วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558

‘จิตรา-เคท-ปิยฤดี’ ถก "ความอยุติธรรมสีขาว" เมื่อความไม่เป็นธรรมถูกทำให้เป็นเรื่องจำเป็น


25 มีนาคม 2558 เวลา 13:30 น. ณ ห้อง 803 ชั้น 8 อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วิทยาลัยสหาวิทยาการ โครงการ PPE แบ-กบาล ครั้งที่ 5 จัดงานเสวนาเรื่อง “ความอยุติธรรมสีขาว” เมื่อความไม่เป็นธรรมถูกทำให้เป็นเรื่องจำเป็น ว่าด้วยเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ความเป็นเพศ และความเป็นธรรม 3 แบบ โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย ดร.ปิยฤดี ไชยพร อาจารย์พิเศษ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จิตรา คชเดช นักกิจกรรมทางสังคมนักสหภาพแรงงาน และเคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์สาขาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
จิตรา ชี้ สิทธิเสรีภาพไม่ได้มีผู้หยิบยื่นให้ แต่เกิดจากการต่อสู่
เริ่มจาก จิตรา กล่าวถึง กลุ่มตัวอย่างคือผู้ใช้แรงงานในโรงงาน สิทธิเสรีภาพที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงานงานไม่ได้เกิดขึ้นโดยมีผู้มาหยิบยื่นให้ ต้องต่อสู้กับอะไรหลายอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพ หากถามว่าปัจจุบันนี้มีสิทธิเสรีภาพเต็มที่หรือไม่ ตอบได้ว่ายังไม่มี แต่หากเปรียบเทียบกับในอดีตที่ผ่านมาก็ถือว่ามีเพิ่มขึ้นมาบ้าง ผู้ใช้แรงงานต้องต่อสู้กับสิ่งหนึ่งคือวัฒนธรรม โดยความเชื่อที่ว่านายจ้างคือผู้มีพระคุณ ต้องต่อสู้กับรัฐที่บอกว่าต้องรักษานายจ้างไว้เพื่อให้มีการจ้างงาน ต้องต่อสู้กับเพื่อนร่วมงานที่บอกว่ามีงานทำก็ดีแล้ว อยู่กันอย่างนี้ดีกว่า และต้องต่อสู้กับตัวเองด้วยว่าถ้าเราอยากมีชีวิตที่ดีขึ้นเราจะต้องทำอย่างไร เพราะผู้คนรอบข้างนั้นไม่เห็นด้วย ในขณะเดียวกันก็ต้องต่อสู้กับชุมชน ชุมชนคิดว่าการที่มีโรงงานในชุมชนเป็นเรื่องที่ดี เพราะเขาคิดว่าการมีโรงงานในชุมชนจะทำให้มีงานทำ จะทำให้ชุมชนมีการพัฒนา
วัฒนธรรมที่ถูกปลูกฝังมาอย่างต่อเนื่องคือนายจ้างเป็นผู้มีพระคุณ ตนเองมีรากฐานมาจากเป็นคนในภาคกลางที่ที่บ้านทำนา แม่บอกว่าอยู่บ้าน ภาคกลางน้ำชอบท่วม เวลาหน้าน้ำ น้ำจะท่วมข้าว ทำให้เราทำนาไม่ได้ ก็ไม่มีเงิน แต่หากไปทำงานในโรงงาน ฝนตก แดดออก ก็ยังสามารถทำงานได้และยังได้เงิน เพราะฉะนั้นแม่จึงสอนว่าหากเกิดมาทำงานในโรงงานสิ่งที่สำคัญก็คือต้องเคารพนายจ้าง ซื่อสัตย์ ไม่ลักขโมย เพราะเขาเป็นผู้มีพระคุณ การสอนเหลล่านี้ทำให้ไม่กล้าที่จะรวมตัวต่อรอง เพราะว่านายจ้างคือผู้มีพระคุณ จะไปเป็นหุ้นส่วนไม่ได้ ในขณะเดียวกันนายจ้างก็มีฐานความคิดเช่นนี้เหมือนกัน เพราะเขาเห็นเราเป็นลูกจ้าง เขากดขี่เรา
จิตรา คชเดช
จิตรากล่าวต่อว่า รากฐานสำคัญที่ทำให้เกิดความเข้าใจแบบนั้น เกิดจากการโฆษณาชวนเชื่อว่าการเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมจะนำไปสู่สิ่งที่ดี โฆษณาว่าหากพื้นที่แถบเรามีโรงงาน มีอุตสาหกรรม คนจะมีงานทำ คนมีงานทำจะทำให้เศรษฐกิจรอบข้างดีขึ้น โดยไม่บอกถึงผลเสียที่จะตามมา ไม่บอกว่าหากมีโรงงานแล้วจะมีน้ำเสีย มีโรงงานแล้วจะมีอากาศที่เป็นมลพิษ มีโรงงานแล้วคนจะถูกกดขี่จากการทำงานและทำให้ให้นายจ้างรวยขึ้น ไม่มีการโฆษณาด้านผลแบบนี้ เวลามีนายจ้างต่างประเทศอยากมาลงทุนในประเทศไทย สิ่งที่รัฐไปโฆษณากับนายจ้างคือบอกว่า เรามีแรงงานราคาถูก มีที่ดินราคาถูก จะไม่ให้เสียภาษี
ปัญหาต่างๆแท้จริงแล้วก็เหมือนกับการพูดซ้ำซาก ตนพูดมาอย่างยาวนานแล้วว่า ปัญหาที่มันเกิดขึ้นกับคนงาน คนจนเมือง ชาวไร่ชาวนา เกิดอะไรขึ้นบ้าง คิดว่าทุกเวทีถ้าพูดเรื่องสะท้อนปัญหาทุกคนจะรู้หมดว่ามันเกิดปัญหาอะไร ชาวนาเกิดปัญหาอะไร เป็นหนี้ธกส. ปัญหาพ่อค้าคนกลาง ชุมชนเมืองคือคนที่อพยพเข้ามาแล้วไม่มีที่อยู่อาศัยก็ต้องอยู่ในชุมชนที่แออัด งบประมาณในการพัฒนาชุมชนเมืองไม่มี ปัญหาโรงเรียนเด็กไม่ได้เรียน ปัญหาคนงานค่าจ้างไม่พอกับค่าครองชีพ ไม่มีสิทธิการรวมตัว ความปลอดภัยในการทำงานไม่มี ความมั่นคงในการทำงานไม่มี ปัญหาเหล่านี้คิดว่าทุกคนทราบอยู่แล้ว เราพูดกันแบบซ้ำซากมากและพูดกันมาตลอดแต่ไม่เคยได้รับการเหลียวแลหรือเข้ามาแก้ปัญหา ตนทำงานเคลื่อนไหวมา 20 ปี พูดเรื่องปัญหาเหล่านี้มากับรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย จนมาถึงกระทั่งรัฐบาลชุดปัจจุบัน ปัญหาเหล่านี้ก็ยังไม่หมดไป

ความยุติธรรมในสังคมก็คือประชาชนต้องมีส่วนร่วมในทุกมิติ
จิตรา กล่าวถึงทางออกของปัญหาเหล่านี้ว่า ทางออกของปัญหาในขบวนการแรงงานนั้นไม่มี แต่อาจจะได้สิทธิการรวมตัวตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ ปี 2518 สังเกตว่ากฎหมายที่จะมีสิทธิเสรีภาพต้องเกิดจากยุคสมัยด้วย หากเกิดในช่วงรัฐประหาร เกิดในช่วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เกิดในช่วงสถานะการทางการเมืองต่างๆ ตัวกฎหมายจะเป็นตัวชี้ว่าช่วงนั้นสถานการจะเป็นอย่างไร กฎหมายแรงงานที่ออกมาในช่วงปี 2518 ถือว่าเป็นช่วงที่ดีและสังคมไทยตอนนั้นเรียกว่าประชาธิปไตยเบิกบาน ก็มีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ออกมา แต่ตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา กฎหมายยังไม่เคยมีการเปลี่ยนเรื่องสิทธิการรวมตัว สิทธิการรวมตัวตอนนั้นของกฎหมาย พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ ปี 2518 เขียนไว้ชัดเจนในข้อกฎหมายว่า การที่มีสิทธิ์หยุดงานได้ ในภาวะที่ประกาศกฎอัยการศึก คนงานไม่มีสิทธิ์ และคนงานสามารถเข้าสู่กระบวนการทางศาล ซึ่งเป็นศาลแรงงาน ศาลแรงงานจะให้สิทธิ์ในเรื่องของมีผู้พิพากษาสมทบ ฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และก็รัฐ แต่ยังมีเงื่อนไขอื่นๆอีกมากมายที่ทำให้ลูกจ้างไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้อย่างแท้จริง เพราะว่ามีเงื่อนไขในเรื่องของการไกล่เกลี่ย การไกล่เกลี่ยคือหากเราทำงานกับนายจ้างนี้ไม่ได้ก็ให้รับเงินชดเชยแล้วออกจากงาน นี่คือสิ่งที่ทำลายสิทธิการรวมตัวได้
ทางออกอีกทางหนึ่งคือโครงสร้างที่เป็นธรรมในสังคม จะต้องมีในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมจะต้องแก้ไขอย่างไรบ้าง กระบวนการยุติธรรมโดยหลักแล้วเรื่องสิทธิการประกันตัวก็สำคัญมาก ยกตัวอย่างของคนงาน การประกันตัวคนงานที่มีปัญหาขัดแย้งกับนายจ้างเช่น คนงานชุมนุมหน้าโรงงานแล้วนายจ้างนั้นแจ้งจับข้อหาบุกรุก ก็จะต้องมีเงินประกันตัวหนึ่งแสนบาท ลองคิดดุว่าคนงานทำงาน 1 ปี ยังไม่ได้เงินหนึ่งแสนบาทเลย เขาจะเอาเงินที่ไหนไปประกันตัว แต่ในขณะเดียวกันหากเราพูดถึงเงินหนึ่งแสนบาทกับคนที่มีฐานะที่ดีกว่าถือว่าเป็นเงินเล็กน้อยมาก ตัวลูกจ้างไปศาลหนึ่งวันเท่ากับขาดรายได้ แต่นายจ้างเขาสามารถมีตัวแทนหรือทนายไปศาลแทนได้ เรื่องการต่อสู้เมื่อใช้ระยะเวลายาวนานลูกจ้างจะสู้ต่อไม่ได้ก็ต้องยอมยุติกระบวนการในการไกล่เกลี่ยให้จบไป เฉะนั้นเรื่องสิทธิประกันตัว เรื่องของกระบวนการยุติธรรม การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง จะต้องมีการแก้ไข
เรื่องการตรวจสอบ การตรวจสอบในโครงสร้างของสังคม การตรวจสอบรัฐ การตรวจสอบผู้ใช้ภาษี ก็เป็นสิ่งสำคัญ หากเราสามารถทำได้ เราก็จะมีการพัฒนาเป็นประเทศที่ดีได้ การปฏิรูปการศึกษา การเรียนฟรี การเข้าถึงสุขอนามัย เรื่องสิทธิเนื้อตัวร่างกาย เรื่องสิทธิการทำแท้งของผู้หญิง และสิทธิ์ของประชาชน การเกิดสิทธิ์ของประชาชน กฎหมายต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นมามาลอยๆ หรือว่ามีผู้เห็นใจและบอกว่าเอาสิทธินี้ไป กฎหมายทุกอย่างเกิดมาจากแรงกดดันของประชาชนเช่น กฎหมายประกันสังคม กว่าจะออกมาได้เกิดการต่อสู้เรียกร้องมากมายของผู้ใช้แรงงาน แต่ก็มีกฎหมายบางอย่างที่ประชาชนนั้นไม่ต้องการออกมาเช่น พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.บ.ฉุกเฉิน  เหล่านี้ก็ออกมาได้โดยง่าย แต่กฎหมายที่จะให้ออกมาเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนก็ไม่ได้ผ่านออกมาง่ายๆ ต้องเกิดการต่อสู้เรียกร้องกัน
“สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้มีความยุติธรรมในสังคมก็คือประชาชนต้องมีส่วนร่วมในทุกมิติ ถ้าประชาชนไม่มีส่วนร่วมเลย ก็ไม่สามารถที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมที่ดีได้ คือถ้าจะต้องให้ใครคนใดคนหนึ่งมากำหนดกรอบให้ประชาชนอยู่ในกรอบนั้น มันก็ไม่สามารถที่จะนำไปสู่การที่จะทำให้คุณภาพชีวิตที่ดี แล้วข้อขัดแย้งหรือความขัดแย้งในสังคมมันก็ไม่ได้หมดไปเพราะประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม” จิตรากล่าว
เคท ครั้งพิบูลย์
เพศ ถูกทำให้มาพร้อมกับความผิดบาป ความสกปรก
เคท กล่าวถึงประเด็นความเป็นธรรมเกี่ยวข้องอย่างไรในเรื่องของเพศว่า เมื่อใดก็ตามที่สังคมไทยพุดถึงเรื่องเพศ เราจะนึกถึงความผิดบาป นึกถึงความสกปรก ไม่ควรพูดในที่สาธารณะ ทั้งที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันเพื่อทำความเข้าใจ สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้อิทธิพลความคิดในเรื่องเพศเกิดขึ้นมา ตนเชื่อว่าเพราะวัฒนธรรมความเป็นเพศถูกผุกขาดมาตั้งแต่ผู้ที่เป็นพ่อแม่ในสังคมระดับครอบครัว และถูกส่งผ่านมาในระดับโรงเรียน สิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องเพศถูกสื่อความในทางที่แย่นั้นมีผลมาจากรัฐ เมื่อพูดถึงวิถีคิดเรื่องเพศของรัฐไทยพบว่านโยบายและกฎหมายต่างๆของรัฐไทย หรือเพศวิถีที่กำลังเปลี่ยนไป มักจะยกในเรื่องของศีลธรรมเข้ามาตัดสิน โดยเชื่อว่ากลุ่มเด็กและเยาวชนหากไม่พูดถึงเรื่องศีลธรรมไว้ก่อน จะทำให้เด็กและเยาวชนเสื่อมลงเพราะพูดเรื่องเพศมากเกินไป ดังนั้นจึงไม่มีการเปิดพื้นที่ให้พูดเรื่องเพศ เมื่อใดก็ตามที่พูดขึ้นมาก็จะถูกตักเตือนว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของรัฐไทยที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ มีการใช้วัฒนธรรม อำนาจ ที่เรียกได้ว่าเป็นกลไกในการควบคุมจารีตประเพณีหรือว่าชุดความคิดต่างๆ ถูกส่งผ่านวาทกรรมหลากหลายช่องทางเพื่อที่จะควบคุมเรื่องเพศ ในรัฐสมัยใหม่ที่พยายามมุ่งเรื่องของอำนาจเข้ามาสู่ศูนย์กลางอีกครั้งหนึ่ง การบริหารอำนาจแบบศูนย์รวมอำนาจไว้ศูนย์กลางมีผลทำให้วิธีคิดของเพศกับรัฐถูกรวบรวม ถูกคิด ถูกออกแบบจากมาตรฐานเดียวกันจากส่วนกลาง สิ่งที่เกิดขึ้นคือการออกแบบเรื่องเศรษฐกิจ การศึกษา มันจะถูกส่งมาจากส่วนกลางเท่านั้น ที่สำคัญที่สุดคือนอกจากสร้างมาตรฐานหรือเกณฑ์ของเศรษฐกิจและการศึกษามาจากรัฐส่วนกลาง รัฐพยายามทำในเรื่องของเพศไปด้วย ทั้งนี้รัฐไทยนำวิธีคิดเรื่องชนชั้นมาจัดการเรื่องเพศ เมื่อใดก็ตามที่พูดถึงเรื่องเพศ สิ่งนี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าความเท่าเทียมทางเพศแท้ที่จริงแล้วมีเรื่องชนชั้นเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมไปถึงความมีอัตลักษณ์ทางเพศ และเรื่องต่างๆ จะมีเรื่องชนชั้นเข้ามาเป็นส่วนตััดในทุกๆเรื่อง ในประวัติศาสตร์เรื่องเพศของผู้หญิงและผู้ชายมักจะอยู่ในชนชั้นสูง ใครก็ตามที่อยู่ใกล้แหล่งอำนาจมักจะถูกควบคุมเรื่องเพศอย่างมากที่สุด เมื่ออยู่ใกล้แหล่งอำนาจมากที่สุดมันก็ถูกแพร่กระจายสู่ชนชั้นต่างๆ รับเอาวัฒนธรรมทางเพศแบบนั้นมา ซึ่งไม่น่าเชื่อว่านอกจากรูปแบบการใช้ชีวิต การพัฒนาตัวเอง การผลักดันตัวเองเพื่อให้ออกจากชนชั้นหนึ่งสู่อีกชนชั้นหนึ่ง เรื่องเพศก็เป็นเช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่าหนังสือสุขศึกษาที่พูดเรื่องเพศอยู่ในปัจจุบันนี้ก็ยังพูดถึงเรื่องเพศบนฐานความคิดที่เชื่อว่าเพศไม่มีทางเท่าเทียม เรื่องเพศในสังคมไทยถูกกดขี่เอาไว้จากการเรียนรู้ทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ แบบทางการคือการกระทำผ่านในโรงเรียน สถานศึกษา ส่วนไม่เป็นทางการคือไม่มีสิทธิ์พูดเรื่องเพศในพื้นที่สาธารณะ
การจะเข้าใจแก่นแท้ของอำนาจที่รัฐเข้ามาจัดการควบคุมเรื่องเพศ พร้อมทั้งยังสร้างกฎกติกาให้ทำตาม หากทำตามจะได้รับรางวัล หากไม่ทำตามก็จะถูกลงโทษ ในกรณีเบื้องต้นอยากนำเสนอให้เห็นว่าที่มาของการกดขี่เรื่องเพศในเมืองไทย มีที่มาจากเรื่องของชนชั้นทางสังคมและการกระทำของรัฐเป็นหลัก
สังคมไทยแบ่งกล่องทางเพศไว้อย่างชัดเจน
ส่วนของความหลากหลายทางเพศ เพศภาวะ และเพศวิถี ในสังคมไทยยังให้ค่า ให้ราคา กับการพูดเรื่องนี้ต่ำมาก เรื่องของเพศสภาพ เพศวิถี ในบ้านเราถูกพูดมาอย่างยาวนานและต่อสู้เริ่มต้นมาจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้หญิง ต่อมาสถานการณ์ทางสังคมได้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพบปัญหาว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศในบ้านเราก็ยังเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่าเป็นปัญหาและการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสังคม ในส่วนนี้เองที่เป็นปัญหาว่าทำไมจึงต้องมาพูดกันถึงเรื่องนี้ ข้อจำกัดและสภาพปัญหาของความหลากหลายทางเพศที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศที่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในกรอบของสังคมที่วางไว้ จะเห็นว่าสังคมไทยแบ่งกล่องทางเพศไว้อย่างชัดเจนก็คือ กล่องความเป็นชาย กล่องความเป็นหญิง และเมื่อใดก็ตามที่ใครคนหนึ่งก้าวออกมาจากกรอบที่สังคมวางไว้ มักจะได้รับการตั้งคำถามแล้วไม่ได้รับความสนใจจากสังคม
เคทเล่าต่อว่า ในประเด็นของผู้ที่เป็นสาวประเภทสองมันมีอัตลักษณ์ทางเพศที่ชัดเจน และแสดงออกให้เห็นว่ามีการข้ามกรอบทางเพศมาอย่างชัดเจน ผู้ข้ามเพศในสังคมไทยยังประสบปัญหาเรื่องสิทธิการระบุตัวตนเช่น คำนำหน้านาม สิ่งนี้ผู้ข้ามเพศยังไม่ได้รับการรับรองจากรัฐ ต่อมาคือเรื่องของการแต่งกาย ที่ถูกควบคุมมาตั้งแต่การเป็นนักเรียน ในเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา รวมไปถึงการรับปริญญาและการฝึกงาน ส่วนนี้จะเห็นได้ว่ามีการแบ่งเพศอย่างชัดเจนในเครื่องแบบ ดังนั้นมันจึงย้อนรอยไปว่าสิ่งที่เราปลูกฝังในเรื่องความเป็นเพศ มันถูกปลูกฝังอย่างใกล้ชิด ไม่ละมือที่จะทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้เป็นไปตามที่รัฐต้องการ
สิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อพูดถึงความยุติธรรมในส่วนของสาวประเภทสองในบ้านเราก็คือเรื่องการรับราชการทหาร ที่ผ่านมามีกรณีการฟ้องร้องปี 2549 ในเรื่องของการถูกระบุในใบ สด.43 ว่าผู้ที่เป็นสาวประเภทสองจะได้รับการระบุในใบ สด.43 ว่าเป็นโรคจิตวิตถาร โรคจิตถาวร ซึ่งในบางคนต้องใช้ใบนี้ในการสมัครงานว่าผ่านการเกณ์ทหารแล้ว แต่เมื่อในใบถูกระบุแบบนั้นถามว่าใครจะรับเข้าทำงาน เกณฑ์อะไรที่นำมาตัดสินว่าผู้ที่เป็นสาวประเภทสองเป็นโรคจิต ต่อมาปี 2555 ศาลปกครองได้ตัดสินว่าสิ่งที่กระทรวงกลาโหมเขียนไปต้องเปลี่ยนระเบียบกระทรวง และต้องแก้ไขใหม่ว่าเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด หลังจากนั้นมาสาวประเพศสองที่เข้ารับการเกณฑ์ทหารจะได้รับการปฏิบัติเป็นอย่างดีเปรียบเสมือนดั่งผู้หญิงคนหนึ่ง
ต่อมาเรื่องของสิทธิการรับบริการสาธารณะ จะเห็นว่ามีปัญหาในส่วนของบริการสาธารณะหลายอย่างเช่น การไปโรงพยาบาล (ให้รวมสาวประเพศสองไว้ในห้องพักของผู้ชาย) การไม่รับบริจาคเลือด รวมถึงการห้ามใช้บริการสถานบันเทิงบางแห่ง สิ่งเหล่านี้เป็นสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่ทำให้เห็นว่าการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งอัตลักษณ์ทางเพศและเหตุของความเป็นเพศมันยังมีอยู่จริง การตัดสินใจว่าจะปฏิบัติกับคนอย่างไร ในสังคมไทยนอกเหนือจากการดูสถานะทางสังคมแล้วยังดูเรื่องของเพศอีกด้วย เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าอคติทางเพศยังมีอยู่จริงในสังคมไทย การที่คนที่มีความหลากหลายทางเพศจะลุกขึ้นมาพูดเรื่องของตัวเองอาจไม่ง่ายนัก หากจะขับเคลื่อนกฎหมายเรื่องเพศจะต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ
ปิยฤดี ไชยพร
ความเข้าใจในเรื่องความเป็นธรรม 3 แบบ
ปิยฤดี กล่าวถึงความเป็นธรรมว่า ความเข้าใจในเรื่องความเป็นธรรม หากพูดถึงคำว่าความเป็นธรรมนั้นสามารถพูดถึงได้สามแบบ แบบแรกคือการปฏิบัติอย่างความเป็นธรรม หมายถึงการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน จะใช้ในกรณีเมื่อพูดถึงสิ่งที่เป็นสิทธิ เสรีภาพพื้นฐาน เสรีภาพพื้นฐานของพลเมืองที่คนทุกคนที่เป็นพลเมืองจะต้องได้รับสิ่งนี้เท่ากัน เหมือนกัน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ หากคนหนึ่งได้ทุกคนก็ต้องได้
แบบที่สองคือ การปฏิบัติอย่างไม่เท่ากันแต่ได้รับความเป็นธรรม มีบางกรณีที่คนบางคนได้รับอะไรบางอย่างมากมันชอบธรรมที่คนบางคนจะได้รับในสิ่งเดียวกันนั้นน้อยกว่า มันเอื้อให้สามารถที่จะชอบธรรมได้ ในบริบทของตลาดเสรีหรือตลาดที่เป็นทุนนิยม คนจะมีขีดความสามารถไม่เท่ากัน ฉะนั้นในที่สุดแล้วอาจจะลงเอยด้วยชุดของสิ่งที่เขาถือครองอยู่ เช่น รายได้ ความมั่งคั่ง โอกาส ซึ่งบางคนมีมากน้อยไม่เท่ากัน ในกรณีนี้ความเป็นธรรมสามารถจะมีความหมายว่าคนบางคนจะมีเยอะมากได้ คนบางคนมีน้อยกว่าได้ แต่ในภาพรวมแล้วการที่คนมีเยอะกว่าจะต้องก่อให้เกิดประโยชน์ลงมาสู่คนที่มีน้อยกว่า เมื่ออยู่สูงจะต้องสามารถช่วยดึงคนข้างล่างขึ้นมาข้างบนได้ สังคมจะได้เติบโตไปด้วยกัน สิ่งที่สำคัญคือคนในสังคมต้องทำการตกลงกันว่าจะยอมให้ไม่เท่าได้แค่ไหน และไม่เท่าในเรื่องไหนได้บ้าง
แบบที่สามคือการปฏิบัติพิเศษ หมายถึง สิ่งที่คนบางคนอาจจะไม่ต้องมีมาก บางคนมีมากเป็นพิเศษและต้องการสิ่งนั้นมากกว่าคนอื่น ความเป็นธรรมในแบบที่สามนี้เป็นความหมายที่ต้องใช้ความรอบคอบมาก และต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและสถิติ เวลาใช้ความหมายของความเป็นธรรมในข้อที่สามคือ คนบางคนต้องได้มากกว่าคนอื่น เพราะเขามีความต้องการมากเป็นพิเศษ ตรงนี้ต้องใช้ความรอบคอบ เพราะบางทีถูกเอาไปใช้มั่วในทางที่เอื้อประโยชน์กับคนบางกลุ่มทางการเมือง แทนที่จะใช้เพื่อจุดประสงค์ที่แท้จริงคือเพื่อสร้างความเป็นธรรม ฉะนั้นการให้ประโยชน์พิเศษจึงเป็นดาบสองคม หากจะเรียกร้องความเป็นธรรมจากความหมายนี้ จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากที่สุด

'ปณิธาน' เผยหารือใช้ ม.44 ตั้งแต่ต้นปี ด้าน ปชป.-พท. ระบุหนักกว่าอัยการศึก

"ปณิธาน วัฒนายากร" ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เผยรัฐบาลเตรียมนำ ม.44 มาใช้ตั้งแต่ต้นปี แต่มีเหตุระเบิดก่อน ด้าน ปชป.-พท. ประสานเสียง ม.44 แรงกว่ากฎอัยการศึก สั่งประหารชีวิตได้
 
28 มี.ค. 2558 เว็บไซต์แนวหน้ารายงานว่านายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เปิดเผยถึง แนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการใช้ มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวแทนกฏอัยการศึกว่า คสช. ได้มีการหารือกันตั้งแต่ต้นปี 2558 แต่ปรากฏว่าในเวลาดังกล่าวเกิดเหตุระเบิดซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองขึ้น จึงต้องใช้กฏอัยการศึกไปก่อน อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลเห็นว่าขณะนี้ถึงเวลาที่ต้องเปิดพื้นที่การแสดงออกทางการเมืองมากขึ้นจึงเห็นควรนำมาตรา 44 มาใช้แทนได้ เพราะคิดว่าเป็นแนวทางที่ดีกว่าหลายด้าน
 
"ต้องรอดูว่าเมื่อใช้มาตรา 44 แทนกฏอัยการศึกจะมีการร่างระเบียบหรือออกเป็นประกาศของ คสช.อย่างไรในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเพราะในมาตรา 44 จำเป็นต้องมีระเบียบหรือประกาศเพิ่มเติมเนื่องจากไม่ครอบคลุมเหมือนกฏอัยการศึก ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการใช้มาตรา 44 ให้มีประสิทธิภาพต้องมีความรัดกุม  ผมคิดว่า คสช.คงมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฏหมายเป็นผู้ดูแล" นายปณิธาน กล่าว
 
นายปณิธานกล่าวด้วยว่ายอมรับว่า 2 ปัจจัยหลักมีความสำคัญต่อการตัดสินใจยกเลิกกฏอัยการศึก คือ 1.แรงกดดันจากกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมือง และ  2.แรงกดดันจากต่างชาติ  แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อมีการยกเลิกกฏอัยการศึกแล้ว ต่างชาติจะลดการกดดันไทยหรือไม่ เพราะหากยังมีการกดดันอยู่ก็เท่ากับว่า ต่างชาติ เช่น สหรัฐฯและองค์กรอื่นๆ ต้องการให้รัฐบาลคืนอำนาจแก่ประชาชนสถานเดียว
 
 
ปชป.-พท. ประสานเสียงม.44 แย่กว่ากฎอัยการศึก
 
ด้าน ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่านายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีจะยกเลิกกฎอัยการศึก แล้วใช้มาตรา 44 แทน ว่า กฎอัยการศึกเป็นกฎหมายที่มีมา 101 ปี เป็นของเก่า แต่มาตรา 44 เราไม่ค่อยใช้ แต่มีศักดิ์สูงกว่ากฎอัยการศึก เพราะออกโดยรัฐธรรมนูญ และมาตรา 44 ก็เหมือนมาตรา 17 ที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร เคยใช้มาแล้ว ซึ่งอำนาจเหล่านี้เขาใช้ในเวลาบ้านเมืองไม่ปกติ และอำนาจของมาตรา 44 มีมากกว่ากฎอัยการศึก เพราะสามารถตัดสินจำคุกสั่งประหารชีวิตได้ มีผลเหมือนคำพิพากษาของศาล โดยไม่ต้องขึ้นศาล แต่กฎอัยการศึกตัดสินจำคุกใครไม่ได้ เพียงแต่ควบคุมตัวไว้ชั่วคราวโดยไม่ต้องมีหมายศาล ซึ่งกฎอัยการศึกต่างชาติไม่เข้าใจ และรังเกลียด เมื่อคนไทยผสมโรงเข้าไปด้วยก็ทำให้เกิดปัญหา แต่มาตรา44 ถ้าจะใช้ต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันของ คสช.
       
“ส่วนตัวผมอยากอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกมากกว่ามาตรา 44 และคนไทยส่วนใหญ่ก็รู้สึกว่าไม่ได้รับผลกระทบอะไรกับกฎอัยการศึก แต่รู้สึกปลอดภัยเสียด้วยซ้ำ กฎอัยการศึกทหารเป็นคนใช้ นายกฯไม่มีอำนาจในการใช้ ดังนั้น หากใช้ไม่รอบคอบทหารควรถูกตำหนิ แต่เราไม่ค่อยรู้จึงตำหนินายกฯไว้ก่อน เพราะนายกฯก็เป็นผู้บังคับบัญชาทหารอีกทีหนึ่ง เคยอ่านข่าวไหมครับ ทหารใช้กฎอัยการศึกจับคนเล่นการพนันในงานศพ ผมรับรองว่า นายกฯไม่สั่งให้จับแน่นอน หากจะยกเลิกกฎอัยการศึก ผมจึงคิดว่า ต้องมีกฎ ระเบียบ คำสั่ง ตามมาตรา 44 ออกมารองรับเสียก่อน เพราะยากที่พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพรียวๆ โดยไม่นำมาดัดแปลงเป็นคำสั่งอะไรรองรับเสียก่อน และหากออกคำสั่งมารองรับไม่รอบคอบ และมีผู้ไม่หวังดี ก็อาจแก้สถานการณ์ฉุกเฉินไม่ทัน ก็ยุ่งเหมือนกัน”
       
นายนิพิฎฐ์ กล่าวว่า เมื่อบ้านเมืองปกติแล้วถ้าจะยกเลิกคำสั่งตามมาตรา 44 ต้องออกเป็นพ.ร.บ.ยกเลิกเท่านั้น เพราะมาตรา 44 มีศักดิ์เป็นกฎหมาย หากจะยกเลิกก็ต้องยกเลิกด้วยกฎหมาย ซึ่งขั้นตอนยุ่งยาก ดังนั้นมาตรา 44 จึงมีอำนาจเด็ดขาด รุนแรง กว่ากฎอัยการศึก ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะคนไม่เข้าใจมากกว่า
       
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กฎอัยการศึกมีกรอบที่ชัดเจน แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 44 หากออกมาแล้วใช้เกินขอบเขต ก็จะหนักกว่ากฎอัยการศึก ซึ่งความจริงแล้ว กฎอัยการศึกนั้นคนบริสุทธิ์จะไม่กระทบ จะกระทบเฉพาะคนคิดร้าย เว้นแต่จะออกมาตรา 44 มาเพื่อแทนกฎอัยการศึก และมีเนื้อหานุ่มนวลกว่าก็สามารถทำได้ ทั้งนี้ต้องดูว่ามุมที่จะใช้มาตรา 44 คืออะไร ต้องให้ผู้มีอำนาจแถลงให้ชัดเจนว่าประสงค์จะใช้มาตรา 44 แค่ไหนเพียงใด
       
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มาตรา 44 หากนำมาใช้จะแย่กว่าการใช้กฎอัยการศึก เพราะเป็นกฎหมายที่ไม่ถูกต้องตามหลักนิติธรรมเป็นการให้อำนาจหัวหน้า คสช.ทำการใดๆ ได้ทั้งหมด เหมือนสมัยก่อนที่มีมาตรา 17 มาตรา 21 ที่นำคนไปยิงเป้าโดยคำสั่งของคนคนเดียวไม่ต้องผ่ายอัยการ ผ่านศาลซึ่งมาตรา 44 เป็นบทบัญญัติทำนองเดียวกัน
       
“การนำมาตรา 44 มาใช้ยิ่งกว่ากฎอัยการศึกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะนำมาใช้อย่างไรหากยกเลิกกฎอัยการศึก แต่นำมาตรา 44 มา โดยมีผลอย่างเดียวกับกฎอัยการศึกก็ไม่ได้ช่วยอะไร คุณจะเรียกกฎอัยการศึก หรือกฎของฉันมันก็ค่าเท่ากัน อาจตบตาต่างประเทศได้ช่วงสั้น ๆ ว่า เราไม่ใช้กฎอัยการศึกแล้ว แต่มาตรา 44 จะใช้ไปในทางที่แย่กว่ากฎอัยการศึกเสียอีกผมไม่เห็นด้วยที่ต้องประกาศกฎอัยการศึกในช่วงนี้ และไม่เห็นด้วยที่จะต้องมีการใช้มาตรการตามมาตร 44 ขึ้นมาแทน เพราะไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ หากกฎอัยการศึกมีปัญหาก็ยกเลิก ถ้าเกิดปัญหาอีกก็ประกาศขึ้นมาใช้ใหม่ได้แต่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม”
       
นายพงศ์เทพ กล่าวว่า หากยกเลิกกฎอัยการศึกหรือไม่ใช้มาตรา 44 พรรคเพื่อไทยและมวลชนคนเสื้อแดง จะออกมาเคลื่อนไหวหรือไม่นั้นมองว่า การที่คนจะแสดงความเห็นเป็นเสรีภาพ เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ใช่ว่า คนในประเทศไทยต้องปิดปากเงียบ หากจะให้รัฐบาลแสดงความเห็นอยู่ฝ่ายเดียวก็คงไม่ใช่การแสดงความเห็นในกรอบกฎหมายไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่การปิดกั้นคนแสดงความเห็นในกรอบกฎหมายจะเป็นปัญหามากกว่าแต่หากใครใช้สิทธิเสรีภาพเกินกรอบกฎหมายก็ต้องถูกดำเนินคดีรัฐบาลมีอำนาจดำเนินคดีอยู่แล้ว ส่วนพรรคการเมืองถ้าจะใช้สิทธิอะไรก็ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย
       
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่าการที่นายกฯมีความคิดยกเลิกกฎอัยการศึก มีข้อดีคือเป็นการแสดงความเข้าใจหรือยอมรับผลเสียต่อการใช้กฎอัยการศึก เนื่องจากการใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศมีผลต่อการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชน ส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะการสอบสวน และมีผลต่อภาพลักษณ์ของการยอมรับในต่างประเทศ เนื่องจากมีข้อเสียหลายด้าน แต่ไม่แน่ใจว่าการยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วใช้มาตรา 44 แทนเพื่อแก้ปัญหาทั้งหมดหรือจะแก้ปัญหาเฉพาะภาพพจน์ ถ้าคิดจะแก้แค่ปัญหาภาพพจน์ในการไม่ยอมรับกฎอัยการศึก แต่ยังคงจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน อย่างเดียวกับที่ใช้กฎอัยการศึกก็ไม่มีประโยชน์ เพราะปัญหาเดิมๆยังอยู่
       
ขณะเดียวกัน นอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาภาพพจน์ได้แล้ว จะเพิ่มปัญหามากยิ่งขึ้นด้วย ทำให้ถูกสังคมโลกมองว่าประเทศไทยกำลังใช้ระบบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จยิ่งขึ้นไปอีก เพราะมาตรา 44 เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจคสช. และคณะคสช.ที่มีอำนาจยับยั้ง หรือสั่งการให้กระทำใดๆ ทั้งในทางฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งเท่ากับมีอำนาจเหนือธิปไตย 3 ฝ่ายอย่างเด็ดขาด ซึ่งขัดต่อหลักนิติรัฐ ที่ผู้มีอำนาจจะใช้อำนาจเฉพาะตามที่กฎหมายกำหนด แต่มาตรา 44 กลับกำหนดให้ผู้ที่มีอำนาจใช้อำนาจได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล เป็นระบบที่นานาประเทศจะยิ่งไม่ยอมรับ ขณะนี้ตนนึกไม่ออกว่า จะใช้มาตรา 44 ออกเป็นคำสั่งอย่างไร เพราะถ้าใช้แล้วยังจำกัดสิทธิเสรีภาพ เหมือนกฎอัยการศึกก็ป่วยการ แต่ถ้าเบากว่ากฎอัยการศึกก็ไม่เห็นความจำเป็น เพราะว่ามีพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร. พ.ศ.2551 และพ.ร.ก.พระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ให้ใช้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าที่ผ่านมากฎหมาย 2 ฉบับนี้ใช้ไม่ได้ผล เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายหรือผู้ตีความเลือกปฏิบัติและทำให้กฎหมาย 2 ฉบับนี้เสียไป ทั้งที่ตัวกฎหมายอาจไม่มีปัญหามาก เท่ากับบังคับใช้กฎหมาย
       
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การเขียนคำสั่งของคสช.ขอให้เขียนเนื้อหาให้ชัดเจน ไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น ไม่นำไปใช้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการสอบสวน ต้องคำนึกถึงผลกระทบที่ขบวนการยุติธรรมปกติ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะย้อนกลับไปที่ว่า ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 อยู่ดี เพราะกฎหมายอื่นก็มีอยู่แล้ว แลโอกาสที่จะทำให้เกิดการไม่ยอมรับการใช้มาตรา 44 ก็มีสูงมาก เพราะมาตรา 44 ร้ายแรงยิ่งกว่ากฎอัยการศึก ขัดต่อหลักนิติธรรม นิติรัฐ กลายเป็นการใช้อำนาจของกลุ่มบุคคล หรือคณะบุคคลอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด และไม่รู้ว่าจะออกมาเป็นคำสั่งอย่างไร ซึ่งต้องดูฝีมือเนติบริกร ว่าจะคิดประดิษฐ์วิธีการอย่างไร เพราะอาจจะคิดออกมาแล้วเบามาก จนดูเหมือนว่าไม่มีผลอะไรในทางปฏิบัติก็ได้ คงต้องไปดูว่าการใช้มาตรา 44 มีวัตถุประสงค์อย่างไร มีหลักคิดอย่างไร สำคัญตรงนั้นมากกว่า ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นกลายงูกินหาง

ยิ่งลักษณ์ชี้แจงหลัง พล.อ.ประยุทธ์พาดพิงว่ารัฐบาลก่อนไม่แก้ปัญหาค้ามนุษย์


กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พาดพิงว่ารัฐบาลก่อนไม่แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ "แต่วันนี้รัฐบาลนี้กำลังแก้ทุกอย่าง" ล่าสุด 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' ชี้แจงว่าได้ผลักดันแก้ไขมาตลอด จนไทยไม่ถูกจัดอันดับไปอยู่บัญชี 3 พร้อมแนะว่าจุดเริ่มต้นสำคัญของการแก้ปัญหาคือยอมรับการมีอยู่ของปัญหา เพื่อที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่ท้าทายระดับนานาชาติต่อไป
28 มี.ค. 2558 - กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ต่อกรณีลูกเรือประมงไทยถูกควบคุมตัวในประเทศอินโดนีเซีย และเหยื่อการค้ามนุษย์ในกิจการประมง โดย พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า "รัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยทำ แต่วันนี้รัฐบาลนี้กำลังแก้ทุกอย่าง" นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ล่าสุด วันนี้ (28 มี.ค.) ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงในเฟซบุ๊คเพจ Yingluck Shinawatraยืนยันว่าได้ผลักดันการแก้ปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด และในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ประเทศไทยได้รับการยกเว้นจากการถูกลดระดับเป็นกลุ่มที่ 3 ของบัญชีการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากรัฐบาลได้เสนอแผนเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ยิ่งลักษณ์แนะนำด้วยว่าให้จุดเริ่มต้นสำคัญของการแก้ปัญหาคือยอมรับการมีอยู่ของปัญหา เพื่อที่จะร่วมมือช่วยกันแก้ปัญหาที่ท้าทายระดับนานาชาตินี้ต่อไป โดยคำชี้แจงมีรายละเอียดดังนี้
"สืบเนื่องจากการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับกรณีการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ระบุว่า “รัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยทำ แต่วันนี้รัฐบาลกำลังแก้ทุกอย่าง” ซึ่งเกรงว่าอาจจะเป็นความเข้าใจผิดอันเนื่องมาจากการที่ท่านมีภารกิจมากจนไม่ได้มีเวลาหรือเจ้าหน้าที่ยังไม่มีโอกาสเรียนชี้แจงให้ท่านทราบ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในวงกว้างทั้งในระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ และส่วนราชการที่ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ดิฉันขอเรียนชี้แจงท่าน พร้อมทั้งสื่อไปถึงส่วนราชการ องค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพี่น้องประชาชนไทยทุกท่านค่ะ
การค้ามนุษย์คือการคุกคามสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนซึ่งสังคมการเมืองระหว่างประเทศต่างต่อต้าน และร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ทั้งมาตรการความร่วมมือ ตลอดจนมาตรการการกดดันที่ใช้เงื่อนไขทางการค้า ดังนั้น ตลอดระยะเวลาที่ดิฉันเข้ารับตำแหน่ง จึงได้พยายามผลักดันการแก้ปัญหานี้มาโดยตลอด โดยได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนการดำเนินงานให้การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ในปีการประเมินระดับของ พ.ศ. 2556 “ประเทศไทยได้รับการยกเว้นจากการถูกลดระดับเป็นกลุ่มที่ 3 เนื่องจากรัฐบาลได้เสนอแผนเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งหากได้รับการดำเนินการจะถือว่าเป็นการแสดงความพยายามอย่างมีนัยสำคัญที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ และรัฐบาลได้จัดสรรทรัพยากรพอควรในการดำเนินการตามแผนดังกล่าว
เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ในประเทศไทยอยู่ในระดับที่ดีขึ้น รัฐบาลได้มีการประชุมหลายต่อหลายครั้ง ทั้งที่ดิฉันเป็นประธานในการประชุมเอง และส่วนที่มอบหมายให้คุณพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น เป็นประธานแทน ตลอดจนตั้งคณะทำงานย่อยๆ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะด้าน เช่น ปัญหาเรื่องแรงงานประมง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อแนะนำจากรายงานฉบับปี พ.ศ. 2556 ทุกประเด็น
นอกจากนี้ ในการประชุมหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กับเอกอัครราชทูต Luis CdeBaca ผู้อำนวยการสำนักงานติดตามและต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ ของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2556 หลังจากได้รับฟังผลการดำเนินงานของประเทศไทย เอกอัครราชทูต Luis CdeBaca ได้แสดงความชื่นชมถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้วย
ตลอดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง รัฐบาลได้เน้นสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และพยายามที่จะสร้างความเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหา โดยมีการรวบรวมจัดเก็บข้อมูลผลการดำเนินงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งมีข้อสั่งการ และนโยบายเพิ่มเติม โดยสิ่งที่รัฐบาลในช่วงนั้นได้ริเริ่มดำเนินการและพยายามเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการ เช่น การปรับปรุงกระบวนการทำงานทั้งด้านการคุ้มครอง ป้องกัน และกระบวนการยุติธรรม ดังที่รัฐบาลได้มีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ทั่วประเทศเพื่อเป็นจุดรับเรื่อง ส่งต่อและแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวง รวมทั้งเครือข่ายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของรัฐบาลชุดก่อน ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีอาจจะลองพิจารณาศึกษาเพิ่มเติมจากรายงานดังกล่าวได้ค่ะ
อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญของการค้ามนุษย์นั้น อยู่ที่เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งปัญหาในเชิงกฎหมาย รวมทั้งประสิทธิภาพการบริหารราชการ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่สามารถแก้ไขได้เพียงชั่วข้ามคืน หากต้องใช้เวลา และความร่วมมือจากหลายฝ่าย ซึ่งในรายงานฉบับล่าสุดได้มีการยกประเด็นเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นของข้าราชการ โดยเฉพาะความเกี่ยวพันกับกรณีแรงงานประมงชาวโรฮิงญา ซึ่งถือเป็นบทเรียนว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ตลอดจนประเด็นการเรียกร้องของ NGOs และต้องพยายามที่จะตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นในแนวทางที่ประชาชน และนานาชาติคาดหวังค่ะ
จุดเริ่มต้นสำคัญของการแก้ปัญหาคือ การยอมรับการมีอยู่ของปัญหา เพื่อที่จะร่วมมือช่วยกันแก้ปัญหาที่ท้าทายระดับนานาชาตินี้ต่อไปค่ะ"
000
แผนที่ในรายงานประจำปี สถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2557 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงสถานการณ์ด้านเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยสีเขียวหมายถึงอยู่ในบัญชีที่ 1 (Tier 1) สีเหลืองอยู่ในบัญชีที่ 2 (Tier 2) สีส้มอยู่ในบัญชีที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) สีแดงหมายถึง บัญชีที่ 3 (Tier 3) สถานการณ์เลวร้าย โดยไทยและมาเลเซียอยู่ในกลุ่มสีส้มสลับแดง หมายถึง บัญชีที่ 3 ซึ่งถูกลดอันดับลงมาอัตโนมัติจากกลุ่มบัญชีที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง โดยในภูมิภาคเดียวกันนี้มีปาปัว นิวกินี และเกาหลีเหนือ ซึ่งอยู่ในกลุ่มบัญชีที่ 3
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในรายงานประจำปี เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2557 (Trafficking in Persons Report 2014 หรือ TIP Report) ที่เผยแพร่โดยกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมิถุนายน 2557 นั้น เป็นการสำรวจทุกประเทศในโลก โดยในปี 2557 ประเทศไทยถูกลดอันดับจากบัญชีกลุ่มที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ลงมาอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด
โดยในรายงานประจำปี 2557 ดังกล่าว มี 23 ประเทศที่ถูกจัดอันดับให้อยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ได้แก่ แอลจีเรีย, แอฟริกากลาง, คองโก, คิวบา, อิเควทอเรียล กินี, เอริเทรีย, แกมเบีย, กินี-บิซเซา, อิหร่าน, เกาหลีเหนือ, คูเวต, ลิเบีย, มาเลเซีย, มอริเตเนีย, ปาปัว นิวกินี, รัสเซีย, ซาอุดิอาระเบีย, ซีเรีย, ไทย, อุซเบกิซสถาน, เยเมน, เวเนซุเอลา, ซิมบับเว
โดยในจำนวนนี้มีประเทศเคยอยู่ใน บัญชีกลุ่มที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) และถูกลดอันดับลงอัตโนมัติไปอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ได้แก่ ไทย มาเลเซีย เวเนซุเอลา
ต่อรายงานดังกล่าว นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเมื่อ 21 มิ.ย. ปีที่ผ่านมาว่า ได้แสดงความเสียใจและรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับการที่สหรัฐอเมริกา ตัดสินจัดอันดับไทยให้อยู่ในระดับต่ำสุด เนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยมีการดำเนินการที่มีความคืบหน้าและเป็นรูปธรรมในทุกด้าน (5Ps) ได้แก่ การจับกุม ดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิด , การคุ้มครองผู้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์, การป้องกันปัญหา, การขับเคลื่อนกลไกการดำเนินงานระหว่างส่วนราชการ และความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ

#BoycottIndiana ชาวสหรัฐฯ ร่วมต่อต้านกฎหมายศาสนารัฐอินเดียนา หวั่นใช้กีดกันทางเพศสภาพ

ชาวสหรัฐฯ รวมถึงนักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศต่างพากันต่อต้านกฎหมาย 'ฟื้นฟูเสรีภาพทางศาสนา' ซึ่งกลัวว่าจะถูกนำมาอ้างใช้เพื่อกีดกันทางเพศสภาพ อย่างเช่นการไม่ต้อนรับหรือให้บริการคนรักเพศเดียวกัน
30 มี.ค. 2558 หลังจากที่ ไมค์ เพนซ์ ผู้ว่าการรัฐอินเดียน่าจากพรรครีพับรีกันลงนามอนุญาตใช้กฎหมายกีดกันกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ทำให้เกิดกระแสต่อต้านทั้งจากนักกิจกรรม ศิลปิน เจ้าของธุรกิจ และนักกีฬา จากทั่วประเทศสหรัฐฯ ที่ประกาศบอยคอตต์ทางเศรษฐกิจต่อรัฐอินเดียน่าในนามการเคลื่อนไหว#BoycottIndiana จนทำให้ ส.ส. รัฐอินเดียน่าเริ่มคำนึงว่าควรย้อนกลับมาพิจารณากฎหมายใหม่อีกครั้งหรือไม่
กฎหมายกีดกันทางเพศฉบับดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า "กฎหมายฟื้นฟูเสรีภาพทางศาสนา" ที่มีการลงนามอนุญาตใช้เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งในเนื้อความกฎหมายนี้ระบุห้ามไม่ให้มีกฎหมายของรัฐใดๆ ที่เป็นการ "สร้างภาระอย่างหนัก" ต่อการปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาของประชาชนทั่วไป สถาบันทางศาสนา สมาคม หรือธุรกิจ
นักวิจารณ์กล่าวว่ามาตรการนี้จะกลายเป็นการสนับสนุนให้บุคคลหรือธุรกิจกระทำสิ่งที่ล่วงละเมิดกฎหมายห้ามการกีดกันซึ่งมีอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว โดยมีกลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิความเท่าเทียมกังวลว่ากฎหมายที่อ้างถึงเสรีภาพทางศาสนานี้จะถูกนำมาใช้เหยียดหรือกีดกันกลุ่มคนรักเพศเดียวกันโดยเจ้าของธุรกิจที่ไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน
อย่างไรก็ตามมีการประท้วงจากหลายฝ่าย โดยมีการติดสติ๊กเกอร์ตามหน้าร้านค้าทั่วรัฐอินเดียนาซึ่งระบุข้อความว่า "ธุรกิจแห่งนี้เปิดรับทุกคน" และเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมานักกิจกรรมหลายร้อยคนก็พากันเดินขบวนนอกที่ว่าการรัฐเพื่อเรียกร้องให้เพนซ์ลาออกจากตำแหน่ง
นอกจากนี้สมาคมนักกีฬามหาวิทยาลัยแห่งชาติสหรัฐฯ (N.C.A.A.) ยังแสดงความกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวจะกระทบนักกีฬาและผู้เข้าชมกีฬาของตน ซึ่งนักกีฬาซูเปอร์สตาร์เอ็นบีเอชื่อ ชาร์ลส บาร์ตลีย์ ประท้วงด้วยการเรียกร้องให้การจัดแข่งบาสเก็ตบอลรอบสุดท้ายของ N.C.A.A. ในรัฐอินเดียน่าไปจัดในรัฐอื่น เจสัน คอลินส์ นักกีฬาเอ็นบีเออีกคนหนึ่งวึ่งเปิดเผยตัวเองว่าเป็นคนรักเพศเดียวกันยังโพสต์แสดงความกังวลถึงกฎหมายนี้ในทวิตเตอร์ของเขาด้วย
อย่างไรก็ตามเพนซ์กล่าวปกป้องกฎหมายฉบับนี้อ้างว่าเป็นการคุ้มครองย้อนหลังให้กับผู้ที่รู้สึกว่าเสรีภาพในการนับถือศาสนาของตนกำลังถูกโจมตีโดยการกระทำของรัฐบาล เขากล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่ออีกว่าแม้จะมีผู้ประท้วงแต่เขาก็จะไม่เปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้ เพนซ์ยังปฏิเสธอีกว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เจตนาทำให้เกิดการเหยียดหรือการกีดกัน
ทางด้านผู้อำนวยการด้านกฎหมายของกลุ่มสิทธิคนรักเพศเดียวกัน ซาราห์ วอร์บิโลว์ กล่าวว่ากฎหมายฉบับนี้สะท้อนถึงความอดกลั้นต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และเธอคิดว่ากฎหมายฉบับนี้สามารถส่งผลให้เกิดการกีดกันกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้จริง
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนในวงการไอทีอย่างทิม คุก หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารของแอปเปิ้ล และเจเรมี สต็อปเปลแมน ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Yelp ต่างก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ รวมถึงผู้นำคนอื่นๆ อย่าง ฮิลลารี่ คลินตันรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ และ เกรก บัลลาด นายกเทศมนตรีเมืองอินเดียนาโปลิสสังกัดพรรครีพับรีกัน ก็พากันต่อต้านกฎหมายฉบับนี้

รวบหนุ่มวัย 17 โพสต์คลิปชวนฉลองการตายและวิพากษ์อดีตผู้นำสิงคโปร์

เอมอส ยี ในคลิปที่เขาวิพากษ์วิจารณ์ลีกวนยู

เด็กหนุ่มชาวสิงคโปร์แพร่คลิปวิพากษ์ลีกวนยู เป็นผู้นำที่เลวร้าย ควบคุมประเทศด้วยโฆษณาชวนเชื่อและการปิดกั้นสื่อ ถูกจับกุม พร้อมกระแสวิพากษ์ตัวเขาเองทั้งด้านดีและร้าย ขณะที่ครูรายหนึ่งบอก แง่คิดจากเหตุการณ์ดังกล่าวคือ สิงคโปร์ล้มเหลวในการผลิตคนรุ่นใหม่ที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์
เอมอส ยี วัย 17 ปี สัญชาติสิงคโปร์ เผยแพร่คลิปแสดงความยินดีในการเสียชีวิตของอดีตผู้นำที่ได้รับการนับถือว่าเป็นบิดาแห่งชาติของสิงคโปร์ ลีกวนยูเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเรียกลีกวนยูว่า "เผด็จการ" ทั้งยังท้าให้นายลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันผู้เป็นบุตรชายของลีกวนยู ฟ้องดำเนินคดีกับเขาด้วย
ต่อมาในบ่ายของวันอาทิตย์ เขาก็ถูกจับกุม โดยเว็บไซต์ Strait Time ระบุว่าเขาถูกจับกุมหลังจากที่มีผู้ไปร้องเรียนที่สถานีตำรวจร้องทุกข์กล่าวโทษต่อยี ถึงกว่า 20 ราย นับตั้งแต่เขาโพสต์คลิปขึ้นยูทูบ ในวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยสเตรทไทม์ระบุว่า เนื้อหาของคลิปนั้นหมิ่นประมาทลีกวนยู และมีบางส่วนหมิ่นศาสนาคริสต์
ทั้งนี้บางส่วนของคลิประบุว่า ในที่สุดลีกวนยูเป็นผู้นำที่เลวร้ายที่สุดของประเทศนี้ แต่พยายามบอกกับโลกว่าสิงคโปร์เป็นประชาธิปไตย ขณะที่ทำเหมือนว่าให้โอกาสกับประชาชนในการเลือกแต่กลับปิดกั้นสื่อ และเสรีภาพ พร้อมๆ ไปกับการโฆษณาชวนเชื่อชาตินิยมให้กับประชาชนทุกเมื่อเชื่อวัน “แล้วพอถึงวันที่เขาตายคุณก็จะเห็นว่าบรรดาสื่อต่างๆ ก็พากันเสนอข่าว “เลียไข่” ลีกวนยู” เขากล่าวด้วยภาษาที่รุนแรง
ยีวิจารณ์ต่อไปด้วยว่า ลีกวนยูนั้นมีชื่อเสียงในการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อคนที่วิพากษ์วิจารณ์เขา ด้วยการฟ้องร้อง เอาเข้าคุกและทำให้ล้มละลาย ซึ่งนั่นก็ส่งผลให้คนไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์เขาเพราะกลัวจะต้องมีปัญหาทางกฎหมายในการถูกดำเนินคดีภายใต้ระบบยุติธรรมที่ลีกวนยูควบคุม ดังนั้นสิ่งที่คนได้ฟังกันก็มีแต่เรื่องว่าลีกวนยูยิ่งใหญ่อย่างไร
ในบางตอนของคลิปเขาได้เปรียบเทียบลีกวนยูกับพระเยซูถึงความเหมือนในการได้รับความนิยมของประชาชน ซึ่งบางอย่างนั้นไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง
สำหรับคลิปดังกล่าวมีการเผยแพร่ยูทูปว์เมื่อวันที่ 27 มี.ค. โดยมีผู้แชร์ไปแล้ว ประมาณ 50,000 ราย อย่างไรก็ตามคลิปที่โพสต์ลงยูทูปว์ถูกตั้งค่าส่วนตัวแล้ว และมีการโพสต์ซ้ำใหม่
คลิปดังกล่าวยังถูกเผยแพร่ในเฟซบุ๊กของ Temasek Review และน่าสนใจว่า ความเห็นนั้นมีทั้งชื่นชมและตำหนิติเตียน เช่น ในวัย 17 ปี แทนที่จะมาวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำผู้สร้างคุณูปการต่อชาติ  ยีควรจะตั้งคำถามว่าได้ทำอะไรให้กับชาติได้เท่ากับที่ลีกวนยูเคยทำหรือไม่
บางส่วนของความเห็นที่มี่ต่อ เอมอส ยี จากเพจ Temasek Review

เว็บไซต์ The Real Singapore ได้เผยแพร่บทความจากครูรายหนึ่งใช้ชื่อว่า Basheer Khan ซึ่งแสดงความเห็นต่อกรณีของเอมอส ยีว่า ในฐานะครูคนหนึ่ง ถ้ามองข้ามเรื่องการใช้อารมณ์ของเขาไปแล้ว การกล้าแสดงออกและกล้าวิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าคุณสมบัติเหล่านี้จึงไม่ค่อยมีอยู่ในเด็กของสิงคโปร์ ดูเหมือนว่าบรรดาบุคลากรทางการศึกษาของสิงคโปร์จะภาคภูมิใจกับความสำเร็จของระบบการศึกษาในศตวรรษที่ 20 ที่เน้นการเรียนการสอนให้เชื่อตามครู แต่ล้มเหลวที่จะสร้างเด็กที่สามารถถกเถียงอภิปราย การมีความคิดเชิงวิพากษ์และสร้างสรรค์อย่างที่การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ควรจะมี
อย่างไรก็ตาม ต้นทางของบทความซึ่งมาจากเฟซบุ๊กของ  Basheer Khan นั้น เมื่อคลิกเข้าไปอ่าน ก็ไม่สามารถเข้าถึงข้อความได้แล้ว

เรียบเรียงจาก