วันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ระบบรถไฟความเร็วสูง: ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ บรรยายที่ธรรมศาสตร์


ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ บรรยายพิเศษที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 1 พ.ย. 57

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ บรรยายพิเศษที่คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ "ระบบรถไฟความเร็วสูง ภารกิจของรัฐในการให้บริการสาธารณะแบบโครงข่ายกับประชาคมอาเซียน" และย้ำว่าโครงสร้างพื้นฐานเป็น Growth Engines คือปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ได้บรรยายพิเศษที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ในหัวข้อ "ระบบรถไฟความเร็วสูง ภารกิจของรัฐในการให้บริการสาธารณะแบบโครงข่ายกับประชาคมอาเซียน" โดยเป็นการบรรยายสำหรับวิชา น.735 หลักการและปัญหาในกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ
สำหรับหัวข้อการบรรยายแบ่งเป็น (1) กฎหมายมหาชนกับภารกิจของกระทรวงคมนาคม ได้แก่ การขนส่งทางบก การขนส่งทางน้ำ การขนส่งทางอากาศ และการขนส่งทางราง (2) ภาพรวมการขนส่งของประเทศ (3) รถไฟความเร็วสูงกับการพัฒนาหลากมิติของประเทศในอนาคต (4) ความคุ้มค่าในการลงทุนรถไฟความเร็วสูง (5) ใครควรเป็นผู้ลงทุนรถไฟความเร็วสูง และ (6) การเชื่อมต่อระบบรางกับประเทศเพื่อนบ้าน
คลิปการบรรยายโดยชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (ชมผ่าน YouTube คลิกที่นี่)
โครงสร้างทางรถไฟปัจจุบัน ความยาวทางรถไฟ 4,034 กม. ถึงร้อยละ 91.5 เป็นทางเดี่ยว (ที่มา: ภาพประกอบบรรยายของชัชชาติ สิทธิพันธุ์)
เส้นทางรถไฟที่ก่อสร้างภายหลังเปลี่ยนหน่วยงานรับผิดชอบจากกรมรถไฟหลวง กระทรวงโยธาธิการ เป็น รฟท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ เมื่อ พ.ศ. 2494 จนถึงปัจจุบันมีเส้นทางรถไฟเพิ่มขึ้น 666 กม. (ที่มา: ภาพประกอบบรรยายของชัชชาติ สิทธิพันธุ์)
แผนพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาลชุดก่อน (ที่มา: ภาพประกอบบรรยายของชัชชาติ สิทธิพันธุ์)
รถไฟความเร็วสูง ในกรณีของญี่ปุ่น มีส่วนแบ่งทางการตลาดในสัดส่วนที่สูงตั้งแต่การเดินทาง 500 กม. ขึ้นไปจนถึง 1,000 กม. (ที่มา: ภาพประกอบบรรยายของชัชชาติ สิทธิพันธุ์)
เปรียบเทียบคุณลักษณ์ ลูกค้าเป้าหมายและสินค้าสำหรับรถไฟทางคู่ รางมิเตอร์เกจ 1.00 เมตร และรถไฟความเร็วสูง ทางมาตรฐาน 1.435 เมตร (ที่มา: ภาพประกอบบรรยายของชัชชาติ สิทธิพันธุ์)
ปัจจุบันก่อสร้างถนนไปแล้ว 2 แสนกิโลเมตร ทางรถไฟหยุดขยายตัวมาตั้งแต่ พ.ศ. 2494
ตอนหนึ่งชัชชาติกล่าวถึงภาพรวมโครงสร้างพื้นฐานของไทยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีถนนเยอะมากคือกว่า 2 แสนกิโลเมตร ขณะที่มีทางรถไฟ 4 พันกิโลเมตร โดยช่วงหลังไทยให้ความสำคัญกับถนนมาก การขนส่งทางถนนคิดเป็นร้อยละ 86 การขนส่งทางรถไฟอยู่ที่ร้อยละ 2 และการขนส่งทางน้ำคิดเป็นร้อยละ 12 โดยต้นทุนเฉลี่ยในการขนส่งของถนนแพงสุด โดยต้นทุนขนส่งทางถนน 1.72 บาท ต่อตันต่อ กม. ทางราง 0.93 บาท ต่อตันต่อ กม. และทางน้ำ 0.64 บาท ต่อตันต่อ กม. ปีหนึ่งเสียต้นทุนให้กับการขนส่งเยอะมาก โดยในปี 2554 ต้นทุนการขนส่งอยู่ที่ร้อยละ 14.5 ของ GDP
ทั้งนี้อันดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในปี 2555-2556 ไทยอยู่ที่อันดับที่ 49 เทียบกับมาเลเซียซึ่งอยู่อันดับที่ 29 เกาหลีใต้อยู่ที่อันดับ 22 ญี่ปุ่นอันดับ 16 สิงคโปร์อันดับ 2 และล่าสุดในปี 2556-2557 ไทยตกจากอันดับ 49 ไปอยู่อันดับที่ 61 และอนาคตจะแย่ลงเรื่อยๆ หากไม่ทำอะไร
โดยเฉพาะรถไฟ คุณภาพระบบรางของไทย อันดับก็ลดลงเรื่อยๆ จากปี 2552-2553 อยู่อันดับ 52 ในปี 2556-2557 ตกไปอยู่อันดับ 72 ขณะที่เพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียปี 2556-2557 อยู่อันดับ 18 เกาหลีใต้อยู่อันดับที่ 8 สิงคโปร์อันดับที่ 10 อินโดนีเซียอยู่อันดับที่ 44 ซึ่งเพิ่มขึ้นตลอดจากที่เคยอยู่อันดับที่ 60 ในปี 2552-2553
ทั้งนี้ต้นทุนการขนส่ง เป็นข้อมูลที่นักลงทุนใช้พิจารณาเรื่องการตัดสินใจการลงทุน ว่าประเทศนั้นๆ มีจุดแข็งด้านไหน ต้นทุนการขนส่งจึงถือเป็นต้นทุนของทุกคน
ในส่วนของโครงสร้างรถไฟไทยปัจจุบัน มีความยาวของรถไฟ 4,034 กิโลเมตร ในจำนวนนี้มีทางคู่เพียงร้อยละ 6 ที่เหลือเป็นรถไฟทางเดี่ยว เวลาเดินทางต้องรอสับหลีก โดยทางรถไฟก่อนปี พ.ศ. 2494 ซึ่งดูแลโดยกรมรถไฟหลวง กระทรวงโยธาธิการ รถไฟมีระยะทาง 3,368 กิโลเมตร แต่ก่อนเหมือนกรมทางหลวง เป็นกิจการของรัฐ ใช้งบประมาณเพื่อก่อสร้างทางได้ จากนั้นเปลี่ยนเป็นรัฐวิสาหกิจ รฟท. มีการก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มขึ้นมาเพียง 666 กม. ทั้งนี้เมื่อเป็นรัฐวิสาหกิจก็เหมือนกลายเป็นบริษัท มีการขาดทุน มีหนี้ ไม่ใช่กรมทางหลวงที่เดินหน้าลุยสร้างถนนตลอด

รถไฟความเร็วสูง 250 กม./ชม. เพราะคนทุกคนต้องการความเร็ว
ในเรื่องรถไฟความเร็วสูง รู้สึกว่าโครงการปัจจุบันนี้จะกลายเป็นรถไฟขนาดรางมาตรฐาน (standard gauge) สำหรับรถไฟปกติที่ไทยใช้อยู่คือรางมิเตอร์เกจ กว้าง 1.00 เมตร เป็นรางปกติไม่ใช่ของไม่ดี ความเร็ววิ่งได้ถึง 120-160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ มีคนไปพูดว่าเป็นรางอาณานิคม ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องอคติส่วนตัว ญี่ปุ่นก็มีรางขนาด 1.00 เมตร ใช้สำหรับรถไฟคอมมิวเตอร์ทั่วไป สำหรับลูกค้าเป้าหมายของรถไฟรางมิเตอร์เกจ คือ ผู้โดยสารที่ไม่ต้องการความเร็วมาก รถไฟชานเมือง สินค้าหนักเช่น อ้อย น้ำตาล ถ่านหิน ขอให้ตรงเวลา แต่มาถึงเร็วเกินก็ไม่ดี เพราะถ้าเรือยังมาจะเอาสินค้าไปกองรอที่ไหน
ส่วนที่พูดว่าทางคู่ปัจจุบันคือทางคู่ขนาดราง 1.00 เมตร ก็พยายามปรับทางรถไฟราง 1.00 เมตร ที่มีระยะทางกว่า 4 พันกิโลเมตรนี้ให้เป็นรถไฟทางคู่ให้มากที่สุด เพื่อลดอุบัติเหตุ และเพิ่มความเร็ว
อีกอันหนึ่งคือรถไฟความเร็วสูง รถไฟความเร็วสูง รางขนาด 1.00 เมตรวิ่งไม่ได้ ต้องใช้รางมาตรฐานขนาด 1.435 เมตร เพราะวิ่งที่ความเร็ว 250-400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กลุ่มเป้าหมายเช่น เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ ที่ใช้เวลา 2 ชั่วโมง นักท่องเที่ยวที่ต้องการความเร็ว แต่ผมคิดว่าปัจจุบันทุกๆ คนก็ต้องการความเร็ว อย่างเช่นสายการบินโลว์คอส ผมไปเชียงใหม่เห็นคนนั่งเครื่องบินเพื่อมาซื้อของเช้า ตอนเย็นก็เดินทางกลับมีเยอะแยะไป เป็นเรื่องธรรมดา ทั้งนี้มูลค่าเวลาของเราสูง กลุ่มลูกค้าเป้าหมายมีเยอะ ส่วนการขนส่ง จะใช้ขนส่งสินค้าที่มีมูลค่าสูง ไม่ได้ใช้ขนผักแต่ใช้ขนสินค้ามูลค่าสูง สินค้าการเกษตรก็ขนได้ แต่ควรเป็นสิ่งที่เพิ่มมูลค่าไว้แล้ว เพราะค่าระวางในการขนส่งจะแพงกว่าปกติ

รถไฟทางรางคู่ รางมาตรฐาน 1.435 เมตร ขอดูความเร็วก่อนว่าใช่รถไฟความเร็วสูงหรือไม่
ส่วนแผนก่อสร้างรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตรของรัฐบาล คสช. นั้น ชัชชาติกล่าวว่า ในยุคปัจจุบันเท่าที่ฟัง จะมีโครงการรถไฟทางคู่ ที่ใช้รางมาตรฐาน 1.435 เมตร แต่พอไม่พูดถึงความเร็วของรถไฟจึงไม่รู้ว่าจะทำรถไฟความเร็วสูงหรือเปล่า คงต้องหารายละเอียดเพิ่มเติมว่าเส้นทางรถไฟจากหนองคายมามาบตาพุดที่รัฐบาลจะทำใช้ความเร็วแค่ไหน ถ้าความเร็วอยู่ที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็ไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง ถ้าความเร็วถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็เป็นรถไฟความเร็วสูง
สำหรับเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ต้องเรียนว่าอย่าเพิ่งหวังต่างประเทศ ถ้าอยู่ไม่ได้ด้วยตัวเองไม่ต้องทำ ถ้าเราหวังให้รถไฟความเร็วสูงพาคนจีนมาเที่ยมเมืองไทยนั้นเป็นไปไม่ได้ ระยะแรกต้องมาจาก Domestic demand (ความต้องการภายในประเทศ) 100% ในอนาคตถ้าเชื่อมมาเลเซียได้ดี ควรเพิ่ม ถ้าเชื่อมจีนได้ดี ควรเพิ่ม แต่ถ้าวิเคราะห์ตัวเลขในประเทศแล้วไม่พออันนี้ยังทำไม่ได้
หลักการผมคิดว่าต้องทำให้ชัดเลยว่ารถไฟความเร็วสูงเชื่อมภายในประเทศก่อน เชื่อมเมืองใหญ่ในประเทศ แล้วค่อยไปเชื่อมเมืองนอก ส่วนรถไฟทางคู่เชื่อมต่างประเทศได้ ตอนนี้เชื่อมแล้ว 3 จุด คือท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ คลองลึก-ปอยเปต ก็คือรถสินค้า และผู้โดยสารที่ไม่ต้องการความเร็วมาก
สำหรับรถไฟความเร็วสูง กรณีศึกษาของญี่ปุ่นจะมีส่วนแบ่งตลาดในสัดส่วนที่สูงระหว่างการเดินทางในระยะทางตั้งแต่ 500 กม. - 1,000 กม. ส่วนเครื่องบินจะเริ่มที่ตั้งแต่ 1,000 กม. ขึ้นไป กรณีของประเทศไทยจึงเหมาะมากสำหรับรถไฟความเร็วสูง โดยชัชชาติ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างบรรยายว่า "รถไฟความเร็วสูงไม่ใช่แค่รถไฟ แต่คืออนาคต คือสิ่งที่จะพัฒนาโอกาสให้กับคนทั้งประเทศ"

แหล่งเงินกู้: ความจำเป็นสำหรับงบประมาณก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง
ตอนหนึ่งชัชชาติ กล่าวถึงวิธีหางบประมาณก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง โดยกล่าวว่า "มีคนชอบพูดว่า ไม่ต้องกู้หรอกใช้เงินงบประมาณ ผมว่าเขาสับสนนิดหนึ่ง ก็ต้องกู้อยู่ดี เพราะงบประมาณเราขาดดุลอยู่แล้ว เอาใส่ในงบประมาณ เบียดงบกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุขได้ ถ้าจะลงทุนขนาดนี้ต้องกู้อยู่แล้ว จ่ายตรงที่โครงการ แล้วค่อยออกโครงการเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ต้องกู้ เหมือนเราก่อสร้างบ้าน ทยอยจ่ายคืนเป็นหลักธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ปกติ"
ในปี 2557 กรมทางหลวง ได้งบประมาณ 4.69 หมื่นล้านบาท และ ทางหลวงชนบทได้งบประมาณ  3.66 หมื่นล้านบาท ขณะที่ รฟท. ได้งบประมาณ 1.069 พันล้านบาท ที่เหลือต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้ด้านนอก ที่ผ่านมา รฟท. เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ระหว่างปี 2551 - 2557 เพื่อปรับปรุงทาง สะพาน ระบบอาณัติสัญญาณ และระบบโทรคมนาคม แต่ได้รับการจัดสรรเฉลี่ยร้อยละ 8.8 ของคำขอเท่านั้น
"งบประมาณประเทศไทยประจำปี 2556 อยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท ลงไปที่เศรษฐกิจร้อยละ 20 ในจำนวนนี้ลงที่ภาคขนส่งร้อยละ 23  หรือร้อยละ 4 งบประมาณทั้งหมด ถามว่าร้อยละ 4 จะเอาไปจ่ายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก็เป็นเรื่องค่อนข้างนาน สุดท้ายต้องมีการกู้ที่มีระเบียบวินัยการคลังกำกับ"
"ถามว่ากู้แปลกไหม รถไฟเส้นทางที่เห็นในปัจจุบัน เป็นการกู้มาทำ รถไฟที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานให้ไว้ มีการออกบอนด์ หรือพันธบัตร ระหว่างปี 2448-2467 รวม 9 ล้านปอนด์ เพื่อนำมาก่อสร้างทางรถไฟและระบบชลประทาน โดยจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 4.5 และภายใน 40 ปี ก็ชำระหนี้หมด เป็นรางรถไฟที่ให้ใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ ความจริงแล้วการก่อหนี้ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ถ้าเป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ" ชัชชาติกล่าว
ส่วนเรื่องหน่วยงานไหนจะเป็นผู้ผลักดันรถไฟความเร็วสูง ชัชชาตินำเสนอว่า ที่่ผ่านมามีการศึกษาว่าควรแบ่งออกเป็นหน่วยงานที่ลงทุนในโครงสร้าง หน่วยงานด้านบำรุงรักษา ลงทุนขบวนรถ เดินรถ และซ่อมบำรุง ซึ่งต่างประเทศมีรูปแบบบริหารจัดการแตกต่างกันไป ที่คิดเบื้องต้นของไทย วางแผนให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แล้วให้การรถไฟ หรือหน่วยงาน เป็นผู้ซื้อรถ เป็นผู้ดำเนินการ นอกจากนี้มีข้อเสนอให้ในอนาคตมีกรมการขนส่งทางราง กลับไปสู่รูปแบบกรมรถไฟหลวง เหมือนกรมทางหลวง สร้างทางรถไฟ แล้วให้เอกชนมาวิ่ง เหมือนถนนที่ใครมาวิ่งก็ได้ ในอนาคตกรมการขนส่งทางรางก็เป็น Regulator สร้างรถไฟ แล้วให้เอกชนแข่งขัน ก็จะทำให้รถไฟลดความ Monopoly (ผูกขาด)

โครงสร้างพื้นฐานเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
"ถ้าถามว่าประเทศไทยปัจจุบัน ปีนี้ GDP เติบโตเท่าไหร่ ก็คือ ร้อยละ 1.4 ซึ่งปรับลดลงแล้ว น่ากลัวนะ ถามว่าอะไรคือ ยุทธศาสตร์ที่จะใช้ผลักดันการเจริญเติบโต GDP ของประเทศในอนาคต หมายความว่าถ้าเราจะเติบโตให้ได้ร้อยละ 4 ต่อปี เราปล่อยตามยถากรรมไม่ได้ อะไรคือ Growth Engines หรือเครื่องขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มีใครเคยคิดเรื่องนี้ไหม มันเป็นเรื่องรูปธรรม ไม่ใช่สโลแกน"
"อะไรคือ Growth Engines ที่เรามอง อะไรคือยุทธศาสตร์ อันแรกคือ ท่องเที่ยวและบริการ นี่เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ทำรายได้หลัก เราอาศัยของเก่ากิน แต่เราก็ไม่ได้ลงทุนเพิ่มเติม อันที่สอง การเชื่อมโยง AEC สำคัญ เพราะเราเป็นจุดศูนย์กลาง อันที่สาม การพัฒนาสู่สังคมเมือง (Urbanization) เรายังมีโอกาสเติบโตอีกมากในต่างจังหวัด ทั้งอุดรธานี ขอนแก่น เชียงใหม่ และสี่การใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งหมดนี้เชื่อมโยงมาที่โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม"
"ถ้าเราสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้ ก็จะกลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 4 เรื่องนี้ เช่น ท่องเที่ยวดีขึ้น คนเดินทางมาถึงด้วยรถไฟความเร็วสูงแล้วเที่ยว ไปเชียงใหม่ ไปจุดต่างๆ ได้เร็วขึ้น เวลาเดินทางอยู่บนรถเราใช้เงินไม่ได้ เวลาที่ลงจากรถ แล้วเราจับจ่ายใช้สอย เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเชื่อมโยงเพื่อนบ้าน ดังนั้น ที่เราเคยมองไว้คือให้โครงสร้างพื้นฐานเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก ปัจจุบันไม่รู้เหมือนกันว่ายุทธศาสตร์คืออะไร เพราะไม่ค่อยได้ฟังข่าวเท่าไหร่ คงต้องรอดูว่ารัฐบาลมองเรื่องนี้อย่างไร"
ตอนท้ายชัชชาติ ยกวาทะของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ที่ว่า "We cannot solve our problems with the same thinking we used when we created them" และอธิบายว่า "ปัญหาต่างๆ ในประเทศไทย เราไม่สามารถแก้ไขได้โดยใช้ความคิดเดิมๆ หรือคนเดิมๆ มาแก้ไข ถ้าเราจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคมนาคมหรืออะไรก็ตาม ปัญหาที่ทำมา 20 ปีไม่เสร็จ เพราะติดในระบบงบประมาณเพราะโดนตัด หากใช้วิธีเดิมคิดก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไป ถ้าเราไม่กล้าคิดออกนอกกรอบ ถ้าเราเอาคนเดิมๆ สร้างปัญหามาแก้ปัญหา ก็จะเป็นแบบนี้ต่อไป ผมว่าชีวิตก็คือหวังคนรุ่นใหม่ ผม 48 แล้ว อีก 10 ปีก็จะเกษียณ ก็ต้องหวังพวกเรารุ่นใหม่ ที่อาจารย์เชิญมาผมก็ดีใจมากเพราะได้พูดกับน้องๆ ทุกมหาวิทยาลัย เพราะอนาคตคือพวกเรา อนาคตไม่ได้ฝากคนอื่น พวกเราต้องเป็นตัวขับเคลื่อน เราต้องมีเหตุผล ดูยุทธศาสตร์ประเทศช่วยกัน"
"และขอปิดท้ายด้วยคำพูดของสตีป จ็อป "Stay Hungry, Stay foolish" ไม่ใช่ให้หิวข้าวไม่ไช่ให้โง่นะ แต่ว่า ให้กระหายความรู้ อย่าคิดว่าตัวเองฉลาด ต้องเป็นคนโง่ ต้องอ่านหนังสือ หาความรู้ ดูสิ่งรอบตัว อย่าคิดว่าพอในความรู้ ประเทศต้องฝากกับทุกคน" ชัชชาติกล่าวปิดท้ายการนำเสนอ และหลังจากนั้นได้ตอบคำถามแลกเปลี่ยนกับนักศึกษาและผู้สนใจฟังการบรรยายอีกราว 1 ชั่วโมงเศษ

12 องค์กรภาคประชาชนอีสาน ประกาศไม่ร่วมปฏิรูปคณะรัฐประหาร คสช.

ร่อนแถลงการณ์ระบุไม่มีกลไกที่ยึดโยงอำนาจประชาชน  ปัญหาพื้นที่ระอุข้าราชการไล่จับชาวบ้าน ออกกฎหมายเอื้อต่อการลงทุน เปิดสัมปทานขายทรัพยากรชาติ ไม่คิดถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม ชี้กฎอัยการศึกเป็นเครื่องมือละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตั้งคำถามรัฐประหารเป็นโอกาสของประชาชนจริงหรือ?ประชาชนจะปฏิรูปขณะที่ไม่มีสิทธิและเสรีภาพได้อย่างไร? และ ประชาชนเป็นเพียงหางเครื่องของคณะรัฐประหารหรือไม่?
๐๐๐๐
แถลงการณ์
ไม่ปฏิรูปใต้ท็อปบู๊ท คสช.
นับตั้งแต่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ได้ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557  และออกประกาศ คำสั่ง เพื่อล้มล้างนายกรัฐมนตรี  คณะรัฐมนตรี  สภาผู้แทนราษฎร  และวุฒิสภา  ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ทั้งหมด  แล้วแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี  คณะรัฐมนตรี (ครม.)  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)  ขึ้นมาแทนที่  ผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนคือไม่มีกลไกทางการเมืองใดที่แต่งตั้งโดย คสช. ที่ยึดโยงอำนาจกับประชาชน  ในที่สุดการเมืองไทยก็วนเวียนกลับมาสู่วงจร อุบาทว์ เช่นเดิม
ภาพที่เราเห็นคือพฤติกรรมของผู้นำรัฐบาลและหัวหน้า คสช.ได้ใช้อำนาจแบบสั่งการ หรือใช้อำนาจเผด็จการทหารมากกว่าการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น ตั้งคำถาม คาถาที่ท่านผู้นำสั่งการให้ประชาชนท่องคือ “มีปัญหาไปเสนอที่ สปช. และศูนย์ดำรงธรรม” ขณะเดียวกันกลไกข้าราชการและทหารในระดับพื้นที่ก็ไล่จับชาวบ้าน  ผลักดันให้ออกจากผืนดินทำกิน  และเดินหน้าลดขั้นตอนและกระบวนการขออนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเอื้อต่อการลงทุน เตรียมเสนอ  ร่าง พ.ร.บ.แร่  ร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ  เดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียม ขายทรัพยากรชาติ ผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากโครงการต่าง ๆ ไม่ได้อยู่ในสายตาของท่านผู้นำ แน่นอนว่าใครขัดขวางจะต้องถูกจัดการโดยอำนาจที่มาจากกฎอัยการศึก และกฎอัยการศึกไม่มีท่าทีที่จะยกเลิกแต่อย่างใด  โดย คณะ คสช. อ้างว่ายังมีคลื่นใต้น้ำพร้อมที่จะสร้างความวุ่นวาย แต่กฎอัยการศึกนั้นได้ใช้เป็นเครื่องมือละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนที่จะออกมาปกป้องสิทธิของตนเองจากการกระทำของข้าราชการและทหาร  โดยกลุ่มชาวบ้านที่เดือดร้อนถูกเหมารวมเป็นพวกที่ไม่อยากให้ประเทศเดินหน้าปฏิรูป ทั้ง ๆ ที่การปกป้องชุมชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
คณะ  คสช. ได้ใช้วาทกรรม “เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย คืนความสุขให้ประชาชน” ครอบงำคนในสังคมให้เชื่อโดยไม่ตั้งคำถามว่าจะเป็นจริงหรือไม่ ในขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่มี องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs)  นักศึกษา  นักวิชาการ  องค์กรอิสระหรือปัญญาชน ที่กำลังเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปประเทศควรจะต้องตั้งคำถามว่า 
1.) การรัฐประหารครั้งนี้เป็นโอกาสของประชาชนจริงหรือไม่?

2.) ประชาชนจะปฏิรูปประเทศในขณะที่ยังไม่มีสิทธิและเสรีภาพหรืออย่างไร?

3.) ประชาชนเป็นเพียงหางเครื่องของคณะรัฐประหารหรือชนชั้นนำหรือไม่?
เราในนามเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน อีสาน   มีความเห็นว่า การเข้าไปอยู่ในกลไกของคณะรัฐประหาร  เช่น  คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นการสนับสนุนให้คณะรัฐประหารหรือกลไกที่เกิดจากรัฐประหารทำลายความเข้มแข็งของภาคประชาชน และไม่สามารถมีพลังคัดค้านและตรวจสอบนโยบายรัฐ  กฎหมาย  หรือโครงการพัฒนาใด ๆ ที่เกิดในช่วงรัฐประหารได้เลย  หรือกลับกลายเป็นการยอมรับการรัฐประหารในที่สุด 
ดังนั้นเราจึงขอประกาศจุดยืน ดังนี้
1.  ไม่ยอมรับอำนาจรัฐประหารจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
2.  ไม่ยอมรับกลไกและเครื่องมือที่เกิดจากรัฐประหาร  เช่น  คณะรัฐมนตรี  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ  และสภาปฏิรูปแห่งชาติ  และปฏิเสธการเข้าร่วมเวทีหรือกระบวนการใด ๆ ที่กำลังจัดทำข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ
ด้วยความเคารพ
2  พฤศจิกายน 2557
รายชื่อองค์กร
1.  ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ อีสาน (ศสส.)
2.  กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
3.  โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
4.  เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ประเทศไทย
5.  เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน
6.  ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชี (ศสช.)
7.  โครงการปฏิบัติการเพื่อสิทธิคนจน (ภาคอีสาน)
8.  เครือข่ายนักสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน
9.  กลุ่มบ้านสันติภาพ
10.  กลุ่มสื่อเสียงคนอีสาน
11.  ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)
12.  ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม
รายชื่อบุคคล
1.  นายจักรพงศ์  ธนวรพงศ์
2.  นายสุวิทย์  กุหลาบวงษ์
3.  นายเลิศศักดิ์  คำคงศักดิ์
4.  นายสิริศักดิ์  สะดวก
5.  นายปัญญา  คำลาภ
6.  นายเดชา  คำเบ้าเมือง
7.  นายนัฐพงษ์  ราชมี
8.  นายณตฤณ  ฉอ้อนศรี
10.  นายไพฑูรย์  สร้อยสด
11.  นายสว่าง  น้อยคำ
12.  นางชลธิชา  ตั้งวรมงคล
13.  นายวิทูวัจน์ ทองบุ
14.  น.ส.ณัฐพร อาจหาญ
15.  นายอดิศักดิ์  ตุ้มอ่อน
16.  นายนิติกร  ค้ำชู
17.  นายยงยุทธ  ดงประถา

พล.อ.ประยุทธ์หวังไทยก้าวพ้น 'กับดักประชาธิปไตย' ขอสื่องดเสนอภาพทักษิณ


นายกรัฐมนตรีระบุที่ผ่านมายังมีการปลุกระดม - คสช.จึงหาทางดูแล ขอร้อง ปชช. ลดการกดดันเพื่อให้ประเทศเดินหน้า ขอสื่ออย่านำเสนอข่าวจนทำให้มีการชุมนุม เพื่อให้บ้านเมืองสงบ เพื่อให้เกิดการลงทุน และงดเสนอภาพทักษิณ อย่าเสนอภาพคนทำผิด กม. ก็จบแล้ว
พล.อ.ประยุทธ์ระบุที่ผ่านมามีการปลุกระดม คสช. จึงต้องหามาตรการดูแล
3 พ.ย. 2557 - เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า เวลา 11.20 น. ณ บริเวณทางเชื่อมตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2  เมษายน 2558 ครั้งที่ 1/2557 ถึงมาตรการควบคุมการปลุกระดม มวลชนของกลุ่มแกนนำต่าง ๆ ว่า ฝ่ายความมั่นคงได้มีการหารืออยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่ได้มีการเชิญบุคคลที่เป็นแกนนำมาพูดคุย เพื่อสร้างความเข้าใจเป็นประจำ แต่ที่ผ่านมาก็ยังมีการปลุกระดมเป็นระยะๆ จึงต้องหามาตรการในการดูแลต่อไป โดยต้องระมัดระวัง เพราะเกรงว่าอาจจะไปกระทบและจำกัดสิทธิในการแสดงออก พร้อมกล่าวขอร้องให้ประชาชนได้เข้าใจ และช่วยกันลดแรงกดดัน เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้โอกาสทุกคนในการแสดงออก แต่ถ้าการแสดงออกทำให้เกิดปัญหาต้องหามาตรการดูแล
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า วันนี้เราต้องก้าวพ้นกับดักของประเทศไทยให้ได้ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมไปถึงด้านจิตวิทยา โดยเฉพาะกับดักคำว่า "ประชาธิปไตย" ต้องก้าวพ้นให้ได้ว่าจะเป็นอย่างไร วันนี้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาเพื่อให้ประเทศเดินต่อไปในอนาคต
สำหรับปัญหาเดิมๆ ก็ให้กระบวนการทางกฎหมายดำเนินการต่อไป คนผิดอย่างไรก็ผิดซึ่ง คสช. ไม่มีอำนาจดำเนินการทั้งหมด ทั้งนี้ ในเรื่องของการชุมนุมเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ต้องขอความร่วมมือสื่อมวลชนช่วยลดแรงปะทะในการนำเสนออย่าให้มีการชุมนุม มีอะไรขอให้พูดคุยหารือกัน อย่าให้เกิดผลกระทบตามมา เพื่อให้บ้านเมืองสงบ และสร้างการยอมรับของต่างชาติ เพื่อให้เกิดการลงทุนในประเทศมากขึ้น ยืนยันได้เตรียมใช้กฎหมายในการดำเนินการกับกลุ่มผู้ชุมนุมตามขั้นตอนของกฎหมาย ยืนยันรัฐบาลยอมรับความเห็นที่แตกต่างเพื่อนำมาแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยทำเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก แต่ไม่ลืมประโยชน์ของคนส่วนน้อย และจะใช้อำนาจเฉพาะในสิ่งที่จำเป็น และสร้างสรรค์เพื่อแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมือง โดยจะให้ความเป็นธรรมแก่คนทุกระดับ
ขอสื่ออย่าเสนอภาพ 'ทักษิณ' ใครทำผิดกฎหมายอย่าเสนอภาพก็จบแล้ว
นอกจากนี้ ข่าวสด รายงานด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "สื่อก็อย่าไปเสนอข่าวซิ ถ้าใครทำผิดกฎหมายก็อย่าเสนอภาพคนที่ผิดกฎหมาย ก็จบแล้ว แล้วเสนอกันทำไม วันนี้ก็อยากขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนว่าอะไรที่ยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรมก็อย่าเพิ่งนำเสนอ และจะเห็นได้ว่าผมไม่ได้ไปห้ามปรามใคร เพราะยังไม่มีการตัดสินอย่างชัดเจน แต่ถ้ามันมีคดีความอยู่แล้วก็ขอให้สื่อช่วยลดการนำเสนอลงหน่อยได้มั้ย เพราะเมื่อมีการนำเสนอขึ้นมาอย่างนี้มันก็มีคนมาเปรียบเทียบอย่างนั้นอย่างนี้ ว่าทำไมรัฐบาลไม่ทำอะไร ถ้าช่วยกันไม่เสนอข่าวก็เบาลง ในสังคมออนไลน์ที่มีการเสนอก็ปล่อยไป หนังสือพิมพ์ก็เป็นส่วนหนังสือพิมพ์ แต่ในสังคมออนไลน์ ก็มีการติดตามอยู่ ซึ่งบางคนก็เขียนไม่ดีนัก ถ้าเขียนในทางสร้างสรรค์ก็ไม่ได้มีการปิดกั้น อะไรที่รับได้ก็รับได้ แต่ที่เขียนเสียหายมันไม่ได้ อย่างน้อยก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนคนมันไม่ได้"
"ก็ขอร้องกันซึ่งทุกประเทศเขาก็มีมาตรการทั้งหมดมีแต่ของเราที่ยังคมกันไม่ได้ ทุกคนต่างก็เป็นเสรีภาพของสื่อ เสรีภาพของประชาชน แต่ถ้าเสรีภาพเหล่านี้นำไปสู่ความขัดแย้งหรือเป็นการละเมิดสิทธิผู้อื่นก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควร เพราะฉะนั้น อย่าต้องให้ใช้กฎหมายทุกอันเลย อย่าให้ต้องใช้กฎหมายหรืออำนาจ หรือกำลังกันเลย วันนี้ขอให้พูดจากันและหาทางออกให้ได้ก่อนดีกว่า ว่าทำอย่างไรจะทำให้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นไม่เกิดขึ้นมาอีกวนไปวนมาไม่รู้จบ ประเทศไทยก็จะถอยหลังลงเรื่อยๆ แล้วจะอยู่อย่างไร เพราะเศรษฐกิจของโลกเกิดการชะลอตัว แต่ของเรามีแนวโน้มที่จะดีขึ้นในไตรมาสสุดท้ายและไตรมาสแรกของปี 58 ดังนั้นต้องให้เวลาในการแก้ไขปัญหาเพราะบางอย่างไม่ได้แก้ได้ในวันเดียว อย่างปัญหาเศรษฐกิจก็เกิดก่อนที่ตนจะเข้ามา รัฐบาลก็พยายามจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน"

เอฟทีเอ ว็อทช์ เตือนรัฐบาลทหาร อย่าหลงกลนักลงทุนสหรัฐฯ แลกการยอมรับจากต่างชาติ

(กรุงเทพฯ/ 2 พ.ย.57) ตามที่สภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียนมีกำหนดการเข้าพบรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันท์โอชา วันจันทร์ที่ 3 พ.ย.นี้ในเวลา 9 นาฬิกา โดยกลุ่มนักธุรกิจอเมริกันดังกล่าวประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมยาสูบ อุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ อุตสาหกรรมน้ำอัดลม และอุตสาหกรรมพลังงาน
นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) เชื่อว่า นักธุรกิจอเมริกันเหล่านี้จะมาล็อบบี้เพื่อล้มนโยบายสาธารณะที่ดีหลายเรื่องเพื่อแลกกับการที่ประเทศตะวันตกจะได้ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารมากขึ้น
“อุตสาหกรรมยาจะพยายามล็อบบี้ให้ไทยเพิ่มการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้มากและเข้มงวดมากขึ้น ทั้งการขอให้แก้ไข พรบ.สิทธิบัตร เพิ่มอายุการคุ้มครอง ให้จดสิทธิบัตรพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ให้บริษัทยาต้นแบบสามารถได้การผูกขาดข้อมูลทางยา โดยจะอ้างเรื่องเพื่อทำให้ประเทศไทยน่าลงทุนมากขึ้น ที่สำคัญนักธุรกิจเหล่านี้จะมาล้มข้อดีของ พรบ.ยาฉบับที่กำลังแก้ไขที่ระบุให้การขึ้นทะเบียนยาต้องแสดงโครงสร้างราคายาและสถานะสิทธิบัตรซึ่งจะทำให้ราคายามีความเหมาะสม และต้องการให้กรมทรัพย์สินทางปัญญายกเลิกประกาศใช้คู่มือตรวจสอบสิทธิบัตรที่ช่วยคัดกรองคำขอสิทธิบัตรที่ไม่มีคุณภาพ เพราะทำให้การได้สิทธิบัตรยาผูกขาดทำไม่ได้ง่ายๆ ซึ่งที่ผ่านมาพวกนี้ส่งคนล็อบบี้ตามหน่วยราชการต่างๆมาโดยตลอด แต่ครั้งนี้จะพุ่งเป้าไปที่ผู้นำรัฐบาล เพราะทราบดีว่า กำลังแสวงหาการยอมรับจากนานาประเทศ ฉะนั้น ประเด็นเหล่านี้ต้องมีความรอบคอบ เพราะหากหลงเชื่อโดยปราศจากข้อมูลจะกระทบต่อระบบสาธารณสุขของไทยอย่างรุนแรง”
ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อชท์ยังเชื่อว่า สภานักธุรกิจสหรัฐฯจะพยายามล็อบบี้ให้ไทยเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค หรือ TPP ซึ่งขณะนี้เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดการประท้วงในหลายประเทศสมาชิก เพราะในความตกลง TPP จะครอบคลุมทุกประเด็นที่จะทำให้ยาต้นแบบผูกขาดได้เจ้าเดียวไร้คู่แข่ง และไม่อนุญาตให้มีการต่อรองราคายา ที่สำคัญยังให้สิทธินักลงทุนต่างชาติฟ้องล้มออกนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐได้ ผ่านอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เช่นที่ขณะนี้ระเบียบซองบุหรี่สีเดียวของออสเตรเลียถูกอุตสาหกรรมยาสูบฟ้องให้ยกเลิกและเรียกค่าเสียหายนับพันล้านดอลลาร์อยู่ในขณะนี้
“นักธุรกิจสหรัฐฯทราบดีว่า รัฐบาลทหารต้องการการยอมรับจากต่างชาติ จึงอาศัยช่วงจังหวะเช่นนี้ในการกดดัน จะเห็นได้จากประสบการณ์ในอดีต รัฐบาลสมัยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ปี 2535 แก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร ยอมรับสิทธิบัตรยาตามแรงกดดันของสหรัฐฯก่อนหน้าที่ไทยต้องทำตามองค์การการค้าโลกถึง 8 ปี ทำให้ราคายาในประเทศไทยมีราคาแพงมากเมื่อเทียบกับจีดีพี รัฐบาลสมัยของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ปี 2551 เร่งรีบลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิด ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) เพื่อให้ญี่ปุ่นยอมรับ คมช.โดยไม่ใส่ใจว่า ความตกลงดังกล่าวเปิดโอกาสให้มีการนำเข้าขยะทุกประเภทมาทิ้งในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในปัจจุบัน เราจึงไม่อยากเห็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดเช่นที่ผ่านๆมาอีก”
รายงานข่าวแจ้งว่า สภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน ที่จะเข้าพบกับรัฐบาล มีผู้บริหารมาจาก 30 บริษัท อาทิ เชฟรอน, แกล็กโซสมิทธ์ไคลน์, มี้ด จอห์นสัน, ไฟเซอร์, ฟิลลิป มอร์ริส, เดียจิโอ (อุตสาหกรรมแอลกอฮอล์) และ โคคาโคล่า เป็นต้น

สัมภาษณ์แคเธอรีน บาววี่ ห่วงแนวคิดล้มเลือกตั้งท้องถิ่นกระทบชนบท แปลกใจคนมีการศึกษาของไทยไม่หนุนปชต.



Mon, 2014-11-03 18:52
จอม เพชรประดับ

         จอม เพชรประดับสัมภาษณ์ แคเธอรีน บาววี่ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษาจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน ชี้คนในต่างจังหวัดคุ้นเคยกับการเลือกตั้งมานานกว่าคนในเมือง ห่วงแนวปฏิรูปรัฐบาลทหารยกเลิกเลือกตั้งท้องถิ่น


แคเธอรีน บาววี่ (Katheirne A. Bowie) อดีตผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ ประจำคณะมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดินสัน

เธอเป็นหนึ่งอาจารย์ชาวต่างชาติเพียงไม่กี่คนที่สนใจ ศึกษาสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง และจริงจัง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 ที่เธอได้เข้าไปทำงาน คลุกคลีกับชาวชนบททางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เธอให้ความสนใจกับความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องด้วย

และเมื่อบริบทของสังคมในประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ในรอบ 30 ปี ที่ผ่านมา อาจารย์แคเธอรีน มองสังคม การเมือง และการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างไร

“ชนบทไทย เปรียบเทียบกับเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ถือว่าเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว รวมทั้ง ความคิดของคนไทยในชนบท ก็เปลี่ยนแปลงไปมากด้วย ถ้าย้อนไปไกลเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว สังคมชนบทไทย ก็ยังเป็นสังคมในระบบศักดินา” อาจารย์แคเธอรีน เกริ่นบทสนทนาด้วยการพูดภาษาไทยอย่างชัดถ้อยชัดคำ

เธอกล่าวเน้นถึงโดยเฉพาะภาคเหนือของประเทศไทย ที่เคยไปใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้านนานหลายปี

“คนในภาคเหนือ และเชื่อว่าภาคอื่น ๆ ของประเทศไทยด้วยเหมือนกัน ที่สมัยก่อนนั้น เขารู้สึกว่า เขาเป็นขี้ข้าของคนมีอำนาจ ตามลักษณะของสังคมศักดินา แต่ในปี พ.ศ. 2517 ซึ่งเป็นปีที่ดิฉันไปอยู่กับชาวบ้าน ในขณะนั้น ชาวบ้านเขาตื่นตัว เรื่องการเลือกตั้งมาก เพราะในชนบทของไทยขณะนั้น มีการเลือกตั้ง กำนันผู้ใหญ่บ้าน ตามกฎหมายลักษณะการปกครองท้องถิ่นมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2440 สมัยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพแล้ว”

“พอมาถึงยุคปัจจุบันที่ประชาชนมีส่วนร่วมโดยการเลือกตั้งมากยิ่งขึ้น ความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่ประชาชนเป็นคนเลือกเข้าไป จึงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย เรื่องการรักษาสุขภาพ เช่น สามสิบบาทรักษาทุกโรค เรื่องสินค้าโอท็อป ดังนั้นในระยะสิบปีที่ผ่านมา ประชาชนไทยในชนบทได้รับสวัสดิการจากรัฐบาลมากขึ้น”

แต่บริบททางการเมืองของสังคมไทยเวลานี้ กลับเห็นว่า ความช่วยเหลือที่รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ได้หยิบยื่นให้กับชาวชนบทนั้น หรือที่เรียกว่า “ประชานิยม” ได้ถูกแปรความหมายไปในทางที่สร้างปัญหา ถูกมองว่า เป็นสิ่งเสพติดสำหรับชาวชนบท ทำลายการเงินการคลังของประเทศ เป็นที่มาของการคอรัปชั่น รวมทั้ง ยังเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศ เพียงเพราะฝ่ายการเมือง หรือ นักการเมือง ต้องการที่จะได้คะแนนเสียงนิยม ในการเข้ามามีอำนาจแต่เพียงเท่านั้น

ประเด็นนี้ อาจารย์แคเธอรีน อธิบายว่า นักการเมืองเมื่อมาเป็นรัฐบาล ก็ควรที่จะรับใช้ราษฎร แทนที่จะให้ราษฎรเป็นขี้ข้าเหมือนแต่ก่อน ดังนั้น ผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.ก็ควรจะรับใช้ราษฎร ไม่ว่านโยบายอะไร ถ้าเป็นการช่วยเหลือ แก้ปัญหาให้กับประชาชน ประชาชนก็นิยมเป็นเรื่องธรรมดา แต่หากเป็นนโยบายที่สร้างปัญหา แม้ประชาชนจะนิยมหรือชอบ รัฐบาลหรือผู้ปกครอง ก็จะต้องมีการวางแผนอย่างดี ทั้งการใช้จ่ายงบประมาณ หรือ แก้ปัญหา ป้องกันการคอรัปชั่น เพราะงบประมาณนั้นมีจำกัด ดังนั้นก็ควรจะโต้แย้งกันว่า จะใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพดีที่สุดได้อย่างไร แต่ต้องระบบที่จะทำให้ ชาวบ้าน มีส่วนร่วมได้ ก็คือ การเลือกตั้ง ซึ่งก็จะเป็นวิธีการที่จะสร้างความสมดุลในการตรวจสอบผู้มีอำนาจ หรือนักการเมือง“

อาจารย์แคเธอรีนกล่าวย้ำว่า นโยบายรัฐบาล จะต้องช่วยเหลือราษฎร เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่หากมีรายละเอียดที่จะสร้างปัญหา หรือส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ ก็จะต้องถกเถียงกัน ต้องให้มีระบบการตรวจสอบ ถ่วงดุล ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำ และหากปัญหาอยู่ที่ตัวนโยบายก็ควรที่จะต้องนำมาถกเถียงพูดคุยกันด้วยเหมือนกันเพื่อแก้ไข จุดอ่อน ของนโยบายนั้น ๆ

สืบเนื่องจากนโยบายประชานิยม นี่เอง ที่ทำให้ คนชั้นกลางในเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯเข้าใจว่า คนชนบท เห็นแก่เงิน ยอมขายสิทธิ์ ขายเสียงตัวเอง เพื่อหวังจะได้เงินจากนักการเมือง และนี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น หรือ ยอมเป็นทาสเงินของนักการเมือง

อาจารย์แคเธอรีนบอกว่า เคยได้ยินเพื่อนที่อยู่ในกรุงเทพฯมักจะมองคนในชนบทเป็นแบบนี้จริง ๆ แต่ที่จริงแล้ว ชาวบ้านเขาคุ้นเคยกับระบบการเลือกตั้ง และใช้วิถีทางประชาธิปไตยมานานกว่าคนในเมืองด้วยซ้ำ ตั้งแต่ปี 2440 เป็นต้นมาด้วยซ้ำ ส่วนคนในเมืองเพิ่งจะมีการเลือกตั้งกันจริง ๆ จัง ๆ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 เท่านั้นเอง ดังนั้น ชาวบ้านในชนบท ที่ผ่านการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน เขาก็จะมีวิธีการเลือกตั้งของเขาในแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งเรื่องเงินไม่ได้เป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้ชาวบ้านตัดสินใจเลือก หลายครั้งชาวบ้าน ก็เลือกนักการเมืองหน้าใหม่ๆ เข้ามาซึ่งไม่เคยมีผลงานมาก่อน

“ชาวบ้าน เขามีวิธีการของเขา เขาจะประชุมผู้นำในหมู่บ้าน วางแผนกันว่าจะลงคะแนนให้กับคนไหนเป็นพิเศษ หรือ อาจจะลงให้คนไหนเท่าไหร่ นี่คือการ ต่อรองทางการเมืองของชาวบ้านที่มีมานานแล้ว แม้ว่าจะมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง แต่ก็ไม่มาก และไม่ได้หมายความว่า ใครให้เงินชาวบ้านมากที่สุด คนนั้นจะได้รับเลือกตั้ง ก็ไม่ใช่” อาจารย์แคเธอรีน กล่าว

อาจารย์แคเธอรีน อธิบายเพิ่มเติม เรื่องการใช้เงินเพื่อการต่อสู้ทางการเมืองของนักการเมืองนั้น มีอยู่เกือบทุกประเทศในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย แม้แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็เช่นเดียวกัน นักการเมืองสหรัฐฯ มีการใช้เงินเพื่อซื้อโฆษณาในการหาเสียงเลือกตั้งกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องแบบนี้ตรวจสอบกันได้ ถ้าใช้เงินกันอย่างไม่โปร่งใส ประชาชนก็จะไม่เลือกเขาอีกในอนาคต

“คนในชนบทของไทยเวลานี้ มีการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท แม้แต่ปริญญาเอกก็มี เขากลายเป็นชนชั้นกลางมากขึ้น เขาเสียภาษีมากขึ้นด้วย ความช่วยเหลือที่จะช่วยเขาคือ ช่วยเหลือเรื่องการตลาด ช่วยเรื่องอาชีพ ชาวบ้านเขาไม่ได้ขี้เกียจ หรือ เขาอยู่เฉยนะ ดังนั้นอย่าไปมองว่า ยอมขายสิทธิ์ ขายเสียงหรือขายศักดิ์ศรีของตัวเอง ถ้ามองชาวบ้านแบบนี้ ก็จะสร้างปัญหา แต่ควรจะให้เกียรติกับคนชนบทด้วย และให้เกียรติกับทุกฝ่ายด้วยไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเสื้อเหลือง หรือเสื้อแดง ก็มี ประเด็นที่เราควรรับฟังด้วยกันทั้งนั้น ขณะเดียวกัน คนเสื้อแดง ถ้ามองว่าเป็น คนชนบทส่วนใหญ่ ก็ต้องให้เกียรติกับเขาด้วย ในการตัดสินใจ เลือกนักการเมืองคนหนึ่งคนใดเข้ามา ก็ควรยอมรับความคิดเห็นและความต้องการของเขา”

สายธารประชาธิปไตยที่แปรผันไปตามฤดูกาล บางยุคก็คึกคักเข้มข้น บางยุคก็มืดมนเมื่อเกิดรัฐประหาร เหมือนเช่นปัจจุบัน ทำให้ ความเข้าใจ”ประชาธิปไตย” ของคนไทย ระหว่างคนในเมือง กับ คนในชนบท ดูจะยังขัดแย้งและสวนทางกัน

อาจารย์แคเธอรีน อธิบายเรื่องนี้ว่า คนในต่างจังหวัดคุ้นเคยกับการเลือกตั้งมานานกว่าคนในเมืองอย่างที่กล่าวแล้ว คนในเมือง คนในกรุงเทพเริ่มมาคึกคัก จริงจัง หลังปี พ.ศ. 2475 แล้วเท่านั้น แต่ที่สำคัญ ต้องทำให้ระบบเลือกตั้งในท้องถิ่น เข้มแข็ง เพราะท้องถิ่น ทุกคนรู้จักกัน เขารู้แต่ละคนมีผลงานอย่างไร จะเปลี่ยนคนเมื่อเขาไม่พอใจ ถ้าเล่นพรรคเล่นพวกกันเกินไป ไม่ดูแลประชาชน สุดท้าย ชาวบ้านก็เปลี่ยนไปเลือกคนใหม่ ที่มีความสามารถและมีความคิดที่ดีกว่า

อาจารย์แคเธอรีนยอมรับว่า ยังมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่อาจจะรู้สึกอึดอัดกับวิถีทางประชาธิปไตย ที่ใช้การเลือกตั้งเป็นตัวตัดสิน หรือแก้ปัญหา เพราะทำให้เกิดประชานิยม หรือ เกิดการคอรัปชั่น แม้แต่คนอเมริกันเอง ส่วนหนึ่งก็อึดอัดในเรื่องนี้

“เมื่อครั้งการเลือกตั้งที่แข่งขันกันระหว่าง จอร์ช ดับเบิลยู บุช กับ อังกอร์ คนอเมริกันตอนนั้น อึดอัดมาก ยิ่งกอร์ ได้คะแนน ใน popular vote มากกว่า บุช แต่ ศาลสูงสุด ตัดสินให้ บุช ชนะ คนที่เลือก กอร์ ก็อึดอัดมากแต่เราก็ต้องอดทน ยอมที่จะอมมันไว้ และรออีก 4 ปี รอวันที่จะให้เลือกตั้งใหม่ เราก็จะเลือกคนที่เราต้องการ ให้เป็นเข้ามาใหม่ ซึ่งระบบวิถีทางแบบนี้เราคุ้นเคยกันมานานแล้ว”

และเมื่อถามว่าแล้วคิดว่าเพราะอะไร คนไทยถึงมักไม่ค่อยยอมที่จะอดทน อาจารย์แคเธอรีนตอบพร้อมเสียงหัวเราะว่า “ไม่ทราบ”

ความเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างคนกรุงเทพฯ หรือ คนในเมือง กับ คนชนบท ยังมีประเด็นให้คุยได้อีกมาก ทั้งความคิดที่ว่า เสียงของคนชนบทที่ไม่มีการศึกษา หรือการศึกษาน้อย ก็ควรที่จะมีค่าน้อยกว่า เสียงของคนชั้นกลาง หรือ คนชั้นสูงในกรุงเทพฯ ที่มีการศึกษาดีกว่า เพราะยิ่งมีการศึกษาน้อย ก็ยิ่งจะหลงเชื่อนักการเมืองได้ง่าย

“ความคิดนี้ถือเป็นเรื่องแปลกมาก ว่าทำไม คนที่อยู่ในกรุงเทพฯ หรือ คนที่มีการศึกษา ถึงไม่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย ที่ให้ความสำคัญกับ หนึ่งสิทธิ์ หนึ่งเสียง มีเพื่อนที่อยู่ในชนบทหลายคนแม้ว่าจะเป็นชาวบ้านจบปอสี่ แต่มีความรู้ มีฝีมือ หลายด้าน ทั้งการเมืองระดับท้องถิ่น การประกอบอาชีพ อย่างเช่นการทำนา ปลูกข้าว นี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆนะ” อาจารย์แคเธอรีนกล่าว

ประเด็นที่กำลังเป็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับ นโยบายของรัฐบาลทหารในประเทศไทยเวลานี้ คือ แนวคิดที่จะยกเลิกการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เพื่อที่จะพยายามปฎิรูปการเมืองไทย ให้เป็นประชาธิปไตยแบบไทย ๆ

แม้จะเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ อาจารย์แคทเธอลีนกังวล แต่เธอก็ตอบแบบเลี่ยง ๆ ว่า ด้านหนึ่ง เป็นเรื่องของคนไทยเองที่จะต้องตัดสินใจว่าจะสร้างประชาธิปไตยแบบไหน แต่สำหรับเธอแล้ว อยากเห็นคนไทยรักษาประชาธิปไตยแบบไทยๆ คือ การให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยการเลือกตั้ง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตยในระดับหมู่บ้าน คิดว่า ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ที่แท้ คือ จะต้องให้เกียรติกับทุก ๆ คน ไม่ใช่คิดว่าเรามีอำนาจอยู่คนเดียว หรือรู้มากกว่าคนอื่น เพราะถ้ามองอย่างนั้น จะสร้างปัญหาในอนาคต

“ข้อเสนอที่จะให้มีการยกเลิกการเลือกตั้งท้องถิ่น อันนี้เป็นห่วงมากว่า จะเป็นจริงหรือไม่ เพราะถ้าเป็นอย่างนี้จริง นอกจากจะไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว เป็นห่วงว่า จะสร้างปัญหาให้กับ คนชนบทไทยในอนาคตอย่างแน่นอน”

อาจารย์แคทเธอลีน ทิ้งท้าย บทสนทนาด้วยการแสดงความห่วงใย และเป็นกังวลกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลทหารของไทยในขณะนี้ เพราะในฐานะที่เคยอาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 30 ปี ย่อมมีความผูกพัน ใกล้ชิดเป็นเหมือนบ้านหลังที่สอง

“เราหวังว่า ทุกฝ่ายจะให้การยอมรับความคิดของกันและกัน และให้เกียรติทุกฝ่ายว่ามีความคิด และมีเหตุผลที่จะร่วมกันแก้ปัญหาของชาติบ้านเมือง”