วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

บทความนิวแมนดาลาวิเคราะห์ 3 เหตุผลที่ 'เลือกตั้งที่(รัก)ลัก' สำคัญต่อการต้านรัฐบาลทหาร


นักวิชาการ ม.ซิดนีย์ วิเคราะห์การเคลื่อนไหว 'เลือกตั้งที่(รัก)ลัก' ระบุ 3 เหตุผลที่การเคลื่อนไหวนี้มีความสำคัญต่อการต้านเผด็จการ ทั้งในเชิงสัญลักษณ์และการแสดงออกให้เห็นว่าการบังคับขู่เข็ญของเผด็จการใช้ไม่ได้ผล
7 มี.ค. 2558 เอม สินเพ็ง อาจารย์ภาควิชารัฐบาลและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ เขียนบทความวิเคราะห์การเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย 'เลือกตั้งที่(รัก)ลัก' เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะแสดงความเป็นนักเล่นคำที่ต้องการสื่อถึงการเลือกตั้งที่ถูก "ลัก" ไปแล้ว ยังเป็นการแสดงออกเชิงวัฒนธรรมมวลชนและการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารอย่างเปิดเผยมากที่สุดนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อเดือน พ.ค. 2557
เอม สินเพ็ง ระบุว่าในการเคลื่อนไหวดังกล่าวยังมีลักษณะการล้อเลียนด้วยกลอนรักต่อกลุ่มคนในเครื่องแบบเพื่อเรียกร้อง "สิทธิและเสียงที่หายไป" พร้อมมองว่า การเคลื่อนไหวเชิงอารยะขัดขืนในแนวนี้คล้ายกับกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงมักจะเคยทำในช่วงปี 2554 และ 2557
ในบทความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นิวแมนดาลายังระบุอีกว่า การเคลื่อนไหวกิจกรรม 'เลือกตั้งที่(รัก)ลัก' มีความสำคัญในแง่เป็นจุดเปลี่ยนผ่านของฝ่ายต่อต้านเผด็จการทหารในปัจจุบันด้วย 3 เหตุผลดังนี้
เหตุผลข้อแรก เอม สินเพ็ง ระบุว่าการเคลื่อนไหวนี้ถือเป็นการจงใจท้าทายรัฐบาลเผด็จการปัจจุบัน ทำให้เป็นการขัดขืนและลดทอนความชอบธรรมในการหาเหตุผลเพื่อบังคับขู่เข็ญของรัฐบาล ทั้งนี้ การบังคับขู่เข็ญนั้นจะได้ผลก็ต่อเมื่อเป้าหมายผู้รับสารรับรู้ว่าตนกำลังถูกข่มขู่อยู่ การบังคับขู่เข็ญมักจะกระทำโดยการเสนอเหตุผลว่าเหตุใดพฤติกรรมบางอย่างถึงควรทำและถ้าหากไม่ยอมทำตามจะส่งผลอย่างไร ซึ่งเผด็จการทหารมักจะใช้ทั้งการบังคับขู่เข็ญผสมผสานไปกับการกล่าวอ้างจริยธรรมเพื่อควบคุมพฤติกรรมประชาชน
เอม สินเพ็งมองว่าความชอบธรรมของรัฐบาลนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการใช้การบังคับขู่เข็ญให้ได้ผลและจะต้องผูกขาดอำนาจการบังคับขู่เข็ญไว้คนเดียว โดยการข่มขู่และคุกคามเช่นนี้มักจะใช้เพื่อสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัวและการสถาปนาว่าควรจะเชื่อฟังใคร
แต่การเคลื่อนไหว 'เลือกตั้งที่(รัก)ลัก' ก็เปิดโปงข้อด้อยที่สำคัญของยุทธวิธีการข่มขู่ของรัฐบาล คือเรื่องแรงจูงใจที่จะปฏิบัติตามข้อบังคับ บางคนอาจจะตั้งคำถามว่าทำไมพวกเราต้องทำตามด้วย จริงอยู่ว่าการไม่ปฏิบัติตามอาจจะมีความเสี่ยง แต่การปฏิบัติตามก็ดูเหมือนจะไม่ได้ให้อะไรที่ชัดเจนเลย มันไม่ได้รับประกันว่าจะทำให้เกิดระเบียบในสังคม ความมั่งคั่ง หรือประชาธิปไตยเลย
ในแถลงการณ์ของกลุ่ม "พลเมืองโต้กลับ" (Resistant Citizen) ผู้จัดงานรำลึกถึงการเลือกตั้งก็ระบุเน้นย้ำว่าการบังคับขู่เข็ญของรัฐบาลเผด็จการใช้ไม่ได้ผล
เอม สินเพ็ง ระบุว่าในขณะที่ชาวไทยจำนวนมากเข้าใจว่าความพยายามของทหารที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นไปตามความต้องการของตนโดยไม่มีข้อโต้แย้งเป็นเรื่องเพ้อฝันแต่พวกเขาก็ยังเซนเซอร์ตัวเองและยอมตามเพราะคิดว่าบทลงโทษมีราคาที่ต้องจ่ายมากเกินไป แต่การแสดงออกของกลุ่ม "พลเมืองโต้กลับ" ก็ช่วยลด "ราคาที่ต้องจ่าย" ลงผ่านการแสดงออกด้วยการประท้วงในที่สาธารณะจากกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐบาลเผด็จการร่วมกัน
บทความระบุถึงเหตุผลที่ 2 ที่ทำให้การเคลื่อนไหวนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญว่า การเคลื่อนไหว 'เลือกตั้งที่(รัก)ลัก' จัดโดยกลุ่มนักกิจกรรมซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี และบางคนก็เป็นผู้ที่ทางการไทยกล่าวหาว่าเป็น "ผู้ละเมิดข้อบังคับซ้ำๆ" แสดงให้เห็นว่าพลังอำนาจในการบังคับขู่เข็ญของเผด็จการทหารมีน้อยลง การข่มขู่ไม่ทำให้ผู้ต่อต้านยอมล่าถอยไป แต่ยิ่งทำให้เหล่าผู้ต่อต้านรัฐบาลเห็นว่าตนมีสถานะสำคัญในการเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล
บทความของเอม สินเพ็ง ระบุถึงเหตุผลข้อที่ 3 ว่า การเคลื่อนไหว 'เลือกตั้งที่(รัก)ลัก' ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่มีอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งมากขึ้นของกลุ่มต่อต้านเผด็จการ นักกิจกรรมที่มีชื่อเสียงจากกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงอย่าง สมบัติ บุญงามอนงค์ ก็ร่วมสนับสนุนช่วยขอยื่นประกันตัวนักกิจกรรมกลุ่ม "พลเมืองโต้กลับ" ที่ถูกจับกุมตัว ซึ่งถือเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลต่อไปในอนาคต
เอม สินเพ็งระบุในบทความว่า "แม้ว่ารัฐบาลเผด็จการของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยังไม่ล่มสลายไป แต่รากฐานของมันกำลังสั่นคลอนจากกระแสต่อต้านที่เพิ่มมากขึ้น"

สมัชชาคนจนแถลง รัฐบาลทหารหยุดคุกคามผู้หญิงคนจน


สมัชชาคนจนแถลงเนื่องในวันสตรีสากล 8มีนาคม2558 เรียกร้องรัฐบาลทหารยุติคุกคามผู้หญิงคนจนและครอบครัว ต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในทุกด้าน โดยเฉพาะสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิทธิในการจัดการทรัพยากร และคืนอำนาจอธิปไตยแก่ประชาชนโดยเร็ว ระบุประเด็นสัดส่วนผู้หญิงในสภา คำขวัญท่านผู้นำเป็นเพียงความฉาบฉวย บิดเบือน
๐๐๐๐
แถลงการณ์สมัชชาคนจน
แถลงการณ์ในวาระวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2558
จากการต่อสู้มาเกือบ 20 ปี สมัชชาคนจนเห็นว่า อำนาจรัฐที่ใช้ความอยุติธรรมและความรุนแรงมากดขี่ขูดรีดคนจนเพื่อผลประโยชน์ของทั้งชนชั้นนำและนายทุน ย่อมไม่สนใจว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจะเป็นชายหรือหญิง ด้วยเหตุนี้ ผู้หญิงในสมัชชาคนจนจึงต้องลุกขึ้นสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชายในทุกโอกาส การต่อสู้ของผู้หญิงในสมัชชาคนจน จึงเป็นไปในทิศทางเดียวกับการต่อสู้ของกรรมกรสตรีในสหรัฐอเมริกา ที่ลุกขึ้นต่อต้านการกดขี่และการทารุณเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2400 ซึ่งเป็นที่มาของวันสตรีสากล

หัวใจของวันสตรีสากล คือการที่ผู้หญิงได้มีจิตสำนึกและลุกขึ้นมาต่อต้านการกดขี่ขูดรีดที่กระทำต่อผู้หญิง ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อันมีรากเหง้าจากลัทธิชายเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นลักษณะอำนาจนิยมแบบหนึ่งที่มีอิทธิพลครอบงำแม้กระทั่งผู้หญิงด้วยกัน ยิ่งสังคมมีวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่มากเท่าใด ผู้หญิงต้องตกอยู่ในความทุกข์ยากมากเท่านั้น เผด็จการทหารอำนาจนิยมที่หวนกลับคืนสู่สังคมไทยในปัจจุบัน ยิ่งเป็นลัทธิอำนาจนิยมแบบชายเป็นใหญ่ที่เข้มข้นรุนแรงอย่างที่สุด
เผด็จการทหารอำนาจนิยมได้กลายเป็นอุปสรรคต่อการต่อสู้ของผู้หญิงคนจน ในขณะเดียวกันก็หลอกล่อและเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนทั้งหญิงและชายไปจากประเด็นหลัก นั่นคือความเท่าเทียมและเป็นธรรมอย่างถ้วนหน้า ไปเป็นประเด็นฉาบฉวย เช่นการถกเถียงจำนวนผู้หญิงในสถาบันทางการเมืองต่างๆ การที่ผู้นำรัฐบาลทหารฉวยโอกาสในวันสตรีสากล กล่าวคำชื่นชมต่อผู้หญิง สัญญาจะผลักดันความเท่าเทียมและให้โอกาสผู้หญิงในการขับเคลื่อนประเทศ จึงเป็นการโกหกหลอกลวงและบิดเบือนความเป็นจริง เพราะคำชื่นชมและคำสัญญาดังกล่าวขัดแย้งกับธรรมชาติของเผด็จการทหารอำนาจนิยมโดยสิ้นเชิง

สมัชชาคนจนเห็นว่า เพื่อที่จะแสดงความจริงใจต่อผู้หญิงเนื่องในวันสตรีสากล สิ่งที่รัฐบาลทหารจะต้องรีบทำโดยเร่งด่วนคือการยุติการรังควานต่อผู้หญิงคนจน รวมถึงครอบครัวและญาติพี่น้องทั้งชายและหญิง ที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและสิทธิเสรีภาพในทุกด้าน โดยเฉพาะสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิทธิในการจัดการทรัพยากร และคืนอำนาจอธิปไตยแก่ประชาชนโดยเร็วที่สุด เรายังขอเรียกร้องให้ผู้หญิงทุกคนได้ตระหนักรู้และปลดปล่อยตัวเองจากลัทธิชายเป็นใหญ่
เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันสตรีสากล สมัชชาคนจนขอแสดงความสมานฉันท์กับพี่น้องผู้หญิงทุกคน ทั้งในประเทศไทย และทั่วโลก ที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อสถาปนาสังคมที่เท่าเทียม เป็นธรรม และมีสิทธิเสรีภาพแท้จริงเพื่อประชาชนทุกเพศ
ประชาธิปไตยที่กินได้  การเมืองที่เห็นหัวคนจน

โพลล์สำนักงานสถิติแห่งชาติ คนไทย70%หนุนนายกฯจากเลือกตั้ง

ผลสำรวจความเห็นของประชาชนต่อการร่าง รธน.ฉบับใหม่ โดย สนง.สถิติแห่งชาติ ชี้ประชาชนต้องการนายกผ่านการเลือกตั้ง สส.และ สว.มาจากการเลือกตั้ง องค์กรอิสระต้องเปิดบัญชีทรัพย์สิน การซื้อขายเสียงมีโทษอาญา ให้สิทธิชุมชนในการัดการทรัพยากรธรรมชาติ สร้างหนี้ประเทศต้องผ่านสภา เห็นด้วยนิรโทษกรรมทางการเมือง เพียง18%ที่เห็นด้วยให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต
ผลสำรวจดังกล่าวเป็นไปตามโครงการของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนญ (กมธ.ยกร่างฯ) ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า โดยได้ประสานให้สำนักงานสถิติแห่งชาติดำเนินการ เน้นเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของประชาชนโดยตรงที่ประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน
ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติได้เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 5,800 คนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 5 ถึง 11 ม.ค.58 ก่อนจะนำมาวิเคราะห์และสรุปเป็นรายงานเสนอ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ


หนุน กก.องค์กรอิสระเปิดบัญชีทรัพย์สิน

ผลสำรวจแบ่งเป็นประเด็นๆ ตามคะแนนที่ประชาชนเห็นด้วยกับเรื่องนั้นๆ เริ่มจาก ประเด็นที่ประชาชนเห็นด้วยมากกว่าร้อยละ 90 ที่สำคัญได้แก่ ควรมีกฎหมายเกี่ยวกับกองทุนยุติธรรม เพื่อเป็นเครื่องมือในการดูแลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรม (ร้อยละ 97.1) ควรให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าชื่อกันเสนอให้ถอดถอดสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นได้ (ร้อยละ 96)
กำหนดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับชุมชนในการจัดสรรที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นธรรม (ร้อยละ 95.6) ประชาชนควรมีสิทธิออกเสียงประชามติในเรื่องที่จะผลกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติและประชาชน (ร้อยละ 95.2)
กรรมการองค์กรอิสระต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะทั้งก่อนและหลังเข้ารับตำแหน่ง (ร้อยละ94.3) ข้าราชการ / พนักงานของรัฐระดับสูง ระดับผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่า ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะทั้งก่อนและหลังเข้ารับตำแหน่ง (ร้อยละ94.0)

การสรรหากรรมการขององค์กรอิสระ ควรมีผู้แทนที่มาจากองค์กรวิชาชีพ องค์กรวิชาการ เอกชน สื่อมวลชน และภาคประชาชนร่วมด้วย (ร้อยละ 93.9)


สร้างหนี้ประเทศต้องผ่านสภา

ควรมีคณะกรรมการในการพิจารณาคัดเลือก แต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชการระดับสูง (ร้อยละ 92.6)

การสร้างหนี้ของประเทศต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา ร้อยละ 90.6
ควรทำการแยกแยะกำหนดโทษผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง เพื่อให้อภัยแก่ประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมโดยสงบ และมิได้กระทำผิดอาญาร้ายแรง (ร้อยละ 90.5)


แนะตรวจคุณสมบัติเครือญาติผู้สมัครส.ส.

ต่อมาเป็นประเด็นที่ประชาชนเห็นด้วยร้อยละ 80-90 ที่สำคัญ เช่น ประเทศไทยควรมีระบบ 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา (ร้อยละ 88.2) ควรกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 ม.ค.ของปีที่มีการเลือกตั้ง (ร้อยละ 88.2)

ควรกำหนดให้ทั้งการซื้อและขายเสียงเป็นความผิดที่มีโทษถึงจำคุก (ร้อยละ 87.6) ควรมีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง เครือญาติ คู่สมรส และบุตรย้อนหลัง 5 ปี (ร้อยละ 86.9)
ชุมชนต้องมีสิทธิในการอนุญาตหรือยกเลิกการให้เอกชนเข้ารับสัมปทานเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน (ร้อยละ 86.9) ควรมีการกำหนดให้จำนวน ส.ว.ในแต่ละจังหวัดขึ้นอยู่กับจำนวนของประชากรในแต่ละจังหวัด (ร้อยละ 86.3) และควรให้ กกต.มีอำนาจเฉพาะการบริหารจัดการและออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งเท่านั้น (ร้อยละ 85.6)


หนุนแยกหน่วยภารกิจรองออกจากตำรวจ

สำหรับประเด็นที่ประชาชนเห็นด้วยตั้งแต่ร้อยละ 60-79 ที่สำคัญ เช่น ควรมีการแยกหน่วยงานตำรวจที่ทำหน้าที่เฉพาะ เช่น ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจรถไฟ ตำรวจป่าไม้ ออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้ไปขึ้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ร้อยละ 76.6)
ควรกำหนดให้มีการถ่ายโอนภารกิจและงบประมาณให้แก่ท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการให้บริการสาธารณะและจัดสวัสดิการสังคม (ร้อยละ 71.4) 


เชียร์นายกฯต้องมาจากเลือกตั้ง

ควรมี ส.ส.สองประเภทเหมือนเดิม คือ ส.ส.แบบแบ่งเขต และระบบบัญชีรายชื่อ (ร้อยละ 71.3) นายกรัฐมนตรีต้องเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองและมาจากการเลือกตั้ง (ร้อยละ 70.1) การเลือกตั้ง ส.ส. ผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง (ร้อยละ 68.6) 
ควรกำหนดสัดส่วนผู้แทนที่เป็นผู้หญิงให้มีอย่างน้อยร้อยละ 30 เพื่อเปิดโอกาสให้มีผู้แทนที่เป็นผู้หญิงมากขึ้น (ร้อยละ 67.6) คดีทั่วไปสิ้นสุดที่ศาลอุทธรณ์ หากจะฎีกาต้องขอเป็นกรณีพิเศษ เพื่อลดจำวนคดีที่จะขึ้นสู่ศาล (ร้อยละ 65.1)
ควรกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชน หากไม่ไปเลือกตั้งต้องถูกลงโทษ (ร้อยละ 64.6) ส.ว.ควรมีที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ร้อยละ 62.3


จำกัดวาระผู้นำแค่ 2 สมัย

ส่วนประเด็นที่ประชาชนเห็นด้วยตั้งแต่ร้อยละ 50-59 ที่สำคัญ เช่น นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.ด้วย (ร้อยละ 58.9) นายกรัฐมนตรีควรมาจากความเห็นชอบของ ส.ส. (ร้อยละ 58.6) การเลือกตั้ง ส.ส.เขต ควรเป็นแบบ 1 เขต 1 คน (ร้อยละ 58)
การกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของ ส.ว.คราวละ 6 ปี ไม่เหมาะสม (ร้อยละ 55) ควรมีศาลเลือกตั้งเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดการเลือกตั้ง (ร้อยละ 54.9) ควรจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ไม่เกิน 2 สมัย (ร้อยละ 54.6)


แค่ส่วนน้อยชงห้าม ส.ส.นั่ง รมต.

ขณะที่ประเด็นที่ประชาชนเห็นด้วยต่ำกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ ฝ่ายการเมืองสามารถเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในระดับหัวหน้ากระทรวงได้ (ร้อยละ 43.4) ห้าม ส.ส.เป็นรัฐมนตรี (ร้อยละ 43.3)
ควรกำหนดจำนวนครั้งของการดำรงตำแหน่ง ส.ส. เพื่อไม่ให้อยู่ในการเมืองนานเกินไป (ร้อยละ 37.8) ควรให้บุคคลทุกสัญชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้รับสิทธิทุกประการเหมือนกับคนไทย (ร้อยละ 20.3) และยกเลิกโทษประหารชีวิต (ร้อยละ 18)

สวมผ้าถุงทวงสิทธิเลือกตั้ง วันสตรีสากล


8 มี.ค.2558 กลุ่มเมล็ดพริกนำทีมสวมผ้าถุงเดินขบวนวันสตรีสากลรณรงค์การเลือกตั้ง จากอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังเสร็จสิ้นการเสวนา 'สตรี ..เสรีภาพและการแสดงออก'
จากนั้นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ระบุ ในขณะที่นานาอารยะประเทศผ่านการต่อสู้ยาวนานและมีพัฒนาการด้านสิทธิเสรีภาพดีขึ้น แต่ไทยกลับตกลงหุบเหวทั้งสิทธิหญิงและชาย ภายหลังเกิดรัฐประหาร 2557 จึงขอเรียกร้องให้
  • 1.ยกเลิกกฎอัยการศึก
  • 2.คืนสิทธิเลือกตั้งให้ประชาชน 
  • 3. นายกฯ-ส.ส.ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง
  • 4.ยกเลิกมาตรา 112
  • 5.การทำแท้งเป็นสิทธิของสตรี

หมายเหตุประเพทไทย : ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ‘ไทย-พม่า’


หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ คุยกันเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ‘ไทย’ กับ ‘พม่า’ ในมิติที่ข้ามพ้นไปจากความทรงจำแบบประวัติศาสตร์บาดแผลผสมประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมซึ่งในบรรจุอยู่ในหนังสือเรียน พบกับอรรถ บุนนาค และแขกรับเชิญ ‘ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์’ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาสนทนาถึงความสัมพันธ์ไทย-พม่ายุคใหม่ตั้งแต่หลังปลดแอกจากเจ้าอาณานิคม และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สังคมในยุคปัจจุบันในช่วงแห่งการปฏิรูปการเมืองของทั้งสองประเทศ

บทความ 'เดอะดิพโพลแมต' เผยไทยล้าหลังอย่างมากเพราะรัฐประหาร


บทความจากเว็บไซต์วิเคราะห์ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกระบุถึงสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ล้าหลังจนแม้กระทั่งพม่าอาจจะแซงหน้าได้ เนื่องจากกลุ่มชนชั้นนำและฝ่ายอนุรักษ์นิยมทางการเมืองยังห่วงแต่จะเสียอำนาจ ทำให้ยึดครองประเทศโดยใช้ข้ออ้างที่มีช่องโหว่ และในบทความได้ชี้ว่าข้ออ้างเหล่านั้นมีช่องโหว่อย่างไร
8 มี.ค. 2558 แซม ไมเคิล นักเขียนอิสระเขียนบทความเรื่องความถดถอยครั้งใหญ่ของประเทศไทยนับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อเดือน พ.ค. 2557 ทำให้ประชาคมโลกต่างพากันตั้งคำถามว่าเหตุใดประเทศที่เป็นผู้นำประชาธิปไตยในภูมิภาคที่ชาติตะวันตกตั้งความหวังไว้ว่าจะทำให้พม่าออกจากการเป็นเผด็จการได้ถึงถดถอยล้าหลังได้ขนาดนี้จนถึงขั้นว่าประเทศพม่าอาจจะแซงหน้าได้
ไมเคิล ระบุถึงการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหลังการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่คุกคาม การเรียก "ปรับทัศนคติ" แม้กระทั่งการจับกุมตัวผู้ที่ต่อต้านอีกทั้งยังมีการควบคุมสื่อมากขึ้นและใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเล่นงานประชาชนมากขึ้น ไมเคิลยังวิจารณ์อีกว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และกระบวนการปฎิรูปแสดงให้เห็นถึงการถอยหลังกลับไปเป็นระบอบอำนาจนิยมที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยและมีการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่พวกชนชั้นนำเก่าแก่ ได้แก่ กองทัพ ข้าราชการระดับอำมาตย์ และสถาบันกษัตริย์
บทความของไมเคิล ยังระบุถึงข้ออ้างของกลุ่มชนชั้นนำเก่าหรือชาวไทยที่ยำเกรงต่อสถาบันนำมาใช้อธิบายถึงความล้าหลังของตัวเอง 3 รูปแบบ คำอธิบายแรกพวกเขาจะอ้างว่าการเลือกตั้งและการชุมนุมของฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยจะ "ทำให้เกิดความโกลาหล" คำอธิบายที่สองคือการอ้างว่าอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และครอบครัวมีการทุจริตสูงมากราวกับว่าเมื่อก่อนนี้การเมืองไทยสะอาดบริสุทธิ์ อีกทั้งยังอ้างข้อหา "ล้มเจ้า" คำอธิบายที่สามคือ "ประเทศไทยมีลักษณะเฉพาะ และระบอบกษัตริย์เท่านั้นที่ดีที่สุดและมีคุณธรรมที่สุด" พวกเขาอ้างว่าต้องการมีประชาธิปไตยในแบบของตนเอง
ไมเคิลระบุว่า คำอธิบายเหล่านี้ถูกปลุกปั่นโดยกลุ่มอำมาตย์ของไทยและกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่มีทั้งกลุ่มคนรวยและคนที่ถูกล้างสมองจากชนชั้นอื่น แต่ก็ไม่มีตัวเลขระบุชัดเจนว่ามีประชาชนไทยที่สนับสนุนระบอบล้าหลังราวยุคกลางแบบนี้อยู่จริงมากน้อยแค่ไหนเพราะชนชั้นนำไม่อนุญาตให้มีการทำประชามติในเรื่องนี้ ทำให้คนไทยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากถูกปลูกฝังให้เชื่อตั้งแต่เด็กว่าพวกเขามีกลุ่มราชวงศ์ที่ดีที่สุดในโลก มีการกีดกันคนที่ไม่เห็นด้วย ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ต่างพยายามใช้เหตุผลและแนวคิดเสรีทางการเมืองเพื่อถกเถียงกับผู้นำไทยแต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผล ผู้นำไทยไม่ยอมละทิ้งแนวคิดที่ล้าหลังและคับแคบในประเด็นที่ว่าระบอบกษัตริย์ควรมีบทบาทอย่างไรในยุคสมัยใหม่ พวกอนุรักษ์หัวเก่าพยายามรักษาแนวทางปฏิบัติเดิมๆ ไว้ พยายามกำจัดกลุ่มของทักษิณและใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือเพื่อกำจัดคนที่เห็นต่างและต้องการให้ประเทศก้าวหน้า
บทความระบุอีกว่า สำหรับผู้ที่มีความรู้สายมนุษย์ศาสตร์และปรัชญาตะวันตก ข้ออ้างของกองทัพและกลุ่มชนชั้นนำเก่าเป็นแค่ข้ออ้างลอยๆ เพื่อยึดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จของพวกเขาเอาไว้
ไมเคิลระบุว่าข้ออ้างของกลุ่มชนชั้นนำมีช่องโหว่ดังต่อไปนี้ หนึ่งคือ ข้ออ้างเรื่องความวุ่นวายทางการเมืองตัวผู้ก่อความวุ่นวายเองไม่ได้มีแค่ฝ่ายสนับสนุนทักษิณ แต่เป็นฝ่ายชนชั้นนำเองที่เป็นตัวการสำคัญในการสร้างความวุ่นวายและเป็น "โรคร้าย" ของวัฒนธรรมการเมืองในไทย ชนชั้นนำสร้างความเข้าใจผิดๆ ให้กับพวกที่ชุมนุม "เป่านกหวีด" ที่ส่วนใหญ่เป็นคนในเมืองจนกระทั่งนำมาซึ่งการรัฐประหาร
ช่องโหว่ประการที่สองในข้ออ้างของกลุ่มชั้นนำมาจากกลุ่มกองทัพที่อ้างว่าพวกเขา "คืนความสุข" ให้กับคนไทยก็ฟังดูไม่น่าเชื่อถือ เพราะนิยาม "ความสุข" ของเผด็จการทหารไทยเป็นเรื่องในเชิงอุปถัมภ์ทางเดียว ไม่มีการเปิดทำประชามติเลยว่าประชาชนต้องการอะไรจริงๆ ในขณะที่พวกเขาอ้างเรื่องการกำจัดคอร์รัปชั่นแต่ก็ยังคงเครือข่ายระบบอุปถัมภ์โดยมีลำดับขั้นทางสังคมอยู่ ให้ระบอบกษัตริย์อยู่สูงสุด ซึ่งระบบอุปถัมภ์มักจะขัดต่อกฎหมายและถือเป็นเรื่องเลวร้ายไม่แพ้คอร์รัปชั่น
ช่องโหว่ประการที่สามของคำอธิบายจากฝ่ายสนับสนุนเผด็จการที่อ้างว่าประชาธิปไตยเข้ากันได้กับระบอบการเมืองและวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยจนกระทั่งทักษิณขึ้นมามีอำนาจก็เป็นข้ออ้างที่ไม่มีข้อพิสูจน์ เพราะประชาธิปไตยไทยยังอายุไม่มากและวัฒนธรรมไทยเป็นตัวที่คอยทำให้ประชาธิปไตยไทยอ่อนแอเสมอมา ระบบการเมืองของไทยก่อนหน้านี้ถูกครอบงำโดยอำมาตย์ คนมีสิทธิเลือกตั้งก็ยังมีความรู้ทางการเมืองและความรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพพลเมืองอยู่น้อยทำให้ระบอบประชาธิปไตยถูกฉุดรั้งโดยการเล่นพรรคเล่นพวกและระบอบอุปถัมภ์
ไมเคิลมองว่าปัญหาสำคัญอยู่ตรงที่ชนชั้นนำเก่าไม่ยอมแบ่งอำนาจหรือปรับตัวให้เข้ากับชนชั้นนำใหม่คือกลุ่มของทักษิณ อีกทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ยังคงยึดติดอยู่กับอำนาจและอภิสิทธิ์ที่ตนเคยมีอยู่ซึ่งอำนาจและอภิสิทธิ์เหล่านี้ค่อยๆ ลดลงหลังจากที่มีคนตื่นรู้เรื่องประชาธิปไตย คิดถึงสิทธิของตัวเองและเรียกร้องความเท่าเทียมกันมากขึ้น
ไมเคิลยังเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบอบกษัตริย์ของไทยซึ่งมีความสัมพันธ์กับกลุ่มชนชั้นนำในไทย ทางฝ่ายประชาชนต้องเปิดให้มีการวิเคราะห์และอภิปรายในเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่น่าเศร้าที่ประชาชนไทยหลายคนยังคงปิดหูปิดตาไม่ยอมรับฟังความเห็นต่าง เรียกร้องให้ประเทศอื่นเข้าใจประเทศตนแต่ไม่เคยคำนึงเลยว่าประเทศอื่นๆ มองประเทศไทยเป็นอย่างไร ทำให้คนไทยหลายคนขังตัวเองอยู่แต่กับความหวาดกลัวและขาดจินตนาการทางการเมือง
ไมเคิลวิเคราะห์ว่าหลังจากมีการเลือกตั้งครั้งหน้าแล้วไทยจะยังคงไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นประเทศเสรีมากขึ้นแต่อย่างใด เพราะยังคงมีการจ้องถอดถอนและดำเนินคดีกับอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นสัญญาณที่เลวร้ายทำให้ประเทศไม่เกิดการปรองดองเพราะมีกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียว
ไมเคิลยังได้วิจารณ์ผ่านบทความว่ากลุ่มชนชั้นนำ นักวิชาการกระแสหลัก และกลุ่มชนชั้นกลางยังคงขาดความกล้าหาญทำให้เซนเซอร์ตัวเองและไม่ยอมแสดงความคิดเห็น ทำให้ไมเคิลมองว่าต้องมีการปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเท่านั้นประเทศถึงจะก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่ได้ ไมเคิลเป็นห่วงอีกว่าการพยายามกล่าวหาว่าผู้เรียกร้องประชาธิปไตยเป็นพวกล้มเจ้านั้นทำให้เกิดความเสี่ยงในตัวเองในแง่ที่จะมีการเชื่อมโยงระบอบกษัตริย์กับระบอบเผด็จการอำนาจนิยมเองได้
ผู้เชียนบทความระบุอีกว่าความหวังในอนาคตของประเทศไทยน่าจะขึ้นอยู่กับกลุ่มคนหนุ่มสาวรุ่นต่อไป การที่พวกเขาได้รับการศึกษาเรื่องเสรีภาพและคุณค่าด้านดีของประชาธิปไตยจะเป็นหนทางเดียวที่ช่วยให้ประเทศไทยไม่ล้าหลังจนกลายเป็นประเทศคร่ำครึได้ แม้ว่าบางส่วนจะผูก "ความเป็นไทย" ไว้กับ "ความเป็นสมัยใหม่" และ "การเป็นประชาธิปไตย" ซึ่งฟังดูย้อนแย้งก็ตาม

คืนความจริงกับ บ.ก.ลายจุด : พวกเขาล้มการเลือกตั้ง เพื่อสร้างเงื่อนไขไปสู่การรัฐประหาร


“การเลือกตั้งไม่ใช่แปลว่าเท่ากับประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยที่ไม่มีการเลือกตั้งไม่สามารถเรียกว่าประชาธิปไตยได้ ระบอบประชาธิปไตยอาศัยการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน ถ้าไม่มีกลไกนี้ วิธีการแสดงออกของประชาชนจะถูกตัดตอนไป ดังนั้นการเลือกตั้งจึงเป็นขั้นตอนพื้นฐาน ถ้าเราไม่นับ 1 ก็ไม่สามารถนับ 2 3 4 ต่อได้ ซึ่งจะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” สมบัติ กล่าว
สมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง หรือที่หลายๆ คนรู้จักกันในชื่อว่า บ.ก.ลายจุดกล่าวเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญอันจะนำไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ในรายการคืนความจริงประเทศไทย ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2
สมบัติ กล่าวว่า เขาเห็นด้วยกับการปฏิรูป เพียงแต่ไม่เห็นด้วยที่หลายคนนำเอาการปฏิรูปมาเป็นข้ออ้างเพื่อไม่ให้เกิดการเลือกตั้ง การปฏิรูปที่ดีต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการประชาธิปไตย เพราะสามารถดำเนินการไปพร้อมๆ กับการเลือกตั้งได้ ไม่มีความจำเป็นที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งยังทำให้พลังของการปฏิรูปลดทอนลง เพราะกลายเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ล้มการเลือกตั้งอันนำไปสู่การประกาศให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ  สมบัติกล่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า เขาไม่เห็นด้วยที่ศาลตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะเห็นว่าการเลือกตั้งไม่ได้ล้มเอง แต่เกิดจากความพยายามทำให้ล้ม ซึ่งคนกลุ่มนี้มีจุดประสงค์เพื่อนำไปสู่การที่ให้ทหารเข้าแทรกแซงทางการเมือง โดยใช้การเลือกตั้งที่ล้มเหลวและการเผชิญหน้าทางการเมืองของคน 2 ฝ่ายมาเป็นข้ออ้างและเหตุผลที่ทำให้ทหารเข้ายึดอำนาจ
นอกจากนี้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะไม่สามารถดำเนินเลือกตั้งพร้อมกันทั้งหมดได้นั้น สมบัติมองว่าเป็นเรื่องไม่มีเหตุผล การเลือกตั้งควรจะสามารถดำเนินการต่อไปได้ และให้ดำเนินการเลือกตั้งซ่อมแทน ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นองค์กรหนึ่งที่เป็นพันธมิตรกับฝ่ายที่ต้องการขัดขวางการเลือกตั้ง ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะว่ากฎหมายหรือหลักการประชาธิปไตยแต่ประการใด แต่เป็นเพราะว่าตัวบุคคลที่มีเจตจำนงที่ต้องการล้มการเลือกตั้ง
“พอเกิดรัฐประหารผมไม่คิดว่าฝ่ายประชาธิปไตยชนะแน่นอน และผมก็ไม่คิดว่าฝ่ายรัฐประหารชนะ เพราะว่าการที่ใช้วิธีรัฐประหารแปลว่าคุณไม่สามารถใช้วิธีการอื่นได้แล้ว เช่น บีบให้นายกลาออก ก็ทำไม่สำเร็จ จนสุดท้ายก็ทำการรัฐประหาร ซึ่งมีต้นทุนและเป็นเรื่องที่สังคมโลกไม่ยอมรับ ดังนั้นหากถามว่าฝ่ายรัฐประหารชนะหรือไม่ ผมไม่คิดว่าเป็นชัยชนะของรัฐประหารและไม่ใช่ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยที่รอให้อีกฝ่ายมารัฐประหารได้สำเร็จเช่นกัน” สมบัติ กล่าว
สมบัติกล่าวเพิ่มเติมว่า การเลือกตั้งเป็นทางออกที่จะช่วยไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นในสังคม หากฝ่ายหนึ่งต้องการเลือกตั้งและอีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการเลือกตั้งลงมาบนถนน สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือความรุนแรง
“พวกที่คิดขวางการเลือกตั้งและไม่ต้องการการเลือกตั้ง ผมเชื่อว่าคนพวกนี้เคยสนับสนุนและเคยออกไปเลือกตั้ง ผมเพียงหวังว่าคนเหล่านี้จะสามารถกลับมายืนในจุดเดิม ถึงแม้ว่าจะต้องต่อสู้กับความสง่าผ่าเผยของตัวเองในอนาคต แต่ผมหวังว่าคนเหล่านี้จะได้บทเรียนและกลับเข้ามาสู่การยอมรับในกระบวนการประชาธิปไตยในครั้งต่อไป ผมยินดีต้อนรับ” สมบัติ กล่าวทิ้งท้าย

นักวิชาการกัมพูชาวิพากษ์เผด็จการทหารไทย 'เป็นตัวอย่างไม่ดีแก่ประเทศเพื่อนบ้าน'


เดช สก อุดม นักวิชาการกัมพูชาผู้ศึกษาการเมืองไทยกล่าววิจารณ์กรณีการยึดอำนาจล่าสุดและการปกครองแบบเผด็จการในไทยว่าอาจจะส่งผลต่อประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่เพิ่งเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยได้ไม่นาน
9 มี.ค. 2558 นักวิชาการกัมพูชาผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองไทยวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการทหารของไทยว่าอาจจะส่งสัญญาณไม่ดีต่อประเทศเพื่อนบ้านซึ่งหลายประเทศเพิ่งมีการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตย
เดช สก อุดม (Deth Sok Udom) นักวิชาการชาวกัมพูชาจากมหาวิทยาลัยซามานกล่าวผ่านรายงานวิทยุ "อาเซียนคอร์เนอร์" ว่าถ้าหากการปกครองช่วงเผด็จการทหารของไทยยังคงดำรงอยู่ไปจนถึงปีหน้าและหากไทยมีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าช่วงก่อนรัฐประหารก็จะเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ดีต่อประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะพม่า รวมถึงกัมพูชา และประเทศคอมมิวนิสต์อย่างลาว เพราะพวกเขาอาจจะใช้เป็นข้ออ้างในเรื่องความเสี่ยงของประชาธิปไตยและอ้างถึงประโยชน์ของรัฐบาลเผด็จการ
สำนักข่าววอยซ์ออฟอเมริกาหรือ 'วีโอเอ' รายงานว่า ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศอย่างกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนามรวมกัน และก่อนหน้านี้เคยเป็นสมาชิกสำคัญของอาเซียนที่เป็นผู้นำในด้านต่างๆ รวมถึงประเด็นประชาธิปไตย แต่ความเป็นผู้นำอาเซียนของไทยก็ถดถอยลงหลังจากการรัฐประหารในปี 2549 โดยกองทัพไทยซึ่งเป็นผู้เล่นที่มีอำนาจมากที่สุดในการเมืองไทย
เดช สก อุดมกล่าวว่าในขณะที่ประเทศอย่างพม่าและกัมพูชาก็กำลังอยู่ในขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยอาจจะกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีนัก เดช สก อุดมยังกล่าวอีกว่าประเทศไทยเองดูเหมือนจะไม่ได้รับอิทธิพลใดๆ จากการเมืองของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนเลยรวมถึงอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่เพิ่งประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยจากที่ก่อนหน้านี้เคยถูกปกครองโดยเผด็จการทหารมาก่อน
ด้าน เยนนี วาฮิด ลูกสาวของอดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย อับดูร์ราห์มัน วาฮิด ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าววีโอเอกัมพูชาว่า อินโดนีเซียอาจจะไม่ใช้สถานะของตนในการแทรกแซงกิจการของไทยโดยตรงแต่จะอยู่ในสถานะเป็นผู้ให้ "แรงบันดาลใจ" แก่ประเทศอาเซียนอื่นๆ มากกว่า
เธอกล่าวด้วยว่า กลุ่มประเทศอาเซียนมักจะให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจและประเด็นความมั่นคงมากกว่าประเด็นอ่อนไหวอย่างการแทรกแซงทางการเมืองของประเทศอื่น
เดช สก อุดมกล่าวอีกว่า ในขณะที่อินโดนีเซียมีการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยเร็วกว่าประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็ยังทำได้ไม่ดีนักในระดับโลก และเมื่อมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งในระดับโลก อินโดนีเซียก็อยู่ในระดับสูงกว่าประเทศไทยไม่มากนัก อย่างไรก็ตามนักวิชาการกัมพูชาก็สรุปว่าสภาพการเมืองของไทยจะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ และกลายเป็นประเด็นที่ต้องจัดการร่วมกัน