วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

จับ "ฟอร์ด เส้นทางสีแดง" พร้อมค้นบ้านยึดเสื้อยืดพิมพ์บทกวี "Invictus"


จับ "ฟอร์ด เส้นทางสีแดง" และชาวต่างชาติ หลังเลิกกิจกรรมวางดอกไม้รำลึก 19 พ.ค. และมีการตรวจค้นบ้านเพิ่มเติมเพื่อยึดเสื้อยืดระดมทุนช่วยนักโทษการเมืองจำนวน 200 ตัว โดยพิมพ์ข้อความจากบทกวี "Invictus" หรือ "ผู้ไม่ยอมแพ้" ของวิลเลียม เออร์เนส เฮนเล่ย์ กวีชาวอังกฤษ ขณะที่ต่อมาตำรวจให้ลงบันทึกประจำวันและปล่อยตัว
19 พ.ค. 2558 - หลังการวางดอกไม้รำลึกเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553 ในช่วงบ่ายวันนี้ (19 พ.ค.) ที่ร้านแม็คโดนัล แยกราชประสงค์ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุมนายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ "ฟอร์ด เส้นทางสีแดง" ซึ่งทำกิจกรรมช่วยเหลือนักโทษการเมืองด้วยการขายเสื้อรณรงค์ และชาวต่างชาติอีกราย ชื่อนายไมเคิล โบร์บัธ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ใน จ.มุกดาหาร โดยนำมาควบคุมตัวไว้ที่ สน.ลุมพินี.
เจ้าหน้าที่ได้แจ้งกับทนายความผู้ขอเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี แต่ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา จึงไม่อนุญาตให้ทนายเข้าพบ โดยเพื่อนของนายอนุรักษ์กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เบื้องต้นคาดว่า นายอนุรักษ์และเพื่อนถูกจับกุมจากสองกรณีคือ วางดอกไม้รำลึกเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553 แยกประสงค์ หรือ เป็นการมอบเสื้อยืด ระหว่างนายอนุรักษ์ กับไมเคิล
โดยเสื้อยืดดังกล่าว นายอนุรักษ์เตรียมนำมาจำหน่าย สำหรับช่วยเหลือค่าใช้จ่ายนักโทษการเมืองและนักโทษทางความคิดที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำ
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้ดำเนินการเข้าตรวจค้นบ้านของนายอนุรักษ์ ที่ย่านเทพารักษ์ คาดว่าเพื่อเข้าตรวจยึดเสื้อยืดดังกล่าว
ขณะที่ ในช่วงค่ำ มีการปล่อยตัวนายไมเคิล และในเวลา 22.30 น. หลังจากที่ได้ลงบันทึกประจำวัน นายอนุรักษ์ ก็ได้รับการปล่อยตัว โดยในบันทึกประจำวันได้มีเงื่อนไขว่าจะไม่กระทำการดังกล่าวอีก และเสื้อที่ถูกยึดไป 12 ตัวจะไม่ได้รับคืน
นายอนุรักษ์ กล่าวด้วยว่า ในช่วงบ่าย เจ้าหน้าที่บุกค้นที่พักของเขา และได้ยึดเสื้อยืดรณรงค์เพื่อการช่วยเหลือนักโทษการเมืองไป 200 ตัว โดยที่เสื้อดังกล่าวได้สกรีนข้อความในบทกวี Invictus (ผู้ไม่ยอมแพ้) ของวิลเลียม เออร์เนส เฮนเล่ย์ (William Earnest Hensley) กวีชาวอังกฤษ ที่เขียนเมื่อ ค.ศ. 1875 มีข้อความว่า I am the master of my fate: I am the captain of my soul." หรือ "ข้าคือนายแห่งโชคชะตา: ข้าคือกัปตันแห่งจิตวิญญาณของข้าเอง"

ตำรวจเฝ้าใกล้ชิด: รำลึก 5 ปีเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553



Wed, 2015-05-20 06:00


บรรยากาศรำลึก 5 ปี เหตุสลายการชุมนุมแยกราชประสงค์ แม่ของกมลเกดและกลุ่มญาติทำบุญที่วัดปทุมวนาราม "โคทม-เอนก" มาร่วมด้วย ขณะที่แยกราชประสงค์ มีผู้นำดอกไม้มาวางรำลึกทั้งช่วงกลางวันและช่วงค่ำ ขณะที่ตำรวจวางกำลังเข้ม




19 พ.ค. 2558 - บรรยากาศการทำกิจกรรมรำลึก 5 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมแยกราชประสงค์นั้น เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร กลุ่มญาติวีรชนเมษา-พฤษภาฯ 2553 นำโดยพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของกมลเกด อัคฮาด และกลุ่มญาติประมาณ 20 คน โดยกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปี 2553 ได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ 9 รูปทำการ สวดมนต์เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิต มีการถวายสังฆทานและภัตตาหารเพลพร้อมกับกรวดน้ำ โดยรอบๆ วัดมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารนอกเครื่องแบบคอยควบคุมสถานการณ์ และมีการห้ามผู้สื่อข่าวทำข่าว แต่หลังกลุ่มญาติได้ชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ว่าเป็นการมาทำบุญ จึงยอมให้ผู้สื่อข่าวเข้ามาในบริเวณศาลาวัดได้

พะเยาว์ กล่าวว่า จัดทำบุญมาตลอดทุกปีเนื่องจากยังคิดถึงลูก และต้องการบอกลูกให้รู้ว่าเขายังต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้กับลูกอยู่ และจะไปทวงถาม ปปช. ว่าความคืบหน้าทางคดีเป็นอย่างไร เพื่อไม่ให้เรื่องเงียบไป นอกจากนี้เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางเพื่อสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พร้อมคณะ 5 คน และนายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติวิธีและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เดินทางมาร่วมทำบุญรำลึกที่วัดปทุมวนารามด้วย



ขณะที่ตลอดทั้งวันที่แยกราชประสงค์ มีผู้นำดอกไม้และนกกระดาษสีแดงมาวางเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553

อย่างไรก็ตามในช่วงบ่าย ที่ร้านแม็คโดนัล แยกราชประสงค์ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุมนายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ "ฟอร์ด เส้นทางสีแดง" ซึ่งทำกิจกรรมช่วยเหลือนักโทษการเมืองด้วยการขายเสื้อรณรงค์ และชาวต่างชาติอีกราย ชื่อนายไมเคิล โบร์บัธ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ใน จ.มุกดาหาร ภายหลังการวางดอกไม้ที่แยกราชประสงค์ โดยนำมาควบคุมตัวไว้ที่ สน.ลุมพินี. มีการตรวจค้นบ้านเพื่อยึดเสื้อยืดรณรงค์ช่วยเหลือนักโทษการเมือง ที่ตีพิมพ์บทกวี "Invictus" และต่อมามีการปล่อยตัวในช่วงค่ำ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)



นอกจากนี้ในช่วงค่ำ ยังมีผู้นำดอกไม้และนกกระดาษสีแดงมาวาง และจุดเทียนเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตเช่นกัน ขณะที่กิจกรรมทั้งที่วัดปทุมวนาราม และแยกราชประสงค์ มีการจับตามองอย่างใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ทักษิณปาฐกถาที่โซล-เผย "แจ็ค หม่า" บอกมาเมืองจีนวันไหนจะชวนไปเที่ยวหังโจว


Wed, 2015-05-20 07:23

ทักษิณอภิปรายที่เกาหลีใต้ ชี้ว่าเอเชียมีสันติภาพตลอด 7 ทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะเห็นผลประโยชน์ทางการค้า-เศรษฐกิจ สำคัญเหนือความขัดแย้ง เอเชียต้องร่วมกันทุ่มเทนำเอานวัตกรรมลงสู่รากหญ้า ซึ่งจะสร้างงานและความสุขแก่ทุกคน ย้ำนิติรัฐนั้นเป็นสินทรัพย์อันจับต้องมิได้ทางเศรษฐกิจอันสำคัญที่สุด - เผย "แจ็ค หม่า" เข้ามาทัก บอกว่าหน้าเหมือน และชวนไปเที่ยวหังโจว




ทักษิณ ชินวัตร ในการประชุมผู้นำเอเชียประจำปี 2015 ที่โซล เกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2558 (ที่มา: ทวิตเตอร์ @oak_ptt)

20 พ.ค. 2558 - ตามที่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีกำหนดเป็นผู้อภิปรายในการประชุมผู้นำเอเชียประจำปี 2015 หรือ " The 6th Asian Leadership conference" ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 19-20 พ.ค. โดยเครือหนังสือพิมพ์โชซอนอิลโบ สื่อใหญ่ของเกาหลีใต้ ร่วมกับคณะกรรมการเตรียมการรวมชาติ (ภายใต้กำกับของประธานาธิบดี) นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

โดยเมื่อวานนี้ (19 พ.ค.) ในทวิตเตอร์ @oak_ptt ของพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ทวิตข้อความรายงานการปาฐกถาของทักษิณ ซึ่งมีกำหนดเสวนาหัวข้อ "70 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2: การรักษาสันติภาพและความสงบรุ่งเรืองของเอเชีย" โดยหัวข้อดังกล่าว มีผู้อภิปรายประกอบด้วย ฮอร์สต์ โคห์เลอร์ (Horst Köhler) อดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐเยอรมัน และอดีตผู้จัดการไอเอ็มเอฟ ชุค ฮาเกล (Chuck Hagel) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา ชุง จงวุค (Chung Chong Wook) รองประธานคณะกรรมการเตรียมการรวมชาติ (ภายใต้กำกับของประธานาธิบดี) นาโอโตะ คัง อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และถัง เจียสวน (Tang Jiaxuan) อดีตมุขมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน

โดยรายละเอียดการอภิปรายของทักษิณ ตามที่พานทองแท้ ทวิต มีดังนี้

[1] คุณพ่อบอกว่า เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ผมเดินทางไปจีนเพื่อหาความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งตลาดพันธบัตรของเอเชีย (1)

[2] ผมต้องแสดงความยินดีกับการก่อตั้งธนาคารการลงทุนสาธารณูปโภคแห่งเอเชีย (AIIB) ซึ่งควรมีมานานแล้ว เป็นสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จ" (2) #ALC2015

[3] "เอเชียมีเงินทุนสำรองมากกว่า 7 ล้านล้านเหรียญ กว่า 60% ของเงินทุนสำรองโลก" (3)"

[4] "ส่วนหนึ่งของกองทุนนี้จะสามารถนำไปใช้เพื่อเพิ่มผลทางเศรษฐกิจที่ทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้น" (4) #ALC2015

[5] "การเติบโตนั้นจะยั่งยืนและเชื่อถือได้ เฉพาะเมื่อใช้หลักนิติรัฐ และมีพื้นที่เปิดกว้างให้กับความสร้างสรรค์" (5) #ALC2015

[6] "ผมหมายถึงทั้งพื้นที่ทางกฎหมายและการเมืองที่ปล่อยให้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างสินทรัพย์และกระแสเงินแก่สังคมของเรา" (6)

[7] "นิติรัฐนั้นเป็นสินทรัพย์อันจับต้องมิได้ทางเศรษฐกิจอันสำคัญที่สุดโดยใช้เงินลงทุนน้อยที่สุด" (7)

[8] "ผลประโยชน์ทางการค้าและการพัฒนาเศรษฐกิจนั้นสำคัญกว่าความขัดแย้งระหว่างประเทศ นั่นทำให้เอเชียคงสันติภาพเอาไว้ได้ตลอด 7 ทศวรรษที่ผ่านมา" (8)

[9] "เราต้องคิดให้สร้างสรรค์มากขึ้นว่าเอเชีย จะใช้ทุนและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความสามารถของผู้คน" (9) #ALC2015

[10] "เพิ่มความหลากหลายของทักษะเพื่อสร้างมูลค่าความเป็นเลิศให้แก่ผลิตภัณฑ์และบริการได้อย่างไร" (10)

[11] ประชากรสูงวัยของเอเชียทำให้เรามีโอกาส “เพื่อสร้างและเพื่อดูแล” (11)

[12] "เป็นโอกาสของเราที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ของเอเชีย คือ อุตสาหกรรมดูแลชีวิต" (12)

[13] "เอเชียสามารถเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม การค้นคว้า การผลิต และบริการที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีการรักษาด้วยสมุนไพรสมัยใหม่"

[14] "เราไม่มีเวลามาหวนย้อนความหลังอีกต่อไป เพื่อระลึกถึงอดีต เราควรหาทางนำความมั่งคั่งทางวัฒนธรรม" (14)

[15] "และความรู้เข้าสู่ศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด เพื่อทำให้อนาคตมีสันติภาพและความมั่งคั่งอย่างมั่นคง" (15)

[16] "Asia ต้องร่วมกันทุ่มเทนำเอานวัตกรรมลงสู่รากหญ้า เป็นนวัตกรรมอันจะสร้างงาน และความสุขในชีวิตให้แก่กันทั่วทุกคน (16)

‘วิษณุ’ เผย หากประชามติ รธน. ไม่ผ่านมีทางเลือก 3-4 แนว แต่ยังตอบไม่ได้ตอนนี้



Wed, 2015-05-20 16:13


หลังจากวานนี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย กล่าวภายหลังการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.)และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าที่ประชุมมีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 เพื่อเปิดทางให้มีการทำประชามติในอนาคตโดยเร็วซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่ง ครม.และคสช.จะเป็นผู้เสนอแก้ไขโดยให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)แก้ไขเพิ่มเติมภายใน15 วัน ทั้งนี้การทำประชามติขึ้นอยู่กับการพิจารณารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ในวันที่ 6 ส.ค. ด้วย (อ่านรายละเอียด)

วันนี้(20 พ.ค.58) มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า หากการทำประชามติไม่ผ่านนั้น วิษณุ กล่าวว่า มีคำตอบในเรื่องนี้แต่ยังไม่ตอบในขณะนี้ได้ ซึ่งพอมีแนวทาง 3-4 แนวทาง คือ ใช้กระบวนการเดิมคือตั้ง สปช.และกรรมาธิการฯใหม่ ตั้งกรรมาธิการฯ มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยไม่ต้องมี สปช. มอบให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ หรือให้องค์กรใดองค์หนึ่งทำงานร่วมกับคณะรัฐมนตรี ยกรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งพิจารณาปรับปรุง

ทั้งนี้ ยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะใช้แนวทางใดแนวทางหนึ่งเนื่องจากทุกข้อมีข้อดี ข้อเสียต่างกัน ซึ่งคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.จะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกแนวทางในแนวทางหนึ่ง

‘บวรศักดิ์’ เผยยังไม่เตรียมการประชามติ รอสปช.เห็นชอบร่าง รธน.ก่อน

วันเดียวกัน สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ประชุม ครม.และ คสช. มีมติจะขยายกรอบเวลาการทำงานของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญจาก 60 วันเป็น 90 วัน ว่า เป็นเพียงข้อเสนอที่ไม่ใช่คำขอของกรรมาธิการยกร่างฯ ซึ่งครม. และคสช.อาจเห็นว่ากรอบเวลาเดิม 60 วันจะฉุกละหุก แต่กรรมาธิการยกร่างฯเห็นว่าเพียงพอสำหรับการทำงาน ทั้งนี้ หากขยายเวลาจริงอาจกระทบต่อโรดแมปที่วางไว้ โดยเฉพาะวันลงมติว่าจะรับหรือไม่รับร่างของ สปช.

“ต้องรอดูร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวอีกครั้ง ส่วนกระแสข่าวที่กรรมาธิการยกร่างฯ จะตัดบางมาตราในร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นไม่เป็นความจริง เป็นเพียงความเห็นของกรรมาธิการบางส่วน ไม่ใช่มติของที่ประชุม เพราะต้องรอดูคำเสนอแก้ไขที่จะส่งมาวันที่ 25 พฤษภาคมนี้และเชิญผู้เสนอแก้ไขมาชี้แจงต่อกรรมาธิการยกร่างฯ ก่อนจึงจะทราบว่าจะปรับแก้อย่างไร” ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าว

ส่วนการทำประชามติ นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารเตรียมการใด ๆ ไว้ได้ จนกว่ารัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายจะผ่านความเห็นชอบจากสปช. อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่รัฐบาลจะเสนอมายัง สนช. จะต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะต้องทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวถึงกรณีสมาชิกสปช. บางคนแสดงความคิดเห็นจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นเอกสิทธิ์ที่จะแสดงความเห็นได้ แต่หากคว่ำร่างจะต้องเริ่มกระบวนการใหม่ทั้งหมด ทั้งการแต่งตั้งสปช. และกรรมาธิการยกร่างฯ โดยบุคคลเดิมจะไม่สามารถกลับมาทำหน้าที่ได้อีก และต้องเสียเวลายกร่างอีกเกือบ 1 ปี

กกต.สมชัย คาดทำประชามติร่างรธน. ม.ค.59

สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า ที่ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เป็นประธานมอบนโยบายให้กับผู้อำนวยการ กกต.จังหวัดทั่วประเทศ เจ้าหน้าที่ กกต.ในการสัมมนาโครงการพัฒนาฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศสนับสนุนการดำเนินงานจัดการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการระดมความเห็นเพื่อพัฒนาเครื่องมือจัดการความเสี่ยงในการเลือกตั้ง รองรับการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ขอให้ทุกด้านเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป ทั้งนี้มีความชัดเจนแล้วว่าต้องมีการทำประชามติ โดยคาดว่าน่าจะเป็นเดือนมกราคม 2559 และการเลือกตั้ง ส.ส. น่าจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม และในเดือนตุลาคมเป็นการเลือกตั้ง สว.

“ต้องทำให้สังคมเห็นว่า กกต.มีความพยายามทุ่มเทอย่างเต็มที่ให้เกิดการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ และจัดการเลือกตั้งให้เกิดความน่าเชื่อถือ มีคุณภาพ เป็นมืออาชีพ เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย สุดท้ายพัฒนาเทคโนโลยีรองรับการเลือกตั้งรูปแบบใหม่ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ คือการลงคะแนนด้วยระบบอิเลคทรอนิกศ์หรือระบบอื่น ซึ่งขณะนี้ กกต.ได้พัฒนาเทคโนโลยีรองรับการเลือกตั้งและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เช่น เวบไซต์ลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในต่างประเทศ แอพพลิเคชั่นดาวเหนือบอกหน่วยเลือกตั้ง และแอพพลิเคชั่นตาสัปปะรด แจ้งเหตุทุจริตเลือกตั้ง ดังนั้นการเปลี่ยนต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม” สมชัย กล่าว

มาเลเซีย-อินโดนีเซียจะให้ผู้อยพทางเรือพักพิง - รมว.ต่างประเทศไทยไม่ร่วมแถลงข่าว




Wed, 2015-05-20 18:40


มาเลเซียเชิญอินโดนีเซีย ไทย ถกเรื่องผู้อพยพทางเรือ - ทั้ง 3 ชาติจะปฏิบัติตาม กม.ระหว่างประเทศ-หลักมนุษยธรรม อินโดนีเซีย-มาเลเซียสนับสนุนที่พักพิงชั่วคราวให้ผู้อพยพทางเรือ 7,000 คน ขอนานาชาติร่วมช่วยเหลือ จะจัดโยกย้ายไปประเทศที่ 3 หรือส่งกลับภูมิลำเนาภายใน 1 ปี ส่วน พล.อ.ธนะศักดิ์ ไม่อยู่แถลงตอนจบ โดย รมว.ต่างประเทศมาเลเซียตอบแทนว่าฝ่ายไทยขอไปดูกฎหมายก่อน


การแถลงข่าวที่กระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย หลังการหารือ 3 ฝ่าย ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ทั้งนี้ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ไม่ได้ร่วมแถลงหลังการหารือ (ที่มา: Twitter/@NotThatBobJames)

20 พ.ค. 2558 - รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย จัดหารือกันวันนี้ที่ "วิสมา ปุตรา" หรือที่ทำการกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย ที่ปุตรา จายา ในประเด็นเรื่องการเคลื่อนย้ายประชากรอย่างไม่เป็นปกติ และเรื่องการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวเบอนามาของทางการมาเลเซียรายงานว่า

โดยผู้เข้าร่วมการหารือประกอบด้วย อะนิฟาห์ อามาน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ซึ่งเชิญ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จากไทย และเร็ตโน เลสตารี เปรียนซารี มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย

ตามแถลงการณ์ ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย ที่เผยแพร่หลังการหารือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย "จะดำเนินการที่จะคงไว้ซึ่งความรับผิดชอบและปฏิบัติตามพันธะกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างเทศ และกฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งข้อกำหนดในเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อผู้ย้ายถิ่นที่เข้ามาอย่างไม่ปกติ"

"อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เห็นชอบที่จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อผู้ย้ายถิ่นที่เข้ามาอย่างไม่ปกติ ที่ยังคงอยู่ในทะเลทั้ง 7,000 คน และเห็นชอบที่จะให้ที่พักพิงชั่วคราว และให้มีกระบวนการโยกย้ายถิ่นฐานและส่งกลับประเทศต้นทาง โดยจะดำเนินการโดยประชาคมนานาชาติภายใน 1 ปี ในขณะเดียวกัน มาเลเซีย และอินโดนีเซียเชิญชวนชาติอื่นๆ ในภูมิภาคให้เข้าร่วมในความพยายามนี้"

"ส่วนหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายของทั้งสามประเทศ จะร่วมมือในการแบ่งปันข้อมูลด้านข่าวกรองเพื่อที่จะต่อต้านลักลอบขนคนและการค้ามนุษย์"

ในแถลงการณ์ยังเรียกร้องต่อประชาคมนานาชาติ ให้ช่วยเหลือมาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศไทย ในสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะการช่วยเหลือด้านงบประมาณเพื่อช่วยให้สามารถจัดหาที่พักพิงชั่วคราวและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับผู้ย้ายถิ่นที่เข้ามาอย่างไม่เป็นปกติซึ่งอยู่ในภาวะเสี่ยง โดยผู้ย้ายถิ่นเหล่านี้จะได้อยู่ในที่พักพิงในพื้นที่ซึ่งถูกกำหนด และได้รับความเห็นชอบจากประเทศที่เกี่ยวข้อง

ขณะเดียวกันยังเรียกร้องต่อประชาคมนานาชาติให้มีบทบาทในการส่งกลับผู้ย้ายถิ่นที่เข้ามาอย่างไม่เป็นปกติ ให้กลับไปยังประเทศต้นทาง หรือ ให้โยกย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศที่สาม ภายในกำหนด 1 ปีนี้

ทั้งนี้หลังการประชุม พล.อ.ธนะศักดิ์ไม่ได้ร่วมในการแถลงข่าวดังกล่าว โดยในรายงานของบางกอกโพสต์ อานิฟาห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวแทนว่า เขาจำเป็นต้องนำไปพิจารณาเสียก่อนว่ามาตรการนี้เป็นไปตามกฎหมายของไทยหรือไม่

รายงานของสำนักข่าวเบอนามา ระบุด้วยว่า มีชาวบังกลาเทศและโรฮิงญา 1,158 คน ซึ่งมีทั้งเด็กและผู้หญิงด้วย ขึ้นฝั่งที่เกาะลังกาวี รัฐเคดาห์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม โดยเป็นการขึ้นฝั่งที่มาเลเซียเป็นจำนวนมากเท่าที่เคยบันทึกมา

ด้านข่าวสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ของไทย ระบุถึงการหารือนี้ด้วยว่า "ไทยเห็นว่าจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระดับภูมิภาค โดยเน้นหลักมนุษยธรรมและความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างประเทศ ไทยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง จริงใจ และคำนึงถึงมิตรภาพและความสัมพันธ์กับทุกฝ่าย โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียในวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 ที่กรุงเทพฯ"

สปช. บุญเลิศ ห่วงงบประมาณ 3 พันล้าน ประชามติต้องทำให้คุ้มค่า อย่าสูญเปล่า


Wed, 2015-05-20 19:08


สปช.บุญเลิศ แนะ งบ 3,000 ล้านบาทที่ต้องใช้ออกเสียงประชามติครั้งใหม่ต้องทำให้คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป ส่วนตัวเห็นด้วย การทำประชามติ แต่ไม่อยากให้เงินสูญเปล่า

20 พ.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า บุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงข่าวถึงการใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาทในการทำประชามติว่า เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าจะมีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ภายหลังสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญและแม้ว่าการออกเสียงประชามติจะเป็นไปตามเสียงเรียกร้องของหลายๆ ฝ่ายซึ่งตรงกับความประสงค์ของ กมธ.ยกร่างฯและสปช. ที่มุ่งทำเพื่อความพอใจและยอมรับได้ของประชาชน แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่า หากการใช้สิทธิลงคะแนนเสียงของประชาชนประสบผลในทางที่ดี สมาชิกที่ได้รับเลือกเข้ามาทำหน้าที่ แล้วเกิดประโยชน์ต่อบ้านเมือง แก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างแท้จริงงบที่เสียไปก็จะคุ้มค่า หากมองกลับกันเมื่อใช้งบ 3,000 ล้านบาทแล้วไม่เกิดประโยชน์ก็จะเป็นการสูญเสียเงินไปอย่างน่าเสียดายจึงมองว่า การใช้เงิน 3,000 ล้านบาทไปกับการออกเสียงประชามติครั้งใหม่ในช่วงต้นปี 2559 นั้น ทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องทำให้เกิดความคุ้มค่ากับเงินที่ต้องเสียไป

ด้าน ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า บุญเลิศ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า การใช้งบฯ รอบ 9 ปี ตั้งแต่ 2548-2557 มีการจัดให้ประชาชนออกเสียงลงคะแนน 9 ครั้ง ทั้งเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. และออกเสียงประชามติ โดยมีการเลือกตั้ง ส.ส. 5 ครั้ง เลือกตั้ง ส.ว.3 ครั้ง จัดประชามติ 1 ครั้ง ได้ใช้งบประมาณไปแล้ว 27,000 ล้านบาท หากออกเสียงประชามติในปี 2558-2559 จะเสียงบประมาณอีก 3,000 ล้านบาท และจัดการเลือกตั้ง ส.ส. เลือกตั้ง ส.ว.อีกครั้งละ 3,000 ล้านบาท ดังนั้นช่วง 2 ปี จะใช้งบประมาณ 9,000 ล้านบาท รวมทั้งหมด 11 ปี จะใช้งบ 36,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเงินมหาศาล ถ้าใช้เงินคุ้มค่า ก็ทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย โดยส่วนตัวเห็นด้วยการทำประชามติ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงิน แต่ไม่ควรใช้อย่างสูญเปล่า