิได้ ติเตือนได้ รัฐบาล นายกฯ เป็นคนของสังคม ต้องติได้ด่าได้ว่าได้ ผมต้องอดทน พูดจาเพราะๆ หรือไง บังคับผมอย่างเดียวหรอ”
“ผมบอกแล้วผมไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อย่าว่าผมมากนัก ผมโดนอยู่แล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงสื่อมวลชน