วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2558

ป้ายค้าน ม.นอกระบบ โผล่ ม.เกษตรฯ นิสิตเสรีนนทรี ชี้ขาดการมีส่วนร่วม หวั่นค่าเทอมขึ้นเท่าตัว


หลังจากเมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่ ศธ. เสนอร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือมหาวิทยาลัยนอกระบบ 2 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งหลังจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ล่าสุดวันนี้(5 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่บริเวณในมหาวิทยาลัยเกษตรฯ และรั้วฝั่งงามวงศ์วาน บางเขน พบป้ายผ้าและป้ายกระดาษที่มีข้อความในลักษณะการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ โดยในข้อความระบุชื่อกลุ่มเสรีนนทรี ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นกลุ่มอิสระของนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรฯ
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังกลุ่มเสรีนนทรีฯ ระบุว่า ที่ผ่านมา นิสิต ไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ว่าจะนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบหรือไม่ เคยมีเวทีรับฟังความคิดเห็น เมื่อตอนที่มีกระแสคัดค้าน แต่เวทีเหล่านั้นก็มีธงตั้งไว้อยู่แล้ว สุดท้ายเป็นเพียงแค่เวทีให้ข้อมูล เหมือนการปรับทัศนคติ จัดเวทีให้เสร็จๆไป ว่ามีความชอบธรรมแล้ว
“การนำมหาลัยออกนอกระบบในช่วงเวลาที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ก็ออกตอนมีรัฐบาลไม่ปรกติทั้งนั้น หรือรัฐบาลเผด็จการ อธิการบดี หรือ สภามหาวิทยาลัยบางคนเข้าไปนั่งในตำแหน่ง สนช. ร่าง พ.ร.บ. เอง ชงร่างเอง และ โหวตเอง แสดงให้เห็นว่าเมื่อขั้นตอนเริ่มต้นไม่เป็นไปตามประชาธิปไตย ละเลยการรับความความคิดเห็น สุดท้ายก็จบลงด้วย การผ่านร่าง พ.ร.บ. ในสมัยรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” กลุ่มเสรีนนทรีฯ ระบุ
กลุ่มเสรีนนทรีฯ ยังระบุด้วยว่า การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมีข้อควรกังวลหลายอย่าง เช่น ความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัยที่สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจสูงสุด ที่ปราศจากการตรวจสอบ การทุจริตอาจทำได้ง่ายขึ้น จากกรณีสถาบันเทคโนโลยีฯแห่งหนึ่งที่ออกนอกระบบไปแล้ว มีทุจริตโกงเงินกว่า 1500 ล้านบาท หรือความกังวลของนิสิตส่วนใหญ่คือเรื่อง ค่าเทอม จริงอยู่ที่ปัจจุบันค่าเทอมก็มีการขึ้นอยู่ตลอดเวลาบางก็อ้างว่าขึ้นตามสภาวะทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะออกหรือไม่ออกก็มีการปรับอยู่ตลอด แต่การนำมหาวทิยาลัยออกนอกระบบ จะทำให้ค่าเทอมถูกปรับขึ้นได้ง่ายขึ้น เช่น กรณีของมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้วทางภาคตะวันออก ค่าเทอมคณะเภสัชฯ มีการเก็บค่าเทอมเหมาจ่ายที่สูงถึง 75,000 บาท จากเดิม เมื่อปี 53 มีการเรียกเก็บ 40,000 บาท ผ่านไป 2 ปี ขึ้นเกือบเท่าตัว กรรมการสภามหาวิทยาลัย มีอำนาจเต็มในการออกระเบียบกำหนดค่าเทอม
“หัวใจหลักของการคัดค้านคือเรื่องของการนำมหาวิทยาลัยออกในสภาวะไม่ปรกติ ผู้บริหารเข้าไปนั่งเป็น สนช. อีกทั้ง ยังมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยอื่นๆ เข้าไปนั่งด้วย และกำลังจะมีการผลักดันมหาวิทยาลัยที่ตนดูเอง ออกนอกระบบ ถ้า ม.นอกระบบดีจริง ไม่ควรต้องใช้วิธีการแบบนี้” กลุ่มเสรีนนทรีฯ ระบุ

แถลงยุติการทำงาน กก.ปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา

สปช. ไพบูลย์ แถลงข่าวยุติการทำงานกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา รับมีกระแสกดดัน แต่ไม่ใช่ปัจจัย

6 มี.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา แถลงข่าวยุติการทำงานของคณะกรรมการฯ หลังปฏิบัติหน้าที่มาร่วม 1 เดือน โดยตลอดระยะเวลาดังกล่าว กรรมการฯ ได้พิจารณาประเด็นสำคัญที่ต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วนเนื่องจากเป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน ทั้งเรื่องศาสนสมบัติของวัดและพระภิกษุสงฆ์ปัญหาของพระสงฆ์ที่ไม่ประพฤติ ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย นำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธา เรื่องการทำผิดพระวินัยและความประพฤติ รวมทั้งปกป้องคุ้มครองกิจการของฝ่ายศาสนจักร ซึ่งถือว่าทำหน้าที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว พร้อมจะเสนอผลการพิจารณาให้ประธาน สปช.ส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

“ยอมรับว่ามีกระแสกดดันให้ยุบกรรมการฯ ชุดนี้ ซึ่งไม่ใช่ปัจจัยที่ให้ต้องยุติการทำงาน แต่เป็นเพราะภารกิจเสร็จสิ้นมากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะสามารถให้พุทธบริษัทและพุทธศาสนิกชนตื่นตัว ออกมาปกป้องพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตาม จะยังคงทำงาน ประสานงานร่วมกับองค์กรเครือข่ายเพื่อติดตามเส้นทางการเงินของวัดพระธรรมกายต่อไป” นายไพบูลย์ กล่าว

ร้องกองปราบเอาผิดพระพุทธะอิสระ


สมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา ร้องกองปราบเอาผิด พระพุทธะอิสระ ผิด พ.ร.บ.คณะสงฆ์ กรณีนำมวลชน บุกวัดปากน้ำ ภาษีเจริญและพฤติการณ์อื่นๆ ชี้ เข้าข่ายอาบัติปาราชิกแล้ว
6 มี.ค. 2559 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายเสถียร วิพรมหา (วิ-พร-มะ-หา) รักษาการนายกสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) พร้อมด้วยพระมหาโชว์ ทัสสนีโย ที่ปรึกษา สนพ. เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน กองปราบปราม ให้ดำเนินคดีกับพระพุทธอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย ผิดตามพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 44 ทวิ และมาตรา 44 ตรี เนื่องจากมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ทั้งการแสดงออกผ่าน facebook และนำมวลชนไปคุกคามสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฎิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยนำสังฆทานที่บรรจุสิ่งของไม่เหมาะสม อาทิ กางเกงในและดอกไม้จัน เข้าไปภายในวัด จึงต้องการให้ตำรวจสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้
พระมหาโชว์ กล่าวต่อว่า พฤติกรรมของพระพุทธอิสระ จงใจกระทำการไม่เหมาะสม ปลุกระดมประชาชนข่มขู่ ให้ร้าย ผู้ปฎิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และคณะสงฆ์ โดยใช้ถ้อยคำรุนแรง เพื่อให้เกิดความแตกแยก โดยมีเจ้าหนที่ทหารพร้อมอาวุธครบมือ บุกเข้าไปภายในวัด และเห็นว่าพระพุทธอิสระ เข้าข่ายอาบัติปาราชิกแล้ว ตั้งแต่การขัดขวางการเลือกตั้ง และการนำมวลชนไปยังโรงแรมเอสซีปาร์ค เพื่อเรียกรับเงิน
สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 44 ทวิ ระบุว่าผู้ใดหมิ่นประมาทดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายสมเด็จพระสังฆราช ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 44 ตรี ระบุว่าผู้ใดใส่ความคณะสงฆ์หรือคณะสงฆ์อื่น อันก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย หรือความแตกแยก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประยุทธ์ไม่ซื้อแนวคิดเว้นวรรคการเมืองแม่น้ำ 5 สาย เพราะจะไม่มีคนทำงาน


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ซื้อแนวคิดร่างรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลให้แม่น้ำ 5 สาย ครม.-คสช.-สนช.-สปช.-กมธ.ยกร่าง เว้นวรรคการเมือง 2 ปี เพราะจะไม่มีคนทำงาน โดยจะยึด รธน.ชั่วคราวที่ คสช. ร่างเป็นหลัก - ด้านเจษฎ์ โทณะวณิก กมธ.ยกร่าง ยอมรับว่าเป็นผู้เสนอเอง เพราะเชื่อว่าแม่น้ำ 5 สายไม่คิดสืบทอดอำนาจ
5 มี.ค. 2558 - กรณีที่ เจษฎ์ โทณะวณิก หนึ่งในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะอนุกรรมาธิการร่างบทเฉพาะกาล เสนอแนวคิดตัดสิทธิหรือเว้นวรรคทางการเมือง แม่น้ำ 5 สาย หรือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากต้องการให้ประชาชนมั่นใจว่าแม่น้ำทั้ง 5 เข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติจริง อีกทั้งกลัวว่าจะเป็นปัญหาทางการเมืองต่อไป จึงเห็นว่าควรมีการเว้นวรรคช่วงหนึ่ง และเชื่อว่า แม่น้ำ 5 สายไม่มีแนวคิดสืบทอดอำนาจแน่นอน
ล่าสุด วันนี้ (5 มี.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว โดยใน เพจของวาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวบางกอกโพสต์ระบุว่า "หากหวาดระแวงผม ผมไม่จำเป็นต้องคืนอำนาจก็ได้" โดย พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า คสช. และ ครม. จะขอยึดรัฐธรรมนูญชั่วคราว คือ ห้ามแต่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่อย่างนั้นจะไม่มีคนทำงาน โดยยืนยันว่า หัวหน้า คสช. เป็นคนออกรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว ก็ยึดตามนั้น โดยขอให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ไปหาทางอื่นกันแทน
"เอาตามนั้น รัฐธรรมนูญชั่วคราว ห้ามแต่ กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ เสนอมาก็เสนอไปๆ ผมเอาตามนั้น นี่จะเอาทั้งหมด ห้ามแบบนี้ไม่มีใครทำงาน หามาตรการอื่น จะมาหวาดระแวงอะไรผม ผมไม่คืนอำนาจให้ ก็จบแล้ว ผมเอาตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ผมเอาอย่างนี้ คนอื่นว่าไง ก็ไปว่ามา"
ในเฟสบุ๊คของวาสนาระบุด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ เตือน กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญบางคน พูดมาก อย่าสร้างขัดแย้ง ควรพูดน้อย
ทั้งนี้ ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า นายเจษฎ์ โทณะวณิก หนึ่งใน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ยอมรับว่าแนวคิดตัดสิทธิ์หรือเว้นวรรคทางการเมืองแม่น้ำ 5 สาย เป็นข้อเสนอของเขาเอง เนื่องจากต้องการให้ประชาชนมั่นใจว่าแม่น้ำทั้ง 5 เข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติจริง อีกทั้งกลัวว่าจะเป็นปัญหาทางการเมืองต่อไป จึงเห็นว่าควรมีการเว้นวรรคช่วงหนึ่ง และเชื่อว่าแม่น้ำ 5 สายไม่มีแนวคิดสืบทอดอำนาจแน่นอน
ส่วนสาเหตุที่ตัดสิทธิ์ 2 ปี เนื่องจากเมื่อตัวเองดูเวลาแล้วพบว่าการทำงานของแม่น้ำ 5 สายมีเวลาราว 2 ปี ดังนั้นก็ควรมีการตัดสิทธิ์ในระยะเวลาเท่ากัน โดยการตัดสิทธิ์จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้ดำรงตำแหน่งในแม่น้ำ 5 สาย พ้นวาระจากตำแหน่ง และจะมีผลย้อนหลังทุกกรณี รวมถึง นางทิชา ณ นคร ที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่งคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และ สปช.ด้วย ซึ่งการตัดสิทธิ์จะตัดสิทธิ์ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ยังสามารถทำหน้าที่สรรหา ส.ว.หรือดำรงตำแหน่งอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองได้ เช่น สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ซี่งตนเองจะนำเสนอแนวคิดนี้ในวันนี้
อย่างไรก็ตามคิดว่าแนวคิดนี้คงไม่ผ่านการยอมรับจากคณะ กมธ.ยกร่างฯ และยังไม่ได้มีการพูดคุยกับสมาชิก สนช. และ สปช.ถึงแนวคิดนี้ด้วย ส่วนการยกร่างบทเฉพาะกาลคาดว่าจะมีทั้งหมด 20 มาตรา คงพิจารณาแล้วเสร็จวันพรุ่งนี้ โดยยังเหลือการพิจารณาประเด็นสำคัญใน 3-4 ประเด็น เช่น บทบาทของแม่น้ำ 5 สายหลังพ้นตำแหน่ง และแนวทางการส่งต่อบทบาทหน้าที่ในรัฐบาลชุดต่อไป

ศาลพัทยาสั่งจำคุก 4 ปี 15 แกนนำเสื้อแดง กรณีล้มประชุมอาเซียน ปี 52

ศาลพัทยาตัดสินจำคุกแกนนำเสื้อแดง 15 คน กรณีนำพากลุ่มคนเสื้อแดงบุกล้มการประชุมอาเซียน ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท ไม่รอลงอาญา
5 มี.ค. 2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า ศาลจังหวัดพัทยาได้ตัดสินจำคุก 15 แกนนำเสื้อแดง กรณีเป็นแกนนำพากลุ่มคนเสื้อแดงบุกล้มการประชุมอาเซียน ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2552 ซึ่งมีพนักงานอัยการจังหวัดพัทยา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 4 ปี ไม่รอลงอาญา ได้แก่
1.นายนิสิต สินธุไพร 2.นายสำเริง ประจำเรือ 3.นายนพพร นามเชียงใต้ 4.นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ 5.นายสมญศฆ์ พรมมา 6.นายสิงห์ทอง บัวชุม 7.นายธนกฤต หรือวันชนะ ชะเอมน้อย หรือเกิดดี 8.นายวรชัย เหมะ 9.นายพายัพ ปั้นเกตุ 10.นายธรชัย ศักมังกร 11.นายศักดา นพสิทธิ์ 12.นายวัลลภ ยังตรง 13.นายพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง 14.นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และ 15.พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์  โดยนายสุรชัย และพ.ต.ต.เสงี่ยม ไม่ได้เดินทางมารายงานตัวแต่อย่างใด ขณะที่ พ.ต.อ.สมพล รัฐกาญจน์ และ “มังกรดำ” ศาลยกฟ้อง ส่วนนางศิริวรรณ์ นิมิตรศิลปะ นั้น ให้จำหน่ายคดีชั่วคราว เนื่องจากจำเลยไม่เคยเข้าสู่กระบวนการตั้งแต่แรก
ด้านนายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ขณะนี้กำลังทำเรื่องประกันตัวอยู่ที่ศาลจังหวัดพัทยา โดยได้เดินทางมาศาลตั้งแต่เวลาประมาณ 09.00 น. จนขณะนี้ก็ยังไม่ได้ออกไปไหน อย่างไรก็ตาม ทุกคนมีกำลังใจดี ไม่ได้กังวลอะไร เคารพการตัดสินของศาล และพร้อมที่จะสู้โดยการยื่นอุทธรณ์ต่อ

ตร.บุกสอบปากคำ อ.มหาสารคาม สงสัยมือแขวนป้ายต้านเผด็จการในมหาวิทยาลัย

ตร.เข้าสอบปากคำ วินัย ผลเจริญ อาจารย์ ม.มหาสารคาม สงสัยเป็นมือแขวนป้ายผ้าต้านเผด็จการใน ม. หลังเจ้าตัวโพสต์ภาพป้ายผ้าลงเฟซบุ๊ก ด้านวินัยปัด ไม่ได้ทำ แค่เห็นด้วย จึงเซฟมาโพสต์
5 มี.ค. 2558 วินัย ผลเจริญ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น.ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสองนาย หนึ่งในนั้นยศพันตำรวจตรี เข้ามาที่ห้องทำงานที่วิทยาลัย เพื่อขอสอบปากคำตนเอง เพราะสงสัยว่าเป็นผู้แขวนฝ้ายผ้า "เผด็จการจงบรรลัย ประชาธิปไตยจงเจริญ" ในบริเวณมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หลังจากเขาโพสต์ภาพป้ายผ้าดังกล่าวเมื่อช่วงสายวานนี้ในเฟซบุ๊ก
อย่างไรก็ตาม วินัย กล่าวว่า เขาได้ปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นคนทำ เพียงแต่เห็นด้วยกับข้อความเท่านั้น ส่วนใครจะทำนั้นไม่รู้จริงๆ ทั้งนี้ เขาเห็นภาพป้ายผ้าดังกล่าวในเฟซบุ๊กแล้วอยากแชร์ แต่ระบบขึ้นคำเตือนว่าอาจมีคนไม่เห็น จึงเซฟแล้วโพสต์ในเฟซบุ๊กของตัวเองแทน ทั้งนี้ ทราบจากเพื่อนที่ทำงานว่า เมื่อวานมีตำรวจและทหารมาที่ ม. จำนวนมาก ซึ่งเขาเข้าใจว่าคงมาดูแลความเรียบร้อยงานลงนามความร่วมมือระหว่างศาลรัฐธรรมนูญและวิทยาลัยการเมืองการปกครองที่จะจัดในวันนี้ อย่างไรก็ตาม เพื่อนของเขายืนยันว่ามีการถามหาเขา รวมถึงอาจจะมาหาที่บ้านด้วย แต่มีผู้ทักท้วงไว้ก่อน

เขากล่าวว่า เขาตกเป็นผู้ต้องสงสัย 2-3 คน คงเพราะแชร์ภาพดังกล่าว โดยหนึ่งในผู้ต้องสงสัยคือ ศนปท. อย่างไรก็ตาม เขาได้บอกไปว่า ศนปท.น่าจะไม่เกี่ยว เพราะอยู่กรุงเทพฯ
เขากล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าได้ตรวจสอบลายนิ้วมือและลายนิ้วมือแฝงของผู้ต้องสงสัยไว้เปรียบเทียบแล้ว เขาจึงถามว่าจะตรวจลายนิ้วของเขาด้วยไหม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่ายังไม่ตรวจ เพียงแค่มาสอบปากคำตามหน้าที่เท่านั้น และว่าทหารบอกให้มา ทั้งนี้ ถ้าจำเป็นจะมาขอตรวจลายนิ้วมืออีกครั้ง ก่อนจะขอถ่ายรูปเขาและกลับไป
เมื่อถามว่าเหตุใดตำรวจจึงมาหาเขาได้เร็ว ทั้งที่เพิ่งโพสต์ไปเมื่อวาน วินัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เขาเคยถูกเรียกรายงานตัว 2 ครั้งหลังรัฐประหาร เนื่องจากเขาเป็นหนึ่งใน 118 คนที่ร่วมลงชื่อกับ ครก.112 ซึ่งรณรงค์ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และมักโพสต์แสดงความไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112 อีกทั้ง ในกิจกรรมที่จัดขึ้นใน ม.มหาสารคาม เช่น งานรณรงค์การเลือกตั้ง กิจกรรมรำลึก 24 มิ.ย.  เขามักได้รับเชิญให้ไปพูด หรือไม่เขาก็มักไปตั้งคำถามกับวิทยากร ทำให้เขาถูกจับตาอยู่แล้ว พอมีเรื่องเกิดขึ้น เลยอาจจะถูกสงสัย ก็เข้าใจได้ 

กมธ.ยกร่างฯ เผยกำลังร่างบทเฉพาะกาล ประเด็นเว้นวรรค 2 ปี แม่น้ำ 5 สาย ยังคุยไม่จบ

คำนูน เผย กมธ.ยกร่างฯ กำลังพิจารณาบทเฉพาะกาล คาดรัฐธรรมนูญ คาดทั้งฉบับมี 315 มาตรา พร้อมชี้ว่า หลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้จะต้องวันเลือกส.ส.ใน 180วัน ส่วนประเด็นเว้นวรรค 2 ปี แม่น้ำ 5 สาย ยังไม่ได้ข้อสรุป
5 มี.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุมกำลังพิจารณาบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 10 มาตรา และจะทำให้รัฐธรรมนูญทั้งเล่มมี ประมาณ 315 มาตรา  โดยบทเฉพาะกาลมาตรา 308 กำหนดไว้ว่าให้การเลือกตั้งส.ส.ตามรัฐธรรมนูญนี้แล้วเสร็จภายใน 90วัน และดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้
ซึ่งทันทีที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะต้องส่งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน แล้วจากนั้นต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ภายใน 30 วัน ดังนั้นจึงชัดเจนว่าหลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้จะต้องจัดการเลือกตั้ง ภายใน 180 วัน และดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาภายใน 240 วัน      
นอกจากนี้ ในบทเฉพาะกาลยังได้ระบุรายละเอียดถึงขั้นตอนการควบรวมองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน โดยให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน และพิทักษ์สิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ และให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดินยังคงปฏิบัติหน้าที่ ต่อไปจนกว่าจะมีการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญนี้     
ส่วนกรณีที่มีการเสนอให้ตัวแทนแม่น้ำ 5 สาย เว้นวรรคการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองภายใน 2 ปี หลังจากพ้นตำแหน่งนั้น คำนูณ กล่าวว่า เรื่องนี้ได้แขวนเอาไว้ โดยจะพิจารณาในวันพรุ่งนี้ (6 มี.ค. 2558) ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในวันเดียวกัน

เทียนฉาย เห็นด้วยให้ สปช. เว้นวรรค 2 ปี พร้อมระบุ สปช. ตั้งญาติช่วยงานไม่ผิด

ปธ. สปช. เห็นด้วยให้ สปช. เว้นวรรคทางการเมือง 2 ปี เพราะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบร่าง รธน. พร้อมระบุ สปช. ตั้งเครือญาติช่วยงานไม่ใช่เรื่องผิด ถ้ามีคุณสมบัติตรงที่กำหนด และทำงานได้ หากผิดจริงพร้อมให้ผู้ช่วยลาออก
5 มี.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า เทียนฉาย กีระนันท์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) กล่าวถึงกรณีกระแสวิจารณ์ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่จะให้ ผู้อยู่ในแม่น้ำทั้ง  5 สาย คือ สปช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) คณะรัฐมนตรี(ครม.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องเว้นวรรคทางการเมือง 2 ปี ว่า ตนไม่สามารถตอบแทนใครได้เพราะมีที่มาต่างกัน แต่ในส่วนของ สปช. นับเป็นผู้มีส่วนในการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวเหมาะสม
ทั้งนี้ เทียนฉาย ยังได้กล่าวถึงกรณี สมาชิก สนช.และ สปช. แต่งตั้งเครือญาติ เข้าช่วยดำเนินงานด้วยว่า หากยึดตามระเบียบข้อบังคับเดิมของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งนำมาใช้กับ สปช.โดยอนุโลม มีการกำหนดคุณสมบัติไว้และหากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ย่อมถือว่าถูกต้อง ส่วนสิ่งที่ไม่ถูกต้องคือ หนึ่งคนมีมากกว่าหนึ่งตำแหน่ง การแต่งตั้งผู้เข้ามาช่วยดำเนินงาน ภายใต้เวลาการทำงานที่มีไม่มาก หากบุคคลดังกล่าวที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและเป็นญาติของสมาชิก ย่อมทำได้ แต่หากแต่งตั้งแล้วไม่ได้ทำงานจริงก็ถือเป็นอีกประเด็น เรื่องดังกล่าวถือเป็นความรับผิดชอบส่วนตัว ส่วนกรณี วิป สนช. แนะให้ผู้เข้าข่ายเครือญาติลาออกนั้น ทาง สปช. คงจะดำเนินการด้วยทำนองเดียวกัน