วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558

นักศึกษาไทย ม.วิสคอนซินจัดกิจกรรม #FreeThai14


กลุ่มนักศึกษาไทยในมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ผุดแฮชแท็ก #FreeThai14 และ #FreeThe14 รณรงค์ปล่อยตัวนักกิจกรรม-นักศึกษา ซึ่งถูกฝากขัง หลังตร.สั่งฟ้องศาลทหาร ฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.-ม.116 

29 มิ.ย. 2558 ตามเวลาสหรัฐอเมริกา กลุ่มนักศึกษาไทยในมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน (University of Wisconsin-Madison) จัดกิจกรรมชูป้ายเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จำนวน 14 คน โดยไม่มีเงื่อนไข ระบุ นักศึกษาถูกจับกุมและคุมขังในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. 2558 ที่ผ่านมา เนื่องจากแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อต้าน คสช. อย่างสันติ เรียกร้องให้รัฐบาลเคารพการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และเรียกร้องให้ รัฐบาล คสช. ลงจากอำนาจ และคืนอำนาจอธิปไตยให้แก่ประชาชน โดยรณรงค์ให้ใช้แฮชแท็ก #FreeThai14 และ #FreeThe14 ในโซเชียลมีเดีย เพื่อเผยแพร่ปัญหาวิกฤติสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยต่อไป
บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนนักศึกษาไทยที่จัดกิจกรรม กล่าวถึงกิจกรรมว่า วันนี้พวกเราคนไทยที่อยู่ที่เมืองแมดิสัน รัฐวิสคอนซิน ต้องการรณรงค์เพื่อให้ปล่อยตัวนักศึกษา 14 คนที่ถูกจับกุมที่เมืองไทยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เราอยากบอกกับน้องๆ นักศึกษาและสังคมไทยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้ในสังคมโลก กิจกรรมของเราก็ได้รับความสนใจจากนักศึกษาที่นี่เป็นอย่างดี
"ด้วยจิตคารวะต่อนักศึกษาทั้ง 14 ท่าน ที่ยืนหยัดในหลักการประชาธิปไตยและเอาตัวเองเข้าเสี่ยงขนาดนี้ เราเห็นภาพนักศึกษาถูกจับ เห็นภาพคนไปเยี่ยมแล้ว คิดว่าการที่เราอยู่ไกลก็ไม่น่าจะเป็นข้อจำกัดในการร่วมต่อสู้กับนักศึกษา” บุญเลิศกล่าวและว่า สิ่งที่ทำวันนี้ นอกจากป้ายข้อความเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักศึกษาและเรียกร้องให้ ค.ส.ช.ลงจากอำนาจแล้ว ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยแก่ชาวเมืองแมดิสันที่สนใจอีกด้วย ซึ่งก็ได้รับความสนใจอย่างมาก ผู้ที่เข้าร่วมรณรงค์กับเราต่างไม่เห็นด้วยกับการจับกุมนักศึกษาครั้งนี้อย่างมากเพราะเป็นเรื่องไร้เหตุผลที่คนจะถูกคุมขังเพราะเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสันติ
"สำหรับคนที่คิดว่านักศึกษาไม่ควรออกมาทำกิจกรรม ควรจะมุ่งเรียนหนังสืออย่างเดียวเพื่อจบไปทำงานเพื่อตัวเอง วิธีคิดแบบนี้เป็นแบบที่พวกชนชั้นนำปลูกฝังเรามานะครับ เพื่อไม่ให้มีการโต้แย้งและตั้งคำถาม ที่จริงนักศึกษาควรเป็นกองหน้า พวกเขาจะอ่อนไหวกับความไม่เป็นธรรมในสังคม และมีพลังเร่าร้อนของหนุ่มสาวที่จะต่อสู้ บางคนแม้จะมีหลักการแต่ก็ไม่มีจิตใจที่เด็ดเดี่ยวพอ นักศึกษาทั้ง 14 คนเป็นตัวอย่างที่เราต้องนับถือ”
"ผมคิดว่า การคิดว่าสังคมที่สงบต้องไม่มีการแสดงออกทางการเมืองนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิดมหันต์ เพราะมันเป็นเพียงความสงบชั่วคราวใต้ท็อปบูท ใต้ระบอบปกครองที่ทหารเอาปืนจ่อหัวประชาชนเท่านั้น คนที่เดือดร้อนก็แค่ถูกกดไว้เท่านั้น ถึงเวลาก็จะระเบิดขึ้นมา นักศึกษาดาวดินเป็นตัวอย่างที่สำคัญนะครับ ที่เชื่อมโยงให้เห็นว่า ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนภายใต้ระบอบเผด็จการมันแย่กว่าภายใต้ประชาธิปไตยอย่างไร
"ผมว่ามันเลยขีดความอดทนมามากแล้ว เราจะต้องส่งสัญญาณอย่างสำคัญว่า เราอยู่ใต้เผด็จการไม่ได้อีกแล้ว ไม่ใช่ว่ามาปล้นประชาธิปไตยไปแล้วยังเอาปืนมาจ่อหัวไม่ให้เราพูดอีก ประชาธิปไตยเป็นของเรานะครับ ไม่ใช่สิ่งที่รอให้เขาเอามาให้ เราต้องออกมาทวงคืนครับ ผมเป็นนักศึกษาในช่วงรัฐประหาร กุมภาฯ 2534 นะครับ ตอนนั้นรัฐประหาร ผ่านไป 6 เดือน เราจัดสัมมนาได้แล้ว แต่คราวนี้ผ่านมาเป็นปีแล้ว เรายังถูกห้ามอยู่เลย เราทนไม่ได้ที่จะต้องเห็นนักศึกษาที่มีความกล้า มีจิตใจที่ดี และมีอนาคต ต้องมาถูกกุมขังทั้งที่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่เคยคิดมาก่อนว่าสังคมไทยจะถอยหลังได้ขนาดนี้ ผมเกิดไม่ทันเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ไม่นึกว่าจะได้มาเจอสถานการณ์ที่ลิดรอนสิทธิ ปิดปากประชาชนอย่างตอนนั้นในสมัยนี้
"ผมไม่ได้เรียกร้องให้ทุกคนต้องเอาชีวิตมาเสี่ยงนะครับ ทุกคนก็มีขีดจำกัดในการแสดงออก ผมเคารพสิทธิและเหตุผลของทุกคน แต่เราก็น่าจะทำอะไรที่เราทำได้ นักศึกษาทั้ง 14 คน เขาเสี่ยงชีวิตมากนะครับ เราเสี่ยงแค่นิดเดียว ถ้ายังกลัวเป็นที่จับตาก็ต้องก้าวออกมาพร้อมๆ กันครับ คุกขังคนเป็นหมื่นๆ ไม่ได้หรอกครับ” บุญเลิศกล่าว

อียูออกแถลงการณ์กรณีจับ 14 น.ศ.ระบุเป็นพัฒนาการที่น่ากังวล จี้ไทยปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศ

          30 มิ.ย.2558 สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์เป็นภาษาไทยและอังกฤษ ถึงกรณีการจับกุม 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ระบุว่า “เป็นพัฒนาการที่น่ากังวล” และเรียกร้องทางการไทยปฏิบัติตามพันธะของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง เคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และไม่ควรนำศาลทหารมาใช้กับพลเรือน
..................

 


แถลงการณ์จากสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย
         สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยออกแถลงการณ์ฉบับนี้โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย
        กรุงเทพฯ 30 มิถุนายน 2558 – การจับกุมนักศึกษาจำนวน 14 คน จากข้อหาที่ถูกตั้งขึ้นอันเนื่องมาจากการชุมนุมอย่างสันติของพวกเขาในวันที่ 22 พฤษภาคมเป็นพัฒนาการที่น่ากังวล
        สหภาพยุโรปมีความเชื่อในสิทธิของคนทุกคนในการแสดงออกทางความคิดเห็นอย่างสันติและขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทางการไทยปฏิบัติตามข้อผูกพันของประเทศไทยภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง การเคารพซึ่งสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานนั้นจะต้องได้รับการค้ำชูและศาลทหารไม่ควรถูกนำมาใช้กับพลเรือน
* * * * * * * * * *
Local EU Statement
The European Union Delegation issues the following statement in agreement with the EU Heads of Mission in Thailand
Bangkok, 30 June 2015 – The arrests of 14 students on the basis of charges brought against them for peacefully demonstrating on 22 May is a disturbing development.
The EU believes in the right of all to express peacefully their opinions and calls upon the Thai authorities to abide by Thailand's obligations under the International Covenant on Civil and Political Rights. Respect for human rights and fundamental freedoms must be upheld, and military courts should not be used to try civilians.
* * * * * * * * * *

กลุ่มอิสระ มธ. และ มอ. ออกแถลงการณ์ประณามกระบวนการยุติธรรมที่ฉ้อฉล เรียกร้องปล่อยตัวเพื่อน 14 คน


กลุ่มอิสระ มธ. และ มอ. ออกแถลงการณ์ประณามกระบวนการยุติธรรมที่ฉ้อฉล ต่อกรณีการจับกุม 14 ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร พร้อมเรียกร้องปล่อยผู้ถูกควบตัวด้วยคดีทางการเมืองทุกคน
30 มิ.ย. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มอิสระมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อกรณีเหตุการณ์การจับกุม 14 นักศึกษา นักกิจกรรม ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ โดยได้แถลงถึงกระบวนการยุติธรรมที่ฉ้อฉล ที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการการเมืองทันที ไม่เพียงแต่นักโทษการเมืองทั้ง 14 คน แต่หมายรวมถึงนักโทษการเมืองที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้า พร้อมฝากสารถึงเพื่อนผู้รักประชาธิปไตย “อย่าให้สังคมที่นิยมเผด็จการหลอกให้เราเชื่อว่าเราไร้ความสามารถ อย่าให้ใครลวงหลอกว่าเราตัวเล็กเกินกว่าจะทำอะไร เราแต่ละคนอาจตัวเล็กเกินกว่าจะต่อสู้เพียงลำพัง แต่ประชาชนไม่เคยตัวเล็กเกินกว่าจะต่อสู้กับสิ่งใด”
ขณะเดียวกัน กลุ่ม มอ. รักษ์ประชาธิปไตย และสภาริมอ่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ออกแถลงการณ์ กล่าวถึงจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยต่อการบังคับใช้กฎหมาย อันเกิดจากอำนาจที่ได้มาโดยการลิดลอนอำนาจประชาชน  และเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษา นักกิจกรรมทั้ง 14 คน โดยทันที พร้อมชี้ว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เป็นสิทธิวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลโดยสุจริต และเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมืองอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
00000
แถลงการณ์
กลุ่มอิสระมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หนึ่งปีหลังการรัฐประหาร สิทธิของประชาชนถูกลิดรอน ประชาชนผู้เห็นต่างถูกจับขึ้นศาลทหารและถูกพิพากษาภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีความชอบธรรม ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา รัฐบาลเผด็จการได้ละเมิดสิทธิและหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน หนึ่งปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้จองจำประชาชนคนแล้วคนเล่าที่ไม่ยอมปิดปากตัวเองให้สนิท
แม้โฆษกของกองทัพและประชาชนผู้ยอมเป็นปากเสียงให้เผด็จการจะยืนยันหัวชนฝาว่ารัฐบาลได้เปิดช่องทางให้ประชาชนทั่วไปได้แสดงความคิดเห็น แต่เอาเข้าจริง ความคิดเห็นใดๆ ที่ผิดแผกแตกต่างไปจากสิ่งที่รัฐบาลต้องการกลับกลายเป็นสิ่งต้องห้าม ผู้ใดที่แสดงความคิดเห็นเหล่านั้นออกมาล้วนมีความผิดและถูกจี้บังคับให้ “ปรับทัศนคติ” ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่มุ่งหมายจะตั้งคำถามกับความไม่เป็นธรรมที่เกิดกับสังคมในเวลานี้ จึงได้แต่สงบปากสงบคำและแสร้งว่าเรารักกัน และทุกคนมีความสุขดี
รัฐบาลเผด็จการอ้างว่ากำลังคืนความสุขให้กับสังคม แต่แท้จริงแล้ว ความสุขที่พวกเขาหยิบยื่นให้เป็นเพียงความสุขจากการเห็นคนคิดต่างต้องอยู่อย่างหวาดกลัว ความสุขจากการเชื่อเชื่องในคำโฆษณาว่าบ้านเมืองของเรากำลังดีขึ้น ความสุขจากการเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ และคิดฝันอย่างลมๆ แล้งๆ ว่ารัฐบาลเผด็จการจะช่วยแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ ทั้งที่สิ่งเดียวที่พวกเขาทำเป็น ไม่ใช่การบริหารประเทศ แต่คือการสร้างความสงบสุขจอมปลอมด้วยการกำราบปราบปรามประชาชนคนเล็กคนน้อยตามวิสัยของ “ทหารกล้า”
ความสุขในสังคมที่ปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการเป็นเพียงความสุขแบบเด็กที่ไม่รู้จักโต รัฐบาลเผด็จการได้มอบสิ่งตอบแทนสำหรับผู้ที่ว่านอนสอนง่าย ทั้งในรูปของตำแหน่ง เงินทอง หรือความปลอดภัยในชีวิต ขณะเดียวกัน ผู้ที่ไม่นิยมการเป็นลูกแหง่ และพยายามลุกขึ้นตั้งคำถามกับความไม่ชอบมาพากลของเผด็จการ กลับถูกคุกคามและคุมขังด้วยข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ที่ไม่มีอำนาจชอบธรรมใดๆ ในการสั่งการ นอกเสียจากอำนาจจากปากกระบอกปืน 
ถึงเวลาแล้วที่เพื่อนๆ ผู้ที่มองเห็นความเลวร้ายของรัฐบาลเผด็จการจะร่วมกันกดดันให้พวกเขาปล่อยผู้ที่ถูกคุมขังในคดีทางการเมืองทุกคนไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นใคร การแสดงจุดยืนของเรา ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ เป็นการยืนยันอย่างหนักแน่นถึงหลักการพื้นฐานที่ว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีส่วนร่วมทางการเมือง ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิด พูด เขียน และแสดงความคิดเห็นของตนโดยสันติ และทุกคนมี “หน้าที่” ที่จะตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจหน้าไหนก็ตาม โดยเฉพาะผู้ที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ยินยอมมอบอำนาจให้แก่ตน หากปราศจากการข่มขู่ด้วยปืนผาหน้าไม้และการบังคับใช้กฎหมายตามอำเภอใจ
เราขอเรียกร้องไปยังเพื่อนๆ ผู้ที่มีจุดยืนร่วมกันทุกคนว่าอย่าเพิ่งหมดหวังและทดท้อในความอ่อนแอของตนเอง อย่าให้ความเจ็บปวดที่เห็นเพื่อนเราถูกจับกุมกลายเป็นสัญลักษณ์ของความพ่ายแพ้ พวกเราแพ้ไม่ได้หากไม่เคยลุกขึ้นต่อสู้ อย่าให้สังคมที่นิยมเผด็จการหลอกให้เราเชื่อว่าเราไร้ความสามารถ อย่าให้ใครลวงหลอกว่าเราตัวเล็กเกินกว่าจะทำอะไร เราแต่ละคนอาจตัวเล็กเกินกว่าจะต่อสู้เพียงลำพัง แต่ประชาชนไม่เคยตัวเล็กเกินกว่าจะต่อสู้กับผู้ใด
เราขอเรียกร้องไปยังเพื่อนๆ ทุกคนว่า อย่างน้อยที่สุด อย่าได้เก็บปากกาของเพื่อนเอาไว้ จงใช้มันขีดเขียนทุกครั้งที่มีโอกาส เขียนในทุกทุกที่ที่เขียนได้ แม้ว่าความคิดของพวกเรากำลังถูกคุกคาม แม้ความใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีกว่าย่อมมีราคาที่ต้องจ่าย แต่กรงขังใดเล่าที่สามารถกังขังความฝันถึงเสรีภาพไว้ได้ตลอดไป คุกอาจคุมขังร่างคนคนหนึ่งได้ แต่คุมขังความคิดคนอีกมากมายไม่ได้ คุกกักขังบางสิ่งบางอย่างไว้ได้แค่บางช่วงเวลา แต่ไม่สามารถกักขังกาลเวลาเอาไว้ได้
แม้ชนชั้นนำจะร่วมมือกับเผด็จการในการหมุนโลกให้ไปในทิศทางตรงกันข้ามกับความเป็นจริง ทว่า “โลกหมุนไปข้างหน้า” เสมอ เวลากำลังเดินไปเรื่อยๆ ไม่มีใครสามารถตรึงกาลเวลาให้อยู่กับที่ เช่นเดียวกับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป พวกเขาได้แต่เหนี่ยวรั้ง แต่หยุดยั้งมันไว้ไม่ได้ ปีศาจตัวเดิมยังคอยหลอกหลอนสังคมนี้มานานแสนนาน แต่ขอให้เพื่อนๆ ทุกคนจงมองไปที่นาฬิกาเพื่อเตือนตัวเองเถิดว่าเวลาของพวกเขาเหลือน้อยลงไปทุกที
เราไม่ได้เรียกร้องให้เพื่อนๆ ออกมาต่อสู้บนท้องถนนในวันนี้พรุ่งนี้ แต่อย่างน้อยที่สุด ขอให้เราต่อสู้เพื่ออนาคตข้างหน้า เราไม่ได้เรียกร้องให้เพื่อนๆ ออกมาเผชิญหน้ากับกระบอกปืน แต่ขอให้เราทุกคนร่วมกันต่อสู้ภายใต้เกราะกำบังของกาลเวลา.

…โลกใหม่ต้องเป็นของเรา …
                                                                                                  กลุ่มอิสระมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แถลงการณ์
กลุ่ม มอ. รักษ์ประชาธิปไตย และสภาริมอ่าง
“ความปรองดองไม่สามารถและไม่มีวันเกิดขึ้นได้ภายใต้การปิดปากผู้ที่ไม่เห็นด้วย” ประโยคนี้เป็นสิ่งที่ตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้การปกครองของคณะรักษา ความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งนับแต่วันที่ คสช.เข้ายึดและควบคุมอำนาจทั้งหลายภายในรัฐ โดยออกคำสั่งต่างๆ รวมถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้น มีการจับกุมนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นจำนวนมาก รวมถึงการห้ามจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ทาง คสช.ไม่เห็นว่าสมควรที่จะจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจกรรมที่เกี่ยวกับการเรียกร้องหรือให้ความรู้ในเรื่องสิทธิเสรีภาพ
การจับกุมนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ภายใต้เหตุผลการขัดคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งออกตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฯ อันเป็นกฎหมายที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจที่ได้จากการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของ ประชาชนผ่านการรัฐประหารนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีค่าบังคับใดๆ เลย ไม่แม้แต่จะถือว่าเป็นกฎหมาย เนื่องจากเป็นอำนาจที่ได้มาโดยไม่ชอบ เป็นอำนาจที่ริบมาจากมือของประชาชนเจ้าของประเทศ จึงไม่มีผู้ใดจะสามารถอ้างหรือใช้อำนาจดังกล่าวมาลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของ ประชาชนได้ เพราะอำนาจเดียวที่จะมาออกกฎหมายที่พรากสิ่งใดไปจากประชาชนได้ ต้องเกิดจากความยินยอมของประชาชนทั้งหลายเท่านั้น
นอกจากการจับจะเป็นการดำเนินการโดยอาศัยอำนาจอันไม่ชอบธรรมแล้ว การแจ้งความผิดตามมาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญาในเรื่องการก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องต่อประชาชน แก่นักศึกษานั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เนื่องจากความผิดตามมาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการกระทำไปโดยไม่สุจริต ขัดกับรัฐธรรมนูญ โดยหวังจะก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องแก่คนในสังคม หากพิจารณาการเคลื่อนไหวของนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ จะเห็นได้ว่าเป็นการใช้สิทธิวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลโดยสุจริต และเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมืองอันเป็นสิทธิขั้น พื้นฐานของประชาชน การอ้างบทมาตราดังกล่าวมาใช้ในการจับกุมนักศึกษาจึงปราศจากความชอบธรรม
กลุ่ม ม.อ.รักษ์ประชาธิปไตย, รวมถึงกลุ่มนักศึกษาสภาริมอ่าง “ในนามของประชาชนส่วนหนึ่งของประเทศไทย” ไม่สามารถมองเห็นถึงความชอบธรรมใดๆ ในการใช้อำนาจที่ได้มาโดยมิชอบและปราศจากการยึดโยงกับประชาชน มาจับกุมเพื่อของเราเพียงเพราะเขาใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยสุจริต เราจึงขอคัดค้านการจับกุม 14 นักศึกษาโดยการใช้อำนาจที่ได้มาจากการรัฐประหาร และขอให้ดำเนินการปล่อยตัวนักศึกษาทั้งหลายในทันที เราเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่า การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมาและสงบสันตินั้น ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม และเป็นหนทางที่จะนำพาประเทศไปสู่การปรองดองตามที่ท่านได้กล่าวอ้าง

อำนาจอธิปไตยย่อมเป็นของประชาชน
กลุ่ม มอ. รักษ์ประชาธิปไตย และสภาริมอ่าง
30 มิถุนายน 2558

ครอบครัว ‘ไผ่ ดาวดิน-แซม’ เข้าเยี่ยมขบวนการ ปชต.ใหม่ เผยอยากให้ ปชช.เปิดใจสิ่งที่ 14 น.ศ.ทำ


Tue, 2015-06-30 16:18


         30 มิ.ย. 2558 เวลาประมาณ 11.00 น. ประชาชน นักศึกษา อาจารย์ หลายสิบคน เข้าเยี่ยม 13 นักศึกษา-นักกิจกรรมชาย ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

         กลุ่มอาจารย์ที่เข้าเยี่ยมวันนี้ ประกอบไปด้วย อนุสรณ์ อุณโณ, จันทจิรา เอี่ยมมยุรา, ชลิตา บัณฑุวงศ์, ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์, สมฤทธิ์ ลือชัย, วิโรจน์ อาลี, ประจักษ์ ก้องกีรติ และ ลลิตา หาญวงศ์ ได้แถลงข่าวแสดงจุดยืนและข้อห่วงใยในนาม “เครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง” เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวทั้ง 14 คนและยุติการดำเนินคดี (อ่านข่าว)

         ภายหลังการแถลงข่าวของบรรดาอาจารย์ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ได้แสดงละครใบ้ ชุด “พิราบลายจุด” ด้านหน้าเรือนจำ เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงนกพิราบที่ถูกคุมขัง โดยภายหลังการแสดง บก.ลายจุดไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวแต่อย่างใด

         นอกจากนี้ ธีรพิมล เสรีรังสรรค์ หรือ เอ ภรรยาของ พรชัย ยวนยี หรือ แซม และ เรวดี ศุภโสภณ แม่ของ รัฐพล ศุภโสภณ หรือ บาส ได้เข้าเยี่ยมด้วย นอกจากนี้วันนี้ยังเป็นวันแรกที่ วิบูลย์ บุญภัทรรักษาและพริ้ม บุญภัทรรักษา พ่อและแม่ของจุตภัทร บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ได้เยี่ยมลูกชายเป็นครั้งแรก

        ด้าน วิบูลย์ และ พริ้ม พ่อและแม่ของไผ่ดาวดิน ภายหลังการเข้าเยี่ยมลูกชาย ได้ร่วมร้องเพลงบทเพลงของสามัญชนกับมวลชนที่มาให้กำลังใจโดยวิบูลย์เป็นผู้เล่นกีต้าร์และกลุ่มเพื่อนร่วมอ่านบทกวี

        เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามีคำครหาที่มองว่านักศึกษามีผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง วิบูรณ์กล่าวว่า ยอมรับว่าสำหรับไผ่นั้นเบื้องหลังของเขาก็คือวิธีคิดของพ่อ จากการที่พ่อประกอบอาชีพทนายความ ตอนเด็กๆ ที่พ่อไปช่วยเหลือพี่น้องที่ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายของรัฐ ไผ่ก็ตามพ่อไปด้วยจนตอนนี้ไผ่เรียนกฎหมาย ไผ่ก็มองเห็นความทุกข์ยากของชาวบ้านเหมือนกันกับพ่อจนเขาออกมาทำเช่นทุกวันนี้ พร้อมเผยว่าตนเองไม่เคยห้ามลูกที่ออกมาทำอย่างนี้ เพราะมองว่าเป็นการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์

“ผมไม่ห้ามให้ลูกทำ ถ้าให้ผมเลือกกลับไปอีก ผมก็จะทำเหมือนเดิม”

      เมื่อถูกถามว่าตอนนี้ได้พูดคุยกับพ่อแม่ของสมาชิกดาวดินคนอื่นบ้างหรือยัง วิบูลย์กล่าวว่า ได้คุยกับพ่อแม่คนอื่นๆ แล้วแต่ต่างกันที่พ่อแม่บางคนอาจรับราชการและถูกบีบได้ แต่โชคดีหน่อยที่ตนเองไม่ใช่ข้าราชการเลยไม่ถูกบีบเหมือนคนอื่น แต่แม้ว่าพ่อแม่บางคนจะถูกบีบแต่เด็กก็ยังคงอุดมการณ์คงเดิม

      ส่วนกรณีที่ไผ่ถูกจับนั้น วิบูลย์มองว่าเป็นเรื่องตลก ตำรวจทหารหลายร้อยคนมากกว่านักศึกษาแต่มารุมจับเด็ก ทั้งๆ ที่ตอนแรกเด็กรอให้ไปจับในคดีที่โดนตั้งข้อกล่าวหาก่อนหน้า แต่ดันมาจับเด็กด้วยความผิดตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา

      เมื่อถูกถามถึงกรณีที่ตนเองเคยเข้าร่วมชุมนุมกับ กปปส. วิบูลย์กล่าวว่าตนเองไม่ได้ชุมนุมแค่ในช่วง กปปส. แต่ในทุกรัฐบาลที่ทำผิดหลักประชาธิปไตย ตนเองก็เข้าร่วม

      ส่วนเรื่องที่คนโจมตีนั้น พ่อของไผ่มองว่า "เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเราจะเป็นนักต่อสู้อย่าไปหวั่นไหวในเรื่องการโจมตี"

       วิบูลย์กล่าวต่อไปว่า ในฐานะคนเป็นพ่อตอนนี้ไม่ห่วงแล้ว ลูกต่อสู้มาหมดแล้ว คุกก็เคยเข้าแล้ว พอเขาออกมาเขาก็จะเข้มแข็ง

       วิบูลย์ระบุด้วยว่า อยากให้ประชาชนเปิดใจกับสิ่งที่เด็กทำ เอามาวิเคราะห์ว่ากระบวนการนี้เป็นอย่างไร พร้อมตั้งคำถามว่าสังคมเราลืมอะไรไปหรือเปล่า

        ด้าน ธีรพิมล ภรรยาของแซม เปิดเผยกับประชาไทว่า ทีแรกตั้งใจกันไว้ว่าจะไปเรียนต่อโทที่เมืองนอก เอกสาร VISA อะไรผ่านหมดแล้ว แต่พอแซมโดนคดีนี้เลยไม่ได้ไปกัน แต่ก็ไม่เป็นไร เลื่อนไปเรียนปีอื่นได้ เพราะเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เขาทำถูกต้องแล้ว

       นอกจากนี้ ผู้เข้าเยี่ยม ปกรณ์ อารีกุล หรือ แมน เปิดเผยหลังเยี่ยมว่า แมนเล่าว่า มีสภาพจิตใจดี กินอิ่ม นอนหลับ เพื่อนที่อยู่ข้างในทั้ง 13 คน ก็เข้มแข็งกันทุกคน เพราะมีเพื่อนมาเยี่ยมให้กำลังใจกันทุกวัน แต่จะเรียกว่าจิตใจดีมากก็ไม่ได้เพราะยังกังวลกับสถานการณ์ด้านนอกเรื่องที่รัฐบาลปราบปรามคนที่อยู่ข้างนอก และอยากฝากบอกคนข้างนอกว่า อยากให้ข้างนอกเข้มแข็งเพราะเราเองก็เข้มแข็งและร่วมสู้ไปด้วยกัน

       อนึ่ง สำหรับการเยี่ยมครั้งนี้ เจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ (ชาย) อนุโลมให้ได้เยี่ยมพร้อมกันทุกคนทั้งผู้เยี่ยมและผู้ต้องหา จากปกติที่ผู้ต้องหาแค่ละคนจะมีโควต้าผู้เยี่ยมเพียง 10 รายชื่อและให้เข้าเยี่ยมได้เพียงวันละไม่เกิน 5 คนต่อผู้ต้องหา 1 คน

      ขณะที่การเข้าเยี่ยมที่ทัณฑสถานหญิงกลางนั้น บังคับใช้ระเบียบเดียวกับเรือนจำชายและบังคับใช้อย่างเคร่งครัด

281 อาจารย์มหาวิทยาลัยลงชื่อเรียกร้องปล่อย 14 น.ศ-ยุติดำเนินคดี



Tue, 2015-06-30 12:18

30 มิ.ย. 2558 หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ่านแถลงการณ์ในนามเครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง เรียกร้องให้ปล่อยตัว 14 น.ศ. ทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่ให้มีการตั้งข้อหา หรือดำเนินคดี ระบุการจับกุมคุมขังนักศึกษาจำนวน 14 คนด้วยข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นสิ่งไม่ชอบธรรมเพราะรัฐประหารไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่ต้น ยืนยันจะส่งเสริมและให้การสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ประชาธิปไตยนอกห้องเรียนของนักศึกษาเหล่านี้ในรูปแบบและวิธีการต่างๆ ต่อไปจนกว่าจะสังคมไทยจะกลายเป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

รายละเอียดมีดังนี้

แถลงการณ์จากเครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง
ฉบับที่ 1

             สังคมไทยสร้างขึ้นจากความสัมพันธ์หลายด้านและหนึ่งในนั้นคือความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ เพราะพ้นจากครอบครัวและผู้ให้กำเนิดแล้ว สถานศึกษาและครูบาอาจารย์คือสถานที่และบุคคลที่มีส่วนในการบ่มเพาะขัดเกลาสมาชิกของสังคม สังคมจะเป็นอย่างไรส่วนหนึ่งขึ้นกับรูปแบบและวิธีการเรียนรู้และความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะการค้นคว้าตำราหรือว่ากิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียน หากแต่หมายรวมถึงกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงและสิ่งที่อยู่พ้นห้องเรียนออกไป

             การเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของนักเรียน นิสิต นักศึกษาโดยเฉพาะในช่วงเดือนเศษที่ผ่านมานับเป็นกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงนอกห้องเรียนที่สำคัญประการหนึ่ง ขณะเดียวกันก็เป็นการปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ของสมาชิกในสังคมประชาธิปไตยที่เคารพในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล นักเรียน นิสิต นักศึกษาเหล่านี้ไม่ได้ละเลยหน้าที่ในการเรียนรู้ของตนตามที่บางฝ่ายกล่าวหา และขณะเดียวกันพวกเขาได้แสดงบทบาทในครรลองของสังคมประชาธิปไตยอย่างกล้าหาญ เป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เพียงแต่จะสอดรับกับหลักการและทฤษฎีอันเป็นสากล หากแต่ยังสอดคล้องกับหลักกฎหมายที่นานาอารยะประเทศให้การรับรอง จะมีก็แต่เผด็จการที่หวาดกลัวเสรีภาพในการเรียนรู้และการแสดงความเห็นต่างของพลเมืองเท่านั้นที่เห็นการเคลื่อนไหวของพวกเขาเป็นสิ่งผิดหรือเป็นอันตรายจนกระทั่งต้องใช้อำนาจดิบหยาบและกฎหมายป่าเถื่อนเข้ายับยั้งปราบปราม

             ในฐานะครูบาอาจารย์ผู้ตระหนักในบทบาทหน้าที่ที่มีต่อศิษย์และสังคม พวกเราเห็นว่าการจับกุมคุมขังนักศึกษาจำนวน 14 คนด้วยข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นสิ่งไม่ชอบธรรมเพราะรัฐประหารไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่ต้น จึงเรียกร้องให้ปล่อยตัวพวกเขาทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่ให้มีการตั้งข้อหาหรือว่าดำเนินคดีกับพวกเขาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวดังกล่าว

            ประการสำคัญ พวกเราจะส่งเสริมและให้การสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ประชาธิปไตยนอกห้องเรียนของนักศึกษาเหล่านี้ในรูปแบบและวิธีการต่างๆ ต่อไปจนกว่าจะสังคมไทยจะกลายเป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค
เครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง
30 มิถุนายน 2558


รายชื่อผู้ร่วมลงนาม
แถลงการณ์จากเครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง ฉบับที่ 1

  • 1. กนกรัตน์ สถิตนิรามัย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
  • 2. กนกวรรณ มะโนรมย์ คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
  • 3. กาญจนา เหล่าโชคชัยกุล ม.ธรรมศาสตร์
  • 4. กฤษฎา บุญชัย คณะรัฐศาสตร์ ม.ราชภัฎมหาสารคาม
  • 5. กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
  • 6. กิตติ วิสารกาญจน สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ม.ศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี
  • 7. เกษม เพ็ญภินันท์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
  • 8. เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 9. กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 10. เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ม.เชียงใหม่
  • 11. กุสุมา กูใหญ่ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  • 12. กุลธีร์ บรรจุแก้ว คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
  • 13. กฤษณ์พชร โสมณวัตร ม.เชียงใหม่
  • 14. ขนิษฐา กีรติภัทรกาญจน์ ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช
  • 15. ขวัญชีวัน บัวแดง ม.เชียงใหม่
  • 16. ขรรค์เพชร ชายทวีป คณะนิติศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
  • 17. คารินา โชติรวี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
  • 18. เคท ครั้งพิบูลย์
  • 19. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
  • 20. คงกฤช ไตรยวงค์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
  • 21. คมลักษณ์ ไชยยะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
  • 22. คอลิด มิดำ คณะดนตรีและการแสดง ม.บูรพา
  • 23. คำแหง วิสุทธางกูร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • 24. จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
  • 25. จิรธร สกุลวัฒนะ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 26. จิราพร เหล่าเจริญวงศ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
  • 27. จิราภรณ์ สมิธ คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
  • 28. จิรสิริ เกษมสินธุ์ วิเวกเมธากร คณะศิลปศาสตร์ ม.มหิดล
  • 29. จักรกริช สังขมณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
  • 30. จักเรศ อิฐรัตน์ คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
  • 31. จันทนี เจริญศรี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
  • 32. จันจิรา สมบัติพูนศิริ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 33. จันทรา ธนะวัฒนวงศ์ คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
  • 34. ชลิตา บัณฑุวงศ์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
  • 35. ชลัท ศานติวรางคณา สถาบันโภชนาการ ม. มหิดล
  • 36. ชานนท์ ไชยทองดี คณะครุศาสตร์ ม.ราชภัฏศรีสะเกษ
  • 37. ชานันท์ ยอดหงส์
  • 38. ชาญชัย ชัยสุขโกศล ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ม.มหิดล
  • 39. ชาญณรงค์ บุญหนุน ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
  • 40. ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 41. ชินทาโร ฮารา ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  • 42. ชัชวาล ปุญปัน อดีตอาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่
  • 43. ชัยพงษ์ สำเนียง สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ม.เชียงใหม่
  • 44. ชัยวัฒน์ มีสันฐาน คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 45. เชษฐา ทรัพย์เย็น คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ธนบุรี
  • 46. เชษฐา พวงหัตถ์ นักวิชาการอิสระ
  • 47. เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 48. ชำนาญ จันทร์เรือง
  • 49. ไชยันต์ รัชชกูล
  • 50. ซากีย์ พิทักษ์คุมพล สถาบันสันติศึกษา ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
  • 51. ซัมซู สาอุ วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  • 52. ณภัค เสรีรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  • 53. ณัฐกานต์ อัครพงษ์พิศักดิ์ ม.มหาสารคาม
  • 54. ณัฐกร วิทิตานนท์
  • 55. ณัฐนันท์ คุณมาศ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ
  • 56. ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม
  • 57. ณรุจน์ วศินปิยมงคล คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
  • 58. ฐิติรัตน์ สุวรรณสม ม.นเรศวร
  • 59. ฐิติพงษ์ ด้วงคง คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 60. ฐิติชญาน์ ศรแก้ว คณะมนุษยศาสตร์ ม.นเรศวร
  • 62. ฐานิดา บุญวรรโณ คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร
  • 63. ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร
  • 64. ดารารัตน์ คำเป็ง คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.พะเยา
  • 65. เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
  • 66. เดชา ตั้งสีฟ้า คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 67. เดโชพล เหมนาไลย ภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 68. ดำรงพล อินทร์จันทร์ ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร
  • 69. ดวงยิหวา อุตรสินธุ์ คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  • 70. ตฤณ ไอยะรา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์
  • 71. ตามไท ดิลกวิทยรัตน์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 72. ตะวัน วรรณรัตน์ คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
  • 73. ทิพสุดา ญาณาภิรัต ม.มหาสารคาม
  • 74. ทับทิม ทับทิม
  • 75. ทัศนัย เศรษฐเสรี สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ ม.เชียงใหม่
  • 76. ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ นิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่
  • 77. เทียมสูรย์ สิริศรีศักดิ์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล
  • 78. ธนาวิ โชติประดิษฐ
  • 79. ธนรรถวร จตุรงควาณิช คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 80. ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ ภาควิชาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น
  • 81. ธนศักดิ์ สายจำปา สาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช
  • 82. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 83. ธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ
  • 84. ธิกานต์ ศรีนารา ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
  • 85. ธิติญา เหล่าอัน คณะครุศาสตร์ ม.ราชภัฏเลย
  • 86. ธีระพล อันมัย คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
  • 87. ธีรวัฒน์ ขวัญใจ คณะนิติศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์
  • 88. ธีรวัฒน์ ทัศนภิรมย์ คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล
  • 89. ธัญญธร สายปัญญา คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  • 90. ธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 91. นวัต เลิศแสวงกิจ คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
  • 92. นภิสา ไวฑูรเกียรติ ม.นเรศวร
  • 93. นลินี ตันธุวนิตย์ คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
  • 94. นภาพร อติวนิชยพงศ์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 95. นฤมล กล้าทุกวัน สำนักวิชาศิลปศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์
  • 96. นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
  • 97. นาตยา อยู่คง ภาควิชาสังคมศาสตร์ ม.ศิลปากร
  • 98. นิติ ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ 
  • 99. นิธิ เนื่องจำนง ม.นเรศวร
  • 100. นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์
  • 101. เนตรดาว เถาถวิล สาขาวิชาสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
  • 102. นงเยาว์ เนาวรัตน์ คณะศึกษาศาสตร์ ม.เชียงใหม่
  • 103. นพพร ขุนค้า รัฐประศาสนศาสตร์ ม.ราชภัฎราชนครินทร์
  • 104. เนาวรัตน์ ปฏิพัทธ์ภักดี คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
  • 105. นันทนุช อุดมละมุล คณะมนุษยศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
  • 106. บาหยัน อิ่มสำราญ ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
  • 107. บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
  • 108. บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
  • 109. บูรณจิตร แก้วศรีมล คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
  • 110. บัณฑิต ไกรวิจิตร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  • 111. บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง
  • 112. บัณฑูร ราชมณี คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 113. เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล
  • 114. แบ๊งค์ งามอรุณโชติ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ศูนย์การศึกษาราชบุรี
  • 115. ปฐม ตาคะนานันท์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง
  • 116. ปฐวี โชติอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  • 117. ปฐมพงศ์ มโนหาญ นวัตกรรมสังคม ม.แม่ฟ้าหลวง
  • 118. ปิยชาติ สึงตี ม.วลัยลักษณ์
  • 119. ปิยะมาศ ทัพมงคล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  • 120. ปิง วิชัยดิษฐ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  • 121. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ม.เชียงใหม่
  • 122. ประกาศ สว่างโชติ คณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์
  • 123. ประทับจิต นีละไพจิตร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล
  • 124. ประภาส ปิ่นตบแต่ง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
  • 125. ประภัสสร์ ชูวิเชียร คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร
  • 126. ประยุทธ สายต่อเนื่อง
  • 127. ปราโมทย์ ระวิน สาชาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
  • 128. ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 129. ปรีดี หงษ์สต้น คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 130. ปุรินทร์ นาคสิงห์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
  • 131. ปูรณ์ ขวัญสุวรรณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  • 132. ปฤณ เทพนรินทร์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม
  • 133. ปวลักขิ์ สุรัสวดี คณะศิลปศาสตร์ ม.มหิดล
  • 134. ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 135. พกุล แองเกอร์
  • 136. พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ Weatherhead East Asia Institute ม.โคลัมเบีย
  • 137. พงษ์ศักดิ์ รัตนวงศ์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่
  • 138. พจนก กาญจนจันทร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
  • 139. พนิดา อนันตนาคม คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่
  • 140. พศุตม์ ลาศุขะ คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่
  • 141. พิชญา พรรคทองสุข คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์
  • 142. พิชามญชุ์ ทิพยพัฒนกุล ม.วลัยลักษณ์
  • 143. พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 144. พิรงรอง รามสูตร คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
  • 145. พิพัฒน์ สุยะ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
  • 146. พิสิษฏ์ นาสี ม.เชียงใหม่
  • 147. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
  • 148. พิมพ์ปฏิมา นเรศศิริกุล สาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
  • 149. พรณี เจริญสมจิตร์ เกษียณจากภาควิชาภาษาฝรั่งเศส คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
  • 150. พัชร์ นิยมศิลป คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
  • 151. พันธุ์พิพิธ พิพิธพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  • 152. พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
  • 153. ไพรินทร์ กะทิพรมราช คณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
  • 154. ไพบูลย์ โสภณสุวภาพ คณะดนตรีและการแสดง ม.บูรพา
  • 155. แพร จิตติพลังศรี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
  • 156. พรรณราย โอสถาภิรัตน์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
  • 157. เพียงกมล มานะรัตน์ คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
  • 158. ภาสกร อินทุมาร คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล
  • 159. ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏลำปาง
  • 160. ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปล/นักวิชาการอิสระ
  • 161. มิกด๊าด วงศ์เสนาอารี คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
  • 162. มิเชล ตัน คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 163. มูนีเราะฮ์ ยีดำ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
  • 164. มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง
  • 165. เมธาวี โหละสุต คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 166. มนวัธน์ พรหมรัตน์ ม. วลัยลักษณ์
  • 167. มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 168. ยอดพล เทพสิทธา คณธนิติศาสตร์ ม.นเรศวร
  • 169. รชฏ นุเสน ม.ราชภัฏเชียงใหม่
  • 170. รชฎ สาตราวุธ ภาควิชาปรัชญา ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  • 171. ราม ประสานศักดิ์ คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
  • 172. รัตนา โตสกุล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
  • 173. ลลิตา หาญวงษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม
  • 174. วราภรณ์ เรืองศรี ม.เชียงใหม่
  • 175. วศิน โกมุท คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
  • 176. วศินรัฐ นวลศิริ คณะมนุษยศาสตร์ ม.นเรศวร
  • 177. วัชรพล พุทธรักษา คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร
  • 178. วัชรพล ศุภจักรวัฒนา ม.นเรศวร
  • 179. วันรัก สุวรรณวัฒนา คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 180. วาสนา ละอองปลิว ม.ธรรมศาสตร์
  • 181. วิจักขณ์ พานิช
  • 182. วิเชียร อินทะสี ม.นเรศวร
  • 183. วิทยา อาภรณ์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์
  • 184. วินัย ผลเจริญ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม
  • 185. วิริยะ สว่างโชติ
  • 186. วิภา ดาวมณี อดีตอาจารย์ วิทยาลัยนวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์
  • 187. วิภาวี พงษ์ปิ่น คณะสังคมวิทยาและสังคมวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
  • 188. วิมลสิริ เหมทานนท์ วิทยาลัยนานาชาติ ม.มหิดล
  • 189. วิโรจน์ อาลี คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 190. วิลลา วิลัยทอง คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • 191. วิศิษย์ ปิ่นทองวิชัยกุล คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏจันทรเกษม
  • 192. วิศรุต พึ่งสุนทร ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 193. วีรบูรณ์ วิสารทสกุล ม.ธรรมศาสตร์
  • 194. เวลา กัลหโสภา บริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงใหม่
  • 195. วรรณภา ลีระศิริ คณะรัฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่
  • 196. วรรณวิภางคฺ์ มานะโชติพงษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 197. วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่
  • 198. วรยุทธ ศรีวรกุล
  • 199. เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ วิทยาลัยนวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์
  • 200. เวียงรัฐ เนติโพธิ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ
  • 201. ศักรินทร์ ณ น่าน
  • 202. ศาสวัต บุญศรี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ศิลปากร
  • 203. ศรีประภา เพชรมีศรี สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล
  • 204. ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ ภาควิชาสื่อ ศิลปะ และการออกแบบ คณะวิจิตศิลป์ ม.เชียงใหม่
  • 205. ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
  • 206. ศศิธร จันทโรทัย ม.นเรศวร
  • 207. ศศิประภา จันทะวงศ์ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม
  • 209. ศุทธิกานต์ มีจั่น วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม
  • 210. ศุภวิทย์ ถาวรบุตร ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 211. โศภิต ชีวะพานิชย์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม
  • 212. สักรินทร์ แซ่ภู่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ ม.มหาสารคาม
  • 213. สันติชัย ปรีชาบุญฤทธิ์ คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
  • 214. เสนาะ เจริญพร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  • 215. สามชาย ศรีสันต์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 216. สายชล สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่
  • 217. สายัณห์ แดงกลม คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร
  • 218. สิริจิต สุนันต๊ะ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม. มหิดล
  • 219. สิเรมอร อัศวพรหมธาดา รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 220. สถิตย์ ลีลาถาวรชัย ภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ ม.นเรศวร
  • 221. สิทธารถ ศรีโคตร ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
  • 222. สุชาติ เศรษฐมาลินี สาขาวิชาสันติศึกษา ม.พายัพ
  • 223. สุธาทิพย์ โมราลาย
  • 224. สุภัทรา น.วรรณพิณ อดีตอาจารย์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
  • 225. สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณะนิติศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
  • 226. สุธิดา วิมุตติโกศล คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 227. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
  • 228. สุปรียา หวังพัชรพล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
  • 229. สุรพศ ทวีศักดิ์ ม.ราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาหัวหิน
  • 230. สุรางค์รัตน์ จำเนียรพล สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ
  • 231. สุรินทร์ อ้นพรม คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
  • 232. สุรัช คมพจน์ หลักสูตรรัฐศาสตร์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์
  • 233. สุไรนี สายนุ้ย คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  • 234. สุวนันทน์ อินมณี ม.นเรศวร
  • 235. สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
  • 236. สร้อยมาศ รุ่งมณี ม.ธรรมศาสตร์
  • 237. สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระ
  • 238. โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
  • 239. เสนาะ เจริญพร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  • 240. เสาวณิต จุลวงศ์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 241. เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
  • 242. อนุสรณ์ ชัยอักษรเวช สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  • 243. อนุสรณ์ ติปยานนท์ ม.เชียงใหม่
  • 244. อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
  • 245. อมต จันทรังษี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
  • 246. อรุณี สัณฐิติวณิชย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  • 247. อสมา มังกรชัย คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  • 248. อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 249. อภิญญา เวชยชัย คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 250. อภัยชนม์ สัจจะพัฒนกุล สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม
  • 251. อภิราดี จันทร์แสง ม.มหาสารคาม
  • 252. อรัญญา ศิริผล ม.เชียงใหม่
  • 253. อลิสา หะสาเมาะ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  • 254. อาจิณ โจนาธาน อาจิณกิจ มนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฎราชนครินทร์
  • 255. อาทิตย์ ทองอินทร์ ม.รังสิต
  • 256. อาทิตย์ พงษ์พานิช ม.นเรศวร
  • 257. อาทิตย์ ศรีจันทร์
  • 258. อานันท์ กาญจนพันธุ์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่
  • 259. อิทธิพล จึงวัฒนาวงค์ คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
  • 260. อิสระ ชูศรี สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล
  • 261. อิสราภรณ์ พิศสะอาด ม.เชียงใหม่
  • 262. อุณาโลม จันทร์รุ่งมณีกุล ม.สุโขทัยธรรมาธิราช
  • 263. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
  • 264. เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์ ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
  • 265. เอกรินทร์ ต่วนศิริ รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  • 266. เอกสุดา สิงห์ลำพอง คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร
  • 267. เอกฤทัย ฉัตรชัยเดช มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์
  • 268. อุเชนทร์ เชียงเสน หลักสูตรรัฐศาสตร์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์
  • 269. อุบลวรรณ มูลกัณฑา คณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ
  • 270. อัครพงษ์ ค่ำคูณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 271. อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ ม.นเรศวร
  • 272. อรภัคค รัฐผาไท อดีตอาจารย์คณะมนุษย์ศาสตร์ ม.เชียงใหม่
  • 273. อรอนงค์ ทิพย์พิมล ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • 274. อัจฉราวรรณ บุรีภักดี สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม ม.เทคโนโลยีสุรนารี
  • 275. อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ ม.นเรศวร
  • 276. อันธิฌา แสงชัย ภาควิชาปรัชญาและศาสนา ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  • 277. อัมพร หมาดเด็น สำนักวิชาศิลปศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์
  • 278. อรรถจักร สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่
  • 279. อรรถพล อนันตวรสกุล ครุศาสตร์ จุฬาฯ
  • 280. อนรรฆ สมพงษ์ ครุศาสตร์ ม.ราชภัฏสกลนคร
  • 281. Philip Hirsch, Department of Human Geography, U. of Sydney

สนง.ข้าหลวงใหญ่สิทธิฯ ยูเอ็น เรียกร้องรัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดีนักศึกษา


Tue, 2015-06-30 13:44


30 มิ.ย. 2558 สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) เรียกร้องรัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดีนักศึกษาที่ถูกจับกุมจากการชุมนุมโดยสงบ และปล่อยตัวพวกเขาจากสถานที่ควบคุมโดยทันที พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนการใช้กฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมให้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

"ประเทศไทยในฐานะที่เป็นภาคีสมาชิกของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง มีพันธกรณีที่จะต้องรับรองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก (ข้อ 19) และสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ (ข้อ 21) แม้ว่าสิทธิทั้งสองตามกติการะหว่างประเทศนี้จะสามารถถูกจำกัดได้ แต่การจำกัดสิทธิดังกล่าวต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และคำนึงถึงความจำเป็นว่าเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ที่มีความชอบธรรมหรือไม่ และได้สัดส่วนกับความจำเป็นหรือไม่ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ มีความกังวลว่าการดำเนินคดีอาญาที่มีระวางโทษจำคุกยาวนานต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการแสดงออกถือว่าไม่มีความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วน" แถลงการณ์ระบุ
 

วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ศูนย์ทนายสิทธิฯ แถลงกรณีจับกุม 14 ขบวนการ ปชต.ใหม่


ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแถลงข่าวกรณีจับกุม 14 น.ศ.ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ชี้ จนท.เร่งรัดจับกุม-สอบสวน เผยพิรุธตรวจยึดรถยนต์-มือถือ ส่วน น.ศ.กำลังใจยังดี ฝาก 4 ข้อความผ่านสื่อมวลชน
28 มิ.ย.2558 เวลา 17.00 น.ที่ห้องประชุมจารุพงษ์ ทองสินธุ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดแถลงข่าวกรณีการจับกุม 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และการที่เจ้าหน้าที่ตรวจค้นและยึดรถยนต์ของทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนที่จอดอยู่ในบริเวณพื้นที่ศาลทหาร
กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า จากการเข้าเยี่ยม 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ขณะนี้นักศึกษาทั้ง 14 คนยังมีกำลังใจดี และยังตั้งใจที่จะต่อสู้เพื่อเสรีภาพ และประชาธิปไตยต่อไปตามที่ตั้งใจเอาไว้ โดยกลุ่มนักศึกษาฝากข้อความผ่านทางสื่อมวลชนว่า
1. ยืนยันว่าทั้ง 14 คน เป็นนักโทษการเมือง เนื่องจากถูกตั้งข้อหาอันเนื่องจากความผิดทางการเมือง
2. ฝากถึงญาติพี่น้องว่า ทั้ง 14 คนยังไม่มีความคิดเรื่องการขอปล่อยตัวชั่วคราว หรือขอประกันตัว มีเงื่อนไขประการเดียว คือ หากคนใดเกิดเจ็บป่วยไม่สบายขั้นรุนแรง จึงจะขอประกันตัวเพื่อออกมารับการรักษาพยาบาล เมื่อหายเป็นปรกติก็จะกลับเข้ามาอยู่กับกลุ่มเพื่อนในเรือนจำ
3. ทั้ง 14 คนไม่ยอมรับอำนาจของศาลทหาร และยืนยันว่าพวกเขาต้องได้รับการดำเนินคดีในศาลพลเรือนเท่านั้น
4. เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาทั้ง 14 คน รวมถึงนักโทษการเมืองคนอื่นๆ โดยไม่มีเงื่อนไข
กฤษฎางค์ กล่าวว่า เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (27 มิ.ย.) พนักงานสอบสวนพยายามทำการสอบสวนนักศึกษาโดยไม่มีการติดต่อทนาย นักศึกษาทั้งหมดจึงปฏิเสธที่จะให้มีการสอบสวนโดยที่ไม่มีทนายอยู่ด้วย พ.ต.ท.มานิตย์ ทองขาว พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ สน.สำราญราษฎร์ ยืนยันว่าจะทำการสอบสวนนักศึกษาในพรุ่งนี้ (29 มิ.ย.) โดยจะจัดหาทนายจากสภาทนายความมาให้ แต่นักศึกษาปฏิเสธ โดยยืนยันว่าจะใช้ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนเท่านั้น
กฤษฎางค์ กล่าวว่าโดยหลักแล้ว ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับคำปรึกษาจากทนาย เพื่อป้องกันการเสียเปรียบเจ้าหน้าที่ และต้องเป็นทนายความตามที่ผู้ต้องหาระบุเท่านั้น โดยทางศูนย์ทนายฯ ได้ทำหนังสือไปยังสภาทนายความแจ้งถึงความต้องการของนักศึกษาที่ต้องการใช้ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน
ทางด้าน เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าพยายามทำการตรวจค้นรถยนต์ ซึ่งเป็นของหนึ่งในทีมทนายความของศูนย์ทนายว่า ในระหว่าง 00.30 น.-03.00 น.ของวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ภายหลังที่ศาลทหารอนุมัติฝากขัง 14 นักศึกษาแล้ว มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจกว่า 10 คน เข้าล้อมรถยนต์ส่วนบุคคลของทนายจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยแจ้งว่าจะทำการยึดโทรศัพท์มือถือของนักศึกษาที่อยู่ภายในรถ โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าเห็นว่ามีการนำโทรศัพท์ของนักศึกษาไปเก็บไว้ในรถยนต์คันดังกล่าว
เยาวลักษณ์กล่าวว่า การยึดโทรศัพท์มือถือของนักศึกษาต้องกระทำต่อหน้าผู้ต้องหา ไม่ใช่ยึดเอาจากทนายซึ่งได้สิทธิในการเป็นเจ้าของอยู่ในขณะนั้น และในหมายจับกุมตัวของเจ้าหน้าที่ไม่มีการระบุถึงการยึดทรัพย์สิน ทนายจึงไม่สามารถให้เจ้าหน้าทำการตรวจค้นรถและยึดโทรศัพท์ได้ เจ้าหน้าที่จึงทำการล็อคล้อและสั่งห้ามเคลื่อนย้ายรถยนต์ออกจากบริเวณศาลทหาร รวมเป็นเวลากว่า 15 ชั่วโมง
ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า มีความชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่คุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของทนาย ทำการกักและตรวจค้นรถโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการกักขังหน่วงเหนี่ยว ละเมิด ข่มขืนจิตใจ โดยทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้แจ้งดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ สน.ชนะสงครามแล้ว

เยาวลักษณ์กล่าวถึงกรณีการตรวจค้นรถต่อไปว่า หลังจากได้หมายศาล เจ้าหน้าทำการตรวจค้นรถยนต์และยึดเอาโทรศัพท์มือถือจำนวน 5 เครื่อง ในขณะที่แถลงข่าวอยู่นี้ ยังไม่มีการตรวจค้นข้อมูลการใช้โทรศัพท์ โดยเจ้าหน้าที่จะทำการเปิดเครื่องโทรศัพท์ในวันจันทร์ที่ 29 มิ.ย.นี้
ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งข้อสังเกตถึงการจับกุมตัว 14 นักศึกษาในครั้งนี้ด้วยว่า เป็นการกระทำที่เร่งรัด มีการทำบันทึกการจับกุมโดยที่ไม่มีการสอบปากคำและการพิมพ์ลายนิ้วมือ เพื่อรีบเร่งจะส่งไปยังศาลทหาร ซึ่งเปิดการไต่สวนช่วงดึกในเวลา 23.00 น.
สำหรับกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับผู้กำกับการ ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน นำโทรศัพท์มือถือทั้ง 5 เครื่องขึ้นรถออกไปนานกว่า 10 นาที ก่อนจะนำกลับมาที่ศาลทหารนั้น ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า มีความผิดปรกติและเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยการกระทำของเจ้าหน้าที่ในการค้นและยึดทรัพย์ครั้งนี้ เป็นการกระทำโดยมิชอบ เนื่องจากไม่มีหมายค้นจากศาลอาญา และถือว่าเป็นการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และเป็นการข่มขู่ทนายให้เกิดความหวาดกลัว
กฤษฎางค์ กล่าวในตอนท้ายว่า กระบวนการยุติธรรมจะมีความหมาย ก็ต่อเมื่อมีการปฏิบัติตามกฎหมายโดยชัดแจ้ง ขณะนี้นักศึกษาทั้ง 14 คน ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าการดำเนินคดีจะถึงที่สุด ส่วนพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบนั้น ไม่สามารถนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานได้ และการค้นรถโดยไม่มีหมายศาลถือเป็นความผิดโดยชัดแจ้ง