วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2558

เสมอผี: บรรเลงปี่พาทย์โดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล


การบรรเลงปี่พาทย์เพลง "เสมอผี" โดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างการอภิปรายหัวข้อ ศาสนากับการเมือง โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ
ในการบรรยายหัวข้อ บรรยายสาธารณะ “ศาสนากับการเมือง ชาตินี้เราคงแยกกันไม่ได้” จัดโดยกลุ่มสภาหน้าโดม ที่ห้อง ศศ.107 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. นั้น ในช่วงการบรรยายหัวข้อ “ศาสนาผีกับการเมือง” โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียนด้านประวัติศาสตร์-โบราณคดี เป็นการบรรยายพร้อมด้วยการบรรเลงปี่พาทย์จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยช่วงหนึ่งมีการบรรเลงเพลง "เสมอผี"
ทั้งนี้สุจิตต์ แนะนำว่า คำว่า "เสมอ" ไม่ใช่ความหมายที่แปลว่า "เท่าเทียม" แต่คำนี้มาจากรากภาษาเขมรที่แปลว่า เดิน หรือ ย่างกราย เพลงเสมอใช้ในพิธีไหว้ครูปี่พาทย์ เพลงหน้าพาทย์ เพลงตระ ใช้ในพิธีศักดิ์สิทธิ์ โดยสุจิตต์กล่าวติดตลกด้วยว่า "ขณะนี้ถือว่าเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์เลยจะเชิญผีมาเป็นพยานว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการบ้านการเมืองปัจจุบัน แต่ในอนาคตไม่แน่" ทั้งนี้ในช่วงเริ่มบรรเลงปี่พาทย์ สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้พนมมือไหว้ท่วมหัวด้วย (อ่านการอภิปรายของสุจิตต์)

สปช. โหวตลับ ได้ ‘กอบศักดิ์’ นั่ง กมธ.ยกร่างฯ แทน ‘ทิชา’

สปช. ลงคะแนนลับ 119 คะแนน เลือก กอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็น กมธ.ยกร่าง รธน. แทน  ‘ทิชา ณ นคร’ ด้านกอบศักดิ์ โชว์วิสัยทัศน์ ลดเหลื่อมล้ำ พัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยประสบการณ์ 17 ปี

4 มี.ค. 2558 เมื่อวานนี้ เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงคะแนนลับ เพื่อเลือกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของ สปช. แทนตำแหน่งที่ว่าง หลังทิชา ณ นคร ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสปช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 
ทั้งนี้มีสมาชิก สปช. ผู้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเลือกเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 4 คน ได้แก่ กอบศักดิ์ ภูตระกูล, ศิรินา ปวโรฬารวิทยา, จุไรรัตน์ จุลจักรวัฒน์ และอมร วาณิชวิวัฒน์ ซึ่งผลคะแนนปรากฏว่า กอบศักดิ์ ภูตระกูล ได้คะแนนสูงสุด 119 คะแนน ได้รับเลือกเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแทนตำแหน่งที่ว่าง โดยก่อนที่จะมีการลงคะแนนได้มีการเปิดให้ทั้ง 4 คนได้แสดงวิสัยทัศน์เพื่อประกอบการตัดสินใจของสมาชิกสปช. ในการลงคะแนน  
กอบศักดิ์ ภูตระกูล ได้ชูประเด็นลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ตนมีประสบการณ์และได้ศึกษามากว่า 17 ปี  โดยยืนยันความพร้อมที่จะร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญ และร่างกฎหมายลูกอีกหลายฉบับเพื่อประกอบการปฏิรูปเดินหน้าประเทศ 
ด้านศิรินา ปวโรฬารวิทยา กล่าวว่า บุคคลที่จะมาเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องพร้อมรับฟังความเห็นทุกฝ่าย และต้องเป็นบุคคลที่โปร่งใส ตวจสอบได้ ขณะเดียวกันเห็นว่า ความเห็นที่แตกต่างเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องสร้างจุดร่วมให้ได้เพื่อให้การเดินหน้าประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ แม้ว่าการเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญถือเป็นงานหนัก แต่ตนยืนยันอย่างเต็มใจที่จะสานงานนี้เพื่อประเทศ  
ขณะที่จุไรรัตน์ จุลจักรวัฒน์ กล่าวถึงเหตุผลที่สมัครเข้าร่วมกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ว่า เพราะเสียดายการลาออกของทิชา ณ นคร และอีกเหตุผลคือ ตนเชื่อมั่นว่าตนมีความบริสุทธิ์เพียงพอที่จะทำหน้าที่กรรมาธิการยกร่างรัฐ ธรรมนูญ เพราะตนเข้ามาเป็น สปช. อย่างโปร่งใส และมีอิสระในตัวเองโดยไม่ขึ้นกับใคร  ทั้งนี้หากตนได้รับเลือกให้เป็นกรรมาธิการยกร่างฯ ก็เชื่อว่าตนจะสามารถเชื่อมโยงการยกร่างรัฐธรรมนูญนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงได้
ส่วนอมร วาณิชวิวัฒน์   มีวิสัยทัศน์แบบสั้น แต่ได้ความกระชับว่า  มุ่งประโยชน์สาธารณะ  ผนึกกำลังแม่น้ำทุกสาย ผนวกองค์ความรู้ควบคู่คุณธรรม นำสู่รัฐธรรมนูญ  เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ

สลายแดง53 ‘อภิสิทธิ์’ ชี้ ‘บิ๊กป้อม-ป๊อก-ตู่’ รู้ดี ‘พล.อ.ประวิตร’ ปัดไม่ได้ตัดสินใจ ‘สุเทพ’ รับสั่งคนเดียว

ปฏิกิริยาหลัง ป.ป.ช.มีมติแจ้งข้อกล่าวหา ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ คดีสลายเสื้อแดงปี 53 อภิสิทธิ์ ชี้ ‘บิ๊กป้อม-ป๊อก-ตู่’ รู้ดี ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ยันไม่ใช่คนตัดสินใจ แค่รู้เห็นเท่านั้น ด้านพระสุเทพรับสั่งการคนเดียว
หลังจากเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  มีมติแจ้งข้อกล่าวหา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) และสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น)  มีพฤติการณ์ส่อกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ กรณีสั่งใช้กำลังทหารขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระหว่างวันที่ 10 เม.ย. ถึง 19  พ.ค.53 (อ่านรายละเอียด)
อภิสิทธิ์ ชี้ ‘บิ๊กป้อม-ป๊อก-ตู่’ รู้ดี
โดย อภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์กับมติชนออนไลน์ถึงคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่า ยอมรับมติของ ป.ป.ช.ที่เห็นว่าเป็นเหตุเข้าข่ายการถอดถอนออกจากตำแหน่ง พร้อมจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ และยืนยันว่ามีการปรับหลักการทำงาน เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสีย แต่กรณีมีผู้ใช้อาวุธไม่ใช่เรื่องง่าย รัฐบาลมีหน้าที่คืนความสงบให้กับสังคม คนที่ทำงานร่วมกันรู้ดี เช่นพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในขณะนั้น รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรอง ผบ.ทบ.ในขณะนั้นด้วย เพราะเข้าร่วมประชุมอยู่ จึงรู้ดีถึงการทำงานในขณะนั้น หาก ป.ป.ช.ได้ข้อมูลจากบุคคลเหล่านี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา แต่ไม่แน่ใจว่าบุคคลทั้งหมดพร้อมจะเป็นพยานให้หรือไม่
พระสุเทพรับสั่งการคนเดียว
ขณะที่เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ไทยรัฐออนไลน์ รายงานปฏิกิริยาจาก สุเทพ หรือพระสุเทพ ด้วย โดยพระสุเทพ กล่าวว่า "อาตมาไม่ต้องอ้างเป็นพยาน เพราะจำได้หมดทุกเรื่องที่ทำมา ทั้งหมดตอบได้เลยว่า อาตมาสั่งการคนเดียว นายอภิสิทธิ์ ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ผู้เข้าร่วมประชุมในช่วงนั้น ทุกคนมีมติกัน ได้อภิปรายร่วมกันแล้ว อาตมาเป็นสั่งการ ขอรับผิดชอบในการสั่งการ ถ้าจะผิดหรือถูก อาตมารับผิดชอบ แล้วขอร้องว่า อย่าได้ไปเกี่ยวโยงกับเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย ที่เขาทำ เพราะเขาทำตามคำสั่งอาตมา ตรงนี้ต้องให้ชัดเจน การชี้แจงเบื้องต้นจะทำเป็นหนังสือ แต่หาก ป.ป.ช.ต้องการให้ไปชี้แจงด้วยตัวเอง ก็พร้อมที่จะไป เวลานี้ก็รออยู่ และหาก ป.ป.ช. จะทำเรื่องถอดถอนในสภาฯ ก็พร้อมไปชี้แจงในสภาฯ ทั้งผ้าเหลืองเลย ที่ผ่านมาเคยใส่สูทเข้าสภามา 36 ปี เที่ยวนี้ จะห่มผ้าเหลืองเข้าสภาอยู่ และบางทีอาจจะถือโอกาสเทศน์ใหญ่กลางสภาเลย พูดจริงๆ ตอนนี้เตรียมร่างคำเทศน์ไว้แล้ว พร้อมที่จะไปตอบทุกคำถามในสภา ถ้า ป.ป.ช.เสนอให้ถอดถอน ไม่หนีไปด้วยตัวเองไม่ส่งทนายไปชี้แจงแทน"
พล.อ.ประวิตร ยันไม่ใช่คนตัดสินใจ แค่รู้เห็นเท่านั้น
ล่าสุดวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์ รายงานปฏิกิริยาของ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวยืนยันถึงคดีนี้ว่า จะทำตามที่กฎหมายกำหนด และว่า "ผมไม่ใช่คนตัดสินใจสลายนปช.ปี 53 คนตัดสินใจคือท่านนายกฯ ท่านสุเทพ ผมเป็นอยู่ในกระบวนการรู้เห็นเท่านั้น"