วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ยันจัดต่อ หลังทหารบุกสนง.มูลนิธิวีรชนปชต. ขอตัด ‘ฉลาด’ ปาฐกถารำลึกพฤษภา35


16 พ.ค.2558 เมื่อเวลา 17.25 น. ผู้ใช่เฟซบุ๊กชื่อ ‘Wattana Van’ โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า เจ้าหน้าที่ทหารบุกสำนักงาน มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย เหตุไม่ต้องให้มีการปาฐกถา โดย เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร ในงานรำลึก เหตุการณ์พฤษภา 35 ในวันอาทิตย์ที่ 17 พ.ค. นี้
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง ศรีไพร นนทรีย์ ผู้ช่วยผู้จัดการมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย เปิดเผยว่า เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ทหารกลุ่มหนึ่งเดินทางมายังมูลนิธิวีรชนฯ ซึ่งตั้งอยู่ ซ.แจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 26 จ.นนทบุรี โดยอ้างว่าเป็นทหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เพื่อมาแจ้งกับทางมูลนิธิวีรชนฯ ว่าผู้บังคับบัญชาขอให้ตัดกิจกรรมงานรำลึกวีรชนพฤษภาประชาธิปไตย ช่วงสหปาฐกถาออก ซึ่งตามกำหนดการมี เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร, นพ.เหวง โตจิราการ, นพ.สันต์ หัตถีรัตน์, ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ เป็นองค์ปาฐก
ศรีไพร ระบุว่าหากตัดช่วงดังกล่าวออก จะเหลือเพียงการวางดอกไม้ กับวางหรีด ดนตรี และบทกวี ในช่วง 16.00 น. ที่หน้าหอประชุมใหญ่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
อย่างไรก็ตาม ศรีไพร แจ้งด้วยว่า ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ในฐานะเหรัญญิกของมูลนิธิวีรชนฯ ยืนยันว่าให้เดินหน้าจัดงานต่อ ถ้าเป็นปาฐกถาไม่ได้ ก็จะเปลี่ยนเป็นการเสวนาแทน แต่ยังยืนยันการจัดงานให้เป็นไปตามกำหนดการเดิม
กิจกรรมสหปาฐกถาดังกล่าวจะจัดขึ้นที่ ณ หอประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา (ตึกหลัง) สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กทม. ในวันพรุ่งนี้(17 พ.ค.58) เวลา 12.30 -15.00 น ซึ่งนอกจากองค์กรจัดงานจะมีมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย แล้วยังมี มูลนิธินิคม จันทรวิทุร และสมาคมญาติและวีรชน 14 ตุลา 16 ร่วมจัดด้วย (อ่านรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติม)
ทั้งนี้มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา เคยถูกเจ้าหน้าที่ทหาร พร้อมด้วยฝ่ายความมั่นคง เข้ามาที่สำนักงานมูลนิธิฯ เพื่อขอให้เลื่อนการจัดงานเปิดห้องประชุม ‘ลุงนวมทอง ไพรวัลย์’ ไปแล้วครั้งหนึ่ง (อ่านรายละเอียด)
สำหรับกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ พ.ค.35 ที่จะจัดขึ้นในวันพรุ่งนี้(17 พ.ค.) นั้น นอกจากงานนี้แล้ว ยังมีกิจกรรมที่จะจัดโดย คณะกรรมการจัดงาน 23 ปีพฤษภาประชาธรรม, มูลนิธิพฤษภาประชาธรรม คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 เป็นต้น โดยจะมีกิจกรรมช่วงเช้า ที่บริเวณ สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ โดยก่อนหน้านี้  อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา35 ได้เข้าเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เข้าร่วมงานดังกล่าวด้วย และในงานดังกล่าวยังมีการปาฐกถา โดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อีกด้วย และมี รสนา โตสิตระกูล เป็นประธานคณะกรรมการจัดงาน 23 ปีพฤษภาประชาธรรม

จับตาวาระ กสท. เริ่มโรดแมปจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุ เอฟ.เอ็ม เอ.เอ็ม และดิจิตอล




Sun, 2015-05-17 21:36


         นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 18 พ.ค. นี้ ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 16/2558 มีวาระการประชุมสำคัญน่าจับตา ได้แก่ การพิจารณาแผนความถี่วิทยุและมาตรฐานทางเทคนิคสำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม. ระบบ เอ.เอ็ม. และระบบดิจิตอล ทั้ง 4 ฉบับได้แก่ แผนความถี่วิทยุและมาตรฐานทางเทคนิคสำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียงสำหรับระบบ เอฟ.เอ็ม แผนความถี่สำหรับระบบ เอ.เอ็ม. แผนความถี่สำหรับระบบดิจิตอลเพื่อการทดลอง และแผนความถี่สำหรับระบบดิจิตอลระดับชาติและระดับท้องถิ่น ก่อนเห็นชอบและเสนอต่อ กสทช. เพื่อนำแผนความถี่ทั้งหมดไปสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป

         ซึ่่่งนางสาวสุภิญญากล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี ได้ดำเนินการจ้าง บ.แอลเอส เทลคอม จำกัด เพื่อจัดทำแผนความถี่วิทยุและมาตรฐานทางเทคนิคสำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียงในระบบ เอฟ.เอ็ม ระบบเอ.เอ็ม. และระบบดิจิตอล ซึ่งแผนที่จัดทำขึ้นนี้สามารถนำมาประกอบการปรับปรุงแผนความถี่วิทยุกระจายเสียง เอฟ. เอ็ม. และ เอ.เอ็ม. ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และสามารถนำไปใช้ประกอบการจัดทำแผนความถี่วิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอล รวมทั้งแผนนี้จะสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ฯตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1(พ.ศ. 2555 – 2559) ที่กำหนดให้มีหลักเกณฑ์การใช้คลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะ และไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจในการประกอบกิจการชุมชนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของคลื่นความถี่ในแต่ละพื้นที่ของการอนุญาตประกอบกิจการ

       “วาระนี้ถือได้ว่าเป็นการนับหนึ่งโรดแมปใบอนุญาตวิทยุทั้งระบบ มันไม่ใช่เพียงการเริ่มต้นดิจิตอลเรดิโอ แต่เป็นการสร้างความชัดเจนให้แก่ผู้ที่ได้รับสิทธิทดลองออกอากาศอยู่ในปัจจุบันที่รอใบอนุญาตตัวจริงอยู่ด้วย รวมถึงการเรียกคลื่นคืน เพราะจะมีการแบ่งช่วงคลื่นความถี่ในการจัดสรร ถือเป็นจุดเริ่มต้นการจัดสรรคลื่นความถี่ การออกใบอนุญาตวิทยุ ซึ่งยังคงมีอีกหลายประเด็นที่ต้องถกเถียงในรายละเอียดต่อไป อย่างเช่นการวางเสาสัญญาณ ซึ่งการพิจารณาในครั้งนี้เป็นการกำหนดแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งระบบ โดยแตกต่างจากทีวีที่ดิจิตอลที่ไล่แอนาล็อก แต่วิทยุจะยังรวมอยู่ด้วยกันทั้งหมด ทั้งระบบ เอฟ.เอ็ม. เอ.เอ็ม. และระบบดิจิตอล จึงขอให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ธุรกิจเอกชน สาธารณะ และชุมชน ที่เป็นผู้ได้รับสิทธิทดลองและผู้ที่สนใจเตรียมตัวในเรื่องนี้ ซึ่งจะมีการเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะต่อไป” สุภิญญา กล่าว

         วาระอื่นๆ น่าสนใจ ได้แก่ การอนุมัติผังรายการของช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว ทั้ง 3 ช่อง ช่อง 3 Family ช่อง MCOT Kids & Family และช่อง LOCA ภายหลังจาก กสท. ได้มีมติให้ทั้ง 3 ช่อง ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการณ์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหารายการในหมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว พร้อมทั้งปรับปรุงผังรายการเข้ามาอีกครั้ง วาระแผนปฏิบัติการสายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ประจำปี 2558 วาระเพื่อทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ประจำเดือน เม.ย. 58

เกษียร: เปิดตัวหนังสือ "มาร์กซ: ความรู้ฉบับพกพา"



เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ซึ่ง คณะรัฐศาสตร์ มธ. และสำนักพิมพ์ openworlds ได้จัดกิจกรรม เสวนา "อ่านมาร์กซ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย" ซึ่งเป็นการเปิดตัวหนังสือ "มาร์กซ: ความรู้ฉบับพกพา" (Marx: A very short introduction) ของ ปีเตอร์ ซิงเกอร์ แปลโดย เกษียร เตชะพีระ (ดูรายละเอียดหนังสือได้ที่เว็บไซต์ http://openworlds.in.th/books/marx-vsi/ ) โดยมี เกษียร เป็นหนึ่งในวิทยากรร่วมเสวนา ซึ่งประชาไทได้ถอดคำอภิปรายมานำเสนอดังนี้



          เกษียร : มี 4 เรื่องที่ผมอยากคุยโดยอิงที่ตัวหนังสือเป็นหลัก หนึ่ง ทำไมถึงแปลหนังสือเล่มนี้ สอง อยากจะให้ภาพกว้างๆ ว่าในสังคมไทยที่ผ่านมามีคู่มือลัทธิมาร์กมาอย่างไรบ้าง ถ้าเราคิดถึงหนังสือเล่มนี้ในฐานะคู่มือเบื้องต้นในการศึกษาทำความเข้าใจลัทธิมาร์กซ ก่อนจะมาถึงเล่มนี้มันมีมาอย่างไรบ้าง เล่มที่สำคัญๆ เป็นอย่างไร สาม คือใครคือปีเตอร์ ซิงเกอร์ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ และอันที่สี่ ที่คิดว่าเป็นแก่สารใจกลางที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้ก็คือวิสัยทัศน์ใจกลางของลัทธิมาร์กซแบบเฮเกลเลียน อะไรเป็น central vision ในการมองลัทธิมาร์กซแบบเฮเกลเลี่ยนที่ปีเตอร์ ซิงเกอร์ นำเสนอ

ทำไมถึงแปลหนังสือเล่มนี้

        ทำไมถึงแปล ผมสอนปรัชญาการเมืองเบื้องต้นมานาน 10 กว่าปี คนที่เคยเรียนกับผคงรู้ว่าผมใช้ตำราหลักก็คือ “การิทัตผจญภัย นิยายปรัชญาการเมือง” ซึ่งแปลมาจากนิยามที่จะสอนปรัชญาการเมืองเบื้องต้นของ สตีเว่น ลุคส์ ผมก็สังเกตเห็นปัญหาบางออย่าง คือวิธีเล่าเรื่องปรัชญาการเมืองของสตีเว่น ลุคส์ ก็คือว่า เขาเล่าเรื่องการผจญภัยของตัวเอกชื่อการิทัต เข้าไปในเมือง 5 เมือง โดยที่เมืองแต่ละเมืองเป็ฯตัวแทนแนวคิดหลักทางปรัชญาการเมืองที่สำคัญในโลกปัจจุบันนี้ คือ เสนานคร ก็เป็นตัวแทน authoritarianism อำนาจนิยม ประโยชน์นคร เป็นตัวแทน Utilitarianism ประโยชน์นิยม ชุมชนนคร เป็นตัวแทน communitarianism ชุมชนนิยม กรรมาชีพนคร เป็นตัวแทน Communism และอิสรเสรีนคร เป็นตัวแทน Liberalism หรือว่า New Liberalism ก็ได้

        ระหว่างที่สอน 5 เมืองนี้มันจะเป็นปัญหาประจำของทุกปีทุกเทอมที่สอน เพราะว่าพอมาถึงบทกรรมาชีพนครมันยุ่ง มันเป็นเมืองเดียวในหนังสือนิยายทั้งเล่มสั้นเกินไป คือบทเดียวจบ ขณะที่เมืองอื่นประมาณ 7-8 บท แต่เนื้อหามันยาวพอที่ทำให้ผู้อ่านสงสัยใคร่รู้ว่าลัทธิมาร์กซเป็นอย่างไรกันแน่ มีคำถามจำนวนหน่างเข้ามาเวลาเขาเล่าเรื่องการเดินทางในเมืองนี้ แต่มันสั้นมันเกินกว่าจะตอบอย่างชัดเจนเป็นระบบเมื่อเทียบกับนครอื่นหรือลัทธิอื่น จึงรู้สึกจริงๆ ว่าจะหาคู่มืออธิบานแนวคิดมาร์กซเบื้องต้นที่ดีและพอเหมาะจากไหนอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังไม่มีที่ถูกใจเท่าไหร่ ก็พอดีเมื่อเกิดรัฐประหาร 22 พ.ค.57 จึงว่าง สำนักพิมพ์ openworlds อยากชวนให้ผมแปลหนังสือนี้มาตั้งนานแล้ว จึงรับปากไป จึงแปลได้เสร็จ

ภาพกว้างๆ เกี่ยวกับคู่มือลัทธิมาร์กซในเมืองไทย
        ภาพกว้างๆ เกี่ยวกับคู่มือลัทธิมาร์กซในเมืองไทย ข้อมูลมาจากข้อมูลที่เก็บเกี่ยวตนที่ผมทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง Commodifying Marxism การทำลัทธิมาร์กซให้เป็นสินค้า พูดถึงลัทธิมาร์กซในเมืองไทยหลังสงครามโลก

        ผมใช้คำว่าลัทธิมาร์กซในความหมาย Marxism Communism หรือ Orthodox Marxism ลัทธิมาร์กซในความหมายนี้มีลักษณะพิเศษที่เป็น totalizing discourse คือเป็นวาทกรรมที่มีลักษณะครอบคลุมเบ็ดเสร็จ คือเป็นทั้งอุดมการณ์ปฏิวัติและชุดคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์สังคม เป็นทั้งทฤษฏีและการปฏิบัติ เป็นทั้งโลกทัศน์และชีวะทัศน์ พยายามเสนอมุมมองที่กว้างขวางครอบจักรวาล เป็นชุดความเชื่อเกี่ยวกับโลก สังคมและประวัติศาสตร์ที่เมื่อเข้าไปสมาทานรับแล้ว มันก็จะเรียกร้องให้ผู้ที่รับปรับวิถีการดำเนินชีวิตใหม่ให้สอดคล้องต้องกันกับลัทธินั้นเหมือเข้าบวช

        ความเข้าใจของผมอันนี้มาจากการทำกิจกรรมนักศึกษาและก็อยู่กับแนวความคิดนี้เป็นเวลาหลายสิบปี ผมจำได้แม่นว่าก่อน 6 ตุลา 2519 มีหนังสือเล่นหนึ่งที่แปลมาขายในเมืองไทย แปลจากจีน ชื่อหนังสือ ปลูกผักแบบวิพากษ์วิธี คือวิพากษ์วิธีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิมาร์กซอธิบายได้ทุกอย่างแม้กระทั่งวิธีปลูกผัก คือถ้าคุณรู้ลัทธิมาร์กซแล้วปัญหาอะไรแก้ได้หมด

         เวลาเราเข้าสู่ชุดความคิดที่มันใหญ่ขนาดนี้ เหมือนกับเราเข้าบวช จะให้อ่านพระไตรปิฏกตั้งแต่ต้นก็ลำบากก็จะต้องมีคู่มือมนุษย์หรือคู่มือพุทธศาสนาเบื้องต้นที่ทำให้เราเข้าใจความคิดทางพุทธกว้างๆ ก่อน ดังนั้นในทำนองเดียวกันลัทธิมาร์กซแบบนี้ก็ต้องการเอกสารที่อธิบายแนวคิดพื้นฐาน แนะนำศัพท์แสงวาทกรรม เพราะว่าคุณจะเจอชุดศัพท์ใหม่ซึ่งคุณไม่เคยเจอ ไม่เคยพูดไม่เคยใช่มาก่อนในชีวิตประจำวันของคุณ จะใช้คำเหล่านี้ พลังการผลิต ความสัมพันธ์การผลิต ชนชั้น อุมการณ์ อะไรต่างๆ เหล่านี้มันแปลว่าอะไร จึงต้องมีคู่มือที่อธิบายสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นระบบ เรียบง่าย ชัดเจน แม่นยำ เพื่อให้ผู้บวชใหม่ทั้งหลายอย่างคนไทยซึ่งต่างชาติต่างภาษาจากต้นทางลัทธิมาร์กซดังเดิมได้อ่านทำความเข้าใจ

         ผมเข้าใจเรื่องนี้ไม่ใช่แต่ต้น ผมอยู่กับแนวคิดนี้ตั้งแต่เป็นนักกิจกรรมนักศึกษาตั้งแต่ปี 18 แล้วก็ไปเข้าป่าออกมาแล้วไปเรียนต่อ แต่กว่าผมจะเข้าใจเนเจอร์ของมัน มันมี moment of epiphany คือแบบความจริงเป็นอย่างนี้นี่เอง ผมไปถึง moment of epiphany คือตอนนั้นผมไปเยี่ยมเพื่อนนักศึกษาไทยที่อยู่ที่อเมริกาด้วยกัน เป็นรุ่นพี่ผม คือคุณยุค ศรีอาริยะ หรือ เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ ซึ่งตอนนั้นท่านยังอยู่ในโหมดลัทธิมาร์กซเข้มข้น ท่านเรียนอยู่มหาวิทยาลัย Binghamton ได้ไปเที่ยวที่อพาตเมน จึงดูว่าสะสมหนังสืออะไรไว้บ้าง ผมนั่งดูชั้นหนังสือของพี่ยุค ประมาณ 5-10 นาที มันเต็มไปด้วยหนังสือของมาร์กซ และบุคคลสังกัดลัทธิมาร์กซ และคำตาความลัทธิมาร์กซในแง่มุมต่างๆ เต็มไปหมด แล้วมานั่งคิดว่าที่บ้านก็เหมือนกัน มันเป็นชุดความคิดที่ครอบโลกและคนที่เข้าไปสังกัดหรือสนใจลัทธินี้ห้องสมุดก็จะเป็นแบบนี้

ยุคที่ 1 คือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

        คู่มือลัทธิมาร์กซในเมืองไทยเป็นอย่างไร ปรากฏในเมืองไทยแพร่หลาย 2 ยุค ยุคที่ 1 คือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงราวรัฐประหารของสฤษดิ์ ในปี 2501 ยุคที่ 2 คือ ยุคหลัง 14 ตุลา 2516 ถึงปลายพุทธทศวรรษ 2520

  • ยุคแรก ความสนใจลัทธิมาร์กซเกิดจากอะไร ต้องนึกสภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่โซเวียตมีเกียรติภมิสูงเพราะร่วมรบและเอาชนะนาซีและก็บุกเข้าไปถึงกรุงเบอร์ลิน กลายเป็นมหาอำนาจ 1 ใน 2 ของโลก เคียงคู่อเมริกา เพราะฉะนั้นมองไปในโลกตอนนั้นมีระบบเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นทางเลือกให้คนอยู่ 2 ระบบ คือทุนนิยมกับสังคมนิยมแบบโซเวียต ซึ่งนอกจากจะเป้นระบบสังคมนิยมแบบโซเวียตแล้ว ก็ยังมีการอธิบายประชาธิปไตยแบบของตัวว่าถ้าคุณอยากจะเดินไปสู่ประชาธิปไตย คุณไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตยแบบทุนนิยมนะ คุณสามารถเป็นประชาธิปไตยแบบไม่ทุนนิยมได้ เรียกว่า “ประชาธิปไตยแผนใหม่” ยกตัวอย่างเช่นจีนในระยะต่อมา เป็นต้น

         ขณะเดียวกันในประเทศสภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นาน มันมีช่องว่างความชอบธรรมทางการเมืองไทย คือระบบการเมืองทุกระบบที่คนไทยรู้จักเมื่อถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ล้วนต่อถูกดิสเครดิตชิบหายหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก่อน 2475 ม่าว่าจะเป็นระบอบเผด็จการทหารของจอมพลแปลก พบูลสงคราม และไม่ว่าจะเป็นระบอบประชาธิปไตยสร้างใหม่ของท่านปรีดี ในช่วงเวลาไม่กี่ปีทั้ง 3 ระบอบมีปัญหาหลักทั้งนั้น ในจังหวะที่มีช่องว่างความชอบธรรมนั้นลัทธิมาร์กซมันเสนอตัวเข้ามาเหมือนกับเป็นระบอบการเมืองทางเลือก

  • พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ประจอบเหมาะคือพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ซึ่งตั้งมาในช่วงสงครามโลก ก็โผล่ขึ้นมาบนดินกลายเป็นพรรคถูกกฏหมาย ตามเงื่อนไขที่โซเวียตบีบให้ไทยยอมรับยกเลิกกฏหมายคอมมิวนิสต์เพื่อจะให้ไทยเข้ายูเอ็นได้ การที่พรรคโผล่ขึ้นมาบนดินก็เป็นที่มาจของการผลิตคู่มือลัทธิมาร์กซออกมาจำนวนมาก คู่มือของพรรคจะแปลเป็นไทยจากจีน ซึ่งอาจแปลต่อจากภาษารัสเซียอีกทอดหนึ่ง ส่วนของปัญญาชรอิสระนอกพรรคจะแปลเป็นไทยจากอังกฤษหรือไม่ก็เขียนขึ้นเอง เล่มที่สำคัญๆ จำนวนหนึ่ง เช่น “ลัทธิวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการทางสังคม” เล่มนี้มาตีพิมพ์เป็นเรื่องเป็นราวปี 2517-2518 แต่ว่าเผยแพร่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ตอนที่มาตีพิมพ์ครั้งหลังลงชื่อผู้เขียนว่า “อธิคม กรองเกรดเพชร” เป็นเอกสารศึกษาในหน่วยพรรค ในหมู่นักศึกษาปัญญาชนตั้งแต่รุ่นจิตร ภูมิศักดิ์

  • เล่ม 2 “วิวัฒนาการของสังคม” เล่มนี้อ่านดูจะได้เซนต์ทันทีว่าแปลมาจากภาษารัสเซีย เข้าใจว่าแปลเป็นจีนแล้วมาแปลเป็นไทยอีกที ตีพิมพ์ออกมาเมื่อปี 2522 แต่เข้าในว่าแพร่หลายใต้ดินมาก่อนหน้านั้น ตอนทีตีพิมพ์ออกมานั้นนามปากกาตั้งโดยนักศึกษา คือ “เดชา รัตตโยธิน” ทำไมชื่อนี้ เพื่อนผมให้ข้อมูลว่า “เดชทหารแดง” คือนามปากกาพวกนี้ไม่ค่อยมีตัวตนจริงๆ เท่าไหร่ แต่ว่าตั้งชื่อให้มันสอดคล้องกับภาระกิจการต่อสู้

  • เล่ม 3 “ปรัชญาของลัทธิมาร์กซิสม์” เล่มนี้ตีพิมพ์ 2517 ต่อมาพิมพ์ซ้ำในปี 2520 กว่าๆ เปลี่ยนชื่อเป็น “ปรัชญาสังคมเปรียบเทียบ” เพราะว่าตอนนั้นกฎหมายคอมมิวนิสต์ยังอยู่ เล่มโดยคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ และจากงานภาษาอังกฤษชื่อ “What is Marxism” ของ Emile Buens ซึ่งเป็นชาวพรรคคอมมิวนิสต์อังกฤษ จริงๆ การแปลหนแรกเกิดขึ้นหลังสงครามโลก โดยที่คุณกุหลาบแปลหลังจากไปเรียนออสเตรเลียช่วงสั้นๆกลับมา แล้วทยอยลงในอักษรสาร ตั้งแต่ปี 93-94

  • เล่ม 4 เป็นงานของโจเซฟ สตาลิน “Dialectical and Historical Materialism” คนแปลคือคุณสมัคร บุราวาส แปลโดยใช้นามปากกาว่า “กัปตันสมุทร” สมัคร บุราวาส เป็นราชบัณฑิต เชียวชาญวิทยาศาสตร์กับปรัชญา ตอนที่แปลเล่มนี้ลงในอักษรสารตั้งชื่อว่า “ลัทธิสสารนิยมแบบไดอเล็คติกและสสารนิยมทางประวัติศาสตร์” ตีพิมพ์ในอักษรสารปี 93-94 ที่น่าสนใจคนที่สนใจเรื่องภาษาสนใจเรื่องประวัติของมันงานชิ้นเดียวกันนี้ถูกเอามาแปลใหม่โดยคนแปลใช้นามปากกาว่า “ประกาย สุชีวิน” เมื่อปี 2518 แล้วแปลใหม่ก็กลับไปใช้ภาษาลัทธิมาร์กซแบบพรรคคอมมิวนิสต์ เรียกมันว่า “ลัทธิวัตถุนิยมวิพากษ์และวัตถุนิยมประวัติศาสตร์” เป็นภาษาลัทธิมาร์กซแบบพรรคคอมมิวนิสต์ไทย 

  • อีกเล่มหนึ่งคือ “ปัญญาวิวัฒน์” อันนี้คุณสมัคร บุราวาส เขียนขึ้นเอง อาจจะค้นคว้าศึกษาแต่ไม่ได้แปลจากอะไร ตีพิมพ์รวมเล่มปี 2507 งานนี้ 2 เล่มจบ พยามที่จะสมานลัทธิมาร์กซเข้ากับพุทธปรัชญาในทางแนวคิดในทางภาษาและในทางวัฒนธรรม มีเกร็ดนิดหนึ่งเกี่ยวกับงานเล่มนี้ ผมไปเจองานเล่มนี้ในป่า จัดตั้งนำเทปมาให้เป็นการเอา “ปัญญาวิวัฒน์” อัดลงเทปส่งเข้ามาทั้งเล่ม สะท้อนว่าทาองพรรคหรืออย่างน้อยหน่วยศึกษาของพรรคเห็นว่าหนังสือเล่มนี้ใช้ได้ เป็นหนังสือที่ใช้แนะนำลัทธิมาร์กซแบบสมานเข้ากับวัฒนธรรมแบบไทยๆ

  • เล่มสุดท้ายคือ “ความเป็นอนิจจังของสังคม” ของท่านปรีดี พนมยงค์ ตีพิมฑ์ออกมาปี 2500 คิดว่าเป็นความพยายามของอาจารย์ปรีดีที่จะสมานลัทธิมาร์กซเข้ากับพุทธปรัชญาในทางแนวคิดภาษาและวัฒนธรรม คล้ายๆกับ “ปัญญาวิวัฒน์” แต่วิธีตีความต่างกันไป งานพวกนี้จำนวนหนึ่งถูกตีพิมพ์ซ้ำใหม่และบางอันก็ถูกแปลใหม่

ช่วงที่ 2 คือหลัง 14 ต.ค.2516

  • ช่วงที่ 2 คือหลัง 14 ต.ค.2516 จากที่การเมืองถูกปิดมานาน พอเปิดใหม่ก็ตื่นตัวสนใจในความคิดที่ก้าวหน้าก็แพร่ขยาย จีนกลายเป็นเหมือนกับเมกะใหม่ของบรรดาผู้ก้าวหน้าทั้งหลาย ก็มีการเอางานสมัยยุคเก่าออกมาพิมพ์ใหม่ และมีการเขียนงานใหม่ๆ ขึ้นมาในลักษณะที่เป็นคู่มือลัทธิมาร์กซของนักวิชาการไทยที่เรียนจบจากตะวันตก อันนี้จะไม่ใช่คนของพรรค เป็นการแปลบ้าง เรียบเรียงบ้าง ไม่ใช่เอกสารของคนที่เชื่อลัทธิมาร์กซแบบบวชแล้ว มีลักษณะเป็นเชิงวิชาการมากขึ้น วิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามมากขึ้น หรือไม่ก็แอนตี้คอมมิวนิสต์ไปเลย งานที่เด่นๆ ในช่วงนั้น เช่น “วิวัฒนาการของมาร์กซิสม์” โดย น.ชญานุตม์ ปี 2516 “มาร์กซ และสังคมนิยม” โดยคุณสุรพงษ์ ชัยนาม ปี 2517


  • “มาร์กซ จงใจจะพิสูจน์อะไร อย่างไร” ของคุณสุภา ศิริมานนท์ ปี 2518 คุณสุภา จะไม่เหมือนคนรุ่นหลัง 14 ตุลา นิดหน่อย คือเอาเข้าจริงคุณสุภา เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ปรีดี และมีบทบาทตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่ในเสรีไทยและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณสภาเป็นมาร์กซิสม์อิสระนอกพรรค วิธีหาความรู้ของคุณสภาไม่เกี่ยวกับพรรคเลย เช่น แกได้รับเชิญจากญี่ปุ่นให้ไปเยือนในฐานะนักหนังสือพิมพ์ แกก็ไปร้านหน้งสือเก่าในกรุงโตเกียวแล้วก็ซื้อหนังสือลัทธิมาร์กซภาษาอังกฤษกลับมา แกอยู่เมืองไทยแกส่งจดหมายสั่งซื้อหนังสื่อลัทธิมาร์กซจากอเมริกามานั่งอ่าน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แกได้รับแต่งตั้งเป็นทูตหนังสือพิมพ์ไปอยู่ยุโรปตะวันตก ไปอยู่โซเวียตก่อนแล้วต่อมาไปอยู่สวิสฯ อยู่ฝรั่งเศส แกก็ไปเข้าคอร์สของพรรคคอมมิวนิสต์ที่นั่นเรียนลัทธิมาร์กซ คนที่จะอยู่ร่วมรุ่นเดียวกันและมีประสบการณ์คล้ายๆกันก็คือคุณเสนีย์ เสาวพงศ์ ดังนั้นแกจะมาของแกอีกทาง จะไม่เกี่ยวกับพรรคโดยตรง และคุณสุภานี่ล่ะที่เป็นโต้โผในการอักษรสารขึ้นมาในช่วงปี 2492-2495 อักษรสารเป็นวารสารทางภูมิปัญญาที่โดดเด่นนำสมัยที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นวารสารที่บุกเบิกเผยแพร่ลัทธิมาร์กซทางปัญญาวิชาการในสังคมไทย
  • เล่มถัดไป “วิเคราะห์ลัทธิคอมมิวนิสต์” ของอาจารย์ฉันทิมา อ่องสุรักษ์ พิมพ์ออกมาเมื่อ 2523 แปลจาก “the Theory and Practice of Communism” ของ R.N. Carew Hunt เป็นหนังสือแอนตี้คอมมิวนิสต์ และ “เศรษฐศาสตร์การเมืองเบื้องต้น” ของอาจารย์กนกศักดิ์ แก้วเทพ อันนี้อยู่ในกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาฯ พิมพ์มาปี 2523 แปลจากงานของ Ernest Mandel เป็นนักลัทธิมาร์กซที่มีชื่อเสียง อยู่ในพวก Trotskyism อยู่ในองค์การสากลที่ 4 แปลมาจากงานของ Mandel เรื่อง “From Class Society to Communism: Introduction to Marxism”

  • ก็มีงานชุดที่ 2 ออกมาช่วงหลัง 14 ตุลา แต่ว่าช่วงปลายพุทธทศวรรษ 2520 เป็นต้นมางานทำนองนี้ก็ขาดหายไป ไม่มีใครแปลหรือเขียนและไม่ค่อยมีคนซื้อหา พร้อมกับการล่มสลายของขบวนการปฏิวัติใต้การนำของ พคท. ในเมืองไทย พร้อมกับการล่มสลายของค่ายคอมมิวนิสต์ในระดับสากล และการเสื่อมอิทธิพล เสื่อความสนใจของคนทั่วไปต่อลัทธิมาร์กซ เพราะฉะนั้นพมมาปลาย 2520 คู่มือลัทธิมาร์กซก็หายไปจากตลาดเมืองไทย
ภาพจากเว็บไซต์ openworlds.in.th
ความเกี่ยวพันของเล่มนี้กับคู่มือก่อนหน้า มันไม่ใช่งานโฆษณาชวนเชื่อ
         เล่มที่ผมแปลนี้ มันเข้าไปเกี่ยวพันอย่างไรกับเล่มทั้งหลายที่มาก่อนหน้านี้ เทียบกับงานเหล่านี้ "มาร์กซ : ความรู้ฉบับพกพา" ที่ผมแปลจาก “Marx: A Very Short Introduction” ของ Peter Singer มีลักษณะเฉพาะที่แปลกต่างออกไป มันเป็นงานเชิงวิชาการที่เน้นไปในทางความคิดปรัชญา มันไม่ใช่งานโฆษณาชวนเชื่อ ไม่ว่าจากมุมมองแบบคอมมิวนิสต์หรือแอนตี้คอมมิวนิสต์ แกพยายามทำความเข้าใจความคิดแบบมาร์กซแบบเห็นอกเห็นใจ แต่ก็สงสัยไต่ถามและวิพากษ์วิธี พยายามรักษาดุลระหว่างหยั่งเข้าใจตรรกะภายในความคิดของมาร์กซ ขณะเดียวกันก็มีการมองลัทธิมาร์กซจากภายนอกด้วย ในความหมายนี้มันไม่เหมือนคู่มือลัทธิมาร์กซเท่าที่สังคมไทยเคยผลิตออกมา

ใครคือ Peter Singer

       Peter Singer เหมือนกับมี 2 มิติ Peter Singer ที่วงการวิชาปรัชญาโลกรู้จัก ซึ่งโด่งดังมากคนนี้ คือแกเป็นนักจริยปรัชญาหรือเป็นนักจริยศาสตร์สำนักประโยชน์นิยม แกเป็น “Utilitarianism” เป็นคนออสเตรเลีย ที่แกดังจริงๆ ไม่ใช่งานประเภทเกี่ยวกับมาร์กซหรือเฮเกล แกดังจากงานเขียนเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิสัตว์และการปลดปล่อยสัตว์ แล้วแกจะโจมตีว่าพวกที่ห่วงใยแต่มนุษย์นี่ จะปลดปล่อยมนุษย์ แต่ว่ากดขี่ข่มแหงรังแกสัตว์เป็นพวกหมกมุ่นแต่เผ่าพันธ์ของตัว แกก็ประยุกต์แนวคิด Utilitarianism ของแก ไปครอบคลุมสัตว์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายของแกด้วย อันนี้ทำให้แกดังระเบิด ทุกวันนี้แกเป็นศาสตราจารย์ด้าน bioethics หรือชีวจริยศาสตร์ อยู่ Princeton สหรัฐฯ ขณะเดียวกันก็มีตำแหน่งที่ออสเตรเลีย แกเคยได้รับการยกย่องเป็น 1 ใน 10 ปัญญาชนสาธารณะที่ทรงอิทธิพลที่สุดของออสเตรเลียในปี 2006 แกกินเจเป็นมังสวิรัติ

          อีกมิติหนี่งของ Peter Singer ซึ่งคนรู้จักน้อยกว่าและมักถูกบดบังไป คือแกเป็นคนที่สนใจศึกษาและเชียวชาญปรัชญาของมาร์กซและเฮเกล งานของแก 2 เล่มที่ทำออกมาคือ มาร์กซและสองปีให้หลังแกเขียนงานเรื่องเฮเกลออกมา ทั้ง 2 เล่มนี้ถูกนำเข้ามาในชุดหนังสือ Very Short Introduction ของ OUP ในปี 2000 และ 2001
Peter Singer สนทนากับ Bryan Magee ประเด็นมาร์กซและเฮเกล
          นอกจากนี้ใรทศวรรษ 1980 แกยังได้รับเชิญให้ไปคุยกับ Bryan Magee เป็นนักปรัชญาทางทีวี คุยกันทางปรัชญาและออกทาง BBC ทุกวันนี้แกเลิกทำไปแล้ว แต่ในยูทูบมี แกจะเชิญนักปรัชญาน่าสนใจมาคุย ตัว Peter Singer มีวาระที่ไปคุยกับ Bryan Magee ประมาทศวรรษ 1980 ตอนต้น หลังจากพิมพ์หนังสือ 2 เล่มนี้ออกมา คุยกันเรื่องเฮเกลกับมาร์กซ ซึ่งยังอยู่ในยูทูบ เขาถอดเทปการคุยนั้นแล้วรวมเป็นหนังสือที่ Bryan Magee เป็นบรรณาธิการชื่อ “The Great Philosophers: An Introduction to Western Philosophy” ตีพิมพ์ปี 1987

อะไรคือวิสัยทัศน์ใจกลางของลัทธิมาร์กซแบบเฮเกลเลียนของ Peter Singer

      ในแวดวงผู้บวชลัทธิมาร์กซมันจะมีข้อที่ทะเราะกันไม่เลิก เป็นข้อถกเถียววิวาทะในบางประเด็นสำคัญว่า “เอาเข้าจริงเนื่อแท้และพัฒนาการความคิดของมาร์กซเป็นอย่างไรกันแน่” ประเด็นที่เถียงกันมี 3-4 ประเด็นหลักๆ

  • ประเด็นที่ 1 จะเน้นความคิดช่วงไหนในชีวิตของมาร์กซ จะเน้นมาร์กซในวัยหนุ่ม หรือมาร์กซในวัยแก่ ถ้าเน้นมาร์กซในวัยหนุ่ม งานที่คุณจะเน้นความสนใจไปก็คือ “Economic and philosophic manuscripts” ปี 1844 และต้นฉบับเศรษศาสตร์และปรัชญาซึ่งไม่ได้ตีพิมพ์ในช่วงชีวิตของมาร์กซ อีกเล่มที่คุณจะเน้นถ้าเชื่อในมาร์กซวัยหนุ่มคือ “Grundrisse” ซึ่งเป็นเหมือนโน๊ตบุ๊คที่มาร์กซจดเอาไว้ ร่างเอาไว้ ซึ่งแกทำไว้ในปี 1957 ถ้าคณสมาทานมาร์กซในวัยหนุ่มคุณจะเน้นความสำคัญของ 2 เล่มนี้

       แต่ถ้าคุณเน้นไปที่มาร์กซในวัยแก่ คุณจะให้ความสำคัญกับงาน “A Contribution to the Critique of Political Economy” ปี 1859 และก็งาน “Capital” (Das Kapital) ซึ่งเล่มแรกตีพิมพ์มาปี 1867 อันนี้ก็จะเถียงกันไปไม่หยุดระหว่างคนที่เน้นมาร์กซในวัยหนุ่ม(young marx)กับมาร์กซในวัยแก่(old marx)

  • ประเด็นที่ 2 องค์รวมของความคิดมาร์กซมีลักษณะอย่างไรกันแน่ มันก็จะมี 2 สกุลใหญ่ๆ สกุลหนึ่งบอกว่าองค์รวมของความคิดมาร์กซมีความต่อเนื่อง เป็นเอกภาพ อีกสกุลก็บอกว่าไม่ใช่ความคิดของมาร์กซมีการแตกหักสำคัญระหว่างช่วงที่เป็นมาร์กซในวัยหนุ่มกับแก่
  • ประเด็นที่ 3 คือ ตกลงเนื้อแท้ของความคิดมาร์กซเป็นอย่างไรกันแน่ เป็น philosophic หรือ social science เป็นปรัชญาหรือสังคมศาสตร์

  • และประเด็นสุดท้าย จะให้ความสำคัญกับปัจจัยไหน ระหว่าง ‘Subject’ กับ ‘Structure’ Subject ในความหมายองค์ประธานหรือผู้กระทำการ อาจจะเป็นบุคคล เป็นกลุ่มชนชั้นที่เป็นคนซึ่งกระทำการ หรือจะเน้น Structure จะเน้นโครงสร้างสังคม โครงสร้างเศรษฐกิจซึ่งมันกำหนดคน ก็จะมีการตีความแตกกันออกไป คนที่เน้น Subject ก็จะออกไปทาง Marxist Humanism คือมนุษย์นิยมแบบมาร์กซ เช่น George Lucas หรือ Edward Thompson ขณะที่ผู้ที่เน้นโครงสร้างก็จะออกไปแบบ Structuralist Marxism ลัทธิมาร์กซแบบโครงสร้างนิยม เช่น Louis Althusser

        Peter Singer อยู่ซีกที่เน้น young marx เน้นองค์รวมของความคิดมาร์กซมีความต่อเนื่อง เป็นเอกภาพ เน้น philosophic เน้น Subject


       Peter Singer แกเสนออย่างนี้ วิสัยทัศน์ใจกลางแบบเฮเกลเลียน แกนำเสนอองค์รวมวิสัยทัศน์ความคิดของมาร์กซที่เชื่อมโยงความคิดในวัยเยาว์ของมาร์กซเข้ากับวัยวุฒิอย่างสืบเนื่องเข้าด้วยกันในเชิงปรัชญา เน้นเป้าหมายของมาร์กซที่จะปลดปล่อยมนุษย์จากความแปลกแยกเพื่อให้มนุษยเป็นองค์ประธานหรือเป็นผู้กระทำการแห่งประวัติศาสตร์ของตนอย่างเสรี อันนี้คือวิสัยทัศน์ใจกลางที่แกอ่านมาร์กซแบบเฮเกลเลียนแล้วยึดอันนี้ตีความมาร์กซทั้งหมด

ที่บอกว่าวิสัยทัศน์ใจกลางแบบเฮเกลเลียน มันเป็นเฮเกลตรงไหน

       ผมอ่านงานของ Peter Singer เล่ม มาร์กซ หลังจากอ่านงานของเขาเล่มเฮเกลแล้ว เวลาที่ผมอ่านงานของ Peter Singer เล่ม เฮเกล มันจะมีจังหวะที่ตาสว่างวาบ แกเข้าใจว่าเฮเกลคิดอย่างนี้ เฮเกลคิดว่ามันมีจิตวิญญาณของมนุษย์โดยรวม ซึ่งแปลกแยกออกจากโลกหรือวัตถุธรรม และทั้ง 2 ส่วนต่างก็พัฒนาไป ปฏิสัมพันธ์กันไป มีการเรียนรู้มากขึ้นผ่านการพัฒนาเปลี่ยนแปลงนี้จนถึงจุดหนึ่งจิตวิญญาณมนุษย์โดยรวมมันตระหนักสำนึกถึงเนื้อแท้ของโลกหรือวัตถุธรรม แล้ว ณ โมเม้นที่จิตวิญญาณมนุษย์โดยรวมเหลียวไปมองโลกวัตถุธรรมแล้วตระหนักว่าโลกวัตถุธรรมมันคือตัวเราเองและมันของเราในจังหวะนั้นคือการข้ามพ้นความแปลกแยกแล้วสมานกับเข้าด้วยกัน ถึงตอนนั้นก็จะมีความรู้ที่สมบูรณ์และมีเสรีภาพที่สมบูรณ์ อันนี้คือสิ่งที่แกเอามาใช้ทำความเข้าใจการเดินเรื่องในมาร์กซ

      ถ้าเราอุปมาอัปมัยให้เข้าใจง่ายมันคืออะไร คล้ายๆ อย่างนี้ เรื่อง แฟรงเกนสไตน์ ที่มีนักวิทยาศาสตร์ปลุกสร้างชุบชีวิตแฟรงเกนสไตน์ขึ้นมาจากซากศพอุ้มชูเลี้ยงดูอบรมสั่งสอน แต่แล้วแฟรงเกนสไตน์ที่นักวิทยาศาสตร์สร้าง ปรากฏว่าตัวนักวิทยาศาสตร์ไม่เข้าใจแฟรงเกนสไตน์กำกับควบคุมแฟรงเกนสไตน์ไม่ได้ จนกระทั่งถูกแฟรงเกนสไตน์คุกคามครอบงำทำร้ายคนรักและชีวิตของตัว มันทำนองนั้น คือถ้าความเปรียบตรงนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับแฟรงเกนสไตน์ คือคนที่สร้างสิ่งที่ตัวเองสร้างมากับมือแต่คุมมันไม่ได้ ไม่รู้จักมันแล้วตัวมันกลับมาทำร้ายเขาหรือมาควบคุมครอบงำเขา คือภาพจำลองภาวะแปลกแยกของมนุษย์จากสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นฝีมือของตัวเอง แต่แล้วถึงจุดหนึ่งคนกลับไม่เข้าใจมันกำกับควบคุมมันไม่ได้ กระทั่งถูกมันคุกคามทำร้ายสิ่งที่ตนรักและวิถีชีวิตของตน

        โดยความเข้าใจอันนี้ มนุษย์กับพระเจ้าหรือศาสนาก็แบบเดียวกัน มนุษย์สร้างพระเจ้าขึ้นโดยจินตนาการ มนุษย์สร้างศาสนาขึ้นแล้วก็คุมมันไม่ได้ กลับถูกพระเจ้าหรือศาสนาครอบงำ มนุษย์กับความคิดปรัชญาก็ทำนองเดียวกัน มนุษย์เป็นคนคิดสร้างปรัชญาขึ้น แต่แล้วก็ไม่สามารถเข้าใจหรือคุมมันได้กลับถูกมันควบคุมครอบงำ

        ชนชั้นกรรมาชีพไร้สมบัติผู้ขายแรงงาน ชนชั้นกรรมกรอุตสาหกรรมกับทุน ชนชั้นกรรมกรสร้างทุนขึ้น แต่ทุนกับแปลกแยกกับชนชั้นกรรมกร คุกคามชนชั้นกรรมกร ชนชั้นกรรมกรคุมมันไม่ได้ ไม่สามารถจะกำกับมันได้ ในแง่เศรษฐกิจการเมือ ทำนองเดียวกัน

      ในความหมายนี้กรรมกรซึ่งในสายตามาร์กซเป็นกลุ่มคนที่ทนทุกข์ทรมานที่สุดไม่มีอะไรสูญเสีย อยู่ในสภาวะแปลกแยก ไม่มีเหตุผลอะไรจะธำรงรักษาทุนไว้ พร้อมจะดิ้นรนต่อสู้ให้หลุดพ้นจากสภาวะแปลกแยกอย่างถึงที่สุด คนกลุ่มนี้ในขณะที่ทุกข์ที่สุดก็เป็นพลังดัน เป็นความหวังของการยกเลิกสภาวะแปลกแยกนั้นอย่างถึงที่สุดด้วยในเวลาเดียวกัน คล้ายๆกับเอาวิสัยทัศน์ใจกลางแบบเฮเกลเลียนไปอ่านความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นแบบต่างๆ แล้วมาลงเอยที่เศรษกิจการเมือง และก็ดูความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นกรรมกรกับทุน แล้วเข้าใจว่ามันเป็นอย่างนี้ แล้วชนชั้นกรรมกรซึ่งทุกข์ที่สุดจะเป็นกลุ่มคนที่ปฏิวัติที่สุด เป็นพลังที่สำคัญที่สุดที่จะยกเลิกทุนนิยม

      ถ้าเข้าใจแบบนี้ผมอยากประมวลสรุปตอนท้าย นึกออกไหมว่าเวลาพูดถึงมาร์กซก็จะอ้างอิงประโยคแบบนี้บ่อยๆ ซึ่งเขาไปตอกไว้ตรงหินฝังศพมาร์กซด้วยคือ Thesis ที่ 11 ของ Feuerbach มาร์กซเขียนงานสั้นๆ เกี่ยวกับ Feuerbach ซึ่ง Thesis ที่ 11 ของ Feuerbach คือ "Philosophers have hitherto only interpreted the world in various ways; the point is to change it." นักปรัชญาตีความโลกไปต่างๆนานา แต่ความสำคัญอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงโลก มาร์กซเขียนอันนี้ไว้เมื่อปี 1845 แล้วมันถูกตีความไปหลากหลายมาก ถ้าเข้าใจมันแบบที่ Peter Singer อ่านเฮเกล อ่านมาร์กซ มันแปลว่าอะไร มันแปลว่าอย่างนี้ “ปัญหาปรัชญานั้นแก้ไม่ได้หรือไม่มีคำตอบอย่างถึงที่สุดในทางปรัชญา” เพราะคุณอยู่ในซีกนี้คุณไม่ได้ข้ามไป จะแก้ปัญหาปรัชญาได้ก็โดยข้ามไปเปลี่ยนโลกเท่านั้น ความหมายมันอย่างนี้ คือประโยคนี้เขียนขึ้นมาในวิธีคิดแบบเฮเกลที่เห็นความแปลกแยกระหว่างจิตวิญญาณกับโลกทางวัตถุธรรม พูดอีกอย่างคือมนุษย์ต้องเอื้อมมือคว้าจับ จัดการปรับเปลี่ยนโลกในฐานที่มันเป็นภาวะที่จิตวิญญาณมนุษย์โดยรวมเหลียวไปมองโลกวัตถุธรรมแล้วตระหนักว่าโลกวัตถุธรรมมันคือตัวเราเอง

‘ฉลาด’ เจตนารมณ์พ.ค.35 นายกมาจากเลือกตั้ง ชี้ประชามติรับรธน.เท่ากับยัดให้ปชช.ทำผิดด้วย



Mon, 2015-05-18 01:02


หากกล่าวถึงเหตุการณ์ พฤษภา 2535 บุคคลหนึ่งที่เป็นที่นึกถึงคือ เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร ผู้เริ่มต้นการประท้วงอดอาหารเรียกร้องให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ลาออก ตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.35 ที่บริเวณหน้ารัฐสภา

เนื่องในวันที่ 17 พ.ค.57 นี้ เป็นวันครบรอบ 23 ปี เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ประชาไทจึงได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ฉลาด ถึงเจตนารมณ์พฤษา 35 พร้อมทั้งสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน โดยเฉพาะประเด็นข้อเสนอลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ


เจตนารมณ์พฤษา 35 นายกต้องมาจากการเลือกตั้ง

          ฉลาด เล่าว่าเหตุการณ์ พฤษภา 2535 นั้น เริ่มจากการยึดอำนาจของทหาร จากนั้น พล.อ.สุจินดา ก็เป็นนายกฯ เอง โดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ตนจึงปิดบริษัทออกไปอดอาหารเพื่อประท้วง โดยวันที่ 8 เม.ย.35 ตนมาที่หน้ารัฐสภา และไม่มีใครให้ความสนใจ แม้แต่นักข่าวก็ไม่สนใจการอดอาหารประท้วงครั้งนั้น

       “มันต่อเนื่อง เราพยายามกดดันเพื่อที่จะให้นายกฯ มาจากรัฐสภา มาจากการเลือกตั้ง” ฉลาด กล่าวถึงเจตนารมณ์ในครั้งนั้น

ไม่ใช่วิธีการอดอาหารแล้ว

        ทุกอย่างเป็นประวัติศาสร์และเป็นบทเรียน การที่เรามีนายกฯมาจากการเลือกตั้งเป็นแค่บทเรียน เพราะว่าถ้าตอนนั้นนักการเมือง พรรคการเมืองเอาด้วยกับตนก็เป็นประชาธิปไตยมานานแล้ว เขายอมทหารทุกอย่าง เพราะฉะนั้นเราก็หมดปัญญา

        ฉลาด ยืนยันด้วยว่าการต่อสู้ต่อไปข้างหน้านี้ตนนั้นยังไม่หยุด แต่จะไม่ใช่วิธีการอดอาหารแล้ว โดยจะให้ภูมิปัญญาสู้กันในรูปแบบเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ

      “คราวนี้บอกได้เลยวิธีการอดอาหารสิ้นสุดแล้ว ยุคนี้การอดอาหารทำได้เฉพาะเรื่องๆ มีเหตุและผล แต่จะเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เราจะต้องทำรัฐธรรมนูญมาเปรียบเทียบให้เห็นระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย ประชาชนจะรับสิทธิประโยชน์อย่างไร” ฉลาด กล่าว

ชี้เสนอให้ประชามติรับรธน.เท่ากับยัดเยียดให้ ปชช.ร่วมทำผิด กม.ด้วย

        ต่อกรณีที่นักวิชาการหรือนักเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ฉลาด มองว่า “เข้าแผนเขาพอดี ถ้าหากไปลงประชามติถ้าไม่ผ่านเขาก็มาร่างใหม่ เขาก็ยืดอายุเขาไปได้ต่ออีก 2 ปี 3 ปี อะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าผ่านเขาก็ประกาศใช้เลย ประกาศใช้ปั๊บ เขาก็ใช้ตามเงื่อนไขของเขา ประยุทธ์ ก็มีสิทธิเป็นนายก”

          “ที่จริงแล้วจะไปอ้างรัฐธรรมนูญเขา เขาทำผิดกฏหมาย คุณจะไปลงประชามติก็เท่ากับไปยัดเยียดให้ประชาชนเขาทำความผิดกฏหมายไปด้วย” ฉลาด กล่าว

เสนอประชาชนร่วมร่างกันเอง
        ฉลาด กล่าวต่อว่า การที่ผมจะร่างรัฐธรรมนูญที่จะเอาไปเคลื่อนไหวนี้ ถ้าผมมีคนเข้ามาร่วมกันร่างผ่านเว็บไซต์ประมาณสัก 30 ล้านคน เราก็ยึดอำนาจคืนมาให้ประชาชนได้ แล้วทุกอย่างเดินหน้า โดยจะเปิดให้มีการร่วมร่างผ่านทางเว็บไซต์

รัฐธรรมนูญ คือเสาหลักของประชาธิปไตย

        ฉลาด กล่าวด้วยว่า ควรยกย่องให้คณะราษฏรเป็นเสาหลักของประชาธิปไตย คือรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีฉบับเดียวในประเทศไทย คือรัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค.2475 แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ พ.ศ.2489 แล้วก็ดองไว้เฉยๆ ทุกปีเป็นวันรัฐธรรมนูญ

          สิ่งที่เราทำอยู่นั้นเป็นรัฐธรรมนูญเถื่อนทุกฉบับ แม้แต่ปี 40 ก็ยังเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขมาจากของสุจินดา ปี 34 ถ้าเรายึดหลักของกฏหมาย รัฐธรรมนูญปี 40 ก็ยังเป็นรัฐธรรมนูญซ้อนรัฐธรรมนูญ จึงได้บอกว่าการเรียกร้องของตนที่นำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญปี 40 นั้นไม่ใช่สิ่งที่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าหากเอารัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค.2475 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2489 มาใช้ แล้วก็แก้ไขเพิ่มเติมให้มันเป็นหลักประชาธิปไตยสากลโดยสมบูรณ์แบบที่สุดเท่านั้นเอง

เขามี ม.44 ผมก็มี ม.112 ม.113 ม.114

       ต่อกรณียื่นฟ้องศาลต่อคณะ คสช. ในข้อหากบฎ นั้น ฉลาด กล่าวว่า คนใดที่มีการยึดอำนาจตนก็ต้องไปฟ้อง โดยทำตามกฏหมาย ม.112-114 โดยฟ้องตามความรู้ของตน เพราะต้องรู้กฏหมายดังนั้นการไปฟ้องก็เพื่อให้ตนพ้นผิด และเพื่อทำให้คณะรัฐประหารสำนึกว่าการทำในลักษณะดังกล่าวนั้นผิดกฏหมาย แต่เมื่อครั้งที่ตนไปฟ้องตอนรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 นั้น ได้ฟ้องไปตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนกระทั่งศาลฎีกา มีความผิดจริงแต่เขาขอนิรโทษกรรมแล้ว แต่ครั้งท่านประยุทธ์นี้ ตนไปก็ไปฟ้อง แต่ศาลระบุว่าตนไม่ใช่ผู้เสียหายทั้งที่ศาลเดียวกัน

       อย่างไรก็ตามตนได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และมีการส่งเรื่องมาที่กองปราบฯ โดยกองปรามฯ มีการเรียกตนมาสอบสวน แต่ตอนนี้ยังไม่มีความคืบหน้าว่ามีการเรียกนายกฯมาสอบสวนด้วยหรือไม่ จริงๆแล้วมองว่าตำรวจไม่กล้าเนื่องจากกลัวทหาร

     “ผมจะสู้ในแนวทางของกฏหมายและไม่หวั่นวิตกจะเอาผมไปเข้าคุกเข้าตะราง จะขึ้นศาลตัดสินประหารชีวิตผมก็ไม่ว่า แต่ผมก็ต้องกล่าวหาเขาเหมือนกัน เขามี ม.44 ผมก็มี ม.112 ม.113 ม.114” ฉลาด กล่าว

พรรคการเมืองเป็นเรื่องสำคัญหัวใจของประชาธิปไตย

       “พรรคการเมืองเป็นเรื่องสำคัญหัวใจของประชาธิปไตย ตอนนี้ที่เขายิ่งใหญ่และเขาสามารถทำอะไรก็ได้ เพราะเหตุว่าเขามีพรรคราชการ แต่ว่าเป็นอันตรายต่อตัวเขาด้วย ถ้ายื้อการยึดอำนาจนี้ต่อไปโดยไม่ชอบธรรม ประเทศไทยต้องเกิดความรุนแรงในอนาคตแน่นอน” ฉลาด กล่าว

        “ถ้าประเทศใดที่พ้นจากเงื่อนไขของทหาร ประชาชนสามารถคุมข้าราชการประจำได้เมื่อไหร่ ประเทศนั้นจะเดินหน้าเจริญเติบโตได้เร็วกว่าทุกประเทศ อย่างญี่ปุ่น แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 มา เขาหมดทุกสิ่งทุกอย่างเลย เดี๋ยวนี้ประเทศเขาเป็นประเทศที่เจริญที่สุด ระบบเศรษฐกิจอยู่อันดับ 2 อันดับ 3 เพราะเขาสร้างประชาธิปไตยจริงจัง” ฉลาด กล่าว

ผอ.ช่องฟ้าวันใหม่สอบถามพระสุเทพเรื่องลาสิกขา - เผยบทสัมภาษณ์เต็มพฤหัสบดีนี้

ไม่ทันจบ ตร.ขอความร่วมมือมูลนิธิวีรชนฯ ยุติสหปาฐกถารำลึกพฤษภา35 ก่อนกำหนด

          เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา เวลา 13.30 น. มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย จัดกิจกรรมสหปาฐกถารำลึก 23 ปี เหตุการณ์พฤษภา 35 สืบสารอุดมการณ์เจตนารมณ์ของวีรชนประชาธิปไตย ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลาฯ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ โดยมี  เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร, นพ.เหวง โตจิราการ, นพ.สันต์ หัตถีรัตน์, ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ และ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว เป็นองค์ปาฐก อย่างไรก็ตามหลังจากดำเนินกิจกรรมได้สักพัก เวลา 14.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เดินทางมาขอความร่วมมือกับผู้จัดงานจนทำให้กิจกรรมต้องยุติกิจกรรมก่อนกำหนด




         โดยเมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารกลุ่มหนึ่งอ้างเป็นทหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เดินทางมาที่สำนักงานมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย ซ.แจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 26 จ.นนทบุรี เพื่อมาแจ้งกับทางมูลนิธิวีรชนฯ ว่าผู้บังคับบัญชาขอให้ตัดกิจกรรมงานรำลึกวีรชนพฤษภาประชาธิปไตย ช่วงสหปาฐกถาออก (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

        ศรีไพร นนทรีย์ ผู้ช่วยผู้จัดการมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวด้วยว่าก่อนหน้านี้ทางมูลนิธิฯ ได้ส่งจดหมายขออนุญาตจัดงานไปกับกองทัพภาค 1 เพื่อขอจัดงานแล้ว


จดหมายที่ทางมูลนิธิฯ ส่งขออนุญาตจัดกิจกรรมกับ คสช.

        ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ กล่าวว่า เจตนารมณ์พฤษภา 35 ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ 2540 มีองค์กรอิสระที่ประชาชนเสนอร่างกฎหมาย ถอดถอนผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมได้ รวมทั้งในทางปฏิบัติที่รัฐบาลที่มาจากประชาชนมีการดูแลประชาชน เช่น การมีระบบหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค ล้วนแล้วแต่จะทำให้ประชาธิปไตยฐานรากเติมโต ประชาชนได้รับสิทธิประโยชน์จากระบบการเมือง แต่ก็สะดุดจากการเกิดรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ทหารไม่ยึดในครรลองของประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี 49 ทำให้ประเทศเราถอยหลังไปมาก เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

        ประทีป กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมมาธิการร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบันเปิดช่องให้สามารถมีนายกคนนอกได้นั้นว่า มีลักษณะคล้ายกับเหตุการณ์ปี 35 พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่ยอมเสียสัจจะแล้วมาเป็นนายกฯ คนนอก จนนำมาสู่เหตุการณ์พฤษภา 35 ดังนั้น แม่น้ำทั้ง 5 สาย ขณะนี้ควรเป็นแม่น้ำของประชาชนที่รับเจตนารมณ์ของประชาชนที่สูญเสียไปตั้งแต่ปี 35 และ 53 เราน่าจะประคองระบอบประชาธิปไตยให้เดินไปสู่หลักสากล

        ฉลาด เล่าว่าเหตุการณ์ พฤษภา 2535 นั้น เริ่มจากการยึดอำนาจของทหาร จากนั้น พล.อ.สุจินดา ก็เป็นนายกฯ เอง โดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ตนจึงปิดบริษัทออกไปอดอาหารเพื่อประท้วง โดยวันที่ 8 เม.ย.35 ตนมาที่หน้ารัฐสภา และไม่มีใครให้ความสนใจ แม้แต่นักข่าวก็ไม่สนใจการอดอาหารประท้วงครั้งนั้น

          “มันต่อเนื่อง เราพยายามกดดันเพื่อที่จะให้นายกฯ มาจากรัฐสภา มาจากการเลือกตั้ง” ฉลาด กล่าวถึงเจตนารมณ์ในครั้งนั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

          จากนั้นกลุ่มดังกล่าวได้เดินทางไปที่สวนประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อจัดกิจกรรมรำลึก บริเวณปฎิมากรรม พฤษภา 35 โดยมีการเช็ดข้อความที่ปฎิมากรรมในข้อความว่า "นายกต้องมาจากการเลือกตั้ง" รวมทั้งวางหรีด ดอกไม้ และอ่านบทกวี ก่อนสลายตัวอย่างสงบ

'ฉลาด-ครูประทีป-หมอสันต์-หมอเหวง' ร่วมเช็ดข้อความในปฎิมากรรม พฤษภา 35 ที่สวนประวัติศาสตร์ มธ. ข้อความ "นายกต้องมาจากการเลือกตั้ง"












‘รสนา’ จัดอีกงาน ตัวแทนรัฐบาล สนช. และ บวรศักดิ์ ร่วม


            วันเดียวกัน มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า เมื่อเวลา 09.00 น. ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถ.ราชดำเนิน มูลนิธิพฤษภาประชาธรรม และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ได้จัดพิธีรำลึกและสืบสาน 23 ปี พฤษภาประชาธรรม โดยมีกิจกรรมทำพิธีบรรจุอัฐิวีรชนที่บริเวณอนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม พิธีทอดผ้าบังสุกุลอุทิศบุญกุศลให้แก่วิญญาณของผู้ล่วงลับ และพิธีเจริญพุทธมนต์พระสงฆ์ 10 รูป เสริมสร้างความเป็นมงคล ให้สังคมไทยข้ามพ้นความขัดแย้งที่รุนแรงในอดีต โดยมีตัวแทนจากหลายฝ่ายร่วมวางพวงมาลา พร้อมกล่าวรำลึก อาทิ  ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนรัฐบาล สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 ตัวแทน สนช.พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะตัวแทนประธานสปช. จุตพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ และองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พระอุทัย อุทาโย หรืออุทัย ยอดมณี อดีตแกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรธปประเทศไทย (คปท.)


         รสนา โตสิตระกูล ในฐานะประธานจัดงาน ได้กล่าวต้อนรับและกล่าวรายงานตอนหนึ่งว่า การเคลื่อนไหวของวีรชนในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 เพราะต้องการปฏิรูประบบการเมืองไม่ให้เกิดการครอบงำ โดยหวังว่าการเลือกตั้งจะนำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ไม่ให้กลับสู่การรัฐประหาร แต่ในความเป็นจริงสวนทางกัน เพราะเวลาต่อมาเกิดการรัฐประหารอีก 2 ครั้ง ซึ่งเกิดจากความเห็นต่างของประชาชน ดังนั้น ตนได้แต่หวังว่าการรัฐประหารครั้งนี้จะสามารถคลอดประชาธิปไตยได้


        จากนั้น  ตัวแทนจากฝ่ายต่างๆได้ร่วมกล่าวรำลึก โดย มล.ปนัดดา กล่าวว่า แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยรัฐประหาร กระทั่ง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา นายกฯ และคนไทยเข้าใจร่วมกันดีว่าประชาธิปไตยที่แท้จริง คือ ความรัก ความสามัคคีของคนในชาติ และหากย้อนไปใน ปี 35 วีรชนพยายามหาทิศทางนำประเทศไปสู่ความเจริญ โดยหลักการปกครองที่กล่าวถึงคือธรรมาภิบาล ซึ่งจะเร่งบรรลุผลโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นความสงบคงเกิดได้ยาก จึงหวังว่าประเทศไทยจะไม่มีการแบ่งแยก ไม่แตกแยก พูดกันด้วยเหตุผล และรักสมัครสมานดังเช่นในอดีต


         สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า เวลานี้แม่น้ำ 5 สาย กำลังหาทางออกประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์ว่าอะไรคือปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ แต่ภารกิจที่จะบรรลุได้ด้วยแม่น้ำ 5 สาย เป็นภารกิจของประชาชนทุกคนด้วย เช่นเดียวกับวีรชนที่คาดหวังจะเปลี่ยนแปลงให้เกิดการปกครองโดยประชาชน เพื่อประชาชน ไม่ใช่การนำโดยพรรคการเมืองเดียวเท่านั้น
จากนั้นเวลา 11.00 น. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวปาฐกถาเรื่อง “อนาคตการปรองดองและสมานฉันท์สังคมไทย” ตอนหนึ่งว่า การปรองดองและสมานฉันท์เป็นสิ่งที่คนไทยคาดหวัง ประเทศประสบกับความขัดแย้งมาหลายยุค ฉากแรก คือความขัดแย้งของชนชั้นนำตั้งแต่สมัยอยุธยา ฉากที่ 2 ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ มีการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์และนิรโทษกรรมในที่สุด ฉากที่ 3 ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและประชาชน เช่น เหตุการณ์ในเดือน พ.ค. ปี 35 และฉากที่ 4 ยุคที่ผู้นำที่มีประชาชนบางกลุ่มสนับสนุนจำนวนมาก และประชาชนที่ไม่สนับสนุน ซึ่งในฉากสุดท้ายนี้มีผู้ประเมินความเสียหาย คาดว่ามีมูลค่ากว่า 3.3 หมื่นล้านบาท ในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา ซึ่งความขัดแย้งในอดีตจบลงด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงมาระงับความขัดแย้ง กับ จบลงด้วยการนิรโทษกรรม ซึ่งการนิรโทษกรรมครั้งใหญ่ที่สุดคือในสมัยพล.อ.ชาติชาย ชุนหะวัน เป็นนายกฯ  หรือ 10 ปีให้หลังนโยบาย 66/23


‘เมล็ดพริก’ โผล่ชูป้ายประท้วงขณะ ‘บวรศักดิ์’ ปาฐกถา


          มีรายงานด้วยว่า ระหว่างที่บวรศักดิ์กำลังกล่าวปาฐกถาได้มีผู้หญิง จำนวน 4 ในนามกลุ่มเมล็ดพริก ได้เข้ามาชูป้ายต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อความว่า “เนติบริกรตัวพ่อรับจ้างทำลายประชาธิปไตย” หรือ “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2558” และ “ไม่ปรองดองกับฆาตกรรม” พร้อมได้อ่านแถลงการณ์ของกลุ่มว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์พฤษภา 35 มีข้อเรียกร้องของสังคมในเวลานั้นที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้กองทัพเข้ามาสืบทอดอำนาจทางการเมือง และให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งถือเป็นการแสดงเจตนารมย์ของประชาชนที่ชัดเจน จนนำมาสู่การปราบปรามประชาชนในที่สุด แม้หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว กองทัพจะถอยออกจากการเมืองแต่เจตนารมย์การต่อสู้ของประชาชนก็ได้หายไป และถูกลืมไปในที่สุด วันนี้เรามีรัฐบาลทหาร และคนที่ร่วมต่อสู่ในเหตุการณ์วันนั้น ได้เป็นทรยศต่ออุดมการณ์อย่างไม่น่าให้อภัย

       ดังนั้น ทางกลุ่มจึงข้อเรียกร้องให้รัฐบาล 

  • 1.ประกาศยกเลิก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 
  • 2.ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารประชาชนในเหตุการณ์พฤษภา 35 
  • 3.นายกรัฐมนตรีและ ส.ว.จะต้องมาจากการเลือกตั้ง 
  • 4.ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ และ 
  • 5.กองทัพต้องไม่เข้ามาแทรกแซงการเมือง  

           
         อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่พยายามร้องขอให้เลิกกิจกรรมแต่ทางกลุ่มก็ยังดำเนินการกิจกรรมจนจบ ก่อนแยกย้ายออกจากงาน โดยที่ไม่มีการควบคุมตัวแต่อย่างใด






กลุ่มเมล็ดพริกชูป้ายประท้วงระหว่างบวรศักดิ์ปาฐกถา