วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558

อ่านรายงานขับเคลื่อน-เร่งรัดดำเนินงานตามนโยบายปกป้องสถาบันฯ รบ.ประยุทธ์


29 ก.ย. 2558 เว็บไซต์กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ไอซีที) เผยแพร่รายงานการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ระหว่างวันที่ 12 กันยายน 2557 – 30 มิถุนายน 2558 ครั้งที่ 7-9

โดยในส่วนการบริหารราชการแผ่นดิน นโยบายเรื่องการปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกจากการจัดกิจกรรมเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ตอนหนึ่งมีการระบุถึงการดำเนินการเพื่อเชิดชูสถาบันไว้ด้วยความจงรักภักดีและปกป้องรักษาพระบรมเดชานุภาพ โดยดำเนินการ 3 ส่วนคือ การใช้มาตรการทางกฎหมาย มาตรการทางระบบสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ และมาตรการทางสังคมจิตวิทยา
หนึ่ง มาตรการทางกฎหมาย ได้แก่ การปิดกั้นเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมที่กระทำความผิด โดยกระทรวงไอซีทีได้รับแจ้งการกระทำความผิดพร้อมส่งเรื่องให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการในเรื่องเว็บไซต์หมิ่นสถาบันและเว็บไซต์ลามกอนาจาร และมีคำสั่งศาลอาญา ให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์
ทั้งนี้ ในรายงานระบุถึงปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีของเว็บไซต์หรืออินเทอร์เน็ตได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยมีการเข้ารหัสข้อมูล ซึ่งเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่มีอยู่ในการตรวจสอบหรือการระงับการแพร่หลายของเว็บไซต์ไมํสามารถดําเนินการได้รวดเร็วทันที นอกจากนี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ต้องดําเนินการตามมาตรา 20 ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ก่อนส่งคําสั่งศาลอาญา อีกทั้งปัญหาเกี่ยวกับการติดต่อประสานงานกับผู้ให้บริการในต่างประเทศ ที่มิใช่ผู้ให้บริการที่อยู่ภายใต้บังคับ แหํง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ในต่างประเทศ
สอง มาตรการทางระบบสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีการตรวจพบเว็บไซต์ที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยกองทัพบก และดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงต่อประเด็นข่าวสารที่บิดเบือน/บ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และโครงการลงนามถวายพระพรออนไลน์โดยกระทรวงแรงงาน
ในส่วนนี้ รายงานครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 12 กันยายน 2557 – 30 มิถุนายน 2558 ระบุเพิ่มเติมว่า มีการพัฒนาระบบป้องกันการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์โดยสํานักงานปลัดกระทรวงกลาโหม นําเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของกระทรวงกลาโหม ผลิตข้อมูลในรูปแบบตํางๆ เช่น จัดทําเว็บไซต์เทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม และจัดทําวีดิทัศน์และภาพเพื่อเผยแพร่ต่อเครือข่ายเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ของกระทรวงกลาโหม จัดหาระบบการบริหารจัดการและรักษาความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพตลอดจนพัฒนาบุคลากร เป็นต้น ซึ่งผลจากการดําเนินการทําให้ระบบป้องกันการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ของกระทรวงกลาโหมมีประสิทธิภาพ ลดจํานวนของข้อความหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ประชาชนเกิดความเข้าใจ
สาม มาตรการทางสังคมจิตวิทยา โดยหน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ จัดประชุมวิชาการ และการจัดพิธีบําเพ็ญพระราชกุศล อย่างต่อเนื่อง

ประยุทธ์สอนบนเวทียูเอ็นสร้างสันติภาพ-ความมั่นคง ต้องหนุนสิทธิมนุษยชน-การพัฒนาคู่กันไป


30 ก.ย.2558 พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้กล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 70 ในหัวข้อ “The United Nations at 70 – the road ahead to peace, security and human rights” วันที่ 29 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่นที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยระบุว่า ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาคมระหว่างประเทศต้องร่วมกันแก้ปัญหาคือผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่เป็นปกติหรือผู้หนีภัยสงคราม ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรม โดยย้ำว่าไทยรับมือกับปัญหานี้โดยเคารพหลักมนุษยธรรม แนะนำเส้นทางสู่สันติภาพและความมั่นคงจะต้องอาศัยการพัฒนาและการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนควบคู่กันไปด้วย นอกจากนี้ยังเสนอแนวคิดไทย+1 มาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เพื่อเพื่อนบ้านจะได้ก้าวไปด้วยกัน  โดยเสนอตัวพร้อมแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการและแนวปฏิบัติที่ดีของไทย อาทิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  อีกทั้งเสนอตัวเข้ารับการเลือกตั้งในฐานะสมาชิกไม่ถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอาสาเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรม และความแตกต่างทางความคิด
โดยมีรายละเอียดดังนี้
ท่านประธานที่เคารพในนามของรัฐบาลไทย ผมขอร่วมกับผู้แทนของรัฐของสมาชิกอื่นๆ แสดงความยินดี ในโอกาสที่สหประชาชาติได้ก่อตั้งและดำเนินงานมาครบรอบ 70 ปีในปีนี้
ผมขอบคุณมิตรประเทศทั้งหลายที่ร่วมแสดงความเสียใจและส่งกำลังใจให้กับประชาชนไทย ภายหลังเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558  ประเทศไทยขอประณามผู้ก่อเหตุรุนแรงในครั้งนี้ ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตของผู้บริสุทธิ์ เราไม่สามารถยอมรับความรุนแรงเยี่ยงนี้ได้ และขอยืนยันว่าประเทศไทย และขอยืนยันว่าประเทศไทยจะร่วมมือกับประชาคมโลกอย่างถึงที่สุด เพื่อยุติความรุนแรง และปกป้องผู้บริสุทธิ์ เพื่อธำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพและความสงบสุขของของประชาชน ของโลก
70 ปี ที่ผ่านมานั้น สหประชาชาติได้แสดงบทบาทที่สำคัญ ในการบรรเทาทุกข์และแก้ไขปัญหาของประชาคมโลก  จรรโลงสันติภาพและความมั่นคง ปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรื่องแก่มวลมนุษยชาติ ในด้านการรักษาสันติภาพสหประชาชาติประสบความสำเร็จในการช่วยลดความขัดแย้งและป้องกันมิให้มีการขยายตัวลุกลามกลายเป็นสงครามขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามสหประชาชาติยังมีภาระหนักหน่วงในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาและการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ควบคู่กันต่อไป
ประเทศไทยมีความพร้อมตั้งใจที่จะสนับสนุนภาระกิจการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติต่อไป โดยเฉพาะในด้านการพัฒนา
ในด้านสิทธิมนุษยชน ไทยได้ให้ความสำคัญต่อการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด และได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่สมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระหว่างปี ค.ศ.2010 – 2013 โดยดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีดังกล่าวในช่วงปี ค.ศ.2010 – 2011 ซึ่งเป็นโอกาสที่ไทยได้ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงประเทศและกลุ่มประเทศที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างโดยเน้นการไม่เลือกปฏิบัติ การเป็นหุ้นส่วนที่สร้างสรรค์ รวมถึงการส่งเสริมขีดความสามารถในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
ในด้านการพัฒนาสหประชาชาติประสบความสำเร็จในการผลักดันความเจริญรุ่งเรื่องสู่รัฐสมาชิก ไทยให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลาง การขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคม หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หลักนิติธรรมและการส่งเสริมธรรมาภิบาล การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การเกษตรที่ยั่งยืนและการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เป็นต้น ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นปัญหาที่ท้าทายหลักในการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของโลกที่จะต้องทำให้ผลลัพธ์ของการประชุม COP21 เกิดผลที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด
โลกยุคปัจจุบันเป็นโลกไร้พรมแดนซึ่งจะมีความเชื่อมโยงซับซ้อนในหลายมิติ การแก้ไขปัญหาจะต้องทำอย่างรอบด้าน ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะมีทางออกของปัญหาเพียงหนึ่งเดียวที่ใช้ได้ในทุกที่ทุกเวลา การจัดการปัญหาท้าทายของโลกที่มีลักษณะเฉพาะตัวขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและบริบทของประเทศที่แตกต่างกัน ในวันนี้เราเห็นความแตกต่างที่ผ่านมาความเร่งด่วนที่ประชาคมระหว่างประเทศต้องร่วมกันแก้ปัญหาผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่เป็นปกติ หรือผู้หนีภัยสงคราม ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมที่ยืดเยื้อต่อเนื่องและกระจายอยู่ในหายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งไทยและหลายๆ ประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายนี้ด้วย และรับมือกับปัญหาโดยเคารพหลักมนุษยธรรม
ท่านประธานที่เคารพครับ ตลอด 70 ปีที่ผ่านมานั้น สหประชาชาติได้ช่วยแก้ปัญหาสันติภาพและความมั่นคง รวมถึงได้แก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนสำเร็จในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามปัญหาเหล่านี้ยังไม่หมดสิ้นไปจึงจำเป็นที่จะต้องเน้นการแก้ปัญหาแบบมององค์รวมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในมิติของการพัฒนา เนื่องจากเส้นทางสู่สันติภาพและความมั่นคงจะต้องอาศัยการพัฒนาและการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนควบคู่กันไปด้วย
ประเทศไทยยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ภายในระยะเวลา 3 ทศวรรษ โดยยึดแนวทางพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์นักพัฒนา ที่ได้ทรงริเริ่มดำเนินการมากว่า 50 ปี แล้ว จนไทยประสบความสำเร็จพัฒนาตนเองเป็นประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ไทยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบไปด้วย พอประมาณ ความมีเหตุมีผลและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน บนเงื่อนไขของความรู้คู่คุณธรรม ความพอดีและพึ่งพาตัวเองได้ อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งสอดคล้องกับภาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ จนเป็นที่ยอมรับจากสหประชาชาติ ค.ศ. 2006 ที่พระองค์ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จากหลักปรัชญาดังกล่าวรัฐบาลของผมได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยมุ่งหวังลดความเหลือมล้ำ ยึดหลักนิติรัฐและธรรมาภิบาล ให้ความสำคัญกับการสร้างความสามัคคีของคนในชาติ สร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และพัฒนาประเทศไปในแนวทางที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อประชากรรุ่นต่อไป
ความมั่นคงและเสถียรภาพของประเทศชาติเป็นความสำคัญลำดับแรก ประเทศจะมีความมั่นคงเมื่อมีความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ประชาชนดำรงชีวิตโดยปราศจากความหวาดกลัว ความหิวโหยและประชาชนในสังคมได้รับโอกาสในการที่จะพัฒนาให้เป็นคนดีมีคุณภาพและอุดมด้วยปัญญา ดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติสุข มีความรับผิดชอบโดยยึดถือประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน สามารถเผชิญความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงได้
ความมั่นคงเป็นพื้นฐานที่จะไปสู่ความมั่งคั่งของประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยเสริมสร้างให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพชุมชนในทุกระดับ รวมทั้งได้รับโอกาสในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันที่เน้นการใช้ประโยชน์จากการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น การวิจัยและพัฒนา ตลอดจนส่งเสริมนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ทันสมัย
ในการทำให้เกิดความยั่งยืนเราจะต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมในสังคมสีเขียว วันนี้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุความยั่งยืนของโลกและทุกคน ทุกประเทศต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยประเทศไทยตั้งใจจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลังปี ค.ศ.2030 ลงร้อยละ 20 – 25 ภายใต้ INDC ของไทยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการในระดับโลก
ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการเสริมสร้างกรอบกติกาและส่งเสริมธรรมาภิบาลที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ การขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้จะต้องสามารถนำเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปฏิบัติสำหรับทุกคนทุกระดับเพื่อให้มีความเป็นเจ้าของร่วมกันและนำไปสู่การพัฒนาที่เติบโตและเข้มแข็งจากภายใน ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยเข้มแข็งขึ้นและสามารถบรรลุเป้าหมายที่มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนได้ก็คือการปฏิรูปอย่างครบวงจร เพื่อนำไปสู่การมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง อาทิเช่น การปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน การสร้างความเข้าใจและปรองดองสมาทฉันท์และการจัดระเบียบทางสังคม 
ท่านประธานที่เคารพครับเมื่อกาลเวลาผ่านไป วันนี้จะกลายเป็นหน้าประวัติศาสตร์ของอนาคต สิ่งที่เกิดขึ้นวันหน้า จะเป็นตัวบ่งบอกที่เที่ยงธรรมที่สุดว่า วันนี้เราได้ทำสิ่งใดลงไป และเพื่อสิ่งใด สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย และกับโลกของเราในวันข้างหน้า ในอีก 10 ปี 20 ปี จะเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า วันนี้เรากำลังทำเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของประเทศไทย และก็เพื่อให้ไทยเป็นสมาชิกที่เข้มแข็ง และมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับสหประชาชาติในการสร้างสรรค์โลกที่ดีกว่าในอนาคตด้วยเช่นกัน
เรามักจะคาดหวังให้ผู้แข็งแรงที่สุด ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อ่อนแอที่สุด  แต่ในโลกปัจจุบัน มีความเหลื่อมล้ำ มีช่องว่างกว้างขึ้นทุกที ดังนั้นเราไม่อาจมองข้ามบทบาทของคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างคนสองกลุ่ม ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมากที่สุด และมีกำลังมากพอที่จะช่วยเหลือตนเองได้ในระดับหนึ่งแล้ว นอกจากนี้ยังมีศักยภาพมากพอที่จะเป็นสะพานเชื่อมโยงการพัฒนา จากกลุ่มที่แข็งแรงที่สุดไปสู่กลุ่มที่อ่อนแอที่สุดได้เป็นอย่างดี บนพื้นฐานของความเข้าอกใจ
ประเทศไทยซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคนที่อยู่ตรงกลางนั้น มีความเชื่ออย่างที่สุดว่า การพัฒนาไม่อาจจะยั่งยืนได้ หากเราก้าวไปแต่ผู้เดียว และทิ้งผู้อื่นไว้เบื้องหลัง เราจึงนำแนวคิดไทย+1 มาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เพื่อเพื่อนบ้านจะได้ก้าวไปด้วยกัน ผ่านการผลักดันการเชื่อมโยงด้านการคมนาคมในอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเขตเศรษฐกิจพิเศษตามจังหวัดในแนวชายแดน เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน
ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศกำลังพัฒนาอยู่ในภาคการเกษตรกรรมกำลังประสบปัญหาต่างๆ อาทิเช่น การกีดกันทางการค้า การแข่งขันในตลาดโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาหนี้สินและความยากจน การละทิ้งภาคการเกษตรของคนรุ่นใหม่ จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านอาหารของโลกดังนั้นเราจึงควรร่วมกันสนับสนุนประเทศที่กำลังพัฒนา ในการพัฒนาโดยเฉพาะผ่านความร่วมมือเหนือใต้และใต้ใต้ และให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมเพื่อเป็นฐานการผลิตที่เข้มแข็งยั่งยืน
ท่านประธานที่เคารพครับ นอกเหนือจากการดูแลกลุ่มเกษตรกรแล้ว ก็ให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น กลุ่มแรงงานประมง ซึ่งตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ รวมถึงกลุ่มเปราะบางอื่นๆ เช่น เด็กสตรีและผู้พิการ
รัฐบาลให้ความสำคัญเร่งด่วนกับการแก้ไขปัญหากับการค้ามนุษย์เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นการให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านการป้องกัน ปราบปรามการค้ามนุษย์ ตลอดจนการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการย่างมีบูรณาการ ซึ่งจะเป็นการเสริมความพยายามของภูมิภาคและของโลก
นอกจากนี้ปัญหาข้ามชาติอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น ปัญหาโรคระบาด ยาเสพติด จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากนานาประเทศ ไทยพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการและแนวปฏิบัติที่ดีของไทย อาทิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การเฝ้าระวังโรคติดต่อต่างๆ และการพัฒนาทางเลือกอย่างครบวงจรและยั่งยืน ซึ่งไทยเป็นผู้ริเริ่มจัดไอแคทวันและจะเป็นเจ้าภาพจัดไอแคททูในปลายปีนี้
ในแต่ละประเทศกำลังพัฒนาขนาดกลางที่ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างวัฒนธรรม สันติภาพและมีบทบาทในการร่วมมือกับปัญหาท้าทายของโลก ไทยจึงได้เสนอตัวเข้ารับการเลือกตั้งในฐานะสมาชิกไม่ถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ.2017-2018 เพราะเชื่อมั่นว่าจะสามารถเป็นสะพานเชื่อมระหว่างประเทศสมาชิกประเทศที่มีที่นั่งในคณะมนตรีความมั่นคงกับประเทศนอกคณะมนตรี รวมถึงสะพานเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรม และความแตกต่างทางความคิด โดยหวังว่าการมีบทบาทเป็นสะพานเชื่อมโยงนี้ จะเป็นช่วยสร้างความเข้าใจอันดี และความร่วมมือกับนานาชาติ เพื่อนำไปสู่การเป้าหมายแห่งสหประชาชาติร่วมกัน
ท่านประธานที่เคารพครับในช่วงที่ประชาคมระหว่างประเทศกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการพัฒนา ความยั่งยืนความแทรกอยู่ในทั้ง 3 เสาหลักของสหประชาชาติเราได้ย้ำมานานแล้วว่าทั้ง 3 เสาหลักจะต้องส่งเสริมและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วเราอาจจะทำงานแบ่งแยกและไม่สอดประสานกันในด้านสันติภาพและความมั่นคง ด้านการพัฒนาและด้านสิทธิมนุษยชน ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเปลี่ยนแนวทางในการทำงานโดยการรวมทั้ง 3 เสาเส้นทางเข้าด้วยกัน เพื่อที่ว่าในอีก 70 ปี ข้างหน้า มวลมนุษยชาติจะบรรลุเป้าหมายตามที่คาดหวัง ตามสัญญาประชาคม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านสันติภาพและความมั่นคง สิทธิมนุษยชนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ไทยมีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งในพลังของประเทศสมาชิกที่จะขับเคลื่อนองค์กรแห่งนี้ให้เราเข้มแข็งไปพร้อมๆ กัน และผมขอยืนยันว่าประเทศไทยพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนกับเพื่อนประเทศสมาชิกเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายทั้งเก่าและใหม่ และจะนำมาซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติเพื่อประโยชน์สุขร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศ ขอบคุณครับ thank you very much

องค์การประชาชนปกป้องสถาบันฯ แจงอเมริกา เหตุใดไทยต้องมีกฎหมายหมิ่นฯ


พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ออกแถลงการณ์ชี้แจงสหรัฐฯ เหตุใดไทยต้องมีกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พร้อมระบุ หากสหรัฐฯตระหนักถึงปัญหาสิทธิมนุษยชน ก็ควรตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนส่วนพระองค์ด้วย
30 ก.ย. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจ เหรียญทอง แน่นหนา ซึ่งเป็นผู้นำองค์การประชาชนเพื่อการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ได้ระบุว่าจะมีการนำคำแถลงการณ์ต่อกรณีการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์ ไปยื่นชี้แจงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยผ่านสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2558 โดยสาระสำคัญของคำแถลงการณ์ระบุถึง เหตุผลที่ประเทศไทยต้องมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยระบุว่า
“สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยนั้นดำรงพระองค์อยู่ในทศพิธราชธรรม ดังนั้นพระมหากษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์จึงไม่อยู่ในสถานะที่จะตอบโต้ ชี้แจง หรือฟ้องร้องดำเนินคดีใดๆต่อประชาชนหรือบุคคลทั่วไปดังเช่นการฟ้องร้องคดี หมิ่นประมาทที่ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปกระทำกัน อีกทั้งพระมหากษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์จะไม่ทรงป่าวประกาศร้องขอความ เห็นใจหรือร้องขอความช่วยเหลือใดๆจากประชาคมโลกด้วย ดังนั้นราชอาณาจักรไทยจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายในการปกป้องการละเมิดสิทธิ เสรีภาพส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์”
ทั้งยังระบุถึงกรณีการผู้ลี้ภัยทางการเมืองในสหรัฐฯ ได้กระทำการยุยังปลุกปั่น  ผ่านสื่อสารมวลชน และสื่อสังคมออนไลน์เพื่อให้เกิดการบ่อนทำลายล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยระบุว่า หากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาตระหนักถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญแล้ว ได้โปรดคำนึงสิทธิมนุษยชนส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย

วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558

ศาลทหารส่งคำร้องจาตุรนต์ให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจศาล


28 ก.ย. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ (28 ก.ย. 58) ศาลทหารกรุงเทพนัดพร้อมฟังความเห็นเรื่องเขตอำนาจศาล กรณีจาตุรนต์ ฉายแสง ฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. ซึ่งอัยการทหารสั่งฟ้องใน 3 ฐานความผิด คือ ฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยศาลทหารกรุงเทพและศาลอาญากรุงเทพใต้มีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องเขตอำนาจศาล จึงต้องส่งความเห็นส่งให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัย
โดยเมื่อเวลาประมาณ 09.30 น. องค์คณะตุลาการ ประกอบด้วย พ.อ.พิเศษศักดิ์ ค้ำชู น.ท.สุรชัย สลามเต๊ะ และ น.ท.หญิงวิภาวี คุปต์กาญจนากุล ออกนั่งบัลลังก์อ่านความเห็นของศาลกรณีเขตอำนาจศาล ในคดีที่จาตุรนต์ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 25/2557 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
ศาลทหารกรุงเทพได้ทำความเห็นว่า คำฟ้องข้อ 1.1 และ 1.2 ในเรื่องการฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 1/2557 ฉบับที่ 2/2557 อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม ส่วนคำฟ้องข้อ 1.3 กรณีความผิดตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 นั้นอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารกรุงเทพ หากศาลอาญากรุงเทพใต้มีความเห็นตรงกัน การชี้ขาดเขตอำนาจศาลถือเป็นที่สิ้นสุด จะทำคำร้องอีกไม่ได้
ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า คำฟ้องข้อ 1.1, 1.2, และ 1.3 อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม เนื่องจากบรรดาคำสั่งใดที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคำสั่งมาเป็นโทษแก่จำเลยนั้น กฎหมายจะออกมาให้มีผลบังคับย้อนหลัง ต่อกระบวนการพิจารณาให้เป็นโทษต่อจำเลยทางอาญาไม่ได้ เมื่อทั้งสองศาลมีความเห็นไม่ตรงกันจึงต้องส่งความเห็นให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเพื่อชี้ขาดเขตอำนาจศาลตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้เหตุที่ศาลทหารเห็นว่าความผิดตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหารเนื่องจากตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37/57 และฉบับที่ 38/57 กำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงและความผิดที่เกี่ยวโยงขึ้นต่อศาลทหาร อย่างไรก็ตามประกาศดังกล่าวประกาศ ได้ลงวันที่ประกาศ 25 พฤษภาคม 2557 แต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 ในขณะเหตุตามฟ้องเกิดขึ้นจากกรณีนายจาตุรนต์ได้รับเป็นวิทยากรพูดเรื่องผลกระทบของการรัฐประหารที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) อาคารมณียา ถ.สุขุมวิท ในวันที่ 27 พ.ค. 2557
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 (3) ระบุว่า ถ้าศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น ให้ศาลที่ส่งความเห็นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นให้คณะกรรมการลงมติให้ขยายเวลาออกไปได้ไม่เกิน 30 วัน โดยให้บันทึกเหตุแห่งความจำเป็นนั้นไว้ด้วย
ทั้งนี้ เมื่อคณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ศาลทหารกรุงเทพจะนัดฟังคำวินิจฉัยอีกครั้ง
จาตุรนต์ เผยพร้อมคำวินิจฉัยน้อมรับ 
สำนักข่าวไทย รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า จาตุรนต์ ได้กล่าวขอบคุณศาลทหารที่รับคำร้องไว้พิจารณา และทำความเห็นส่งไปยังศาลอาญา จนกระทั่งศาลอาญามีความเห็นว่า การพิจารณาคดีดังกล่าวอยู่ในขอบเขตของศาลอาญา ซึ่งไม่ว่าคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจของหน้าที่ระหว่างศาล จะวินิจฉัยอย่างไรก็น้อมรับ  และว่า ขณะนี้ คดีที่มีการตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าว ยังพักการพิจารณาไว้ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเรื่องขอบเขตอำนาจของศาล
จาตุรนต์ ยังกล่าวถึง การเคลื่อนไหวทางการเมือง ว่า ขณะนี้ทำได้เพียงการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ที่เป็นไปตามหลักเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชน ยืนยันว่า เป็นความเห็นที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ ที่ผ่านมาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการประกันตัวอย่างเคร่งครัด ด้วยการไม่กระทำผิดกฎหมาย
“ที่ผ่านมาไม่เคยปลุกปั่นหรือยุยง และได้ไปแสดงความเห็นต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับการปรองดอง ซึ่งก็ได้ประโยชน์ แต่สุดท้ายข้อมูลที่ให้นั้น กลับเงียบหาย” จาตุรนต์ กล่าว

ศาลอาญารับฟ้อง 8 กปปส. ขัดขวางเลือกตั้งล่วงหน้าต้นปี 57


เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา เวลา 11.00 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ทินกร ปลอดภัย อายุ 35 ปี แนวร่วม กปปส. เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันขัดขว้างการเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 76 ,152 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550
ตามฟ้องอัยการโจทก์ บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 26 ม.ค.57 ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้เป็นวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้า ส.ส.ในเขตเลือกตั้งล่วงหน้าในต่างจังหวัด และ กทม. โดยใช้โรงเรียนบ้านบางกะปิ เป็นสถานที่ ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ต่อมาจำเลย กับพวกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง และกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ได้มาชุมนุมขัดขวางไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งในหน่วยดังกล่าว โดยนำกุญแจและโซ่เหล็กไปคล้องประตู และชุมนุมปิดล้อมขวางถนนทางเข้า - ออกของโรงเรียนบ้านบางกะปิ ทำให้เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งไม่สามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ รวมทั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ อันเป็นการขัดขวางและฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จนเจ้าหน้าที่ กกต. ประจำเขต 15 กทม.ต้องประกาศให้งดลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดดังกล่าว เพราะไม่สามารถจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งได้ตามกำหนด เหตุเกิดที่แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม. ต่อมาวันที่ 11 มี.ค. 57 จำเลยได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน และให้การปฏิเสธ
โดยศาลได้ประทับรับฟ้องไว้ เป็นคดีหมายเลขดำ อ.3230/2558 และนัดตรวจหลักฐาน 21 ธ.ค.นี้ เวลา 13.30 น. ส่วนนายทินกร จำเลย ศาลได้ปล่อยชั่วคราวไปภายหลังจำเลยยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดประกันตัว โดยศาลตีราคาประกัน 100,000 บาท
นอกจากนี้ วันเดียวกันนี้พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 ยังได้ยื่นฟ้องแนวร่วม กปปส. อีก 7 ราย ประกอบด้วย ฉลองรัฐ เนคะมัชชะ อายุ 49 ปี กิจจา อุ้ยนอก อายุ 52 ปี ทิพย์พร นามดี อายุ 47 ปี มงคล ทองชัย อายุ 62 ปี อารมณ์ สิทธิโชติ อายุ 65 ปี จันทิมา ชูจันทร์ อายุ 42 ปี นิทัศน์ จันทนากร อายุ 49 ปี ในความผิดฐานร่วมกันขัดขว้างการเลือกตั้ง และความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการฉุกเฉิน พ.ศ.2548 กรณีร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมไปขัดขวางการเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง จากการทีจำเลยทั้ง 7 คน ใช้รถติดเครื่องเสียงพูดปราศรัยชักชวนไม่ประชาชนเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งเขต 16 กทม. อันเป็นฝ่าฝืนต่อกฎหมายจนเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ตามกำหนด เหตุเกิดที่แขวงคลองกุ่ม เขตบึ่งกุ่ม กทม. ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ โดยคดีนี้ศาลได้ประทับรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.3229/2558
วันธงชัย ชำนาญกิจ ทนายความกลุ่ม กปปส. กล่าวว่า วันนี้อัยการได้ยื่นฟ้องแนวร่วม กปปส. ที่ชุมนุมเพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าที่หน่วยเลือกตั้งโรงเรียนบางกะปิและสำนักงานเขตบึ่งกุ่มเมื่อวันที่26มกราคม 2557 รวม 2 คดี ซึ่งก่อนหน้านี้เคยยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม แต่ในที่สุดอัยการก็มีความเห็นสั่งฟ้อง ก็ต้องต่อสู้กันไปตามกระบวนการยุติธรรมโดยในวันนี้ได้มีการเตรียมหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 1000,000 บาท ส่วน แนวร่วม 7 คน นั้นเป็นเงินกองทุนจากกระทรวงยุติธรรมรายละ 1บาท ซึ่งอยู่ระหว่างรอศาลพิจารณาอยู่
วันธงชัย กล่าวต่อ ว่าก่อนหน้านี้พนักงานอัยการเคยยื่นฟ้อง แนวร่วม กปปส. ที่ชุมนุมเพื่อไม่ให้มีการเลือกที่สำนักงานเขตดินแดงไปซึ่ง ศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้องไปแล้ว 1 คดีเป็นคดีแรก เนื่องจากเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ
ภายหลังศาลได้พิจารณาคำร้องแล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยตีราคาประกันจำเลยทั้ง 8 คน คนละ 1 แสนบาท และนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 21 ธันวาคม 2558 เวลา 13.30 น. ทั้ง 2 คดี

ยิ่งลักษณ์ฟ้องอัยการสูงสุดปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ปมดำเนินคดีจำนำข้าว


29 ก.ย. 2558  ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 09.30 น. วันนี้ (29 ก.ย.) ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ทนายความ และผู้ติดตาม ได้เดินทางมาเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด (อสส.) ชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ สุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน และกิตินันท์ ธัชประมุข รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ซึ่งเป็นคณะทำงานพิจารณาคดีโครงการจำนำข้าว และมีความเห็นสั่งฟ้อง ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี คดีโครงจำนำข้าว ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และร่วมกันกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตาม มาตรา 200 และมาตรา 83 โดยเป็นการกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระกันรวม 3 กรณีดังต่อไปนี้
1. การที่อัยการสูงสุดมีความเห็นชี้ข้อไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะดำเนินคดีได้รวม 4 ข้อ อันประกอบไปด้วย ประเด็นปัญหาเรื่องโครงการรับจำนำข้าว ประเด็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ประเด็นเรื่องการทุจริต และประเด็นอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี ซึ่งเป็นคุณกับตน แต่กลับไม่ได้ไต่สวนให้เสร็จสิ้นตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและภายหลังกลับมีความเห็นสั่งฟ้อง 1 ชั่วโมงก่อนการพิจารณาถอดถอนตนที่ สนช.
2. การบรรยายฟ้องของอัยการสูงสุด ที่ยื่นฟ้องตนต่อศาลมีการเพิ่มเติมข้อกล่าวหาจากที่ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหาเดิมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 โดยไม่มีข้อกล่าวหาว่าทุจริต หรือสมยอมให้ทุจริต แต่คำฟ้องของ อสส.กลับบรรยายว่าตนรู้เห็นและสมยอมให้เกิดการทุจริต ซึ่งเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น
3. ในชั้นพิจารณาของศาล อัยการสูงสุดกลับนำเอกสารที่ไม่มีการไต่สวนในชั้นป.ป.ช. และในชั้นคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการสูงสุดและป.ป.ช. ในคดีที่กล่าวหาดิฉันเข้ามาในสำนวนจำนวนกว่า 60,000 แผ่น ซึ่งถือเป็นการนำเอกสารนอกสำนวน เข้ามาในสำนวนโดยมิชอบ
นอกจากนี้ ยิ่งลักษณ์ ยังเห็นว่าการดำเนินการของอัยการสูงสุดทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมาเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงจำเป็นต้องรักษาสิทธิและใช้สิทธิตามกฎหมายที่ต้องฟ้องร้องกับทุกกรณีที่เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม และไม่เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย ระเบียบ และหลักนิติธรรม
"การดำเนินการของอัยการสูงสุดเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงจำเป็นต้องรักษาและใช้สิทธิตามกม. ฟ้องร้องทุกกรณีที่เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม และไม่เป็นไปตามกระบวนการของกม. ระเบียบ และหลักนิติธรรม" ยิ่งลักษณ์ กล่าว

ผบ.โรงเรียนนายร้อย จปร. ยอมรับมีอาหารกลางวันหลุดการตรวจสอบจริง

พล.ท.ชาญชัย ยศสุนทร (ซ้าย) ผบ.รร.จปร. (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาสัมพันธ์กิจกรรม รร.จปร.)

ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อย จปร. ยอมรับว่าผู้โพสต์รูปโวยอาหารกล่อง ไม่สมเบี้ยเลี้ยง 120 บาท เป็นนักเรียนนายร้อยจริง โดยยอมรับว่าอาหารอาจหลุดลอดการตรวจสอบไปบ้าง เมื่อนักเรียนเหนื่อยและหิวเปิดกล่องอาหารจึงเกิดอารมณ์ ซึ่งเป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ยืนยันไม่มีเหตุทุจริตเรื่องอาหาร พร้อมให้สื่อมวลชนตรวจสอบ
29 ก.ย. 2558 หลังจาก "ชนินทร์ คล้ายคลึง" หรือฉายา "ผู้พันสู้" อดีตนายทหารอากาศที่ถูกให้ออกจากราชการได้แชร์โพสต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊ค ที่ระบุว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากค่าเบี้ยเลี้ยงนักเรียนนายร้อย จปร. วันละ 120 บาท พร้อมโพสต์อาหารกลางวันที่ได้รับการจัดสรรตามเบี้ยเลี้ยง เป็นภาพบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปผัดกับขนม 1 ห่อ นั้น
ล่าสุด ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด พล.ท.ชาญชัย ยศสุนทร ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ให้สัมภาษณ์ว่า ยอมรับว่าผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวเป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าจริง แต่ก็ได้ทำความเข้าใจกับนักเรียนแล้ว และทำการตักเตือนว่าสิ่งที่กระทำนั้นไม่เหมาะสม ซึ่งการกระทำอาจจะเกิดอารมณ์ชั่ววูบ
เนื่องจากในช่วงนี้ที่ รร.จปร.จัดกิจกรรมและมีงานเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเรื่องอาหารอาจจะหลุดลอดสายตาการตรวจสอบไปบ้าง เพราะอาหารนั้นมีเป็นจำนวนมากหลายกล่อง เราไม่ได้ตรวจสอบให้ดีบางกล่อง จึงอาจตกหล่นหรืออาหารไม่ครบบ้าง นักเรียนอาจจะเหนื่อยและหิว เมื่อเปิดกล่องอาหารมาเจอแบบนั้นจึงเกิดอารมณ์  ซึ่งเราเข้าใจว่าเป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการทุจริตหรือไม่นั้น ตนยืนยันว่าไม่มีการทุจริตเรื่องอาหารอย่างแน่นอน และพร้อมให้สื่อมวลชนตรวจสอบได้

ชีวิต 2 นักแสดงละคร 'เจ้าสาวหมาป่า' ผู้ลี้ภัยในต่างแดน


หลังรัฐประหาร ข้าวเหนียว และ ปุก คือนักแสดง 2 คนจากละครล้อเลียนการเมืองเรื่อง ‘เจ้าสาวหมาป่า’ ต้องลี้ภัยไปประเทศเพื่อนบ้าน พวกเขาไม่มีทางเลือก เพราะเพื่อนนักแสดงในเรื่องเดียวกันถูกตัดสินจำคุกข้อหาหมิ่นฯ ไปแล้ว ประชาไทคุยกับทั้งสองว่าพวกเขาใช้ชีวิตอย่างไรในฐานะผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกม. และความหวังที่จะกลับ "บ้าน" 
 
 
‘เจ้าสาวหมาป่า’ คือละครเวทีที่สร้างสรรค์โดยกลุ่มประกายไฟการละคร สมาชิกสามคนของกลุ่มใช้เวลาแค่วันเดียวในการร่างบทและเขียนสคริปต์ขึ้นมา ด้วยเนื้อเรื่องที่เต็มไปด้วยการเสียดสีราชวงศ์และการเมืองไทย เจ้าสาวหมาป่าจึงเล่นไปได้เพียงสองรอบเท่านั้น ในวันที่ 6 ต.ค. 56 และ 13 ต.ค. 56 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การแสดงในวันที่ 13 ต.ค. เพียงประมาณหนึ่งชั่วโมงทำให้ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือแบงค์ วัย 24 ปี และภรณ์ทิพย์ มั่นคง หรือกอล์ฟ วัย 26 ปีถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ติดคุกคนละ 2 ปี 6 เดือนแบบไม่รอลงอาญา เจ้าสาวหมาป่าจึงกลายเป็นละครเวทีเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ที่ทำให้นักแสดงติดคุกด้วยมาตรา 112 ไปโดยปริยาย
 
นอกจากแบงค์และกอล์ฟแล้ว ยังมีรายงานว่านักแสดงอีกหกคนในเรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่อายุไม่ถึง 30 ปี ก็เป็นที่ต้องการตัวของตำรวจด้วยเช่นกัน พวกเขาต่างใช้ชีวิตบนความหวาดกลัว บางคนเดินทางออกนอกประเทศและลี้ภัยโดยสมัครใจอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน (ประชาไทขออนุญาตไม่เปิดเผยที่อยู่และรายละเอียด เพื่อความปลอดภัยของแหล่งข่าว)
 
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลุ่มประกายไฟทำการแสดงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่พูดถึงได้ยากหรือไม่ถูกพูดถึงบ่อยนักในสังคมไทยมาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งพวกเขาพยายามท้าทายขีดจำกัดของสังคมเสมอ เพราะเชื่อว่าการสื่อสารผ่านศิลปะนั้นมีเสรีภาพมากกว่า
 
ปุก (นามสมมติ) หนึ่งในนักแสดงเจ้าสาวหมาป่าวัย 19 ปี ต้องย้ายออกจากบ้านของเขาในภาคใต้ของประเทศไทย หลังแบงค์และกอล์ฟถูกจับ เขาย้ายที่พักไปเรื่อยๆ และอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ จนสุดท้ายตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา 
 
แบงค์ กับ กอล์ฟ ขึ้นศาล
 
“ผมโคตรกลัวเลย ผมเล่นละครเนี่ย พูดไม่ถึง 10 นาทีด้วยซ้ำ แต่มันทำลายชีวิตทั้งชีวิต ผมเพิ่งสอบที่รามได้แค่สองครั้งเอง ก็ต้องมาอยู่นี่ ผมอยากเป็นวัยรุ่นที่ได้ไปเที่ยวบ้าง อะไรบ้าง แต่ที่นี่ทุกอย่างมันขึ้นกับเงินและสถานการณ์ ต้องทนอยู่ับความอึมครึมของบรรยากาศการต่อสู้ทางการเมือง ผมยังเด็ก บางทีเราก็คุยเล่นแบบเด็กวัยรุ่น ก็จะโดนผู้ใหญ่ว่า แล้วที่นี่ก็แทบไม่มีคนอายุไล่เลี่ยกันอยู่เลย” ปุกกล่าว เขาบอกด้วยว่า เขาถูกเตือนไม่ให้คบกับคนท้องถิ่น ซึ่งอาจเป็นสายให้เจ้าหน้าที่ไทย
 
ปุกเป็นนักศึกษาปีหนึ่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชีวิตมหาวิทยาลัยและอนาคตด้านการศึกษาในกรุงเทพฯ ของเขาพังทลายลงอย่างกะทันหัน เพียงเพราะคณะรัฐประหารระบุว่าละครเวทีมือสมัครเล่นเรื่องนี้เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ
 
ด้านข้าวเหนียว (นามสมมติ) นักแสดงอีกคนจากละครเรื่องเดียวกันและนักเคลื่อนไหววัย 30 ปีที่ผ่านการแสดงในงานเล็กๆ อย่างค่ายอาสาราว 20 ครั้ง เปิดเผยว่าเขาคาดการณ์ไว้นานแล้วว่าอย่างไรก็ต้องมีวันที่ตัวเองหนีออกนอกประเทศและกลายเป็นผู้ลี้ภัย
 
สถานการณ์การเมืองไทยที่ย่ำแย่และการกดขี่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทำให้เขากังวลอย่างมาก ขณะเดียวกัน มันเป็นแรงกระตุ้นให้เขาพยายามท้าทายขีดจำกัดของประเด็นที่พูดถึงไม่ได้ในสังคมผ่านละครเวที ขณะเดียวกัน เขาก็หาข้อมูลเกี่ยวกับ ‘ประเทศใหม่’ ใกล้เคียงไปด้วย ทั้งในเรื่องสังคม การเมือง อาหาร ค่าครองชีพ ไปจนถึงภาษา
 
บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิดคนนี้เปิดเผยกับประชาไทว่า “ตั้งแต่ที่อ่านบท ผมก็คิดเลยว่าผมต้องหนีออกนอกประเทศแน่นอน ผมบอกเรื่องนี้กับทั้งเพื่อนนักแสดงและที่บ้าน ทุกคนบอกว่าผมพูดเหลวไหลเพราะมันเป็นแค่การแสดง แม้จะมีความเสี่ยง แต่สุดท้ายผมก็ตัดสินใจเล่น เพราะผมคิดไว้แล้วว่าวันหนึ่งก็ต้องลี้ภัยอยู่ดีและผมก็ไม่อยากอยู่ประเทศไทยอีกต่อไป” 
 
ข้าวเหนียวต้องเดินทางออกนอกประเทศไทยอย่างหลบๆ ซ่อนๆ และผิดกฎหมาย เนื่องจากถูกออกหมายจับโดยตำรวจ ซึ่งเขายังคงรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้รีบเดินทางออกนอกประเทศก่อนหน้านั้น
 
“ตอนนั้นผมก็มั่นใจว่าเตรียมตัวมาดีแล้ว แต่พอเจอจริงๆ ตั้งตัวไม่ถูกเลย เพราะตั้งใจว่า จะออกนอกประเทศแบบบนดิน แต่ตอนนั้นก็สายเกินไปแล้วที่จะไปบนดิน ต้องไปแบบเถื่อน” ข้าวเหนียวกล่าว
 
เจ้าสาวหมาป่าถูกสร้างขึ้นมาโดยสมาชิกสามคนของประกายไฟการละคร ซึ่งรวมถึงกอล์ฟและปุก แม้จะมีชื่อเรื่องว่าเจ้าสาวหมาป่า เนื้อเรื่องจริงๆ กลับไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวละครเจ้าสาวที่เป็นหมาป่าเท่าไรนัก เค้าโครงเรื่องโดยรวมค่อนข้างไม่ชัดเจน เส้นเรื่องหลักมักถูกคั่นด้วยเรื่องสั้นเป็นระยะๆ ส่วนการแสดงของนักแสดงนั้นเต็มไปด้วยการ ‘อิมโพรไวซ์’ หรือแสดงสด
 
เจ้าสาวหมาป่าเป็นเรื่องราวของอาณาจักรในจินตนาการที่ถูกปกครองและบริหารโดยกษัตริย์องค์หนึ่งซึ่งทรงอำนาจอย่างมากหลังอภิเษกสมรสกับพระชายาที่เป็นหมาป่า แต่หลังการสมรสก็กลับสังหารเธอทิ้ง หลังจากนั้น พระองค์ก็ทรงอ่อนแอลงเพราะถูกวางยาโดยปุโรหิต เมื่อกษัตริย์ประชวรหนักขึ้นเรื่อยๆ ปุโรหิตก็ลายเป็นผู้สำเร็จราชการแทน 
 
ปุโรหิตคนดังกล่าวรับสินบนจากนักธุรกิจที่ต้องการสร้างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่บนที่ดินของกษัตริย์ จากนั้นไม่นาน เงาของกษัตริย์ในกระจกก็กลับมีชีวิตขึ้นมาอย่างพิศวงและขึ้นมาบริหารอาณาจักรด้วยตัวเอง กษัตริย์องค์ที่ออกมาจากกระจกทรงลุแก่อำนาจและทะเยอทะยานอย่างมาก ขณะที่กษัตริย์ตัวจริงยังคงนอนป่วยอยู่โดยไม่รู้ความเป็นไป
 
ปุกอธิบายว่าราชวงศ์ในเรื่องเป็นตัวแทนของชนชั้นนำไทย ส่วนเงาในกระจกเป็นตัวแทนของอดีตนายกฯ ทักษิน ชินวัตร นักการเมืองที่นำมาซึ่งความแตกแยกมากที่สุดในประเทศและผู้นำในดวงใจของคนเสื้อแดง
 
ปุกกล่าวว่า “เราต้องการแสดงให้เห็นความย้อนแย้งของขบวนการเสื้อแดงที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย พวกเขาบูชาทักษิณแบบแตะไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนั้น ทักษิณจะไม่แตกต่างอะไรจากอีกฝ่ายเลย การห้ามวิจารณ์ทักษิณมันขยายวงมากขึ้นเรื่อยๆ” 
 
ด้านข้าวเหนียวมองว่าความหมายแฝงที่แทรกอยู่ในบทของเจ้าสาวหมาป่าอาจจะลึกซึ้งเกินไป
 
“ผมไม่คิดว่าผู้ชมส่วนใหญ่เข้าใจสารที่เราต้องการจะสื่อ ส่วนหนึ่งเป็นความผิดของพวกเราเองที่ฝึกซ้อมไม่มากพอ นักแสดงบางคนก็เพิ่งขึ้นแสดงละครเวทีเป็นครั้งแรก และหลายคนก็ยังเข้าไม่ถึงบทที่เล่นเท่าไร”
 
พราหมณ์ (แสดงโดยปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม) วางยาพระราชาให้อ่อนแอ
 

ชีวิตกับการเมือง 24 ชม.

 
ประมาณสิบวันหลังจากคณะรัฐประหารยึดอำนาจ คสช.ได้เรียกตัวนักเคลื่อนไหว 28 คนไปรายงานตัวต่อทหารในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ซึ่งอย่างน้อย 11 คนในนั้นถูกสอบถามเกี่ยวกับละครเรื่องเจ้าสาวหมาป่า ตลอดจนถูกบังคับให้เปิดเผยชื่อของนักแสดงแต่ละคนด้วย
 
“ผมก็เข้าใจความจำเป็นของเพื่อน ว่าถูกบีบให้คายชื่อ ก็ได้ชื่อกอล์ฟ ชื่อแบงค์ แล้วก็กับชื่อผม” ข้าวเหนียวกล่าว สามวันหลังจากนั้น ตำรวจออกหมายจับพวกเขา กอล์ฟและแบงค์ถูกจับกุมในเดือนสิงหาคม
 
ข้าวเหนียวเล่าว่า เขาต้องออกจากบ้านด้วยเงินสดเพียง 4,000 บาท ส่วนปุกถูกไล่ออกจากบ้านหลังญาติๆ ที่เป็นรอยัลลิสต์รู้ว่าเขาไปทำอะไรมา (ปุกเป็นเด็กกำพร้า) ยิ่งไปกว่านั้น เขายังถูกขู่ฆ่าจากญาติของตัวเองอีกด้วย
 
“ผมกลัวมาก กลัวที่สุดในชีวิตเลย” ปุกกล่าว
 
ทั้งคู่เห็นตรงกันว่าการอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างผิดกฎหมายอย่างไรเสียก็ดีกว่าการหลบซ่อนในไทย แต่แม้ว่าจะอยู่ต่างบ้านต่างเมือง พวกเขาก็ยังระแวงและพยายามปกปิดตัวตนเสมอ เช่น สวมแว่นกันแดดและหมวกเวลาออกไปซื้อของที่ตลอดทุกครั้ง เพราะยังคงมีข่าวลือว่าเจ้าหน้าที่จากไทยกำลังตามหาและอาจมาลักพาตัวพวกเขาไปได้ทุกเมื่อ นอกจากปกปิดตัวตนแล้ว ที่อยู่บ้านใหม่ของพวกเขาก็ถือเป็นความลับสุดยอดเลยทีเดียว
 
ปัจจุบัน ข้าวเหนียวและปุกอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันร่วมกับสมาชิกในบ้านอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นชายล้วน ทั้งหมดเป็นผู้ต้องหาทางการเมืองจากประเทศไทย หลายคนเป็นที่ต้องการตัวในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112  พวกเขาอยู่กันแบบคอมมูน สมาชิกบ้านจะลงขันคนละ 40 บาทเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ในบ้าน และสำหรับอาหารค่ำในแต่ละวัน ส่วนมื้อกลางวันส่วนใหญ่เป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
 
งานประจำของพวกเขาทุกวันนี้คือจัดรายการการเมืองรายวันผ่านระบบพ็อดแคสต์ รายได้ส่วนหนึ่งได้มาจากแฟนๆ รายการที่ช่วยกันบริจาคนั่นเอง
 
จากเดิมที่เป็นคนพูดน้อย และเก็บตัว ปุกต้องพยายามอย่างมาก เพื่อเปลี่ยนแปลงบุคลิกตัวเองให้เป็นนักจัดรายการที่ดุดันและตลกขบขันเพื่อดึงดูดเงินบริจาค แต่การทำเช่นนั้นก็อาจทำให้เขาเสี่ยงที่จะมีโทษตามกฎหมายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ของไทย
 
“ถ้าตำรวจรู้ว่าผมเป็นใคร ผมคงต้องติดคุกอีก 15,000 ปี ผมไม่เคยพูดมากขนาดนี้มาก่อนในชีวิต แต่ก็ต้องทำ เลือกไม่ได้ ถ้าไม่ทำก็อดตาย” ปุกเผย
 
ข้าวเหนียวรับหน้าที่เป็นพิธีกรร่วมในรายการการเมืองและรายการเพลง นอกจากนี้ ยังรับผิดชอบดูแลด้านความเรียบร้อยด้านเทคนิคของสถานีด้วย ทั้งสองคนอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่คนคุยเรื่องการเมืองกันตลอดเวลา งานของพวกเขาก็คือการพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์การเมือง ยิ่งไปกว่านั้น อนาคตของพวกเขายังขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมืองไทยด้วย ซึ่งสำหรับปุกแล้ว สภาพที่เป็นอยู่นำมาซึ่งความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า
 
“ชีวตคนลี้ภัย ชีวิตไม่มีเรื่องอื่น นอกจากการเมือง เรื่องเจ้า เรื่องประยุทธ เหลือง แดง ผมฟังพวกลี้ภัยด้วยกันถกกัน ก็มีแต่เรื่องเดิมๆ ดูแล้วโคตรสิ้นหวังกับขบวนการเลย ต่างคนต่างบ้าผลประโยชน์ขนาดนี้ มันเน่าเฟะมาก ผู้ลี้ัยแข่งขันกันเพื่อให้ได้เงินบริจาค” ปุกกล่าว
 
ภาวะซึมเศร้าและสุขภาพจิตของปุกแย่ลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ลี้ภัยมา เพราะเขารู้สึกว่ากำลังใช้ชีวิตอย่างไร้จุดหมายและน่าเบื่อ ประกอบกับการอยู่รวมกับเพื่อนคนอื่นเกือบตลอดเวลาในบ้านหลังเดียวกันทำให้ขาดความเป็นส่วนตัวอย่างมาก เขายอมรับว่าคิดฆ่าตัวตายวันละหลายครั้ง 
 
ที่แย่ที่สุดคือเขาไม่สามารถไปปรึกษาจิตแพทย์ในประเทศที่อาศัยอยู่ได้ เพราะเขาเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
 

อนาคตที่เลือนลาง

 
อดีตนักศึกษารามฯ ปีหนึ่งคนนี้เปิดเผยกับประชาไทว่า เขาอยากเรียนต่อ เขาติดต่อไปยังสถานทูตหลายประเทศเพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัยแล้วแต่ยังไม่มีที่ไหนตอบกลับมาเลย
 
“ผมไปมาทุกสถานทูตแล้ว ผมอยากได้สถานะผู้ลี้ภัยจะได้ไปอยู่ประเทศที่สามและเรียนหนังสืออีกครั้ง แต่ไม่ได้เลย ตอนนี้มืดมนมาก จนแอบยอมแพ้แล้ว เริ่มหมดหวังแล้ว”
 
“ชีวิตอยู่ไปวันๆ ไร้รสชาด เช้าตื่นนอน กินข้าว อัดรายการ คุยกับแม่ยกขอตังค์ กินข้าว นอน” ปุกเสริม
 
ในทางตรงกันข้าม สำหรับข้าวเหนียวแล้ว การใช้ชีวิตเป็นผู้ลี้ภัยโดยสมัครใจในต่างแดนคือโอกาสที่จะได้สนุกไปกับบทบาทใหม่ นั่นก็คือการเป็นนักวิจารณ์และนักเคลื่อนไหวการเมืองอย่างเต็มที่
 
“ข้อมูลบางอย่างถูกปิดในประเทศไทย และคนในประเทศก็หิวกระหายข้อมูลเหล่านั้น เราก็ใช้โอกาสนี้ทำให้เขาหายกระหาย” ข้าวเหนียวกล่าว
 
นักแสดงและนักเคลื่อนไหววัย 30 ปีเชื่อว่า เขาต้องอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านไปอีกสองปีเป็นอย่างน้อย เขาเองอยากขอสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR แต่คุณสมบัติไม่ตรงตามเงื่อนไข
 
อย่างไรก็ตาม ทั้งข้าวเหนียวและปุกยังรอวันที่ประเทศไทยจะเกิด ‘การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่’ การเปลี่ยนแปลงภายในที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากคนนอกอย่างพวกเขา
 
“ผมอยากให้คนไทยเลิกชิล ใส่ใจปัญหาประชาธิปไตยมากกว่านี้ ผมว่า อาจต้องรอให้เศรษฐกิจพังก่อนหรือเปล่าจึงจะเห็นพวกเขามาใส่ใจสิทธิในการเลือกตั้ง” ข้าวเหนียวตั้งคำถามถึงคนไทยทุกคน
 
ปุกเสริมว่า “ผมอยากให้ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลง ให้ระบบศักดินาหายไป และระบอบประชาธิปไตยรุ่งเรือง แต่อาจยากหน่อยเพราะคนไทยเป็นคนอดทน ดูแล้วอนาคตผมโคตรมืดเลย ตอนนี้กระแสเริ่มซาแล้ว ยอดบริจาคก็น้อย ในที่สุดอาจต้องไปทำมาค้าขายแทน”
 
ปุกบอกว่า เขาไม่ค่อยเห็นอนาคตที่จะได้กลับประเทศไทย “น่าจะไม่ต่ำกว่า 30 ปี ที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะ นี่ไม่ได้ดูถูกนะ แต่ผมเองยังมองไม่เห็นหนทางชนะจริงๆ”