วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

'จอน อึ๊งภากรณ์' แนะดึง รพ.เอกชน ร่วมบริการผู้ป่วยบัตรทอง


“จอน อึ๊งภากรณ์” แนะ รัฐบาล ดึง รพ.เอกชน ร่วมบริการผู้ป่วยบัตรทอง ช่วยลดแรงต้านรวมกองทุน กำหนดเงื่อนไขขอใบอนุญาต รพ.เอกชน ต้องมีสัดส่วนบริการผู้ป่วยบัตรทอง รวมถึงกันเตียงผู้ป่วยรองรับ เหตุเป็นแหล่งดูดทรัพยากรรักษาพยาบาลประเทศ ควรมีส่วนรับผิดชอบประชาชน พร้อมระบุ 14 ปี งบเหมาจ่ายรายหัวปรับเพิ่มสมเหตุสมผล
 
2 พ.ค. 2558 นายจอน อึ๊งภากรณ์ ที่ปรึกษากลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพกล่าวถึงกรณีการปรับเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในช่วง 14 ปีที่ผ่านมาว่า เป็นการปรับเพิ่มงบประมาณที่เป็นไปอย่างสมเหตุสมผล เพราะเมื่อดูภาพรวมงบประมาณของประเทศทั้งหมด สัดส่วนงบค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของภาครัฐยังอยู่เท่าเดิน โดยปรับเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์และอัตราค่าครองชีพเท่านั้น อีกทั้งในช่วงเริ่มงบเหมาจ่ายในอัตรา 1,202 บาทต่อคน ในปี 2545 สิทธิประโยชน์ต่างๆ ยังไม่ครอบคลุมเท่าปัจจุบันที่ได้มีการปรับเพิ่มในภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์ด้านเอชไอวี ไตวายเรื้อรัง มะเร็ง เป็นต้น ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ตามข้อเสนอจากภาคประชาชน และถือว่าความคุ้มค่าเพราะช่วยผู้ป่วยเหล่านี้ให้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น สร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงการรักษา และยังช่วยลดจำนวนครัวเรือนไม่ให้ต้องล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลลงได้ โดยประชาชนต่างพึ่งพอใจในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
 
ทั้งนี้ที่ผ่านมามักมีการพูดถึงงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมองว่าจะเป็นภาระงบประมาณของประเทศนั้น คำถามคือเรามีรัฐบาลและงบประมาณประเทศไว้ทำอะไร เพราะหลักการสำคัญของการบริหารงบประมาณคือต้องทำให้คุณภาพชีวิตคนในประเทศดีขึ้น รวมถึงการดูแลสุขภาพประชาชน และเท่าที่ดูเห็นว่าภาพรวมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศยังไม่สูงมาก โดยเฉพาะเมื่อดูงบประมาณที่ใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งต้องดูแลคนถึง 48 ล้านคน ทั้งนี้หากจะประหยัดควรลดค่าใช้จ่ายในกองทุนรักษาพยาบาลโดยทำให้มีมาตรฐานเดียวกันมากกว่า
 
ส่วนข้อเสนอของการรวมกองทุนนั้น นายจอน กล่าวว่า คิดว่ายังเป็นไปได้ยาก เพราะทุกครั้งที่มีข้อเสนอเรื่องนี้จะมีการคัดค้านทั้งจากข้าราชการและผู้ประกันตน เพราะต่างคิดว่ามีสิทธิประโยชน์มากกว่า โดยเฉพาะข้าราชการ แต่เมื่อดูข้อเท็จจริงในงบประมาณที่ใช้กลับแตกต่างกันถึง 5 เท่า ขณะที่สิทธิประโยชน์ที่ได้กลับไม่ต่างกันมากนัก ส่วนผู้ประกันตนยังรู้สึกว่ามีความสะดวกและมีสิทธิในการเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชน ดังนั้นการรวมกองทุนจึงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เข้าบริหารเช่นเดียวกับกองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ยังคงความเหลื่อมล้ำ แต่ด้วยการบริหารจะทำให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาและรวมกันได้เอง
 
“ผมคิดว่าเราสามารถให้ สปสช.เข้าไปบริหารกองทุนรักษาพยาบาลทั้งระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการได้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายให้ระบบ เพียงแต่ผู้มีสิทธิทั้ง 2 กองทุนนี้ ยังไม่เชื่อใจสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และคิดว่าเขายังใช้สิทธิในโรงพยาบาลเอกชนได้ ดังนั้นต้องทำให้โรงพยาบาลเอกชนต้องเข้าร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยกำหนดเป็นเงื่อนไขในการให้ใบอนุญาตว่า โรงพยาบาลเอกชนต้องรับดูแลผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และให้มีการกันเตียงผู้ป่วยส่วนหนึ่งสำหรับดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้”  
 
นายจอน กล่าวต่อว่า ปัญหาระบบบริการรักษาพยาบาลของประเทศไทย คือเรามีโรงพยาบาลเอกชนจำนวนมากที่ให้บริการโดยเน้นคนมีเงิน โดยดูดทรัพยากรในระบบสุขภาพไปจำนวนมาก โดยเฉพาะบุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาล และวิชาชีพในระบบ แต่กลับไม่เข้าร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นระบบดูแลคนในประเทศ
 
“ผมคิดว่าเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้ข้าราชการและผู้ประกันตนพร้อมเข้ามาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากขึ้น ทั้งยังช่วยลดปัญหาการรอคิวและความแออัดในโรงพยาบาลภาครัฐ ที่เป็นการพัฒนาระบบสุขภาพร่วมกัน แต่ต้องถามว่ารัฐบาลไหนจะกล้าทำ” นายจอน กล่าวและว่า ทั้งนี้หากดูระบบสุขภาพที่เข้มแข็งอย่างในอังกฤษและกลุ่มยุโรป ระบบบริการสุขภาพของเอกชนจะเล็กมาก โดยคนรวยเท่านั้นที่จะใช้บริการระบบเอกชน แต่ประเทศไทยกลับมีระบบเอกชนที่โตเกินไปและคอยดึงทรัพยากรในระบบสุขภาพของประเทศ จึงเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขในอนาคต นอกจากนี้ต้องมีการเพิ่มค่าปรับการใช้ทุนของแพทย์กรณีที่มีการลาออกไปทำงานยังโรงพยาบาลเอกชน เพราะปัจจุบันค่าปรับมีอัตราที่ต่ำมากเช่นกัน

ตามคาดตั้ง 'อภิรัชต์ คงสมพงษ์' นั่งประธานบอร์ดกองสลาก


2 พ.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. แต่งตั้ง พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล และแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล 3 คน ได้แก่ พล.ต.ต.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข, พ.ท.หนุน ศันสนาคม และ ผช.ศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2558 
 
 

4 สมาคมสื่อวอน คสช.ยกเลิก3คำสั่ง


         เนื่องในวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก  4 สมาคมวิชาชีพสื่อ ออกแถลงการณ์เรียกร้อง ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 97 คำสั่งคสช.ที่103 และ คำสั่งที่ 3/58 ข้อ 5 ตามมาตรา 44 ตาม รัฐธรรมนูญ 2557(ฉบับชั่วคราว)อ้าง สร้างบรรยากาศแห่งการปรองดอง โอดทำงานยาก ถูกจับตาจากทุกฝ่ายซ้ำ มีสื่อการเมืองเกิดขึ้นมาก ผู้บริโภคสื่อก็เป็นผู้ผลิตสื่อเองด้วย  
         3 พฤษภาคม 2558  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกันออกแถลงการณ์เนื่องในวันเสรีภาพสื่อโลก 3 พ.ค. โดยมี นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและนายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ผู้นำ 2 องค์กรสื่อเป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ โดยมีเนื้อหาเรียกร้อง รัฐบาล คสช.ให้ ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 97 คำสั่งคสช.ที่103 และ คำสั่งที่ 3/58 ข้อ 5 ตามมาตรา 44 ตาม รัฐธรรมนูญ 2557(ฉบับชั่วคราว)

๐๐๐๐

 แถลงการณ์ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เนื่องในวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม 2558

           สถานการณ์ของสื่อมวลชนไทยในรอบปี 2557 ถือว่าเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ ถูกกดดันจากกลุ่มมวลชนทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายต่อต้านและฝ่ายที่ให้การสนับสนุนรัฐบาล อยู่ในสถานะที่ถูกจับจ้องจากทุกฟากฝั่ง ถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเป็นผู้เติมเชื้อไฟให้โหมกระพือมากกว่าเป็นผู้ถอนฟืนออกจากกองไฟ ไม่อยู่ในสถานะที่เป็นที่พึ่งหวังของประเทศเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนด้วยสภาพการณ์หรือภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีของโลก ทำให้เกิด "สื่อเฉพาะ" ที่มุ่งหวังรับใช้เจตนารมณ์ของกลุ่มต่างๆ มากยิ่งขึ้น
         ท่ามกลางความยุ่งเหยิงทางการเมืองและความเคลือบแคลงสงสัยต่อบทบาทของสื่อมวลชน จึงเป็นสิ่งที่ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ตระหนักและมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ ดังกล่าวเป็นอย่างมาก เพราะความน่าเชื่อถือและศรัทธาไว้วางใจต่อสื่อมวลชนของสาธารณชนเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง
          เมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 สถานการณ์และดัชนีชี้วัดสถานภาพเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยได้ตกต่ำลงในสายตาประชาคมโลก เพราะคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ได้สั่งระงับการออกอากาศของสถานีวิทยุและโทรทัศน์  และขอให้หนังสือพิมพ์งดแสดงความคิดเห็นที่จะทำให้เกิดการต่อต้านคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ
           ต่อมาได้ออกคำสั่งเพื่อควบคุมการเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน ฉบับที่ 97/2557 ฉบับที่ 103/2557 และฉบับที่ 3/2558 ข้อ 5 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) 2557 อันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของสื่อมวลชน และเป็นการปิดกั้นการรับรู้ข่าวสารของประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มีอยู่แต่เดิม และเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของประเทศประการหนึ่ง การคงไว้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวเป็นหลักการพื้นฐานที่ไม่น้อยกว่าการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลที่ปราศจากการละเมิดจากสื่อมวลชนและความรับผิดชอบต่อสังคมตามกรอบจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ
       เนื่องในวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม ประจำปี 2558 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
  • 1.ขอให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.) ยกเลิกคำสั่งคสช.ที่ 97 คำสั่งคสช.ที่103 และ คำสั่งที่ 3/2558 ข้อ 5 ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) 2557 โดยเร็ว เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดองพูดคุยอย่างเสรีและปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังอยู่ในขั้นตอนการปฏิรูป จึงมีความจำเป็นจะต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้แสดงความคิดเห็นเพื่อร่วมกำหนดอนาคตของประเทศ เพื่อให้สื่อมวลชนเป็นเวทีแห่งการพูดคุยเพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างสันติ

การคงไว้ซึ่งคำสั่งทั้ง 3 ทำให้บรรยากาศแห่งการพูดคุยและแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีและปลอดภัยไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยง่าย การยกเลิกคำสั่งยังเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อภาพลักษณ์ด้านสิทธิและเสรีภาพของประเทศโดยรวมและยังแสดงให้เป็นที่ประจักษ์ต่อประชาคมโลกว่ามาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่ สามารถเป็นเครื่องมือสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายได้ สำหรับสื่อมวลชนที่ละเมิดกฎหมาย รัฐบาลยังคงใช้กฎหมายที่มีอยู่ดำเนินการได้ตามปกติ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ โดยมิต้องใช้คำสั่งหรือมาตรการพิเศษใดๆ อีกต่อไป
  • 2.ในการดำเนินการของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ต้องเป็นอิสระไม่ถูกแทรกแซงใดๆ จากภาครัฐ เพราะ กสทช. เป็นองค์กรอิสระที่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของประชาชน ที่ต้องการให้การจัดสรรคลื่นความถี่ซึ่งเป็นสมบัติของชาติ เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสาธาณะ ในส่วนองค์กรวิชาชีพสื่อขอให้ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ การกำกับดูแลกันเอง ภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย จริยธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ เพื่อคงไว้ซึ่งเสรีภาพและความรับผิดชอบต่อข่าวสารที่นำเสนอ
  • 3.ขอให้ประชาชนและผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารจากสื่อมวลชนและสื่อประเภทต่างๆ ได้ตระหนักเห็นว่าภูมิทัศน์สื่อได้เปลี่ยนแปลงไป ผู้รับสารสามารถอยู่ในฐานะส่งสารได้ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ข่าวสารจึงเกิดขึ้นได้มากมายและแพร่หลาย จึงจำเป็นอย่างที่ประชาชนและผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารจะต้องตระหนักและรู้เท่าทันสื่อ

ในโอกาสที่รัฐธรรมนูญชึ่งอยู่ระหว่างการยกร่าง ได้สนับสนุนให้มีกฎหมายว่าด้วยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อปกป้องเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชน ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพ พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพและคุ้มครองสวัสดิการของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ประชาชนโดยทั่วไปจะได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม และหากผู้ใดถูกละเมิดหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้เสรีภาพของสื่อมวลชน ขอให้ใช้สิทธินั้นตามขั้นตอนต่างๆ ผ่านสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ตลอดจนใช้สิทธิทางกฎหมายที่มีอยู่ดำเนินการ
  • 4.ขอให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและผู้ประกอบธุรกิจสื่อมวลชน ได้ตระหนักถึงบทบาทและภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ตามมาตรฐานจริยธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอย่างเต็มกำลัง เปิดพื้นที่สื่อสาธารณะให้ทุกฝ่าย ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญในการร่วมกันหาทางออก เพื่อสร้างความปรองดอง ยุติความขัดแย้ง และร่วมกันปฏิรูปประเทศ ให้ประเทศไทยก้าวข้ามผ่านวิกฤตครั้งสำคัญไปให้ได้

องค์กรวิชาชีพสื่อ ทั้ง 4 ขอย้ำเตือนว่าทุกฝ่ายในสังคมต้องตระหนักถึงหลักการเคารพเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชนและประชาชน เพราะเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อความโปร่งใส ตามหลักการปกครองด้วยหลักธรรมาภิบาลของประเทศ และการใช้เสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
3 พฤษภาคม 2558 

ยูเนสโก-ลัตเวียจัดงานวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก-พร้อมห่วงไทยเผชิญรัฐบาลทหารคุกคามสื่อ


พิธีเปิดวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกจัดโดยยูเนสโกและรัฐบาลลัตเวีย - ผู้รายงานพิเศษยูเอ็นแสดงความห่วงใยต่อภาวะที่สื่อทั่วโลกถูกคุกคาม โดยเฉพาะประเทศไทยที่รัฐบาลทหารคุกคามสื่อ ปิดกั้นสื่อ จนท.จับกุมประชาชนที่เป็นผู้ใช้สื่อออนไลน์ - ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนยูเอ็น ชี้ว่าผู้คุกคามสื่อไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย ถือเป็นอุปสรรคสำคัญของคนทำสื่อ

คลิปสัมภาษณ์เดวิด เคย์  ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและปกป้องสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก โดยเขา เรียกร้องให้รัฐบาลทหารให้หลักประกันเสรีภาพสื่อ อย่างที่สื่อไทยเคยมีเสรีภาพสื่อในอดีต

รีกา, 3 พ.ค. - พิธีเปิดอย่างเป็นทางการวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก หรือ World Press Freedom Day ประจำปี 2015 ซึ่งจัดที่กรุงรีกา สาธารณรัฐลัตเวียนั้น ปีนี้องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO และกระทรวงการต่างประเทศ ประเทศลัตเวีย ร่วมเป็นเจ้าภาพ โดยปีนี้ประเด็นหลักของงานคือสวัสดิภาพสื่อและสื่อยุคดิจิทัล
เดซ เมลเบด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศลัตเวีย กล่าวถึงการได้รับเสรีภาพของลัตเวียเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ซึ่งต้องต่อสู้เพื่อบรรลุอิสรภาพของประเทศ แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต ซึ่งสื่อก็เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในช่วงเวลานั้น บทบาทของสื่อมวลชนในลัตเวียต่อการประกาศเสรีภาพ การต่อสู้กับผู้เผด็จการ ส่งเสริมประชาธิปไตย นักข่าวและสื่อมวลชนชาวลัตเวียหลายคนถูกฆ่าตายในช่วงเวลาดังกล่าว ทว่า แต่ก็น่าเสียใจว่าสื่อมวลชนทั่วโลกทุกวันนี้ก็ยังคงเผชิญการคุกคามชีวิต อันเนื่องจากการทำงานเชิงลึก
เดวิด เคย์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและปกป้องสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก กล่าวถึงภาวะที่สื่อทั่วโลกถูกคุกคามโดยยกตัวอย่างในหลายประเทศที่สื่อตกอยู่ในภาวะถูกคุกคามอย่างรุนแรง เขายังกล่าวถึงประเทศไทย ว่ากำลังเผชิญกับรัฐบาลทหารคุกคามสื่อ จับกุมคุมขังสื่อ ปิดกั้นสื่อ ตำรวจและทหารเข้าจับกุมประชาชนที่สื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์รวมไปถึงปิดการเข้าถึงคลิปต่างๆ ที่เป็นหลักฐานความรุนแรงโดยรัฐ และเป็นที่น่าเสียใจว่าการคุกคามสื่อนั้นมักไม่มีการสืบสวนสอบสวนและลงโทษผู้กระทำ
ฟลาเวีย แพนซิเอรี รองข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ หรือ OHCHR กล่าวว่าสื่อยุคดิจิทัล สื่อใหม่นั้นท้าทายความหมายของนิยามคำว่าสื่อมวลชน เมื่อคนใช้งานสื่อดิจิทัลกลับมีบทบาทในการปกป้องเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ดังนั้นบล็อกเกอร์และนักกิจกรรมออนไลน์ก็ควรได้รับการปกป้องในการทำงานของพวกเขาเช่นกัน
เธอกล่าวย้ำถึงภาวะการไม่ต้องรับผิดของผู้คุกคามสื่อซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของการทำงานทุกวันนี้
ในอีกประเด็นคือ ความท้าทายในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำงานต่อไป เพราะทุกวันนี้สื่อมวลชนหญิงยังคงถูกคุกคามและเลิอกปฏิบัติทางเพศ และส่วนใหญ่การละมิดความเท่าเทียมทางเพศนี้ก็เกิดในห้องข่าวนั้นเอง

ข้อเสนอให้ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย

Mon, 2015-05-04 00:26


        ประชาชน 150 รายชื่อ เรียกร้องให้มีการกระบวนการจัดทำประชามติร่าง รธน. ที่เป็นประชาธิปไตย และหากร่าง รธน. ฉบับ สปช. ไม่ผ่านประชามติ ต้องเข้าสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยย้ำว่าอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญต้องเป็นของประชาชน

         เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ในเฟซบุ๊ค "เรียกร้องประชามติที่เป็นประชาธิปไตย" นักวิชาการ นักศึกษา กลุ่มสหภาพแรงงาน นักเขียน ผู้กำกับ สื่อมวลชน นักการเมือง และประชาชนภาคส่วนต่างๆ กว่า 150 คน อาทิ นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, เกษียร เตชะพีระ, จอน อึ้งภากรณ์, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, ซะการีย์ยา อมตยา, เป็นเอก รัตนเรือง, ปิยบุตร แสงกนกกุล, สฤณี อาชวานันทกุล, รวมทั้งจาตุรนต์ ฉายแสง ได้ลงชื่อท้ายแถลงการณ์เรียกร้องประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย โดยมีข้อเสนอสามข้อหลัก ได้แก่

  • (1) หาก สปช. ปัดร่าง รธน. ตก ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนขึ้นมา
  • (2) หาก สปช. ให้ความเห็นชอบต่อร่าง รธน. ต้องจัดให้มีการลงประชามติภายใน 30 วัน
  • (3) หากประชาชนไม่เห็นชอบต่อร่าง รธน. หรือประชามติไม่ผ่าน ให้เริ่มต้นกระบวนการร่างใหม่ โดยที่สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนภายใน 45 วัน, จากนั้นให้ สสร. จัดทำร่าง รธน. ให้เสร็จภายใน 90 วัน เมื่อแล้วเสร็จต้องมีประชามติภายใน 30 วัน และหากผลการลงประชามติผ่านร่าง รธน. ให้จัดการเลือกตั้งภายใน 60 วันหลังจากนั้น

     อนึ่ง กลุ่มผู้เรียกร้องประชามติเห็นว่า หากจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดผลในกรณีที่ประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญไว้เพียงให้แต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ และดาเนินการจัดทาร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งตามกระบวนการเดิม นั่นหมายความว่า อำนาจในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยังคงอยู่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมอีกเช่นเคย การออกเสียงประชามติเช่นนี้ถือเป็น "การออกเสียงประชามติที่ปราศจากทางเลือก" และไม่สามารถสะท้อนความคิดเห็นที่แท้จริงของประชาชนได้ อันขัดต่อเป้าหมายของการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ประชาชนมีโอกาสตัดสินใจเลือกรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศได้ด้วยตนเอง

สำหรับรายละเอียดของข้อเสนอมีดังนี้


           เนื่องด้วยในรอบหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกลุ่มต่างๆ หลายกลุ่มในสังคมแสดงความคิดเห็นเพื่อเรียกร้องให้มีการออกเสียงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญ เรา, คณะบุคคลที่ร่วมลงชื่อแนบท้าย, เห็นด้วยกับการจัดให้มีการออกเสียงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญเพราะเราเชื่อว่าอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญคืออำนาจของประชาชน รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการให้ความเห็นชอบย่อมไม่ชอบธรรมที่จะใช้ปกครองประชาชน

          อย่างไรก็ตาม หากจัดให้มีการออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดผลในกรณีที่ประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญไว้เพียงให้แต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ และดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งตามกระบวนการเดิม นั่นหมายความว่า อำนาจในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยังคงอยู่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมอีกเช่นเคย

        เราเห็นว่าการออกเสียงประชามติที่กำหนดผลไว้ในลักษณะนี้เป็นการออกเสียงประชามติที่บีบบังคับประชาชนต้องเลือกเพียงสองกรณี กรณีแรก หากประชาชนให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ก็ได้กลับเข้าสู่ระบบปกติ มีการเลือกตั้งแต่ต้องอยู่กับระบอบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งของคนในชาติได้อีก กรณีที่สอง หากประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ก็ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และเริ่มต้นกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมต่อไป การออกเสียงประชามติที่มีทางเลือกอันไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นนี้ ไม่ต่างอะไรกับการออกเสียงประชามติที่ปราศจากทางเลือก และไม่สามารถสะท้อนความคิดเห็นที่แท้จริงของประชาชนได้ อันขัดต่อเป้าหมายของการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ประชาชนมีโอกาสตัดสินใจเลือกรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศได้ด้วยตนเอง

เราเห็นว่า หากประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและสภาปฏิรูปแห่งชาติ ย่อมแสดงให้เห็นว่าประชาชนปฏิเสธกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามกระบวนการเดิมย่อมไม่มีความชอบธรรมอีกต่อไป แต่ประชาชนในฐานะผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ คือ ผู้ที่มีความชอบธรรมในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง ดังนั้น เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริงเราจึงขอเสนอให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญโดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • 1. ในกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง และจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามข้อเสนอ 3.2 ถึง 3.6
  • 2. ในกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติให้ความเห็นชอบ
  • 3. ในกรณีที่ประชาชนไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้มีผลดังต่อไปนี้
              3.1 สภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันสิ้นสุดลง
              3.2 เริ่มต้นกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่ผูกพันกับข้อจำกัดใดๆ ที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย
               3.3 การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญต้องมีขึ้นภายใน 45 วันนับจากวันที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนผ่านการออกเสียงประชามติ
               3.4 สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับจากวันเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
              3.5 เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญภายใน 30 วัน
              3.6 จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างช้าที่สุดภายใน 60 วันนับจากวันที่ออกเสียงประชามติ

         เราขอเรียนเชิญทุกท่านร่วมรณรงค์เรียกร้องให้มีการออกเสียงประชามติตามข้อเสนอข้างต้น ประชามติที่ไม่มีทางเลือกคือประชามติที่ไม่มีความหมาย กระบวนการจัดทำและให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญต้องยึดโยงกับประชาชน อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญต้องเป็นของประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อเสรีภาพ เพื่อประชาชน