วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

จับหนุ่มพ่นสเปรย์ศาลอาญา - เหตุทวงคดีทหารยิงรุ่นพี่ไม่คืบ



Tue, 2015-05-26 14:19


ตำรวจ สน.พหลโยธิน จับกุมผู้ต้องหาคดีพ่นสเปรย์รูปตัวเอ ที่ป้ายศาลอาญา โดยระบุสาเหตุว่าเป็นเพราะคดีทหารยศสิบตรี ยิงรุ่นพี่เสียชีวิตขณะขับจักรยานยนต์ย่านบางเขนไม่มีความคืบหน้า จึงต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม

26 พ.ค. 2558 - ตามที่เมื่อวันที่ 24 พ.ค. เจ้าหน้าที่ทหารจาก ร.11 พัน.1 รอ. ตรวจสอบป้ายศาลอาญา หลังมีผู้พ่นสเปรยตัวอักษรเอ คล้ายสัญลักษณ์ของพวกนิยมอนาธิปไตยนั้น ล่าสุด มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 26 พ.ค. ว่า ตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.พหลโยธิน ได้จับกุม นายณัฐพล อายุ 22 ปี อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง จับกุมได้ที่ จ.นนทบุรี โดยใช้หลักฐานจากกล้องวงจรปิด

จากการสอบสวนเบื้องต้นผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่า เป็นผู้ก่อเหตุพ่นสีสเปรย์จำนวน 2 จุดจริง เนื่องจากต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับรุ่นพี่ที่ถูกยิงเสียชีวิต ขณะขี่รถจักรยานยนต์ผ่านย่านบางเขน เมื่อคืนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2558 โดยตำรวจสามารถจับกุม ส.ต.วัชรพงศ์ ชูรัตน์ ทหารสังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ แต่คดีไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร จึงเกิดความคับแค้นใจ และต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม จึงฉีดพ่นสัญลักษณ์ดังกล่าว เพราะเห็นว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน และยอมรับว่าสิ่งที่ทำมีความผิด แต่ต้องการระบายและเรียกร้องความถูกต้องเท่านั้น

คุยกับนักศึกษานิติศาสตร์ ในวันสืบพยาน ‘วรเจตน์’ ในศาลทหาร


Tue, 2015-05-26 14:27

26 พ.ค.2558 ที่ศาลหลักเมืองซึ่งอยู่ใกล้กับศาลทหาร นักศึกษากว่า 20 คนยืนรอมอบมาลัยและภาพวาดเพื่อแสดงมุทิตาจิตและให้กำลังใจ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานนัดแรกที่ศาลทหาร คดีขัดคำสั่งเรียกรายงานตัวของคสช. เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารไม่อนุญาตให้กลุ่มนักศึกษาเข้าไปรอบริเวณศาลทหาร 

ภาพนักศึกษามอบมาลัยและภาพวาดเพื่อแสดงมุทิตาจิตและให้กำลังใจ วรเจตน์ 

ประชาไทคุยกับ คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมนี้ถึงเหตุผลเบื้องหลังกิจกรรมและมุมมองของเขาต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
 
กิจกรรมวันนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
 
คงสัจจา : เป็นการรวมตัวของนักเรียนนิติศาสตร์ชั้นปีที่4 เป็นหลัก เราอยากแสดงมุทิตาจิต ไปรับอาจารย์ที่ศาล ไปให้กำลังใจอาจารย์ที่ศาล เป็นความตั้งใจในฐานะที่เป็นปีสุดท้ายที่ได้เรียนในคณะนี้ มีนักศึกษาปริญญาตรีประมาณ 20 กว่าคน และนักศึกษาปริญญาโทที่เคยเรียนกับอาจารย์อีกจำนวนหนึ่ง
 
พวกเราเดินทางมาจากรังสิตตั้งแต่ 7 โมงเช้า และรออยู่ที่ศาลหลักเมืองจนอาจารย์ได้ออกมาช่วงใกล้เที่ยง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารไม่อนุญาตให้กลุ่มนักศึกษาเข้าไปใกล้บริเวณศาลทหาร 
 
ไม่กลัวจะถูกเพ่งเล็งว่าเป็นนักศึกษาที่มาเคลื่อนไหวต่อต้านทหารหรือ ?
ไม่กลัว ผมคิดว่าผมทำในสิ่งที่ถูกต้อง
 
เคยเรียนกับอาจารย์ไหม ? 
เคยเรียนกับอาจารย์ในวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง และนิติปรัชญา 
 
มองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับอาจารย์อย่างไร ? 
มองว่าอาจารย์มีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็น ในฐานะที่อาจารย์เป็นนักวิชาการ สังคมจะเดินหน้าต่อไปได้ นักวิชาการเป็นกลไกสำคัญ เมื่อเรามีการวิพากษ์วิจารณ์ อะไรดีอะไรไม่ดี เราจะได้แก้ไขสิ่งที่ไม่ดีได้ ฉะนั้น มันน่าจะมีกลไกอะไรบางอย่างที่คุ้มครองอาจารย์ได้มากกว่านี้ มีความคุ้มกันบางอย่างมากกว่านี้
 
หมายถึงมหาวิทยาลัย ?
ไม่ว่ามหาวิทยาลัยหรือภาครัฐก็ตามต้องเคารพเสรีภาพตรงนี้ให้มากกว่านี้ สิ่งที่เป็นอยู่นี้ โอเค อาจจะบอกว่าอาจารย์ขัดคำสั่ง ไม่มารายงานตัว แต่อีกทางหนึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่อาจารย์ต้องไปขึ้นศาลทหาร มันเป็นแรงกดดันอีกทางหนึ่งที่ทำให้อาจารย์ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ 
 
โดยกระแสภาพรวมของนักศึกษานิติศาสตร์ พวกเขาคิดอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับวรเจตน์ ? 
จริงๆ ก็เหมือนสังคมไทยทั่วไป มีทั้งที่ชอบและไม่ชอบอาจารย์วรเจตน์ แต่เราต่างกับสังคมทั่วไปนิดหนึ่งคือ เราได้เรียน ได้สัมผัสกับอาจารย์วรเจตน์ บางคนครอบครัวบอกเลยว่าอย่าไปเรียนใน sec พวกนิติราษฎร์ บางคนก็รับไม่ได้ก็มี แต่สำหรับคนที่ลองเรียนจริงๆ จะรู้เลยว่า อาจารย์ไม่ได้ยัดเยียดความคิดอย่างที่คนอื่นว่ากัน อาจารย์สอนตามหลักการทุกอย่าง ท่านเป็นนักวิชาการที่เสมอต้นเสมอปลายมากๆ 
 
อาจารย์สอนสนุกไหม เถียง ไม่เห็นด้วยได้ไหม ถ้าเห็นต่างกับอาจารย์จะสอบตกไหม ?
อาจารย์พูดเสมอว่าไม่ต้องเชื่อที่ผมพูด แต่เมื่อคุณเติบโตขึ้น ไปค้นคว้าเพิ่มจะเห็นต่างจากผมก็ได้ ถ้านักศึกษาไม่เข้าใจหรือคนในสังคมไม่เข้าใจ ท่านจะอธิบายจนกว่าจะเข้าใจ อาจารย์ไม่เคยเหนื่อยกับการอธิบายให้กับนักศึกษาหรือคนภายนอกเข้าใจสิ่งที่อาจารย์จะสื่อ 

ภาพนักศึกษามอบมาลัยและภาพวาดเพื่อแสดงมุทิตาจิตและให้กำลังใจ วรเจตน์ 

ในฐานะนักเรียนกฎหมายมีความหวังไหมกับระบบกฎหมาย การใช้กฎหมายของประเทศนี้? 
(นิ่งไปครู่หนึ่ง) มีความหวังนะ ผมคิดว่าสังคมกว่ามันจะมาถึงจุดที่พัฒนา มันต้องผ่านอะไรมาก่อน สังคมไทยก็เหมือนกัน คงต้องมีจุดเปลี่ยนผ่านและการเรียนรู้ ตอนนี้สังคมอาจจะยังไม่เข้าใจว่าการปกครองด้วยกฎหมายมันดียังไง แต่วันหนึ่งถ้าเราเห็นภัย เราตระหนักถึงภัยของการใช้อำนาจอยู่เหนือกฎหมาย ถ้าเราประสบภัยเมื่อไรเราก็จะเข้าใจเมื่อนั้น 
 
ตอนนี้เราประสบภัยรึยัง ?
จริงๆ เราก็ประสบแล้ว แต่บางคนเขาอาจกระทบน้อย ไม่ว่าสถานะทางการเงิน สถานะทางสังคมทำให้เขาไม่กระทบมาก แต่ประชาชนจำนวนหนึ่งที่มีผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจและการกินอยู่ ผมว่าเขารู้ดีว่ามันเป็นยังไง
 
คิดยังไงกับธรรมศาสตร์ ? 
คือต้องแยกตัวบุคคลกับสถาบันออกจากกัน ตอนที่ผมเข้ามาผมก็มีอุดมการณ์บางอย่าง ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ ผมไม่คิดว่าธรรมศาสตร์มันตายแล้วนะ มันยังมีอีกหลายคนที่เข้ามาแล้วอยากให้มันมีชีวิตชีวา ส่วนผู้บริหารหรือใครที่ทำอะไรผิดไปจากเดิม มันเป็นเรื่องตัวบุคคล 
 
สภาพตอนนี้มันผิดไปจากที่คาดหวังไหม? 
พูดตรงๆ ก็ผิดหวังเล็กน้อย เพราะคนที่ออกมาเคลื่อนไหว แสดงความคิดเห็นทางการเมืองก็เป็นส่วนน้อย ไม่ใช่คนส่วนใหญ่

สืบพยานคดี 'วรเจตน์' นัดแรก จำเลยค้านอัยการฟ้องฝ่าฝืน2 ข้อหา เหตุคสช. เรียก2ครั้ง


26 พ.ค.2558 ที่ศาลทหาร มีการสืบพยานนัดแรกในคดีที่วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ตกเป็นจำเลย ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ไม่มารายงานตัว โดยในวันนี้เป็นการสืบพยานโจทก์คือ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ซึ่งเป็นผู้นำตัววรเจตน์ไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน
ภายในห้องพิจารณาคดีมีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิ รวมถึงตัวแทนจากสถานทูตเยอรมนีและสหรัฐอเมริกาด้วย ส่วนบุคคลอื่น รวมทั้งนักศึกษานิติศาสตร์ มธ.ที่มาให้กำลังใจวรเจตน์ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในบริเวณศาล การสืบพยานใช้เวลา 1 ชม.เศษ โดยพ.อ.บุรินทร์ระบุว่า เขารับแจ้งจากผู้การร.11 ว่าวรเจตน์เดินทางไปรักษาตัวต่างประเทศและเดินทางกลับมาแล้ว อยู่ค่ายทหารแห่งหนึ่งมาแล้ว 2 วัน ทางคสช.จึงได้ให้เขาไปรับตัวมาดำเนินคดี ระหว่างร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนง.สส. เขาไม่ทราบว่าภรรยาและเพื่อนอาจารย์ของวรเจตน์ได้แจ้งแก่ คสช.แล้วถึงเหตุการไปรักษาตัวยังต่างประเทศนั้น
จากนั้นวรเจตน์ได้เดินออกมาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวด้านหน้าศาลทหาร โดยระบุว่า ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 2 ในวันที่ 21 ก.ค.นี้ โดยในวันนี้ศาลไม่ได้ชี้ชัดในประเด็นคำสั่ง คสช.ที่ 5/2557 ว่าอัยการฟ้องชอบหรือไม่ ตามที่จำเลยได้ร้องขอ แต่ให้ดูผลคำพิพากษารวมทีเดียว ทั้งนี้จำเลยถูกเรียกให้รายงานตัว 2 ครั้งในคำสั่ง คสช.ที่ 5/2557 ลงวันที่ 24 พ.ค.2557 และคำสั่งคสช.ที่  57/2257 ลงวันที่ 9 มิ.ย.2557 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาเดียวโดยอ้างถึงคำสั่งหลังคือ คำสั่ง  ที่ 57/2557  แต่อัยการได้ฟ้อง 2 ข้อหาคือ ขัดคำสั่งทั้งฉบับที่ 5 และ 57 ซึ่งฝ่ายจำเลยไม่เห็นด้วย และเห็นว่าเมื่อมีคำสั่งที่สองแล้วก็ควรมีผลยกเลิกคำสั่งแรก ไม่เช่นนั้นคดีนี้จะนับเป็นสองกรรม โทษจำคุกรวม 4 ปี แทนที่จะเป็น 2 ปี
ระหว่างเดินทางกลับ วรเจตน์ได้แวะที่ศาลหลักเมืองเพื่อรับพวงมาลัยและการให้กำลังใจจากนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มธ.ที่เดินทางมาจากศูนย์รังสิตตั้งแต่เช้าแต่เจ้าหน้าที่ทหารไม่อนุญาตให้เข้ามารอบริเวณศาลทหาร(อ่านรายละเอียด คุยกับนักศึกษานิติศาสตร์ ในวันสืบพยาน ‘วรเจตน์’ ในศาลทหาร)

เพิกถอนสิทธิการเมือง 'ลีน่า จัง' 5 ปี - เหตุสมัคร ส.ว. แล้วหาเสียงน้ำมันลิตรละ 20 บาท


ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 'ลีน่า จังจรรจา' 5 ปี - โดยผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.เลือกตั้ง ที่ห้ามไม่ให้ผู้สมัคร ส.ว. หาเสียงจูงใจให้มีการลงคะแนน จากกรณีเลือกตั้ง ส.ว. ปี 2557 ที่ 'ลีน่า จัง' ติดป้ายประกาศว่าจะลดกองทุนน้ำมันและน้ำมันเบนซินขายลิตรละ 20 บาท
วันนี้ (26 พ.ค.) ศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ นางลีน่า จังจรรจา 5 ปี ฐานกระทำผิดกระทำการหาเสียงเลือกตั้ง ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. โดยได้อ่านคำสั่งที่ กกต. ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของ ลีน่า จังจรรจา หรือ ลีน่าจัง อดีตผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ว. ในการเลือกตั้ง ส.ว. เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา เนื่องจากกระทำการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งฝ่าฝืน พ.ร.บ. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา111 และ122 จึงตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ทั้งนี้ตามรายงานของ วอยซ์ทีวี
ทั้งนี้ในการเลือกตั้ง ส.ว. เมื่อปี 2557 นางลีนา ผู้สมัคร ส.ว. กรุงเทพฯ หมายเลข 3 และติดป้ายประกาศหาเสียงว่าจะลดกองทุนน้ำมันลงและจะประกาศราคาน้ำมันเบนซินลิตรละ 20 บาท
โดยศาลฎีกาฯ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อความโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งนั้น ถือเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่เป็นการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของ ส.ว. จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. มาตรา 123 วรรคหนึ่ง เนื่องจากข้อความดังกล่าวเป็นการจูงใจให้มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส่วนที่นางลีนา ผู้คัดค้านอ้างว่าข้อความในป้ายโฆษณาไม่มีคำว่า "จะเสนอร่างกฎหมาย" ซึ่งเป็นข้อความที่ตรงกับความต้องการเพื่อหาเสียงนั้น ศาลเห็นว่าเป็นข้อต่อสู้ที่ผู้คัดค้านเพิ่งยกมาต่อสู้ในชั้นศาล ขณะที่ขัดกับคำให้การในชั้นกกต. ข้อต่อสู้ของผู้คัดค้านจึงฟังไม่ขึ้น

รับขวัญนักศึกษาที่ถูกจับหลังชุมนุมรำลึก 1 ปี รัฐประหาร - เกษียรแจกหนังสือปลอบขวัญ


คณาจารย์บายศรีสู่ขวัญศิษย์ 'กรุงเทพฯ-ขอนแก่น' หลังตำรวจจับกุมจากเหตุชุมนุมรำลึก 1 ปี รัฐประหาร - เกษียร เตชะพีระ ห่วงสังคมไทยในรอบ 10 ปีหลังกระหายเลือด และทนทานต่อความรุนแรงน้อยลง ชี้จำกัดสิทธิเสรีภาพด้วยอำนาจพิเศษ จะยิ่งก่อให้เกิดความขัดแย้ง พร้อมชื่นชม ‘ดาวดิน’ สัมผัสทุกข์ชาวบ้านคือทรัพย์สินทางปัญญาที่ใช้ได้ไม่มีวันหมด
26 พ.ค. 2558 - เวลา 16.50 น. ที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดงาน "บายศรีสู่ขวัญ เยาวชนประชาธิปไตย" ให้แก่นักศึกษาและนักกิจกรรม ที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 ทั้งที่บริเวณหน้าหอศิลปฯ กรุงเทพ และที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น โดยมีอาจารย์เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ อาทิ เกษียร เตชะพีระ อนุสรณ์ อุณโณ วรเจนต์ ภาคีรัตน์ ธีระ สุธีวรางกูร ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ ปองขวัญ สวัสดิภักด์ ฯลฯ ในงานได้มีการกล่าวรับขวัญนักศึกษา และนักกิจกรรม โดยเกษียร เตชะพีระ มีรายละเอียดดังนี้
000
ผมขอกล่าวต้อนรับนักศึกษา นักกิจกรรมทุกคนที่ไปประสบ ไปทำความรู้จักกับรัฐไทยมา ผมคงกล่าวอะไรเล็กๆ น้อยๆ และก็เตรียมคำแถลงมา คืออย่างนี้นะครับ วันนี้งานก็เป็นกันเองจัดแบบบ้านๆ ผมมาถึงแล้วก็เผอิญนึกขึ้นได้ ที่ห้องทำงานผมที่คณะรัฐศาสตร์มีหนังสือเยอะ เพราะมันขายไม่ออก (หัวเราะ) ผมเลยตัดสินใจขนเอามาแจกดีกว่า ถือว่าเป็นการปลอบขวัญนักศึกษาไปด้วย
เรื่องของเรื่องคืออย่างนี้นะครับ ข่าวเองก็ทำให้เกิดความสะเทือนใจ ที่พวกท่านประสบมา มันทำเลยทำให้พวกเราคิดว่าจะทำอะไรบางอย่างขึ้น คือคำพูดของอาจารย์อนุสรณ์ อุณโณ ซึ่งในคืนนั้นเขาก็ไปที่โรงพักปทุมวัน แล้วก็พูด ซึ่งมีรายงานข่าวออกมาว่า “ผมมาตามนักศึกษาของผม” ประโยคนี้กินใจผมมาก มันทำให้ผมนึกอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นมาประมาณ 20 ปี คือตอนนั้นพวกท่านก็คงรู้ดีว่า ผมกับอาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีระสกุล) มีความรักกันมาก (หัวเราะ) คือโดยปกติแล้วก็จะไม่ค่อยติดต่อสื่อสารกันเท่าไหร่ แต่วันมีอยู่คืนหนึ่งประมาณสัก 20 กว่าปีที่แล้ว อาจารย์โทรมาหาผมกลางดึก เพื่อมาถามว่า มีอะไรที่เราจะทำได้ไหม เพื่อจะช่วยนักศึกษาที่ชื่อว่า ประจักษ์ (ก้องกีรติ)
คือตอนนั้นประจักษ์จัดฉายหนังให้นักศึกษา เขาทำกิจกรรมเป็นนักศึกษาอยู่คณะรัฐศาสตร์ ในตอนนั้นมันมีฉากล่อแหลมบางอย่าง แล้วทางมหาวิทยาลัยก็จะเล่นงานประจักษ์ทางวินัย อาจารย์สมศักดิ์ โดยปกติเขาก็ไม่ค่อยติดต่อผมสักเท่าไหร่ แต่ก็โทรมาแล้วก็ถาม เราจะช่วยอาจารย์ประจักษ์ได้อย่างไรบ้าง
มันเป็นความสัมพันธ์บางอย่างที่ในความรู้สึกของผม มันเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างครู กับลูกศิษย์ทั้งหลาย ความสัมพันธ์ระหว่างครู กับลูกศิษย์ในความรู้สึกของผม มันเป็นการให้ที่ไม่มีเงื่อนไข เป็นการให้ที่ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ให้ความรู้แล้วความคิดอ่านอย่างบริสุทธิ์ใจ ผมมีความรู้สึกว่าหน้าที่ของครู คือการรับผิดชอบ ช่วยเหลืออนาคตของสังคม พ่อแม่เขาฝากฝังลูกหลานให้เราช่วย อบรม ดูแล ให้ข้อคิด ให้ความรู้ให้ความคิดอ่าน โดยความหวังว่าจะประคับประคองพวกเขาให้เป็นอนาคต ให้รับผิดชอบต่อสังคมต่อไปได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผมกังวลต่อภาระหน้าที่ของครู ที่มีต่อลูกศิษย์มาก
พูดตรงไปตรงมา ผมรู้สึกว่างหลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว มันมีบางอย่างในสังคมไทยที่น่ากลัวมาก ถ้าเราติดตามปฏิกิริยาสาธารณะทั่วไปที่เกิดขึ้น พูดสั้นๆ ความกระหายเลือดมีมากเกินไปในสังคมไทย ขณะเดียวกันความทนทานต่อความรุนแรงมีน้อยลง สองอย่างนี้มันเกิดขึ้นเพราะว่า สังคมไทยผ่านช่วงขัดแย้งทางการเมืองอย่างดุเดือดมาร่วม 10 ปีแล้ว ด้านหนึ่งก็กระหายเลือดมากขึ้น ด้านหนึ่งก็ทนทานต่อความรุนแรงน้อยลง
ข้อที่น่าเป็นห่วงก็คือ ความเป็นสังคม การที่เรามีความเป็นชุมชนเดียวกันมีความรักใคร่ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ให้อภัยกันและกัน และความเป็นรัฐ ที่เราปฏิบัติตามคำสั่งของอำนาจที่ได้มาโดยชอบ โดยไม่ต้องบังคับ ทั้งความเป็นสังคม และความเป็นรัฐ มันรักษาไว้ยาก มันสึกลงไปทุกที ภายใต้ความกระหายเลือดที่มากขึ้น และความทนทานต่อความรุนแรงที่มีน้อยลง เราทำอะไรได้ไม่มาก แต่ผมคิดว่าการยืนยันถึงพันธะหน้าที่ที่ครูต่อลูกศิษย์ อาจจะช่วยให้สังคมไทย ได้ย้ำคิดกับเรื่องนี้บ้าง
อีกอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญคือ เรื่องเสรีภาพ ในความเข้าใจของผมเท่าที่เรียนรัฐศาสตร์มา เสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยหมายถึงการทำตามกฎหมายที่เราออกเอง หรือออกโดยผู้แทนที่ผ่านการเลือกตั้งโดยชอบของเรา ผมคิดว่า มีวิกฤตจริงต่อเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย ก่อนที่จะมีการยึดอำนาจโดย คสช. มันมีวิกฤตของการสิทธิเสรีภาพ กล่าวคือมีการใช้เสรีภาพไปในลักษณะที่บ่อนทำลายกฎหมายโดยชอบที่ออกโดยสังคม ที่ออกโดยประชาชนทั้งหลาย ผมคิดว่าภาวะแบบนี้มันจะหายไปหลังจากที่ คสช. เข้ามายึดอำนาจ แต่ผมรู้สึกวิตกกังวลว่า สิ่งที่เราเจออยู่นี้มันกลับเป็นปัญหาอีกแบบ คือขณะที่ก่อนยึดอำนาจมีความล้มเหลวของการใช้สิทธิเสรีภาพ หลังยึดอำนาจมีความล้มเหลวของการจำกัดสิทธิเสรีภาพ เพราะจำกัดสิทธิเสรีภาพไม่ใช้ด้วยกฎหมายปกติที่ประชาชนออกเอง หรือตัวแทนโดยชอบของประชาชนออก แต่ใช้กฎหมายพิเศษ อำนาจพิเศษ มาจำกัดสิทธิเสรีภาพในชีวิตปกติของประชาชน นี่ไม่ใช่การจำกัดสิทธิเสรีภาพที่จะทำงานได้ นี่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่จะล้มเหลว ที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง การต่อต้านท้าทาย และอาจจะหลีกเลี่ยงความรุนแรงต่อไปไม่ได้ในอนาคต ผมคิดว่านี้เป็นเรื่องที่สังคมไทยควรจะคิดถึงให้มาก
ทั้งนี้ในงานมีการสนทนาระยะไกลผ่านระบบออนไลน์เพื่อพูดคุยกับตัวแทนกลุ่มดาวดิน ซึ่งเป็นนักศึกษา ม.ขอนแก่นที่เคลื่อนไหวอยู่ในภาคอีสาน นักศึกษากลุ่มดาวดินกล่าวว่า รู้สึกดีใจและชื่นชมเพื่อนๆ ที่ออกมาแสดงออกในสถานการณ์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย กล้าที่จะตามหาความฝันในการทวงคืนประชาธิปไตย สิ่งที่เราทำเป็นสิ่งเดียวกัน ดาวดินอาจเน้นเรื่องชาวบ้านมากกว่าการเมือง แต่ในสถานการณ์นี้เราต้องสู้ไปด้วยกัน ขอให้ทุกคนรักษาฝันนี้ไว้พร้อมทั้งหลักการประชาธิปไตย และขอขอบคุณอาจารย์ทุกท่าน แม้ไม่ได้เป็นศิษย์โดยตรงแต่ก็ตามอ่านงานวิชาการและบทความของหลายท่านโดยตลอด
"ผมอยากให้คนที่โดนกดขี่ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวเปิดใจรับฟังสิ่งเหล่านี้ ก้าวข้ามการเมืองเก่าๆ ภาพความคิดเก่าๆ แล้วฟังแต่ละกลุ่มที่ออกมาแสดงความเห็น ความจริงของแต่ละกลุ่ม จริงๆ เราก็มีข้อเท็จจริงอันเป็นผลกระทบจากการรัฐประหาร การรัฐประหารมันเป็นการแย่งชิงทรัพยากรจากประชาชน คุกคามและกดขี่เสียงประชาชน เราจึงต้องมาพูดถึงความจริงที่้เกิดขึ้น" นักศึกษากลุ่มดาวดินกล่าว
ด้านเกษียร กล่าวว่า โดยส่วนตัวชื่นชมกลุ่มดาวดินมาก พวกเขาต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และมันมีความหมายที่เขื่อมโยงกับชีวิตผู้คน
"ระบบการศึกษาแบบที่เรามีพยายามแยกเราออกจากโลกของชาวบ้าน ยิ่งเราออกห่างเท่าไรยิ่งมีโอกาสได้เอมากเท่านั้น(หัวเราะ)... สิ่งที่ดาวดินพยายามทำคือ พาตัวเองเข้าไปสัมผัสเรียนรู้กับชาวบ้าน เหมือนขบวนนักศึกษาช่วง 14 ตุลา มันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่มีทางได้โดยวิธีอื่น และคุณจะได้ใช้โดยไม่มีวันหมด" เกษียรกล่าว
000
แถลงการณ์บายศรีสู่ขวัญเยาวชนประชาธิปไตย
โดยคณาจารย์ผู้ห่วงใยในลูกศิษย์และสังคมไทย
สืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวและแสดงออกของนักศึกษา และประชาชนในโอกาสครบรอบปี การยึดและควบคุมอำนาจของ คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 นำไปสู่การที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังจับกุมคุมตัว ทำให้เกิดการปะทะ มีนักศึกษา และประชาชนถูกจับกุม ตั้งข้อหาด้านความมั่นคงและได้รับบาดเจ็บหลายราย ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดนั้น พวกเราที่เป็นครู อาจารย์ สอนหนังสือตามมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งขอแสดงความห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเสนอความคิดเห็นต่อสังคมไทยในกรณีนี้ว่า ในฐานะครู อาจารย์ ความสัมพันธ์ในอุดมคติของเรากับลูกศิษย์ในเรียนการสอนคือมุ่งที่จะให้ ความรู้ความคิดอ่านในแขนงวิชาต่างๆ โดยไม่หวังว่าจะได้อะไรตอบแทน ให้อย่างไม่มีเงื่อนไข โดยสำนึกรับผิดชอบในวิชาชีพ เพราะสังคม และพ่อแม่ ผู้ปกครอง ได้ฝากฝังลูกหลานมาให้เราอบรมดูแล เรามีหน้าที่ช่วยเหลือ เกื้อกูล ถ่ายทอดความรู้ความคิดอ่าน และประคับประคองให้พวกเขาได้เป็นผู้สืบทอด รับผิดชอบสังคมต่อไปในอนาคต
ข้อห่วงใยของเราต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือ การใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมรังแต่เพิ่มความเกลียดในสังคม ไม่แก้ปัญหา แต่ทำให้ปัญหารุนแรง ซับซ้อน ขยายกว้าง บาดลึกลงไป การจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยเฉพาะในสถานการณ์ไม่ปกติเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดได้ในทุกสังคม แต่จะราบลื่นเป็นที่ยอมรับ ต้องจำกัดด้วยกฎหมายที่ประชาชนหรือตัวแทนโดยชอบของประชาชนออกเอง เพราะประชาชนเป็นเจ้าของสิทธิเสรีภาพ หากจำกัดสิทธิเสรีภาพด้วยกฎหมายที่ไม่ได้ออกมาโดยชอบ ผลก็จะไม่เป็นที่ยอมรับ มีการดิ้นรนขัดขืนทำให้ต้องใช้กำลังบังคับ เพิ่มความรุนแรง ความขัดแย้ง เกลียดชังไม่รู้จบสิ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันการยึดและควบคุมอำนาจโดย คสช. ที่ประเด็นสิทธิเสรีภาพมาทับซ้อน กับความขัดแย้งแย่งชิงทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ที่ดิน น้ำ ทางเท้า สิ่งแวดล้อม ระหว่างชาวบ้านกับรัฐ ชาวบ้านกับทุน ยิ่งน่าวิตกว่าจะบานปลาย ข้อเสนอของเราต่อสังคมและรัฐบาลคือ โปรดระงับยับยั้งการใช้กำลังรุนแรง คืนชีวิตปกติให้นักศึกษาประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพในขอบเขตของกฎหมายปกติ ที่ออกโดยผู้แทนโดยชอบของสังคม แทนที่อำนาจพิเศษ และกฎหมายพิเศษทั้งหลาย