วันพุธที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สาระ+ภาพ : ค่าใช้จ่ายในการปฏิรูปประเทศไทย

ชมภาพขนาดเต็ม คลิกที่นี่
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2557 ที่รัฐสภา ได้มีการพิจารณางบประมาณเพื่อดำเนินการภายในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูป 18 คณะ และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ
โดยได้มีการวางกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของ สปช. และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ไว้ทั้งสิ้น 256,184,600 บาท และได้มีการแบ่งค่าใช้จ่ายออกเป็น 3 ส่วนได้แก่
1.ค่าใช้จ่ายของกมธ.วิสามัญสปช. 24 คณะ จำนวนเงิน 182,400,000 บาท แบ่งเป็นคณะละ 7.6 ล้านบาท โดยคำนวณค่าจ่ายเฉลี่ยเท่ากันทุกคณะ ประกอบด้วย
- ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าพาหนะ จำนวน 24,000,000 บาท แบ่งเป็นคณะละ 1 ล้านบาท
- ค่าอาหารเลี้ยงรับรองต่อกมธ.วิสามัญ สปช.จำนวน 86,400,000 แบ่งเป็นคณะละ 3.6 ล้านบาท
- ค่าจ่ายการส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของกมธ.วิสามัญสปช.จำนวน 24,000,000 แบ่งเป็นคณะละ 1 ล้าน
- ค่าใช้จ่ายการสัมมนาของคณะ กมธ.วิสามัญ สปช. 24,000,000 แบ่งเป็นคณะละ 1 ล้าน และ
- ค่าใช้จ่ายการเดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่ภายในประเทศของคณะกมธ.วิสามัญ สปช.จำนวน 24,000,000 แบ่งเป็นคณะละ 1 ล้านบาท
2.คณะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 1 คณะ ที่มีบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ได้งบประมาณทั้งสิ้น 50,684,600 ล้านบท ประกอบด้วย
- ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าพาหนะ จำนวน 975,000 บาท
- ค่าอาหารเลี้ยงรับรองกมธ.และคณะอนุ กมธ.จำนวน 23,709,600 บาท
- ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 10,000,000 บาท
- ค่าใช้จ่ายในการสัมมนา 16,000,000 บาท
3.อนุกมธ.วิสามัญประจำ 77 จังหวัด รวม 23,100,000 บาท แบ่งเป็นจังหวัดละ 300,000 บาท
ทั้งนี้เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ระบุว่า ได้มีการกำหนดกรอบตัวเลขดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่ยืนยันว่าจะเบิกจ่ายทั้งหมดตามที่ระบุไว้หรือไม่ เป็นเพียงการจัดสรรไว้รองรับการทำหน้าที่ของ สปช. โดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอาจใช้จ่ายมากกว่าส่วนอื่น โดยเฉพาะการพิจารณายกร่างในรายละเอียดแบบรายมาตรา ที่ต้องเบิกงบเบี้ยประชุมต่อเนื่องหลายวัน

ของปลอม! ‘นิติราษฏร์’ แจงไม่เคยทำจม. จี้ ‘พล.อ.เปรม’ พิจารณาความเหมาะสมนั่งปธ.องคมนตรี

ซองจดหมายที่ส่งมายังประชาไท
‘สาวตรี-ธีระ’ แจง จม.เปิดผนึกอ้างชื่อ ‘คณะนิติราษฏร์’ ถึง พล.อ.เปรม เรียกร้องให้ทบทวนความเหมาะสมนั่ง ปธ.องคมนตรี-รัฐบุรุษ เป็นของปลอม ระบุ “ไม่มีใครเคยทำหรือเคยคิดที่จะทำจดหมายแบบนี้”
24 ธ.ค.2557 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากวันนี้ได้ปรากฏจดหมายที่จ่าหน้าซองส่งถึง ‘เว็บไซต์ประชาไทออนไลน์’ โดยผู้เขียนระบุชื่อของตนเอง อ้างเพียงว่าเป็น ‘หนึ่งในสมาชิกแห่งคณะนิติราษฏร์’ พร้อมระบุว่าเป็นนักวิชาการคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนจดหมายเปิดผนึกความยาว 6 หน้ากระดาษ A4 ถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบพฤติการณ์ของ พล.อ.เปรม ในฐานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พร้อมทั้งพิจารณาตนเองถึงความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งดังกล่าว
ล่าสุดเมื่อเวลา 14.00 น. สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในคณะนิติราษฏร์ โพสต์ชี้แจงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Sawatree Suksri’ ชี้แจงว่าคณะนิติราษฏร์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจดหมายดังกล่าว
สาวตรี โดยระบุว่า ขณะนี้มีการแอบอ้างชื่อนิติราษฎร์ ส่งหนังสือไปยังองค์กรต่างๆ โดยไม่ทราบถึงวัตถุประสงค์ขอผู้จัดทำ โดยส่วนตัว และกลุ่มเอง ยังไม่มีใครได้อ่านฉบับเต็ม ได้เห็นแค่ส่วนนี้ ซึ่งส่งมาจากมิตรสหายท่านหนึ่ง
“แม้พวกเรานิติราษฎร์จะไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารเหมือนกัน เกลียดวิธีการยึดอำนาจเหมือนกัน เกลียดอะไรต่อมิอะไรที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนคนไทยเหมือนกัน เหมือนกับ ใครบางคน ที่เป็นเจ้าของจดหมายฉบับนี้ แต่สิ่งที่เรานิติราษฎร์รังเกียจเช่นกัน และจะไม่มีวันทำเด็ดขาด คือ การแอบอ้างชื่อคนอื่น ทำอะไรในนามของคนอื่น เพราะ วิถีแบบนี้ นอกจากจะไม่เคารพ หรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพคนอื่นเขาแล้ว ยังเป็นวิถีอันขลาดเขลา และไม่เคารพตัวเอง หรือไม่เชื่อมั่นในความคิดของตัวท่านเองด้วย” สาวตรี กล่าว
เช่นเดียวกับ ธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในคณะนิติราษฏร์ โพสต์ภาพตัวอย่างจดหมายดังกล่าว พร้อมชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘ธีระ สุธีวรางกูร’ ระบุด้วว่า ตอนนี้ มีผู้แอบอ้างว่าเป็นหนึ่งในสมาชิกนิติราษฎร์ ส่งจดหมายให้บุคคลและองค์กรต่างๆ ช่วยตรวจสอบพฤติกรรมของประธานองคมนตรี
“ผมขอเรียนสั้นๆ เพียงว่า จดหมายฉบับนี้ไม่ได้ออกโดยสมาชิกนิติราษฎร์ และพวกเราทุกคน ก็ไม่มีใครเคยทำหรือเคยคิดที่จะทำจดหมายแบบนี้ครับ” ธีระ กล่าว

บางส่วนของ จม.ดังกล่าว
สำหรับจดหมายที่มีผู้แอบอ้างชื่อคณะนิติราษฏร์ดังกล่าว นอกจากกล่าวถึงปัญหาของการยึดอำนาจการปกครองโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)แล้ว ประเด็นหลักที่เขียนในจดหมายคือการเรียกร้องให้ พล.อ.เปรม พิจารณาความเหมาะสมของตัวเองในการดำรงตำแหน่งประธานองค์มนตรีและรัฐบุรุษ โดยให้เหตุผล 7 ประการด้วยกัน เช่น ความเสียสละต่อชาติบ้านเมืองโดยยกปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอวุโส มาเปรียบเทียบกับพล.อ.เปรม ย้อนไปเมื่อครั้ง พล.อ.เปรม ดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่ควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเป็นเวลานาน โดยตั้งคำถามต่อ พล.อ.เปรม ว่าการควบตำแหน่งหรือการต่ออายุราชการนั้นหากเป็นคนอื่นทำจะประณามหรือไม่
เหตุผลที่แสดงความไม่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.เปรม ในจดหมายยังอ้างถึง การที่ พล.อ.เปรม เข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในภาคธุรกิจต่างๆ การแทรกแซงโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการ การแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่และการใช้ดุลยพินิจของฝ่ายตุลาการ การแสดงออกถึงการเข้าฝั่งฝ่ายทางการเมืองใดการเมืองหนึ่ง
รวมไปถึงจดหมายยังกล่าวโดยไม่มีหลักฐานอ้างอิงเพียงระบุแต่ว่าได้ข้อมูลเชิงลึกว่า พล.อ.เปรม ได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในลักษณะที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อองค์รัชทายาท

คุยเรื่องวิชา ปวศ. กับพิพัฒน์ กระแจะจันทร์ หลังปฏิเสธให้ปากคำ กรณี ‘ส.ศิวรักษ์’ ถูกฟ้องหมิ่นพระนเรศวร


 ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2557 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มสภาหน้าโดมได้จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการในหัวข้อเรื่อง ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระและสร้าง ซึ่งมีวิทยากรประกอบด้วย สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และพิพัฒน์ กระแจะจันทร์ โดยงานดำเนินไปด้วยความเรียยร้อยไม่มีการเข้าขัดขวางแต่อย่างใด นอกจากเจ้าหน้าที่ขอเข้าพูดคุยกับวิทยากรทั้งสามคนก่อนขึ้นเวที แต่งานวันนั้นก็จบลงด้วยเสียงปรบมือจากผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาดังเช่นทุกครั้ง
พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนความคิดทางปัญญาอย่างเสรี เป็นคำนิยามที่ควรจะเป็นของการเป็นมหาวิทยาลัย ทว่าดูเหมือนคำนิยามดังกล่าวกำลังถูกสั่นคลอน พื้นที่แห่งเสรีภาพทางวิชาการ อาจจะกำลังหดแคบลง 16 ต.ค 2557 ‘ส.ศิวรักษ์’ นักเขียนและนักวิชาการอิสระ หนึ่งในวิทยากรที่อยู่บนเวทีเสวนาเมื่อ 11 วันก่อน ถูกฟ้องร้องให้ดำเนินคดีฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสมเด็จพระนเรศวร ถัดจากนั้นมาราว 2 เดือน พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ประจำสาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับหมายเรียกตัวไปสอบปากคำในกรณี ส.ศิวรักษ์ ถูกฟ้อง หมิ่นพระนเรศวร แต่เขาปฏิเสธที่จะให้ปากคำ ด้วยเหตุผลว่า “ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะให้ผมไป”
ประชาไทสัมภาษณ์ พิพัฒน์ ถึงเรื่องราวดังกล่าว พร้อมชวนคุยต่อถึงปัญหาการศึกษาประวัติศาสตร์ ในประเทศไทย และจุดมุ่งหมายที่ควรจะเป็นของการศึกษาประวัติศาสตร์
00000
ประชาไท : ได้รับจดหมายเรียกให้ไปสอบปากคำได้อย่างไร
พิพัฒน์ : จดหมายมาถึงเมื่อเช้า(24 ธ.ค. 2557) แต่ลงวันที่ไว้ที่ 22 คาดว่าเป็นเพราะการส่งไปรษณีย์ ผมคิดว่าไม่น่าจะมีอะไรพอหลังจากได้รับจดหมายผมก็โทรไปหาเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า ต้องการทราบเพียงว่า ใครเป็นผู้จัดการเสวนาขึ้น ผมก็เลยบอกว่าให้คุยกับผู้จัด เพราะว่าจะมาเรียกสอบปากคำอะไรจากเรา เราก็เป็นเพียงหนึ่งในผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าก็ยินยอมว่า ผมไม่ต้องไป แต่ปัญหามันอยู่ตรงที่ว่า ชื่อของผู้จัดทางเจ้าหน้าที่เขาก็รู้อยู่แล้ว เพราะว่าก่อนที่นักศึกษาจะจัดงานเขาก็ได้มีการทำหนังสือไปขออนุญาติจัดการเสวนาก่อน ซึ่งผมอยู่ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งสุดท้ายแล้วผมก็บอกว่า ผมไม่ขอไปแล้วกัน เพราะมันไม่มีเหตุผลอะไรที่จะให้ผมไป ทางเจ้าหน้าที่เขาก็ตกลง
ประชาไท : หากมองต่อไปอีกขั้น ในกรณีที่ คดีหมิ่นพระนเรศวร ถูกส่งไปยังชั้นศาล คิดว่าจะส่งผลอย่างไรบ้างกับแวดวงวิชาการ
พิพัฒน์ : ประวัติศาสตร์ไทยที่เราเรียนกันอยู่ทุกวันนี้ แกนหลักของเรื่องเป็นสถาบัน แทบจะทั้งหมด หากเรื่องประวัติศาสตร์เราไม่สามารถจะพูดความจริงได้ เราไม่สามารถจะส่งเสียงได้ หรือแม้กระทั่งว่า มีเอกสารชั้นต้นอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งมีความขัดแย้งกันเองแล้วไม่สามารถจะเอามาพูดคุยได้ นั่นก็หมายความว่าวิชาประวัติศาสตร์ของเรา กลายเป็นวิชาที่มีขึ้นมาเพื่อใช้ในการท่องจำ เพื่อให้เชื่อตามตัวประวัติศาสตร์ชาติ ประวัติศาสตร์กระแสหลัก แต่กลับไม่เป็นไปตามปรัชญาของตัววิชาเองที่ว่า เป็นวิชาทีเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงกันโดยยึดโยงกับเอกสารทางประวัติศาสตร์ เพื่อให้ได้ความจริงทางประวัติศาสตร์ ฉะนั้นโดยตัวกฎหมาย ม.112 หรือการใช้กฏหมายเองกลายเป็นตัวขัดขวางการได้มาซึ่งความรู้ทางประวัติศาสตร์
ประชาไท : พูดได้ไหมว่าสภาวะที่เราอยู่ในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ เสรีภาพทางวิชาการ กับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือพื้นที่ต้องห้าม มีความสัมพันธ์กันอย่างไร
พิพัฒน์ : ตราบใดก็ตามที่เนื้อหาประวัติศาสตร์ของเรายังให้ความสำคัญกับตัวประวัติศาสตร์ชาติเป็นหลัก แล้วก็มีเรื่องของสถาบัน เรื่องของดินแดน ยอมนำไปสู่การไม่สามารถจะถกเถียงเรื่องราวต่างๆตรงนั้นได้ถ้า เรื่องราวเหล่านั้นถูกทำให้กลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ถูกทำให้กลายเป็นความเชื่อ ฉะนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ อาจจะทำให้งานวิชาการโดยเฉพาะในสาขาประวัติศาสตร์ หรืออาจจะรวมทั้งโบราณคดี สังคมวิทยา หรืออะไรก็ตามที่ไปผูกผันกับเรื่องนี้กลายเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะเข้าไปถกเถียงได้
ถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องเข้าไปถกเถียงเรื่องนี้ บางคนก็อาจจะมองว่าจำเป็น หรืออาจจะมองว่าไม่จำเป็นก็ได้ แต่เราต้องมองอย่างนี้คือ สังคมที่เราอยู่มันใหญ่ และมีโครงสร้างหลายๆอย่างที่มันทับซ้อน เกี่ยวพัน และต่อเนื่องกัน ฉะนั้นถ้าเราไม่สามารถจะพูดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ ซึ่งเราพูดด้วยเหตุมีผลไม่ได้พูดด้วยความเชื่อ ไม่ได้พูดโดยไม่มีหลักฐาน เราก็ไม่สามารถพูดถึงเรื่องอื่นๆได้ เพราะมันมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน
ฉะนั้นวิชาประวัติศาตร์ ซึ่งถูกทำให้กลายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปแล้ว เป็นเรื่องที่ยากมากที่เราถกเถียงอะไรเกี่ยวกับอดีตของประวัติศาสตร์ชาติ กลายเป็นว่าเราถูกปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการไปโดยอัตโนมัติ ถ้าเราเจอหลักฐานบางอย่างขึ้นมา เราไม่สามารถหยิบมาโต้เถียงกับประวัติศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ชาติ หรือประวัติศาสตร์ของสถาบันได้ กลายเป็นว่าสิ่งเหล่านี้คือ สิ่งที่ถูกต้อง ถูกยกย่องเชิดชูจนเกินเลยความเป็นมนุษย์ปุถุชนทั่วไป
ประชาไท : อย่างนี้เรียกได้ว่าเป็นผลจากการสอนประวัติศาสร์ ตามแบบเรียนขั้นพื้นฐานหรือไม่
พิพัฒน์ : ผมคิดว่ามี 2 ส่วนด้วยกันคือ ส่วนแรกเราอาจโทษปัญหาของการศึกษาประวัติศาสตร์ในระดับปฐม หรือระดับมัธยม ที่เป็นสอนให้คนเชื่อ และท่องตามเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัญหาอีกด้านหนึ่งก็คือ เป็นปัญหาภาพรวมของทั้งสังคมมากกว่าคือ สังคมเราถูกทำให้เชื่อว่าสถาบัน เปรียบเสมือนเทพพระเจ้า เปรียบเสมือนกันอะไรต่อมิอะไรที่ศักดิ์สิทธิ์และสูงส่ง อีกทั้งสถาบันยังเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นชาติ ซึ่งถูกผนวกหรือสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่5 รัชกาลที่6 ฉะนั้นมันจึงกลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เราไม่สามารถเข้าไปแตะต้องกับเรื่องตรงนี้ได้เลย
ฉะนั้นปัญหาตรงนี้จึงมีทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นปัญหาจากการเรียนประวัติศาสตร์ของเราที่ไม่ถูกสอนให้ถกเถียง แต่ถูกสอนให้เชื่อ และต้องยกย่องเชิดชูเท่านั้น กับอีกด้านหนึ่งคือบรรยากาศของสังคม ที่มีเรื่องของระบบความเชื่อใหญ่ที่ครอบเราอยู่ว่า ในสังคมนี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเราได้ ผมคิดว่าไม่ได้เป็นแค่ปัญหาการเรียนการสอนประวัติศาสตร์อย่างเดียว แต่ว่ามีเรื่องบรรยากาศของสังคมใหญ่ๆ แบบนี้ที่เป็นปัญหาอยู่
ประชาไท : ถึงที่สุดแล้วจุดมุ่งหมายของการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์คืออะไร
พิพัฒน์ : มันมีการนิยามเป็นจำนวนมาก แต่คิดว่าประวัติศาสตร์ จะมีอิทธิพลต่อคนก็ต่อเมื่อมีการศึกษาเรื่องในอดีตที่ยังมีความเกี่ยวข้องกับปัจจุบัน ฉะนั้นเอาเข้าจริงแล้วประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของปัจจุบัน ปัจจุบันที่ใช้อดีตให้เป็นประโยชน์กับจุดที่ตัวเองกำลังยืนอยู่ ฉะนั้นจุดมุ่งหมายของประวัติศาสตร์ แน่นอนเลยเป็นเรื่องผลประโยชน์บางอย่างในเชิงการเมือง ในปัจจุบัน อย่างที่สองคือว่า ในเชิงปรัชญา วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่สอนให้คนใช้เหตุผล รู้จักการประเมินหลักฐาน รู้จักการใช้ตรรกะให้เป็นประโยชน์ เช่นถ้ามีหลักฐานอยู่หลากหลายหลักฐาน เราจะค้นหาความจริงจากหลักฐานที่มีอย่างไร แต่ปัญหาของบ้านเราอยู่ตรงที่ว่า เรากลับประวัติศาสตร์เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของปัจจุบันเสียมากกว่า ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่ได้เป็นการประเทืองปัญญา กลายเป็นเรื่องของการอ้างชอบธรรม ให้คนกลุ่มหนึ่งสามารถกระทำต่อคนอีกกลุ่มหนึ่งได้

รมว.ไอซีทียันไม่ได้ดักจับข้อมูลแชท ‘ไลน์’ เตือนอย่าส่งหมิ่นฯต่อ ชี้เท่ากับสมรู้ร่วมคิด


พรชัย รุจิประภา รมว.ไอซีที ยันไม่ได้ดักจับข้อมูลแชท ‘ไลน์’ เตือนอย่าส่งหมิ่นฯ ต่อ เพราะเท่ากับสมรู้ร่วมคิด ระบุสืบกระทำผิดผ่านเว็บไซต์, เฟซบุ๊กที่เปิดพับบลิคหาต้นตอจาก IP ตามหาตัวบุคคลได้ง่ายกว่า
24 ธ.ค.2557 จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่มีข่าวระบุว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ออกมากล่าวว่า กระทรวงไอซีทีสามารถสอดส่องตรวจดูได้หมดว่ามีการส่งต่อข้อความประเภทไหนบ้างในแอปพลิเคชั่น “ไลน์” (LINE) โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อความหมิ่นประมาท ข้อความหมิ่นสถาบัน และข้อความที่มีผลกระทบด้านความมั่นคง ซึ่งจะถูกจับตาเป็นพิเศษ แต่ละวันมีการส่งข้อความประเภทนี้จำนวนมากเช่นกัน(อ่านรายละเอียด)
จนะกระทั่งหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ ไลน์ ประเทศไทย ออกมายืนยันเองว่า ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลผู้ใช้ได้ ซึ่งถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล และในทางสากลก็มีกฎหมายละเมิดสิทธิของผู้ใช้ไลน์คุ้มครองอยู่ หากทางการไทยประสานมาที่ไลน์ประเทศไทย เพื่อจะขอข้อมูลผู้ใช้ไลน์ต้องมีหมายศาลและติดต่อไปที่ไลน์ ประเทศญี่ปุ่นหรือบริษัทแม่ก่อน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทแม่ด้วยว่าจะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ได้หรือไม่
ล่าสุดวานนี้(23 ธ.ค.57) ประชาชาติธุรกิจ รายงาน บทสัมภาษณ์ พรชัย รุจิประภา รมว.ไอซีที ในประเด็นดังกล่าว จึงได้คำตอบว่ากรณีที่มีกระแสข่าวระบุว่ากระทรวงไอซีทีได้ดักจับข้อมูลการสนทนาของประชาชนผ่านแอปพลิเคชั่น "ไลน์" เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนโดยนำวิธีการสืบหาพยานหลักฐานจากการกระทำผิดผ่านเว็บไซต์, เฟซบุ๊กมาปนกับกรณีแอปพลิเคชั่นแชท ซึ่งกรณีของเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก เป็นการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเปิดเผยในวงสาธารณะจึงค้นหาต้นตอได้จากหมายเลข IP และฐานข้อมูลในระบบทำให้ตามหาตัวบุคคลได้ง่ายกว่าการตามจับผ่านแอปพลิเคชั่นแชทที่เป็นการสนทนาระหว่างบุคคลต่อบุคคล และถ้าจะเข้าถึงข้อมูลในระบบได้ต้องประสานไปยังบริษัทไลน์ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งการจับกุมผู้กระทำผิดที่ผ่านมาสาวถึงต้นตอผู้ส่งได้ ด้วยการไล่ย้อนไปถึงผู้ส่งข้อความในแต่ละช่วง โดยมีข้อความในแชทที่ผู้แจ้งความนำมาให้เป็นหลักฐาน
“ผมพูดว่าให้ระวังอย่าส่งต่อข้อความทางไลน์นะ สามารถตามจับได้เพราะเวลาผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความ เขาจะนำข้อความในแชทมาให้ตำรวจทำให้สาวถึงต้นตอได้จากตรงนั้น ไม่ใช่ว่ากระทรวงไอซีทีไปนั่งส่องข้อความที่คนแชทกัน และที่เตือนว่า ให้ระวังอย่าส่งต่อเพราะตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แค่ส่งต่อก็ถือว่าสมรู้ร่วมคิดแล้วจะมาอ้างว่าไม่รู้ ไม่ตั้งใจไม่ได้ ตอนนี้ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่าที่นายกรัฐมนตรีหงุดหงิดเวลาอ่านข่าว เพราะไปลงไอ้ที่เราไม่ได้พูด เป็นแบบนี้เอง”
พรชัย ระบุด้วยว่า การแจ้งความคดีหมิ่นประมาทด้วยการส่งข้อความผ่านทางแอปพลิเคชั่น LINE มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  แต่ยังไม่มีกรณีใดที่ต้องประสานขอความร่วมมือไปยังบริษัทไลน์ประเทศญี่ปุ่น เพื่อขอข้อมูลในระบบของแอปพลิเคชั่นแต่อย่างใด
“ตั้งแต่มีข่าวออกไปได้คุยกับไลน์ ประเทศไทยแล้ว เขาก็เข้าใจว่า กระทรวงไอซีทีไม่ได้มีนโยบายไปกดดันหรือทำอย่างที่เป็นข่าว ทางนั้นยังมั่นใจด้วยว่า ผมไม่ได้พูดไปแบบนั้น เพราะก็รู้กันอยู่แล้วว่าทำไม่ได้ บริษัทเขาก็มีนโยบายคุ้มครองข้อมูลในระบบอยู่” พรชัย กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ไปเมืองจีน-ทดลองนั่งรถไฟความเร็วสูง 300 กม. ต่อชั่วโมง


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภริยา ทดลองนั่งรถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง-เทียนจิน ระยะทาง 120 กม. โดยรถไฟทำความเร็ว 300 กม./ชม. (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)
นายกรัฐมนตรีเยี่ยมศูนย์ควบคุมรถไฟของจีน โดยศึกษาการบริหารรถไฟ และสอบถามว่าถ้าทำให้รถไฟไทยมีความเร็ว 160 กม./ชม. จะทำได้หรือไม่ โดย พล.อ.ประยุทธ์ หวังว่าการเชื่อมโยงคมนาคม จะช่วยให้ประเทศพัฒนาและช่วยขับเคลื่อนอาเซียน พร้อมกันนี้ได้ทดลองนั่งรถไฟความเร็วสูงเส้นทางปักกิ่ง-เทียนจินด้วย
23 ธ.ค. 2557 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า ในระหว่างการเยือนอย่างเป็นทางการสาธารณรัฐประชาชนจีนของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในวันนี้ได้มีโอกาสเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมรถไฟแห่งประเทศจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางควบคุมรถไฟทั่วประเทศ
โดยนายกรัฐมนตรีให้ความสนใจและสอบถามถึงการบริหารจัดการ การควบคุมรถ เช่น การให้บริการประชาชนกับภาคการขนส่งที่แยกออกจากกัน รวมถึงหากไทยจะพัฒนารถไฟปัจจุบันให้เป็นรถไฟความเร็วปานกลาง ความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจะกระทบกับการเดินรถหรือไม่ โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมรถไฟแห่งประเทศไทย-จีน ยืนยันสามารถดำเนินการได้
จากนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะได้ทดลองนั่งรถไฟความเร็วสูงจากรถไฟทางใต้แห่งกรุงปักกิ่งไปยังนครเทียนจิน ซึ่งถือเป็นรถไฟความเร็วสูงของจีนซึ่งจากการทดลองนั่งครั้งนี้ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาทีระยะทาง 120 กิโลเมตร ความเร็วกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
นายกรัฐมนตรี เชื่อว่าการเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมในภูมิภาคที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ เชื่อมั่นว่าบนพื้นฐานการพัฒนานี้จะส่งเสริมให้ประเทศพัฒนาแล้วยังเป็นโอกาสเพิ่มความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจไทย-จีน และยังเป็นการขับเคลื่อนการรวมตัวเศรษฐกิจอาเซียนด้วย