วันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558

อดีตผู้นำ นศ. สิงคโปร์ วิจารณ์ 'ลีกวนยู' เป็นเผด็จการนักสร้างภาพ


Tue, 2015-03-31 23:47


อดีตผู้นำ นศ. ที่เคยถูกรัฐบาลสิงคโปร์ตั้งข้อกล่าวหาจนต้องลี้ภัยทางการเมืองเขียนบทความถึงการเสียชีวิตของลีกวนยู อดีตผู้นำสิงคโปร์ ระบุว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ประชาชนได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระ และตัวเขาคิดว่าสิงคโปร์ประสบความสำเร็จได้เองโดยไม่ต้องมีลีกวนยู

31 มี.ค. 2558 ตันหัวเปียว (Tan Wah Piow) อดีตผู้นำนักศึกษาสิงคโปร์ผู้ลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ลอนดอนในปี 2530 เขียนบทความตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการเสียชีวิตของ ลีกวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ได้รับการยกย่อง โดยแสดงความคิดเห็นที่ต่างออกไปว่าการเสียชีวิตของลีกวนยูจะทำให้ประชาชนชาวสิงคโปร์เป็นอิสระ

ตันหัวเปียวต้องลี้ภัยเพราะเคยถูกรัฐบาลสิงคโปร์ในยุคนั้นกล่าวหาว่าเขาร่วม "สมคบคิดลัทธิมาร์กซิสม์" (Marxist Conspiracy) ซึ่งมีคนถูกทางการสิงคโปร์จับกุมด้วยข้ออ้างนี้ 16 ราย เขาระบุในบทความว่าในชีวิตของลีกวนยูเขามีความเป็นห่วงอยู่เรื่องเดียวคือต้องการให้ประชาชนในชาติกลัวเขาทำให้เขาไม่มีเพื่อนร่วมงานมีแต่ลูกสมุน

ในแง่ที่ลีกวนยูถูกยกย่องให้เป็นผู้นำเผด็จการที่ประสบความสำเร็จโดยยังคงสร้างภาพความเป็นประชาธิปไตยและการมีหลักนิติธรรมได้นั้น ตันหัวเปียวมองว่าการที่ "สิงคโปร์โมเดล" ประสบความสำเร็จได้เป็นเพราะนครรัฐสิงคโปร์มีที่ตั้งที่ได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ในแง่ของการเป็นท่าเรือ รายล้อมด้วยประเทศที่ร่ำรวยทรัพยากร นอกจากนี้ยังเป็นเพราะประชาชนที่มีความอุตสาหะและขยันขันแข็งอีกด้วย

ตันหัวเปียวระบุว่า สิ่งที่ลีกวนยูประสบความสำเร็จคือการสร้างความเชื่อผิดๆ ว่ามีแต่ตัวเขาคนเดียวเท่านั้นที่เป็นบิดาผู้ก่อตั้งบุกเบิกสิงคโปร์ แต่ความเชื่อนี้จะค่อยๆ ลบเลือนไปหลังการเสียชีวิตของเขา

"สำหรับคนที่ต้องการเป็นที่หวาดกลัวมากกว่าจะเป็นที่รัก ครอบครัวของเขาและสมุนของเขาที่ตอนนี้กำลังไว้ทุกข์ให้กับการเสียชีวิตของเขาก็ไม่ควรแปลกใจถ้าหากมีผู้เฉลิมฉลองการเสียชีวิตของเขาในฐานะเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่จะทำให้ประชาชนเป็นอิสระในที่สุด" ตันหัวเปียวระบุในบทความ

"การเสียชีวิตของลีกวนยูจะปลดล็อกผู้คนออกจากข้อห้ามและปลดปล่อยผู้คนออกจากความหวาดกลัว ความหวาดกลัวจะถูกลงโทษทางการเมืองทำให้ชาวเมืองและผู้อาศัยในสิงคโปร์ 'ง่อยเปลี้ย' อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อนในประเทศพัฒนาแล้วประเทศอื่น ซึ่งความกลัวนี้ส่งผลไปถึงทั้งคนที่ร่ำรวยมากและคนที่ฉลาดมาก แม้กระทั่งผู้ที่มีตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงก็ยังกลัวที่จะแสดงความเห็นต่าง" ตันหัวเปียวระบุในบทความ

ตันหัวเปียววิเคราะห์อีกว่าพรรคกิจประชาชน (PAP) ที่ได้รับอานิสงค์จากการค้ำจุนโดยลีกวนยูมาตลอด 50 ปี ก็จะมีความสามารถในการครอบงำทางการเมืองลดลง และการเป็นชนชั้นนำทางการเมืองของพวกเขาก็ไม่ได้ง่ายอีกต่อไป


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Tan_Wah_Piow

‘จิตรา’ ยื่นผู้ตรวจการฯ พิจารณา ปมพลเรือนขึ้นศาลทหาร

เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ จิตรา คชเดช นักกิจกรรมด้านแรงงานซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้คณะผู้ตรวจการฯ พิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ตนซึ่งเป็นพลเรือนต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหารนั้น ขัดกับกฏหมายรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 หรือไม่
โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานผู้ตรวจการฯ รับเรื่องดังกล่าว พร้อมชี้แจงว่าจากการตรวจสอบข้อกฎหมายแล้วสามารถรับเรื่องร้องเรียนนี้ได้ แต่จะมีการส่งนิติกรตีความในรายละเอียดอีกครั้ง จะทราบผลภายใน 8 วัน ซึ่งหากเข้าข้อกฏหมายก็จะดำเนินการส่งต่อให้คณะกรรมการผู้ตรวจการฯ พิจารณาส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีกที ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานเนื่องจาก เนื่องจากมีเรื่องพิจารณาหลายเรื่อง เนื่องจากเรื่องใหญ่และเป็นกรณีแรกที่มีการยื่นต่อผู้ตรวจการฯ พิจารณา จึงจำเป็นที่ต้องมีการใช้องค์คณะ 3 คน ในการพิจารณาตามเงื่อนไขข้อกฏหมาย
ทั้งนี้ จิตรา ถูก คสช. เรียกเข้ารายงานตัวตามคำสั่งที่ 44/2557 เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.57  แต่ไม่สามารถเดินทางมารายงานตัวได้เนื่องจากติดภารกิจดูงานกิจกรรมสหภาพแรงงานที่สวีเดน อย่างไรก็ตามเธอได้แจ้งกับสถานทูตไทยในสวีเดนแล้ว แต่ก็ยังถูกออกหมายจับในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว เมื่อจิตราเดินทางกลับจากสวีเดนถึงสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อ 13 มิ.ย.57 ก็ถูกควบคุมตัวไว้ที่กองปราบ 1 คืนก่อนจะได้รับการประกันตัว
นอกจากนี้จิตรา ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการให้พลเรือนขึ้นศาลทหารนั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลทหารได้มีคำสั่งยกคำร้อง

ครม.เตรียมใช้ มาตรา 44 ตั้งสถาบันการบินพลเรือนอิสระ-แก้ปัญหาการบินถูกลดชั้น

นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมตลาดศิลปะคลองผดุงกรุงเกษม และสำรวจคลองผดุงกรุงเกษม ณ ริมคลองผดุงกรุงเกษม เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและเขตดุสิต กทม. เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2558 (ที่มา: แฟ้มภาพ/เว็บไซต์รัฐบาลไทย)
31 มี.ค. 25
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด เผยนายกรัฐมนตรีหารือเรื่องแก้ปัญหาค้ามนุษย์ในกิจการประมง และยกเลิกการใช้ "กฎอัยการศึก" เพราะต่างชาติกังวล แต่จะใช้มาตรา 44 แทน โดยเตรียมใช้อำนาจตั้งสถาบันการบินพลเรือนแห่งชาติให้กลายเป็นหน่วยงานอิสระแบบ กสทช.
58 - ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมฯ ถึงเรื่องที่นายกรัฐมนตรีปรารภและสั่งการต่อที่ประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ รายงานในเว็บไซต์รัฐบาลไทยดังนี้
การประชุมคณะรัฐมนตรีในเดือนเมษายน 2558 จะมีการประชุม 3 ครั้ง คือ วันที่ 7, 21 และวันที่ 28 เมษายน 2558 อย่างไรก็ตามในวันที่ 28 เมษายน 2558 เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีภารกิจที่จะเดินทางไปเยือนต่างประเทศจึงได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม ครม.แทน
สำหรับเรื่องการช่วยเหลือแรงงานประมงไทยที่ได้รับผลกระทบจากการทำประมงที่ผิดกฎหมายและยังอยู่ในต่างประเทศนั้น ปรากฏว่าตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2557 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ทางกระทรวงการต่างประเทศได้มีการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อดำเนินการช่วยเหลือแรงงานประมงไทยให้เดินทางกลับมายังประเทศไทยแล้ว จำนวน 146 ราย โดยเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมาก็ได้มีการช่วยเหลือแรงงานประมงไทยกลับประเทศอีก จำนวน 21 ราย และในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้จะมีการช่วยเหลือแรงงานประมงเพิ่มอีกจำนวน 6 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการในเรื่องหลักฐานอีก 3 ราย ซึ่งหากดำเนินการเรื่องดังกล่าวเรียบร้อยก็จะทยอยเดินทางกลับประเทศไทย ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวเรื่องการค้ามนุษย์และการทำประมงที่ผิดกฎหมาย รัฐบาลได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาในระดับผู้ประกอบการ เรือประมง แรงงานที่ทำงานในเรือประมง การจัดซื้อจัดจ้าง และการติดตั้ง GPS เพื่อตรวจสอบเรือประมงว่าทำประมงในพื้นที่ที่ถูกต้องหรือไม่ และเข้าไปในเขตที่ทับซ้อนกับประเทศอื่นหรือไม่ เป็นต้น ซึ่ง นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงให้ที่ประชุม ครม. ได้รับทราบอีกครั้งว่า รัฐบาลไม่ได้ช่วยเหลือแรงงานประมงไทยและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาในระยะยาวควบคู่ไปพร้อมกันด้วย
ส่วนเรื่องแนวทางการใช้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วครานั้น นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ชี้แจงในรายละเอียดเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตามรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่าเบื้องต้นสามารถแบ่งสัดส่วนของการใช้อำนาจตามมาตร 44 ของ คสช. เป็น  2 ส่วน ดังนี้ ส่วนแรกคือ การใช้เพื่อแก้ไขปัญหาต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ได้รับการเพ่งเล็งจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องมาตรฐานการบินระหว่างประเทศของสหประชาชาติ รวมทั้งเรื่องการหากฎกติกามาทดแทนเรื่องของกฎอัยการศึก
ทั้งนี้ในส่วนกรณีของ ICAO ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้ถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือจาก ICAO เพียงแต่มีการแจ้งเตือนมาว่าสิ่งที่ ICAO ได้แจ้งเตือนมาและชี้แจงข้อบกพร่องมาตั้งแต่ปี 2548 เรายังไม่ได้มีการแก้ไขให้เป็นไปตามที่ ICAO กำหนด ซึ่งล่าสุดได้มีการแจ้งเตือนมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมาว่า สิ่งต่าง ๆ ที่ไทยดำเนินการไม่เป็นไปตามที่ ICAO แจ้งเตือน คือ กฎระเบียบยังไม่ครบถ้วนและทันสมัย เจ้าหน้าที่เทคนิคยังไม่เพียงพอ เจ้าหน้าที่มีระยะเวลาไม่เพียงพอต่อการตรวจสอบทางด้านเทคนิคอย่างถูกต้อง การฝึกอบรมเจ้าเจ้าหน้าด้านเทคนิคไม่ครบถ้วนทำให้ขาดประสบการณ์และความรู้ที่จำเป็น เครื่องมืออุปกรณ์ไม่เพียงพอ และขาดระบบในการติดตามตรวจสอบและการแก้ไขข้อบกพร่อง จนส่งผลให้ญี่ปุ่นประกาศห้ามเครื่องบินแบบเช่าเหมาลำของไทยเพิ่ม หรือเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน เนื่องจากไม่ผ่านมาตรฐานการบินขององค์การการบินระหว่างประเทศนั้น จะไปโทษญี่ปุ่นไม่ได้เพราะเรื่องของมาตรฐานการบินประเทศญี่ปุ่นถือเป็นประเทศผู้นำในเรื่องของเทคโนโลยี ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไทยจะต้องมีการปรับแก้ไข
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับต่อกรณีดังกล่าวพบว่า ในการแก้ไขของเรานั้นต้องมีการปรับแก้ในหลายรูปแบบ เช่น เรื่องการปรับหน่วยงานที่รับผิดชอบจากกรมการบินพลเรือนที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นหน่วยงานของทางราชการ ซึ่งข้อเท็จจริงของ ICAO แล้วต้องการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องมาตรฐานทางด้านการบินเป็นหน่วยงานอิสระ จึงมีการวางแผนว่าจะปรับให้กลายเป็นสถาบันการบินพลเรือนแห่งชาติและให้เป็นหน่วยงานอิสระคล้ายกับ กสทช. ขณะเดียวกันจะมีการจัดตั้งกรมควบคุมการขนส่งทางอากาศเพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติ โดยจะเป็นการแยกหน่วยควบคุมกับกำดูแลออกจากหน่วยปฏิบัติ เพื่อให้เป็นไปตามกฎกติกาของ ICAO กำหนด รวมทั้งจะมีการปรับโครงสร้างอัตรากำลังพล ซึ่งดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดดังกล่าวคาดจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง ดังนั้นนายกรัฐมนตรี จึงได้มีการพิจารณาที่จะใช้อำนาจของ คสช. ตามมาตรา 44 ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญว่าให้ คสช. สามารถที่จะใช้อำนาจในการแก้ไขปัญหาเรื่องต่าง ๆ ได้ จึงถือเป็นการใช้อำนาจในทางที่สร้างสรรค์เพื่อลดขั้นตอนต่าง ๆ และให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีระยะเวลาในการปรับแก้ไขเรื่องดังกล่าวภายใน 90 วัน ตามกฎกติกาของ ICAO กำหนด ซึ่งคาดว่าภายใน 90 วัน จะสามารถส่งรายละเอียดการแก้ไขเกี่ยวกับมาตรฐานการบินของไทยไปที่ ICAO อีกครั้งได้ ซึ่งหากผ่านการพิจารณาของ ICAO ก็จะทำให้ข้อกังวลในเรื่องนี้หมดไป อย่างไรก็ตามหากไม่ผ่านก็จะถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือลง ซึ่งจะส่งผลต่อเรื่องเที่ยวบินต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ฉะนั้น นายกรัฐมนตรี จึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเข้าใจถึงการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ว่าเป็นการใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์และขอให้ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือเพื่อให้การแก้ไขปัญหานี้ลุล่วงไปได้ด้วยดีตามระยะเวลาที่กำหนด
ส่วนกรณีกฎอัยการศึกที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 นั้น ได้มีการปรารภในที่ประชุมฯ ว่า ต่างประเทศมีความเป็นกังวลต่อคำว่า “กฎอัยการศึก” ซึ่งโดยปกติแล้วในประเทศไทยทุกคนจะเข้าใจว่ากฎอัยการศึกเราไม่ได้นำมาใช้ในทุกมาตรา จะใช้เพียงบางข้อที่จำเป็นให้สอดคล้องกับสถานการณ์เท่านั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถที่จะเข้าไปตรวจค้น จับกุมหรือสืบสวนสอบสวนผู้ที่มีข้อมูลโยงใยจะก่อเหตุวุ่นวายกับบ้านเมือง ซึ่งในต่างประเทศไม่ได้สนใจเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นเพื่อทำให้สังคม โดยเฉพาะในต่างประเทศเกิดความสบายใจจึงพยายามหาแนวทางในการใช้อำนาจของ คสช.ตามมาตรา 44 มากำหนดเป็นกฎหมาย เพื่อดำเนินการในเฉพาะเรื่องซึ่งจะทำให้บรรยากาศโดยรวมดีขึ้น ส่วนรายละเอียดในการดำเนินการดังกล่าวนั้น นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นผู้ชี้แจงต่อไป

โฆษก ตร. เผยเตรียมออกหมายจับผู้เกี่ยวคดีปาระเบิดศาลเพิ่ม

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยกำลังรวบรวบพยานหลักฐานขอหมายจับผู้ต้องหาผู้เกี่ยวข้องคดีปาระเบิดศาลเพิ่มเติม ส่วน ‘อเนก ซานฟราน’ ยังไม่สามารถดำเนินการขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้
1 เม.ย.2558 พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าคดีลอบปาระเบิดศาลอาญา รัชดาภิเษก ว่า พนักงานสอบสวนกำลังรวบรวบพยานหลักฐานขอหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มเติม คาดว่าในเร็ววันนี้จะออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องได้เพิ่มอีก 1 คน โดยนายธราเทพ มิตรอารักษ์ บุตรชายของนางสุภาพร มิตรอารักษ์ หรือเดียร์ 1 ในผู้ต้องหาในส่วนของผู้จ้างวาน เป็น 1 ในคนที่กำลังถูกพิจารณาขอออกหมายจับ
ส่วนความคืบหน้าในการขอตัวผู้ร้ายข้ามแดน โดยเฉพาะนายมนูญ ชัยชนะ หรือ อเนก ซานฟราน และนายธณาวุฒิ อภินันท์ถาวร ผู้ต้องหาที่ยังอยู่ในต่างประเทศนั้น เนื่องจากคดีนี้ยังไม่ได้ส่งฟ้องจึงยังไม่สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตามได้มีการแปลหมายจับส่งให้ตำรวจสากล หรือ อินเตอร์โปลช่วยติดตามและเฝ้าระวังแล้ว

ผบ.ตำรวจนครบาล เชื่อ ‘ระเบิดปลอม’ ย่านพัฒนาการ หวังสร้างสถานการณ์


พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ระบุวัตถุต้องสงสัยคล้ายระเบิด ย่านพัฒนาการเป็นของปลอม เชื่อเป็นการสร้างสถานการณ์ให้เกิดความแตกตื่น จากนี้จะนำไปตรวจหาดีเอ็นเอ ลายนิ้วมือแฝง
1 เม.ย.2558 เมื่อ เวลา 10.45 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งว่าพบวัตถุต้องสงสัยคล้ายระเบิดผูกติดกับเสาไฟฟ้าบริเวณปากซอยพัฒนาการ 65 จึงทำการปิดการจราจรและเข้าตรวจสอบ
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดตรวจสอบพบว่ามีลักษณะคล้ายระเบิดไดนาไมท์ และมีสายไฟรวมทั้งแผงวงจรติดอยู่ด้วย
ต่อมาจากการตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่าวัตถุดังกล่าวเป็นระเบิดปลอม โดยมีการใช้กระดาษม้วนเป็นแท่งคล้ายระเบิด แต่ไม่มีดินระเบิดภายใน รวมทั้งมีการนำแผงวงจรมาประกอบ แต่ไม่มีการต่อวงจร ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เก็บกู้แล้ว
พ.ต.อ.กำธร อุ่ยเจริญ ผู้กำกับการกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด หรือ อีโอดี เปิดเผยว่าวัตถุระเบิดปลอมที่พบเป็นสิ่งเทียมอาวุธที่ทำขึ้นมาคล้ายระเบิดชนิด “โฮคบอมบ์” (Hoaxbomb) จากการตรวจสอบคาดเป็นนาฬิกาปลุกที่ทำรูปทรงคล้ายระเบิด เพราะยังขาดอุปกรณ์หลายชนิดที่จะประกอบเป็นระเบิดได้
ด้าน พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเดินทางมาตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ ยืนยันระเบิดที่พบเป็นระเบิดปลอม เชื่อว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ให้เกิดความแตกตื่น จากนี้จะนำไปตรวจหาดีเอ็นเอ ลายนิ้วมือแฝง พร้อมตรวจสอบภาพจากล้องวงจรปิด เพื่อเร่งติดตามผู้ที่นำมาวางไว้ โดยมีความผิดเข้าข่ายมีสิ่งเทียมอาวุธผิดกฎหมาย ทั้งนี้ตนไม่ขอเตือนผู้ไม่หวังดีให้เลิกสร้างสถานการณ์ ยืนยันตำรวจมีหน้าที่จับอย่างเดียว

ผู้เชี่ยวชาญยูเอ็นไม่ขำถ้อยคำ 'พล.อ.ประยุทธ์' คุกคามนักข่าว-ระบุผิดหวังและเสียใจ

เดวิด ไคย์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก (ซ้าย) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. (ที่มา: OHCHR/เว็บไซต์รัฐบาลไทย/แฟ้มภาพ)
1 เม.ย. 2558 - มีรายงานว่า เดวิด ไคย์ ผู้รายงานพิเศษของ

กรณีถ้อยคำ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อสัปดาห์ก่อน ล่าสุด 'เดวิด ไคย์' ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิเสรีภาพ ระบุว่าความคิดที่จะสังหารนักข่าวหรือปิดสื่อเพียงเพราะวิจารณ์รัฐบาล แถมนำมาทำเป็นเรื่องตลกนั้นถือเป็นสิ่งน่าประณาม พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยออกห่างจากถ้อยคำคุกคามเสรีภาพสื่อ และดำเนินการทันทีเพื่อให้มีพื้นที่แสดงความเห็น
สหประชาชาติ ว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ซึ่งอยู่ที่นครเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ ได้เผยแพร่ใบแถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงตัวออกห่างอย่างชัดเจนต่อถ้อยคำคุกคามเสรีภาพสื่อของผู้นำรัฐบาลไทย และดำเนินมาตรการโดยพลันเพื่ออนุญาตให้มีพื้นที่อภิปรายถกเถียงและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
ในใบแถลงข่าวยังระบุว่า "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2557 กล่าวถึงนักข่าวที่วิพากวิจารณ์ตนหรือ "สร้างความแตกแยก" ว่าอาจถูกลงโทษประหารชีวิตและกล่าวว่าตน "มีอำนาจในการปิดสื่อทุกสื่อ จับ และ ยิงเป้า"
ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกกล่าวย้ำว่า "ผมขอประณามถ้อยคำดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างไม่มีเงื่อนไข ในรอบปีที่ผ่านมามีการสังหารและใช้ความรุนแรงต่อนักข่าวทั่วโลก การกล่าวถ้อยคำลักษณะเช่นนี้เป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้"
ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติระบุด้วยว่า "เราได้รับรายงานจากทั่วทุกมุมโลกเกี่ยวกับการโจมตี สังหาร และจำคุกนักข่าวจำนวนมาก "การกระทำเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อปิดการวิพากษ์วิจารณ์และปฏิเสธมิให้พลเมืองเข้าถึงสิทธิในข้อมูลข่าวสาร"
นายเดวิดกล่าวว่า "นักข่าวทุกๆ ประเภททำหน้าที่สำคัญที่เป็นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย" นั่นคือ "ฉายภาพให้เห็นว่ารัฐบาลได้ปฏิบัติงานสอดคล้องกับหลักนิติธรรม หรือมีความเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นและละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ การข่มขู่คุกคามนักข่าวจึงเป็นการโจมตีสิทธิของสาธารณะที่จะได้รับรู้ข้อมูล"
ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติกล่าวด้วยว่า "ไม่มีข้อมูลใดที่บ่งบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถ้อยคำดังกล่าวอย่างเป็นเรื่องตลก แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะกล่าวในลักษณะนั้น การที่ความคิดในการสังหารนักข่าวหรือการปิดสื่อเพียงเพราะการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสามารถนำมาทำเป็นเรื่องตลกได้นั้นเป็นสิ่งที่น่าประณาม"
ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติระบุว่า ประเทศไทยควรดำเนินมาตรการเพื่อยกเลิกการบังคับใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ในขณะเดียวกันก็แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อความเป็นไปได้ที่จะนำมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) มาบังคับใช้ ซึ่งมาตรานี้จะให้อำนาจอย่างไม่มีขอบเขตกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในการสั่งการใดๆ ซึ่งมีผลบังคับทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร และทางตุลาการ
นายเดวิดกล่าวย้ำว่า "เสรีภาพในการแสดงออกและความเป็นอิสระของสื่อมวลชนที่จะสามารถรายงานข่าวได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกตอบโต้แก้แค้น ช่วยส่งเสริมการอภิปรายถกเถียงสาธารณะ และเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการสร้างสังคมที่มีความบูรณาการและเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเสรีภาพดังกล่าวรวมถึงสิทธิที่ทุกคนจะแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่รัฐได้"
"รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐไม่เพียงต้องเคารพบทบาทหน้าที่ของนักข่าวเท่านั้น แต่ควรจะต้องประณามอย่างเปิดเผยต่อการข่มขู่คุกคาม การโจมตีนักข่าวในทุกๆ รูปแบบโดยผู้มีตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงสุด และรับประกันไม่ให้ใครสามารถถูกข่มขู่คุกคามได้" ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวย้ำ
ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ยังแสดงความกังวลต่อการจับกุมคุมขังประชาชนตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มสูงขึ้น และเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ที่มีความเห็นต่าง และยังกล่าวด้วยว่า "สิ่งเหล่านี้สำคัญมากในช่วงเวลาที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะกำหนดทิศทางของประเทศในอนาคต"
สำหรับนายเดวิด ไคย์ เป็นชาวสหรัฐอเมริกา ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
โดยผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติเป็นส่วนหนึ่งของกลไกพิเศษ หรือ Special Procedure ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กลไกพิเศษซึ่งประกอบด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติซึ่งมีหน้าที่ในการติดตามสถานการณ์ในประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ หรือต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนประเด็นหนึ่งทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญของกลไกพิเศษดำเนินงานในฐานะอาสาสมัคร เขาไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติและไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ จากการทำงาน เป็นอิสระจากรัฐบาลหรือองค์กรใดๆ และทำงานภายใต้ศักยภาพส่วนบุคคล