วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ไม่มีกฎหมายใดจำกัดสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนได้

หลังจากวันนี้(8 มิ.ย.58) 7 สมาชิกกลุ่มดาวดิน ที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุรำลึก 1 ปี 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ถูกเรียกรายงานตัวที่ สภ.ขอนแก่น ตามที่ พ.ต.อ.วิเศษ ภักดีวุฒิ พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ สภ.เมืองขอนแก่น เป็นผู้นัด เพื่อส่งฟ้องอัยการทหารหลังจากได้มีการสรุปสำนวนและส่งฟ้องต่อศาลทหารก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อเวลา 17.00 น.วันนี้ทั้ง 7 สมาชิกกลุ่มดาวดินได้ประกาศที่ลานจามจุรี หน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า จะอารยะขัดขืน ด้วยการไม่ไปรายงานตัว ไม่หลบหนี และยินดีรับโทษทางกฎหมาย ไม่หลบหนี และระบุว่ากฎหมายที่ใช้กับพวกตนเป็นการใช้กฎหมายที่ไม่มีความชอบธรรม

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2558 รายการคืนความจริง ประเทศไทย ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ 2 สมาชิกกลุ่มดาวดิน ซึ่งถูกดำเนินคดีด้วยคือ จตุภัทธ์ บุญภัทรรักษา หรือ ‘ไผ่’ กับ พายุ บุญโสภณ สมาชิกกลุ่มดาวดิน สังกัดพรรคสามัญชน ในหัวข้อ “ดาวดิน : ไม่มีกฎหมายใดจำกัดสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนได้” ซึ่งเป็นการพูดคุยถึงเหตุผลที่คัดค้านการรัฐประหาร การไปชู 3 นิ้วต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมทั้งมุมมองของเขาทั้งคู่ในฐานะนักเรียนกฎหมายต่อสถานการณ์กฎหมายไทยในปัจจุบัน และภาพกฎหมายที่ควรจะเห็นของพวกเขา


“รัฐประหารครั้งนี้อำนาจมันไม่ชอบธรรมอยู่แล้วใช่ไหม ซึ่งถ้าเรากลัวในสิ่งที่เราคิดว่ามันถูกต้อง มันก็ไม่ใช่ ถ้าเราโดนจับในสิ่งที่เราทำที่มันถูกต้องอย่างนี้ ผมยังคิดว่ามันเป็นอะไรที่แย่มากเลย” พายุ กล่าว
“ผมว่าทหารน่าจะกลัวมากกว่า ไม่เช่นนั้นไม่เอาปืนมากดกันขนาดนี้หรอก” จตุภัทธ์ กล่าว

ที่ทำไปคิดว่าถูกหรือผิด?

จตุภัทธ์ : ผมยืนยันว่าผมตัดสินใจถูก และผมไม่เสียใจเลยในการตัดสินใจครั้งนั้น
พายุ : เรายืนยันอยู่แล้วว่าสิ่งที่เราทำมันถูกต้อง ถึงแม้ใครจะมองว่าผิด แต่สิ่งที่เราทำภายใต้จิตสำนึกมันถูก

ในฐานะนักเรียนกฎหมายคิดอย่างไรกับกฎหมายในปัจจุบัน?

จตุภัทธ์ : กฎหมายมันไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันตามสภาพสังคม อันที่หนึ่ง ส่วนอันที่ 2 กฎหมายที่ผมได้เรียนนั้นก็บอกว่าชนชั้นใดออกกฎหมายก็เพทื่อชนชั้นนั้น เพราะฉะนั้นการออกกฎหมายหลังรัฐประหารก็เพื่อชนชั้นนำหรือผลประโยชน์ของพวกเขาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นกฎหมายที่ออกมามันไม่มีการยึดโยงกับประชาชนเลย ผมคิดว่าเจ้าของปัญหาตัวจริงคือประชาชนต้องมีสิทธิในการที่จะออกกฎหมายด้วย เพื่อให้มันเกิดสมดุล

ผมคิดว่ากฎหมายที่มันออกมาไม่เป็นธรรมนั้น หนึ่งเลยคือต้องต่อต้าน หลายอย่างที่มันเป็นผลพวงหรือรัฐธรรมนูญที่จะออกมา ผมคิดว่าหนึ่งคือต้องต่อต้าน และยืนยันคัดค้านแน่นอน และผมเชื่อว่าในมิติทางกฎหมาย ถ้ากฎหมายไม่เป็นธรรมแล้วเราเคลื่อนไหวเราผิดกฎหมายแน่นอนเพราะกฎหมายไม่เป็นธรรมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่ามันต้องพูดถึงเรื่องสิทธิ และเสรีภาพในความคิดเห็น เราต้องแสดงความคิดเห็นของเราไปว่ากฎหมายมันเป็นอย่างไร แล้วก็ใช้สิทธินี้ล่ะ ผมเชื่อว่าสิทธิมันเหนือกฎหมาย หมายถึงว่าไม่มีกฎหมายไหนสามารถจำกัดสิทธิของเราได้ เพราะฉะนั้นกฎหมายไหนที่ไม่เป็นธรรมเราก็ต้องใช้สิทธิของเราที่จะยืนยันว่ากฎหมายนี้ไม่เป็นธรรม แล้วก็ต่อต้านและคัดค้านมันซะ

พายุ : ให้พูดถึงเรื่องแบ่งแยกอำนาจอย่างมาตรา 44 (ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557) มันออกมามันไม่ชอบธรรมแน่นอน ถ้าคุณได้อ่านในตัวเนื้อหาของมันแล้ว คุณจะเห็นว่ามันรวมอำนาจทั้งหมดทั้งนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ รวมไว้ในตัวบุคคลคนเดียว แล้วถ้าให้ไปอธิบายว่าที่เราเคยเรียนมาว่าการแบ่งแยกอำนาจของรัฐ การถ่วงดุลอำนาจ ถ้าอำนาจ 3 อำนาจนี้มารวมในคนๆเดียว ทุกอย่าง ถ้าคนๆนั้นใช้ไปในทางไม่ชอบธรรมก็คือมันจะจบเสียหายทุกอย่างก็พินาศไปหมดเลย แล้วถ้าเรามาวิเคราะห์สังคมไทยในปัจจุบันนี้ คนที่ใช้อำนาจนี้ชอบธรรมขนาดไหนการที่เขาเข้ามาในรัฐบาลนี้ มีความชอบธรรมไหม ประชาชนได้มีความเห็นมีส่วนร่วมในการเลือกเขาเข้ามาหรือเปล่า คุณก็จะสามารถวิเคราะห์ได้ว่ามันเป็นอย่างไร

คิดว่าอุดมคติของกฎหมายควรเป็นอย่างไร?

จตุภัทธ์ : ผมเชื่อว่านักกฎหมายก็เป็นวิศวกรสังคม ในอุดมการณ์แล้วต้องยืนยันในหลักการเจตจำนงของนักกฎหมาย คือหนึ่งไม่สามารถยอมรับกับการรัฐประหารได้ เพราะการรัฐประหารคือการตบหน้านักกฎหมาย เพราะฉะนั้นนักกฎหมายต้องยืนยันว่าต้องไม่ยอมรับกับการรัฐประหารหรือกฎอัยการศึกหรือผลพวงที่จะตามมาจากกฎอัยการศึก สอง ผมคิดว่าเราจะต้องสร้างความเป็นธรรมกับสังคมให้มันปรากฏชัด คือกฎหมายไม่ใช่ความยุติธรรม แต่ความยุติธรรมมันมี เพราะฉะนั้นนักกฎหมายต้องแสดงให้เห็นว่าความยุติธรรมคืออะไร ที่แน่ๆ ไม่ใช่กฎหมายแน่นอน แล้วมันคืออะไร อย่างพวกผมเชื่อว่าสิทธินั้นคือความชอบธรรม ความคิดเห็นเราที่แลกเปลี่ยนหรือที่นำเสนอกับรัฐ หรือที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐ มันวัดจากจิตสำนึกของเรา ด้วยหัวใจของเรา มันก็น่าจะชั่งใจได้อยู่ว่าอันไหนคือความเป็นธรรม

พายุ : ถ้าให้ผมพูดในนามนักกฎหมายหรือผู้ศึกษากฎหมาย กฎหมายจะแบ่งแยกเป็น 2 สาย คือสาย Positivism คือตาความตามตัวบท กับอีกสายคือสายธรรมชาติ Natural Law คือตามความตามเจตจำนงในใจในจิตสำนึกว่ามันถูกหรือผิด ซึ่งพูดถึงกฎหมายปัจจุบันก็คือกฎหมายต่างๆ ที่มันออกมานี้ มันมีความไม่ชอบธรรมอยู่สูง หลายมาตรา และที่เป็นในสังคมปัจจุบันก็คือผมจะถูกปลูกฝังมาเรื่อยๆ และเห็นมาด้วยกับตาตัวเองว่า คุกมันมีไว้ขังคนจน กฎหมายมันใช้กับผู้ที่มีอำนาจไม่ได้ ก็อย่างที่พูดมาว่าชนชั้นใดออกกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น แต่เข้าไม่ได้พูดถึงคนที่ได้รับผลกระทบว่ามีใครบ้าง ซึ่งก็ได้เห็นว่าความไม่ชอบธรรมในสังคมนั้นมันยังมีอยู่

จตุภัทธ์ : เพราะฉะนั้นส่วนหนึ่งที่เป็นเหตุผลที่เราจะต้องชู 3 นิ้วหน้าประยุทธ์ หรือคัดค้านรัฐประหาร เพื่อที่จะยืนยันเจตจำนงว่าความชอบธรรมมันไม่ได้อยู่ที่นั้น ถึงแม้ว่าเราจะเป็นนักกฎหมายส่วนน้อยก็ตาม เป็นหยิบมือ เป็นติ่งหนึ่งก็ชั่ง แต่ว่าเราต้องยืนยันไม่เช่นนั้นในสังคมมันไม่มีอะไรที่ยืนยันได้ หมายถึงอะไรที่เป็นหลักการให้สังคมไปต่อได้

พล.อ.ดาว์พงษ์ยืนยันนโยบายโค่นยางช่วยแก้ปัญหาบุกรุกป่า-เพิ่มมูลค่ายางพารา



Tue, 2015-06-09 07:54


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่าจะเดินหน้านโยบายแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ตามนโยบายรัฐบาล โดยเล็งลดพื้นที่ปลูกยางพาราที่ปลูกในพื้นที่ป่าสงวน 5.5 ล้านไร่ ซึ่งหากทำได้สำเร็จราคายางพาราจะช่วยทำให้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ช่วยลดปริมาณยางพาราในตลาด เป็นการเพิ่มมูลค่ายางพาราในอนาคต

9 มิ.ย. 2558 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ในรายการเดินหน้าประเทศไทยว่า ล่าสุดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงพื้นที่ อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ โดยได้มีการวางแผนควบคู่กับการแก้ไขปัญหาราคายางพาราคาตกต่ำ ด้วยการลดพื้นที่การปลูกยางพารา หลังจากพบว่า ในประเทศไทยมีสวนยางพาราประมาณ 22 ล้านไร่ แบ่งเป็นการปลูกยางพาราในพื้นที่ป่าสงวนถึง 5.5 ล้านไร่ หากการแก้ไขปัญหาทั้งสองเรื่องประสบความสำเร็จ จะทำให้มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น และยังลดปริมาณยางพาราในตลาด เพิ่มมูลค่ายางพาราในอนาคตด้วย

พร้อมยืนยันว่า มาตรการดังกล่าว รัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหานายทุนบุกรุกโดยเฉพาะ และอยู่ระหว่างการหามาตรการเยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นประชาชนมีรายได้น้อยจริงต่อไป ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบการปลูกต้นยางพารา กับการปลูกไม้ป่ายื่นต้นชนิดอื่น จะพบว่า รากของพืชต้นไม้ชนิดอื่น จะสามารถดูดซับน้ำได้ดีกว่า รากของต้นยางพารา หากการแก้ไขปัญหาลดพื้นที่ปลูกยางพาราในพื้นที่ อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์สำเร็จ ยังส่งผลดีต่อระบบนิเวศพื้นที่ต้นน้ำแม่น้ำป่าสักให้กลับมาสมบูรณ์ด้วย ปัจจุบันมีการตรวจยึดพื้นที่ป่าสงวนใน จ.เพชรบูรณ์ได้แล้วถึง 13,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 4.5 ของการบุกรุกพื้นที่ป่า

เปิดใจภรรยา ‘ใหญ่ แดงเดือด’ ผู้ต้องขัง 112 โทษสูงที่สุดในประวัติศาสตร์



รูปโปรไฟล์เฟซบุ๊กของใหญ่ แดงเดือด

Tue, 2015-06-09 11:19


ทีมข่าวกระบวนการยุติธรรม


       ใหญ่ แดงเดือด หรือ เธียรสุธรรม (สงวนนามสกุล) อายุ 58 ปี จบคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเคมี จากมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศ อาชีพล่าสุดคือเป็นที่ปรึกษาบริษัทใหญ่หลายแห่ง และที่ปรึกษาโครงการรับเหมาก่อสร้าง คนในครอบครัวระบุว่าเขาเคยได้เงินเดือนหลายแสนบาท ก่อนจะมาทำบริษัทของตัวเองและล้มลุกคลุกคลาน

       ใหญ่ แดงเดือด ถูกจับกุมตัวที่บ้านพักเมื่อบ่ายวันที่ 18 ธ.ค.2557 โดยเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบหลายสิบคน เขาและภรรยาถูกนำตัวไปค่ายทหารเพื่อทำการสอบสวน ภรรยาได้รับการปล่อยตัว แต่ใหญ่ถูกคุมตัวต่อจนกระทั่งมีการออกหมายจับโดยศาลทหารในวันที่ 22 ธ.ค.2557 ทหารส่งตัวใหญ่ให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาและนำไปฝากขังผลัดแรก 23 ธ.ค.

       เขาถูกคุมขังเรื่อยมาจนกระทั่งอัยการทหารสั่งฟ้องคดี 5 กรรมจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 5 ครั้งในระหว่างเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน 2557 เขารับสารภาพและศาลทหารพิพากษาเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2558 ให้จำคุก 50 ปี เนื่องจากรับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือ 25 ปี เนื่องจากเขาได้รับโทษสูงจึงถูกย้ายจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปยังเรือนจำคลองเปรม

       รายละเอียดข้อความของเขาเท่าที่เปิดเผยได้ถูกระบุไว้ในเว็บไซต์อินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์อ่านที่นี่

       นับเป็นคดีที่มีโทษจำคุกสูงที่สุดในประวัติศาสตร์คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แซงหน้าคดีอดีตหัวหน้าสำนักงานฝ่ายเสนาธิการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารที่จำคุก 34 ปี (ไม่ทราบรายละเอียด) และคดีหนุ่มนักดนตรีที่อุบลราชธานี จำคุก 30 ปี (รับสารภาพเหลือโทษ 13 ปี 24 เดือน)

       กระบวนการการจับกุม สอบสวน และบังคับให้เซ็นมอบบัญชีเฟซบุ๊กให้เจ้าหน้าที่ทหารนั้นน่าสนใจ และเพิ่งได้รับการเปิดเผยโดยภรรรยาของใหญ่ แดงเดือด เมื่อไม่นานมานี้ หลังจากก่อนหน้านี้เธอปิดตัวเงียบด้วยความหวังว่าความเงียบจะทำให้โทษทัณฑ์เบาลง

       ด้านล่างคือการพูดคุยกับ ‘ไก่’ ภรรยาของใหญ่ แดงเดือด ถึงความเป็นมาของเขา ลักษณะการสอบสวนและเข้าถึงพยานหลักฐานในยุคหลังรัฐประหาร กระบวนการพิพากษาในศาลทหาร รวมถึงผลกระทบต่อครอบครัว เป็นการพูดคุยที่สลับกับการร้องไห้เป็นพักๆ

1. ที่มาและการจับกุม

       “เดิมทีแกไม่เคยได้ไปชุมนุมหรอก แกเป็นนักรบไซเบอร์ เห็นอะไรที่ไม่ถูกต้องไม่ได้ แกไม่ได้อ่านแค่สื่อประเทศไทยอย่างเดียว แต่อ่านสื่อเมืองนอกเยอะ แล้วแกก็เป็นคนรักประชาธิปไตย ในยุคทักษิณ กิจการเฟื่องฟู ยุคนั้นแกจะเงินถึงมือ ทำธุรกิจอะไรก็ดีไปหมด แต่พอในยุครัฐประหาร แกได้รับผลกระทบ งานแกหายหมดเลย รับเหมาอะไรว่าจะได้ก็ไม่ได้ มันทำให้แกเครียด พอแกเครียดปุ๊บก็จะเริ่มเล่นเฟซเยอะขึ้น เมื่อก่อนแกเป็นผู้บริหารด้วยรับเหมาด้วย เงินเดือนหลายแสนนะ หลายบริษัทมากที่ติดต่อแกไปในตำแหน่งที่ปรึกษา แกบริหารเก่งแม้ว่าจะจบวิศวะเคมีก็ตาม ชีวิตมีแต่การทำงาน เป็นคนที่ลูกน้องรัก”

     “แกเล่นเฟซบุ๊กมานานแล้ว เขาพยายามตามหาตัวแกมาไม่ต่ำกว่าสามปีตามที่ทหารบอก แกโพสต์แรงอยู่บ้าง เฟซบุ๊กก็ยังอยู่เข้าไปดูได้ จะมีลักษณะการโพสที่อ่านแล้วขำนะเราว่า แต่ช่วงหลังรัฐประหารแกเน้นวิจารณ์ทหารหนัก พยามยามตีกราฟทำผังออกมาเลยว่าคุณหลอกประชาน หลังจับพี่ใหญ่ ทหารเขาก็ไม่ปิดเฟซพี่ใหญ่นะ เขาจะแช่แข็งไว้ แต่เขาให้เราเซ็นยกเฟซให้เขาแล้วทั้งคู่ เขาจะเอาไว้ล่อพวกหลังไมค์ แต่ตอนนี้ประชาชนคงรู้หมดแล้ว แรกๆ นี่คาดว่าโดนจับอยู่หลายคนตอนที่เราถูกกักตัวไว้ที่ค่ายทหาร”

     “การจับกุมน่าจะเกิดจากการที่ทหารเห็นว่าพี่ใหญ่หยุดโพสต์แล้ว ที่แกหยุดโพสต์เพราะว่าแกกำลังจะได้งานที่ลาวเป็นผู้ประสานงานระหว่าง 4 ประเทศเป็นโครงการลุ่มแม่น้ำโขง กำลังจะบินไปทำสัญญารับงานวันที่ 22 ธ.ค แต่แกมาโดนจับกุมก่อนแค่ 4 วัน"

       "เจ้าหน้าที่คงกลัวว่าอาจรู้ตัวแล้วเลยรีบมาตรวจสอบว่ายังอยู่บ้านเลขที่นี้ไหม ทหารรู้อยู่แล้วว่าที่อยู่ที่ไหน อยู่ที่ว่าจะเข้าจับวันไหน เช้าวันนั้นประมาณ 9 โมงครึ่งเราอยู่กันสองคนในบ้าน มีกลุ่มผู้หญิงประมาณ 4-5 คน น่าจะเป็นทหารนอกเครื่องแบบกับตำรวจนอกเครื่องแบบ ทำทีประมาณว่าจะไปหาบ้านเลขที่ 90/50 แต่เราอยู่บ้านเลขที่ 90/25 ผู้หญิงพยายามมาถามว่าบ้านหลังนั้นไปทางนั้นใช่ไหม เราอธิบายไปแล้วแต่ก็ยังทำเป็นไม่เข้าใจ พยายามจะให้เราไปเรียกคนอื่นออกมาอธิบาย พอเราไปเรียกพี่ใหญ่ออกมา ก็ปรากฏมีผู้ชายกระโดดข้ามรั้วเข้ามา น่าจะดักซุ่มอยู่ขอบกำแพง แล้วล้อมบ้าน มีประมาน 20-30 คนได้ มี 2-3 คนจับมือพี่ใหญ่ไขว้หลังไว้ บอกไม่ต้องดิ้นนะ ไก่ก็งงว่าเกิดอะไร”

       “เขาเข้ามาในบ้านหมด ใส่เสื้อคลุมสีดำ ไม่แสดงบัตรไม่แสดงอะไร มานอกเครื่องแบบหมดเลย มีทั้งทหารและตำรวจ ตอนหลังพอจับได้แล้วจะมีทหารขับรถมาใส่ชุดลายพรางมาอีก พอเข้าไปเขาเจอรูปลูก (ลูกบุญธรรม) ที่เรียนเตรียมทหารเขาบอกขาอ่อนเลย พวกทหารเขาจะนับพี่นับน้องกันไง ช่วงเขาค้นเขาก็ให้เราไปด้วยตลอด แต่เขาจะยึดเครื่องหมดคอมพิวเตอร์ ไอโฟน โทรศัพท์ของทุกคนหมด ในเก๊ะที่มันเสียเขาก็เอาไป แล้วเขาก็เอาตัวเราทั้งคู่ไปค่ายทหาร”

        “เขาจับเราแยกกันไป เราก็เกิดความกังวลแล้ว วินาทีนั้นคิดตลอด เครียด ข้าวไม่กิน จนเขาต้องยอมจับให้มากินข้าวด้วยกัน พอได้เห็นพี่ใหญ่ปลอดภัยก็โอเค ซักพักแล้วเขาก็ปล่อยไก่กลับบ้าน จากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมงก็กลับมารับเราบอกว่าแม่ทัพอยากจะคุยด้วย มารับไก่กลับไปตอนเย็นไปสอบถามเรื่องว่าไก่กลับบ้านมาแล้วปิดเฟซทำไม เขารู้เลยทันทีว่าเราปิด ไก่ให้ลูกปิดให้ ก็พี่สาวเราบอกให้ปิด ปิดเองก็ไม่เป็น”

       “ที่พักในค่ายเป็นห้องสี่เหลี่ยม เหมือนเป็นห้องประชุมของเขาแต่เขาดัดแปลง มีผ้าทหารปิดไว้ มีห้องน้ำในตัว มีโต๊ะหมุนๆ แต่จะมีทหารล๊อกประตูเราและมีทหารยืนถือปืนคุมอยู่ด้านนอก เราก็คิดนะว่าเราไปฆ่าใครตาย”

        “เช้าวันรุ่งขึ้นเขาก็ตั้งโต๊ะสอบสวน ตั้งเป็นตัวยู มีอัดวีดีโอไว้ด้วย เขาบอกเดี๋ยวจะเหมือนกรณี เปิ้ล กริชสุดา เขาก็ถามว่าทหารดูแลดีไหม เราก็บอกว่าดี เราตอบได้เฉพาะในส่วนของเรา”

        “เขาพยายามถามว่าทำไมถึงเกลียดทหาร ทำไมถึงต่อต้านทหาร ไก่ก็บอกว่าเราต้องทำความเข้าใจกันก่อน หนูเกลียดทหารที่ฆ่าประชาชน ทหารที่ทำร้ายประชาชน ทั้งทหารทั้งตำรวจนั่นแหละ แต่หนูรักทหารที่อยู่เคียงข้างประชาชน”

        “เถียงเลย ไม่กลัว เพราะว่าพูดในสิ่งที่ถูกต้อง ก็เหมือนการสนทนาโต้ตอบกัน ถ้าเราไม่โต้ตอบเราจะเหมือนผู้ต้องหาที่ทำความผิด ถ้าเรามีการโต้ตอบสนทนามันจะมีข้อโต้แย้ง เหมือนเรามีความคิดเห็นแลกเปลี่ยนยังไง ประชาธิปไตยเป็นยังไง ประชาธิปไตยต้องมาจากการเลือกตั้ง แล้วหนูเลือกตั้งนายกมาแล้วมันผิดตรงไหน”

2. วันพิพากษา

       “เราพลาดตรงที่ว่าเราไม่ยอมเป็นข่าว เพราะหนึ่งเราคิดว่าพี่ใหญ่เป็นประชาชนธรรมดา สองไม่ได้เป็นแกนนำ คนดัง คนเด่นอะไร ถ้าไปโวยวายอาจโดนหมันไส้ ตัดสินเยอะ แต่ถ้าเราเงียบๆ คงให้น้อย เดี๋ยวก็คงได้ออก ถ้ารู้ว่าเป็นแบบนี้เราคงอยากให้เป็นข่าว จริงๆ ทหารเป็นคนบอกไก่เองที่ค่าย ไก่ถามเขาเลยว่า ‘พี่ พี่บอกตรงๆ ได้ไหม พี่ใหญ่จะติดคุกกี่ปี จะได้ทำใจ วางแผนว่าจะใช้ชีวิตยังไง’ ทหารเขาก็ระดับใหญ่เหมือนกัน คนไหว้เขาหมด เขาบอกว่าปีนึง ไม่เกินสองปี เขาพูดแบบนี้จริงๆ เราคนซื่อ ใครบอกยังไงก็เชื่อ พวกน้องๆ ทีมทนายยังบอกว่าอย่าไปเชื่อเลย แต่แม้แต่ตำรวจก็พูดเอง เขาก็บอกว่าปีสองปีเหมือนกัน เราเลยรู้สึกว่า เออ พูดตรงกันเว้ย”

       “แกท่องตลอดห้าห้ายี่สิบห้า พี่ใหญ่ถามเราว่าสู้ดีไหมเพราะโทษมันเยอะมากสำหรับแก แกไม่ไหว ไก่เป็นคนบอกเองว่าอย่าไปสู้ ไม่เคยมีใครสู้แล้วรอด”

        “ที่ผ่านมาเรายืมญาติ 50,000 บวกกับเงินทีมีอยู่ในบัญชี 20,000 เงินมีแค่นี้เอง ยื่นประกันตัวพี่ใหญ่ไป 4 รอบแต่ไม่สำเร็จ”


       “ตอนที่รู้ว่าต้องขึ้นศาลทหาร รู้สึกเครียด เราไม่รู้ว่ามันต่างกันยังไง แต่พอไปสอบถามมาเขาว่าศาลทหารลงโทษมากกว่า และไม่มีอุทธรณ์เหมือนศาลปกติ เครียดเลย แต่เราก็ไม่คิดว่าจะเยอะขนาดนี้ เราทำใจกันไว้หนักสุดเลย 5 กรรม กรรมละ 5 ปี รับสารภาพเหลือครึ่งหนึ่ง สิบกว่าปี แล้วก็ได้ลดนั่นลดนี่มันคงพออดทนไหว เราคิดหนักสุดแค่นั้น”

         “แต่พอมันออกมาอย่างนี้ หน้าชาเลย ถามว่าอยากร้องไห้เป็นลมไหม อยาก แต่วินาทีนั้นไก่ต้องเข้มแข็ง ไม่อย่างนั้นพี่ใหญ่จะยิ่งแย่ ได้แต่บอกว่า ‘นาย เราเป็นนักต่อสู้ นักต่อสู้ต้องเข้มแข็ง ต้องรับให้ได้ทุกอย่าง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไก่จะไม่ทิ้งนายนะ ไก่จะรอนาย’ เขาก็น้ำตาไหล บอกว่า ‘อดทนสิ ถ้าแม่ไก่เข้มแข็งเราก็จะเข้มแข็งตาม’ เลยทำให้รู้เลยว่าคนข้างนอกมีผลจริงๆ ถ้าเราอ่อนแอคนข้างในจะแย่ แต่สุดท้ายมันก็กลั้นไม่ไหว น้ำตามันไหลออกมาเอง แต่ก็ไม่ได้สะอื้น โวยวายอะไร”

        “ตอนที่รู้คำพิพากษาเหรอ เขาไม่ให้เข้าห้องพิจารณษคดีนะ คนอื่นๆ รอข้างนอกทั้งหมด ยกเว้นทนายกับจำเลยเพราะพิพากษาลับ แต่ศาลอ่านคำพิพากษาไวมาก แป๊บเดียว”

      “พอทนายกับพี่ใหญ่เดินออกมาจากห้อง เรามองหน้าว่าเกิดอะไรขึ้น พี่ใหญ่หน้าซีดมาก ส่ายหัว ไก่ไม่คิดว่าจะเยอะขนาดนี้ เราคิดว่ากรรมละ 3 ปี และเราเข้าใจความหมายที่แกส่ายหัวว่า คงเป็น 5 เราเลยถามแกว่าเขาตัดสินยังไง พี่ใหญ่ก็น้ำตาคลอๆ บอก ‘50 ปี’ ตกใจมากแต่คนมันก็ออกันหน้าห้องเยอะ เจ้าหน้าที่เลยเอาตัวพี่ใหญ่ลงไปข้างล่างก่อน พี่ใหญ่บอกเดี๋ยวค่อยเล่าให้ฟัง”

       “ตอนนั้นลูกอยู่ด้วย ก็อึ้งกันไปหมด ออกมายืนร้องไห้ข้างหน้า โวยวาย อะไรวะแม่งโลกนี้ นี่มันอะไร วินาทีนั้นเราหลุด บางคนก็ลงไปดูพี่ใหญ่ พี่ใหญ่เครียดมาก สูบบุหรี่อัดๆๆ นักโทษด้วยกัน ผู้คุมเขาก็เดากันไว้ผิดหมด งงกันหมด ตำรวจที่ทำเรื่องยังงง”

       “พอลงมาจากห้องพิจารณา น้องฟิล์ม (ลูกชายของไก่) เขาเตรียมดอกไม้มา เราไม่รู้ด้วย พอดีใกล้วันเกิดเขาเขาเลยจะขอพรพ่อ เขาก็เอามาลัยไปกราบเท้า มันเป็นภาพที่รัดทดมาก กราบทั้งโซ่ตรวน พี่ใหญ่ร้องไห้ดังมาก ลูกก้มลงกราบที่เท้าสองคน หน้าเขาก็ซบอยู่บนขาสองข้าง พี่ใหญ่ก็เอามือจับหัวพยายามให้พร เราก็นั่งอยู่ข้างแก จนเราต้องช่วยเช็ดน้ำมูกน้ำตาแกเต็มหมดเลย ลูกก็ก้มลงร้องไห้ตัวสั่นเลย บอก ‘น้องฟิล์มเงยหน้ามองพ่อสิลูก’ น้องฟิล์มไม่ยอมเงย เราได้แต่บอกเขาว่าพ่อรับมาลัยได้แต่พ่อเอาเข้าไปในเรือนจำไม่ได้ เดี๋ยวแม่เก็บไว้ให้เอง (ร้องไห้)”

       “มันแค้นแต่ไม่รู้จะทำยังไง อยากจะถามว่าเขาทำอะไรผิดขนาดนั้น ฆ่าคนตายยังเห็นประกันตัวออกมากันได้ นี่แค่ความคิดไม่เหมือนกันทำไมต้องทำกันขนาดนี้ มันแค่เรื่องทางสมอง ทำไมต้องทำกับเขาขนาดนี้”
3. ผลกระทบ

       “เขาอยู่ยังทำอะไรได้ตั้งเยอะ อย่างไก่ครอบครัวไม่สมบูรณ์ ไก่เรียนมาน้อย แต่พี่ใหญ่จะเก่งเรื่องวิชาการ มันจะเป็นประโยชน์กับลูกทั้งสองของไก่ มีคนชี้แนะเขาก็จะไปได้ไกล เรื่องเรียนไก่ไม่รู้เรื่องเลย แต่ค้าขายมาเถอะได้ทุกอย่าง พี่ใหญ่ช่วยสอนสปีคอิงลิช สอนอะไรหลายๆ อย่าง ไม่ต้องไปเสียเงินเรียนพิเศษ ตอนนี้ไม่มีพี่ใหญ่ เราไม่มีเงินให้ลูกเรียนพิเศษ และเราก็ไม่มีสิ่งนี้ให้ลูกด้วย มันจบหมด”

       “ความสัมพันธ์พี่ใหญ่กับลูกเหรอ เราถามน้องฟิล์มว่าเพิ่งเจอพี่ใหญ่ไม่นาน ทำไมถึงร้องไห้ ทำไมถึงรักพี่ใหญ่ขนาดนี้ เขาบอกว่าแม่ไม่เข้าใจหรอก แม่เข้าใจคำว่าครอบครัวไหม มันคงเป็นส่วนที่เขาขาดมาตลอด ฟิล์มเพิ่งเคยมีพ่อตอนที่เจอพี่ใหญ่นี้ล่ะ เขาจะดูบอลด้วยกัน ดูนั่นดูนี่ มีกิจกรรมด้วยกัน ถามว่าพี่ใหญ่เป็นอะไรที่เราเลือกใช่ไหม ตอบเลยว่าไม่ ลูกเราเป็นคนเลือก เราพาเขาไปเจอน้องฟิล์มกับน้องหนึ่งก่อนเลย ลูกยอมรับเขาก่อน เราก็มาศึกษากันทีหลัง”

        "ลูกๆ เมื่อก่อนไม่ได้สนใจการเมือง เราก็ไม่ได้ยัดเยียดอะไร แต่ตอนนี้คำถามเขาเต็มไปหมด เขามีความคิดมากกว่าเราอีก เขาบอกว่าเฟซบุ๊กเป็นของต่างประเทศ จับพ่อได้ยังไง แลวพ่อก็ไม่ได้ฆ่าคนตาย ตัดสินพ่อแรงเกินไปนะ กลายเป็นเขาไปศึกษาว่าทำไมพ่อโดนขนาดนี้ ตอนนี้ลูกฝักใฝ่หาอ่านอะไรทุกวันแล้ว มันเกิดจากความสูญเสีย เจ็บปวด แล้วคงสร้างพลังแค้น เราก็กังวล ไม่อยากให้ลูกคิดอย่างนั้น บอกแต่ว่าให้ตั้งใจเรียนนะ อย่าไปยุ่งกับการเมือง แม่ไม่มีใครแล้ว”

        “ไก่โชคดีที่บ้านพ่อกับแม่ดูแลดีมาก คราวที่แล้วแม่ซื้อขนม ซื้อข้าวเหนียวทุเรียนมาให้ อยู่ในบ้านของแม่จะมีอาหารการกินพร้อมมาก แกสงสารหลาน แกอยากให้ไก่กับลูกเข้าไปนอนในบ้านแก เรารู้ว่ามันสบายจริง แต่เวลาเราเศร้าใจเราก็ไม่อยากให้ใครเห็น เคยแล้วตอนนั่งกินอาหารที่บ้านแม่ อยู่ดีๆ น้ำตาร่วงเพราะเราเห็นของที่เขากิน แม่เดินหนีเลย เดินหันหลังเลยแล้วบอกว่าอย่าทำอย่างนี้”

      “ที่บ้านไก่เข้าใจหมด แม่บอกเลยนะ ถ้าออกมาต่อให้ไม่มีงานทำก็จะเลี้ยงกันไปนี่แหละ เราไม่ได้คิดอะไรมากเลย เราอยากให้แกออกมา อย่างน้อยก็ขอให้ได้มาเป็นปู่เป็นตาของหลานๆ”

      “บางคนบอกจะบ่นทำไมมันก็ลำบากกันทุกคนแหละ ใช่ มันลำบากแต่มันไม่เหมือนกันทุกคนหรอก เพราะเราไม่รู้ว่าความรับผิดชอบของแต่ละคนเป็นยังไง อย่างอยู่ๆ เราเป็นแม่บ้านอยู่ดีๆ แล้วเราก็มาเป็นหัวหน้าครอบครัวโดยอัตโนมัติ มันเหนื่อยนะ จากพี่ใหญ่เลี้ยงดูเราเราต้องมาเลี้ยงดูพี่ใหญ่อัตโนมัติ”

       “พี่ใหญ่ก็ไม่เหลืออะไรแล้วตอนนี้ แต่เราก็บอกเขาว่า เราเลี้ยงนายเอง เรากลับมาทำงานค้าขายเหมือนเดิมแล้ว”

       “ครอบครัวเก่าทุกคนเลือกที่จะตัดแกไปเลย ลูกแกแกส่งเรียนจบต่างประเทศ ก่อนโดนจับเพิ่งไปรับมาจากสนามบิน พอโดนจับแกก็โทรบอกลูกแต่ลูกเลือกที่จะบินกลับ เขาโกรธที่พ่อเลิกกับแม่เขาด้วย แต่เขากันเลิกนานแล้ว ผู้ใหญ่มีปัญหากัน แต่พี่ใหญ่ก็ยังทำหน้าที่พ่ออย่างเต็มที่ พยายามหาให้ทุกอย่างที่ต้องการ ตอนเขามาเจอไก่เขาไม่มีอะไรแล้วนะ มีหมาบีเกิลอยู่ตัวหนึ่ง”

       “ตอนนี้คนจีบไก่เยอะแยะ แต่ไก่ทิ้งไม่ลง ยังไงก็ต้องดูแลแก อุดมการณ์มันทำให้ทิ้งกันไม่ได้ บอกเขาแล้วว่าจะไม่ทิ้ง ถ้าจะไม่มีไก่ก็คือไก่ต้องตายไปจากโลกนี้ แต่ถ้าจะเลิกก็ต้องรอวันที่เขาออกมา จะเลิกก็ต้องเลิกตอนที่เขาไม่ใช่แบบนี้ ทิ้งเขาไม่ได้หรอก (ร้องไห้) ไก่บอกว่าไก่จะเป็นคนมารับเขาออกจากที่นี่ เขาไม่ได้ฆ่าคนตาย เขาไม่ได้ขายยาบ้า โทษที่เห็นมันโหดร้ายมากเลย เราจะดูแลเขาให้ดีที่สุด จะรอวันที่เขาออกมา ไม่รู้ว่าจะนานแค่ไหน”

4. สภาพในเรือนจำ


        “ตอนนี้ยังไม่ได้ขอพระราชทานอภัยโทษ ให้แกเลื่อนเป็นนักโทษชั้นดีก่อน ตอนนี้เป็นนักโทษชั้นกลาง ตอนนี้พี่ใหญ่กำลังเป็นครูสอนภาษาอังกฤษข้างใน เจ้าหน้าที่เขาเห็นว่ามีความรู้ทั้งภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์ ตรงนี้คงจะช่วยเหลือให้พี่ใหญ่ได้เลื่อนชั้นเร็วขึ้น"

       “การไปเยี่ยมในเรือนจำคลองเปรมเหรอ ไม่อยากจะพูดแต่ก็ต้องพูดว่าเป็นอะไรที่แย่มาก ไม่ชอบเลยขั้นตอนการตรวจเนี่ย ใช้เครื่องมืออะไรตรวจได้ไหม ทำไมต้องเอามือมาลูบ (ทำท่าเอามือลูบหน้าอกลูบก้น) เจ้าหน้าที่ผู้หญิงแต่เราก็ไม่ชอบ จับหมดทุกสิ่ง เหรียญบาทก็ไม่ได้ สมุดก็ไม่ได้ ต้องฉีกกระดาษแค่ใบเดียว”

       “แล้วเยี่ยมอาทิตย์ละวันก็น้อยไป หรือถ้าจะกำหนดอย่างนั้นก็ไม่น่าจะกำหนดวันเรา ให้เป็นวันไหนก็ได้เพราะบางทีวันหยุดนักขัตฤกษ์เจอไปสองจันทร์ติดกันเหมือนช่วงสงกรานต์ก็ซวยเลย ไม่ได้เยี่ยม ด้วยสุขภาพแกด้วย อายุเยอะแล้ว เราก็เป็นห่วง”

      “ที่นี่ให้เยี่ยม 30 นาที แต่มันไม่ได้เหมือนเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่เป็นส่วนตัวหน่อย นี่มันเหมือนเล่นแย่งอะไรกันซักอย่าง พอเข้าไปเขาจะปล่อยญาติเป็นร้อยสองร้อยคน แล้วเวลาเจอญาติมันก็มีกระจกกั้นทั้งสองด้าน ห่างกันซัก 5 เมตร คุยผ่านโทรศัพท์ ซึ่งมันมองหน้ากันไม่เห็นเลย แสงมันสะท้อน ต้องคอยชะโงกทางนั้นทีทางนี้ที”

        “การเข้าไปมันเหมือนกับเราไปสวนสัตว์ มันมีความรู้สึกว่าวันนี้อีหลินหุ้ยมันจะกลับเมืองจีนแล้ว อะไรแบบนั้น เราผ่านด่านตรวจหลายด่าน แล้วก็ต้องเดินซิกแซกๆ เหมือนเล่นเกม พอเข้าไปก็มีเจ้าหน้าที่ตรวจอีก เสร็จปุ๊บก็เดินแยกซ้าย แยกขวา แล้วก็เหมือนเล่นเก้าอี้ดนตรี ถ้าพี่ใหญ่ออกมาก่อนก็รีบนั่งตุ๊บ รอเรา เราก็ต้องรีบวิ่งหา ถ้าเราเดินแล้วไม่เจอ เราก็จะแยกกันให้น้องอีกคนนั่งยึดเก้าอี้ไว้ ส่วนเราเดินดู แถวยาวๆ นั่น ดูว่ามีพี่ใหญ่ไหม”

      “สภาพจิตใจพี่ใหญ่ดีขึ้น แต่ถามลึกๆ ในใจก็ยังแย่อยู่ พูดอะไรมากไม่ได้ คดีแบบ 112 มีทั้งคนรักและคนเกลียด อยู่ที่นู่น (ในเรือนจำ) เวลาใครถามแกบอกว่าผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์”

       “เวลาไปเยี่ยม เขาบอก ‘แม่ไก่ แม่ไก่รู้ไหม เมื่อก่อนเขารักวันจันทร์มากเลย เพราะแม่ไก่มาเยี่ยมวันจันทร์ แต่ตอนนี้เรารักวันศุกร์มากเลย’ (เพราะย้ายแดนแล้ววันเยี่ยมถูกเปลี่ยนเป็นวันศุกร์) แล้วเขาก็ร้องไห้ เราก็ถามเขาว่าร้องทำไม เขาก็บอกว่าเพราะเขาคิดถึงแม่ไก่มากๆ แม่ไก่จำได้ไหม แม่ไก่ตื่นนอนมาเราต้องหอมแม่ไก่ทุกครั้ง เราดูแลแม่ไก่”

        “พยายามทำให้ชีวิตมันสนุกเข้าไว้ เล่นเฟซก็ช่วยได้นะ การที่เราจะไประบายให้พ่อแม่เราเครียดน่ะ เราก็มาระบายให้กลุ่มเพื่อนเราดีกว่า อย่างน้อยก็จะมีคำว่าสู้ๆ ถึงมันจะไม่ได้เป็นคำที่ยิ่งใหญ่อะไร แต่อย่างน้อยมันก็เป็นความรู้สึกที่ดี”

       “ที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 18 ธันวา (วันจับกุม) ไม่มีวันไหนไม่ร้องไห้เลย ไม่มี แต่น้ำตาที่ไหลมามันจะต่างกันไป แรกๆ จะสะอื้น แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าไหลออกมานิ่งๆ”

      “ห้าเดือนที่ผ่านมา ไม่เคยมีวันไหนที่เขาให้เยี่ยมแล้วไก่ไม่ไป ถามว่ามีความหวังไหม ก็มีเล็กๆ ถ้าเขามีปล่อยออกมาคงมีความสุขที่สุด อยากเห็นทุกๆ คนได้ด้วย มันเจ็บปวดนะอยู่ตรงนี้”

เลิกจ้าง 4 พนักงาน บริษัทผลิตรายการข่าว ฐานทัศนคติทางการเมืองขัดนโยบายบริษัท



อนุชา รุ่งมรกต ใส่เสื้อเชิ้ตสีดำแถวล่าง



Tue, 2015-06-09 14:11


เลิกจ้าง 4 พนักงาน บริษัทผลิตรายการข่าว หลัง คนหนึ่ง ถูกจับกุมหน้าหอศิลป์ และอีกสามคนเดินทางไปให้กำลังใจที่ สน. ปทุมวัน บริษัทชี้ทัศนคติทางการเมืองขัดนโยบายบริษัท

8 มิ.ย. 2558 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า 4 พนักงานบริษัทผลิตรายการข่าวถูกเลิกจ้าง เนื่องจาก “มีทัศนคติหรือเจตจำนงทางการเมืองที่ขัดต่อแนวนโยบาย และแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท” ประกอบด้วย อนุชา รุ่งมรกต ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ และ แอน(ไม่ขอเปิดเผยชื่อจริง)

ขณะที่การเลิกจ้างพนักงานในครั้งนี้ มีสาเหตุมาจากการที่รายการบางรายการของบริษัทหมดสัญญากับช่อง และบางรายการถูกยกเลิกสัญญา ทำให้บริษัทมีความจำเป็นต้องปรับลดจำนวนพนักงานลง โดยมีพนักงานถูกเลิกจ้างทั้ง 21 คน โดย 16 คนถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด และบริษัทยินดีที่จะให้เงินชดเชยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มี 1 คน ถูกเลิกจ้างโดยมีฐานความผิดรับจ้างทำงานให้บริษัทอื่น และอีก 4 คน ถูกเลิกจ้างด้วยเหตุผลทางการเมือง

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง โปร์ดิวเซอร์รายการ ให้ข้อมูลว่า กรณีการเลิกจ้าง 4 พนักงานมีความแตกต่างกันไป สำหรับ อนุชา รุ่งมรกต ตำแหน่งช่างภาพรายการ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกจับกุมบริเวณหน้าหอศิลป์ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 ถูกเลิกจ้างเป็นคนแรกในกลุ่มฐานความผิดเดียวกัน เนื่องจากบริษัทอ้างว่าการแสดงจุดยืนทางการเมืองของ อนุชา อาจถูกมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท อาจทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง และขัดต่อแนวนโยบายการดำเนินธรุกิจของบริษัท


ชุมาพร เล่าต่อไปว่า อนุชาถูกเลิกจ้างด้วยเหตุผลทางการเมือง เนื่องจากเขาถูกจับกุมตัวหน้าหอศิลป์ จากเดิมหากตัดเหตุผลทางด้านการออกไป เขาทำงานกับบริษัทมาเกิน 1 ปีแล้ว การที่จะเลิกจ้าง ควรได้เงินชดเชยทั้งหมด 3 เดือน แต่กลับได้เพียงเงินเยียวยาเพียง 1 เดือน

ส่วนในกรณีของ 3 คนที่เหลือ ไม่ได้ถูกจับกุมตัว แต่ได้ไปที่หน้าหอศิลป์จริง และในช่วงที่มีความวุ่นวาย พวกเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่เขาไปช่วยเหลือ เดฟ นักศึกษา ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย และพวกยืนยันว่าในคืนวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา เขาไปให้กำลังใจเพื่อนที่ถูกจับกุมที่ สน.ปทุมวัน จริง แต่ก็ไม่ได้เป็นการชุมนุมทางการเมือง

ชุมาพร ให้ข้อมูลอีกว่า กรณีของตน ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ โคโปร์ดิวเซอร์ และ แอน โคโปร์ดิวเซอร์ ถูกทางบริษัทเรียกเข้าพบ 2 ครั้ง โดยในครั้งแรกมีการแจ้งว่าจะเลิกจ้างทั้งสาม 3 คน เนื่องจากมีทัศนคติทางการเมืองที่ขัดต่อแนวนโยบายของบริษัท และทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง แต่ตนก็พยามแสดงให้เห็นว่า ทั้ง 3 คน ไม่ได้แสดงตนว่าไปในนามของบริษัท หรือใช้ชื่อของบริษัทไปกระทำการใด และการออกมาที่หอศิลป์ครั้งนั้นก็เป็นช่วงนอกเวลางาน

ขณะที่การเรียกเข้าพบของทางบริษัทในครั้งที่ 2 ได้มีการพูดเจรจากันว่า เนื่องจากกรณีของทั้ง 3 คน ไม่ปรากฏลักษณะความผิดที่ชัดเจน บริษัทยินยอมที่จะให้เงินชดเชยครบตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีเงือนไขว่า ทั้ง 3 คน ต้องยอมเซ็นชื่อในใบลาออก พร้อมกับเซ็นชื่อในใบเลิกจ้าง เนื่องจากบริษัทต้องการปรับลดจำนวนพนักงาน ซึ่งไม่ได้ระบุฐานความผิดไว้ โดยบริษัทอ้างว่า เพื่อเป็นการป้องกันการถูกฟ้องร้องจากพนักงานทั้ง 3 คนในภายหน้า หากใครไม่ยอมรับเงื่อนไขก็จะให้ใบเลิกจ้างที่มีฐานความผิดทางการเมือง ซึ่งบริษัทย้ำว่าจะทำให้มีความลำบากในการหางานทำต่อไป และการให้เงินชดเชยในกรณีนี้อาจะได้รับไม่เต็มจำนวนตามที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ ชุมาพร และธนาพงษ์เลือกไม่เซ็นชื่อในใบลาออกและยืนยันว่าการแสดงออกทางการเมืองของตนเองมีความชอบธรรมทั้งทางกฎหมายและหลักสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ขณะที่บริษัทได้จ่ายเงินชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด

“นี่เป็นเรื่องผิดกฎหมายเลยนะ มันบีบคอบังคับให้พนักงานเซ็นใบลาออก ซึ่งมันไม่ถูกต้อง ไม่เครื่องยืนยันได้เลยว่าเราจะได้รับสิทธิเหมือนกับกรณีที่ถูกเลิกจ้าง เพราะบริษัทก็อาจจะอ้างได้ว่า คุณลาออกเอง แล้วก็มีหลักฐานครบ ฉะนั้นเรากับธนาพงษ์ ไม่ยอมเซ็น ส่วนน้องอีกคนจำเป็นต้องเซ็น เพราะกังวลปัญหาในอนาคต เนื่องจากวางแผนจะไปเรียนต่อต่างประเทศ” ชุมาพรกล่าว


ชุมาพร ได้ให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า การเลิกจ้างพนักงานด้วยเหตุผลทางการเป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรม เพราะตลอดช่วงเวลาที่ตนทำงานมาไม่เห็นในนามของบริษัท ในการแสดงจุดยืนทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องของปัจเจก และงานที่ตนทำก็ไม่ได้มีการสอดแทรกประเด็นทางการเมืองที่โน้มเอียงเข้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทุกครั้งที่มีประเด็นทางสังคม หรือประเด็นทางการเมืองที่เป็นข้อถกเถียงกันในสังคม ตนก็จัดรายการโดยการเชิญแขกรับเชิญที่มีความคิดหลากหลาย การกระทำของบริษัทในครั้งนี้ทำให้ตนไม่มั่นใจว่า มีสาเหตุที่แท้จริงจากอะไร

ศาลทหารพิพากษายกฟ้อง-กรณีนักข่าวลำพูนลงข่าวชุมนุมต้านรัฐประหารผิดวัน



Tue, 2015-06-09 15:21


ศาลทหารเชียงใหม่ยกฟ้องคดี ม.116 นักข่าวอิสระ จ.ลำพูน หลังส่งภาพข่าวชุมนุมต้านรัฐประหารโพสต์ในผู้จัดการออนไลน์ระบุวันเวลาเกิดเหตุผิด และถูก จนท.ทหารแจ้งความดำเนินคดี ศาลชี้จำเลยไม่มีเจตนาทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง

9 มิ.ย. 58 - ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ นัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่นายชัชวาลย์ คำไท้ นักข่าวอิสระในจังหวัดลำพูน ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ภายหลังส่งภาพและข่าวชุมนุมต้านรัฐประหารที่จังหวัดลำพูนให้สำนักข่าวผู้จัดการออนไลน์ โดยระบุวันคลาดเคลื่อนจากเหตุที่เกิดขึ้นจริง

ศาลได้พิเคราะห์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่เพียงพอ และการกระทำของจำเลยเป็นเพียงการนำเสนอข่าวในเหตุการณ์ประจำวัน ไม่เป็นข้อแสดงว่าจำเลยมีเจตนาจะทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และถือไม่ได้ว่าจำเลยนำเสนอภาพข่าวโดยไม่สุจริต จึงพิพากษายกฟ้องจำเลย


ภาพข่าวที่เผยแพร่ในผู้จัดการออนไลน์เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.57

นายชัชวาลย์เล่าถึงที่มาที่ไปของคดีว่าเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 พ.ค.57 ภายหลังรัฐประหารไม่กี่วัน เพื่อนนักข่าวได้ส่งภาพเหตุการณ์การชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี จ.ลำพูน มาให้ทางไลน์ส่วนตัว โดยเป็นภาพประชาชนรวมตัวกันใส่หน้ากากขาวและชูป้ายต่อต้านรัฐประหาร จึงได้โทรศัพท์สอบถามจากเพื่อน และได้รับการยืนยันว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเย็นวันนั้น จึงส่งเป็นรายงานข่าวไปยังศูนย์ข่าวของผู้จัดการออนไลน์

ข่าวได้ขึ้นเผยแพร่ทางเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.57 โดยกองบรรณาธิการมีการนำไปรวมกับข่าวต้านรัฐประหารของจ.เชียงใหม่ ภายใต้พาดหัวข่าว “แดงลำพูนแปลงกาย ใส่หลากสี สวมหน้ากากชูป้ายต้านรัฐประหารกลางเมือง" แต่ได้ทราบต่อมาภายหลังว่าเป็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พ.ค.57 โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ไม่ได้มีการบิดเบือนแต่อย่างใด แต่เป็นความเข้าใจผิดเรื่องวันเวลาที่เกิด ส่วนในวันที่ 31 พ.ค.นั้น ไม่ได้มีการชุมนุมเกิดขึ้นในจังหวัดลำพูนแต่อย่างใด ทางสำนักข่าวได้มีการลบข่าวนั้นออกไปจากระบบออนไลน์ภายหลังการเผยแพร่ไม่กี่ชั่วโมง

นายชัชวาลย์ถูกเจ้าหน้าที่ทหารตามตัวเข้าพบที่ศาลากลางจังหวัดลำพูนในวันที่ 1 มิ.ย.นั่นเอง โดยเขายอมรับว่าเป็นคนส่งภาพและข่าวของจังหวัดลำพูน จึงได้ถูกนำตัวไปยังสถานีตำรวจภูธรเมืองลำพูน โดยเจ้าหน้าที่ทหารจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดลำพูนเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 โดยชัชวาลย์ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา

ข้อกล่าวหาระบุว่าจำเลยได้กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยการถ่ายภาพเหตุการณ์ประท้วงของประชาชน พร้อมเขียนคำบรรยายใต้ภาพว่า “แดงลำพูนแปลงกาย ใส่หลากสี สวมหน้ากากชูป้ายต้านรัฐประหารกลางเมือง” แล้วเผยแพร่สู่เว็บไซต์ manager อันเป็นข้อมูลข่าวสารที่ก่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยก เป็นการฝ่าฝืนประกาศของคสช.ฉบับที่ 18/2557 และอาจทำให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

ภายหลังถูกควบคุมตัวที่สภ.เมืองลำพูน ในวันที่ 2 มิ.ย.57 ชัชวาลย์ได้ถูกนำตัวมาฝากขังที่ศาลทหารเชียงใหม่ ก่อนถูกส่งตัวเข้าไปยังเรือนจำ รวมแล้วเขาถูกคุมขังที่เรือนจำเป็นเวลา 15 วัน ก่อนจะได้รับการประกันตัว ด้วยหลักทรัพย์ 4 แสนบาท

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ศาลทหารมีการนัดสืบพยานทั้งหมด 4 นัด โดยมีทนายความอาสาที่ศาลประสานงานมาให้เข้าช่วยเหลือในคดี ก่อนที่ศาลจะอ่านคำพิพากษายกฟ้องในวันนี้ คดีถือเป็นที่สุดในศาลเดียว เนื่องจากเหตุเกิดขึ้นก่อนหน้าการยกเลิกกฎอัยการศึก

สำหรับนายชัชวาลย์ อายุ 47 ปี เป็นคนจังหวัดอุตรดิตถ์ ก่อนย้ายมาอยู่ที่จังหวัดลำพูนภายหลังแต่งงานกับภรรยา ทำงานเป็นนักข่าวอิสระให้กับสื่อในท้องถิ่น และเคยส่งรายงานข่าวในพื้นที่ลำพูนให้กับหลายสำนักข่าว เช่น ผู้จัดการ, ทีนิวส์, บ้านเมือง เป็นต้น