วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ทุกเชื้อชาติร่วมแถลงประณามการก่อเหตุรุนแรงต่อเป้าหมายอ่อนแอ


จากเหตุการณ์ คนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนางสาวพารีด๊ะ สาและ อายุ 31 ปี ซึ่งเป็นลูกจ้างโครงการสร้างงานจ้างงานเร่งด่วน อยู่บ้านเลขที่ 57/1 บ้านปุโรง หมู่ที่ 2 ต.ปุโรง อ.กรงปินัง จ.ยะลา เมื่อเวลา 19.50 น. วันที่ 8 พ.ค.2558 เสียชีวิตขณะนั่งอยู่บริเวณบ้านพักของตนเอง ซึ่งเปิดเป็นร้านขายของชำ โดยคนร้ายเดินมาจากสวนยางพาราหลังบ้านพัก ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ได้มีองกรประชาสังคมได้ออกแถลงการณ์ประณามและเรียกร้องทั้งต่อภาครัฐให้มีมาตรการป้องกัน เยียวยา และให้ผู้ก่อเหตุยุติการกระทำต่อเป้าหมายอ่อนแอ
เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสนติภาพ (B4P) สนับสนุนทุกองค์กรร่วมประณาม
เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ (B4P) ออกจดหมายเปิดผนึกถึงผู้เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาชายแดนใต้แสดงความกังวลของคนไทยพุทธ ถึงกรณีฆ่าและการกระทำต่อเป้าหมายที่อ่อนแอทั้งกรณีเหตุฆ่าแล้วเผานายสรรเพ็ชร กาญจนเทพ และนางนพรัตน์ กาญจนเทพ ในหมู่บ้านบ้านตันหยง ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา และเหตุคนร้ายยิงนางสาว ฟารีด๊ะ สาและ เสียชีวิตที่บ้านปุโรง อ.กรงปินัง จังหวัดยะลา
เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสนติภาพ มีความกังวลต่อความสูญเสียของทุกคน ซึ่งไม่ควรสูญเสีย ในบรรยากาศที่กำลังเดินหน้าการพูดคุยสันติสุข จึงขอเสนอให้ละเว้นต่อเป้าอ่อนแอ และพลเรือน เพราะการละเมิดมนุษยธรรมยิ่งทำให้ทุกฝ่ายไกลไปจากเป้าหมายทั้งสิ้น และเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพขอสนับสนุนแถงการณ์ของสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ
จดหมายเปิดผนึกฉบับเต็ม http://www.deepsouthwatch.org/node/7146
สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ we peace ประณามการก่อเหตุรุนแรงต่อสตรี
สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพออกแถลงการณ์กรณี สตรีถูกยิง อ.กรงปินัง จังหวัดยะลา โดยขอประณามการกระทำอันโหดร้ายที่กระทำต่อสตรี ปราศจากอาวุธ และไม่มีทางต่อสู้ นับเป็นการกระทำที่โหดเหี้ยม กระทำต่อเป้าหมายที่อ่อนแอ เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสมาชิกในครอบครัวอย่างยิ่ง
สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (We Peace) ขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น อีกทั้งขอให้รีบเร่งดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม การให้ความช่วยเหลือเยียวยา และขอเรียกร้องให้พี่น้องประชาชน องค์กรภาคประชาสังคม ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ รวมพลังกันแสดงจุดยืน ประณามการกระทำดังกล่าวต่อผู้ก่อเหตุความรุนแรง
แถงการณ์ฉบับเต็ม http://www.deepsouthwatch.org/node/7145
กลุ่มลูกเหรียงเรียกร้องเยียวยาบุตรระยะยาว
สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) ออกแถลงการณ์ ประมาณการกระทำของผู้ก่อเหตุความรุนแรงที่โหดร้ายที่กระทำต่อเป้าหมายอ่อนแอ เป็นกระทำที่ขาดเมตตาธรรม ไร้มนุษยธรรม ผิดต่อกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเรียกร้อง ให้องค์กรภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐและพี่น้องประชาชนรวมพลังกันแสดงจุดยืดและประณามการกระทำครั้งนี้
ทางกลุ่มขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรียกร้องให้เยียวยาด้านจิตใจและให้ความช่วยเหลือระยะยาวต่อพี่น้องฝาแฝดซึ่งเป็นบุตรของนางสาวฟารีดะห์อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด
แถลงการณ์ฉบับเต็ม http://www.deepsouthwatch.org/node/7147
ส่วนเหตุการณ์คนร้ายเหตุฆ่าแล้วเผา นายสรรเพ็ชร กาญจนเทพ อายุ 42 ปี และนางนพรัตน์ กาญจนเทพ อายุ 37 ปี เหตุเกิดที่ หมู่ที่ 1 บ้านบาเจาะ  ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2558 เวลา 17.10 น. องค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ หลายองค์กรได้ออกแถลงการณ์ ดังนี้
LEMPAR จี้รัฐต้องจัดกลไกการตรวจสอบและการสอบสวนที่เป็นกลางและอ้างอิงหลักฐานได้
สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (Lempar) ออกแถลงการณ์ว่า แสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและขอแสดงความไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งต่อการกระทำความรุนแรงทุกรูปแบบโดยเฉพาะต่อกลุ่มเป้าหมายพลเรือนทุกชนชาติและศาสนา
พร้อมกันนี้ได้มีข้อเรียกร้องให้รัฐจัดตั้งกลไกตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีความเป็นกลางที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนและชี้แจงต่อสาธารณะ เพื่อลดกระแสความรู้สึกของสาธารณะ และเรียกร้องให้สาธารณะวิจารณญาณที่มีวุฒิภาวะทางการเมือง เพราะบางทีความจริงอาจจะเป็นความเท็จและความเท็จอาจจะเป็นความจริงก็เป็นได้
นอกจากนี้ได้เรียกร้องให้รัฐเร่งการดำเนินคดีกับกลุ่มคนร้ายอย่างมีความรัดกุมรอบคอบเพื่อให้ได้คนร้ายตัวจริง ทั้งนี้หากจำเป็นที่จะต้องใช้ยุทธการปิดล้อมตรวจค้นหมู่บ้านเป้าหมาย ขอให้รัฐใช้ความระมัดระวังอย่างสูงในการปฏิบัติการเพื่อไม่ให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ
แถลงการณ์ฉบับเต็ม  http://www.deepsouthwatch.org/node/7140
กลุ่มลูกเหรียง ขอให้กองกำลังติดอาวุธยุติทำร้ายเป้าหมายอ่อนแอ
สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้(กลุ่มลูกเหรียง) ออกแถลงการณ์ ประมาณการกระทำของผู้ก่อเหตุความรุนแรงที่โหดร้ายที่กระทำต่อเป้าหมายอ่อนแอ เป็นกระทำที่ขาดเมตตาธรรม ไร้มนุษยธรรม ผิดต่อกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเรียกร้อง ให้องค์กรภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐและพี่น้องประชาชนรวมพลังกันแสดงจุดยืดและประณามการกระทำครั้งนี้
เรียกร้องให้เร่งดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม และนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และสร้างความเชื่อมั่นในการดำรงชีวิตอย่างปลอดภัย พร้อมการเยียวยาด้านจิตใจ และความช่วยเหลือระยะยาวต่อลูกๆ ของผู้ที่เสียชีวิต และขอให้กองกำลังติดอาวุธ ยุติการทำร้ายเป้าหมายที่อ่อนแอ เพื่อส่งเสริมบรรยากาศของการพูดคุยสันติภาพที่ยั่งยืน
แถลงการณ์ฉบับเต็ม http://goo.gl/C8ajxl
มูลนิธิสตรีประณามกลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงในการก่อเหตุทุกกรณี
มูลนิธิสตรีผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกแถลงการณ์ประณามกลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงในการก่อเหตุทุกกรณีและทุกเหตุการณ์ ที่มุ่งประสงค์ต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชนผู้บริสุทธิ์ สร้างความเสียหาย วุ่นวาย แตกแยก หวาดกลัว และความไม่ปลอดภัยต่อสาธารณชน
โดยเรียกร้องให้องค์กรภาคประชาสังคมและประชาชนรวมพลังกันแสงจุดยืนและประณามการกระทำของผู้ก่อเหตุที่มีต่อสตรี พร้อมทั้งร่วมมือกันช่วยเหลือเยียวยาจิตใจแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างรวดเร็วและเหมาะสม โดยไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตให้กลับฟื้นคืนสู่ปกติในเร็ววัน
แถลงการณ์ฉบับเต็ม http://goo.gl/510pJx
สสชต. เรียกร้องสันติภาพที่ยั่งยืน
สหพันธ์ นักเรียน นักศึกษา เพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (สสชต.) ออกแถลงการณ์ ประณามผู้ก่อเหตุความรุนแรง อันเป็นการกระทำขาดเมตตาธรรมไร้มนุษยธรรมที่ผิดกฎหมายและละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ รวมทั้งขอเรียกร้องให้องค์กรภาคประชาสังคมและพี่น้องประชาชนร่วมพลังกันแสดงจุดยืนและประณามการกระทำของผู้ก่อเหตุดังกล่าว
พร้อมกันนี้ได้แสดงความเสียใจและความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ครั้งนี้ และเชื่อมั่นว่าสันติภาพที่ยั่งยืนไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากผู้บริสุทธิ์ยังถูกคุกคาม และสังคมยังไร้ซึ่งความมั่นคงปลอดภัย
แถลงการณ์ฉบับเต็ม http://goo.gl/wM8eYo
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและกลุ่มด้วยใจ "เหตุการณ์เข้าข่ายอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ"
แถลงการณ์ร่วมองค์กรพัฒนาเอกชน (มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและกลุ่มด้วยใจ) กล่าวว่า เหตุการณ์ความรุนแรงต่อพลเรือนอาจเข้าข่าย “อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ” (Crime against Humanity) ที่ฝ่ายกระทำจะต้องรับผิดทางอาญาตามหลักการของกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ การฆ่าสังหารพลเรือนเท่ากับเป็น“การละเมิด” กฎหมายระหว่างประเทศ โดยกลุ่มที่กระทำทั้งที่เป็นรัฐและไม่ใช่รัฐจะต้องรับผิดทางอาญาตามหลักการดังกล่าว
แถลงการณ์ได้เรียกร้องให้กลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงทุกฝ่ายยุติการฆ่าสังหารต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ในสถานการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ การฆ่าสังหารผู้บริสุทธิ์ เป้าหมายอ่อนแอไม่ว่าจะเป็นพุทธ มุสลิม และอื่นๆ รวมทั้งการทำลายศพที่เป็นการกระทำอย่างเป็นระบบแพร่หลายจะเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ พร้อมเรียกร้องให้รัฐที่มีพันธะ หน้าที่ในการปกป้อง คุ้มครอง ให้ผู้หญิงได้มีชีวิตรอด และ ดำเนินการหามาตรการป้องกันเหตุอย่างจริงจังและขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันสร้างสรรค์บรรยากาศของสันติภาพให้กลับคืนมาทดแทนความรุนแรงที่สร้างรอยร้าวและบาดแผลมาอย่างยาวนานให้กลับคืนมา
แถลงการณ์ฉบับเต็ม http://goo.gl/Ig3epY

สื่อใหญ่เกาหลีใต้เตรียมจัดฟอรั่มผู้นำเอเชีย มีชื่อทักษิณร่วมพูด


12 พ.ค. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยถูกระบุเป็นหนึ่งในผู้พูดในการประชุมผู้นำเอเชียประจำปี 2015 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 19-20 พ.ค. นี้ โดยเครือหนังสือพิมพ์โชซันอิลโบ ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อใหญ่ของเกาหลีใต้ ร่วมกับคณะกรรมการเตรียมการรวมชาติ (ภายใต้กำกับของประธานาธิบดี)
งานดังกล่าวจะจัดขึ้นที่โรงแรม The Shilla ใจกลางกรุงโซล มีผู้บรรยายทั้งสิ้น 96 คน ซึ่งนอกเหนือจากนักวิชาการที่โดดเด่นในเกาหลีแล้ว ยังมีบุคคลสำคัญระดับโลกอีกหลายสิบคนเข้าร่วมงานนี้ อาทิ แจ๊ก หม่า ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทอาลีบาบา, ฮอร์สต์ โคห์เลอร์ อดีตประธานาธิบดีเยอรมันระหว่างปี 2004-2010,  ถัง เจียสวน (Tang Jiaxuan) อดีตมุขมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน เป็นต้น
สำหรับงานประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียประจำปี ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 โดยธีมหลักของงานนี้คือวาระครบรอบ 70 ปี สงครามโลกครั้งที่สอง เหลียวหลังและแลไปข้างหน้า โดยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลายประเทศได้ประกาศเสรีภาพและพ้นจากการอยู่ใต้อาณานิคม รวมถึงเกาหลีใต้ด้วย ซึ่งปรากฏการณ์นี้ได้ส่งผลให้โลกเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว แต่ปัจจุบันนี้ทั้งโลกกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนที่ต้องการการวางภาพอนาคตร่วมกันอีกครั้ง
ทั้งนี้ วาระการร่วมแลกเปลี่ยนถูกจำแนกออกเป็น 5 ประเด็นคือ ประเด็นแรก Unification- การร่วมตัวกันของเกาหลีเหนือ-ใต้ ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อของคาบสมุทรเกาหลี, Global Giving- การช่วยเหลือส่งเสริมกันและกันในระดับระหว่างประเทศ, Women- ประเด็นผู้หญิงทั้งในด้านความเท่าเทียมในการทำงานและการพัฒนาศักยภาพ, IT-เทคโนโลยีสื่อสาร , และ Culture วัฒนธรรม

น.ร.เครือข่ายอภิวัฒน์การศึกษาไทย ยื่น 6 ข้อเสนอปฏิรูปการศึกษา หลัง 1 ปีไม่เห็นรูปธรรม


กลุ่มนักเรียนเครือข่ายผู้ก่อการอภิวัฒน์การศึกษาไทย จัดทำข้อเสนอปฏิรูปการศึกษา 6 ข้อ ยื่นต่อปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หลังผ่านไป 1 ปี ยังไม่เห็นรูปธรรมที่ชัดเจน
12 พ.ค.2558 กลุ่มนักเรียนซึ่งรวมตัวกันในชื่อ เครือข่ายผู้ก่อการอภิวัฒน์การศึกษาไทย (Rise Up Thai Students Network) จัดทำข้อเสนอแนะปฏิรูปการศึกษาถึงพลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนสัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายแพทย์กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ในข้อเสนอดังกล่าว ระบุถึงความเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อแนวคิดทางการศึกษาของ รมว.กระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน ซึ่งดำรงตำแหน่งมาแล้วหนึ่งปี และมีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาแล้ว แต่ยังไม่เห็นทิศทางการปฏิรูปการศึกษาที่เป็นรูปธรรมชัดเจน
สำหรับข้อเสนอปฏิรูปการศึกษาที่เครือข่ายผู้ก่อการอภิวัฒน์การศึกษาไทยเสนอไว้มี 6 ข้อ ได้แก่
1. ทบทวนความเหมาะสมของการให้ท่องจำค่านิยม 12 ประการ โดยเห็นว่ามีค่านิยมหลายอย่างที่นำไปใช้ได้ แต่วิธีการให้ท่องจำหรือรับค่านิยมดังกล่าวยังมีความเหมาะกับบริบทปัจจุบันหรือไม่
2. เสนอให้ปรับปรุงระบบแนะแนวในโรงเรียน ให้ครูแนะแนวสามารถแนะนำนักเรียนให้เข้าเรียนต่อในสายที่ต้องการได้ และชี้ว่ายังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างสายอาชีวะกับสายสามัญ สายวิทยาศาสตร์กับสายศิลปศาสตร์ โดยในหลายโรงเรียนนักเรียนได้รับการเอาใจใส่ไม่เท่าเทียมกัน หรือไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร
3. เสนอให้ปรับปรุงอาชีวะศึกษา และยกระดับโรงเรียนอาชีวะศึกษาให้มีศักดิ์ศรีทัดเทียมกับโรงเรียนสายสามัญ  โดยกล่าวว่าประเทศไทยมีผู้เรียนสายสามัญมากกว่าสายอาชีวะถึงสองเท่า ขณะที่ยังขาดแคลนแรงงานที่เป็นกำลังการผลิตเป็นอย่างมาก และคนที่เรียนจบไม่สามารถหางานทำได้
4. เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการทบทวนการบังคับเรียนวิชาลูกเสือ โดยเห็นว่า ประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่มีการบังคับให้เรียนวิชาลูกเสือ ซึ่งเป็นวิชาที่นักเรียนหลายคนไม่มีความสุขและเสียเวลา โดยเสนอให้วิชาลูกเสือเป็นวิชาเลือก หรือวิชาในชุมนุม  เพื่อลดค่าใช้จ่ายการทางการเงินของผู้ปกครองในการซื้อเครื่องแบบ อุปกรณ์ต่างๆ เช่น ไม้ง่าม หรือที่ติดบ่าต่างๆ
5. เสนอให้มีหน่วยงานร้องทุกข์และรับฟังข้อเสนอของนักเรียน  โดยยกกรณีครูละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียน เช่น การตัดผมนักเรียน หรือกรณีที่นักเรียนมีปัญหากับครู ควรมีหน่วยงานใกล้ชิดเพื่อรับฟังปัญหา และชำระคดีความต่างๆ อย่างยุติธรรม มีเหตุผล และโปร่งใสตรวจสอบได้ รวมถึงรับฟังข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ของนักเรียนหรือครู โดยเสนอว่าหน่วยงานดังกล่าวไม่ควรจะเป็นระบบข้าราชการที่เชื่องช้า แต่เสนอให้เป็นระบบอาสาสมัครเข้ามาทำงาน
6. เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการเข้าไปดูปัญหาจากการออกนโยบายหรือคำสั่งต่างๆ ที่ส่งผลลัพธ์ออกมาในทางลบ เช่น ระบบประเมินบุคคลากรที่เป็นการเพิ่มภาระให้กับครู หรือการให้ทำบันทึกรักการอ่านโดยที่ไม่คำนึงถึงภาระงานของครูและนักเรียนที่มีอยู่ ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตามที่ต้องการอีกด้วย
มติชนออนไลน์ รายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ มีกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นำโดยนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล แสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการใส่หน้ากากนายกรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมเดินขบวนรอบที่ทำการกระทรวงศึกษา ก่อนเข้ายื่นหนังสือต่อนายแพทย์กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษา โดยนายกำจรลงมารับฟังข้อเรียกร้องด้วยตนเอง

'พันธ์ศักดิ์-จิตรา' ขึ้นศาลทหาร

12 พ.ค.2558 เมื่อเวลา 9.00 น. ที่ศาลทหาร สนามหลวง พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อของนายสมาพันธ์หรือ เฌอ ซึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์สลายชุมนุมปี 53 เดินทางมาศาลฯ เนื่องจากอัยการศาลทหารนัดฟังคำสั่งว่า อัยการจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ในคดีตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 116 ข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความปั่นปวนในบ้านเมือง จากการโพสเฟซบุ๊กและถูกจับเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา ในเวลาเที่ยงคืน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
ล่าสุดเมื่อเวลา 15.20 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน’ รายงานว่า อัยการเลื่อนสั่งคดีนายสมาพันธ์ ไป 4 มิ.ย.นี้
ขณะที่ จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงาน จำเลยในคดีฝ่าฝืนคำสั่งคสช. เดินทางมาศาลทหารเช่นกัน โดยวันนี้ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ได้เดินทางมาเบิกความในฐานะพยานโจทก์
โดยในวันนี้มีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตหลายที่เข้าสังเกตการณ์ในการสืบพยานด้วย เช่น สหภาพยุโรป ฟินแลนด์ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก ฝรั่งเศส และนิวซีแลนด์ เป็นต้น

 

หลังจากขึ้นศาลแล้ว จิตรา และ ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ให้สัมภาษณ์ โดยจิตรา กล่าวว่า พ.อ.บุรินทร์ มาสืบเรื่องขั้นตอนการจับการออกหมายจับ การออกคำสั่งเรียกว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ขณะที่ทนายของตนได้ถามค้านเพื่อแสดงให้เห็นว่าตนเองไม่มีเจตนาที่จะหลบหนี เพียงแต่ ขณะนั้นตนอยู่ต่างประเทศ
สำหรับการสืบพยานในครั้งต่อไปนั้นคือวันที่ 17 ก.ค.2558 เวลา 9.00 น. โดย ภาวิณี กล่าวว่าครั้งหน้าจะเป็นการสืบเจ้าหน้าที่ทหารที่รับนังสือชี้แจงว่าทางจิตราไม่มีเจตนาฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัว
ภาวิณี กล่าวด้วยว่า จริงๆ คดีนี้ไม่ควรที่จะต้องมีการดำเนินคดีตั้งแต่ต้น เพราะว่าจิตรา ชี้แจงโดยชัดเจนแล้วว่าไม่มีเจตนา และได้ไปรายงานตัวที่สถานทูตตามกำหนดของการรายงานตัว ซึ่งพยานที่มาเบิกความในวันนี้ที่เป็นผู้กล่าวหาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารก็ได้ให้ความเห็นต่อศาลด้วยว่าหลังจากที่เขาได้ทราบข้อเท็จจริงแล้ว ก็เห็นว่าตัวคุณจิตราก็ไม่ได้มีเจตนาฝ่าฝืนคำสั่งที่จะไม่ไปรายงานตัว
ทั้งนี้ จิตรา ถูก คสช. เรียกเข้ารายงานตัวตามคำสั่งที่ 44/2557 เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.57 แต่ไม่สามารถเดินทางมารายงานตัวได้เนื่องจากติดภารกิจดูงานกิจกรรมสหภาพแรงงานที่สวีเดน อย่างไรก็ตามเธอได้แจ้งกับสถานทูตไทยในสวีเดนแล้ว แต่ก็ยังถูกออกหมายจับในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว เมื่อจิตราเดินทางกลับจากสวีเดนถึงสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อ 13 มิ.ย.57 ก็ถูกควบคุมตัวไว้ที่กองปราบ 1 คืนก่อนจะได้รับการประกันตัวและถูกดำเนินคดีดังกล่าว

กปปส. คืนรัง เตรียมยกขบวนกลับพรรคประชาธิปัตย์ สู้ศึกเลือกตั้ง



Tue, 2015-05-12 18:20


ชุมพล จุลใส เผย กปปส. ทั้งหมดเตรียมลงเลือกตั้งในนาม พรรคประชาธิปัตย์ ชี้ คสช. ทำงานดีตามเป้าที่วางไว้ 50 เปอร์เซ็นต์ พร้อมยันไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ หาก รธน. ดีอยู่แล้ว ไม่ควรเสียเงินอีก


12 พ.ค. 2558 เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2558 ชุมพล จุลใส แกนนำ กปปส. กล่าวถึงแนวทางปฏิรูปประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า เราเห็นด้วยกับรัฐบาล ถือว่าทำงานได้ตามเป้าหมายที่ กปปส.ได้คาดหวังไว้แล้วร้อยละ 50 โดยเฉพาะการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่ถือว่าทำได้ดีเยี่ยม รวมทั้งแก้ปัญหาความมั่นคง และโรฮิงญา หากเจ้าหน้าที่ไม่รู้เห็นไม่เกี่ยวข้องจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน จึงเหลือเพียงปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของเกษตรกรเท่านั้น ซึ่งอยากให้มีการปรับ ครม.ด้านเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะปัญหาเศรษฐกิจสำคัญมาก หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. สามารถแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ รัฐบาลจะอยู่ได้ยาว เพราะชาวบ้านมีความสุข และสิ่งที่ต้องการให้ปฏิรูปหลังจากนี้ ให้เน้นเรื่องของตำรวจ เพราะจากการพูดคุยกับพนักงานสอบสวน ก็เห็นด้วยกับการแยกพนักงานสอบสวน ออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพราะพนักงานสอบสวนถือเป็นต้นสายของกระบวนการยุติธรรม หากอยู่ภายใต้ สตช.ก็จะถูกล้วงลูกจากผู้บังคับบัญชา

ชุมพล กล่าวต่อว่า กปปส.ยังจะจับตาดูการปฏิรูปของ คสช.ต่อไป และหากในอนาคตพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นรัฐบาล และทำไม่ดี เราก็พร้อมจะออกมาเคลื่อนไหวอีก และตนจะไม่จับมือกับพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะจตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยมีแต่คนไม่ดี คนดีก็มีเยอะ แต่ก็ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ ขณะนี้ส่วนตัว และประชาชนมั่นใจและเชื่อใน ตัว พล.อ.ประยุทธ์ ยังเดินตามโรดแม็พ แต่โรดแม็พดังกล่าวก็ต้องอยู่ที่แม่น้ำ 5 สาย เป็นหนึ่งเดียวกันหรือไม่ เพราะแม่น้ำ 5 สายจะต้องรู้ตัวเองว่าเข้ามาทำภารกิจเพื่อชาติ จะมาทำตัวเป็นนักการเมืองไม่ได้ จะต้องรีบทำงานให้เสร็จตามแผน ต้องอย่าลืมคำพูดเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากเลยโรดแม็พไปแล้วจะอยู่ลำบาก ทั้งนี้สำหรับแนวทางการทำประชามตินั้น ตนไม่เห็นด้วย หากรัฐธรรมนูญดีแล้ว ก็ควรประกาศใช้ไปเลย จะเสียเงิน 3 พันล้านบาทไปเพื่อะไร เอาไปช่วยชาวบ้านดีกว่า และยังจะทำให้ประชาชนเกิดความขัดแย้งกันอีกอย่างเช่นบทเรียนในปี 50

ชุมพล ยังกล่าวด้วยว่า หากรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว กลุ่ม กปปส. จะยกขบวนเข้าพรรคประชาธิปัตย์เพื่อเป็นผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคทั้งหมด โดยไม่มีการลงสมัครในนามกปปส. เพราะเราเล่นการเมืองหน้าเดียว ไม่ใช่พรรคอะไหล่ และไม่มีนอมินี ขณะที่ พระสุเทพ ปภากโร หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. ก็ยังไม่มีกำหนดลาสิกขา และจะไม่เข้าลงสมัคร ส.ส.หรือลงเลือกตั้งอีกแล้ว และไม่ฝันจะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่พระสุเทพ จะทำงานในมูลนิธิมวลมหาประชาชน ส่วนเรื่องระบบเลือกตั้งที่กำหนดใหม่ในร่างรัฐธรรมนูญ ที่ให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบเปิด หรือโอเพ่นลิสต์นั้น คิดว่าเป็นระบบที่ดี เพราะตัดเรื่องระบบนายทุนพรรคการเมือง

ศาลให้ประกัน 'หญิงวัย 65 ป่วยไบโพลาร์'-สั่งญาตินำประวัติรักษายื่นศาลใน 7 วัน



Tue, 2015-05-12 13:15

วันนี้ ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวฐิตินันท์ พร้อมสั่งให้ญาตินำประวัติการรักษาของจำเลยภายใน 2 เดือนนี้ มายื่นให้ศาลภายใน 7 วัน ด้านลูกชายใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 3 แสนบาทประกันตัว



12 พ.ค.2558 ที่ศาลอาญา รัชดา มีรายงานข่าวแจ้งว่าศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่นางฐิตินันท์ (สงวนนามสกุล) วัย 65 ปีเป็นจำเลยในคดีมาตรา 112 โดยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้เป็นจำคุก 1 ปีไม่รอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรง เพื่อไม่ให้การกระทำเป็นเยี่ยงอย่าง อีกทั้งขณะกระทำผิดยังสามารถบังคับตัวเองได้บ้าง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น พิพากษาแก้ โทษจำคุกไม่ให้รอการลงโทษ นอกนั้นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ก่อนหน้านี้วันที่ 21 พ.ค.2557 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 1 ปี ศาลชั้นต้นเห็นว่าไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และจำเลยมีอาการทางจิตคืออารมณ์สองขั้ว อาการป่วยทางจิตเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำเลยทำความผิด เพื่อประโยชน์ของจำเลยและสังคมโดยรวม เห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวและได้เข้ารับการรักษาอาการป่วย จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 3 ปี และให้รายงานความคืบหน้าของการรักษาจากแพทย์ทุก 6 เดือนมีกำหนด 2 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทนายความจำเลยเตรียมดำเนินการฎีกาคดี และจะยื่นประกันตัวนางฐิตินันท์ด้วยหลักทรัยพ์เดิม คาดว่าจะรู้ผลการประกันตัวภายในเย็นวันนี้