วันอังคารที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ศาลรับฟ้อง ‘5 ชุดดำ’ 10 เมษา ข้อหาพกอาวุธอาวุธสงครามในที่ชุมนุมแล้ว ไม่มีข้อหาก่อการร้าย



‘วิญญัติ’ ทนาย กนส. เผยศาลรับฟ้องคดี "ชายชุดดำ" แล้ว ข้อพกพาอาวุธสงครามในวันที่ 10 เม.ย. 2553 แต่ไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาก่อการร้าย จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ยื่นประกันหญิงในกลุ่ม ก่อนศาลปฏิเสธ อ้างเกรงจำเลยจะหลบหนี
8 ธ.ค.2557 หลังจากเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ1 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีที่เรียกกันว่า "ชายชุดดำ" ซึ่งประกอบด้วยผู้ต้องหา 5 รายในจำนวนนี้เป็นหญิง 1 รายใน ฐานร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสูนปืน และวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ตาม พ.ร.บ อาวุธปืนฯ พ.ศ 2490 มาตรา 4 ,8 ทวิ,55,72 ทวิ และ 78 และข้อหาพกพาอาวุธไปในที่ชุมชนเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553
โดยศาลพิจารณาคำฟ้องและประทับรับฟ้องไว้พิจารณา เป็นคดีดำ อ.4022/2557
วันนี้(8 ธ.ค.)ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย ทั้ง 5 ราย โดย วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน(กนส.) กล่าวถึงคดีนี้ว่ามีการแจ้งข้อหาครอบครองและพกพาอาวุธสงครามในวันที่ 10 เม.ย.2553 แต่ไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาก่อการร้ายแต่อย่างใด จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธและศาลนัดตรวจสอบพยานหลักฐานในวันที่ 16 ก.พ.2558
วิญญัติกล่าวด้วยว่า วันนี้ได้ยื่นประกันจำเลยผู้หญิงด้วย เนื่องจากไม่มีความเกี่ยวข้องในคดี เป็นเพียงแฟนของหนึ่งในจำเลยและนั่งรถไปด้วยกันเท่านั้น และจำเลยหญิงก็เข้ามอบตัวต่อตำรวจเองไม่ได้ถูกจับกุมมาแต่อย่างใด แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันโดยอ้างว่าเกรงจำเลยจะหลบหนี
ทั้งนี้ จำเลยประกอบด้วย นายกิตติศักดิ์ หรือ อ้วน สุ่มศรี อายุ 45 ปี ชาวกรุงเทพฯ นายปรีชา หรือไก่เตี้ย อยู่เย็น อายุ 24 ปี ชาว จ.เชียงใหม่ นายรณฤทธิ์ หรือนะ สุริชา อายุ 33 ปีชาว จ.อุบลราชธานี นายชำนาญ หรือเล็ก ภาคีฉาย อายุ45 ปี ชาว กรุงเทพฯ และนางปุนิกา หรือ อร ชูศรี อายุ 39 ปี ชาวกรุงเทพฯ เป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ ในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสูนปืน และวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ตาม พ.ร.บ อาวุธปืนฯ พ.ศ 2490 มาตรา 4 ,8 ทวิ,55,72 ทวิ และ 78 และข้อหาพกพาอาวุธไปในที่ชุมชน
อัยการโจทก์ระบุฟ้องพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 จำเลยทั้งห้า กับพวกที่ยังหลบหนี และพวกที่ถึงแก่ความตายไปแล้ว ได้บังอาจร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน โดยร่วมกันพาอาวุธ เครื่องกระสุน และวัตถุระเบิด ที่สามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินให้เกิดความเสียหายได้ อาทิ เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 , ปืนเอ็ม 16 ,ปืนเอชเค 33 หรือปืนอาก้า ซึ่งนายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ไปตามบริเวณแยกคอกวัว ถนนตะนาว ,ถนนประชาธิปไตย แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร ซึ่งเป็นเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุจำเป็น เร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ทั้งในเวลาเกิดเหตุมีการชุมนุมกันของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งวัน เวลาเกิดเหตุ เจ้าพนักงานยึดได้อาวุธสงครามของกลาง กระทั่งวันที่ 11 กันยายน 2557 เจ้าพนักงานติดตามจับกุมพวกจำเลยทั้งห้า ส่งพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ดำเนินคดี ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิดด้วย

กรณ์ ชื่นชม พล.อ.ประยุทธ์ แก้เศรษฐกิจถูกทาง-ขอให้เสริมเรื่องสื่อสาร


กรณ์ จาติกวณิช สมัยที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถ่ายเมื่อปี 2552 (แฟ้มภาพ/flickr.com/thaigov)

กรณ์ จาติกวณิช ชี้ พล.อ.ประยุทธ์ แสดงบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจสามครั้ง ทุกครั้งมีผลบวก ทั้งเรื่องเบรคภาษีมูลค่าเพิ่ม-ไม่แก้ กม.ธุรกิจต่างด้าว-ปาฐกถา ศก.ดิจิทัล ล้วนเป็นแนวทางไม่ขายฝัน ยึดเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งยังมีนโยบายที่ดินตรงกับแนวทาง "โฉนดชุมชน" ของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
 เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. กรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.กระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โพสต์บทความหัวข้อ "นายกฯ กับการเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจ" ลงในเฟซบุ๊คแฟนเพจของเขา โดยการโพสต์บทความ เกิดขึ้นหลังจากที่เขาร่วมฟังปาฐกถาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวข้อ "เศรษฐกิจดิจิตอล พลิกโฉมประเทศไทย" โดยเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดงานสัมมนาโพสต์ทูเดย์ ฟอรั่ม เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. โดยบทความของกรณ์ มีรายละเอียดังนี้
000
นายกฯ กับการเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจ
อาทิตย์ที่ผ่านมาท่านนายกฯ ได้แสดงบทบาทสำคัญทางด้านเศรษฐกิจถึงสามครั้ง ทุกครั้งมีผลทางบวก และสะท้อนให้เห็นว่าไม่มีนายกฯ คนไหนที่ปล่อยงานทางด้านนี้ได้
ครั้งแรกคือที่ท่านออกมาเบรคข้อเสนอเรื่องการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ท่านกล่าวถูกต้องว่าขณะนี้ปัญหาหลักของเศรษฐกิจไทยคือประชาชนขาดกำลังซื้อ ดังนั้นเราต้องลดค่าใช้จ่ายให้ชาวบ้าน ไม่ใช่เพิ่ม
ครั้งที่สองคือท่านออกมาให้ความชัดเจนว่าท่านจะไม่เพิ่มความเข้มงวดในกฎหมายธุรกิจต่างด้าว โดยที่ท่านกล่าวตามสไตล์ท่านว่า ไทยยังต้องการนักลงทุนต่างชาติ ดังนั้นท่านจะไปสร้างปัญหาทำไม
ครั้งที่สามคือการปาฐกถาเรื่อง Digital Economy ซึ่งผมได้มีโอกาสไปนั่งฟังเอง นอกจากท่านพูดได้สนุกมาก (เรียกเสียงหัวร่อได้ตลอด 45 นาที) เรายังสามารถจับวิธีคิดทางด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของท่านอย่างชัดเจน
แนวคิดของท่านอยู่ในโลกความเป็นจริงไม่มีการขายฝัน และท่านปฏิบัติตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในทุกๆ เรื่อง เช่น
1. ความหมายของ 'เศรษฐกิจพอเพียง' ท่านกล่าวว่า:
"ใครมีน้อยก็ใช้น้อย ใครมีมากก็ใช้มาก ถ้าใครมีน้อยเราก็ช่วยให้้เขามีมาก เขาจะได้ใช้มากๆ"
2. เรื่องการลงทุนท่านพูดถึงโครงการรถไฟเส้นทางหนองคาย-มาบตาพุดว่า:
"เป็นรถไฟความเร็วปานกลาง 160 กิโลต่อชั่วโมง ลองนั่งไปก่อน ถ้านั่งเร็วเกินไปยังไม่ทันได้คุยกันเลยถึงแล้ว ไม่สนุก อยากเร็วก็นั่งเครื่องบินเอา"
3. ส่วนเรื่อง Digital Economy ท่านบอกว่าสนับสนุนเต็มที่ เพราะจะช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น ท่านบอกว่า:
"ประชาชนรู้แต่การผลิต แต่ไม่รู้การค้าขาย ก็เลยยังจนอยู่"
4. ท่านจะพูดถึงประชาชนในทุกเรื่อง ไม่พูดถึงวงเงิน ไม่พูดถึงตัวเลข แต่ก็ไม่ 'ประชานิยม' ตัวอย่างที่ดีคือท่านพูดเรื่องปัญหาที่ทำกินว่า :-
"ไม่มีที่ดินมาแจกใครแน่ แต่จะให้ใช้ร่วมกัน เหมือน kibbutz นั่นแหละ ก็ลองทำดู"
ผมเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ว่าไปแล้วก็ไม่ต่างกับ 'โฉนดชุมชน' ของคุณอภิสิทธิ์ และเป็นที่ยอมรับอยู่แล้วเพราะแรงงานเกษตรไทยเป็นแสนๆ คนเคยผ่านชีวิตใน kibbutz ที่อิสราเอล มาแล้วทั้งสิ้น
การสื่อสารสำคัญครับ และที่ผ่านมาการสื่อสารทางเศรษฐกิจยังหลวมไปบ้าง ท่านนายกฯ ลงมาตบให้เข้าที่อย่างนี้ ผมว่าได้ผล

iLaw: เรื่องของ ‘ธเนศ’ จำเลยผู้ป่วยจิตเภทในคดี 112 และการพิจารณาคดีลับ

คดีมาตรา 112 ของ "ธเนศ" (นามสมมติ) ไม่ใช่คดีใหญ่โตทางการเมืองและไม่เป็นที่รู้จักนัก เขาเป็นคนตัวเล็กๆ ที่ไม่มีฐานะทางเศรษฐกิจ ทางสังคม หรือไม่มีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณนัก
"ธเนศ" ถูกทหารและตำรวจบุกไปจับที่บ้านในเวลาเช้ามืด ของวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 ถูกกล่าวหาว่า ในปี 2553 เขาเป็นคนส่งอีเมล์ไปยังผู้รับ 1 คน ในอีเมลมีลิงก์ไปยัง sanamluangดอทblogspot ซึ่งมีข้อความผิดมาตรา 112 อยู่ในลิงก์นั้น 
"ธเนศ" รับสารภาพว่าเป็นคนส่งอีเมลจริง แต่ที่ทำไปเพราะได้ยินเสียงแว่วอยู่ในหูตลอดว่าให้ส่งอีเมลเพื่อช่วยคนเสื้อแดง จนปัจจุบันนี้เสียงแว่วก็ยังคงดังอยู่ และ "ธเนศ" ยังบอกกับทุกคนที่เขาคุยด้วยว่า ตลอดช่วงเวลา 20-30 ปีในชีวิตของเขา เขาถูกกลั่นแกล้งโดยข้าราชบริพารของราชสำนักมาโดยตลอด เช่น เมื่อขี่จักรยานไปที่ไหนก็จะมีคนเอาก้อนหินมาวางขวางทาง หรือเมื่อย้ายที่พักข้างห้องก็จะเคาะฝาห้องเสียงดัง หรือเมื่อย้ายที่ทำงานก็จะถูกยุแหย่ให้คนที่ทำงานไม่ชอบหน้า หรือเคยถูกคนขโมยของ และรู้สึกเหมือนถูกจับจ้องมอง ถูกคิดร้ายอยู่ตลอดเวลา

ทนายความแถลงต่อศาลถึงอาการป่วยทางจิต และขอให้ศาลยกฟ้อง เนื่องจากจำเลยมีอาการป่วย กระทำการไปโดยไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

ดูรายละเอียดคดีของ ธเนศ ได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/614#detail

"ธเนศ" เปิดเว็บไซต์ขายของทางอินเทอร์เน็ต อยู่กับพี่สาวที่บ้านในจังหวัดเพชรบูรณ์ วันที่ถูกจับถูกเจ้าหน้าที่ยึดสมุดบัญชีธนาคารซึ่งมีเงินอยู่ 80,000 บาทไปด้วย หลังถูกจับกุมตัว ตั้งข้อกล่าวหา ก็ถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมาตลอดและไม่มีเงินสำหรับยื่นประกันตัว

ก่อนถูกจับกุม "ธเนศ" ไม่เคยเข้ารับการตรวจอาการทางจิต ไม่เคยยอมไปหาหมอ เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นกับเขาจริงๆ เรือนจำพิเศษกรุงเทพตรวจพบอาการจึงส่งตัวให้สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์วินิจฉัยและมีผลตรวจออกมาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 ว่า "ป่วยเป็นโรคจิตหวาดระแวง (F20.0 Paranoid Schizophrenia) และมีอารมณ์เศร้าร่วมด้วย ปัจจุบันสามารถต่อสู้คดีได้"

8 ธันวาคม 2557 หลังส่งตัวฟ้องต่อศาลแล้ว พี่สาวของ "ธเนศ" จึงขอสมุดบัญชีที่ถูกยึดไปคืนจากตำรวจเพื่อเบิกเงิน 80,000 บาทออกมา และทำสัญญายืมเงินคนอื่นอีก 120,000 บาท รวมได้ 200,000 บาท เพื่อยื่นประกันตัวต่อศาลอาญาพร้อมใบรับรองแพทย์

ศาลอาญามีคำสั่ง ไม่ให้ประกันตัวด้วยเหตุผลว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร รายงานผลการตรวจรักษา พบว่าจำเลยป่วยเป็นโรคจิตหวาดระแวง แต่สามารถต่อสู้คดีได้ หากการเจ็บป่วยดังกล่าวทวีความรุนแรงถึงขั้นที่สถานคุมขังจะดูแลความปลอดภัยแก่ชีวิตของจำเลยได้แล้ว ย่อมต้องดำเนินการส่งตัวจำเลยให้แพทย์ทำการรักษาในขั้นตอนตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ต่อไป

            ทั้งที่ก่อนหน้านี้คดีมาตรา 112 ที่จำเลยกระทำความผิดไปเพราะมีอาการทางจิต อย่างน้อยสองคดี คือ 
      ศาลก็อนุญาตให้จำเลยได้ประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยมีอาการป่วยทางจิต ก็พิพากษาให้ส่งตัวไปรักษา และรอการลงโทษจำคุกไว้
ปัจจุบัน "ธเนศ" ยังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ศาลนัดพร้อมวันที่ 23 มีนาคม 2558 และนัดสืบพยาน คือ ผู้กล่าวหา พนักงานสอบสวน และแพทย์ผู้ตรวจรักษา วันที่ 8 พฤษภาคม 2558 ซึ่งเป็นการพิจารณาคดีโดยลับ ผู้ไม่เกี่ยวข้องกับคดีเข้าฟังไม่ได้

เข้าค่ายทหาร-ปรับทัศนคติลูกจ้าง รพ.ศรีนครินทร์-ฟ้องหมิ่นหรือไม่พิจารณาพรุ่งนี้


มณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายพระศรีพัชรินทร ภายในมีเรือนรับรอง สถานที่ซึ่ง กอ.รมน.ขอนแก่น ใช้สอบถามและปรับทัศนคตินางอารีย์ (ขอสงวนนามสกุล) ลูกจ้างประจำ รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวันนี้ (8 ธ.ค.) หลังนางอารีย์ถูกจิตแพทย์ รพ.สมิติเวช กล่าวหาว่าโพสต์รูปและข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (แฟ้มภาพ/Google Maps)

เชิญลูกจ้าง รพ.ศรีนครินทร์ และเพื่อนในภาพถ่าย สอบถามที่ มทบ.23-รอง ผอ.กอ.รมน.ขอนแก่น เผยปรับทัศนคติและปล่อยกลับบ้านแล้ว-แนะให้ใช้ราชาศัพท์เพื่อสื่อว่ารักในหลวงจริง ขอให้พร้อมแสดงตนเทิดทูนสถาบัน-ร่วมกิจกรรมเทิดพระเกียรติ ส่วนการดำเนินการตามกฎหมายให้ทหารพระธรรมนูญ-ตำรวจพิจารณาพรุ่งนี้
8 ธ.ค. 2557 - กรณีเจ้าหน้าที่จาก กอ.รมน. ได้เชิญตัวนางอารีย์ (ขอสงวนนามสกุล) ลูกจ้างประจำ ตำแหน่งบุคลากรทางการแพทย์ ของ รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไปสอบสวนหลังถูก นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์ชื่อดังประจำ รพ.สมิติเวช โพสต์ร้องเรียนว่านางอารีย์โพสต์รูปชุดดำและโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คซึ่งเขาเห็นว่าไม่เหมาะสมนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ล่าสุด ตามรายงานของมติชนออนไลน์ เมื่อเวลา 20.17 น. มีการเชิญตัวนางอารีย์ และเพื่อนของนางอารีย์อีก 4 คน ที่ปรากฏในภาพที่โพสต์ในเฟซบุ๊คมาสอบถามและปรับทัศนคติที่มณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) จ.ขอนแก่น โดยกินเวลา 5 ชั่วโมง ก่อนปล่อยตัว โดยทั้งหมดเดินทางกลับด้วยรถที่ทหารจัดเตรียมไว้ให้ และไม่ยอมให้สัมภาษณ์ใดๆ
ตามคำให้สัมภาษณ์ของ พ.อ.จตุรพงศ์ บกบน รอง ผอ.กอ.รมน. ระบุว่า นางอารีย์เป็นผู้โพสต์จริง และไม่มีเจตนาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นเพียงขอบคุณที่ทำให้เขาได้มีวันหยุดเท่านั้น นางอารีย์ให้การว่ารักในหลวง แต่ว่าไม่ชอบบางกลุ่มที่ใส่เสื้อเหลืองเพื่อแอบอ้างสถาบันและแต่งเสื้อเหลืองเพื่อไว้บังหน้า
ส่วนภาพคนแต่งชุดดำ 5 คน เป็นภาพถ่ายรูปในงานศพเมื่อวันที่ 15 พ.ย. นางอารีย์นำมาโพสต์โดยที่เพื่อนทั้ง 4 คนไม่มีส่วนรู้เห็น
พ.อ.จตุรพงศ์ กล่าวต่อไปว่า จากการเจรจาพูดคุยเพื่อปรับทัศนคติใหม่ โดยระบุว่า การกล่าวถึงในหลวงควรใช้คำพูดใหม่ ในฐานะสามัญชนควรใช้คำราชาศัพท์ ให้สื่อว่ารักในหลวงจริงอย่างที่พูด หากใช้ภาษาชาวบ้านก็ให้ระวัง ปรับตัว ปรับทัศนคติในสิ่งที่ไม่บังควร พ.อ.จตุรพงศ์ กล่าวว่า ทุกคนให้ความร่วมมือด้วยดีและยอมรับแนวทางที่ มทบ.23 ชี้แจง ทุกคนแสดงตนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์พร้อมที่จะร่วมกิจกรรมเพื่อเทิดพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวด้วยความศรัทธา
ทั้งนี้มีการทำข้อตกลงและปล่อยตัวทั้งหมดกลับ สำหรับแนวทางดำเนินการทางคดี ในวันพรุ่งนี้ (9 ธ.ค.) จะเชิญนายทหารพระธรรมนูญ อัยการทหาร นิติกร จว.ขอนแก่น และฝ่ายสอบสวนของตำรวจ ร่วมพิจารณาข้อความในเฟซบุ๊กหากเข้าข่ายในกรณีหมิ่นจะดำเนินการยื่นฟ้องตามกฎหมาย และในส่วนของ รพ.ศรีนครินทร์ จะมีคณะกรรมการตั้งสอบวินัยต่อไป
กลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ปกป้องสถาบัน แจ้งความต่อ นางอารีย์ (ขอสงวนนามสกุล) ที่ สน.ลุมพินี เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. (ที่มาของภาพ: สำนักข่าวไทย)
มีรายงานด้วยว่าวันเดียวกันนี้ ที่ สน.ลุมพินี ที่ สน.ลุมพินี กรุงเทพมหานคร น.ส.ณวศรสวรรค์ (อ่านว่า นะ-วะ-สอน-สะ-หวัน) ถิระโครต นำกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ปกป้องสถาบันพร้อมประชาชน รวม 5 คน เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีกับนางอารีย์ ด้วยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยระบุว่าเห็นโพสต์ดังกล่าวระหว่างโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสช่วงสถานีชิดลม จึงตั้งใจมาแจ้งความกับ สน.ลุมพินี (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ทหารบุกรื้อเต้นท์ร้านสตรอว์เบอร์รีที่อ.ปาย คาดใช้โลโก้หน้าคล้ายทักษิณ



8 ธ.ค.57 เจ้าหน้าที่ทหารที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เข้ารื้อเต้นท์และยึดสินค้าจากร้านขายผลิตภัณฑ์สตรอว์เบอร์รีชื่อ “@ PAI” ที่มีเจ้าของเป็นแกนนำเสื้อแดงเชียงใหม่ คาดเหตุจากร้านได้ทำโลโก้เป็นรูปการ์ตูนคนหน้าเหลี่ยม คล้ายภาพพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 
นายพิชิต ตามูล แกนนำกลุ่มนปช.แดงเชียงใหม่ และเจ้าของร้านสตรอว์เบอร์รีชื่อ “@ Pai” กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตนกับเพื่อนได้ร่วมกันลงทุนไปเปิดร้านขายผลิตภัณฑ์สตรอว์เบอร์รีจากชุมชน โดยนำผลิตภัณฑ์สตรอว์เบอร์รีจากอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีทั้งไวน์ชุมชน แยม น้ำสตรอว์เบอร์รี และสตรอว์เบอร์รีสด ไปเช่าพื้นที่ขายบริเวณหน้าร้านค้าแห่งหนึ่ง ใกล้จุดชมวิวชาวโลกที่อำเภอปาย โดยตั้งเป็นเต้นท์สีแดงขายสินค้า และมีโลโก้เป็นการ์ตูนรูปคนหน้าเหลี่ยม เน้นขายในช่วงเทศกาลวันหยุดในฤดูหนาวนี้ โดยมีน้องที่ช่วยงานเป็นคนเฝ้าร้านอยู่
ต่อมาในช่วงเช้าวันนี้ ขณะที่ตนได้กลับมายังเชียงใหม่แล้ว น้องที่ช่วยขายสินค้าที่ร้านได้แจ้งกับตนว่าได้มีเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนราว 7-8 นาย ไม่ทราบหน่วยสังกัด นั่งรถฮัมวี่เข้ามาที่ร้าน และได้มีการเข้ารื้อเต้นท์ที่ขายสินค้า พร้อมกับยึดสินค้าที่ขายอยู่ไปด้วย ซึ่งมีทั้งไวน์จำนวน 8 ขวด น้ำสตรอว์เบอร์รี 6 ขวด และแยม 20 ขวด ในเบื้องต้นยังไม่ทราบถึงสาเหตุการรื้อและยึดสินค้าดังกล่าวทีชัดเจน โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีเอกสารตรวจยึดใดๆ มาแจ้ง ไม่ทราบว่าใช้อำนาจอะไรเข้ามาตรวจยึดสินค้าดังกล่าว อีกทั้งในบริเวณร้านก็ไม่ได้มีป้ายหรือข้อความเรื่องการเมือง หรือแสดงออกคัดค้านรัฐประหารใดๆ 
ขณะเดียวกัน ตนได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ทหารที่ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ ซึงก็ยังไม่ทราบเรื่องเช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่ให้ความเห็นว่าไม่น่าจะทำได้ เพราะการตรวจยึดของเจ้าหน้าที่ก็ต้องเป็นไปตามระเบียบ และมีเหตุผลประกอบ

ประยุทธ์-ไพบูลย์ ออกงานร่วมกัน-ยืนยันไม่มีข่าวรัฐประหารซ้อน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (กลาง) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา (ที่ 4 จากขวา) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา (ที่ 4 จากซ้าย) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล (ที่ 3 จากขวา) ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บริหารของกระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมเปิดตัว "การอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม" เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ ร.ร.รามาการ์เด้น (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)
พล.อ.ประยุทธ์ - พล.อ.ไพบูลย์ ร่วมเปิดโครงการ "อำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม" มุ่งช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ ปชช.ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม-ผู้ด้อยโอกาส ขอทุกคนน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง-มีภูมิคุ้มกันที่ดีในการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสมตามฐานะ ด้าน พล.อ.ไพบูลย์ ยืนยันไม่มีข่าวรัฐประหารซ้อน
8 ธ.ค. 2557 - ที่โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพมหานคร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานเปิดงานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ "การอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม" พร้อมมอบนโยบายให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเกิดผลเป็นรูปธรรม แก้ไขปัญหาความซ้ำซ้อน อันจะนำไปสู่การอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคมตามนโยบายของรัฐบาล โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บริหารของกระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เครือข่ายภาคประชาชนร่วมงาน
ตามรายงานของ เว็บไซต์รัฐบาลไทย นายกรัฐมนตรี กล่าวในการเปิดงานว่า ตามที่ได้ให้สัญญาไว้จะทำให้บ้านเมืองมีความสงบสุขและปลอดภัยนั้น สิ่งที่รัฐบาลได้คิดและทำขณะนี้ยังดำเนินไปได้ช้า เพราะเป็นการแก้ไขระบบซึ่งทำได้ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตามเมื่อใครเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ต้องบริหารให้ได้ภายใต้ธรรมาภิบาล คือมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ดูแลทุกข์สุขของประชาชนทุกหมู่เหล่าให้ทั่วถึง ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวเหล่านั้น ถึงแม้ที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ จะมีดำเนินการกันอยู่แล้วแต่ยังเป็นไปค่อนข้างล่าช้า แต่เชื่อว่าทุกคนมีความตั้งใจที่จะร่วมกันดำเนินการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้น เห็นได้จากการที่หน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมงานในวันนี้โดยพร้อมเพรียง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรมในสังคม ซึ่งจากวันนี้เป็นต้นไปต้องถือเป็นคำมั่นสัญญากันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจกับประชาชนจะต้องเป็นมิตรและรักกัน ประชาชนสามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องพร้อมดูแลและให้ความช่วยเหลือประชาชน เพื่อจะได้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกันขึ้น
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการลงนามบันทึกความร่วมมือ “การอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” ว่าถือเป็นการอำนวยความยุติธรรมลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่จะปรับปรุงระบบการช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องต่าง ๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางอาชีพ รายได้ การด้อยโอกาสของคนในสังคมแต่ละประเภท เป็นต้น ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่ทุกคนสามารถนำมาใช้ได้เป็นอย่างดีในการดำเนินชีวิตในปัจจุบันคือการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางปฏิบัติ คือ ความมีเหตุมีผล พอประมาณ และมีภูมิคุ้มกันที่ดีในการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสมตามฐานะของแต่ละบุคคล โดยมีมากใช้มาก มีน้อยใช้น้อย และมีการเผื่อแผ่แบ่งกันซึ่งกันและกัน ตลอดจนสามารถลงทุนเพิ่มได้ตามฐานะของตนเอง โดยพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจต่าง ๆ ประกอบการดำเนินการหรือขยายกิจการอย่างเหมาะสมด้วย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมถือเป็นส่วนที่มีความสำคัญของทุกประเทศ   ที่จะต้องมีกฎหมายเพื่อให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ สามารถลดความขัดแย้งด้วยการเจรจาตกลงกัน เพื่อที่จะหาทางออกอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งนี้ที่ผ่านมาประเทศไทยก็ได้มีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยกระบวนการยุติธรรม แต่ยังมีปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวที่สิ้นเปลืองและเป็นภาระกับประชาชน ดังนั้นรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้หาแนวทางที่จะแก้ไขเรื่องเหล่านี้ โดยเข้าไปดูแลลดภาระให้ ซึ่งขณะนี้รัฐมีศูนย์ดำรงธรรมในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่จะคอยรับเรื่องราวร้องทุกข์ต่าง ๆ และดูแลช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้นอย่างใกล้ชิด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการดำเนินการในระยะเร่งด่วนที่ต้องทำทันที ส่วนระยะต่อไปที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนคือระยะที่ 2 โดยการเสนอกฎหมายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนเตรียมส่งมอบระยะที่ 3 ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติดำเนินการต่อ เพื่อนำกฎหมายไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป อย่างไรก็ตามในเรื่องการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน 18 หัวข้อ นั้น หากเรื่องใดสามารถนำมาดำเนินการได้ก่อนภายในช่วงนี้ก็ให้ดำเนินการได้ทันที ส่วนเรื่องที่จะต้องใช้ระยะเวลาก็ให้ส่งต่อรัฐบาลชุดต่อไปที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งจะเข้ามาบริหารประเทศ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ประชาชนต้องได้รับการดูแลในด้านต่าง ๆ อาทิ   ด้านความมั่นคง คือ เจ้าหน้าที่รัฐทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร จะต้องดูแลประชาชนให้เกิดความปลอดในชีวิตและทรัพย์สินอย่างยุติธรรม โดยทุกฝ่ายต้องเข้าใจและเห็นใจซึ่งกันและกัน เพื่อจะได้ช่วยกันแก้ไขปัญหา ลดความยากจน และความขัดแย้งในสังคม  รวมทั้งด้านสังคมจิตวิทยา คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งการให้ความรู้ การสอนในเรื่องต่าง ๆ ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนโต ทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้คิดวิเคราะห์อยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม ศีลธรรมและจริยธรรม ตลอดจนมีความรับผิดชอบและเผื่อแผ่แบ่งปันกันและกัน ทั้งนี้ปัจจุบันรัฐบาลได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องสอดคล้องกับประชาชนในแต่ละกลุ่ม เป็นต้น
อีกทั้งจะต้องแก้ไขปัญหาในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ โดยสร้างจิตสำนึกที่ดีไม่ให้มีการทุจริต คอร์รัปชันเกิดขึ้น และให้มีการใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ ขณะเดียวกันการแก้ไขปัญหาก็จะต้องมีการสร้าระบบและสร้างคนให้ได้ โดยเฉพาะการร่างกฎหมายอย่ามองเพียงว่าเป็นการจับผิดคน หรือเพื่อไม่ให้โกง แต่ต้องให้เกิดความสมดุลกันระหว่างการบริหารราชการแผ่นดินที่ดี การมีธรรมาภิบาล และระบบการตรวจสอบระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคือประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาคดีต่าง ๆ ติดค้างอยู่ที่ศาลเป็นจำนวนมาก เป็นต้น
ส่วนการปฏิรูปทั้ง 11 ด้านของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าจะต้องมีการดำเนินการปรับปรับปรุงกฎหมายและค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมให้เข้าถึงความเป็นธรรมได้ง่าย รวดเร็ว พร้อมทั้งส่งเสริมกองทุนยุติธรรมเพื่อคุ้มครองและช่วยเหลือคนจน ผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนคุ้มครองผู้ถูกล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน เยียวยาผู้บริสุทธิ์หรือได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นธรรม เน้นความสุจริตและประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐ เป็นต้น ซึ่งการลงนามบันทึกความร่วมมือ “การอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” วันนี้ ถือเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่ออำนวยความเป็นธรรมและคุ้มครองสิทธิ์ให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิในการกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมต่อไป
จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้เป็นร่วมสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ “การอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมประกาศความร่วมมือบูรณาการการทำงานเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคมตามนโยบายรัฐบาลต่อไป
ทั้งนี้ระหว่างในงานเปิดตัว นสพ.ไทยรัฐ ยังรายงานคำให้สัมภาษณ์ พล.อ.ไพบูลย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งถึงกระแสข่าวถึงการปฏิวัติซ้อน ว่าขอให้มั่นใจตามนายกรัฐมนตรี ที่ย้ำว่า จะไม่มีการปฏิวัติช้ำอย่างแน่นอน และส่วนตัวไม่ขอแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ ขณะที่สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ยังอยู่ ในภาวะปกติ รัฐบาลยังสามารถควบคุมได้

นครบาลเร่งติดตามผู้ถูกออกหมายจับอีก 3 รายคดีอ้างเบื้องสูง-บังคับลดหนี้


ผบก.น.5 เผยส่งสำนวนคดีอ้างเบื้องสูง-บังคับลดหนี้ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาแล้ว และจะส่งอัยการพิจารณาต่อไป และจะเร่งติดตามผู้ต้องหาตามหมายจับอีก 3 ราย รวมทั้ง "นพพร ศุภพิพัฒน์" ซึ่งทราบว่าออกจากประเทศเพื่อนบ้านแล้ว
9 ธ.ค. 2557 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า พล.ต.ต.เชาวลิต ประสพศิลป์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 เปิดเผยความคืบหน้าคดีหมิ่นเบื้องสูงและบังคับลดหนี้ เครือข่ายอดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ว่า พนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ส่งสำนวนคดีดังกล่าวในพื้นที่สถานีตำรวจนครบาลพระโขนง และสถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาแล้ว ตั้งแต่เมื่อวานที่ผ่านมา ซึ่งต้องรอให้พิจารณาเสร็จสิ้นก่อนนำสำนวนส่งอัยการพิจารณาความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ต่อไป ซึ่งในสำนวนดำเนินการอย่างรอบคอบทั้งพยานหลักฐานต่าง ๆ หากมีพยานหลักฐานเพิ่มเติมหลังจากนี้สามารถเพิ่มเติมเข้าไปในสำนวนได้
ขณะที่ การติดตามตัวผู้ต้องหาตามหมายจับในคดีที่ยังหลบหนีทั้ง 3 ราย คือนายนพพร ศุภพิพัฒน์ นายไพเชษฐ์ เมธิสริยพงศ์ และนายปรีชา ดาราไตรนั้น พลตำรวจตรีสมบัติ มิลินทจินดา ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า ขณะนี้ ยังไม่มีการประสานเข้ามอบตัวเพิ่มเติม โดยในส่วนของนายนพพรเบื้องต้นการสืบสวนทราบว่าออกจากประเทศกัมพูชาแล้ว ส่วนอีก 2 ราย คาดว่ายังคงอยู่ในประเทศไทย ซึ่งตำรวจยังคงเร่งติดตามตัว

ทหารลงพื้นที่ตรวจสอบชุมชนเพิ่มทรัพย์ ถามสิทธิ์ในการเข้าอยู่ในพื้นที่

9 ธ.ค. 2557 – เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 15.35 น.  ที่ชุมชนเพิ่มทรัพย์พัฒนา หมู่ที่ 1 ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี ได้มีการเข้าพูดคุยเจรจากันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหาร ตัวแทนบริษัท ไทยบุญทอง จำกัด และชาวชุมชนเพิ่มทรัพย์ฯ พร้อมด้วยสมาชิกกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้(สกต.) ซึ่งได้มีการเข้าเจรจาพูดคุยร่วมกันในกรณีการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่แปลงไทยบุญทองของชาวบ้านชุมชนเพิ่มทรัพย์ฯ เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างของชาวบ้านกับบริษัท 
ในการเข้ามาพูดคุยเจรจาครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทหารได้อ้างว่ามีคำสั่งจาก “นาย”  ให้เข้ามาดูแลพื้นที่แปลงไทยบุญทอง  และให้สอบถามถึงสิทธิ์การเข้าอยู่อาศัย ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของสมาชิกชุมชนเพิ่มทรัพย์ฯ พร้อมทั้งสอบถามถึงการจำนวนพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ จำนวนสมาชิก และขอรายชื่อของสมาชิกในชุมชนทุกคน
ขณะที่ในการเจราจาทางด้านเจ้าหน้าที่ทหารได้เสนอให้บริษัทเข้าเก็บเกี่ยวผลอาสินในพื้นที่ได้ไปก่อนขณะรอคำตัดสินจากศาล  เพื่อลดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ทางตัวแทน สกต. ได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมการเก็บเกี่ยวผลอาสิน และไม่เห็นด้วยกับการที่ทหารจะให้บริษัทเป็นผู้รับประโยชน์ และต่อรองให้รอจนกว่าจะมีการประชุมในวันที่  18 ธ.ค. นี้
ตัวแทนชุมชนได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สมาชิกในชุมชนได้เข้ามาจัดตั้งชุมชน และใช้ประโยชน์ในพื้นที่ในแปลงไทยบุญทอง เนื่องจากยึดตามมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2546 ซึ่งได้เริ่มเข้าสร้างบ้านตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. 2556 ทั้งนี้ชุมชนเพิ่มทรัพย์เป็นชุมชนที่ตั้งใหม่อยู่ในเขตป่าสงวน แห่งชาติป่าบ้านหมากและป่าปากพัง สืบเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ในพื้นที่ก็มีชาวบ้านเข้าบุกรุกป่าทำไร่ปลูกข้าว สร้างบ้านเรือนอยู่กันหลายกลุ่มบ้าน หลังจากนั้นประมาณปี พ.ศ. 2527 ก็เริ่มมีกลุ่มนายหน้าเข้ามากว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้าน ราคาไร่ละ200 ถึง 300 บาท และในปี พ. ศ. 2528 บริษัทไทยบุญทอง จำกัด ก็เข้ามาบุกเบิกขอใช้พื้นที่ในการปลูกปาล์มน้ำมัน บริษัทไทยบุญทอง จำกัดได้ขอจดทะเบียนเมือวันที่ 23 พ.ย. 2527 และขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวน วันที่ 3 ธ.ค. 2528  จำนวนเนื้อที่ 3,070 – 3 – 55 ไร่ และบุกรุกที่ ส.ป.ก. 1,114 ไร่  จนถึงวันที่  2  ธ.ค. 2543  เป็นวันสิ้นสุดสัญญา ทว่าบริษัทยังประกอบกิจการปกติจนถึง พ.ศ. 2556    
สมาชิกชุมชนเพิ่มทรัพย์ซึ่งเดิมเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จึงรวมตัวกันเข้าตรวจสอบ และเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินซึ่งเป็นพื้นที่ จำนวน 265 ไร่ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนขอเป็นพื้นที่โฉนดชุมชน และเข้าร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ในการดำเนินการประสานนโยบายกับทางภาครัฐร่วมกับทางเครือข่ายประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ขปส.  จนมีข้อตกลง ( MOU )  สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์เมื่อวันที่  22  พ.ค. 2556 ได้อนุญาตให้อยู่ในพื้นที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จ

ชมรมคนรักในหลวงขอนแก่น แจ้งความ ม.112 ลูกจ้าง รพ.ศรีนครินทร์



สุพัฒน์ ปัสสาคร นำสมาชิกชมรมคนรักในหลวง จ.ขอนแก่น ไปแจ้งความต่อลูกจ้าง รพ.ศรีนครินทร์ โพสต์รูปสวมชุดดำ จึงหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ขณะที่ฝ่ายสืบสวนทหาร-ฝ่ายปกครอง กำลังหารือเรื่องดำเนินการทางกฎหมายต่อลูกจ้าง รพ.ศรีนครินทร์ หลังวานนี้พามาปรับทัศนคติที่ มทบ.23
9 ธ.ค. 2557 - กรณีที่ นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์ชื่อดังประจำ รพ.สมิติเวช โพสต์ร้องเรียนว่า นางอารีย์ ลูกจ้างประจำ ตำแหน่งบุคลากรทางการแพทย์ ของ รพ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น โพสต์รูปชุดดำและโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คซึ่งเขาเห็นว่าไม่เหมาะสมนั้น และต่อมา กลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ปกป้องสถาบันพร้อมประชาชน รวม 5 คน ไปฟ้องเอาผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ สน.ลุมพินี กรุงเทพมหานคร เมื่อวานนี้ (8 ธ.ค.) นั้น(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ที่มา: ชมรมคนรักในหลวง จ.ขอนแก่น
ล่าสุด วันนี้ เว็บไซต์ชมรมคนรักในหลวง รายงานว่า นายสุพัฒน์ ปัสสาคร ประธานชมรมคนรักในหลวงจังหวัดขอนแก่น เดินทางไปที่ สภ.เมืองขอนแก่น เพื่อแจ้งความต่อนางอารีย์ ว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามความผิด ม.112 ประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากนางอารีย์โพสต์ภาพสวมชุดดำ
อนึ่ง เมื่อวานนี้ ภายหลังเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. พานางอารีย์และเพื่อนอีก 4 คน ที่ปรากฏอยู่ในภาพ มาสอบถามและปรับทัศนคติที่ มทบ.23 ค่ายพระศรีพัชรินทร จ.ขอนแก่น ต่อมา พ.อ.จตุรพงศ์ บกบน รอง ผอ.กอ.รมน. ระบุว่า นางอารีย์เป็นผู้โพสต์จริง และไม่มีเจตนาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และจากการเจรจาพูดคุยเพื่อปรับทัศนคติใหม่ ได้แนะนำว่าการกล่าวถึงในหลวงควรใช้คำพูดใหม่ ในฐานะสามัญชนควรใช้คำราชาศัพท์ ให้สื่อว่ารักในหลวงจริงอย่างที่พูด หากใช้ภาษาชาวบ้านก็ให้ระวัง ปรับตัว ปรับทัศนคติในสิ่งที่ไม่บังควร พ.อ.จตุรพงศ์ กล่าวด้วยว่า ทุกคนที่ถูกเชิญมาให้ความร่วมมือด้วยดีและยอมรับแนวทางที่ มทบ.23 ชี้แจง ทุกคนแสดงตนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์พร้อมที่จะร่วมกิจกรรมเพื่อเทิดพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวด้วยความศรัทธา

อุทธรณ์พิพากษายืน จำคุก ‘อริสมันต์’ 1 ปี ไม่รอลงอาญา คดีปราศรัยหมิ่นฯ ‘อภิสิทธิ์’

9 ธ.ค.2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจำคุกอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นเวลา 12 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ในคดีที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ฟ้องความผิดฐานหมิ่นประมาททำให้เสียชื่อเสียง
สำหรับคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกล่าวข้อความเท็จ ยุยง ปลุกปั่นประชาชนที่รับฟังปราศรัย ทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง กระทั่งเหตุการณ์บานปลายทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง จึงพิพากษาให้จำคุก 12 เดือน แต่ด้วยเหตุที่กล่าวพาดพิงสถาบันจึงไม่รอการลงโทษและให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาในสื่อหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน
ขณะที่ทนายความของอริสมันต์ เปิดเผยว่าได้ยื่นประกันศาลชั้นต้นเป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท และเบื้องต้นจะเพิ่มวงเงินประกันเป็นเงินสดอีก 300,000 บาท รวมเป็น 500,000 บาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของศาล
รายละเอียดเพิ่มเติม เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณา 604 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ 4177/2552 ที่ อภิสิทธิ์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง อริสมันต์ จำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา จากกรณีเมื่อเดือน ต.ค. 2552 จำเลยปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและหน้าทำเนียบรัฐบาล ถ่ายทอดสดผ่านช่องพีเพิล แชนแนล ออกอากาศไปทั่วประเทศ กล่าวหาโจทก์ทำนองว่า การบริหารงานรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ กู้ยืมเงินมาเพื่อทุจริตคดโกงในโครงการต่างๆ และกล่าวหาว่าโจทก์เป็นผู้หน่วงเหนี่ยวคำร้องฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทำให้ล่าช้า รวมถึงสั่งทหารฆ่าประชาชน ปล้นอำนาจจากประชาชน และไม่ดำเนินการตรวจสอบการทุจริตในโครงการต่างๆ ซึ่งการปราศรัยของจำเลยล้วนเป็นเท็จ ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า โจทก์และจำเลยเป็นนักการเมืองที่อยู่พรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม และมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน สาระสำคัญที่จำเลยพูดปราศรัยมิใช่เป็นการแสดงอุดมการณ์ทางการเมือง แต่จำเลยกล่าวปราศรัยสรุปว่าโจทก์และรัฐบาลของโจทก์มีเรื่องทุจริต ซึ่งเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต อีกทั้งการเมืองเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชน ประเทศชาติและบ้านเมือง มิใช่เป็นการนำเอาถ้อยคำที่ดุเด็ดเผ็ดมันมาพูดปราศรัยโจมตีฝ่ายตรงข้ามตามที่จำเลยกล่าวอ้าง ข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยปราศรัยว่ารัฐบาลโจทก์ทุจริตคอรัปชั่นในโครงการต่างๆและคลิปเสียงที่อ้างว่าโจทก์สั่งฆ่าประชาชนนั้น เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต เห็นว่า แม้จำเลยจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลและมีสิทธิจะวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบโจทก์ในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่คำปราศรัยของจำเลยได้กล่าวยืนยันข้อเท็จจริง โดยจำเลยไม่ได้ตรวจสอบให้ได้ความจริงก่อน และส่อแสดงให้เห็นเจตนาไม่สุจริตของจำเลย จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาใส่ความให้โจทก์เกิดความเสียหาย
ส่วนที่จำเลยปราศรัยว่าโจทก์เป็นผู้หน่วงเหนี่ยวคำร้องฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั้นเห็นว่า เป็นเรื่องที่จำเลยเข้าใจไปเอง ซึ่งข้อเท็จจริงนั้น โจทก์จะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ตามขั้นตอนของกฎหมายบ้านเมือง ส่วนที่จำเลยปราศรัยว่าโจทก์ปล้นอำนาจไปจากประชาชนนั้นเห็นว่า วาทะทางการเมืองจะต้องมีสาระและมีประโยชน์ต่อประชาชน คำว่าปล้นมิใช่วาทะที่ยอมรับกันได้ในสังคม ที่จำเลยอ้างว่าแม้จะเป็นถ้อยคำรุนแรง แต่ก็เป็นวาทะทางการเมืองนั้นฟังไม่ขึ้น นอกจากนี้จำเลยยังมีการกล่าวปราศรัยถึงสถาบันนั้นเห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ย่อมเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะกล่าวปราศรัยพาดพิง อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย
ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ขอให้ลงโทษสถานเบาและให้รอการลงโทษนั้นเห็นว่า จำเลยเป็น ส.ส.จะต้องมีความสำนึกและความรับผิดชอบ จะต้องทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติบ้านเมืองเป็นหลัก มิใช่กล่าวปราศรัยโจมตีบุคคลอื่นซึ่งอยู่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกับตัวจำเลยด้วยถ้อยคำที่ดุเด็ดเผ็ดร้อนโดยอ้างว่าเป็นวาทะทางการเมืองซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องที่ศาลชั้นต้นไม่รอการลงโทษจำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเหมาะสมแล้ว พิพากษายืน จำคุก 12 เดือน ตามศาลชั้นต้น

พล.อ.ประยุทธ์ขอความร่วมมือภาคเอกชนซื้อยางให้ได้ กก.ละ 50-60 บาท

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังประชุม ครม. เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชี้แจงราคายางพาราผูกกับราคาน้ำมัน ทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ขณะนี้ได้เร่งการจ่ายเงินช่วยเหลือแล้ว และขอความร่วมมือภาคเอกชนรับซื้อยางพารากิโลกรัมละ 50 – 60 บาท โดยจะรีบแจ้งระยะเวลาการรับซื้อ
9 ธ.ค. 2557 - เว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานว่า วันนี้ (9 ธ.ค.57) เวลา 13.40 น. ณ บริเวณหน้าตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงการแก้ไขปัญหายางพาราว่า ในส่วนงบประมาณเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางพารานั้น อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการตามระเบียบราชการจึงทำให้งบประมาณยังไม่ถึงมือประชาชน แต่ได้เร่งรัดให้สำนักงบประมาณดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือแล้ว ซึ่งตัวแทนชาวสวนยางพาราต่างเข้าใจ และพอใจกับการช่วยเหลือ
ทั้งนี้ ต่อไปต้องแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยการตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูแล อย่างไรก็ตาม ราคายางพาราผูกพันกับราคาน้ำมันทั่วโลกทำให้ทั่วโลกได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า จากการหารือกับผู้ประกอบการภาคเอกชน ได้ขอความร่วมมือให้ช่วยซื้อยางพารา ในราคากิโลกรัมละ 50 – 60 บาท ซึ่งผู้ประกอบการภาคเอกชนได้ให้ความร่วมมือ โดยจะนำข้อเสนอไปหารือต่อไป สำหรับระยะเวลาในการซื้อนั้น จะทำให้เร็วที่สุด
สำหรับราคาซื้อขายยางพาราวันนี้ เว็บไซต์สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำงานสวนยาง รายงานว่า ที่ตลาดรับซื้อท้องถิ่น ราคายางแผ่นดิบ กก.ละ 41 บาท น้ำยางสด กก.ละ 37 บาท ส่วนราคาประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ยางแผ่นดิบ กก.ละ 46 บาท ยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 กก.ละ 52 บาท ส่วนราคาซื้อขายตลาด FOB กรุงเทพฯ อยู่ที่ กก.ละ 50.90 บาท

ม.เที่ยงคืน ประกาศ 'หลักการพื้นฐาน 6 ประการ' ชี้ล้มรธน. โดยกลไกนอกรัฐสภาไม่อาจนิรโทษฯ

9 ธ.ค.2557 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เผยแพร่คำประกาศ “หลักการพื้นฐาน 6 ประการ” เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2557 โดยระบุว่า ใน พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน นับแต่นั้นเป็นต้นมารัฐธรรมนูญก็มีฐานะเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในเวลา 82 ปี ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย สังคมไทยต้องเผชิญกับความผันผวนทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง มีการล้มล้างรัฐธรรมนูญและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นใช้บังคับมากมายหลายครั้งและการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ก็ล้มล้างรัฐธรรมนูญลงไปอีกครั้งหนึ่ง การล้มล้างรัฐธรรมนูญทุกครั้งย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการของระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในอดีตที่ผ่านมาก็มักกระทำโดยคณะบุคคลที่มิได้เป็นตัวแทนของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย จนอาจกล่าวได้ว่าการร่างและการประกาศใช้รัฐธรรมนูญตกอยู่ภายใต้อำนาจของคณะบุคคลจำนวนน้อยที่ยึดกุมอำนาจทางการเมืองเอาไว้ในมือจนสามารถกำหนดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในรัฐไทยตามอำเภอใจ ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ในอดีตก็ได้ให้บทเรียนมาแล้วว่าการร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ยึดหลักการประชาธิปไตยอย่างแท้จริงนั้น มีส่วนอย่างสำคัญในความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาต่างๆ  และไม่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสังคมไทย จนนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงอย่างน่าเศร้าใจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จึงขอประกาศ “หลักการพื้นฐาน 6 ประการ” ที่พึงยึดถืออย่างเคร่งครัดในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังต่อไปนี้
หนึ่ง อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชน การใช้อำนาจขององค์กรรัฐ ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายตุลาการ จะต้องมาจากความยินยอมของประชาชนและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้กำกับตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยทางตรงหรือทางอ้อม ต้องไม่มีองค์กรของรัฐแม้แต่องค์กรเดียวที่จะสามารถใช้อำนาจโดยปราศจากการตรวจสอบและความรับผิด
สอง สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยจะต้องได้รับการรับรองไว้อย่างชัดเจนเพื่อให้การใช้อำนาจรัฐในทุกเรื่องเป็นไปโดยความเคารพและโดยการให้ความสำคัญแก่สิทธิและเสรีภาพของประชาชนไม่ว่าจะเป็นในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมหรือวัฒนธรรม รวมทั้งการยอมรับว่าบุคคลย่อมเสมอภาคและเท่าเทียมกันโดยไม่มีใครถูกเลือกปฏิบัติหรือถูกเหยียดหยามหรือถูกทำลายความเป็นมนุษย์ให้ต่ำต้อยลงไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง
สาม ระบบสวัสดิการพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและการพัฒนาศักยภาพของบุคคลจะต้องมีความเท่าเทียม เช่น การศึกษา การสาธารณสุข การกระจายทรัพยากรที่ดิน การรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตประจำวัน เป็นต้น เพื่อให้คนไทยแต่ละคนสามารถสร้างความมั่นคงและมีความสามารถที่จะกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้อย่างอิสระและมีศักดิ์ศรี
สี่ ศาลและองค์กรอิสระจะต้องมีความเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทางการเมือง การปฏิบัติหน้าที่จะต้องสามารถตรวจสอบได้รวมทั้งมีความรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ศาลและองค์กรอิสระมิได้ยึดถือหลักการทางวิชาชีพทั้งนี้ ก็เพื่อให้การทำหน้าที่ชี้ขาดข้อขัดแย้งต่างๆ ของศาลและองค์กรอิสระได้รับการยอมรับจากทุกกลุ่มทุกฝ่ายในสังคมการเมืองไทย
ห้า อำนาจในการปกครองและการดูแลทรัพยากรธรรมชาติจะต้องกระจายไปสู่ชุมชนและท้องถิ่น โดยให้ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทหลักในการบริหารงานในท้องถิ่น ลดบทบาทของระบบราชการส่วนกลางและยกเลิกระบบราชการส่วนภูมิภาค
หก การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องสามารถกระทำได้ตามวิถีทางของระบบรัฐสภาและสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และถ้าหากมีบุคคลหรือองค์กรใดจงใจบิดเบือนบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญก็จะต้องได้รับการลงโทษตามกฎหมายทั้งนี้ รวมถึงการล้มล้างรัฐธรรมนูญโดยกลไกนอกรัฐสภาที่จะต้องถือว่ามีความผิดร้ายแรงโดยไม่อาจนิรโทษกรรมได้อีกต่อไป
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอประกาศว่ารัฐธรรมนูญเป็นกติกาสูงสุดในการอยู่ร่วมกันในสังคม การร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยและไม่ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างไพศาลของสังคมไทยย่อมยากที่จะทำให้รัฐธรรมนูญได้รับการยอมรับในฐานะ “กฎหมายสูงสุด” และถึงแม้ว่าจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วก็ยากที่จะหวังได้ว่าสังคมไทยจะบรรลุถึงความสงบสุขและความเป็นธรรม มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงขอเรียกร้องให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดำเนินไปไปโดยคำนึงถึง “หลักการพื้นฐาน 6 ประการ” ข้างต้นนี้