วันอังคารที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ศาลสั่งดำเนินคดีเจ้าฟ้าหญิงคริสตินาแห่งสเปน ข้อหาฉ้อโกง

เจ้าฟ้าหญิงคริสตินาถือเป็นเชื้อพระวงศ์สเปนคนแรกที่ถูกสั่งดำเนินคดีหลังจากการสืบสวนกว่า 4 ปี ในคดีมีส่วนฉ้อโกงร่วมกับพระสวามี จากการเอาเงินทุนสาธารณะไปใช้ในการส่วนตัวและข้อหาฉ้อโกงอื่นๆ
22 ธ.ค. 2557 ศาลสเปนสั่งดำเนินคดีเจ้าฟ้าหญิงคริสตินา เดอ เบอร์บอน พระขนิษฐาของสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 แห่งสเปน ในข้อหาโกงภาษี ทำให้พระองค์เป็นเชื้อพระวงศ์ชาวสเปนคนแรกที่ถูกดำเนินคดีในชั้นศาล
มีการสืบสวนคดีโกงภาษีในสเปนซึ่งกินเวลานานกว่า 4 ปี โดยมีการสืบสวนเรื่องการทำธุรกรรมของบริษัทที่ อินนากิ เออดันการิน พระสวามีของพระนางมีร่วมเป็นเจ้าของอยู่ จนกระทั่งล่าสุดผู้พิพากษา โฮเซ คาสโตร สั่งฟ้องเจ้าฟ้าหญิงคริสตินาซึ่งกระทำความผิดในช่วงปีงบประมาณที่ 2550-2551 รวมถึงเออดันการินในข้อหาละเมิดหน้าที่ตามกฎหมาย ยักยอกเงินทุนสาธารณะ ฉ้อโกง ใช้เส้นสาย และฟอกเงิน
สำนักข่าวเดอะการ์เดียน ประเมินว่าจะมีการดำเนินคดีในชั้นศาลต่อเจ้าฟ้าหญิงคริสตินา พระสวามีของพระนางและคนอื่นๆ รวม 16 คน ที่มีส่วนร่วมกระทำความผิดภายในช่วงปลายปีหน้า โดยผู้พิพากษาระบุว่าเจ้าฟ้าหญิงคริสตินาทรงได้รับผลประโยชน์ทางการเงินจากอาชญากรรมตามข้อกล่าวหา นอกจากนี้ ยังจัดตั้งบริษัทร่วมกับเออดันการินเพื่อดึงเอาเงินทุนจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร 'นอส' ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว
เดอะการ์เดียนระบุอีกว่าราชวงศ์ของสเปนได้รับความนิยมลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่เจ้าฟ้าชายเฟลิเปสืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากพระราชาธิบดีฮวน คาร์ลอส ซึ่งมีเหตุการณ์น่าอับอายเกี่ยวกับเชื้อพระวงศ์เกิดขึ้นมากรวมถึงคดีของเจ้าฟ้าหญิงคริสตินาด้วย
การตัดสินดำเนินคดียังทำให้มีคำถามเรื่องเกี่ยวกับการสืบทอดราชสมบัติซึ่งเจ้าฟ้าหญิงคริสตินาทรงอยู่ในลำดับที่ 6 ของการสืบทอด สำนักราชวังสเปนออกแถลงการณ์ระบุถึงการดำเนินคดีนี้ว่าพวกเขาเคารพต่อความเป็นอิสระทางตุลาการ แต่ในเรื่องที่ว่าเจ้าฟ้าหญิงคริสตินาควรจะถูกถอดถอนจากการเป็นผู้มีสิทธิสืบทอดราชสมบัติหรือไม่ควรมาจากดุลยพินิจของพระนางเอง
ฝ่ายเจ้าฟ้าหญิงคริสตินาไม่ทรงให้การต่อข้อซักถามของศาลในช่วงที่มีการไต่สวนเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา แต่ก็ทรงให้การไว้ว่าพระนางไม่ได้มีส่วนตัดสินใจใดๆ ในกิจการรายวันขององค์กรนอส แม้จะทรงดำรงตำแหน่งเป็นประธานบอร์ดก็ตาม
ก่อนหน้านี้พนักงานอัยการของคดีเคยเรียกร้องให้ผู้พิพากษาคาสโตรตัดสินให้เจ้าฟ้าหญิงคริสตินาถูกรวมเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยคดีนี้ด้วย

รมว.ไอซีทีเผย ส่องสอด 'ไลน์' ได้-ลั่นจับตา 'ข้อความหมิ่นฯ'


รมว.ไอซีทีเผยสอดส่องไลน์ผู้ใช้ได้ พร้อมจับตาการส่งต่อข้อความหมิ่นสถาบันฯ เป็นพิเศษ ขู่ไม่ควรส่งต่อข้อความ เพราะอาจเข้าข่ายสมรู้ร่วมคิด
22 ธ.ค.2557 เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวถึงผลการสำรวจสถิติของไอซีที ที่พบว่าปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ใช้แอพพลิเคชั่น“ไลน์” ประมาณ 33 ล้านคน โดยมีการส่งข้อความวันละเกือบ 40 ล้านข้อความ ว่า กระทรวงไอซีทีสามารถสอดส่องตรวจดูได้หมดว่ามีการส่งต่อข้อความประเภทไหนบ้างในแอปพลิเคชั่น “ไลน์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อความหมิ่นประมาท ข้อความหมิ่นสถาบัน และข้อความที่มีผลกระทบด้านความมั่นคง ซึ่งจะถูกจับตาเป็นพิเศษ แต่ละวันมีการส่งข้อความประเภทนี้จำนวนมากเช่นกัน
นายพรชัย กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามหากใครได้รับการส่งต่อข้อความประเภทนี้ สามารถนำข้อความนั้นไปแจ้งความกับตำรวจ เพื่อให้กระทรวงไอซีทีดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ในการไปตรวจสอบหาต้นตอที่ส่งมาได้ 
ส่วนกรณีที่ถ้ามีการจับกุมแล้วผู้ต้องสงสัยอ้างว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” นายพรชัย กล่าวว่า คิดว่าฟังไม่ขึ้น เพราะตามกฎหมายแล้วถือว่าเป็นคนที่สมรู้ร่วมคิด ดังนั้นทางที่ดี ทุกคนไม่ควรส่งต่อข้อความประเภทนี้ 
นายพรชัย กล่าวอีกว่า กระทรวงไอซีที มีหน่วยงานหลักที่ดำเนินการติดตามเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมาย และเว็บไซต์ที่ขายยาที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยา (อย.) รวมถึงเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ซึ่งมีประมาณร้อยละ 20-30 โดยทำเป็นขบวนการ ซึ่งเราต้องจัดการทั้งหมด ถ้าเป็นเว็บไซต์ที่เปิดที่ต่างประเทศ เราก็จะมีการขอหมายศาล แล้วนำไปประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อส่งหมายศาลไปยังประเทศต้นทางของเว็บไซต์ แจ้งว่าเว็บไซต์นั้นๆ ทำผิดกฎหมายไทย ดังนั้นการดำเนินการอาจจะช้าเล็กน้อย เพราะต้องเจรจา เนื่องจากบางประเทศมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกับไทย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีการดำเนินการเป็นระยะ แม้จะไม่มีการแถลงข่าว แต่กระทรวงไอซีที ได้รายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบตลอด

ไลน์ยัน ไม่เปิดเผยข้อมูลผู้ใช้ ชี้มี กม.สากลคุ้มครอง-ต้องมีหมายศาล

          23 ธ.ค. 2557 เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า น.ส.วารดี วสวานนท์ หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ ไลน์ ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กรณีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) อ้างว่าสามารถตรวจสอบข้อความของผู้ใช้ไลน์ในไทย ประเภทหมิ่นสถาบันและกระทบต่อความมั่นคง และจะดำเนินการเอาผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ว่า ไม่ทราบว่าไอซีทีตรวจสอบด้วยวิธีอย่างไร แต่ไลน์ยืนยันว่าไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลผู้ใช้ได้ ซึ่งถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล และในทางสากลก็มีกฎหมายละเมิดสิทธิของผู้ใช้ไลน์คุ้มครองอยู่ หากทางการไทยประสานมาที่ไลน์ประเทศไทย เพื่อจะขอข้อมูลผู้ใช้ไลน์ต้องมีหมายศาลและติดต่อไปที่ไลน์ ประเทศญี่ปุ่นหรือบริษัทแม่ก่อน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทแม่ด้วยว่าจะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ได้หรือไม่

เปิดข้อสรุปนักศึกษาเวทีปฏิรูปฯ แนะจัดทำกระบวนการสรรหานักการเมืองที่ดี ชี้ไม่ควรมีวาระ ยึดทศพิธราชธรรม ฯลฯ


เปิดข้อเสนอนักศึกษาจากเวที ‘สานพลังนักศึกษาเพื่อปฏิรูปประเทศไทย’ แนะควรจัดทำกระบวนการสรรหา เพื่อค้นหานักการเมืองที่ดี ชี้ไม่ควรกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของนักการเมือง ใช้หลักทศพิธราชธรรม ฯลฯ เวทีเงียบเหงาไร้เงานักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมือง
ภาพบรรยากาศเวทีบางส่วน ที่มาภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา
23 ธ.ค.2557 จากที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จัดเวทีเสวนา สานพลังนักศึกษาเพื่อปฏิรูปประเทศไทย ที่จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 20 -22 ธ.ค. 57 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์  โดยเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา’ เผยแพร่ข้อสรุปจากเวที "สานพลังนักศึกษา เพื่อปฏิรูปประเทศไทย" ดังนี้
ประเด็นระบบการศึกษาที่ดี ซึ่งแต่ละกลุ่มเสนอประเด็นสำคัญดังนี้
1. ปรับปรุงระบบคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น มีมาตรฐานการเรียนการสอนที่ได้มาตรฐานเพื่อให้นำมาใช้ได้ในชีวิตจริง
2. มีการสอนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ เน้นให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็นมากกว่าท่องจำ รวมทั้งสอดแทรกคุณธรรมและจริยธรรมให้กับเด็ก ทำให้นักเรียนนักศึกษาได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมครอบคลุมทั้งผู้ยากจนและผู้ด้อยโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา
3. ปรับปรุงมาตรฐานโรงเรียนรัฐบาลให้เทียบเท่าเอกชน ปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีมาตรฐานเดียวกัน
4. จัดสรรงบประมาณในส่วนการเรียนการสอนให้มากขึ้น จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนท้องถิ่นให้เข้ากับภูมิภาคนั้นๆ
5. ส่วนของการพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษา พัฒนาครูผู้สอนให้มีคุณภาพ ต้องมีการประเมินเพื่อปรับปรุงแก้ไข โดยเน้นการประเมินด้านจรรยาบรรณครู รวมทั้งปรับเงินเดือนครู เพื่อสร้างแรงจูงใจ
6. สถาบันการศึกษาต้องปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง
7. จัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมและพัฒนาระบบการศึกษา มีระบบที่ตรวจสอบมาตรฐานระบบการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
8. ควรกำหนดนโยบายการเรียนฟรีให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาทุกระดับชั้นตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมศึกษา ควรทำให้เป็นนโยบายการเรียนฟรีอย่างแท้จริง
9. เพิ่มทักษะการสื่อสารและการใช้ภาษา ให้นำไปใช้ได้จริง
ประเด็นด้านพลเมืองที่ดี เสนอประเด็น มีปัญญาความรู้ความสามารถ มีคุณธรรม จริยธรรม โดยสร้างจิตสำนึกให้แก่ตนเอง รวมทั้งเผยแพร่คุณธรรม จริยธรรมด้วย
ประเด็นด้านการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น มีดังนี้
1. สร้างกฎหมายที่สามารถใช้ในการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นได้อย่างแท้จริง
2. ควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ
3. จัดตั้งองค์การนักศึกษาเพื่อต่อต้านการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม
4. ปรับโครงสร้างระดับภาครัฐและภาคเอกชนให้เข้มแข็ง ปรับโครงสร้างการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมและทั่วถึง
5. ทุกคนมีหน้าที่ในการตรวจสอบทุจริตคอรัปชั่นทุกรูปแบบ การตรวจสอบเป็นหน้าที่ของทุกคน
ประเด็นระบบการเมืองและนักการเมืองที่ดี เสนอประเด็นดังนี้
1. ระบบการเมืองต้องปราศจากการทุจริตคอรัปชั่น
2. จัดตั้งองค์กรนักศึกษาเพื่อตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น
3. จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ร่วมกับภาคประชาชน ในการใช้งบประมาณของรัฐ
4. จัดตั้งชมรมต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นในระดับเยาวชน
5. ต้องมีภาวะความเป็นผู้นำ มีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรมและจริยธรรม เป็นนักการเมืองอย่างมืออาชีพ
6. นักการเมืองควรมาจากประชาชนทั่วไป
7. ควรจัดเวทีเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
8. ไม่ควรกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของนักการเมือง มีบทลงโทษนักการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม
9. ใช้หลักทศพิธราชธรรมในการปกครองบ้านเมือง
10. จัดทำ MOU ทางสังคม กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง
11. ควรจัดทำกระบวนการสรรหา เพื่อค้นหานักการเมืองที่ดี
12. นักการเมืองต้องทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

 

วันเดียวกัน ทีมข่าววิทยุรัฐสภา รายงานบทสัมภาษณ์ของ ประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ระหว่างร่วมเวทีเสวนาดังกล่าว โดยประสาน กล่าวว่า เวทีเสวนาในครั้งนี้ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เพราะได้รับการตอบรับจากนักศึกษาเป็นอย่างดี และได้รับข้อมูลโดยตรงจากผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา ซึ่งถือเป็นประโยชน์ในการปฏิรูปประเทศ และประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ และนอกจาก สปช. จะเปิดเวทีรักฟังความเห็นจากนิสิตนักศึกษาแล้ว ก็จะมีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากประชาชนควบคู่ไปด้วย ต่อเนื่องตลอดปี ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติคาดหวังว่า นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้จะนำความรู้ที่ได้ไปขยายผล ร่วมกันเดินหน้าปฏิรูปประเทศ อย่างไรก็ตาม สปช. ได้ส่งหนังสือเชิญไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเชิญผู้นำนักศึกษาเข้าร่วมแสดงความเห็น ส่วนนักศึกษาที่มีความเห็นต่างจะเข้าร่วมหรือไม่ อยู่ที่ความสมัครใจ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถส่งความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศมายัง สปช.ได้ จนถึง ก. ย. 58 ส่วนความเห็นยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่งความเห็นมาที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ถึงก่อน 18 เม. ย. 58
ขณะที่ มติชนออนไลน์รายงานถึงเวทีดังกล่าวด้วยว่า จากการตรวจสอบพบว่าไม่มีรายชื่อของนักศึกษาที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองเข้าร่วม โดยทางคณะอนุกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นยินดีรับฟังทุกความคิดเห็น แต่ถ้าหากนักศึกษาที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ประสงค์ที่จะเข้าร่วม ก็สามารถส่งความเห็นมายังคณะอนุกรรมาธิการฯได้