วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

รัฐบาลเตรียมเปิดตลาดผักผลไม้คลองผดุงกรุงเกษมข้างทำเนียบรัฐบาล


โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีจะเปิดเทศกาลผักผลไม้ไทยคุณภาพ ที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล เพื่อช่วยเกษตรกรรายย่อยจำหน่ายสินค้าให้เป็นที่รู้จัก ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เป็นแบบอย่างตลาดนัดสินค้าชุมชน โดยจัดต่อเนื่อง 4 สัปดาห์ ถึง 31 พ.ค.
5 พ.ค. 2558 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ร.อ. นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีเปิดงานเทศกาลผักผลไม้ไทยคุณภาพ ณ ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ริมคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล ในวันพุธที่ 6 พฤษภาคม นี้ เวลา 17.00 น. เพื่อช่วยเหลือและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยให้มีพื้นที่นำเสนอสินค้าดีให้เป็นที่รู้จัก มีพื้นที่จำหน่ายสินค้าราคายุติธรรม โดยเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยจะได้มีโอกาสจำหน่ายผลผลิตสู่ตลาดได้โดยตรงถึงผู้บริโภคที่ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เป็นแบบอย่างของตลาดนัดสินค้าชุมชน สร้างเครือข่ายทางธุรกิจ พร้อมส่งเสริมวัฒนธรรมและความเป็นไทย
ทั้งนี้ กิจกรรมเทศกาลผักผลไม้คุณภาพมีขึ้นระหว่างวันที่ 6-31 พฤษภาคม 2558 ริมคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจะมีร้านจำหน่ายสินค้า 70 บูธ แบ่งเป็น 3 โซน คือการแสดงและจำหน่ายผักและผลไม้ไทยคุณภาพ การจำหน่ายพันธุ์และกิ่งพันธุ์ไม้ผล และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปผักและผลไม้ ซึ่งในสัปดาห์แรกของงานระหว่างวันที่ 6-10 พฤษภาคม นี้ ผลผลิตที่นำมาจำหน่ายจะเน้นความ “หวานซ่อนเปรี้ยว มะม่วงหลากพันธุ์ อร่อยหลากรส”
สัปดาห์ที่ 2 วันที่ 11-17 พฤษภาคม 2558 “หวานฉ่ำ อร่อยล้ำ สับปะรด แตงโม ส้มโอลิ้นจี่” สัปดาห์ที่ 3 วันที่ 18-24 พฤษภาคม 2558 “หอมหวาน สุดยอดราชา ราชินีผลไม้ ทุเรียน มังคุด” และสัปดาห์ที่ 4 วันที่ 25-31 พฤษภาคม 2558 “ใหม่สดปลอดภัย ผักอินทรีย์ กล้วยหอมทองส่งออก ผลไม้แปรรูป” พร้อมกันนั้น ในบริเวณงาน จะมีถนนคนเดิน ตลาดกลางคืน ในช่วงของวันที่ 8-30 พฤษภาคม 2558 เฉพาะในวันศุกร์และเสาร์ ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น.

นักโบราณคดีอัฟกานิสถาน รณรงค์ป้อง 'เมสไอนัค' พุทธโบราณสถานจากบรรษัทเหมืองแร่จีน


'เมสไอนัค' (Mek Aynak) โบราณสถานสำคัญที่มีอายุเก่าแก่กว่า 2,000 ปี ตั้งอยู่ในอัฟกานิสถานกำลังอาจจะถูกทำลายโดยบรรษัทเหมืองแร่จากจีนที่ต้องการขุดเหมืองทองแดงในพื้นที่ ทำให้กลุ่มนักโบราณคดีอัฟกานิสถานชื่อ Saving Mek Aynak พยายามต่อสู้เพื่อไม่ให้โบราณสถานนี้ถูกทำลาย

4 พ.ค. 2558 เว็บไซต์ 'เอนเชียนออริจิน' (Ancient Origins) ซึ่งเป็นเว็บนำเสนอเรื่องราวโบราณคดีระบุว่า 'เมสไอนัค' (Mek Aynak) โบราณสถานซึ่งเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญชิ้นหนึ่งของโลกที่มีอายุกว่า 2,000 ปี ตั้งอยู่ในประเทศอัฟกานิสถานกำลังจะถูกบริษัทเหมืองแร่ของจีนรื้อทำลายเพื่อทำเหมืองแร่ทองแดงซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ แต่ก็มีกลุ่มนักโบราณคดีในอัฟกานิสถานพยายามต่อสู้เพื่อปกป้องโบราณสถานแห่งนี้
'เมสไอนัค' ตั้งอยู่ในจังหวัดโลการ์ ท่ามกลางเทือกเขาฮินดูกูชซึ่งเป็นเส้นทางสายไหมเชื่อมต่อระหว่างจีนกับแถบเมดิเตอร์เรเนียนฝั่งตะวันออก เอนเชียนออริจินระบุว่าพื้นที่นี้เคยเป็นแหล่งที่ตั้งของคนหลายเชื้อชาติศาสนาทั้งฮินดู มุสลิม ยิว ผู้นับถือศาสนาโซโรแอสเตอร์รวมถึงชาวพุทธ ทั้งนี้ยังมีพุทธศาสนสถานโบราณจำนวนมากจนถือเป็นแหล่งเชื่อมต่อทางวัฒนธรรมระหว่างเอเชียกับเมดิเตอร์เรเนียน
แม้จะมีการประเมินตัวเลขโบราณวัตถุที่สำคัญทางศาสนาจำนวนมาก แต่นักโบราณคดีก็ยังขุดค้นได้ไม่มากนักโดยพวกเขาเชื่อว่าสิ่งที่ค้นพบในปัจจุบันเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของเมืองโบราณ กลุ่มนักโบราณคดีผู้ต้องการรักษาเมสไอนัค (Saving Mes Aynak) ระบุว่าในอนาคตพื้นที่นี้อาจจะมีส่วนสำคัญในการตีความประวัติศาสตร์ใหม่ในแง่ของทั้งประวัติศาสตร์ประเทศอัฟกานิสถานและประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาเอง
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญแห่งนี้แม้จะถูกพบตั้งแต่ปี 2507 แต่เหตุการณ์แย่งชิงอำนาจทางการเมืองหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานทำให้ไม่มีโครงการขุดค้นจนกระทั่งถึงปี 2547 มีนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสไปเยือนแล้วพบว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ถูกปล้นชิงไปเยอะมาก โดยพื้นที่แห่งนี้ยังอยู่ในเมืองที่มีชายแดนติดกับเมืองในปากีสถานที่ถูกครอบครองโดยกลุ่มตอลีบันและมักจะถูกใช้เป็นทางผ่านของกลุ่มติดอาวุธ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้ไม่ได้มาจากกลุ่มติดอาวุธแต่มาจากบรรษัทกลุ่มโลหการจีน (China Metallurgical Group Corporation) ที่ต้องการขุดหาแร่โดยต้องทำลายแหล่งโบราณสถานและหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียง 6 หมู่บ้านถึงจะปฏิบัติการได้ นอกจากนี้บรรษัทจีนยังมีแผนการขุดแร่ด้วยวิธีการถูกๆ อย่างการทำเหมืองแบบขุดหลุมเปิด (Open-Pit mining) ซึ่งจะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย
ทั้งนี้ยังมีเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นในการทำสัญญาระหว่างรัฐบาลอัฟกานิสถานกับบรรษัทเหมืองแร่ซึ่งรัฐมนตรีอัฟกานิสถานคนหนึ่งรับเงินสินบน 30 ล้านดอลลาร์จากบรรษัทเหมืองแร่จีน ซึ่งหลังจากถูกเปิดโปงรัฐมนตรีรายดังกล่าวนี้ก็ลาออกภายในเวลาไม่นาน
อย่างไรก็ตามมีกลุ่มนักโบราณคดีอัฟกานิสถานและผู้สร้างภาพยนตร์ชาวสหรัฐฯ ร่วมมือกันเคลื่อนไหวให้เกิดแรงกดดันจากนานาชาติเพื่อให้มีการเลื่อนเวลาขุดเหมืองแร่ออกไปโดยให้มีการเก็บอนุรักษ์มรดกทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ไว้เสียก่อน
ทีมรักษาเมสไอนัคยังจัดโครงการระดมทุนจากมวลชน (crownfunding) ผ่านเว็บไซต์ Indiegogo อีกทั้งยังมีการล่ารายชื่อจากเว็บไซต์ change.org เรียกร้องให้ประธานาธิบดีโมฮัมหมัด อัสซราฟ กานี คุ้มครองพื้นที่จากการถูกทำลายโดยการเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก
ทีมรักษาเมสไอนัคระบุว่า เหล่านักโบราณคดีในอัฟกานิสถานต้องต่อสู้กับทั้งกลุ่มตอลีบาน การเมืองภายใน และบรรษัทจีนเพื่อช่วยเหลือไม่ให้มรดกทางวัฒนธรรมถูกลบเลือน และยังไม่สายเกินไปที่จะร่วมกันรักษามรดกอย่างเมสไอนัคไว้

แพทย์จุฬาฯ ย้ำ 30 บาท เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ไม่แบ่งรวย-จน


แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว จุฬาฯ ย้ำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ชี้เส้นแบ่งรวยจนวัดยาก เหตุคนยุคปัจจุบันผูกติดทุนนิยม รวยเร็วจนเร็ว แนะ 3 ขั้นตอน สร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ
5 พ.ค.2558 ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ จากสำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นต่อกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวผ่านรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมาว่า ขอให้คนรวยหรือคนมีฐานะปานกลางสละสิทธิการใช้ 30 บาทรักษาทุกโรคให้กับให้กับคนจน
นพ.ธีระ กล่าวว่า ไม่ได้เห็นขัดแย้งกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม แต่เห็นว่าต้องตีความ ‘ความเป็นธรรมในสังคม’ ให้แตกก่อนว่าเป็นอย่างไร และยืนยันว่า “การรักษาพยาบาลควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าจะเป็นคนยากจน ร่ำรวย ต่างต้องมีสิทธิในการได้รับการดูแลรักษาจากสถานพยาบาลหรือหน่วยงานภาครัฐเช่นกัน”
นพ.ธีระ กล่าวว่า ต้องดูว่าการกำหนดให้คนจนควรได้รับการรักษาฟรี และให้คนมีรายได้ระดับหนึ่งต้องจ่ายค่ารักษาทุกครั้งที่เข้ารับบริการ เป็นการสร้างความเป็นธรรมหรือไม่ เพราะเรื่องเส้นแบ่งความยากจนเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันมานาน แม้แต่ในต่างประเทศ ซึ่งมีความพยายามใช้ระดับรายได้มาคิดเพื่อแบ่งระดับความยากจน แต่แนวคิดนี้กลับไม่ได้รับการยอมรับทั่วโลก เพียงแต่มีการยอมรับในหมู่นักวิชาการเท่านั้น และในความเป็นจริงพบว่า คนรวยในปัจจุบันอาจกลายเป็นคนจนได้ เพราะการใช้ชีวิตและเศรษฐกิจของประชาชนผูกติดกับทุนนิยม อย่าง ตลาดหุ้น ที่คนลงทุนมาก เมื่อหุ้นขึ้นก็รวย แต่ก็ยากจนได้ทันทีเมื่อหุ้นลง ดังนั้นจึงมีถามว่า เส้นแบ่งคนจนคนรวย สามารถปรับตามสถานการณ์ที่ขึ้นลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ได้หรือไม่
นพ.ธีระ กล่าวว่า โดยส่วนตัวคิดว่า หากรัฐบาลจะจัดสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน ต้องให้กับทุกหมู่เหล่า ซึ่งหลักเกณฑ์การสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพง่ายๆ ทำได้โดยดำเนินการใน 3 ขั้นตอน คือ
1. รัฐต้องดูว่าทรัพยากรที่มีอยู่ในระบบมีอะไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน จากนั้นจึงจำแนกว่าเรื่องใดบ้างที่ควรกำหนดเป็นสิทธิบริการพื้นฐานที่รัฐต้องช่วยดูแลให้ครอบคลุม โดยดูความจำเป็นด้านสุขภาพ อาทิ การรักษาในภาวะวิกฤตฉุกเฉินที่เป็นการช่วยชีวิต ซึ่งการกำหนดสิทธิบริการพื้นฐานเหล่านี้ต้องทำโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะจากภาคประชาชน ซึ่งจะทำให้เกิดการยอมรับง่ายขึ้น  
2. การวิเคราะห์การกระจายตัวของทรัพยากรในประเทศว่าเป็นไปอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์ส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ และเขตเมืองใหญ่ๆ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ประชาชนโดยเฉพาะในเขตชนบทสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเติมในพื้นที่ซึ่งยังขาด หรือจัดบริการส่งต่อที่มีกลไกให้เข้าถึงบริการได้
3. ควรตรวจดูพฤติกรรมประชาชนในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลว่าเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมาภาครัฐจะเป็นกำหนดและจัดบริการให้ แต่ไม่ดูว่าตรงกับความต้องการของประชาชนหรือไม่ ขั้นตอนเหล่านี้จะทำให้ภาครัฐสามารถจัดการบริการสุขภาพให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง
ส่วนความเพียงพอของทรัพยากรในระบบสุขภาพนั้น นพ.ธีระ กล่าวว่า ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน หากดูความต้องการบริการจะพบว่าอย่างไรก็ไม่เพียงพอ ดังนั้นในการดำเนินนโยบายสุขภาพจึงต้องเปลี่ยนมุมมองที่ทรัพยากรด้านสุขภาพไม่ได้จำกัดเพียงแค่ในกระทรวงสาธารณสุขหรือกองทุนสุขภาพ แต่มีการกระจายอยู่นอกระบบด้วย เนื่องจากการบริการสุขภาพครอบคลุมตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษา และการฟื้นฟูผู้ป่วย เป็นต้น เพียงแต่ไม่มีการเปิดรับ ทั้งที่เป็นเรื่องที่ต้องมีส่วนร่วมกัน ซึ่งแม้แต่องค์การอนามัยโลกยังประกาศชักจูงให้ทุกประเทศร่วมกันทำให้เรื่องสุขภาพเป็นนโยบายสาธารณะที่ต้องช่วยกัน 
นพ.ธีระ กล่าวด้วยว่า หลักการข้างต้นจะเชื่อมโยงกับนโยบายหมอครอบครัวที่ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข ได้ประกาศนโยบายไว้ แต่ส่วนตัวมองว่าอาจไม่ยั่งยืน เพราะแม้จะออกแบบการมีส่วนร่วมของสหวิชาชีพ แต่ก็ยังจำกัดเฉพาะในระบบสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ นักบริบาล รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุข และจากภาระงานด้านสุขภาพที่มีมาก ประกอบกับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ด้วยจำนวนคนที่จำกัด อาจทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้นทางออก จึงต้องให้ทุกสหวิชาชีพ ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามีส่วนร่วมในระบบสุขภาพ ซึ่งจะส่งผลให้มีความยั่งยืนกว่า ทั้งยังช่วยลดภาระงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลของประเทศลงได้

เจ้าหน้าที่เร่งสอบสวนเหตุทหารยศจ่าเสียชีวิตในป้อมยาม บก.กองทัพภาค 1




Tue, 2015-05-05 18:27


สน.ดุสิตรับแจ้งเหตุทหารยศจ่าสิบเอกถูกยิงเสียชีวิตในป้อมยาม ประตูทางเข้า บก.กองทัพภาค 1 ที่เกิดเหตุพบอาวุธปืนทราโวร์ตกอยู่ข้างลำตัว และมีอุปกรณ์ทำความสะอาดอาวุธปืนด้วย

5 พ.ค. 2558 - หนังสือพิมพ์ข่าวสด รายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 5 พ.ค. ร.ต.อ.จรัส จันสา พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต รับแจ้งเหตุมีผู้ถูกยิงเสียชีวิต ภายในกองรักษาการณ์ กองทัพภาคที่ 1 ถนนราชดำเนินนอก แขวงและเขตดุสิต กทม.จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ แล้วรีบรุดไปตรวจสอบ พร้อมด้วย พ.ต.ท.สุภัค วงษ์สวัสดิ์ รอง ผกก.สส.สน.ดุสิต แพทย์จาก รพ.พระมงกุฎเกล้า และเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน (พฐ.)

โดยในที่เกิดเหตุเป็นป้อมยาม ประตูทางเข้า กองรักษาการณ์ กองทัพภาคที่ 1 พบศพ จ.ส.อ.วาฤทธิ์ ลืมเนตร อายุ 55 ปี ผบ.กรก.ทภ.1 สังกัด พัน.ร.มทบ.11 นอนเสียชีวิตอยู่บนเตียงนอน สภาพนอนหงาย สวมเสื้อและกางเกงชุดเครื่องแบบทหาร ท่อนล่างคลุมผ้าห่มสีฟ้า มีบาดแผลถูกยิงด้วยกระสุนขนาด 5.56 ที่บริเวณหน้าอกข้างซ้าย จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุพบอาวุธปืนขนาด 5.56 ทราโวร์ สีดำ ตกอยู่ข้างลำตัวด้านขวา โดยมีปลอกกระสุนขนาดเดียวกัน 1 นัด คาอยู่บริเวณรังเพลิง นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์สำหรับทำความสะอาดอาวุธปืนอยู่ด้วย เจ้าหน้าที่จึงเก็บรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน

ทั้งนี้จากการสอบสวนเบื้องต้น พบว่าในเวลาประมาณ 08.00 น. ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารกำลังทำพิธีเคารพธงชาติที่ด้านหน้าเสาธงตามปกติอยู่นั้น จู่ๆก็มีเสียงปืนจากกองรักษาการณ์ดังขึ้น 1 นัด เจ้าหน้าที่จึงรีบรุดเข้าตรวจสอบ ก็พบว่า จ.ส.อ.วาฤทธิ์ นอนเสียชีวิตอยู่บนเตียงแล้ว จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบ ขณะที่เจ้าหน้าที่ยังไม่ระบุว่าสาเหตุเกิดจากการยิงตัวตาย หรือ อุบัติเหตุจากอาวุธปืนลั่นขณะทำความสะอาด โดยจะได้เชิญญาติและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึง พยานแวดล้อมเข้าให้ปากคำเพิ่มเติม เพื่อดูว่าผู้ตายมีปัญหาส่วนตัวหรือมีการเขียนจดหมายลาตายไม่ พร้อมทั้งส่งศพชันสูตรที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตต่อไป

แอมเนสตี้ฯ จี้ทางการไทยหยุดปิดกั้นสื่อ ยกเลิก ข้อหา-ปล่อยตัวนักโทษทางความคิด



Tue, 2015-05-05 18:44


5 พ.ค.2558 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีเรียกร้องข้อถึงทางการไทยเนื่องในวันเสรีภาพสื่อโลก (World Press Freedom Day) วันที่ 3 พฤษภาคม โดยเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการปิดกั้นสื่อโดยพลการและอย่างกว้างขวาง และให้ยกเลิกข้อหา รวมทั้งปล่อยตัวผู้ตีพิมพ์และนักข่าวที่ถูกลงโทษเนื่องจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบ

แอมเนสตี้ฯ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาทางการไทยมีมาตรการปิดกั้นสื่อโดยพลการ และมีการสั่งลงโทษผู้ทำงานด้านสื่อในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหลังประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 20 พฤษภาคมปีที่แล้ว และหลังการทำรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม กองทัพได้ใช้กฎอัยการศึกปิดกั้นการทำงานของสื่ออย่างกว้างขวาง และห้ามการเผยแพร่ข้อมูลหลายประเภท รวมทั้งข้อมูลที่มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์กองทัพ โดยอ้างว่าเป็น “ข้อมูลที่ถูกบิดเบือน” และอ้างว่าเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชน และเป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์


แอมเนสตี้ฯ กล่าวด้วยว่า แม้จะมีการยกเลิกกฎอัยการศึกไปแล้ว แต่กองทัพยังคงมีอำนาจอย่างมากมาย และยังมีการกำหนดบทลงโทษกรณีที่ “สร้างความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง และสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน” รวมถึงยังมีการสอดส่องและเซ็นเซอร์รายงานข่าวของสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเข้มงวดมากขึ้น ทั้งยังสั่งปิดสถานีโทรทัศน์หรือวิทยุ และข่มขู่บังคับให้สื่อยุติการเผยแพร่ข่าว รวมถึงมีการส่งเจ้าหน้าที่ทหารไปยังสถานีเพื่อตรวจค้นและให้สื่อยุติการทำงาน


ทั้งนี้ ได้ยกกรณีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งถูกตัดสินจำคุกสิบปี จากการเป็นบรรณาธิการตีพิมพ์บทความในนิตยสาร Voice of Taksin และถูกปฏิเสธการประกันตัวถึง 16 ครั้ง และกรณีของ Alan Morison บรรณาธิการ และชุติมา สีดาเสถียร นักข่าวของเว็บไซต์ “ภูเก็ตหวาน” (Phuketwan) ว่า อาจถูกจำคุกสองปีตามความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เนื่องจากการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ของสำนักข่าวรอยเตอร์มาตีพิมพ์ซ้ำในเว็บไซต์