วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2558

ซัด รบ.เตรียมลงนาม 'ปฏิญญาอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง' แต่ไม่เคยเห็นหัวประชาชน


21 เม.ย.2558 นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง คณะทำงาน ASEAN WATCH ให้สัมภาษณ์จากเวทีอาเซียนภาคประชาชน ASEAN PEOPLE FORUM ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียว่า รู้สึกผิดหวังเมื่อทราบข่าวว่าในการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN SUMMIT) วันที่ 27-28 เม.ย.นี้ จะมีการรับรองปฏิญาว่าด้วยอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Declaration on an People-centerd ASEAN) เพราะอาเซียนมักจะทำตรงข้ามกับคำขวัญนี้มาโดยตลอด ไม่ให้เกียรติ ไม่เห็นหัวประชาชน กิจกรรมการพบกันระหว่างตัวแทนภาคประชาชนกับผู้นำอาเซียน (interface meeting) ก็มีอันต้องล่มแทบทุกปี เพราะท่านผู้นำไม่ยอมรับให้ตัวแทนที่ประชาชนเลือกมาเข้าพบ
"อย่างปีนี้ ขณะนี้ก็เริ่มมีอย่างน้อยสองประเทศแล้วที่ผู้นำส่งสัญาณมาว่าไม่พอใจกับชื่อตัวแทนภาคประชาชนของประเทศตน ปฏิญญาว่าด้วยอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางฉบับนี้ก็อีกเช่นกัน ไม่มีการปรึกษาหารือ ทำลับหลังประชาชน อาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางจะเป็นจริงได้อย่างไร ถ้าผู้นำอาเซียนยังไม่ปรับเปลี่ยนวิธีคิด ทัศนคติที่มีต่อประชาชน ก็คงต้องเป็นเวทีคู่ขนาน ทำงานคู่ขนานกันไปเรื่อยๆ"
สุดท้าย คณะทำงาน ASEAN WATCH ให้ข้อมูลว่า เวทีอาเซียนภาคประชาชนปีนี้ ใช้ชื่องานว่า RECLAIMING THE ASEAN COMMUNITY FOR THE PEOPLE ซึ่งจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการวันพรุ่งนี้ (22 เม.ย.) เป็นเวทีครั้งสำคัญมาก เพราะเป็นปีที่ 10 ของการจัดงาน ภาคประชาชน 10 ประเทศนับพันคนจะมาร่วมกันทบทวนและทวงถามที่ทางของภาคประชาชนในอาเซียนและหาแนวทางร่วมกันในการที่จะขับเคลื่อนให้อาเซียนตอบสนองและรับผิดชอบต่อประชาชนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ เมื่อวานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีวาระการขอความเห็นต่อร่างเอกสารที่จะรับรองระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 26 โดยกระทรวงการต่างประเทศ เสนอ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อร่างเอกสาร 2 ฉบับ คือ ร่างปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และร่างปฏิญญาลังกาวีว่าด้วยแนวคิดทางสายกลาง อีกทั้งนายกรัฐมนตรียังจะเดินทางเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 26 ระหว่างวันที่ 26-27 เม.ย. ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ พร้อมร่างเอกสารรับรอง 2 ฉบับข้างต้น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศตีความว่าร่างเอกสารทั้งสองฉบับไม่ใช่สนธิสัญญา แต่เป็นการแสดงเจตนา ไม่มีการลงนามร่วม แต่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบโดยที่ไม่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนหรือจัดหารือรับฟังความคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน 
จากเอกสาร ครม.ระบุว่า เอกสารปฏิญญากัวลาลัมเปอร์มีสาระสำคัญที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมธรรมภิบาล นิติธรรม เคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน สร้างเศรษฐกิจทุกภาคส่วน การพัฒนายั่งยืน สนับสนุน SME ส่วนปฏิญญาลังกาวี มีสาระสำคัญ ส่งเสริมแนวทางสายกลาง เสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคง ยึดหลักนิติธรรม แก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธี

ทีมเศรษฐกิจ 'เพื่อไทย' หนุนรบ.ใช้ ม.44 ดันท่าเรือน้ำลึกปากบารา


‘อนุตตมา’ คณะทำงานเศรษฐกิจเพื่อไทย ชี้โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต หนุนรัฐบาลเดินหน้า ชี้มีความเด็ดขาดสามารถใช้มาตรา 44
21 เม.ย.2558 อนุตตมา อมรวิวัฒน์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยและคณะทำงานเศรษฐกิจเพื่อไทย กล่าวถึงโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล นั้น เป็นประโยชน์ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องมองไปยังอนาคตข้างหน้าว่ายุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในอีก 20-30 ปีข้างหน้า โดยไม่ใช่มองแค่วันนี้พรุ่งนี้ แต่ต้องมองว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจระยะยาว การพัฒนาด้านระบบพลังงานและด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน คือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดีและเศรษฐกิจเจริญ
อนุตตมา กล่าวด้วยว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จะเป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมต่อระหว่างสองมหาสมุทรเพื่อร่นระยะเวลาการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเดินเรือที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในแถบอาเซียน เหมือนดังที่สิงคโปร์เจริญก็เพราะสิงคโปร์เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการเดินเรือส่งสินค้า มีท่าเรือน้ำลึก และมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมาช้านาน
ดังนั้น จึงเห็นว่า รัฐบาลควรเดินหน้าโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราต่อให้สำเร็จ
อนุตตมา กล่าวอีกว่า โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอในช่วงการหาเสียงเมื่อปี 2554 ซึ่งหากรัฐบาลนี้ทำโครงการนี้สำเร็จจะเป็นคุณูปการใหญ่หลวงที่ทำให้ระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ของไทยพัฒนาไปมาก จึงขอให้รัฐบาลทำโครงการดีๆ เช่นนี้ เนื่องจากรัฐบาลมีความเด็ดขาดสามารถใช้มาตรา 44 ในการดำเนินโครงการนี้ ให้สำเร็จเป็นรูปธรรมได้ ไม่เหมือนกับรัฐบาลพลเรือน
พร้อมระบุด้วยว่า หากใช้มาตรา 44 อย่างเหมาะสมจะสามารถสร้างโครงการดีๆ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ แต่ในทางกลับกัน หากใช้ในรูปแบบอื่นอาจจะถูกมองว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้

จนท.ใช้ม.44 จี้เลื่อนจัดเปิด ‘ห้องลุงนวมทองฯ’ เตือนถ้าจัดจะดำเนินคดี


จนท.ทหาร-ตำรวจ เข้าสนง.มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย ใช้ ม.44 ขอให้เลื่อนจัดงานเปิดห้อง ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ เตือนถ้าจัดจะดำเนินคดี ชี้เพียงชื่อก็เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองแล้ว กรรมการมูลนิธิฯมีมติเลื่อนจัดอย่างไม่มีกำหนด
21 เม.ย.2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้รับแจ้งจาก ศรีไพร นนทรีย์ ผู้ช่วยผู้จัดการ มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย ว่าเมื่อเวลา 12.25 น.ที่ผ่านมา พ.ต.ท. พสิษฐ์ เปรมปริก สวป.สภ.ปากเกร็ด และปลัด อ.ปากเกร็ด นำคณะทหารและตำรวจ รวม 11 นาย มายัง มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย ซ.แจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 26 จ.นนทบุรี
ศรีไพร ระบุว่า เจ้าหน้าที่แจ้งกับมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตยต่อกรณีที่จะมีการจัดงานเปิดห้องประชุม ‘ลุงนวมทอง ไพรวัลย์’  ในวันอาทิตย์ที่ 26 เม.ย.นี้ จึงขอให้ทางมูลนิธิฯ เลื่อนการจัดงานออกไปก่อน พร้อมทั้งขอให้ทำเรื่องขออนุญาตกับเจ้าหน้าที่ให้เรียบร้อยด้วย
เจ้าหน้าที่ยังเตือนด้วยว่า หากมูลนิธิฯ ยังยืนยันจัดงานในวันที่ 26 เม.ย.นี้ การขออนุญาตก็คงไม่ทัน แต่ถ้ายังยืนยันจัดก็จะต้องไม่มีประเด็นพูดคุยกันเรื่องการเมืองเลย และการเสวนาต้องตัดออกด้วย แต่อย่างไรก็ตามเพียงชื่อห้อง ‘นวมทอง’ ก็เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองอยู่แล้ว จึงแนะนำให้เลื่อนการจัดงานออกไปก่อนจะดีที่สุด และถ้ายืนยันจัดทางทหารจะส่งคนเข้าร่วมฟัง หากมีประเด็นทางการเมือง ก็คงต้องปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับคำสั่งมา คือผิดคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งเป็นคำสั่งที่อาศัยตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44
ศรีไพร เปิดเผยด้วยว่า กรรมการมูลนิธิฯ ได้ปรึกษาหารือแล้วจึงเลื่อนจัดกิจกรรมดังกล่าวไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด
สำหรับเหตุผลการจัดกิจกรรมเปิดห้องนวมทองฯ นั้น มูลนิธิฯ ต้องการส่งเสริมและเชิดชูนักประชาธิปไตยผู้เสียสละ คือ ลุงนวมทอง ไรพวัลย์ ซึ่งเป็นวีรชนที่มีจุดยืนชัดเจนในการเรียกร้องประชาธิปไตยจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต เพื่อคัดค้านการรัฐประหารของคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ทางมูลนิธิฯ จึงนำชื่อลุงนวมทองมาเป็นชื่อห้องประชุมของสำนักงานมูลนิธิฯ 
โดยตามกำหนดการเดิมกิจกรรมเปิดห้องนวมทอง นั้นจะจัดขึ้นในวันที่ 26 เม.ย.นี้ เวลา 8.30 น. เป็นต้นไป ที่สำนักงานมูลนิธิฯ โดยเริ่มด้วยการกล่าวเปิดงานโดน อนุสรณ์ ธรรมใจ ในฐานะประธานมูลนิธิฯ จากนั้นมีการจัดเสวนาโต๊ะกลม หัวข้อ “เส้นทางประชาธิปไตย ศึกษาอะไรจากลุงนวมทอง ไพรวัลย์”
นวมทองมีอาชีพขับแท็กซี่ ซึ่งผูกคอตายใต้สะพานลอยหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ถนนวิภาวดีรังสิต คืนวันที่ 31 ต.ค.2549 โดยมีจดหมายลาตายระบุว่า ต้องการลบคำสบประมาทของ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปก.) ที่ว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้” โดยก่อนหน้านี้เขาขับแท็กซี่พุ่งชนรถถังของคณะรัฐประหาร ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าจนบาดเจ็บสาหัสเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2549 เพื่อประท้วงการรัฐประหาร

เตรียมงัด ม.44 เร่งสปีด เด้ง ขรก. เกี่ยวข้องทุจริต เซ็ตแรกปลิว 100 รายชื่อ


มติ. คตช. จ่อใช้ ม.44 เร่งสปีด เด้ง ขรก. ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต  วิษณุ เผย ใช้อำนาจหัวหน้า คสช. เปิดตำแหน่งใหม่ ให้ประจำสำนักนายกฯ แต่อย่าเรียกว่า ’สุสานคนโกง’
21 เม.ย. 2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 12.30 น ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นำแถลงผลการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) โดยมีคณะกรรมการ และอนุกรรมการชุดต่างๆของคตช. ร่วมแถลงด้วย  
วิษณุ กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการประชุมคตช.ครั้งที่ 3/2558 โดยวาระสำคัญวันนี้แบ่งเป็น 3 เรื่อง เรื่องที่ 1.เป็นการรายงานความคืบหน้าการดำเนินการงานของอนุกรรมการชุดต่างๆ ของคตช. 2.เรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่สืบเนื่องมาจากการประชุมสองครั้งแรก ในเรื่องของ "ข้อตกลงคุณธรรม" ซึ่งหมายถึงข้อตกลงที่หน่วยของรัฐทำกับเอกชนโดยมีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่มี ความเป็นกลางเข้ามาช่วยตรวจสอบการทำสัญญาของรัฐและ 3.เรื่องเกี่ยวกับข้อเสนอ ว่าการที่เราจะแสดงความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐที่นอกจากอาศัยความร่วม มือในประเทศแล้วต้องอาศัยกติกาที่เป็นสากลเพื่อเป็นที่ยอมรับของต่าง ประเทศ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)มีนโยบายสนับสนุนให้ประเทศไทยสมัครเป็นสมาชิกองค์กรหรือเข้าร่วม โครงการระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียงด้านความโปร่งใส
วิษณุกล่าวถึงกรณีข้าราชการ 100 รายชื่อ ที่ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) ระบุว่าเข้าข่ายการทุจริตว่า พลเอกประยุทธ์ในฐานะประธานที่ประชุมแจ้งในที่ประชุมถึงเรื่องดงกล่าวให้ที่ประชุม คตช.รับทราบ ซึ่งมีการรายงานมาที่นายกเป็นที่เรียบร้อยแล้วในขั้นตอนขณะนี้ ซึ่งถือว่า 100 รายชื่อนี้เป็นรุ่นที่หนึ่ง
ส่วนรุ่นต่อไปก็มีการตรวจสอบไปเรื่อยๆ ซึ่งรายชื่อเหล่านี้ไม่ได้มาจากรัฐบาล แต่มาจากองค์กรตรวจสอบ ได้แก่  คณะกรรมการป.ป.ช. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ป.ป.ง) ป.ป.ท สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)  ที่มีหน้าที่ตรวจสอบอยู่แล้ว
"ซึ่งมีการตรวจสอบก่อนที่คสช.จะเข้ามา แต่บางครั้งเรื่องเรื่องเงียบหรือไม่มีความคืบหน้า แต่รัฐบาลนี้ก็เข้ามาดำเนินการ โดยไม่ได้เป็นการแก้แค้น ไม่ต้องการปิดประตู ใครไม่ผิดก็ปล่อยออกไป ใครผิดก็ต้องดำเนินการไม่ต้องลูบหน้าปะจมูก ไม่ต้องหนีเสือปะจรเข้ มีการส่งชื่อ ส่งประวัติ ส่งพฤติกรรมมาที่คณะทำงานเพื่อประมวล ก็พบว่ามีชื่อซ้ำพฤติกรรมซ้ำ จึงมีคนที่เกี่ยวข้องในข่ายด้วยข้อหาที่ต่างกันมาก ที่ยังไม่อาจปักใจได้ว่าคนนับร้อยนั้นทุจริต เพราะถ้าตราหน้าเขาทุจริตก็ต้องถึงมีการฟ้องร้อง" วิษณุ กล่าว
วิษณุ กล่าวอีกว่า ที่จริงเรื่องพวกนี้ตนรายงานในที่ประชุมแม่น้ำห้าสายแล้วว่าที่รัฐบาลจับตาดูอยู่ ซึ่งมี 30 คดี ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐสามารถตอบได้ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อหาของประชาชน แต่ชื่อข้าราชการที่ส่งมาวันนี้อยู่ในข่ายที่คิดว่าเมื่อคิดว่าเป็นคนของรัฐบาล เจ้าน้าที่ฝ่ายบริหาร ข้าราชการ ก็ต้องคิดว่าจะจัดการยังไง บางคนปล่อยเขาไปเพราะไม่ถึงจับให้มั่นคั้นให้ตายเพราะหลักฐานไม่ชัดเจน แต่บางพวกถ้าปล่อยให้อยู่ต่ออาจจะเป็นปัญหาในการไป หยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานจนอาจทำให้เสียรูปคดีหรือเป็นปัญหาในทางปกครอง จึงทำให้คิดว่าจะจัดการอย่างไรในเชิงบริหาร จึง ไม่มีอะไรมากกว่าการโยกย้ายสลับสับเปลี่ยน การเอามาแขวนให้พ้นจากตำแหน่งเดิม เพื่อแสดงว่าเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหา
"จากนี้จะเห็นการแต่งตั้งโยกย้ายนอกฤดูกาลเกือบครึ่ง ที่โดยปกติจะโยกย้ายช่วงเดือนตุลาคม ส่วนการโยกย้ายช่วงเม.ย. จะมีแค่ตำรวจ ทหาร แต่ก็จะเห็นมากขึ้นเพื่อจัดการกับคนบางประเภท แต่ต้องย้ำว่ายังไม่ถึงกับการทุจริต" วิษณุ กล่าว
วิษณุ กล่าวอีกว่าการโยกย้ายจะมี 3 ประเภท กับคน 3 ประเภท คือ หนึ่ง เป็นการแต่งตั้งโยกย้ายเพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ไม่เกี่ยวกับร้อยกว่าชื่อที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรี  สอง เรื่องของการสลับสับเปลี่ยนเพื่อประสิทธฺิภาพของงาน ที่ คนเดิมที่อยู่อาจจะไม่ถนัดงานนั้น ก็ไม่ได้ผิดไม่ได้มัวหมอง แต่ต้องจำเป็นต้องสลับจากกรมนี้ไปกรมโน้น และ สาม นับร้อยคนที่มีการส่งชื่อมา ขณะนี้กำลังตรวจสอบว่าร้อยกว่าคนที่ว่าอยู่ในขั้นจะต้องจัดการทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งพบว่ามีตั้งแต่ซี 3 ถึงซี 11 เรียกว่ามีตั้งแต่ผู้น้อยถึงผู้ใหญ่ ที่ขณะนี้นายกฯให้ผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบว่าใครอาจจะไม่ต้องไปกระทบกระเทือน อะไรเพราะอยู่ไปก็ไม่ยุ่งเหยิงหรือไม่ทำให้เสียรูปคดีได้หรือไม่ได้เป็น ผู้ใหญ่มากนักแต่อย่างน้อยก็ต้องให้รู้ว่ามีข้อหาที่ต้องสอบสวนต่อไป
"แต่ในเรือนร้อยมีไม่มากนักที่อาจทำให้ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานจนเสียรูปคดีที่ อยู่แล้วอาจจะไม่ได้รับความเคารพจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่จะทำให้ผู้ใต้ บังคับบัญชาไม่กล้าข้อมูลก็อาจจะมีการแต่งตั้งโยกย้ายที่อาจจะทำแบบปกติทั้ง เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และบางกรณีที่เป็นข้าราชการระดับสูงอาจจะหาตำแหน่งรองรับ ที่ในระบบปกติหาตำแหน่งได้ยากเพราะตำแหน่งเต็มหมดแล้ว ซึ่งอาจจะใช้มาตรการชั่วคราว ดังที่เคยใช้มาแล้วที่หัวหน้าคสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่อาจจะสร้างตำแหน่งใหม่ขึ้นมา โดยให้หลักประกันว่าเป็นมาตรการชั่วคราว ถ้าไม่ผิดก็กลับมาตำแหน่งเดิม ถ้าผิดก็เลี้ยวขวาไปอีกทางหนึ่ง" วิษณุ กล่าว
วิษณุ กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องใช้มาตรา 44 ในการโยกย้ายข้าราชการ เนื่องจากหากใช้กระบวนการตามปกติ จะเกิดความล่าช้า เพราะกว่าคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะอนุมัติ อาจใช้เวลาหลายเดือน ส่วนตำแหน่งที่จะให้บุคคลที่โดนโยกย้ายออกเข้ามาทำหน้าที่ รัฐบาลกำลังตัดสินใจแต่ไม่ให้อยู่กระทรวงเดิมแน่นอน ทุกคนจะมาประจำที่สำนักนายกรัฐมนตรี อาจเป็นที่ปรึกษานายกฯ อย่างไรก็ตาม ตนไม่อยากใช้คำว่าสุสานคนโกง เพราะหลายคนสุดท้ายเขาก็ไม่ได้ผิดอะไร
เมื่อถามว่าจะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า หากบุคคลใดไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่จะถูกดำเนินการอย่างเด็ดขาด วิษณุ อาจไม่ถึงกับเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญโดยละเอียด แต่จะเขียนในภาพกว้างเพราะสภาต่างๆที่ถูกแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หากทำได้จริงก็จะเข้ามาช่วยตรวจสอบข้าราชการอยู่แล้ว
"วันนี้ ปัญหาของการทุจริตคือคนไทยเห็นแก่หน้ากันไม่กล้าทำอะไรกันมากความจริงผมได้ เรียนกับนายกฯไปว่าไม่ต้องไปดูรายชื่อว่าเป็นใครบ้างเพราะหากไปดูจะเกิดความ รู้สึกสิ่งแรกที่รัฐบาลต้องยอมรับคือทุกหน่วยงานรายงานมาให้รัฐบาลทราบ เรามีหน้าที่จัดประเภทและสอบถามไปยังต้นสังกัดว่าดำเนินการถึงขั้นตอนใดแล้ว หากอยู่ในขั้นสอบสวนก็ขอให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานต้นสังกัด แต่รายไหนที่นั่งทับตำแหน่งตัวเองอยู่โดยไม่ทำอะไร รัฐบาลมีหน้าที่เข้ามาดำเนินการ ขณะนี้สิ่งที่รัฐบาลต้องการคือทำให้การตรวจสอบการทุจริตมีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะฉะนั้นต้องทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการปฏิรูป" วิษณุ กล่าว
วิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ห่วงข้าราชการระดับล่างเท่าข้าราชการระดับบนรวมถึงนักการเมืองด้วย อย่างไรก็ตามนายกฯ ได้มอบคำสั่งว่าหากนายกฯ กลับจากการปฏิบัติภารกิจระหว่างประเทศแล้ว หน่วยงานต่างๆ สามารถส่งรายชื่อข้าราชการที่ส่อว่าทุจริตเข้ามาได้อีก ส่วนนักการเมืองหรือข้าราชการใครทุจริตมากกว่ากันนั้น มองว่านักการเมืองไม่มีโทษทางวินัย หากจะจัดการต้องมีการฟ้องร้องเพียงอย่างเดียว ส่วนข้าราชการสามารถโยกย้ายได้
วิษณุ  กล่าวว่า นายกฯได้เน้นมาตรการ 4 ขั้นตอน จากเบาสุดไปหาหนักสุดในการทำงานตรวจสอบการทุจริต หนึ่ง มาตรการเบาสุดคือทำให้ผู้กระทำผิดหรือผู้ที่มีแนวโน้มกระทำผิดต้องยั้งคิด คือหยุดนึกว่าถ้าทำต่อจะเสียหาย โดยให้กลับไปปฏิบัติตามกฎหมาย อาทิ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร และพ.ร.บ.อำนวยความสะดวก ที่ต้องพูดจาปราศัยกับประชาชนอย่างไร ใช้เวลาในการทำงานเท่าไร ถ้าทำงานตามนี้ก็หมดเรื่อง ขั้นที่สอง จะถูกตรวจสอบ ถ้ายังทำผิดต่อไปก็ต้องตรวจสอบ ว่าที่ฝ่าฝืนนั้นผิดหรือประมาทหรือจงใจหรือไม่ องค์กรต่างๆก็จะเข้ามาตรวจสอบ อาทิ ป.ป.ง  ป.ป.ท สตง. และคตร.เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งพบว่ามีการรายงานลับมาถึงนายกเป็นจำนวนมาก สาม จัดการในทางบริหาร โดยยังไม่ฟ้องร้อง ยังไม่ไปถึงศาล จะเป็นการย้ายออกจากจุดที่ล่อแหลม หรือหาหลักฐานดำเนินคดี ซึ่งบางคนปล่อยได้ แต่บางคนปล่อยแล้วในภาษากฎหมายขืนอยู่จะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานจนเสียรูปคดี แบบนี้ต้องเอาออก และ สี่ ฟ้องร้องดำเนินคดี ฐานทุจริต หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา157 ก็จะต้องดำเนินคดี

ปล่อยตัว ‘เอ็ม เสื้อแดง’ แล้ว หลังใช้ ม.44 คุมตัวสอบ7วัน ไม่พบโยงคาร์บอมบ์สมุย



หลังจากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิด บริเวณลานจอดรถชั้นใต้ดินของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลสมุย ถนนเลียบหาดเฉวง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา จนนำมาสู่การจับกุมนายนรินทร์ อ่ำหนองบัว หรือ "เอ็ม เสื้อแดง" หลังพบภาพเผยแพร่ “คืนนี้จัดหนักที่สุราษฎร์” ในโซเชียลเน็ตเวิร์กเมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา เพื่อนำมาสอบสวน


ล่าสุดวันนี้(20 เม.ย.) ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยถึงกรณีทางเจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวนายนรินทร์ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.เพื่อสอบถามข้อมูลต่างๆ ว่า จากการตรวจสอบจากทางเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องหลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัว นายนรินทร์ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 เป็นเวลา 7 วัน ครบกำหนดการควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. ทางทีมสอบสวนได้ปล่อยตัวนายเอ็มไปแล้วโดยไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาอะไร


“การปล่อยตัวนายเอ็ม ทางจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการแถลงข่าวอะไร จึงทำให้บางกลุ่มบางพวกนำไปเป็นประเด็น และได้มีการสอบถามมายังเจ้าหน้าที่ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้ดำเนินการไปตามพยานหลักฐานข้อเท็จจริงที่นายเอ็มได้โพสต์ข้อความต่างๆ ไว้ นำมาสอบถามเพื่อให้เกิดความชัดเจนก่อนจะปล่อยตัวไป” พ.อ.วินธัยกล่าว
รายงานข่าวจาก คสช.เปิดเผยว่า เบื้องต้นจากการสอบสวนนายเอ็มยังไม่พบหลักฐานที่จะเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ แต่ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กอันเป็นการชี้ชวน หลังจากปล่อยตัวไปแล้วทางเจ้าหน้าที่ก็จะติดตามพฤติกรรมของนายเอ็มอย่างต่อเนื่องต่อไป